วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ต้องลงทุนกับความเปลี่ยนแปลง



“ความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมเริ่มต้นมาแล้วเมื่อเกิด และจะถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเติบโตเจริญวัยขึ้น โดยจะเหลื่อมล้ำกันมากที่สุดเมื่อแก่เฒ่า”


นั่นเป็น Observation ของผมเอง

เพราะเท่าที่เห็นกับตามา ผมว่ามนุษย์เรามันไม่ได้เท่าเทียมกันมาตั้งแต่เกิดแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าใครเกิดมาจากท้องผู้หญิงคนไหน โชคดีหน่อยก็เกิดในท้องฝรั่ง แต่ถ้าดันไปจุติในหมู่บ้านกลางทะเลทรายอัฟริกาก็คงจะกลับกัน และถ้าเป็น “อุภโตสุชาติ” ก็เรียกได้ว่าโตขึ้นจะเป็นใหญ่กว่าคนทั้งปวง


Chance อันนี้ ไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนได้มันมายังไง แต่ถ้าเชื่อแบบคนพุทธเจือไสย ก็ว่ามันเป็น “กรรมเก่า” หรือเป็น “พรหมลิขิต” ที่สะสมกันมาแต่ชาติปางก่อน


เอ๊ะ อย่างนั้นพวกลูกหลานของวอเร็น บัฟเฟต หรือ บิล เกตส์ ก็ต้องเคยทำกรรมเก่ามาดีกว่าผู้คนจำนวนหลายพันล้านคนบนผิวโลกนี้สิน๊ะ!

หรือพวกที่มีบุญย่อมต้องได้เกิดมาในครอบครัวชนชั้นผู้นำของฝรั่งอเมริกันสิ เพราะมันมีโอกาสมากกว่า ได้มีชีวิตที่ดี บริโภคของดีมีคุณภาพก่อนใครเพื่อน มีโรงเรียนดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ โรงพยาบาลดีๆ สันทนาการเพียบพร้อม แถมยังมีเสรีภาพ มีรัฐบาลที่โอเค พึ่งพาข้าราชการได้ และเงินของมัน 1 บาท ยังแลกของเราได้ตั้ง 31 บาท (นี่ยังดีขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะสามปีก่อนแลกได้ถึง 40 บาท) ฯลฯ


นั่นเป็นคำถามที่น่าคิด...อย่างน้อยก็ต้องคิดเผื่อลูกหลาน ในฐานะบรรพบุรุษที่ต้อง “สร้าง” สังคมของเราในวันนี้เพื่อส่งมอบต่อให้กับพวกเขาในอนาคต

ไม่งั้นมันจะมาตำหนิพวกเราได้...ใช่ไม่ใช่

ทีนี้ กลับมาเรื่องความเหลื่อมล้ำในชีวิตคนเรากันต่อ

ถึงแม้ว่าตอนเกิดมาจะเหลื่อมล้ำกันมาแล้วบ้าง แต่เมื่อยังเล็กๆ ความเหลื่อมล้ำมันก็ยังไม่มาก เพราะในเชิงปัจเจกแล้ว มนุษย์เรามี “กำลังกายและกำลังปัญญา” ใกล้เคียงกัน (ถ้าไม่นับว่าพิการ)


ถ้าพื้นฐานครอบครัวหรือทรัพย์สมบัติของพ่อแม่เป็นเพียงของนอกกายที่มันอาจหายวับไปเมื่อใดก็ได้ (โปรดสังเกตกรณียีดทรัพย์นักการเมือง) กำลังกายและปัญญานี้แหละที่เป็นของเราอย่างแท้จริง และมันจะติดตัวเราไปจนวันตาย


เจ้าตัว “กำลังกายและกำลังปัญญา” นี้แหละที่ปราชญ์แต่โบราณเรียกมันว่า “แรงงาน” บ้าง “Endownment” บ้าง “State of Nature” บ้าง “Gift” บ้าง “Human Resource” หรือ “ทรัพยากรมนุษย์” หรือ “ทรัพยากรบุคคล” บ้าง แต่ถ้าจะพูดเป็นภาษาสมัยใหม่ก็ต้องเรียกว่า “Human Capital” หรือ “ทุนมนุษย์”



Human Capital อันนี้เป็นของมนุษย์เราเฉพาะตัว เราเป็นเจ้าของมัน 100% เป็นสิทธิของเราโดยธรรมชาติ และไม่มีใครมายึดไปจากเราได้ (ยกเว้นจะใช้กำลังบังคับเพื่อจำกัดเสรีภาพและอิสระภาพเรา) และเราก็ต้องใช้มันหาเลี้ยงชีพ ด้วยการสร้างหรือแลกหรือช่วงชิงหรือ Acquire ให้ได้มาซึ่งปัจจัยสี่ และสินทรัพย์ ตลอดจนความมั่งคั่งทั้งมวล (และอาจจะอำนาจหรืออะไรก็ตามที่งอกต่อยอดมาจากความมั่งคั่งเหล่านั้น) ในช่วงชีวิตเรา

ผมอยากจะยกคำของปราชญ์ฝรั่งที่เชื่อแนวนี้กันหน่อย เพราะความคิดของพวกเขามีอิทธิพลต่อโลกขณะนี้มาก แม้กับระบอบที่เราดำรงชีวิตอยู่นี้ก็ได้รับอิทธิพลจากพวกเขามาด้วย คนแรกคือ John Locke ที่เขียนไว้ในเซ็คชั่น 27 และ 28 ของหนังสือ Two Treaties of Civil Government ว่า “Everyman has property in his person: this no body has any right to but himself. The labour of his body, and the work of his hands, we may say, are properly his for labour being the unquestionable property of the labourer, no man but he can have a right to what is once joined to, at least where there is enough, as good left in common for others. That labour puts a distinction between him and the common: that added something to them more than nature, the common mother of all, had done; and so they become his private right.”

คุ้นๆ ไหมครับ แบบว่า โลกเป็นของทุกคนเท่าเทียมกันแต่เกิด แต่มาเหลื่อมล้ำกันเพราะคนที่ขยัน มีเหตุมีผล โดยการลงแรงกายแรงสมอง เพื่อสร้างและสะสมทรัพย์ จะสามารถสร้างความแตกต่างจากส่วนรวมขึ้นมาได้ และมันก็เป็นสิทธิของเขาที่จะหาทรัพย์เหล่านั้นและได้ครอบครองทรัพย์เหล่านั้นด้วย

นั่นแหละ Economic Man แบบที่อดัม สมิท รับสืบทอดมา และมีอิทธิพลต่อความเข้าใจของพวกเราในเวลานี้

ทว่า เพื่อความครบถ้วน ผมเลยต้องยกอีกสองข้อความมาให้อ่านอีก เพราะผมรู้ว่าท่านผู้อ่านของ MBA เป็นคนจริงจังและมีหน้าที่การงานที่สำคัญ นั่นคือ James Madison ที่ว่า “the protection of different and unequal faculties of acquiring property is the first object of Government.” (Federalist No.10, อ่านประกอบได้ใน “เดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เอกสารความคิดทางการเมืองอเมริกัน” สมบัติ จันทรวงศ์ และคณะ แปล สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2530)

และ Thomas Jefferson ด้วยประโยคที่มีชื่อเสียงมากว่า “We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness.” (อ้างจากวรรคที่สองของ “คำประกาศอิสรภาพ” หรือ The Declaration of Independence, 4th July 1776)

ทีนี้ ย้ายจากเรื่องบ้านเมืองและสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์มาที่เรื่องส่วนตัวบ้าง กล่าวคือ ถ้าเราอยู่ในบ้านเมืองที่ไม่ได้มาจำกัดสิทธิเสรีภาพ เราก็จะสามารถใช้ “กำลังกายและกำลังปัญญา” หรือ Human Capital ตักตวงจากผิวโลกได้เต็มที่

ดังนั้น Human Capital หรือทุนส่วนตัวของเรานี้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่เราจะนำมันไปเปลี่ยนเป็นทรัพย์และความมั่งคั่งต่างๆ ในช่วงที่เรายังหายใจอยู่

พูดให้ถึงที่สุด Human Capital นั้นแยกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นตัวเรา เป็นความสมบูรณ์ของสุขภาพเรา กำลังวังชาของเรา หรือ Physical Condition ซึ่งมันต้องเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา และจะเกือบหมดไปเมื่อเราแก่ (หรือพิการ) และอีกส่วนหนึ่งที่ผมเรียกว่า Mentality หรือทักษะหรือความคิดหรือวิธีคิดหรือปัญญา ซึ่งสามารถเพิ่มพูน ขัดเกลา ให้ดีขึ้น งอกงามขึ้น ช่ำชองขึ้น ชำนาญขึ้น ฉลาดขึ้น สมบูรณ์ขึ้น หรืออาจถึงขั้นสูงคือหยั่งรู้ยิ่งขึ้นไปได้เรื่อยๆ และจะไม่สูญหายไปไหน (ยกเว้นว่าจะเป็นบ้า หรือเลอะเลือนหรือเป็นอัลไซเมอร์) จนกว่าจะตายจากโลกนี้ไป

แน่นอนว่า ทุนส่วนที่สองย่อมได้มาจากการศึกษากล่อมเกลา ทั้งจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด ครูบาอาจารย์ และจากธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธี Self-Taught หรือ Autodidact

เห็นหรือยังครับ ว่าทำไมผมถึงบอกมาแต่ต้นว่า ความเหลื่อมล้ำมันจะถ่างกว้างมากที่สุดเมื่อคนเราแก่

ก็เพราะตอนที่เราแก่ เราหมดทุนส่วนแรก (กำลังวังชาถดถอย) โดยที่ทุนส่วนหลังอาจแตกต่างกันมาก และถ้าตลอดชีวิตของเรา เราไม่สามารถเปลี่ยน Human Capital ของเราให้เป็นทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ที่ดิน เงิน ทอง หุ้น พันธบัตร เพชรพลอย ของสะสมที่มีค่า ฯลฯ เราก็จะหมดโอกาส และก็แน่นอนอีกว่า ในสังคมที่เสรีนั้น คนแต่ละคนย่อมมีความสามารถในกระบวนการเปลี่ยนเป็นทรัพย์นี้ได้ไม่เท่ากัน ทำให้ความมั่งคั่งมันเหลื่อมล้ำกันเป็นธรรมดา

นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะยื่นมือเข้ามาโอบอุ้ม (ด้วยสวัสดิการ ฯลฯ) หรือมาทำให้ช่องว่างตรงนี้แคบลงไปบ้าง (ด้วยการเก็บภาษี) แต่ก็ต้องไม่ใช้วิธีจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ผมได้แสดงปรัชญาของมันไว้ข้างต้นนั้น

เมื่อท่านผู้อ่านรู้อย่างนี้แล้ว Implication ของมันก็ชัดเจน นั่นคือเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง เพื่อเพิ่มพูน “ทุนส่วนตัว” หรือ Human Capital ในส่วนที่สองอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะโลกมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

เราต้องลงทุนในการศึกษาหรือให้การศึกษากับตัวเองและลูกหลานอย่างเต็มที่ เพิ่มพูนทักษะและวิธีคิดอย่างต่อเนื่อง และถูกทาง เพราะถ้าเราอยู่เฉยๆ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไป ทักษะและวิธีคิดของเราอาจล้าสมัย จนอาจทำให้กระบวนการหาทรัพย์และสะสมทรัพย์ หรือกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) ของเรา ติดขัดได้

มันเป็นความเสี่ยงแบบหนึ่ง คือเสี่ยงกับการ “ตกยุค” และ “ล้าสมัย” หรือ “หมดประโยชน์ไปโดยปริยาย” ซึ่งจะทำให้เราทำมาหากินได้น้อยลงหรือไม่ได้อีกต่อไป

นี่ยังไม่นับว่า ตลอดช่วงชีวิตเรายังถูกกดทับด้วยความเสี่ยงประเภทอื่นอีกสารพัด เช่นเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ต่อภัยธรรมชาติ และความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งปวง ฯลฯ

ที่สำคัญคือ Economic Crisis ที่อาจ “พราก” ทรัพย์และความมั่งคั่งทั้งหมดที่เราสู้อุตส่าห์หามาได้ทั้งชีวิต ไปจากเราจนหมดตัวในคราวเดียวเลยก็ได้

วิธีคิดที่ผมแสดงมานี้ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ย่อมสามารถประยุกต์ใช้กับคน องค์กร และประเทศไทยได้อย่างไ่ม่ติดขัด โดยเฉพาะสังคมไทยในขณะนี้ที่กำลังโหยหาการเปลี่ยนแปลง แต่จะต้องเปลี่ยนไปอย่างมีเป้าหมายที่ผมพูดมานี้แหละครับ ถึงจะดี

เห็นหรือยังครับ ว่าการลงทุนเพื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นสำคัญเพียงใด ทั้งในระดับชาติ ระดับองค์กร และระดับปัจเจกชน


หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์และพึงพอใจ



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๓


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม 2553

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แบงก์ชาติของราษฎร

(ชุดข้อเขียนแนะนำ Blog ทางการเงินโลก ลำดับที่ 1)

อ่านเรื่อง “ดร.ประสาร ไตรรัตนวรกุล ผู้ว่าฯ ธปธ.ยุคเหลื่อมล้ำ” ของคุณสุพิน ธนวัฒน์เสรีแล้ว(http://www.mbamagazine.net/home/index.php/component/content/article/51/207) Blogger ชอบมาก เพราะเธอเปิดประเด็นไว้น่าคิด ว่าบทบาทของแบงก์ชาตินับแต่นี้น่าจะขยายไปสู่ประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และจับต้องได้

แบงก์ชาติจะขยายบทบาทจากที่เคยเป็น “ธนาคารของธนาคาร” หรือธนาคารของนายธนาคารด้วยกัน ไปสู่การเป็น “ธนาคารของราษฎร” ได้หรือไม่เพียงใด และในดีกรีเท่าใดจึงจะเหมาะสม

Blogger จึงนำเรื่องนี้มาขบคิดต่อ และลงมือ “คลิก” หาข้อมูลจากธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลก ที่เป็นแม่แบบให้กับแบงก์ชาติไทย เช่น Bank of England, European Central Bank, และ Federal Reserve โดยโฟกัสเจาะลึกลงไปที่อันหลัง เพราะดูเหมือนจะ “หนัก” กว่าใครเพื่อน เพราะต้อง “แบก” ทั้งวิกฤติซับไพร์ม และ Recession มาตั้งแต่กลางปี 2007


Blogger เชื่อว่า “วิกฤติ” มักนำมาซึ่ง “ความคิดสร้างสรรค์” เสมอ

ระบบการเงินของสหรัฐฯ องค์กรและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบการเงิน ตลอดจนกฎบัตรกฎหมายหรือข้อบังคับสำคัญๆ ในเชิงการเงินที่ใช้บังคับกันอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลผลิตของ The Great Depression เมื่อสมัยรัชกาลที่ 7


เมื่อคลิกดูเว็บไซต์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (www.federalreserve.gov) เห็นได้เลยว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา FED ก็แหกกฎเกณฑ์เดิมหลายเรื่อง สร้างเครื่องมือใหม่ๆ ในเชิงนโยบาย ที่ถือว่ามีลักษณะเป็น Innovation ทั้งนี้ก็เพื่อจะเอาวิกฤติให้ “อยู่” นั่นเอง

แต่เผอิญนโยบายหรือเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านั้น มัน “โดนใจ” Blogger เพราะเห็นได้ชัดว่ามันเป็นการขยายบทบาทให้ FED สามารถปล่อยสินเชื่อหรือให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงกับภาคเอกชนที่มิใช่ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดังที่ยึดถือเป็นประเพณีมาแต่เดิม

เท่ากับ FED ได้กรุยทางไว้ให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเห็นกันแล้วว่า หากจะยื่นมือไปหาราษฎร ควรต้องทำยังไง


ถ้าคลิกเข้าไปในหัวข้อ Policy Tools (ภายใต้หัวข้อใหญ่ Monetary Policy) จะเห็นเลยว่าโปรแกรมอย่าง Term-Asset Backed Securities Loan Facility นั้นเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัททั่วไปกู้เงินในโครงการนี้ได้โดยตรง เพียงแต่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งในกรณีนี้คือ Asset-Backed Securities (น่าจะเป็นหลักทรัพย์ของโครงการซับไพร์มทั้งหลายแหล่ที่กำลังมีปัญหาอยู่นั่นแหละ)


อันนี้นับเป็นนโบายที่ช่วยภาคเอกชนมากๆ ทว่าก็ (ดูเหมือน) เสี่ยงมากๆ ด้วย เพราะเป็นการผ่องถ่ายหนี้เสียจากภาคเอกชนเข้ามาสู่ภาครัฐ แต่ก็ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยตรงคืออัดฉีดเงินไปที่เอกชนผู้ถือหลักทรัพย์ฯ (ซัพไพร์ม) และขาดทุนเป็นรายๆ ไป โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินให้เสียเวลา (FED ลดความเสี่ยงด้วยการตีราคาหลักทรัพย์เหล่านั้นเสียใหม่ โดยใช้ดัชนี Hair Cut เป็นตัวปรับราคา, ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.newyorkfed.org//markets/talf_faq.html#10)

นี่เป็นนโยบายที่ก้าวหน้ามากในความเห็นของ Blogger (FED เคยปล่อยกู้ตรงมาแล้วในอดีต เมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 แต่เลิกไปแล้ว)

หรืออย่างโครงการที่หมดเขตไปแล้วเช่น Primary Dearler Credit Facility (PDCF) ที่ปล่อยกู้ตรงให้กับโบรกเกอร์หรือดีลเลอร์ค้าหุ้นและพันธบัตร หรือ Term Securities Lending Facility (TSLF) ที่ดูเหมือนกับจะอนุญาตให้เอาตราสารที่มีปัญหามาแลกเป็นตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) เพื่อนำไปสร้างสภาพคล่องให้กับกิจการ

หรืออย่างโครงการ Term Auction Facility ที่ร่วมกับ Bank of Canada, European Central Bank, Bank of England, และ Swiss National Bank ด้วยวิธีเชิญชวนให้กิจการภาคเอกชนที่ต้องการวงเงินกู้ เข้าประมูลเงินกู้ในแต่ละล็อต โดยสามารถใช้หลักทรัพย์ (แม้กระทั่งซับไพร์ม) เข้าค้ำประกันได้

เหล่านี้ แม้จะเป็นความพยายามในการแก้วิกฤติเฉพาะหน้าของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่กลับมาตรงใจ Blogger ในเชิงที่มันก็เป็นความพยายามอันสร้างสรรค์ที่จะขยายพันธกิจของธนาคารกลางไปสู่ราษฎรโดยตรงด้วย อีกโสตหนึ่ง

เป็นไปได้ไหม ที่แบงก์ชาติของเราจะนำแนวคิดทำนองนี้ มาประยุกต์ใช้กับสินเชื่อเพื่อคนเล็กคนน้อย หรือสินเชื่อเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเรากันบ้าง

ภายใต้สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ Blogger เชื่อว่าความคิดแบบนี้ย่อมจะได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่าย

ใครขัดขวางก็บ้าแล้ว

หมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๓ ด้วยนามปากกา Blogger

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พวกอุบาทว์กาลีโลก ๒๐๐๙ กับเศรษฐกิจไทย



“The deviation of man from the state in which he was placed by nature seems to have proven to him a prolific source of diseases. From the love of splendour, from the indulgences of luxury, and from his fondness for amusement, he has familiarized himself with a great number of animals, which may not originally have been intended for his associates.

The wolf, disarmed of ferocity, is now pillowed in the lady’s lap. The cat, the little tiger of our island, whose natural home is the forest, is equally domesticated and caressed. The cow, the hog, the sheep and the horse, are all for a variety of purposes brought under his care and dominion.”

Edward Jenner (London, 1796)
อ้างจาก Thomas Hull, Diseases Transmitted from Animals to Man, 4th Edition, 1955 หน้า 2.


ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ นอกจาก “มนุษย์” ที่รู้จักคิดเหตุผลอันลึกซึ้งแยบคายและรู้ดีรู้ชั่ว, “สัตว์” ที่แม้จะไม่รู้ดีรู้ชั่วแต่ก็คิดเหตุผลขั้นต้นได้ (ไม่งั้นหมาคงไม่รู้ว่าใครคือเจ้าของ และควายคงไม่ไล่ขวิดคนใส่เสื้อแดง), “พืช” ที่เราก็ไม่แน่ใจว่ามันคิดเหตุผลเป็นหรือไม่เป็น แต่รู้แน่ว่ามันมีชีวิตเพราะมัน “ตาย” “หายใจ” “กิน” “สังเคราะห์แสง” และ “สืบพันธุ์” ได้


ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อีกประเภทหนึ่ง (ซึ่งส่วนใหญ่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) ที่มีชีวิตอยู่ด้วยตัวเองอย่างอิสระไม่ได้ ต้องอาศัยแฝงตัวเกาะกินอยู่กับ มนุษย์ สัตว์ พืช หรือแม้กระทั่งเกาะกินอยู่ในพวกเดียวกันเอง ซึ่งเราเรียกมันว่า “Microparasites”


บรรพบุรุษของชีวิตเล็กๆ เหล่านี้ อาจอาศัยเกาะกินเป็นกาฝากกับมวลมนุษย์มาช้านาน ที่น่าเจ็บใจคือเมื่อพิจารณาตำแหน่งของโครงสร้างชีวิตในห่วงโซ่อาหาร ในบางขณะและบางกรณี พวกมันยังนับว่าอยู่ในตำแหน่งที่มี Competitive Advantage เหนือกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำไป


หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส สมัยที่เขียนร่าง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” เคยเรียกคนจำพวก “Social Parasite” ว่า “พวกหนักโลก” บ้าง หรือ “พวกอุบาทว์กาลีโลก” บ้าง ซึ่งผมก็คิดว่าน่าจะยืมมาใช้กับพวกสิ่งมีชีวิตที่กล่าวมา เพราะให้ความหมายกินใจและเห็นภาพพจน์ชัดเจนดีกว่าคำว่า “พยาธิ” มากนัก

ไม่มีใครรู้ว่า “พวกอุบาทว์กาลีโลก” พวกนี้ (มี บักเตรีและไวรัส เป็นอาทิ) อุบัติขึ้นมาเมื่อไหร่ บ้างก็ว่ามาก่อนมนุษย์ บ้างก็ว่ามาหลัง แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่ามีมาช้านาน ตั้งแต่ก่อนยุค Paleozoic ที่สิ่งมีชีวิตแรกพัฒนากระดูกสันหลัง และขึ้นมาบนบก โดยพวกนี้ก็เกาะกินต่อมาจนกระทั่งสิ่งมีชีวิตบางพวกเริ่มพัฒนาเป็นพวกเลือดอุ่น เรื่อยมาจนเดินหลังตรง และมีสมอง ฯลฯ


เมื่อพวกมันอยู่มานานแสนนานและเป็นสิ่งมีชีวิต มันก็ย่อมต้องตกอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติว่าด้วย “วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต” เช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจึงไม่แปลกใจที่พวกมันก็สามารถสืบพันธุ์ แตกหน่อ แยกสาย ออกเป็นหลากหลายชนิดและสายพันธุ์ เช่นเดียวกับ มนุษย์ สัตว์ และพืช


ที่สำคัญ “พวกอุบาทว์กาลีโลก” เหล่านี้ มันกระโดดข้ามไปข้ามมา ระหว่างมนุษย์ สัตว์ พืช อยู่เรื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์กับสัตว์นั้น องค์ความรู้และวิทยาการของมนุษย์ในปัจจุบันรู้แล้วว่าพวกมันมักข้ามไปข้ามมาอยู่เสมอเมื่อมันมีโอกาส


โครงสร้างชีวิตของพวกเหล่านี้ ไม่มีระบบย่อยน้ำตาลให้เป็นพลังงาน ดังนั้นมันจำเป็นต้องเกาะกินจากมนุษย์และสัตว์ โดยในกรณีของมนุษย์นั้น มันจะฝังตัวเข้าไปในเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของพวกเรา แล้วดูดเอาพลังงานหรือทรัพยากรของเราไปใช้เพื่อดำรงชีวิตและขยายเผ่าพันธุ์ของพวกมัน โดยการ Complete Life Cycle เช่นการเรียงตัว แบ่งเซลล์ เป็นต้น


เมื่อพวกมันซึ่งเป็น “แขกที่ไม่ได้รับเชิญ” เข้ามาแพร่พันธุ์ในตัวเรามากขึ้น ก็อาจทำให้เราซึ่งเป็น “เจ้าบ้าน” หรือ Host เจ็บป่วยหรือตายได้ ถ้าหากว่ามันไม่โดนระบบ “ทหาร” หรือ “ภูมิคุ้มกัน” (Immune) ของเราทำลายมันไปเสียก่อน


ความซับซ้อนและรับมือยากของพวกมัน อยู่ที่การกลายพันธุ์ เพราะเป้าหมายของมันย่อมไม่อยากให้เจ้าบ้านตายลง เนื่องเพราะมันย่อมต้องหาที่อยู่ใหม่ เป็นการยุ่งยากและเดือดร้อน มิฉะนั้นก็ต้องตายตกไปตามกัน มันจึงรู้จักผ่อนปรนให้เจ้าบ้านบางพวก เช่น เชื้อมาเลเรีย (พลาสโมเดียม ฟัลซิปารัม และ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ พบมากในเมืองไทย) ที่สามารถอยู่ในยุงก้นปล่องตัวเมียได้โดยตัวยุงเองไม่เป็นอันตราย พวกมันทั้งเพศผู้และเพศเมียจะเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารของยุง แล้วตัวผู้จะทำการแบ่งตัวเป็นตัวเรียวยาวหลายตัว โดยหนึ่งในนั้นจะผสมกับตัวเมียตัวหนึ่ง เสร็จแล้วก็จะเข้าไปฝังอยู่ในผนังกระเพาะอาหารของยุง และเจริญเติบโตแบ่งตัวเกิดเป็นซีสใหญ่ซึ่งมี Sporozoite อยู่มากมาย


ต่อไปซีสแตก สะปอโรซอยท์ก็จะกระจายไปทั่วตัวยุง และไปซุ่มอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุงตัวนั้นด้วย เมื่อยุงตัวนั้นมากัดมนุษย์ มันก็อาศัยจังหวะนั้นมุดเข้ามาในตัวคน แล้วก็มุ่งตรงไปที่เซลล์เม็ดเลือดแดง โดยใช้ขาเกาะเกี่ยวแล้วเจาะทะลุผนังเซลล์เข้าไปฝังตัวอยู่ในนั้น อาศัยเป็นแหล่งทำมาหากินและดำรงเผ่าพันธุ์สืบไป และหลังจากระยะฟักตัวประมาณ 8-15 วัน มันก็อาจแพร่กระจายไปสู่เซลล์อื่นอย่างกว้างขวางแล้ว จนมนุษย์อาจเสียชีวิตลงได้


บางทีเมื่อภูมิต้านทานของมนุษย์เริ่มรู้จักมันและ “ยัน” มันอยู่ มันก็อาจจะหลบไปอยู่ในสัตว์ แล้วก็ไปเจอภูมิต้านทานของสัตว์เล่นงานเข้าอีก มันจึงจำเป็นต้องกลายพันธุ์เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์มิให้สูญสลาย คราวนี้เมื่อมันกลับมาสู่มนุษย์อีกครั้ง ก็อาจเกิดความรุนแรงได้ หรือเมื่อยามใดที่พวกมันกระโดดข้ามจากสัตว์มาสู่คนกันเป็นจำนวนมาก แถมเป็นพวกแปลกใหม่ (หรือเป็นลูกหลานของพวกเก่าที่กลายร่างมาใหม่) ที่ระบบทหารหรือภูมิคุมกันของเราไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้าค่าตามันมาก่อนด้วย เมื่อนั้นการแพร่กระจายในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ก็จะรวดเร็วและรุนแรง เกิดเป็นกลียุค ที่สมัยก่อนเรียกว่า “ห่าลง” แต่สมัยนี้เรียกว่า “โรคระบาด”


ในสมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญ “โรคระบาด” เป็นปัญหาของสังคมมนุษย์มาก ทั้งทำลายชีวิตและเศรษฐกิจ ตลอดจนก่อให้เกิดความหวาดกลัวอย่างมาก (คนยุโรปสมัยก่อนเรียก “ไข้ดำ” หรือกาฬโรคซึ่งเคยทำลายชีวิตชาวยุโรปทั้งทวีปกว่า 30% ในการมาเยือนรอบเดียวว่า A many-headed hydra) ทุกสังคมที่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ของตัวเองไว้ ย่อมมีบันทึกถึงความเสียหายของโรคระบาดไว้ด้วย อย่างในเมืองจีน เคยมีผู้รวบรวมสถิติของโรคระบาดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๓๐๐-๒๔๕๔ ซึ่งผมนับแบบเร็วๆ ได้ถึง 290 ครั้ง เฉลี่ยแล้วคิดเป็นประมาณ 7.4 ปีต่อการระบาดหนึ่งรอบ (ผู้เก็บสถิติคือ Joseph H. Cha, Professor of Far Eastern History, Quincy College. ผมอ้างมาจาก William McNeill, Plagues and Peoples, New York 1976 หน้า 293-302)

ตำนานเก่าของไทยก็เคยระบุว่า เมืองบางเมืองถึงกับร้างราผู้คนไปเพราะโรคระบาดก็มี แม้แต่สมัยใกล้ๆ นี้ ซึ่งเป็นสมัยที่การแพทย์สมัยใหม่เจริญมากแล้ว ก็ปรากฏว่ามีคนตายไปเพราะ AIDS ไม่น้อยเลย (เราตรวจเจอคนที่ติดเชื้อไวรัส HIV คนแรกเมื่อปี ๒๕๒๘ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นประมาณ 1,200,000 คน คิดเป็นสถิติแล้วประมาณชั่วโมงละ 2 คน วันละ 55 คน)


ยิ่งย้อนกลับไปไกลหน่อย ก็จะเห็นความเสียหายเพราะพวกอุบาทว์กาลีโลกได้ไม่ยากเลย แม้แต่ชนชั้นกษัตริย์ก็ยังถูกพวกมันเล่นงาน อย่างสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์แรก ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระราชปิตุลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ก็เสด็จสวรรคตเพราะเชื้อไข้รากสาด (Salmonella Typli) เช่นเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (รายงานจากการตรวจของหมอบลัดเลย์) หลังจากเสด็จกลับจากทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอได้ไม่นาน


สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็อาจจะเสด็จสวรรคตเพราะพวกเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ผมอยากจะให้อ่าน Diagnosis ซึ่งเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง ที่ทรงไว้ในพระราชหัตถเลขาซึ่งมีไปพระราชทานพระองค์เจ้าปัทมราช (มีศักดิ์เป็นเจ้าน้าของสมเด็จฯ ซึ่งเสด็จประทับอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้น) ลงวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๐๔ ว่า


“….ครั้นวันพฤหัสบดี ขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสิบ เวลาเช้า แม่เพย (สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ มีชื่อเดิมว่าพระนางเจ้ารำเพย--ผู้เขียน) ไออาเจียนเป็นโลหิตออกมามาก ออกทางจมูก ออกทางปาก ได้ตัวสัตว์ออกมากับทั้งโลหิตตัวหนึ่ง มีอาการคล้ายตัวหนอนเล็กหางสามแฉก แต่หมอยังแก้ไขก็ค่อยคลายมา โลหิตออกบ้างเล็กน้อยจางไปแล้ว ครั้น ณ วันอาทิตย์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ เวลากลางคืนเธอว่าค่อยสบาย ไอห่างไป นอนหลับได้มากตั้งแต่สามยามไปจนถึงสามโมงเช้า รับประทานอาหารได้ถ้วยฝาขนาดใหญ่ แล้วนั่งเล่นอยู่กับบุตรคนเล็ก (ทรงหมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์--ผู้เขียน) ไอเป็นโลหิตออมาแล้วก็เกิดเป็นโลหิตพุ่งพล่านมากเป็นที่สุด ออกทั้งทางปาก ทั้งทางจมูก ทางปากหลายถ้วยแก้วกระบอกไม่มีขณะหายใจ พอโลหิตมากแล้วชีพจรทั้งตัวก็หยุดทีเดียวไม่ฟื้นเลย.............” (อ้างจาก ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, สมเด็จพระนางเรือล่ม, สร้างสรรค์บุ๊คส์, ตุลาคม ๒๕๕๑ หน้า 11)

พวกอุบาทว์กาลีโลกหรือเชื้อโรคร้ายเหล่านี้ ส่วนมากมนุษย์จะติดมาจากสัตว์ ความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในชีวิตประจำวันทำให้เชื้อโรคหลายชนิดสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ในเวลาเดียวกัน หนังสือเรื่อง Diseases Transmitted from Animals to Man ของ Thomas Hall ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด (ฉบับพิมพ์ครั้งแรกปี 1930 สามารถ Download มาอ่านได้จากหอสมุดมหาวิทยาลัย Cornell ที่ www.chla.library.cornell.edu ผู้สนใจลองอ่านบทที่ 27) ในฉบับที่พิมพ์ปี 1963 ซึ่งเป็นการพิมพ์ครั้งสุดท้ายในขณะที่ผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ บอกจำนวนเชื้อโรคที่สามารถกระโดดไปมาระหว่างมนุษย์กับสัตว์ประเภทต่างๆ โดยแยกเป็น หมา 65 ชนิด วัวควาย 50 ชนิด แพะแกะ 46 ชนิด หมู 42 ชนิด ม้า 35 ชนิด หนู 32 ชนิด และสัตว์ปีก (เป็น ไก่ นก) 26 ชนิด


เชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของ “ไข้หวัด 2009” ที่กำลังระบาด ทำให้ผู้คนหวาดกลัวไปทั่วทุกหัวระแหงอยู่ในขณะนี้ ก็เป็น “พวกอุบาทว์กาลีโลก” ที่เราทราบค่อนข้างแน่ว่ามันมาจากหมู คือระบาดในหมู่หมูก่อนจะกระโดดมาสู่มนุษย์ ทว่าก่อนที่จะข้ามมาสู่หมูนั้น ก็เข้าใจว่ามันอาจจะระบาดกันในหมู่นกมาก่อน เพราะจากการตรวจ DNA ของมันอย่างละเอียด ก็พบว่ามัน Mutant มาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เคยพบทั้งในมนุษย์ สุกร และนก มาก่อน แต่มาสังเคราะห์กันเกิดเป็นพันธุ์ใหม่ รูปร่างหน้าตาใหม่ ที่ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ยังไม่เคยเผชิญมาก่อน


การกระโดดไปมาแบบนี้คล้ายกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรค SARS (Severe Acute Respiratory Syndrome) ซึ่งระบาดอย่างหนักในทางตอนใต้ของจีนและฮ่องกง ตลอดจนอีก 36 ประเทศ เมื่อกว่า 6 ปีก่อน ที่คาดว่ามาจากแมลงสาปก่อน แล้วค่อยข้ามไปสู่นกและหมู ก่อนที่จะข้ามมาสู่มนุษย์ หรืออย่างไวรัส HIV ก็ทราบว่าระบาดกันในหมู่ต้างคาวและลิงมาก่อน แล้วก็มีมนุษย์ที่ดันไปทำพิเรนท์กับลิงเข้า มันก็เลยถือโอกาสนั้นกระโดดข้ามมายังพวกเรา แล้วก็ข้ามจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งอย่างรวดเร็ว ด้วยอาศัยกามตัณหาเป็นตัวสนับสนุน


อย่างไรก็ตาม ความเจริญก้าวหน้าของการแพทย์และการปรุงยาสมัยใหม่ ช่วยให้เราสามารถขัดขวาง ป้องกัน และทำลายล้าง พวกอุบาทว์กาลีโลกไปได้ไม่น้อย โรคร้ายหลายโรคที่เคยเป็นที่ยำเกรงมากในอดีต และเคยทำกับบรรพบุรุษของมนุษย์ไว้อย่างเจ็บปวด ขมขื่น ก็ได้ม้วยมลายหายไปจากโลกแล้ว ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ เช่น กาฬโรคและฝีดาษหรือไข้ทรพิษ เป็นต้น หรือไม่ก็สามารถคิดค้นยาปฏิชีวนะที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรง เมื่อปะทะกับโรคที่เคยร้ายกาจเหล่านั้น ก็สามารถทำลายลงได้ ทำให้หมดสิ้นเขี้ยวเล็บไป ไม่สามารถทำให้คนกลัวอีกต่อไป เช่น วัณโรค อหิวาตกโรค มาเลเลีย ซิฟฟิลิส ฯลฯ ซึ่งพวกเหล่านี้ ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของเราเคยถือว่าเป็นเชื้อที่น่ากลัวมาก


จะเหลือตัวสำคัญก็เพียงไวรัสเท่านั้นแหละ ที่สามารถหลบหลีก “ลงใต้ดิน” หลบไปอยู่ในสัตว์ (หรืออาจจะซุ่มเงียบอยู่ในคนแต่ไม่แสดงอาการอะไร) แล้วเปลี่ยนสีแปลงธาตุกลับมาสร้างความรุนแรงด้วยรูปร่างใหม่ๆ (จะเป็นเพราะความตั้งใจของพวกมัน หรือเป็นเพียงอุบัติเหตุทางเคมีและการผ่าเหล่าทางชีววิทยา หรือเป็นเพราะมันถูกกำหนดมาจากผู้สร้างก่อนแล้ว เราก็ไม่อาจจะรู้ได้) เหมือนกับพวก Terrorist ที่ไม่สามารถต่อสู้ซึ่งหน้ากับกองทัพสมัยใหม่ ผู้ครอบครองอาวุธที่มีแสนยานุภาพสูง จนต้องอาศัยยุทธศาสตร์ก่อการร้ายและรบนอกแบบ มุดลงใต้ดินแล้วโผล่มาพร้อมกับความรุนแรงเป็นระยะ ซึ่งก็น่ากลัวไม่น้อยเลย


อันว่าไวรัสนั้น มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาด เมื่อมันได้เข้ามาสู่ตัวเราแล้ว เราจะฆ่ามันได้ก็ต่อเมื่อเราต้องยอมสละอวัยวะหรือชีวิตตัวเองด้วย เรียกว่าต้องตายตกไปตามกัน เพราะโครงสร้างชีวิตมันคล้ายเรา การดำรงชีวิตและสืบพันธุ์ของมันต้องอาศัยทรัพยากรของตัวเรา บางทีตอนที่มันยังอยู่ข้างนอก ก็ดูคล้ายกับไม่มีชีวิต แต่พอได้มุดเข้ามาอยู่ในตัวมนุษย์แล้ว มันกลับ Active บางทีถึงกับเกาะกิน RNA และ DNA ของเรา เอาไปเป็นของมัน ตอนมันเรียงตัวหรือแบ่งตัวเพื่อ Complete Life Cycle ของมันเอาเลย การใช้วัคซีนเข้าไปฆ่าพวกมันจึงจำเป็นต้องทำลายส่วนของเราไปด้วย


แนวคิดทางด้านการแพทย์สมัยใหม่ อาศัยการเพราะเชื้อเพื่อศึกษาพฤติกรรมของพวกอุบาทว์กาลีโลกเหล่านี้ แล้วค้นหา “จุดอ่อน” ที่สุดของมัน เพื่อจะได้ผลิตตัวยาส่งเข้าไปทำลายมันจากจุดนั้น


ส่วนใหญ่มักพบว่า จุดอ่อนของพวกมันจะเกิดขึ้นขณะที่มันแบ่งตัว ถ้าเป็นบักเตรีธรรมดา เรามักส่งตัวยาเข้าไปหลอกล่อให้พวกมันเข้าใจว่าตัวยานั้นคือทรัพยากรหรืออาหารที่มันต้องใช้ในการแบ่งตัว และเมื่อมันหลงกล นำเอาโมเลกุลของยาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์มัน หรือจัดเรียงไว้ในผนังเซลล์ของมันด้วย ยาก็จะออกฤทธิทำลายมัน เหมือนระเบิดเวลาที่ระเบิดพวกมันออกเป็นชิ้นๆ


ทว่าสำหรับไวรัส เราไม่อาจใช้วิธีนี้กับมันได้ เราทำได้อย่างมากแค่การรบกวน Enzyme บางตัวที่จำเป็นต่อกระบวนการแบ่งตัวของมัน มิให้มันแบ่งตัวได้ถนัด เป็นการจำกัดการแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นหรือเซลล์อื่นในร่างกายที่ยังไม่ติดเชื้อหรือถูกทำลาย


ยา Tamiflu ที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่ 2009 อยู่ทั่วโลกขณะนี้ ก็ออกฤทธิโดยวิธีที่กล่าวข้างต้น (ตั้งแต่เดือนเมษายนที่เริ่มมีข่าวการระบาดของไข้หวัด 2009 เป็นต้นมา ราคาหุ้นของ Roche Pharmaceuticals-RHHBY-พุ่งสูงขึ้นแล้วกว่า 8%, อ้างจาก www.wikinvest.com)


ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดสำหรับรับมือกับพวกอุบาทว์ 2009 นี้ คือต้องไม่ไปรับพวกมันเข้ามาในร่างกายเราโดยเด็ดขาด เพราะโอกาสของการรับพวกมันเข้ามาในปริมาณพอดี ที่เราจะไม่เป็นอันตราย แต่พอดีกับการไปกระตุ้นระบบทหารหรือภูมิคุ้มกันของเรา เหมือนกับวัคซีนนั้น มันเป็นไปได้ยากมาก


แต่ถ้ารู้ตัวว่าติดเชื้อเข้ามาแล้ว ก็ต้องรีบรับยาโดยทันที เพื่อระงับการแพร่กระจายของพวกมันในร่างกายของเรา หลายคนที่เสียชีวิตเป็นเพราะรับยาช้าเกินไป หรือไม่ก็ร่างกายตอบสนองรุนแรงเกินไป อุปมาเหมือนระบบทหารของเราทั้งกองทัพ เฮโลกันไปกำจัดมัน เพราะไม่เคยเห็นมันมาก่อน แต่พอเจอเชื้อชนิดอื่นแทรกซ้อน ราวกับถูกข้าศึกประชิดทั้งสองด้าน ก็แบ่งกำลังมารักษาไว้ไม่ทัน ทำให้ผู้ติดเชื้อมักตายลงด้วยปอดบวม หรือไม่ก็ภาวะโลหิตเป็นพิษ

อันที่จริง แนวคิดในการปรุงยากำจัดไวรัส ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่เคยใช้ได้ผล นั่นคือการทำให้ผนังเซลล์ยืดหยุ่นหรือลื่นจนขาหรือมือของไวรัสไม่สามารถเกาะติดได้ เพราะตอนมันเข้ามาในร่างกายของเรานั้น มันก็จะมุ่งตรงไปยังเนื้อเยื่อที่มันชอบ (โดยไวรัสแต่ละชนิดชอบไม่เหมือนกัน) เช่นพวกอุบาทว์ 2009 นั้นมักชอบหากินอยู่ในระบบทางเดินหายใจ และก่อนที่มันจะฝังตัวเข้าไปในเซลล์ของเรา มันจะต้องมาเกาะที่ผนังเซลล์ก่อน จังหวะนั้นถ้ายากำลังออกฤทธิอยู่ พวกอุบาทว์เหล่านั้นก็จะไม่สามารถเกาะติด และมันจะถูกเม็ดเลือดขาวมาเกาะไว้ เพื่อนำไปทำลายพร้อมกันเหมือนเจอระเบิดพลีชีพจากฝ่ายเราเข้าให้อย่างจัง



1918 ความทรงจำอันเลวร้าย


ก่อนที่ผมจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นอันเนื่องมาแต่พวกอุบาทว์กาลีโลกรอบนี้ ผมใคร่ขอพาท่านผู้อ่านย้อนเวลากลับไปในอดีต ที่บรรพบุรุษของพวกเราเคยถูกทำให้เจ็บปวดขมขื่น อันเนื่องมาจากการเบียดเบียนของบรรพบุรุษฝ่ายมัน จนยากที่จะลืมได้ลง



ในรอบร้อยปีที่ผ่านมา หากไม่นับพวกอุบาทว์ 2009 และ HIV ที่กำลังฟาดงวงฟาดงาอยู่ในขณะนี้ ยังมีโรคร้ายที่ระบาดสร้างความเสียหายหลายครั้งในอดีต ไม่ว่าจะเป็น Bird Flu, SARS, Mad Cow Disease, Japanese Encephalitis, Hong Kong Flu, Russian Flu, Swine Flu, Asian Flu, Ross River Virus, Ebola, Lassa Fever, Lyme Disease, BSE, Machupo, Hantavirus, และ Spanish Flu


ในบรรดาพวกอุบาทว์เหล่านี้ ดูเหมือนว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือ Influenza จะทำความเสียหายมากที่สุด แถมยังชอบกลายพันธุ์แล้วย้อนกลับมาระบาดในหมู่มนุษย์อย่างสม่ำเสมอ เป็นวงจรโรคระบาดที่มักจะรุนแรงถ้าป้องกันไว้ไม่ทัน ยกตัวอย่างตั้งแต่ปี 1874 (H3N8), แล้วก็ข้ามมาที่ปี 1890 (H2N2), แล้วก็ 1902 (H3N2), แล้วก็ 1918 (H1N1), 1933 (H1N1), 1947 (H1N1), 1957 (H2N2), 1968 (H3N2), 1976 (H1N1), 1977 (H1N1)+(H3N2)…………………., 2009 (H1N1) เป็นต้น (การกลายพันธุ์ของมันเป็นไปได้ทั้งโดยตัวมันเอง และทั้งที่รวมกับสายพันธุ์อื่น แล้วกลายมาเป็นสายพันธุ์ผสม ดังนั้นความหวาดกลัวขององค์การอนามัยโลกที่กลัวว่ามันจะผสมกับเชื้อไข้หวัดนกแล้วกลายเป็นตัวใหม่จึงเป็นความกลัวที่มีมูล และที่มีข่าวลือจากบางสายว่ามีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปกลุ่มใหญ่ในโลกที่มีภูมิต้านทาน เพราะเคยติดเชื้อมาก่อน ก็อาจจะจริง เพราะพิจารณาจากช่วงปี 1947-1976 ก็เคยมีเชื้อไวรัสสายพันธุ์คล้ายๆ กันนี้ระบาดมาก่อน ดังนั้นการเฝ้าระวังรอบนี้จึงเน้นไปที่เด็กและคนวัยฉกรรจ์)



นักเรียนแพทย์และเภษัชกรรมทุกคนย่อมต้องเคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์เหล่านี้มาแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทุกประเทศจะมี “หน่วยเฝ้าระวัง” ไข้หวัดใหญ่ของตัวเอง โดยจะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในระดับโลกอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของช่วงปี 1918-1919 ที่มีคนตายทั่วโลกเพราะพวกมันกว่า 30 ล้านคน



ผู้อ่านทั่วไปอาจไม่ทราบว่า ตั้งแต่ฤดูร้อนของปี 1918 จนถึงปลายฤดูหนาวในต้นปีถัดไป ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๖ ระหว่างที่ทหารไทยกำลังเตรียมตัวจะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรรบกับฝ่ายอักษะอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น ได้เกิดการแพร่ระบาดครั้งที่รุนแรงที่สุดและสร้างความเสียหายที่สุดให้กับมนุษยชาติ การระบาดครั้งนั้นเรียกกันว่า “Spanish Flu”



ว่ากันว่า มันเริ่มมาแต่เมืองจีน และเมื่อกุลีจีนไปรับจ้างขุดสนามเพลาะให้กับเยอรมันและฝรั่งเศสซึ่งขณะนั้นกำลังรบกันที่แนวรบตะวันตก มันก็กระโดดจากคนเอเชียสู่ฝรั่งแล้วก็แพร่ในหมู่ฝรั่งอย่างรวดเร็ว บุคคลสำคัญในยุโรปติดเชื้อกันระนาว หนึ่งในนั้นคือกษัตริย์แห่งสเปน สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ส่งทหารเข้าร่วมรบ ก็รับเชื้อกลับบ้านไปด้วย แถมยังกลับไปแพร่กระจายในดินแดนสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว



การระบาดรอบแรกของพวกมันในช่วงฤดูร้อนไม่ได้สร้างความเสียหายเท่าใดนัก คล้ายๆ กับไข้หวัด 2009 รอบนี้ อัตราการตายไม่สูงมาก เลยดูไม่ผิดปกติ เพียงแต่คนติดกันแยะ ทำให้รัฐบาลขณะนั้นชะล่าใจ หาได้มีมาตรการป้องกันอย่างจริงจังไม่



ทว่า เมื่อมันกลายพันธุ์แล้วกลับมาอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วมและฤดูหนาวปีเดียวกันนั้น มันก็ได้คร่าชีวิตผู้คนให้ตกตายไปราวกับใบไม้ร่วง (เลยไม่แปลกที่การเฝ้าระวังรอบนี้จึงเน้นที่การกลายพันธุ์ และมีผู้เชี่ยวชาญบางคนทายว่ามันจะกลับมารุนแรงในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ นั่นเป็นเพราะประสบการณ์อันเลวร้ายเมื่อครั้งอดีต)



เหยื่อของมันส่วนใหญ่อยู่ในวัยกำยำ อายุระหว่าง 18-40 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในค่ายทหาร ติดเชื้อกันมาก และส่วนมากก็ตายลงด้วยปอดบวม สถิติความเสียหายในครั้งนั้น มีให้ค้นคว้าได้ในเว็บไซต์จำนวนมาก ขอเพียงท่าน Key คำว่า Spanish Flu จะมีเรื่องเล่ามากมายปรากฏขึ้นบนจอ



มีอยู่สองเรื่องที่ผมคิดว่าน่าจะนำมาเล่าต่อ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการ Attack ในครั้งกระโน้น เรื่องแรกเล่ากันว่า มีผู้หญิง 4 คนไปนั่งเล่นไพ่บริจด์กันตามปกติที่เคยทำมา แต่คราวนี้ต่างออกไป เพราะอาจมีคนหนึ่งติดเชื้ออยู่ก่อน ก็ปรากฏว่าเมื่อเล่นกันถึงเช้า พอฟ้าเริ่มสาง เลยเหลือรอดชีวิตมาเพียงคนเดียว อีกเรื่องบอกว่า บางคนเดินไปตลาดตอนเช้า และดันไปติดเชื้อเข้า พอตกเย็นก็สิ้นลมเลย เป็นต้น



เด็กๆ ฝรั่งที่เล่นกระโดดเชือก เลยมีบทอาขยานท่องกันสืบมานับแต่บัดนั้นว่า



“I had a little bird,
Its name was Enza.
I opened the window,
And in-flu-enza.”



ผมได้สอบถามผู้เชี่ยวชาญในเมืองไทยบางคน ก็ไม่พบว่าสมัยโน้น คนไทยเคยได้รับเชื้อมาด้วย บางคนว่าอาจมีบ้าง เพียงแต่เรายังไม่มีระบบตรวจโรคที่ทันสมัย สถิติมันก็เลยไม่ปรากฏ แต่จะอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประเทศไทยมิได้รับความเสียหายจากการระบาดครั้งนั้น นั่นเป็นเพราะสมัยโน้นยังไม่มีเครื่องบิน การที่เชื้ออุบาทว์กาลีโลกจะเดินทางมาถึงเมืองไทย ก็สามารถมาได้โดยทางบกและทางเรือเท่านั้น ซึ่งต้องเสียเวลาเป็นเดือนเป็นปี มันจึงถูกแดดเผาผลาญไปเสียก่อนจะมาถึง



เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการค้นพบจดหมายฉบับหนึ่งของแพทย์ทหารอเมริกันที่เคยตกอยู่ท่ามกลางคนไข้จำนวนมาก จดหมายฉบับนี้ได้ถูกตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง ผมอยากแนะนำให้ท่านตามไปอ่านที่ www.web.uct.ac.za/depts/mmi/jmoodie/influen2.html เพราะมันค่อนข้างยาว แต่ผมก็อยากจะให้ทุกคนเห็นว่าการกลายพันธุ์แล้วกลับมาในรอบที่สองและรอบที่สามของพวกมันนั้น ค่อนข้างน่ากลัว



กระนั้นก็ตาม ข้อมูลจำนวนมากชี้ให้เห็นตรงกันว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อไปก่อนในการระบาดรอบแรกส่วนใหญ่จะไม่กลับมาเป็นอีกในรอบที่สองและรอบที่สาม



ผลกระทบทางเศรษฐกิจ


ท่านผู้อ่านลองจินตนาการดูสิครับว่า ถ้าเกิดเราไม่สามารถหยุดไข้หวัด 2009 หรือทอนพลังมันลงได้ จนมันระบาดหนักเฉกเช่นในอดีต แล้วคร่าชีวิตมนุษย์ไปสัก 30-40 ล้านคน มันจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและของไทย


ผมว่าอย่างแรกเลย มันจะเกิด Panic ขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก


ขนาดแรกๆ ระหว่างเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตอนที่เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับ “หวัดหมู” ผมได้ตัดข่าวจากหนังสือพิมพ์ไว้จำนวนหนึ่ง ข่าวหุ้นตกเกือบทั้งหมดจะพาดหัวว่ามันเนื่องมาแต่ความกลัวหวัดหมู กลัวว่ามันจะระบาดรุนแรง ฯลฯ แต่เมื่อนักลงทุนเริ่มรับข่าวสารมากขึ้น และรู้ว่ามันยังไม่น่ากลัวอย่างที่วิตก ปัจจัยนี้ก็จางไป


ถ้าใครลองกลับไปเปิดดู Chart หุ้นสหรัฐฯ (Down Jones Industrial Average) ช่วงปี 1919 ก็จะเห็นว่ามันดิ่งลงกว่า 20% ก่อนจะกลับขึ้นมาใหม่ในปี 1920 แล้วจึงเกิด Crash ครั้งสำคัญเมื่อ “สิงหาคม 1921”


ผลกระทบครั้งนั้นกว้างขวางและรุนแรงมาก เศรษฐกิจยุโรปทั้งหมดชะงักงัน เกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรงมาก (Hyper Inflation) ตามมาในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ระหว่างปี 1923 ไทยเองก็ถูกกระทบหนัก การคลังของรัฐบาลมีปัญหาขั้นวิกฤตร้ายแรง เสนาบดีว่าการกระทรวงการคลัง กรมหมึ่นจันทบรีนฤนารถ (พระอัยกาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน) ทรงขัดแย้งกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในเรื่องการใช้จ่ายส่วนพระองค์ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จนประชาชนหมดความศรัทธาในรัฐบาลและในตัวกษัตริย์ จนเกิดความพยายามทำรัฐประหารเพื่อล้มล้างรัฐบาลของกษัตริย์เป็นครั้งแรกโดยคณะนายทหารแต่กระทำไม่สำเร็จ ฯลฯ


ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเกิดมันคุมไม่อยู่จริงๆ จนผู้คนต้องล้มตายเหมือนคราวก่อน ผมว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นสถานพยาบาลและอุตสาหกรรมยาตลอดจนเวชภัณฑ์ ตลอดจนร้านค้าโลงศพ ดอกไม้จันทน์ ผ้าบังสุกุลและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ราคาหุ้นของกิจการเหล่านี้จะสวนตลาดเพราะผลประกอบการจะดีผิดปกติ เหมือนกับหนังสือพิมพ์กีฬาช่วงบอลโลก หรือร้านดอกไม้หน้ามหาวิทยาลัยวันรับปริญญาหรือวาเลนไทน์ ส่วนที่เหลือจะลำบากกันทั่วหน้า


เท่าที่รู้ หวัด 2009 รอบนี้มันชอบสังหารคนวัยทำงาน เหมือนกับ Spanish Flu ฉะนั้น ถ้าคนเหล่านี้ต้องตายไปเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างความมั่งคั่งของประเทศ ตลาดแรงงานจะเกิดความขาดแคลน ค่าจ้างจะสูงขึ้น และมหาวิทยาลัยจะต้องทำงานหนักเพื่อผลิตแรงงานฝีมือเข้ามาในระบบอีกรอบ


การลดลงของประชากรจะส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ เพราะมันจะกดดันให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบลดฮวบลง ก่อปัญหากับสถาบันการเงินทั้งระบบ การค้าและการบริการก็จะซบเซาลง เพราะ Effective Demand หดหายไป ความเชื่อมั่นในการบริโภคก็จะตกต่ำไปด้วย


การส่งออกอาหารที่เคยสร้างรายได้ให้เรามาก ก็จะลดลงด้วย เพราะจำนวนคนในโลกลดลง ย่อมดื่มกินน้อยลงเป็นธรรมดา ดีไม่ดี ถ้าต้องมีการฆาตกรรมหมู่พวกหมู ไก่ หรือนก (เหมือนกับตอนหวัดนกระบาด) ก็อาจเกิดความขาดแคลนขึ้นได้ และผักผลไม้ในประเทศก็จะแพงขึ้นแทน การส่งออกเสื้อผ้าอาภรณ์ก็จะได้รับผลกระทบทำนองเดียวกัน


ส่วนการท่องเที่ยวนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะคนจะเดินทางเท่าที่จำเป็น ขนาดตอนนี้ บรรดาสายการบินและโรงแรม ตลอดจนภัตตาคาร ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับการท่องเที่ยวก็เริ่มกระทบแล้ว ข่าวทีวีชิ้นหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ผมขำไม่ออก เมื่อเห็นผู้โดยสารรถปรับอากาศจากต่างจังหวัดกำลังจะเข้ากรุงเทพฯ คนหนึ่งสวมหน้ากากกำลังก้าวขึ้นไปบนรถ แล้วสักพักผู้โดยสารคนอื่นต่างทยอยลงจากรถกันหมด เพื่อรอไปคันใหม่


เพียงแค่นี้ก็เพียงพอที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจเอเชียโดยรวมแล้วหล่ะ อย่าลืมว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วทั้งเอเชียนั้นคิดเป็นประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของทุกชาติรวมกัน


ไม่เพียงเท่านั้น งานแสดงสินค้า งานคอนเสริต งานเปิดตัวสินค้า และงาน Event ต่างๆ ตลอดจนห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ต ก็จะซบเซาด้วย เพราะคนจะไม่กล้าไปเดินหรือไปร่วม อย่าว่าแต่โรงเรียนกวดวิชาซึ่งตอนนี้ก็ขาดรายได้ไปแยะแล้ว


ผมได้ข่าวว่าตอนนี้ แม้กระทั่งวัดในต่างจังหวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญของชุมชน คนก็บางตาไปมาก แม้กระทั่งแม่ผมเอง ตอนนี้ท่านอายุ 82 ปี ท่านไปวัดสม่ำเสมอมาตั้งแต่ยังสาวๆ ก็ยังไม่กล้าไปวัดเลย และถ้าจำเป็นต้องไปจริงๆ ท่านก็จะใส่ผ้าปิดปาก แม้จะเกรงใจเพื่อนบ้านและพระสงฆ์องค์เจ้า แต่ก็จำยอมเพราะท่านว่า “คนแก่ ติดแล้วมันจะไม่คุ้ม”


ผมขอทายไว้ตรงนี้เลยว่า ถ้าไข้หวัดยังไม่หยุดระบาด การปลุกม็อบจะทำได้ยาก !


ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเลวร้ายลง เพราะแต่ละประเทศจะใช้มาตรการคุมเข้ม ทั้งคนและสินค้า อาจถึงขั้นต้องกักบริเวณและสงวนพื้นที่จอดเรือและเครื่องบิน ผู้โดยสารและสินค้าที่มากับเรือหรือเครื่องบินลำใด จากเมืองซึ่งมีประวัติติดเชื้อ อาจถูกกักบริเวณเป็นเวลาหลายอาทิตย์ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ


ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งตึงเครียดอยู่รอบด้านแล้ว จะเลวร้ายลงไปอีก เพราะความเครียดอันเนื่องมาจากมาตรการเข้มงวดต่างๆ และอาจจะต้องมีการเนรเทศแรงงานต่างด้าวครั้งใหญ่ เพราะรัฐบาลไทยไม่สามารถรับภาระค่ารักษาพยาบาลไว้ได้ ฯลฯ


ที่สำคัญ ถ้ารัฐบาล “เอามันไว้ไม่อยู่” นอกจากผู้คนจะต้องเจ็บป่วยล้มตายและ “ไทยคงไม่เข้มแข็งแล้ว” โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวย่อมเป็นไปได้ยาก หรือไม่ก็ต้องทอดระยะเวลาออกไปอีกหลายปี


แม้ความเสียหายที่มันอาจนำมาสู่สังคมไทย จะไม่ถึงขั้นทำให้อารยะธรรมล่มสลาย แต่ผมก็ภาวนาอย่าให้มันเกิดขึ้น เพราะผมว่าสังคมไทยตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเปราะบางสุดขีด ถ้าต้องมารับภาระจากพวกอุบาทว์กาลีโลกนี้อีก


ผมว่ามันจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย



(ผมขอขอบคุณ อภิชาติ ปฏิโภคสุทธิ์ ที่ได้ให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับ Microparasites และวิธีการเยียวยารักษาโรคที่มีสาเหตุมาจากพวกมันอย่างละเอียด)


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552