วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความมั่งคั่งในโลกยุคใหม่ Wealth Building Styles




ผมคิดว่า “เศรษฐกิจ” คือกิจกรรมที่มนุษย์เอาประโยชน์จากผิวโลกใบนี้

แน่นอน มนุษย์ย่อมสร้างความมั่งคั่งจากการขุดดิน เพาะปลูก เจาะผิวโลกเพื่อตักแร่ธาตุและน้ำมันขึ้นมาใช้ ตัดต้นไม้ จับปลา และเอาคลื่นในอากาศมาเป็นพาหะของคลื่นเสียง สัญญาณภาพ และไฟล์ข้อมูล

สมัยนานแสนนานมาแล้ว ความรู้ในการเอาประโยชน์จากผิวโลกยังมีน้อย (เราเรียกความรู้แบบนี้ว่า “เทคโนโลยี”) กิจกรรมเศรษฐกิจของมนุษย์จึงจำกัดอยู่แค่การหากินกับป่าหรือหนองน้ำและทะเล (ล่าสัตว์) จนต่อมาก็ขุดดินปลูกพืช (เพาะปลูก หรือต่อมาเรียกว่า “เกษตรกรรม”)

ดังนั้น คนที่โชคดี มีโอกาสเกิดมาและอาศัยอยู่บนผิวโลกในย่านที่อุดมสมบูรณ์ ย่อมได้เปรียบและสามารถสร้างและสะสมความมั่งคั่งได้ง่ายและมากกว่าคนอื่น

จนต่อมาอีกนาน มนุษย์จึงสามารถสร้างเครื่องจักรและทำการผลิตทีละมากๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม จนต้องขุด เจาะ ตัด ฟัน ดัก และจับ เอาจากผิวโลกมาใช้ทีละมากๆ และในอัตราเร่ง และพัฒนาระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันทั่วทั้งโลก จึงเกิดเป็นความมั่งคั่งสะสมจำนวนมหาศาลเหลือคณานับ

ความมั่งคั่งเหล่านี้นอกจากจะถูกใช้ไปกับการปรนเปรอความสุขให้แก่มนุษย์ผู้สะสมมันแล้ว ยังถูกใช้สร้างกองกำลังเพื่อข่มขู่ คุกคาม เอาเปรียบ และยึดครองทรัพยากรบนผิวโลก และแรงงาน เพื่อให้ได้มาแบบถูกๆ หรือแบบฟรีๆ แล้วนำมาผลิตและขายเพื่อสะสมความมั่งคั่งให้เพิ่มพูนขึ้นไปอีก

เมื่อสักสองร้อยกว่าปีมานี้ มนุษย์ในยุโรปที่มีเชื้อชาติเดียวกันและพูดภาษาเดียวกัน เริ่มมีความรู้สึกอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาเป็นปึกแผ่น รู้สึกว่าต้องรวมตัวกันเป็นประเทศที่มีอาณาเขตชัดเจนและสร้างระบบปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ และต้องแข่งขันกันสะสมความมั่งคั่งกับชาติอื่นตลอดเวลา

The Wealth of Nations ตีพิมพ์ในปี 1776 ชี้ให้เห็นความรู้สึกชาตินิยมอย่างชัดเจน (สังเกตุคำว่า Nations)

ข้อคิดในหนังสือเล่มนั้นมีอิทธิพลต่อผู้ปกครองของชาติสำคัญๆ ถึงแนวทางในการสร้างและสะสมความมั่งคั่งระดับชาติ

กล่าวง่ายๆ คือรัฐบาลต้องจัดเก็บภาษี แล้วนำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือเอื้ออำนวยต่อกระบวนการสร้างความมั่งคั่งในระดับกิจการและปัจเจกชน โดยที่รัฐบาลจะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายกิจกรรมเหล่านั้น ไม่ไปบังคับให้ราษฎรผลิตสิ่งนั้น ไม่ผลิตสิ่งนี้ ปริวรรตสิ่งนั้น ไม่ปริวรรตสิ่งนี้ บริโภคสิ่งนั้น ไม่บริโภคสิ่งนี้ คือต้องปล่อยให้กลไกตลาดหรือ “มือที่มองไม่เห็น” (Invisible Hand) ทำงานของมันเอง  

การตื่นตัวทางการค้าระหว่างประเทศและการผลิตผนวกกับความมั่งคั่งที่สะสมมาได้ระดับหนึ่ง ทำให้เกิดระบบทุนนิยมขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมาก ก็ถูกนำมารับใช้ระบบการผลิตและการค้าในระบบทุนนิยม ทำให้ความมั่งคั่งและแสนยานุภาพของยุโรปเพิ่มพูนขึ้นจนไม่มีใครเทียบได้

ความขัดแย้งในสังคมระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้เกิดลัทธิสังคมนิยมขึ้น Karl Marx ได้เขียนหนังสือ Das Capital ขึ้นในปี 1867 เพื่อตีแผ่ให้เห็นความเลวร้ายของระบบทุนนิยม ซึ่งเจ้าของทุนสะสมความมั่งคั่งโดยการขูดรีดเอาจากเจ้าของแรงงาน

เขาจึงเสนอให้บรรดาผู้เป็นเจ้าของแรงงานทั้งปวง (เรียกว่าชนชั้นกรรมาชีพ) ทำการยึดอำนาจรัฐ แล้วจัดระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการผลิตเสียใหม่ โดยให้ยึดเอาทุนและทรัพย์สินมาเป็นของรัฐให้หมด และหลังจากนั้นก็ค่อยให้รัฐทำการจัดสรรทุนเพื่อการผลิต ปริวรรต และบริโภค คือให้รัฐทำหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่เหลือที่ยืนให้กับกลไกตลาดอีกเลย

มีประเทศคอมมิวนิสต์จำนวนมากเคยทดลองจัดระบบเศรษฐกิจตามแนวคิดของ Marx ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมของตัวเอง ทว่าสุดท้ายก็ล้มเหลว

ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ล้วนจัดอยู่ระหว่างแนวคิดสองขั้วนี้ทั้งสิ้น คือผสมผสานเอา Chemistry ของกลไกตลาดกับการวางแผนจากส่วนกลางเข้าด้วยกัน โดยบ้างก็เน้นดีกรีการวางแผนมากหน่อย (เรียกว่า “เอียงซ้าย” หรือ ระบบสังคมนิยม) แต่บ้างก็เน้นกลไกตลาดแยะหน่อย (เรียกว่า “เอียงขวา” หรือ ระบบเสรีนิยม) และบ้างก็แบ่งประเทศออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งปล่อยให้กลไกตลาดทำงานและสะสมทุนได้โดยอิสระ แต่อีกซีกหนึ่งยังคงควบคุมเข้มงวด เช่นสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

ประเทศไทยเราใช้ระบบเสรีนิยมมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็มีการวางแผนจากภาครัฐอย่างอ่อนๆ แซมอยู่บ้าง ทว่าเป็นนโยบายแบบ Industrial Policy คล้ายกับญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้งหลัง ที่มีการเลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายและสนับสนุนให้เติบโตอย่างเปิดเผย

รัฐบาลปัจจุบันก็มี Industrial Policy รายจังหวัดเช่นกัน (ดูแผนผังประกอบ)



Corporate Wealth

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องของแนวคิดในการสร้างความมั่งคั่งระดับประเทศ ซึ่งย่อมเป็นผลรวมของความมั่งคั่งระดับธุรกิจและวิสาหกิจและผู้ประกอบการ

แนวคิดในการสร้างความมั่งคั่งระดับองค์กรได้พัฒนาขึ้นมากในรอบร้อยปีมานี้

หลักสูตรบริหารธุรกิจและ MBA แพร่กระจายไปทั่วโลกและเติบโตอย่างมากในรอบสี่สิบปีมานี้

ความรู้ทางด้านการเงินและการขยายตัวของตลาดทุนตลอดจนนวัตกรรมทางการเงินช่วยให้กระบวนการสะสมความมั่งคั่งเป็นไปอย่างก้าวกระโดดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เกิดอภิมหาเศรษฐีชั้นใหม่ขึ้นในโลกที่เราเรียกว่า Super Rich

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างความมั่งคั่งในระดับนั้นขึ้นมาได้ด้วยอาศัยตลาดหุ้นและเครื่องมือการเงินใหม่ๆ ที่ใช้ต่อยอดจากผลผลิตอันเกิดขึ้นจริง

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Apple มียอดขายเมื่อปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น 155.97 พันล้านเหรียญฯ และมีกำไรสุทธิเพียง 41.73 พันล้านเหรียญฯ (อันนี้เป็นผลผลิตจริงที่กิจการผลิตสินค้าและขายสินค้าได้ตลอดปี 2555) แต่กลับมีมูลค่าตามราคาตลาด หรือ Market Capitalization (คิดเป็นมูลค่าของกิจการ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้อยู่ถึง 433.76 พันล้านเหรียญฯ หรือสี่แสนกว่าล้านเหรียญฯ คิดเป็นเงินไทย ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันก็ปาเข้าไปเกือบ 13 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ประเทศไทยทั้งประเทศเสียอีก

จะเห็นว่ามูลค่ากิจการมันมีตัวคูณจากฐานกำไรถึงสิบกว่าเท่า

สมมติว่าพ่อของคุณเป็นเพื่อนกับ Steve Jobs และร่วมถือหุ้นตอนเขาก่อตั้งบริษัทเมื่อหลายสิบปีก่อนอยู่เพียง 1% และคุณก็รักษาสัดส่วนนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน หุ้นของคุณก็จะมีมูลค่าถึง 130,000 ล้าน หรือหนึ่งแสนสามหมึ่นล้านบาท

นี่เพียงแค่ 1% ของหุ้นเพียงบริษัทเดียว!

เห็นหรือยังครับว่าพวกบรรดา Super Rich ที่เที่ยวประมูลภาพเขียนเป็นร้อยล้านพันล้าน มีเรือยอชต์เป็นฝูง และนิยมเขย่าเชมเปญดอมเปอริยองอย่างแพงที่สุด เพื่อฉีดกันเล่นสนุกสนานจนงวดเหลือแค่ก้นขวดไว้ดื่มกันเหล่านั้น มันโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร

ความมั่งคั่งระดับนี้เกิดขึ้นได้ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ (ที่มีอุตสาหกรรมทางการเงินและตลาดทุนที่ก้าวหน้าตลอดจนมีการสะสมทุนขนาดมโหฬาร) เท่านั้น

ความรู้ทางการเงินจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่งคั่งยุคใหม่

มีคนจำพวกหนึ่งถึงกับสามารถใช้ชีวิตเสวยสุขไปตลอดชีวิตได้ด้วยการสะสมทุนหรือการระดมทุนจากเงินคนอื่นแล้วเอาเงินนั้นไปต่อเงินด้วยการลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องทำงานลงแรงผลิตแต่อย่างใด

พวกเขาตัดตอน โดยให้คนอื่นลงแรงให้แทน ส่วนตัวเองคอยหาโอกาสทำกำไรจาการซื้อหุ้นและตราสารการเงินที่ออกมาขายโดยใช้ผลผลิตและผลิตภาพของฐานแรงงานเหล่านั้น Back Up อีกทอดหนึ่ง พวกเขาทำเช่นนั้นได้ด้วยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินเป็นหลัก

พวกเขารวยหรือสะสมความมั่งคั่งขึ้นมาด้วยการเล่นกับตัวคูณในตลาดหุ้น

ผู้บริหารยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกนั้น นอกจากจะเก่งในเชิงการบริหารแล้ว พวกเขายังต้องเชี่ยวชาญเรื่องที่พูดมานี้ ซึ่งถือเป็น A MUST สำหรับการสร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการธุรกิจสมัยใหม่และบรรดาผู้ถือหุ้นของพวกเขา

นอกจากพวกเขาจะต้องสร้างความมั่งคั่งให้กับองค์กร โดยอาศัยไหวพริบและความเชี่ยวชาญในเชิงบริหารให้เกิดการเติบโต มีกำไร และทรงประสิทธิภาพแล้ว พวกเขายังต้องสร้าง Market Capitalization หรือมูลค่าของกิจการให้สูงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เพราะนั่นเท่ากับความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้น ซึ่งกิจการยุคใหม่ย่อมรวมถึงผู้บริหารและพนักงานด้วย

ปัญหาของ Market Cap. มีอยู่อย่างเดียว คือเรายังไม่มีความรู้ที่แม่นยำขนาดเจาะจงลงไปได้ว่าจะสร้างมันมายังไง

ถึงแม้เราจะรู้ว่า Market Cap. เป็นที่มาของความมั่งคั่งของโลกธุรกิจสมัยใหม่ และจะดลบันดาลให้เกิดความสุขทางวัตถุและทรัพย์สฤงคารที่จะตามมา แต่เราก็ไม่มีสูตรสำเร็จที่จะได้มันมา

Market Cap. ยังคงเป็นความลี้ลับของทุน (Mystery of Capital)

แนวทางในการสร้าง Market Cap. ของแต่ละกิจการย่อมไม่เหมือนกัน และผู้บริหารแต่ละคนก็ต่าง Style กัน

Steve Jobs ก็สไตล์หนึ่ง Bill Gates ก็อีกสไตล์หนึ่ง

ดังนั้น เพื่อให้ท่านเกิดไอเดีย เราจึงคัดสรรเอาบทสัมภาษณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นงานชั้นคลาสสิก ซึ่งเคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Fortune เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว มาตีพิมพ์ให้ได้อ่านกันอีกครั้งในภาคภาษาไทย (โปรดพลิกไปที่หน้า 87)

มันเป็นบทสัมภาษณ์คู่กันระหว่าง Roberto Goizueta และ Jack Welch

คนหนึ่งเป็นตำนานของ COKE และอีกคนหนึ่งเป็นตำนานของ GE

แต่ทั้งคู่เป็นตำนานของผู้บริหารตลอดกาล

พวกเขาต่างก็สร้างความมั่งคั่งให้กับกิจการและผู้ถือหุ้นของตน

แต่ต่างคนก็ต่างสไตล์

Coca-cola เป็นกิจการที่ขาย Image แต่ GE ขาย Performance

Coca-cola โฟกัสอยู่กับสินค้าตัวเดียว แต่ GE เล่นตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

แต่เมื่อเจาะลึกเข้าสู่ประเด็นในเชิงของกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง พวกเขากลับคิดคล้ายกัน

ถ้าตีประเด็นคำพูดของพวกเขาแตก ท่านผู้อ่านก็จะหยั่งรู้ถึงความลี้ลับของ Market Capitalization ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความมั่งคั่งของกิจการในโลกสมัยใหม่



Wealth Style ในยุคอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ตมาเปลี่ยนวิถีธุรกิจจำนวนมาก เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้พฤติกรรมการบริโภค วิธีการจัดจำหน่าย การชำระเงิน หรือแม้กระทั่งวิถีการผลิต เปลี่ยนแนวไป จึงทำให้วิถีธุรกิจจำต้องเปลี่ยนตาม ทั้งที่พร้อมใจเปลี่ยนและถูกบังคับให้เปลี่ยน

กิจการที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนเมื่อครั้งยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ต่างเติบใหญ่ปรู๊ดปร๊าดกันอย่างรวดเร็วและมั่งคั่งอู้ฟู่กันอย่างมหาศาล Google, Yahoo!, Amazon.com, eBay, Facebook, Groupon, Expedia, iTune Store เป็นต้น

ในขณะที่กิจการซึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่เดิมเริ่มประสบปัญหา เช่น หนังสือพิมพ์และร้านหนังสือ ทะยอยปิดตัวลงทั่วโลก

อินเทอร์เน็ตสร้างโอกาสให้กับคนเล็กคนน้อย

ช่างฝีมือที่ชอบสร้างของสวยงามประเภท Handmade สามารถเข้าถึงตลาดโลกโดยตรงผ่าน Etzy.com หรือบรรดานักเล่น D-I-Y ก็สามารถผ่านทาง SparkFun.com ได้เช่นกัน

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่สามารถระดมทุนผ่านเว็บไซต์ประเภท Crowdsourcing ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็น Kickstarter.com, Quirkey.com, Profunding.com, OpenIndie.com, Crowdcube.com, Fundingcircle.com, Microventures.com, Peerbackers, Pozible, Rocky Hub, Co.fundos, FanNextDoor, Appbacker, และ 33 Needs

หรือแม้กระทั่งชาวบ้านธรรมดาก็สามารถเข้าหาเว็บไซต์ประเภท Microfinance ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบอีกต่อไป ตัวอย่างของเว็บไซต์ประเภทนี้ที่ดังๆ ก็มีเช่น KIVA.com, Buzzbnk, CauseVox, Give.fm, Ioby, MicroPlace, OpenIDEO, Sparked, Sponsume, StartSomeGood

เว็บไซต์พวกนี้ นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อบรรดา SME มาก เพราะช่วยให้กระบวนการสร้างความมั่งคั่งของพวกเขาเป็นจริงเป็นจังขึ้น

ในระดับปัจเจก อินเทอร์เน็ตก็ได้ช่วยและเปลี่ยนชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นแม่คนหนึ่งที่ผมรู้จัก เธอเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น นับเป็นคนไทยที่มีตำแหน่งสูงสุดที่โรงงานแห่งนั้น แต่โชคร้ายที่ลูกเธอล้มเจ็บลงด้วยโรคที่หาสาเหตุไม่ได้และรักษาไม่หาย ตระเวนรักษามาทั่วแล้ว ก็ดูเหมือนจะหมดหวัง จนเธอต้องตัดสินใจทิ้งเงินเดือนเป็นแสนเพื่อมาทุ่มเทให้กับการพยาบาลลูก

ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ เธอหันเข้าหาอินเทอร์เน็ต เริ่มหาข้อมูลผ่าน Google ธรรมดาๆ จนพบบทความวิชาการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ และพบกับพ่อแม่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีลูกเป็นโรคชนิดเดียวกัน

เธอเข้าร่วมถกเถียง ค้นคว้า แลกเปลี่ยนข้อมูลกับพ่อแม่กลุ่มนี้ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และทางยาจากทั่วโลกที่อยู่ใน Web Ring อันนั้น

จนสุดท้าย เธอพบยาตัวหนึ่งที่ช่วยให้ลูกเธอดีขึ้น พร้อมกับการรักษาในแบบดุลยภาพบำบัด

ปัจจุบัน อาการของลูกเธอดีวันดีคืน และเธอก็ค้นพบอาชีพใหม่คือเป็นตัวแทนนำเข้ายาตัวนั้นให้กับโรงพยาบาลทั่วไทย

เราจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่าอย่างไร?

จะเรียกว่าอินเทอร์เน็ตกับกระบวนการสร้างความมั่งคั่งได้หรือไม่ เพราะมันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทองหรือเรื่องสะสมทุนหรือสะสมความมั่งคั่งใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ถ้าคุณไปถามคุณแม่คนนั้น และคุณแม่อีกหลายๆ คนทั่วโลก คุณจะพบว่าประโยชน์ที่อินเทอร์เน็ตให้กับเธอนั้น มันตีเป็นมูลค่าไม่ได้เลย

เมื่อครั้งที่ผมไปปารีสตอนกลางปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับนักศึกษาไทยคนหนึ่ง

น้องคนนี้เป็นคนเก่ง เรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ และกำลังจะเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบที่ Grande Ecole ซึ่งมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในปารีส

น้องคนนี้ส่งตัวเองเรียนโดยขอให้พ่อซื้อคอนโดฯ ย่านพญาไทไว้สองห้อง และตัวเองปล่อยเช่าด้วยการจัดการผ่านเว็บไซต์ Airbnb.com

เขาโชว์ Gantt Chart บน iPad ของเขาให้ผมดูว่าเดือนนั้น ห้องทั้งสองที่กรุงเทพฯ ถูกจองไว้ช่วงไหนบ้าง และจองจากใคร

รายได้จากคอนโดทั้งสองห้องนั้น บางเดือนคิดเป็นเกือบครึ่งแสน

ที่สำคัญ เธอสามารถ Manage ไปจากปารีสได้ โดยที่เมืองไทย เธอขอให้ญาติๆ กัน ช่วยดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยต่างๆ เฉพาะในช่วงเปลี่ยนกะ คือเมื่อผู้เช่ารายเก่าย้ายออก ก่อนที่ผู้เช่ารายใหม่จะเข้าอยู่

ถ้าคุณเปิดดูเว็บไซต์ Airbnb.com หรือดูหน้า Facebook ของกิจการแห่งนั้น คุณจะเห็นทันทีว่าเว็บนี้ Popular และได้ผลมาก เพราะมีคนเอาบ้านและที่อยู่อาศัยประเภทอื่นมาปล่อยเช่า หรือมาแชร์ให้เช่าในช่วงที่ตัวไม่อยู่ กันเป็นจำนวนหลายแสนราย โดยมาจากจำนวนเมืองกว่า 30,000 เมืองใน 192 ประเทศ

โดย Airbnb.com ขอตัดค่าธรรมเนียมเพียงประมาณ 9-15% ของค่าเช่าเท่านั้นเอง แต่มีประกันให้กับเจ้าของบ้านในกรณีที่ผู้เช่าทำข้าวของเสียหายถึงรายละ 50,000 เหรียญฯ

เว็บไซต์ประเภทนี้ยังมีอีกหลายอัน ที่มีชื่อเสียงก็เช่น Roomorama, Wimdu, และ BedyCasa เป็นต้น

ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนที่ท่องอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ คงทราบดีว่าไม่เพียงแต่บ้านช่องเท่านั้นที่คนนิยมเอามาแชร์กันโดยตรงผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ยังมีของส่วนตัวอีกมากที่นิยมเอามาแชร์ให้เช่ากันเป็นครั้งคราว ในยามที่ตัวเองไม่มีธุระจะใช้ของส่วนตัวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ (เช่น WhipCar, RelayRides, Tamyca, Wheelz, Getaround, Buzzcar เป็นต้น หรือแบบให้บริการเท็กซี่เช่น Lyft, SideCar, Uber, Weeels) เรือ (Boatbound) รถจักรยาน กล้อง คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรี อุปกรณ์ตกแต่งสวน อุปกรณ์ครัว อุปกรณ์สนาม หรือแม้แต่ที่จอดรถ ออฟฟิสชั่วคราว เครื่องจักร เพื่อนเที่ยว และหมา (เช่น DogVacay และ Rover เป็นต้น)

สมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นที่พ่วง GPS ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้แบบง่ายๆ

เรื่องราวเหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความมั่งคั่งในระดับปัจเจกชนที่จะก่อผลรวมให้เกิดเป็นความมั่งคั่งของสังคมหรือระดับประเทศหรือไม่ หรือเพียงเป็น Business Model ใหม่ที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารสมัยใหม่บันดาลให้เกิดขึ้น

คำตอบต่อคำถามนี้ ไม่ง่ายนัก

แต่ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร มันล้วนเกิดขึ้นแล้ว เป็นความจริง และจับต้องได้

ในกรณีของรถเช่าคอนเซ็ปใหม่นั้น ผมเคยประสบกับตัวเองมาแล้วครั้งหนึ่ง และเคยเขียนเรียบเรียงไว้ให้อ่านมาแล้วเมื่อฉบับมกราคม 2555 (ชื่อเรื่อง "ธุระครอบครัว")

ผมจึงอยากจะขอปิดท้ายบทความนี้ไว้ด้วยล้อมกรอบอันนั้น เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของบทความที่ว่าด้วยแนวคิดในการสร้างความมั่งคั่งของมนุษย์นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย (หมายเหตุ: ท่านผู้อ่านสามารถคลิกอ่านได้ที่หัวเรื่องต่อไปนี้ได้เลย: ธุระครอบครัว)


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
22 มีนาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2556


(ภาพประกอบ The Iron-rolling Mill โดย Menzel แสดงชีวิตโรงงานฝรั่งในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ชัดมาก)

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

GEOENGINEERING มนุษย์ต้องท้าทายพระอาทิตย์เพื่อให้โลกเย็นลง




เมื่อพูดถึง "โลกร้อน" หรือ “Climate Change” หรือแม้กระทั่งเรื่องราวที่เกี่ยวกับ "พลังงาน" ในปัจจุบัน เรามักจะโฟกัสไปที่ "พลังงานทดแทน" บ้าง การลด "Carbon Footprint” บ้าง หรือไม่ก็ “Green Lifestyle” หรือ “Carbon-Free Living" หรือมาตรการอะไรก็ตามที่จะลดดีกรีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศลงไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาใช้ "จักรยาน” “Electric Car” “Hybrid Car” “พลังงานลม" “ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์" “คลื่น" หรือ "พลังงานชีวมวล" หรือแม้กระทั่ง "CleanTech” “Waste Management” และ "Carbon-captured Refinery” หรือโรงกลั่นน้ำมันและโรงไฟฟ้าที่ติดตั้งเครื่องจับคาร์บอนแล้วนำกลับไปเก็บไว้ใต้พื้นพิภพดังเดิม ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่และกำลังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่เจริญแล้วหลายแห่ง

แต่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง "Geoengineering” หรือ "Climate Engineering” ที่กำลังอยู่ในขั้นวิจัยและทดลองในห้องแล็ป โดยมีแนวคิดว่ามนุษย์จำเป็นต้องใช้มาตรการแทรกแซงธรรมชาติโดยตรง เพื่อให้โลกเย็นลงหรือไม่ก็ต้องลดปริมาณของคาร์บอนในอากาศลง

อันที่จริงผมเคยพูดถึงประเด็นคล้ายๆ กันนี้มาครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน โดยตอนนั้นเราได้เกริ่นให้ฟังถึงโครงการ HAARP ที่ย่อมาจาก High Frequency Active Auroral Research Program ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Star Wars ของประธานาธิบดีเรแกน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 ในมลรัฐอลาสก้า โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กองทัพสหรัฐฯ ทำการสับประยุทธ์กลางห้วงหาว กับสหภาพโซเวียต เป็นสำคัญ

โดยตอนหลัง เมื่อมีข่าวว่าองค์การ NASA ของสหรัฐฯ จะขอเช่าพื้นที่อู่ตะเภา ก็มีนักหนังสือพิมพ์และคอลัมนิสต์หลายท่านหยิบยกเอาประเด็นนี้ขึ้นมาโจมตี โดยกลัวว่าสหรัฐฯ จะใช้อู่ตะเภาเป็นสถานีทดลองทางด้านฝนฟ้าอากาศ ตามแนวทางของโครงการดังกล่าว

สุดท้าย สหรัฐฯ ก็รามือไป และรัฐบาลไทยก็เลิกพูดเรื่องนี้อีก

อันที่จริง ความกลัวอันนั้นมันมีมูลอยู่ เพราะถ้าหากสหรัฐฯ มาใช้อู่ตะเภาเป็นฐานการทดลองแนวนี้จริง มันจะทำให้แผ่นดินไทยของเรา (ซึ่งมีอธิปไตยสมบูรณ์และเป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศ) กลายเป็นฐานทัพของสหรัฐฯ ไปโดยไม่ตั้งใจ

แต่มันจะเป็นฐานทัพในความหมายใหม่ มิใช่ฐานทัพแบบเดิมเหมือนในสมัยสงครามเวียดนาม ที่ยอมให้กองกำลังของสหรัฐฯ เข้ามาใช้เป็นฐานบินสำหรับบรรทุกระเบิดไปทิ้งในอินโดจีน แต่จะเป็นฐานทัพที่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่อันก้าวหน้ามาก ในการสั่งฟ้า สั่งฝน ให้ไปทำร้ายศัตรู เหมือนในละครจักรๆ วงศ์ๆ นั่นแหละ

ผมเคยค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเขียนไว้ในฉบับเดือนมีนาคม 2553 ว่า

"จากเอกสารอ้างอิงของกองทัพอากาศสหรัฐฯ (U.S. Air Force) ระบุว่า โครงการนี้จะใช้วิธี "ปลุกปั่น" "ปรับแต่ง" "ยักย้ายถ่ายเท" "ออกแบบ" หรือ "สถาปนาใหม่" ชั้นบรรยากาศของโลก (Ionospheric modifications) โดยจงใจปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วยน้ำมือมนุษย์ เพื่อหาทางทำลายคลื่นวิทยุตลอดจนสัญญาณเรด้าร์ของเหล่าปัจจามิตรทั้งมวล

ทั้งบล็อกการสื่อสารที่มาจากเครือข่ายดาวเทียมของศัตรู รบกวนระบบนำวิถีของหัวจรวดในชั้นบรรยากาศ และหาทางทำลายระบบสื่อสารระหว่างสถานีอวกาศและภาคพื้นของฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ

ที่สำคัญ เทคนิคที่ใช้ในการนี้ มันสามารถทำให้ไฟดับทั้งเมืองได้ หรือรบกวนกระแสไฟฟ้าในพื้นที่เป้าหมายได้ หรือรบกวนท่อส่งน้ำมันและก๊าซ หรือแม้กระทั่งส่งกระแสความร้อนสูงและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศเกิดช่องโหว่ และสารกัมตภาพรังสีที่อันตรายบางอย่าง เล็ดลอดผ่านชั้นบรรยากาศและท้องฟ้าลงมาสู่พื้นโลกได้

กล่าวโดยสรุปก็คือ โครงการนี้เป็น "อาวุธ" อย่างหนึ่งของกองทัพอากาศสหรัฐฯ นั่นเอง

เป็นอาวุธแบบใหม่ ที่ไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธไฮเทคที่จะเอาไว้รบหรือป้องกัน Cyberspace แต่เป็นอาวุธนิเวศน์ หรือ Eco-Weapon ที่อาศัยเทคนิคการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศน์ หรือสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติของโลก ทั้ง "ดิน น้ำ ลม ไฟ" ให้วิปริตผิดเพี้ยนไป เพื่อจงใจสร้างภัยพิบัติและผลอันไม่พึงปราถนาต่อศัตรู

ผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอย่าง Michel Chossudovsky นักเศรษฐศาสตร์ชาวแคนนาดา ได้ให้ความเห็นว่าโครงการนี้เป็นอัตรายต่อโลกและมนุษย์ เป็นภัยคุกคามทั้งในเชิงภัยพิบัติและในเชิงสุขภาพ โดยเขาเรียกร้องให้บรรจุประเด็นนี้เข้าอยู่ในความสนใจของสหประชาชาติ และการประชุมสุดยอด Climate Summit ทุกครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล

เขาต้องการให้สมาชิกสหประชาชาติกดดันสหรัฐฯ ให้เปิดเผยรายละเอียดของโครงการฯ และส่งผู้แทนเข้าไปตรวจสอบ

นอกจากเขาแล้ว ก็ยังมีคณะกรรมการระดับสูงของสหภาพยุโรปและรัฐบาลรัสเซีย ที่แสดงความจำนงแบบเดียวกัน

ทว่า ทั้งการประชุม Kyoto Protocol และ Copenhagen Climate Summit ที่เพิ่งผ่านไป หาได้มีเรื่องทำนองนี้บรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวาระการประชุมไม่"

แน่นอน โครงการ HAARP เป็นการออกแบบอาวุธโดยการแทรกแซงชั้นบรรยากาศโดยตรง ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดเป็นความลับทางทหาร

ต่างกับโครงการ GEOENGINEERING หรือ CLIMATE ENGINEERING ในยุคหลังที่เรากำลังพูดถึงในบทความนี้ ซึ่งมีเป้าหมายลดโลกร้อน เพื่อแก้ปัญหา Global Warming ที่พวกเราทุกคนวิตกกันอยู่ ณ ขณะนี้

แน่นอน เทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่ใช้ในการทดลองตามโครงการแบบหลังนี้ย่อมเป็นที่เปิดเผย และจำนวนมากเผยแพร่อยู่ในอินเทอร์เน็ตแล้ว เพียงแต่ว่าการลงมือทำจริงในระดับ Global Scale ที่จะให้มันได้ผลจริงจัง มันต้องได้รับฉันทามติจากทุกประเทศ เพราะการเข้าไปแทรกแซงชั้นบรรยากาศโดยตรง อาจก่อผลกระทบข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งการทดลองระดับนั้น จำต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งอาจต้องใช้วิธีลงขันระหว่างประเทศ มันจึงกลายเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่ค่อนข้างเกิดยาก เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ยังมองว่าไม่เร่งด่วนและรอได้ ผิดกับเรื่องการก่อการร้ายระหว่างประเทศ เศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม เสียงเรียกร้องให้เอา GEOENGINEERING มาใช้ คงจะดังขึ้นเรื่อยๆ ตราบเท่าที่อุณหภูมิของโลกยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง และนับวันผลอันไม่น่าพึงปรารถณาของมัน ยิ่งก่อความทุกข์แบบใหม่ๆ ให้เราได้เห็นและประสบพบพานมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ




ท้าทายพระอาทิตย์และเก็บขยะกลางห้วงหาว

หลักการง่ายๆ ของ GEOENGINEERING มีอยู่ 2 แนวทางด้วยกันคือ ลดการแผดเผาจากรัศมีของดวงอาทิตย์ และหาทางเก็บขยะคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่ชักจะมีอยู่มากเกินขนาดในชั้นบรรยากาศแล้วเขี่ยมันลงถังผง ปิดผาให้สนิท โดยถังผงที่ว่าหมายถึงใต้ท้องมหาสมุทรและที่ใดที่หนึ่งใต้พื้นพิภพ...นำมันกลับไปกลบฝังไว้ตลอดกาล

ทั้งสองวิธีนั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือหวังว่าโลกเราจะ "เย็นลง"

อันที่จริง พวกที่คิดจะท้าทายพระอาทิตย์ตามแนวทางแรกนั้น ได้รับแรงบันดาลใจหลักมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ Pinatubo ที่ฟิลิปปินส์เมื่อ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2534 นั่นเอง

คือเมื่อภูเขาไฟระเบิดเมื่อครั้งนั้น มันพ่นลาวาออกมาด้วยความเร็ว 600 ไมล์ต่อชั่วโมง และไหลท่วมท้นพื้นที่บริเวณกว้างถึง 250 ตารางไมล์ ที่สำคัญมันได้พ่นกลุ่มก๊าสและเถ้าภูเขาไฟออกมาอย่างคละคลุ้ง ครอบคลุมไปทั่วท้องฟ้า และไม่นานก็แผ่ขยายไปบนชั้นบรรยากาศ Stratosphere ที่ห่อหุ้มโลกเอาไว้ วัดจากความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 21 ไมล์

สามอาทิตย์หลังจากนั้น หมู่เมฆอันเนื่องมาแต่กลุ่มก๊าสและขี้เถ้าเหล่านั้นก็กระจัดพัดพรายไปทั่วท้องฟ้า ห่อหุ้มโลกทั้งโลก และมีอิทธิพลอยู่แบบนั้นต่อมาอีก 2 ปี จึงจะมลายหายไป

ที่นึกไม่ถึงคือกลุ่มก๊าสและขี้เถ้าเหล่านั้น (นักวิทยาศาสตร์ประมาณว่าประกอบด้วย Sulfur Dioxide ถึง 20 ล้านเมตริกตัน) เมื่อมันผสมเข้ากับละอองไอน้ำที่ลอยขึ้นไปบนฟ้า มันกลับก่อให้เกิดปฏิกริยาคล้ายๆ กระจกเงาบานใหญ่ห่อหุ้มโลกเอาไว้ ส่งผลให้รัศมีของดวงอาทิตย์ที่ส่องตรงมายังพื้นโลกสะท้อนกลับไปบนอวกาศ

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ตลอดสองปีนั้น 2535-2536 แสงอาทิตย์ตกถึงพื้นโลกลดลงประมาณ 10% ส่งผลให้อุณภูมิของโลกในช่วงนั้นลดลงประมาณ 0.7 องศา

ไอเดียก็เลย “ปิ๊ง” ขึ้นมาทันที ว่าเราสามารถลดอุณหภูมิของโลกได้โดยลดรัศมีแผดเผาของดวงอาทิตย์ลง

ตามนี้เลย...โครงการ SPICE (Stratospheric Particle Injection for Climate Engineering) จึงเกิดขึ้นจากการร่วมมือของมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ Bristol, Cambridge, และ Oxford

คนเหล่านี้ต้องการพ่นสารเคมีหรือ Particle ที่สะอาดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด (เขามองว่า Sulfur Dioxide มันมีส่วนทำลายชั้นบรรยากาศ และแน่นอนว่าส่วนหนึ่งของทีมย่อมต้องทำหน้าที่วิเคราะห์ผลกระทบกับดินฟ้าอากาศที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย) ขึ้นไปในอากาศโดยหวังให้เกิดผลลัพธ์แบบภูเขาไฟระเบิดครั้งโน้น คือเกิดปฏิกิริยากระจกเงาและสะท้อนรัศมีของดวงอาทิตย์

พวกเขาคิดกันว่าจะใช้ท่อขนาดใหญ่ผูกติดกับบอลลูนยักษ์ดึงขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศโดยอีกด้านหนึ่งผูกติดกับเรือขนาดใหญ่ไว้แล้วค่อยพ่นสารเคมีขึ้นไป โดยตอนแรกพวกเขากะจะทดลองปล่อยเคมีที่ความสูง 1 กม.ก่อน เมื่อสักปลายปีที่ผ่านมา แต่ถูกม็อบต่อต้านเสียก่อน รัฐบาลจึงขอให้พวกเราระงับการทดลองนั้นเสีย

ท่านผู้อ่านที่สนใจศึกษารายละเอียด แนะนำให้เปิดดูเว็บไซต์ของโครงการได้ที่ www2.eng.cam.ac.uk/~hemh/SPICE/SPICE.htm

นอกจาก SPICE แล้ว ยังมีไอเดียอื่นอีกหลายไอเดีย ซึ่งบางทีฟังแล้วก็ยังห่างไกลความเป็นจริง เช่นให้วางกระจกขนาดยักษ์บนพื้นทะเลทราย หรือส่งร่มขนาดยักษ์ขึ้นไปบนท้องฟ้า หรือสร้างเมฆเทียมขนาดยักษ์ด้วยการตีให้น้ำทะเลเป็นฟองแล้วพ่นมันขึ้นเป็นฝอยเหมือนกับน้ำพุยักษ์เพื่อให้ระเหยขึ้นเป็นเมฆ หรือสร้าง Sea Bubble ขนาดยักษ์กลางมหาสมุทรให้เป็นตัวสะท้อนแสงอาทิตย์ เป็นต้น (ผู้สนใจเพิ่มเติม แนะนำให้อ่านงานของ Russell Seitz แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด)

ส่วนแนวทางที่สอง เป็นความคิดที่จะลดคาร์บอนไดอ็อกไซด์จากอากาศลง โดยวิธีเก็บกวาดมันลงไปฝังไว้ใต้โลกหรือใต้มหาสมุทร (ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมหาสมุทรและใต้พิภพก็ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่แล้ว)

วิธีการที่หลายกลุ่มนำเสนอมีตั้งแต่เสนอให้ "กวน" มหาสมุทร โดยใช้ท่อพลาสติกขนาดใหญ่ ยาวสักแท่งละ 100 เมตร จำนวนล้านท่อ กวนให้น้ำทะเลที่บริสุทธิ์ใต้ท้องสมุทรหมุนเวียนขึ้นมาข้างบน (ใต้มหาสมุทรยังเย็นอยู่โดยมาก) และจับคาร์บอนไว้ในขณะที่น้ำบนผิวสมุทรเดิมที่หนักกว่าและกักคาร์บอนไว้ก่อนแล้ว จนลงสู่ก้นสมุทร (ผู้สนใจควรติดตามความคิดของ Nathan Myhrvold ที่ www.nathanmyhrvold.com/)

แม้กระทั่ง Silicon Valley ก็หันมาสนใจลงทุนในแนวนี้กันมากแล้ว อย่าง Global Thermostat ที่คิด Proprietary Technology ของสารเคลือบพื้นผิวที่พวกเขาเรียกว่า “AMINES” เอาไว้ทาลงบนพื้นผิวแล้วมันจะสามารถจับคาร์บอนในอากาศมาเก็บกักไว้ได้ โดยพวกเขาทดลองสร้างโครงข่ายคล้ายรังผึ้งขึ้นมาแล้วเคลือบแต่ละยวงไว้ด้วยสารชนิดนี้ โดยเมื่อแต่ละยวงเก็บคาร์บอนได้เต็มแล้วมันก็เคลื่อนลงแล้วมียวงใหม่มาแทน

พวกเขายังจะสามารถ Make Money ได้ด้วยการนำเอาคาร์บอนไปใช้ในกิจการอุตสาหกรรม เช่น น้ำอัดลม เบียร์ อาหารกระป๋อง เชื่อมโลหะ และอุตสาหกรรม GreenTech แนวใหม่ที่ใช้คาร์บอนไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสังเคราะห์แสง เป็นต้น

ท่านผู้อ่านที่สนใจเทคโนโลยีการจับคาร์บอนในอากาศ แนะนำให้อ่านบทความจากนิตยสาร Fortune ฉบับ October 7, 2011 หรือคลิกที่เว็บไซต์ www.tech.fortune.cnn.com/tag/global-thermostat/



โรคกลัวโลกร้อน


ที่ว่ามานั้น เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดล่าสุดที่ฝรั่งช่วยกันสังเกตุธรรมชาติและจินตนาการขึ้นและลงมือทำไปบ้างแล้วเป็นบางส่วน แม้จะยังเป็นส่วนน้อยมาก แต่พวกเขาก็เชื่อว่า สุดท้ายมนุษย์อาจจะต้องหันเข้าหาวิธีการเหล่านี้ เพราะหมดหนทาง

อันที่จริง ถ้าย้อนกลับไปมองตอนที่ภูเขาไฟระเบิดเมื่อปี 2534 จนทำให้เกิดเมฆซัลเฟอร์ห่อหุ้มโลกอยู่นั้น แม้มันจะช่วยทำให้อุณหภูมิโลกในช่วงนั้นเย็นลง แต่มันก็ส่งผลข้างเคียงด้วยเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าน้ำท่วมใหญ่ในบางพื้นที่ของอเมริกาหลังจากนั้นเป็นผลโดยตรงอันหนึ่ง หรือเหตุที่ลมมรสุมในอินเดียระยะนั้นมาช้ากว่ากำหนด ทำให้ฝนฟ้าตกไม่ตรงเวลา ก็น่าจะอนุสนธิของเหตุการณ์นั้นด้วย เป็นต้น ดังนั้น การใช้วิธี GEOENGINEERING เข้าไปแทรกแซงบรรยากาศโดยตรง จึงต้องรอบคอบมากๆ

ทว่าในทางตรงกันข้าม หากเราไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ หายนะก็จะมาเยือนเช่นเดียวกัน

ความรู้ในปัจจุบันบอกเราว่า หากปล่อยไปแบบนี้อีกสัก 50 ปี ปลายศตวรรษนี้ โลกจะร้อนขึ้นอีกประมาณ 1.1-2.9 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการปล่อยคาร์บอนของมนุษย์นับแต่นี้ (บางสถาบันที่มองโลกในแง่ร้ายถึงกับประมาณการณ์ว่าโลกจะร้อนขึ้นระหว่าง 2.4-6.4 องศาเซลเซียส)

แน่นอน น้ำเข็งขั้วโลกต้องละลาย และน้ำทะเลจะกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์มากขึ้น Arctic Permafrost ละลาย ทำให้ก๊าซมีเทนที่เคยกักเก็บอยู่ใต้นั้นละเหยออกมา ยิ่งทำให้บรรยากาศแย่ ฤดูกาลเปลี่ยน ทะเลทรายขยายตัว ไฟป่าลุกลามขยายอาณาเขต น้ำทะเลขึ้นสูง เมืองจำนวนมากถูกน้ำท่วม และเกาะบางเกาะเช่นมัลดีฟ จะจมหายไป ฯลฯ

แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ ความรู้และ Scenario เหล่านี้ล้วนมาจากฝรั่ง และเราก็รู้อีกว่าฝรั่งกำลังทุ่มเทเงินทองจำนวนมากเพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการที่จะ Launch ออกมาเพื่อลด "ความกลัว" ของผู้บริโภคลงในอนาคต

ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินแล้ว มันย่อมเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก เพราะเขารณรงค์ให้มันเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกและเทรนด์ใหม่ของการบริโภค

ดังนั้น เมื่อเรารู้แล้วว่าบรรดานักลงทุนใน Silicon Valley อย่าง Global Thermostat และ S.R.I International และบรรดา Electric Car Manufacturer อย่าง TESLA (ลงทุนโดย Elon Musk อดีตผู้ก่อตั้งและรวยขึ้นมาจาก PayPal) และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน กำลังคิดค้นอย่างขะมักขะเม่นที่จะหากินกับเทรนด์ใหญ่อันนี้...ประกอบกับโครงการยุทธการบนฟากฟ้าของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่าง HAARP ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดเป็นความลับ เป็น Trade Secret ที่พวกเขาจะใช้สร้างความมั่งคั่งในอนาคต...ผมจึงอยากจะจบบทความนี้โดยนำเอาข้อสรุปที่เคยสรุปไว้เมื่อหลายปีก่อนมาย้ำอีกครั้งว่า

"…..เรื่องราวข้างต้น ทำให้เราต้อง "ยั้งใจ" ไว้บ้าง ถ้าคิดจะเชื่อจน "หมดใจ" ว่า ปัญหาโลกร้อนและความวิปริตผันแปรของภูมิอากาศทั้งปวงอันเนื่องมาแต่สภาวะเรือนกระจกนั้น เป็นเรื่องจริงตามที่ฝรั่งโฆษณาชวนเชื่อ 100 เปอร์เซนต์

ทั้งเรื่องความเข้มข้นของคาร์บอนในอากาศ (Carbon Concentration) การจับไนโตรเจนของพืช (Nitrogen Fixation) การสูญวงวารของนกและปลาในทะเล (Bird and Fish Extinction) การบุกรุกของพืชต่างถิ่น (Plant Invasion) การกลายเป็นทะเลทรายของบางพื้นที่ในโลก (Desertization) ตลอดจนนโยบายพลังงานทางเลือก และอัตราการปล่อยคาร์บอน (Carbon Emission) ที่พวกเขาพยายามกำหนดให้โลกปฏิบัติตาม

เพราะ การ Manipulate ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ นั้น ย่อมส่งผลข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราต้องไม่ลืมว่า ผลประโยชน์ของเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ Global Warming นั้น ประมาณค่ามิได้

เพียงแค่ผู้ผลิตในเอเชียเปลี่ยนมาใช้ Sustainable Technology หรือ Clean Tech เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้ชาติตะวันตก ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านั้น ได้ประโยชน์มหาศาล

เพื่อนฝูงในแวดวงการเงินเล่าให้ผมฟังว่า ที่คาลิฟอร์เนียเดี๋ยวนี้มีการทุ่มเงินลงทุนมหาศาลไปกับการคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการประเภทนี้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

บรรดา Venture Capitalist ที่เคยลงเงินให้กับกิจการไฮเทคแล้วประสบความสำเร็จอย่าง Yahoo, Google, Amazon.com, eBay, Facebook, Twitter ฯลฯ กำลังง่วนกับการ "บ่มเพาะ" เถ้าแก่รุ่นใหม่ที่สร้างกิจการแปลกๆ เช่น Zero-emission Home, Intelligent Solar Panel, eSolar, Energy-efficient Window, Algae-to-fuel Experiment, Advanced Biofuels, Smart Grid, Green Materials, Carbon-capture-cement, Sugar Diesel, Soladigm, หรือบริการการท่องเที่ยวในแบบที่พวกเขาเรียกว่า Carbon Footprint-Free Travel เป็นต้น

พวกเขากำลังทุ่มเงิน ทุ่มความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านไฮเทคและไบโอเทคที่พวกเขาชำนาญกว่าใครๆ ในโลกนี้ เพื่อสร้างอุตสาหกรรม Clean Tech ที่พวกเขาจะใช้สร้างความมั่งคั่งให้กับอเมริกาในรอบใหม่นี้

อีกไม่นาน เราคงจะได้เห็นเศรษฐีหน้าใหม่ๆ ที่เกิดจากการนำหุ้นของกิจการเหล่านั้นเข้าจดทะเบียนในตลาด NASDAQ ด้วย P/E และ Growth Rate สูงลิ่ว แบบที่เคยเกิดมาแล้วกับพวกไฮเทคในอดีต

ที่สำคัญ ผมว่าพวกเขาคงคิดไกลไปกว่านั้น

พวกเขาย่อมต้องการใช้ความรู้หรือเทคโนโลยีที่ผูกขาดเอาไว้ในมือแต่ผู้เดียวนี้ ผนวกกับอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯ แผ่อิทธิพลเหนืออุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Clean Tech ของโลกในอนาคตอีกด้วย

แบบที่พวกเขาเคยทำมาแล้วกับ Digital Technology กับอุตสาหกรรมไฮเทคและอินเทอร์เน็ต หรือฮ็อลลิวู๊ดกับอุตสาหกรรมบันเทิง

เมื่อเขาสร้างมาตรฐานได้แล้ว สถานะของพวกเขาจะอยู่บน "ต้นทางของห่วงโซ่อาหาร" ในทันที

และเมื่อนั้น เขาก็จะเป็นผู้กุมทิศทาง (และกอบโกยผลประโยชน์มากกว่าใครเพื่อนจาก) กระบวนทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับโลก ซึ่งจะมีค่ามหาศาลในอนาคต

ท่านผู้อ่านลองจินตนาการดูสิครับ ว่ากระบวนทัศน์การผลิตแบบใหม่นี้ จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรม ตลอดจนสินค้าและบริการ "ต่อหาง" ไปอีกหลายขบวน

บางคนว่ามันอาจเปรียบได้กับ "การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่ของโลก" เลยทีเดียว

เมื่อถึงเวลานั้น ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ยุโรป ที่ว่าแน่ๆ ก็คงต้องวิ่งไล่กวดสหรัฐฯ กันอีกรอบ”


ทางเลือกที่ดีที่สุด มิใช่การหันไปพึ่งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแต่แพง ทว่า ต้องหันมาพึ่งตัวเอง คือถ้ามนุษย์ตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมกำลังทุกข์หนักเพราะน้ำมือเรา และยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อเอาใจโลกและสิ่งแวดล้อมบ้าง

เพียงแค่นี้ ปัญหาก็จะทุเลาลง

จงอย่ากลัว และฟังหูไว้หู!


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
25 พฤษภาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤษภาคม 2556