วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คิดจะสร้างนวัตกรรมมูลค่าเพิ่ม ต้องอ่าน!



มีเรื่องเล่าในหมู่นักธุรกิจญี่ปุ่นที่มาลงทุนหรือมาทำงานกันในเมืองไทยว่า เจ้าของ 7-11 นั้น รักชอบเจ้าสัวธนินท์แห่งซีพีมากมายนัก เพราะจู่ๆ ก็ได้ช่วยกวาดต้อนเอาอุตสาหกรรมโชห่วยของไทย มาประเคนให้อยู่ในมือของพวกเขา แถมยังมีความซื่อสัตย์มั่นคง ไม่เคยผิดสัญญา ใช่ว่าพอสอนให้ทำเป็นแล้ว ก็ไปเปิดธุรกิจคล้ายคลึงกันขึ้นมาแข่ง เหมือนที่เจ้าสัวรายอื่นของไทยเคยทำไว้กับคู่ค้าที่เป็นต่างชาติ ซึ่งบางรายถึงกับฟ้องร้องกันในต่างประเทศจนเป็นเรื่องใหญ่โต

อันที่จริง ความสำเร็จของ 7-11 ในเมืองไทยนั้น ต้องให้เครดิตกับคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์

แต่ทว่า แม้ญี่ปุ่นจะรักชอบและพอใจในผลงานของซีพีสักเพียงใด พวกเขาก็ยังไม่ยอมอนุญาติให้ซีพีขยายสิทธิแฟรนไชส์ไปสู่ประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ทางไทยเพียรขอร้องญี่ปุ่นตลอดมา ว่าต้องการขยายสิทธิแฟรนไชส์ 7-11 ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย และไปสู่ประเทศจีน โดยถ้าทางญี่ปุ่นยังไม่มั่นใจ ก็จะขอเริ่มจากบางมณฑลก่อน ไม่จำเป็นต้องได้สิทธิทั้งประเทศจีนก็ได้

แม้ผลงานในเมืองไทยจะน่าประทับใจ ทว่าญี่ปุ่นก็ยังคงสงวนท่าที ไม่ตอบรับแต่ก็ไม่ปฏิเสธ ว่าจะยอมอนุญาติให้ซีพีขยายสิทธิแฟรนไชส์ออกนอกประเทศไทยหรือไม่อย่างไร

สไตล์ญี่ปุ่นก็เป็นแบบนี้แหล่ะ แม้จะสนิทสนมกัน แต่ก็ใช่ว่าจะอ่านพวกเขาออกง่ายๆ

ถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านหลายคนคงสงสัยว่า ทำไมซีพีไม่ทำเองซะเลยหล่ะ เพราะยังไงก็ทำเป็นอยู่แล้ว เปิดเป็น Brand ของตัวเองไปเลยสิ

คำตอบ ถ้าให้เดา คือซีพีไม่แน่ใจว่าตัวเองจะทำสำเร็จ ถ้าไม่มีชื่อและระบบของ 7-11 หนุนหลังอยู่

อีกอย่าง หากซีพีเกิดบุกไปด้วย Brand ตัวเอง ก็จะทำให้ญี่ปุ่นมีข้ออ้างที่จะยกสิทธิแฟรนไชส์ให้คู่แข่งรายอื่น ทำให้ตัวเองชวดโอกาส หรือไม่ก็ต้องไปแข่งกับ 7-11 ในต่างประเทศ ซึ่งคงจะเอาชนะได้ยาก เพราะศิษย์หรือจะล้างครูได้

ซีพีต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของ 7-11 อยู่อย่างยากที่จะสลัดหลุด เพราะ 7-11 ใช้วิธี Download ระบบซอฟท์แวร์ที่ใช้บริหารจัดการเครือข่ายระบบค้าปลีกทั้งระบบแบบครบวงจร ตั้งแต่ระบบ Supply Chain ระบบหลังบ้าน หน้าบ้าน สต๊อก Big Data Analytic และ CRM

ญี่ปุ่นใช้วิธีให้ซีพีต้องพึ่งพาโดยการ Upgrade Version ของระบบซอฟท์แวร์บ่อยๆ เพื่อพันธนาการให้ซีพีต้องพึ่งพาตลอดไป

โดยญี่ปุ่นในฐานะเจ้าของความรู้และเจ้าของ Brand จะได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาเป็นเงินเท่ากับ 1% ของยอดขาย

ท่านผู้อ่านคิดว่า 1% ของยอดขายนั้น ดูเหมือนน้อย แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจค้าปลีกมีอัตรากำไรสุทธิหรือ Profit Margin ไม่มาก ดังนั้น 1% ของยอดขาย อาจหมายถึง 40-50% ของกำไร ได้ง่ายๆ

ผมยกตัวอย่างว่า ยอดขายของ CP-All ในประเทศไทยทั้งหมดในปี 2557 ที่ผ่านมา เท่ากับ 326,410 ล้านบาท (รวมยอดขายของ Makro ด้วยแล้ว) แต่มีกำไรสุทธิเพียง 10,153 ล้านบาท ดังนั้น 1% ของยอดขาย คือเท่ากับ 3,264 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 35% ของกำไรสุทธิ (เห็นรึยังครับว่าทำไมซีพีถึงต้องพยายามเพิ่ม items ของสินค้าที่เป็นของซีพีเอง เข้าไปในร้าน 7-11 ให้มากขึ้นเรื่อยๆ)

คิดง่ายๆ ว่าถ้าซีพีต้องจ่ายญี่ปุ่นต่อปีประมาณนี้ (สมมติเป็นกลมๆ เพราะความจริงส่วนของ Makro ไม่ต้องแบ่ง) ดังนั้น 10 ปีที่ผ่านมา ก็เท่ากับซีพีจ่ายไปแล้วประมาณ 32,000 ล้านบาท

ยิ่ง 7-11 ในประเทศไทยขยายสาขามากขึ้น และขายได้มากขึ้น ยิ่งต้องจ่ายให้กับญี่ปุ่นมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

เห็นรึยังครับว่า ทำไมญี่ปุ่นถึงรักชอบเจ้าสัวธนินท์

มาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านคงสงสัยเหมือนกับผมว่า ทำไมซีพีซึ่งเป็นกิจการยักษ์ใหญ่ มีเงินทุนมหาศาล มีบุคลากรที่มีการศึกษาจำนวนมาก ทำไมถึงไม่คิดที่จะลงทุนเขียนซอฟท์แวร์ขึ้นมาใช้เอง จะได้พึ่งพิงญี่ปุ่นให้น้อยลง และในที่สุดจะสามารถสร้าง Brand ของตัวเองขึ้นมาได้

ผมคิดว่า ซีพีคงอยากจะทำ แต่เนื่องจากเงื่อนไขของสัญญาผูกมัดอยู่ และอีกข้อหนึ่งคือ การที่จะเขียนซอฟท์แวร์ขึ้นมาเองนั้น ทำได้ยากมาก เพราะในเมืองไทยเรา ไม่มีบุคลากรที่จะทำได้ถึงเพียงนั้น

มันเป็นปัญหาของระบบการศึกษาและวิธีคิดของผู้ประกอบการไทยทั้งระบบ

คือผู้ประกอบการไทย ถนัดแต่การซื้อมาขายไป Buy Low/Sell High หรือไม่ก็ซื้อความรู้หรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศมา แล้วทำการ Monopoly โดยลงทุนกับการเมืองในประเทศ (เนื่องจาก Profit Margin ต่ำ เพราะต้องจ่ายค่าเช่าความรู้หรือเช่าเทคโนโลยีให้กับเจ้าของซึ่งเป็นกิจการต่างชาติ)....แล้วก็พอใจแค่นั้น

ส่วนมหาวิทยาลัยของไทย ก็ไม่สามารถผลิตวิศวกร หรือโปรแกรมเมอร์ที่มีความรู้พอที่จะสร้างระบบซอฟท์แวร์ขนาดนี้ขึ้นมาได้

ในประเทศไทยเรา มีการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์มาถึง 100 ปีแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถสร้างเครื่องจักรกลที่จำเป็นต้องใช้ได้เองเลย ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ หรือแม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ แทรกเตอร์ หรือระบบสื่อสาร หรือ Machine Tools ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ (ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เช่นทุกวันนี้คนไทยนิยมดื่มกาแฟ แต่รู้ไหมว่าเครื่องชงกาแฟเกือบทั้งหมดต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ จำนวนไม่น้อย ราคาเกินแสนบาทต่อเครื่อง)

องค์ความรู้ของเรามีเพียงแค่ระดับ 6-7-8-9-10 แต่ในระดับ 0-1-2-3-4-5 นั้นยังขาดอยู่มาก (อ่านว่า "ศูนย์-หนึ่ง-สอง-สาม-สี่-ห้า”)

เช่น เรามีคณะวิศวกรรมมาช้านาน แต่พอจะคิดสร้างรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เอง เราก็ต้องสั่งเครื่องจักรเข้ามา (ซึ่งเจ้าของที่เป็นฝรั่งของต้องคิดราคาแพงอยู่แล้ว) ซื้อระบบจัดการการผลิตเข้ามา สั่งวัสดุที่ผสมแล้วเข้ามา สั่ง Mold เข้ามา สั่งเครื่องยนต์เข้ามา นำที่ปรึกษาและวิศวกรต่างชาติเข้ามา แล้วค่อยประกอบเอง จึงยากที่จะเป็นเจ้าของอะไรที่พอจะไปแข่งกับใครเขาได้ เพราะพอจะทำโน่นนี่นั่นได้บ้าง เขาก็วิ่งไปไกลเสียแล้ว และเราก็ต้องมาเริ่มตั้งต้นวงจรใหม่ คือสั่งเครื่องจักรแบบใหม่เข้ามา ซื้อระบบจัดการการผลิตเวอร์ชั่นใหม่เข้ามา ฯลฯ

คนของเราอาจมีความรู้ในระดับที่ออกแบบรถยนต์ได้ รู้ทฤษฎีแอร์โรไดนามิก วางแผนการตลาดและขายรถยนต์เป็น รู้จัก Market Segmentation รู้เรื่อง Branding ดีมาก แต่เราไม่สามารถหล่อลูกสูบที่มีคุณภาพได้ สร้าง Mold ที่มีความละเอียดสูง และ สร้างเครื่องยนต์เองเป็น ซึ่งเหล่านี้คือหัวใจ

หรือเรามีคณะเภษัชศาสตร์มาช้านาน แต่ไม่มีใครสร้างยาที่เป็นของเราเองจริงๆ ได้ เพราะไม่มีองค์ความรู้ในระดับการผลิต "สารตั้งต้น" เป็นต้น (ทั้งๆ ที่แต่ละปี คนไทยเราบริโภคยาคิดเป็นมูลค่ามหาศาล)

เราผลิตเภษัชกรที่เป็นดีเทลขายยาหรือ Product Manager ตามบริษัทต่างชาติจำนวนมาก เป็นเจ้าของร้านขายยาก็ไม่น้อย แต่แทบจะไม่มีเลยที่คิดจะสร้างยาของตัวเองไปสู้ฝรั่งในตลาดโลก น่าแปลกใจว่าเวลาเกือบร้อยปีที่ผ่านมา เรายังไม่สามารถตั้งตัวได้เลย

มองไปทุกวงการที่สำคัญๆ ต่อชีวิตประจำวัน เราจะเห็น Pattern คล้ายๆ กันนี้...รถไฟ โทรศัพท์ โทรคมนาคม อิเล็คทรอนิกส์ ไฟฟ้า พลังงาน ฯลฯ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแทบทุกชนิดในเมืองไทย มีลักษณะเป็นแบบนั้น ซึ่งทำให้ต้นทุนสูง และไม่มีทางจะไปแข่งขันกับใครได้ในตลาดโลก

(หรือแม้แต่นอกวงวิศวกรรม เช่นวงการบันเทิงเอง พวกเรารู้ไหมว่ารายการวาไรตี้สุดฮิตที่ต้อง SMS เข้าไปโหวตทั้งหลายนั้น ก็ล้วนเป็นรายการที่เราต้องซื้อฟรังไชส์จากต่างประเทศทั้งสิ้น...เศร้าไหม)

เพราะเรารู้แต่เพียงเปลือกกระพี้ ส่วนใหญ่รู้แต่เพียง Concept หรือวิธีใช้งานและซ่อมบำรุง โดยมิได้เข้าถึงแก่นสารของความรู้ที่จะมาเป็นประโยชน์ หรือที่จะมา "สร้าง" ให้เกิด Material Wealth ที่มีคุณภาพได้จริง

ความรู้ของเรานั้นมี ไม่ใช่ไม่มี แต่มีไม่พอที่จะ "สร้าง" อะไรขึ้นมาเป็นของตัวเองได้ เราต้องพึ่ง (หรือซื้อ หรือเช่า) ความรู้ของคนอื่นในส่วนที่สำคัญหรือเป็น "หัวใจ" ของการสร้างสิ่งนั้นเกือบทุกอย่างไป จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราไม่สามารถไปแข่งในตลาดโลกได้ เพราะเรามิได้เป็นเจ้าของความรู้ (เรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ว่า "เทคโนโลยี") ในส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด 

ขณะนี้ มีการโปรโมทให้คนรุ่นใหม่สร้างกิจการที่เรียกว่า Start-Up แต่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ของผู้รับผิดชอบเอง ส่วนใหญ่ก็เป็นแต่เพียงระดับ "บนกระดาษ" หาคนที่มีประสบการจริงน้อยมาก และที่มีประสบการณ์จริง ก็เป็นประสบการณ์ในระดับ 6-7-8-9-10 เสียเป็นส่วนมาก ดังนั้น การอนุญาตให้คนซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งมือสมัครเล่นเหล่านี้ มีสิทธินำเงินภาษีของส่วนรวมไปใช้กับเรื่อง Start-Up ย่อมเป็นเรื่องเสี่ยงมากๆ เพราะลำพังแต่ Start-Ups ก็เป็นธุรกิจอยู่ในประเภทที่เสี่ยงมากพออยู่แล้ว

นั่นคือสถานะของสังคมการผลิตไทยในปัจจุบัน

จึงไม่แปลกที่เราเป็นได้แต่เพียงผู้รับจ้างทำของ

แม้กระทั่งกิจการขนาดยักษ์ใหญ่ที่สุดของเรา ก้าวหน้าที่สุดของเรา ร่ำรวยที่สุดของเรา อย่าง ปตท. ซีพี เอสซีจี เหล่านี้ยังขาดแคลนความรู้ในระดับ 0-1-2-3-4-5 อยู่มาก (R&D ส่วนใหญ่ในบ้านเรา ก็ยังไม่ใช่ R&D ในระดับที่จะ "สร้าง" อะไรเป็นของตัวเองเพื่อไปแข่งในตลาดโลกได้) 

นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "เทคโนโลยี" หรือ "นวัตกรรม" หรือ "R&D” หรือ "ต่อยอด" "โนว์ฮาว" สุดแท้แต่จะเรียก

การจะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศเสียใหม่ เราจำเป็นต้องมี "0-1-2-3-4-5” ในทุกๆ วงการ มิใช่เฉพาะเพียงวงการวิทยาศาตร์หรือเทคโนโลยีหรือวงการออกแบบเท่านั้น เพราะมันจะสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างให้สินค้าของพวกเราแตกต่าง และจะช่วยให้เราไต่ Value Chain ได้

ไม่ว่าคุณเกี่ยวข้องกับความรู้ด้านไหน คุณต้องรู้ 0-1-2-3-4-5 ให้ได้

เช่นถ้าคุณเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลที่ไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ คุณก็จำเป็นต้องนำ 0-1-2-3-4-5 กลับมาสอนคนของเรา อย่าเอามาแต่เพียง 6-7-8-9-10 

อย่างถ้าคุณเป็นอาจารย์สอนทางด้านบริหารธุรกิจหรือวิศวกรรม คุณต้องทำความเข้าใจให้ได้ตั้งแต่ Industrial Revolution และ Industrial Revolution ว่าฝรั่งสร้างตัว สร้างความมั่งคั่ง ต่อยอดการผลิตกันมาอย่างไร หัวใจที่ทำให้พวกเขาสร้างความมั่งคั่งได้คืออะไร  พวกเขาขุดแผ่นดิน ตัดต้นไม้ ระเบิดภูเขา ดำลงไปในทะเล เจาะ กระเทาะ ตักขึ้นมา ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทองแดง ทองเหลือง เหล็ก อลูมิเนียม ไม้ หิน ดิน ทราย พืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ หยิบคลื่นในอากาศ แล้วนำมาบด มาต้ม มาหลอม มาปรุง มาผสม มาแต่งเติม แล้วผลิตเป็นสิ่งของและบริการเพื่อรับใช้มนุษย์ กันได้อย่างไร

และความรู้มันพัฒนามาอย่างไร เขาจัดองค์กรและสังคมและระบบการศึกษาเขาให้คนของเขาไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร ผู้ประกอบการและผู้สร้างสรรค์ประดิษฐ์ของเขามี Mind Set และผ่านการพยายามขนขวายหา 0-1-2-3-4-5 อย่างไรกันแน่ในเชิงลึก จูงใจคนเก่งๆ ในระดับ 0-1-2-3-4-5 ของแต่ละด้านมารวมกันอย่างไร ลองผิดลองถูก ท้อแท้สิ้นหวัง และปรับตัวผ่านพ้น จนสำเร็จได้อย่างไรกันแน่...รัฐบาลของเขาสนับสนุนไหม และสนับสนุนอย่างไร ฯลฯ

หรือถ้าคุณเป็นผู้คุมกฎ คุณก็ต้องกล้าสนับสนุนหรือจูงใจให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนทดลอง ลองผิดลองถูก ลงทุน และมุ่งหน้าไปสู่การผลิตที่ต้องใช้ 0-1-2-3-4-5

ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการ คุณต้องมีจิตใจแบบโตโยต้า โซนี่ ซัมซุง ฯลฯ ต้องเริ่มคิดที่จะ "สร้าง" อะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นของคุณเอง ไว้ส่งทอดให้กับลูกหลาน (เหมือนกับที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้สร้างกิจการไว้ให้ลูกหลานได้สร้างความมั่งคั่งมาจนบัดนี้) แม้การ "สร้าง" นั้น มันจะยากกว่าการไปหาซื้อหรือเช่าความรู้หรือเทคโนโลยีและการซื้อมาขายไป และการสร้างนั้นอาจจะถูกกีดกันจากฝรั่งหรือญี่ปุ่นหรือเจ้าของความรู้หรือเทคโนโลยี (ซึ่งเป็นความลับของเขา) คุณก็ต้องอดทน และพยายามอย่างไม่ยอมแพ้ หาหนทางให้ได้มาซึ่งความรู้ในระดับ 0-1-2-3-4-5 เหมือนกับที่ญี่ปุ่นเคยสู้และต่อรองกับฝรั่งจนสำเร็จมาแล้ว

และถ้าคุณเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ คุณก็ต้องเริ่มที่จะลงทุนใน 0-1-2-3-4-5 เสียที จะได้ลดการพึ่งพิงความรู้หรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศลง เพราะมันแพง และคุณจะไม่มีวันได้ผุดได้เกิด นอกเสียจาก ต้อง Monopoly ตลาด เหมือนกับ 7-11

โลกยุคใหม่ เป็นโลกของ 0-1-2-3-4-5

กิจการที่เราเขียนถึงในเล่มนี้ เช่น UBER, airbnb, wework หรือ TripAdvisor เป็นต้น
เหล่านี้ พวกเขาล้วนเป็นเจ้าของ “0-1-2-3-4-5”

UBER ให้บริการแท็กซี่ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของแท็กซี่แม้แต่คันเดียว

airbnb ให้บริการจองและเช่าที่พัก แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงแรม อพาร์ตเม้นต์ ห้องเช่า เกสต์เฮ้าส์ หรือแม้แต่โฮมสเตย์ แม้แต่ห้องเดียว

wework ให้บริการเช่าสำนักงานพร้อมเครื่องใช้สำนักงานที่เรียกว่า co-working space ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของอาคารสำนักงานเลยแม้แต่น้อย

TripAdvisor เป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและประเมิน Rating สำหรับบริการท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วโลก ก็มิได้มีนักวิจารณ์ที่คอยให้ Rating เป็นของตัวเองแม้แต่คนเดียว

ถ้าอย่างนั้น พวกเขามีอะไรเป็น Core Asset เล่า? Business Model ใหม่หรือเปล่า?

เปล่าเลย...แท็กซี่ โรงแรม ห้องพัก และการให้เช่าสำนักงาน ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

กึ๋น" ของพวกเขา คือ คอมพิวเตอร์ ระบบซอฟท์แวร์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ใช้บริหารจัดการระบบเครือข่ายการให้บริการของพวกเขา

รุ่นพี่ของพวกเขาอย่าง Amazon.com เอง ถ้าดูให้ดีตั้งแต่แรก เขาก็ไม่ได้เป็นเจ้าของหนังสือที่เขาขาย และไม่ได้เป็นเจ้าของระบบ Supply Chain (ในทีนี้คือไปรษณีย์) หรือระบบอินเทอร์เน็ต และไม่ได้มีแวร์เฮ้าส์ใหญ่โต (ของเหล่านี้ล้วนมีมาก่อนที่ Amazon.com จะเกิดแล้ว) แต่เขามีระบบซอฟท์แวร์ ที่จัดการกับการซื้อขายหนังสือบนอินเทอร์เน็ต จัดโชว์หนังสือให้คนคลิกดูได้ง่ายๆ แถมจัดโชว์ได้ในจำนวนเล่มที่ไม่จำกัดมากมายมหาศาล จัดส่งหนังสือ รีวิว ชำระเงิน และติดตามพฤติกรรมการบริโภค (เช่นความชอบและไม่ชอบหนังสือประเภทใด) ของสมาชิกแต่ละคน และบริหารระบบสมาชิก ฯลฯ ได้อย่างทรงประสิทธิภาพมาก 

หรืออย่าง Facebook ที่พวกเรารู้จักกันดีนั้น ก็สร้างตัวร่ำรวยมาได้เพราะการนำเอาข้อมูลส่วนตัวของพวกเราไปขาย (ให้กับผู้ลงโฆษณา) การที่ FB ให้เราใช้กันฟรีๆ ก็เพื่อแลกเอาข้อมูลส่วนตัวของพวกเราไปใช้ประโยชน์นั่นเอง 

แต่ที่เขาเอาไปใช้ประโยชน์ได้นั้น เขาต้องมีซอฟแวร์ตัวหนึ่งที่เป็น "กึ๋น" หรือความลับของเขา ที่จะใช้วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลในแต่ละวินาที แล้วประมวลและแปลงให้เป็นข้อมูลเชิงการตลาด ให้พวกเรากลายเป็นผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงพฤติกรรม ความชอบ ของแต่ละคนหรือแต่ละ segment ฯลฯ เพื่อทำให้ง่ายแล้วนำไปขายให้แก่ผู้ลงโฆษณาที่จะระบุกลุ่มซึ่งพวกเขาต้องการสื่อความไปถึง

กึ๋นแบบนี้ (จะเรียกว่า Big Data Analysis หรือ Data Mining หรือคำใหม่ๆ ที่บัญญัติขึ้นอย่าง Sexy แค่ไหนก็ตาม) เป็นสิ่งที่คนไทยไม่แน่ว่าจะมีทักษะพอที่จะสามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ด้วยความรู้ (ของฝรั่ง) ที่มีอยู่ในขณะนี้ (ที่เห็นอยู่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นนายหน้าขายซอฟท์แวร์ของต่างชาติทั้งนั้น)

พวกเขาเหล่านี้คือ "ผู้ประกอบการคนหนึ่ง มากับคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่ง พร้อมกับซอฟท์แวร์ชุดหนึ่ง" แล้วก็มาปฏิวัติวงการบริการ ที่เรียกว่า Disruption นั่นเอง

พวกเขาเหมือนกับ หงา คาราวาน หรือ บ็อบ ดีแลน ที่มากับกีตาร์ตัวหนึ่ง แล้วก็ขับขานบทกวี โดยที่ ไมค์โครโฟน เวที เครื่องเสียง ล้วนเป็นของคนอื่น แต่ทว่า สามารถกุมหัวใจของคนฟังได้ด้วย บทกวี บทเพลง และเมโลดี ที่กินใจ

หากว่า ผู้มีอำนาจและผู้ประกอบการน้อยใหญ่ของเราขบคิดประเด็นที่ผมพูดมานี้ได้ "แตกฉาน" เราก็ยังคงมีความหวังว่าจะสามารถ "ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ" หรือ "ปรับโครงสร้างระบบการผลิต" หรือ "สร้างมูลค่าเพิ่ม" หรือ "สร้างนวัตกรรม" หรือ "เสริมสร้างความสามารถเชิงแข่งขัน" ของเราได้ ในอนาคต

ถ้ายังรู้ครึ่งๆ กลางๆ ผิวเผิน ยกย่องและเฮโลกันไปกับเปลือกกะพี้ เข้าไม่ถึงแก่น อย่างที่ผ่านมา ลูกหลานของเราก็จะต้องกินน้ำใต้ศอกฝรั่ง ญี่ปุ่น (และตอนนี้ก็เพิ่มเกาหลีใต้และจีน เข้ามาอีก) เช่นเดียวกับที่รุ่นเราและรุ่นพ่อเราเคยเป็นมา


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 ตุลาคม 2558
บทบรรณาธิการนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA
รูปประกอบจาก www.posttoday.com ผู้เขียนขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

โปรดคลิกอ่านบทความที่เนื่องกันที่ Link ข้างล่าง :

****ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน****

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปริศนาไฮเทคกับการสร้างความมั่งคั่งแห่งชาติ



“Unicorns” เป็นคำใหม่ที่กำลังมาแรงในแวดวงไอทีโลก แน่นอน ซิลิคอนวันเล่ย์ย่อมมีอะไรใหม่ๆ ให้ต้อง ตกใจ/แปลกใจ/ฉงนใจ/ภูมิใจ/ทึ่งใจ เสมอๆ

ยูนิคอร์น คือคำใช้เรียกบรรดา Tech Start-Ups” ที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป (การคำนวณมูลค่ากิจการ คำนวณโดยใช้ราคาหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด หรือ Market Capitalization แม้ว่ากิจการเหล่านี้ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้น จึงยังไม่มีราคาตลาดของหุ้นปรากฏให้เห็นทุกวัน ดังนั้นการคำนวณจึงใช้ราคาหุ้นที่มีการซื้อขายกันนอกตลาด ในการระดมทุนรอบล่าสุดจาก Venture Capitals เป็นเกณฑ์)

ฟังแล้วน่าตกใจแกมทึ่ง!

“Tech Start-Ups” ฟังดูเป็นพวก SME แต่มูลค่าของมันกลับเทียบเท่าได้กับกิจการยักษ์ใหญ่ซึ่งก่อตั้งมาช้านาน

หนังสือพิมพ์ The Economist รายงานไว้เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า "ยูนิคอร์น" หรือกิจการเอสเอ็มอีประเภทไฮเทคของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ากิจการมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 74 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 273,000 ล้านเหรียญฯ ถือเป็น 61% ของยูนิคอร์นทั่วโลก (อ้างอิงจาก: www.economist.com/news/briefing/21659722-tech-boom-may-get-bumpy-it-will-not-end-repeat-dotcom-crash-fly)

ลองดูตัวอย่างของบรรดายูนิคอร์น หรือท็อปเท็น “ไฮเทค SME" 10 อันดับแรกของอเมริกา ที่หนังสือพิมพ์ The Economist รวบรวมเป็นตารางไว้ดังนี้




เฉพาะ 10 บริษัทนี้ มีมูลค่ารวมกันถึง 156,000 ล้านเหรียญฯ

ถ้าคิดเป็นเงินไทย ณ อัตราแลกเปลี่ยน 36 บาท/1 ดอลล่าร์ สิบบริษัทนี้ จะมีค่ารวมกันถึง 5,616,000 ล้านบาท เทียบได้เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งขนาดเศรษฐกิจไทย และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันเลยทีเดียว (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ของประเทศไทยปี 2557 มีค่าประมาณ 13.14 ล้านบาท และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของตลาดหุ้นไทย ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2558 มีมูลค่าเท่ากับ 13,368,026.83 ล้านบาท)

เมื่อดูลึกลงไปอีก ก็จะพบว่ากิจการเหล่านี้สามารถทำรายได้รวมกันเพียง 4,000 ล้านเหรียญฯ เท่านั้นเอง โดยทั้ง 10 บริษัทนั้น มีพนักงานรวมกันน้อยกว่า 20,000 คนด้วยซ้ำ

นั่นหมายถึงว่า "ท็อปเท็น ไฮเทคเอสเอ็มอี" เหล่านี้ ซื้อขายกันด้วยมูลค่าสูงถึง 39 เท่าของรายได้รวม (Price/Revenue Ratio) และมีมูลค่ากิจการรวมต่อพนักงาน 1 คน สูงถึง 8,000,000 เหรียญฯ ต่อคน หรือประมาณ 288,000,000 บาท/คน เลยทีเดียว

มันมีค่าขนาดนั้นกันเชียวหรือ?

เราจะอธิบายมูลค่าขนาดนั้นได้อย่างไร? มันคืออะไรกัน?

แล้วมันดีหรือไม่ดีต่อภาพรวม?

ยิ่งถ้าในอนาคต สิ่งเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้นในเมืองไทยมากเข้าๆ เราจะได้รู้ข้อดีข้อเสียของมันไว้ก่อน จะได้เลี่ยงผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาที่มันอาจจะก่อให้เกิดต่อส่วนรวมไว้ก่อนได้

ลองหันมาดูกิจการเก่าแก่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของไทยอย่าง SCG ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาด ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2558 (เป็นวันที่ผมเขียนบทความนี้) 578,400 ล้านบาท โดยมีพนักงานทั้งสิ้นเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาตามที่แสดงข้อมูลในเว็ปไซต์ของบริษัท 51,100 คน จึงมีมูลค่ากิจการรวมต่อพนักงาน 1 คน เพียงแค่ประมาณ 11.32 ล้านบาท/คนเท่านั้นเอง

เพียงแค่ UBER บริษัทเดียวก็มีมูลค่ามากกว่า SCG แล้ว เพราะจากตารางข้างต้น UBER มีค่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาถึง 41,000 ล้านเหรียญฯ ทว่าบทความล่าสุดเรื่อง Vanity Fair's The New Establishment Report ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Vanity Fair ฉบับเดือนตุลาคม ได้รายงานว่า UBER มีมูลค่า ณ ขณะนี้ 51,000 ล้านเหรียญฯ คือเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านเหรียญฯ ภายในเวลาเพียง 2 เดือน

ถ้ายึดเอามูลค่าที่รายงานล่าสุด แล้วเทียบกลับเป็นเงินไทย UBER จะมีค่าถึง 1,836,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าต่อพนักงานเท่ากับ 224.8 ล้านบาท/คน

แบบนี้ ใครๆ ก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่า กำลังเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นกับหุ้นไฮเทค เพราะกิจการที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 6 ปี และยังขาดทุนอยู่ ขายหุ้นได้แพงถึงเพียงนี้ จนมูลค่ากิจการต่อพนักงานสูงขนาดที่ผู้บริหาร SCG เห็นแล้วคงอยากจ้างไว้สักสิบยี่สิบคน

บริการแท็กซี่มี Productivity สูงถึงเพียงนี้เชียวหรือ

ใช่แต่เพียงแท่านั้น กิจการอย่าง airbnb ซึ่งเป็น App. จัดหาที่พักให้กับนักท่องเที่ยวและคนเดินทางทั่วโลก ก็มีมูลค่ามากกว่ากิจการโรงแรมยักษ์ใหญ่ที่ก่อตั้งมานานอย่าง Hilton Worldwide Holdings, หรือ Marriott International Inc., หรือ InterContinental Hotels Group ทั้งๆ ที่กิจการเหล่านั้นมียอดขายแยะกว่าหลายเท่าตัว และทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นมาแล้วไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ทว่า airbnb ยังคงขาดทุนอยู่

ระดับราคาหุ้น airbnb ที่ซื้อขายกันนอกตลาดครั้งล่าสุด คิดเป็นเกือบ 60 เท่าของรายได้ (Price/Sales Ratio) ในขณะที่หุ้นของกิจการโรงแรมที่ยกมาเป็นตัวอย่างทั้งสามนั้น ซื้อขายกันเพียง 2.26, 1.51, และ 4.71 เท่าของรายได้ของแต่ละบริษัท ตามลำดับ

เช่นเดียวกับ WeWork ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงบริษัทที่นำเอาพื้นที่สำนักงานซึ่งว่างอยู่มา pool กันเข้า แล้วตกแต่งเสียใหม่ให้สวยเก๋ ติดตั้งอุปกรณ์สำนักงาน ห้องประชุม มุมพักผ่อน ฯลฯ แล้วก็นำออกให้เช่าผ่าน Application ของตัว

มันก็มิใช่ความคิดแปลกใหม่แต่อย่างใด

แต่ใยมูลค่าของมันจึงมากถึง 10,000 ล้านเหรียญฯ สูงกว่ากิจการอสังหาริมทรัพย์เก่าแก่มากมายนัก

จะว่ากิจการ SME บนอินเทอร์เน็ตเหล่านี้มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจก็ใช่อยู่ เพราะมันช่วยให้ของที่ว่างๆ อยู่ ไม่ได้ใช้งาน ถูกนำไปใช้งาน นำไปให้คนที่ต้องการใช้มัน ณ เด๋วนั้น เป็นการเพิ่มความคล่องตัวให้กับระบบ ลดต้นทุน ลดความสูญเสียสิ้นเปลืองทรัพยากร
แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นตัวบิดเบือนทรัพยากรในเชิงการเงิน เพราะมันดึงดูดเงินทุนเข้าไปมากเกินควรจากมูลค่าฟองสบู่ของพวกมัน แทนที่จะถูกนำไปสู่ภาคการผลิตหรือบริการอื่นที่ระดับราคามีความสมเหตุสมผลกว่าและยังต้องการลงทุน ทั้งๆ ที่ผลการดำเนินงานยังไม่ได้พิสูจน์ว่า Business Model แบบนี้จะอยู่ได้และเติบโตได้แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินจริงอย่างที่ว่าไว้ การลงทุนแนวนี้เป็นการเก็งกำไรกับอนาคต โดยหวังว่ากิจการเหล่านี้จะกลายเป็น Google, Amazon, Ebay, Alibaba, หรือ Facebook เข้าสักวัน

ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย

กิจการเหล่านี้ยังบิดเบือนตลาดแรงงาน เพราะมันดึงดูดวิศวกรเก่งๆ โปรแกรมเมอร์เก่งๆ ตลอดจนบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยชั้นยอดทั่วโลกเข้าไป เพียงเพราะสามารถจ่ายผลตอบแทนได้สูงมากๆ (โดยนำเอาเงินที่ระดมทุนด้วยราคาหุ้นแบบฟองสบู่มาจ่ายให้กับคนเหล่านี้) พร้อมกับ Stock Options ที่ขายฝันว่าวันหนึ่งข้างหน้า หากกิจการสามารถนำหุ้นเข้าตลาดได้แล้ว พนักงานพวกนี้จะมีสถานะเหมือนกับกลุ่ม T.N.R. 250” ของบริษัท Facebook (กลุ่ม "The Nouveau Rich 250" นี้เป็นพนักงานรุ่นก่อตั้ง 250 คนของ Facebook ที่กลายเป็นมหาเศรษฐีหลังจาก Facebook เข้าตลาดหุ้น พวกเขาแสดงออกด้วยการซื้อบ้าน รถหรู เครื่องบินส่วนตัว งานศิลปะ หรือแม้กระทั่งเกาะส่วนตัว ท่องเที่ยวไปในสถานที่เฉพาะ ปาร์ตี้แบบเอ็กคลูซีพ ให้เป็นที่อิจฉาของคนรุ่นใหม่ไฟแรงชั้นหัวกะทิ ที่อยากรวยเร็ว ประสบความสำเร็จเร็ว และใช้ชีวิต อยากเอาอย่าง)

ว่ากันว่า เดี๋ยวนี้วิศวกรคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมเมอร์เก่งๆ ต้องจ้าง Talent Agency ของตัวเอง เพื่อต่อรองกับนายจ้างที่จ้องดึงตัวพวกเขา เช่นเดียวกับบรรดาดารา นักกีฬา นางแบบ และเซเลปคนสำคัญ

ทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจ ถูกวางเดิมพันไว้กับความสำเร็จของกิจการเอ็สเอ็มอีสตาร์ทอัพ เหล่านี้ กระนั้นหรือ

ปริศนาไฮเทค

ปริศนาอันหนึ่งที่สำคัญและยังขบคิดไม่แตก คือว่ากิจการเหล่านี้ ในที่สุดแล้วจะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวมจริงหรือไม่

กิจการอย่าง UBER, airbnb, WeWork นั้น เป็นกิจการบริการที่บริหารเครือข่าย สินทรัพย์สำคัญที่ชี้เป็นชี้ตาย หรือ Core Asset ของพวกกิจการก็คือ "ซอฟแวร์และระบบคอมพิวเตอร์" ที่เป็นความลับและ "กึ๋น" สำคัญของแต่ละแห่ง

UBER ไม่ได้เป็นเจ้าของแท็กซี่หรือลิมูซีนแม้แต่คันเดียว

airbnb ไม่ได้เป็นเจ้าของห้องพัก อพาร์ตเม้นต์ บ้านชายทะเล วิลล่าบนภูเขา ที่พวกเขาเปิดให้จองและให้เช่า นั้นเช่นกัน

เช่นเดียวกับ WeWork

โดย TripAdvisor เอง ก็หาได้มีนักวิจารณ์หรือนักประเมินผลเป็นของตัวเองไม่

เช่นเดียวกันกับเว็บไซต์หรือกิจการประเภทนี้อีกมากที่มีมูลค่าสูง แต่ยังไม่ถึงขั้น UNICORN เช่น Roomorama, Wimdu, และ BedyCasa เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นประเภทเดียวกับ airbnb รวมทั้งเว็บไซต์ที่ให้บริการธุรกิจแบบใกล้เคียง ประเภทกินข้าวกับเจ้าบ้านที่บ้านเลย โดยไม่ต้องออกไปกินที่ร้าน (Dining with Locals) อีกเป็นจำนวนมาก

มิใช่ว่าบ้านช่องเท่านั้นที่คนนิยมเอามาแชร์กันโดยตรงผ่านอินเทอร์เน็ต (เช่น airbnb, roomorama, wimdu, BedyCasa เป็นต้น) แต่ยังมีของส่วนตัวอีกมากที่นิยมเอามาแชร์ให้เช่ากันเป็นครั้งคราว ในยามที่ตัวเองไม่มีธุระจะใช้ของส่วนตัวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์
(เช่น RelayRides, Tamyca, Drivy, Getaround เป็นต้น หรือแบบให้บริการเท็กซี่เช่น Lyft, SideCar, Uber เรือ (Boatbound) รถจักรยาน กล้อง คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรี อุปกรณ์ตกแต่งสวน อุปกรณ์ครัว อุปกรณ์สนาม หรือแม้แต่ที่จอดรถ ออฟฟิสชั่วคราว เครื่องจักร เพื่อนเที่ยว และหมา (เช่น DogVacay และ Rover ป็นต้น)

บริการทางการเงินเองก็เกิด Tech Start-Ups ใหม่ๆ ขึ้นมากมาย PayPal และ Square เป็นตัวอย่างของสองขั้ว อันหนึ่งลงหลักปักฐานแล้วแต่อันหนึ่งยังคงวางเดิมพันพนันกับอนาคตอยู่

หลายปีมาแล้ว ที่ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยสามารถระดมทุนผ่านเว็บไซต์ประเภท Crowdsourcing ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็น Kickstarter.com, Quirkey.com, Profunding.com, OpenIndie.com, Crowdcube.com, Fundingcircle.com, Microventures.com, Peerbackers, Pozible, Rocky Hub, Co.fundos, FanNextDoor, Appbacker, และ 33 Needs


หรือแม้กระทั่งชาวบ้านธรรมดาก็สามารถเข้าหาเว็บไซต์ประเภท Microfinance ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบอีกต่อไป ตัวอย่างของเว็บไซต์ประเภทนี้ที่ดังๆ ก็มีเช่น KIVA.com, Buzzbnk, CauseVox, Give.fm, Ioby, MicroPlace, OpenIDEO, Sparked, Sponsume, StartSomeGood

สมาร์ทโฟนและจีพีเอสทำให้บริการเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ

เว็บไซต์พวกนี้ นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อบรรดาผู้ประกอบการและ SME มาก เพราะช่วยให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

หากพิจารณาในระดับมหภาค แบบดูป่าทั้งป่า มิใช่เพียงพิจารณาต้นไม้ทีละต้น หรือสุมทุมพุ่มไม้แต่เพียงบางกลุ่มบางพุ่ม

ลองคิดดูว่า ถ้าผู้เดินทางหันมาใช้บริการ UBER หรือบริการแท็กซี่หรือลิมูซีนอื่น เช่น Grab, Lyft, SideCar กันหมด รถใหม่ก็อาจจะขายได้น้อยลง อย่างน้อยที่เคยขายให้อู่แท็กซี่ก็จะขายไม่ได้ และโชเฟอร์แท็กซี่ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวร้อยเอ็ดก็ต้องกลับบ้านไปปลูกข้าว ปลูกยาง ปลูกอ้อย และหันเข้าหาเหล้าขาวของเจ้าสัว

การเติบโตของ UBER อาจเท่ากับ การหยุดซื้อรถใหม่ และเท่ากับการลงทุนที่ลดลง และเท่ากับการจ้างงานที่ลดลง

เช่นเดียวกับกรณีของ airbnb และ wework และแอ็พพลิเคชั่นอื่นแนวนี้ ที่จะต้องไปลดทอนการสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ๆ

มันจะกระทบต่อการลงทุนและการจ้างงาน การขายวัสดุก่อสร้าง กิจการรับเหมา สถาปนิก และคนงานก่อสร้าง....เหล่านี้เป็นประเด็นที่น่าคิด และน่าทำการวิจัยเชิงลึก

ในอดีต การสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมมันจะต้องเกี่ยวข้องกับ การขุดแผ่นดิน ตัดต้นไม้ ระเบิดภูเขา ดำลงไปในทะเล เจาะ กระเทาะ ตักขึ้นมา ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทองแดง ทองเหลือง เหล็ก อลูมิเนียม ไม้ หิน ดิน ทราย พืช สัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ แล้วนำมาบด มาต้ม มาหลอม มาปรุง มาผสม มาแต่งเติม แล้วผลิตเป็นสิ่งของเพื่อรับใช้มนุษย์

ฝรั่งเรียกมันว่า "Material Wealth”

มันคือ "Productivity” ที่ก่อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ

นวัตกรรมสำคัญๆ ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายอย่าง ประกอบกับนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการที่มีความสามารถสูง ล้วนช่วยพัฒนาให้ Material Wealth ได้เพิ่มพูนและสะสมมากขึ้น โดยการเพิ่ม Productivity ให้กับระบบเศรษฐกิจ

เครื่องจักรไอน้ำ ไฟฟ้า เครื่องยนต์ระบบสันดาปภายใน ความก้าวหน้าทางด้านวัสดุศาสตร์ รถยนต์ เรือบิน ฯลฯ

ความมั่งคั่งเหล่านี้จับต้องได้ ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ เก็บไว้ส่งต่อถึงลูกหลานได้ นำไปใช้คืนหนี้สินได้ และที่สำคัญ มันนำไปสร้าง Wealth ในทอดต่อๆ ไปได้ เช่น พอคนมีเงินแล้วเมื่อยก็ไปนวด เบื่อก็ไปเที่ยว ฯลฯ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมบริการขึ้นอีกทอดหนึ่ง

เทคโนโลยีใหม่เสริมสร้างผลิตภาพให้สูงขึ้น พนักงานสามารถทำการผลิตของได้มากขึ้น หรือผลิตได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม ทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น และมีกำลังซื้อมากขึ้น หมายความว่าพวกเขาสามารถซื้อของจำนวนมากขึ้นจากพนักงานคนอื่นๆ ที่ต้องถูกจ้างงานมากขึ้นนั่นเอง

หมายความว่า เทคโนโลยีใหม่ + ปัจจัยการผลิต + ผู้ประกอบการ = ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น = รายได้และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น = สามารถซื้อของได้มากขึ้น = การผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งระบบ


ทว่า การสร้างความมั่งคั่งแบบใหม่แบบ Digital Society ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็น Platform หลัก แม้จะก่อให้เกิด Efficiency แต่มันลดทอน Material Wealth

คนใน Digital Society ไม่จำเป็นต้องเดินทางออกไปซื้อของเพราะช็อปปิ้งออนไลน์ ไม่ต้องมีรถ ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ต้องเสียเวลาไปงานเลี้ยงสังสรรค์ เพราะสังสรรค์ผ่าน Social Media และเวลาเดินทางก็ไม่ต้องไปพักโรงแรม เพราะพักตามบ้านหรือตามห้องว่างที่แบ่งให้เช่าผ่าน App ต่างๆ พอถึงเวลากินข้าว ก็กินกับเจ้าของบ้าน ไม่จำเป็นต้องออกไปกินตามร้านอาหาร

อยากอ่านหนังสือก็ดาวน์โหลดเอา ไม่ต้องเปลืองกระดาษ จะได้ไม่ต้องตัดต้นไม้ และใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมันมากในการพิมพ์หนังสือ แต่มันก็ทำให้โรงพิมพ์เจ๊ง ร้านเพลทเจ๊ง โรงงานกระดาษแย่ ยูคาลิปตัสปลูกน้อยลง เครื่องพิมพ์ขายไม่ออก รวมถึงสายส่ง และแผงหนังสือหน้าปากซอย ก็พลอยเจ๊งไปด้วย

ท่านผู้อ่านลองพิจารณาโจทย์นี้ดู:

ผมเขียนบทความเป็นไฟล์ คนอ่านดาวน์โหลดไฟล์แล้วจ่ายเงินให้ผม แล้วผมก็ได้เงิน

แบบนี้ ในเชิงมหภาคแล้วเท่าเดิม ใช่หรือไม่

ผมได้เงินเพิ่ม ผู้อ่านคนนั้นเสียเงินในจำนวนเท่ากัน...ภาพรวมไม่เปลี่ยนแปลง

Material Wealth ไม่เพิ่ม ไม่ต้องเรียงพิมพ์ ทำเพลท ส่งโรงพิมพ์ ซื้อกระดาษ เปิดสวิ้ต เดินเครื่องพิมพ์ และไม่ต้องมีโรงงานกระดาษ ไม่ต้องตัดต้นไม้ และชาวสวนไม่ต้องปลูกยูคาลิปตัส ฯลฯ

ทีนี้ลองขบคิดต่อไปอีกขั้นหนึ่งว่าผลผลิตในสังคมดิจิตัลอย่าง "สเตตัสบนเฟสบุ๊ค" เป็น Wealth แบบหนึ่งหรือไม่ เพราะกว่าจะได้ยอด Like มา ต้องลงทุนเวลาและพลังไปแยะ บางรายถึงกับต้องยอมซื้อ AdVert ตรงกับ Facebook เป็นเงินจำนวนมาก

สเตตัสบนเฟสบุ๊ค" ย่อมแสดงถึงความน่าเชื่อถือ

แต่ถามว่า มันมีน้ำหนักพอที่จะใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน หรือค้ำประกันการจำนองจำนำ เหมือนกับ Wealth ที่จับต้องได้แบบเดิมๆ หรือไม่

มันมีสถานะเป็น Wealth ที่ใช้ชำระหนี้ได้หรือไม่

อย่าลืมว่า ผลผลิตและความมั่งคั่งทุกอย่างของสังคมมนุษย์ ต้องแลกกับ เวลา ทุน ปัจจัยการผลิต และพลังกายพลังสมองของมนุษย์ที่ลงไป

ถ้าลงแรงลงทุนลงเวลาลงทรัพยากรไปแล้ว ได้ผลผลิตออกมาเป็นความมั่งคั่งที่ไม่ยั่งยืน แว้บเดียวก็หายไป

แล้วเราจะเอาความมั่งคั่งใหม่จากไหน ไปหล่อเลี้ยงคนรุ่นต่อไป หรือเอากลับไปใช้หนี้ ไปใช้คืนภาษี ที่เรานำมาลงทุนผลิตตัวมันและสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลิตมันขึ้นมา

นั่นเป็นปัญหาที่น่าคิด ท้าทายต่อสังคมสมัยใหม่ และรัฐบาลสมัยใหม่ที่ต้องการสนับสนุนแนวคิดและการผลิตชนิดนี้

ที่ว่ามานี้ มิได้หมายความว่าอินเทอร์เน็ตไม่มีประโยชน์ ตรงกันข้าม มันมีประโยชน์มหาศาล

ในระดับปัจเจก อินเทอร์เน็ตได้ช่วยและเปลี่ยนชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ตัวอย่างเช่นแม่คนหนึ่งที่ผมรู้จัก เธอเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น นับเป็นคนไทยที่มีตำแหน่งสูงสุดที่โรงงานแห่งนั้น แต่โชคร้ายที่ลูกเธอล้มเจ็บลงด้วยโรคที่หาสาเหตุไม่ได้และรักษาไม่หาย ตระเวนรักษามาทั่วแล้ว ก็ดูเหมือนจะหมดหวัง จนเธอต้องตัดสินใจทิ้งเงินเดือนเป็นแสนเพื่อมาทุ่มเทให้กับการพยาบาลลูก

ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ เธอหันเข้าหาอินเทอร์เน็ต เริ่มหาข้อมูลผ่าน Google ธรรมดาๆ จนพบบทความวิชาการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ และพบกับพ่อแม่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีลูกเป็นโรคชนิดเดียวกัน

เธอเข้าร่วมถกเถียง ค้นคว้า แลกเปลี่ยนข้อมูลกับพ่อแม่กลุ่มนี้ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และทางยาจากทั่วโลกที่อยู่ใน Web Ring อันนั้น

จนสุดท้าย เธอพบยาตัวหนึ่งที่ช่วยให้ลูกเธอดีขึ้น พร้อมกับการรักษาในแบบดุลยภาพบำบัด

ปัจจุบัน อาการของลูกเธอดีวันดีคืน และเธอก็ค้นพบอาชีพใหม่คือเป็นตัวแทนนำเข้ายาตัวนั้นให้กับโรงพยาบาลทั่วไทย

เราจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่าอย่างไร?

จะเรียกว่าอินเทอร์เน็ตกับกระบวนการสร้างความมั่งคั่งได้หรือไม่ เพราะมันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทองหรือเรื่องสะสมทุนหรือสะสมความมั่งคั่งใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ถ้าคุณไปถามคุณแม่คนนั้น และคุณแม่อีกหลายๆ คนทั่วโลก คุณจะพบว่าประโยชน์ที่อินเทอร์เน็ตให้กับเธอนั้น มันตีเป็นมูลค่าไม่ได้เลย

เมื่อครั้งที่ผมไปปารีสหลายปีมาแล้ว ผมได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับนักศึกษาไทยคนหนึ่ง

น้องคนนี้เป็นคนเก่ง เรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ และกำลังจะเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบที่ Grande Ecole ซึ่งมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในปารีส

น้องคนนี้ส่งตัวเองเรียนโดยขอให้พ่อซื้อคอนโดฯ ย่านพญาไทไว้สองห้อง และตัวเองปล่อยเช่าด้วยการจัดการผ่านเว็บไซต์ airbnb.com

เขาโชว์ Gantt Chart บน iPad ของเขาให้ผมดูว่าเดือนนั้น ห้องทั้งสองที่กรุงเทพฯ ถูกจองไว้ช่วงไหนบ้าง และจองจากใคร

รายได้จากคอนโดทั้งสองห้องนั้น บางเดือนคิดเป็นเกือบครึ่งแสน

ที่สำคัญ เธอสามารถ Manage ไปจากปารีสได้ โดยที่เมืองไทย เธอขอให้ญาติๆ กัน ช่วยดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยต่างๆ เฉพาะในช่วงเปลี่ยนกะ คือเมื่อผู้เช่ารายเก่าย้ายออก ก่อนที่ผู้เช่ารายใหม่จะเข้าอยู่

เรื่องราวเหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความมั่งคั่งในระดับปัจเจกชนที่จะก่อผลรวมให้เกิดเป็นความมั่งคั่งของสังคมหรือระดับประเทศหรือไม่ หรือเพียงเป็น Business Model ใหม่ที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารสมัยใหม่บันดาลให้เกิดขึ้น

คำตอบต่อคำถามนี้ ไม่ง่ายนัก


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA 
ภาพประกอบ Unicorn จาก www.christiantoday.com และตารางประกอบจาก The Economist
ผู้เขียนขอขอบคุณมา ณ ที่นี้