ย้อนไปเมื่อครั้งเศรษฐกิจเกิดกลียุคตอนกลางปี 2540 นั้น นักข่าวและคอลัมนิสต์จำนวนมากต้องกลับไปทบทวนความรู้พื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์กันเป็นการใหญ่ เพื่อจะทำความเข้าใจ และให้อรรถาธิบาย ตลอดจนเสนอความเห็นหรือทางออกที่พอจะเป็น Creative Solutions ให้กับวิกฤติการณ์ช็อกโลก ณ ขณะนั้น ซึ่งได้เริ่มปะทุสะเก็ตไฟขึ้นที่เมืองไทยเรานี้เอง แล้วค่อยลุกไหม้ลามเลียไปสู่อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ จนกระพือถั่งโถมโหมแรงไฟไปทั่วเอเชีย เลยพลอยให้ฝรั่งพากันตั้งฉายากลียุคครานั้นว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เพื่อเป็นตราบาปและอัปมงคลแก่ไทยมาจนบัดนี้
Blogger เป็นผู้หนึ่งที่ต้องกลับไปทบทวนความรู้ในเชิงเศรษฐศาสตร์กับเขาด้วย ทางหนึ่งโดยการปัดฝุ่นเอาตำรับตำราเก่าเมื่อครั้งที่เคยร่ำเรียนมาอ่านใหม่ อีกทางหนึ่งก็แสวงหาความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีกึ๋นและมีชื่อเสียงในช่วงนั้น
สมัยโน้นใครๆ ก็อ่านและฟัง Paul Krugman กันทั้งนั้น เพราะเขามีชื่อขึ้นมาก่อนหน้านั้นด้วยการทำนายทายทักว่าวันหนึ่งมันจะต้องเกิดวิกฤติทำนองนี้ Blogger เองก็ได้ติดตาม Krugman ผ่านทางหนังสือของเขา และบทความที่เขาเขียนประจำใน Slate และ Fortune (ต่อมาก็ New York Times) ตลอดจนบทวิจัยของ Investment Bank และโบรกเกอร์สำคัญๆ (เช่นข้อเขียนของ Jim Walker แห่ง CLSA เป็นต้น)
ส่วนในเชิงความรู้พื้นฐาน หรือหากต้องการจะเช็คแนวคิดบางประการเพื่อความแม่นยำของความรู้ ก็มักจะกลับไปเช็คเอาในตำราของ Paul Samuelson เป็นเกณฑ์
ติดก็แต่ว่า Samuelson และ Krugman เป็น Keynesian กันทั้งคู่ นั่นคืออยู่ในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังที่ประกาศตัวเป็นสาวกของ John Maynard Keynes และยึดเอาท่านผู้นั้นเป็นสดมภ์หลักทางความคิด และขอเดินตามแนวทางที่ท่านผู้นั้นได้ถางทางไว้ก่อนหน้า อีกทั้งยังคอยประยุกต์เอาแนวคิดของท่านผู้นั้นมาให้อรรถาธิบายปรากฎการณ์ใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ ตลอดจนคอยปกป้องแนวทางของท่านผู้เป็นสดมภ์หลักด้วยการเขียน พูด และแสดงท่าทาง แม้จนด่ากราดฝ่ายที่ไม่เชื่อหรือกล้าวิพากษ์วิจารณ์ให้ได้รับความขายหน้าก็มีให้เห็นเสมอ
อย่าลืมว่าสมัยโน้นตำรา Economics ของ Samuelson นั้นได้กลายเป็นสดมภ์หลักของนักเรียนเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกมานานแล้ว และก็ยังไม่มีคนรุ่นหลังที่แต่งตำราพื้นฐานได้ดีกว่าและ Popular กว่าของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่มิใช่ Keynesian ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครสามารถพอที่จะแต่งตำราพื้นฐานมาแข่งดีกับ Samuelson ได้เลย
ล่วงถึง พ.ศ. 2540 นั่นแหละ จึงเกิดอภิชาติศิษย์ขึ้นในวงการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักชั้นแนวหน้าของโลก ที่พูดยังงี้เพราะ Gregory Mankiw เขาเคยเป็นศิษย์ของ Samuelson ที่ MIT แต่ตอนหลังไปสอนอยู่ Harvard
Principle of Economics ของ Mankiw พิมพ์ออกมาปีนั้นแหละ Blogger ยังจำได้ว่าตัวเองซื้อมาจาก Amazon.com หลังลอยค่าเงินบาทไม่นานนัก แล้วก็อ่านมันรวดเดียวจบเลย เพราะแต่งดี เข้าใจง่าย มีตัวอย่างเป็นล้อมกรอบเสริมให้เข้าใจแนวคิดที่ยากๆ ให้กลายเป็นง่าย จนต่อมา เมื่อมีเหตุให้ต้องค้นคว้าอ้างอิงถึงแนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ ตัวเองก็จะกลับไปเช็คเอาจากเล่มนี้อยู่เรื่อยๆ
ตำราเล่มนี้ แต่งขึ้นโดยผู้แต่งวางใจเป็นฝ่ายเสรีนิยมเต็มที่ ตำราจึงได้รับความนิยมค่อนข้างเร็ว นิตยสารฝ่ายขวาอย่าง The Economist หรือ WSJ หรือ The Spectacle หรือ New York Times เชียร์กันมาก พรรคพวกที่เป็น Banker ก็แนะนำกันไปแบบปากต่อปาก ทำให้ครูบาอาจารย์ที่สอนวิชานี้ตามมหาวิทยาลัย ที่ต้องการหาตำราพื้นฐานซึ่งสามารถมาคานความคิดของฝ่ายเคนส์ (จากที่เคยแอบอยู่ในตำราของ Samuelson มาหลายสิบปี) จึงนิยมแนะนำให้นักศึกษาอ่านกัน
ความสำเร็จของตำราเล่มนั้นช่วยส่งให้ Mankiw มีชื่อเสียงนอกแวดวงเศรษฐศาสตร์ออกไปมาก จนได้มาเขียนคอลัมน์ใน Fortune อยู่พักหนึ่ง แล้วมาเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ George Bush Jr. จนไต่เต้าขึ้นมาเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลไม่เบา
ส่วนในแวดวงวิชาการเศรษฐศาสตร์นั้น เขาเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว และได้รับคาดหมายว่าอาจได้รางวัลโนเบลด้วยซ้ำไป ตอนหลังนี้ นอกจากจะเอาดีทางการเขียนตำราพื้นฐานเล่มอื่นเพิ่มเติมขึ้นมาอีกหลายเล่ม และยังต้องคอยปรับปรุงอัพเดตเล่มเดิมจนตีพิมพ์มาเป็นครั้งที่ 6 นี่แล้ว เขายังแสดงความเห็นอย่างสม่ำเสมอผ่าน Blog ของตัวเอง ซึ่งว่ากันว่าเป็น Blog เศรษฐกิจยอดนิยมอันหนึ่ง เพราะเขาเขียนง่ายๆ หวังให้คนไม่มีพื้นฐานอ่านกัน แต่ก็ Sharp
ช่วงหลัง เขาทั้งรณรงค์ทั้งผลักทั้งดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ เก็บภาษี Gasoline Tax หรือ Carbon Tax (โดยประยุกต์จากแนวคิดเรื่อง Negative Externalities ของ A.C. Pigou) เพื่อส่งสัญญาณต่อตลาดให้หันเหมารักษ์โลก และจะได้สำแดงตัวเป็น Moral Leader ในเรื่องโลกร้อนอย่างเต็มบทบาทเสียทีสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ
Blog ของเขาเหมาะกับคนที่ชอบมองเทรนเศรษฐกิจและขอแตะประเด็นโน้นประเด็นนี้เพื่อไม่ให้ Out และเพื่อ Form ความเห็น หรือประกอบการวิเคราะห์ของตัวและกิจการของตัว
ตัวอย่างล่าสุดที่เขาแนะนำบทความที่ดีมากเกี่ยวกับอนาคตของค่าเงินและนโยบายดอลล่าร์เรื่อง “Needed: Plain Talk About the Dollar” ซึ่งเขียนโดย Christina D. Romer อดีตประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโอบามา
แล้วยังงี้ อนาคตเงินบาทจะไปไหนเสีย
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน มิ.ย. 2554 ภายใต้คอลัมน์ Financial Blog โดยใช้นามปากกา Blogger
**โปรดคลิกอ่านบทความชุด "บล็อกการเงิน" อื่นๆ ที่น่าสนใจได้จากลิงก์ข้างล่าง
1.บล็อกสายล่อฟ้าของ Paul Krugman
2.ตะวันตกดินที่ยุโรป: บล็อกของ Nouriel Roubini
3.แผนถล่มจีนของ Krugman
4.น้ำชากับอาหารเย็น: The Economist Blog
5.Private Equity: ห่วงโซ่อาหารข้อต้นๆ
6.Patient Capital: การเงินเพื่อลดช่องว่าง
7.เกาะติด Macro Trend กับ Jim Rogers
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น