วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ปรองดองด้วย INFRASTRUCTURE FUND



การเปลี่ยนแปลงในเชิง Geopolitics ของโลกและเอเชียและภายในเอเชียอาคเนย์เอง ทำให้ประเทศไทยเราจำเป็นต้อง Reinvest ขนานใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจเสียใหม่ ให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลง และหวังว่าจะช่วงชิงเอาประโยชน์จากกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นเสียแต่ต้นมือ จะมาหวังกับการพึ่งพิงโครงสร้างเดิมซึ่งเคยใช้ได้ผลมาแล้วในรอบสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา อาศัยท่าเรือน้ำลึกและ Eastern Seaboard เป็นฐานการส่งออก โดยเน้นการรับจ้างทำของในโรงงานแบบเก่านั้น มันตีบตันลงเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันการ Create Wealth ด้วยโมเดลแบบเก่านี้ ไม่มีใครในโลกต่อกรกับจีนได้

Linkage Strategy กับจีนและอินเดียและกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรถไฟความเร็วสูง รางคู่ และทางหลวง Motorway ที่ทันสมัย เพื่อ Transform ตัวเองให้เป็น Transportation Hub และ Supply Chain Distribution Hub ตลอดจนการลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในระดับ Massive Scale รวมถึงการจัดระเบียบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ด้วยรถไฟฟ้า รถใต้ดิน Mono Rail และ Toll Roads อีกทั้งการลงทุนเพื่อแสวงหาและผลิตพลังงานทั้งพลังงานหลักและพลังงานทางเลือก ตลอดจนเร่งยกระดับ Productivity ในภาคเกษตรและในเชิงการขนส่ง ย่อมเป็น Priority สำคัญของทุกรัฐบาลนับแต่นี้ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นตัวแทนของสีเหลืองหรือสีแดง อำมาตย์หรือไพร่ ไม่งั้น “ความสามารถเชิงแข่งขันของไทย” เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านย่อมต้องตกต่ำลง ซึ่งมันจะส่งผลต่อมาตรฐานการครองชีพและคุณภาพชีวิตของพวกเราในที่สุด

ข้อจำกัดของเรื่องนี้มีอยู่อย่างเดียวคือ “เงิน” เพราะการลงทุนแนวนี้จะต้องใช้เงินมาก แต่ละโครงการต้องใช้หลายหมึ่นล้าน บางโครงการก็หลายแสนล้านบาท รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ย่อมถูกจำกัดด้วยเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งขณะนี้ไต่ขึ้นไปสูงพอควรแล้ว เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนของ GDP และต้องระวังไม่ให้ปัญหาหนี้สินภาครัฐเว่อร์ จนแว้งกลับมาทำลายบ้านเมืองอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรีซ โปรตุเกส และสเปน หรืออเมริกาใต้ในอดีต

Infrastructure Fund นับว่ามาได้ถูกที่ถูกเวลา เพราะมันเป็นเครื่องมือที่จะทำให้หลายฝ่ายหายใจหายคอได้บ้าง โดยมันจะช่วยให้รัฐและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ผูกพันตัวเองกับหนี้สินน้อยลง ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนช่วยลดโหลดไปบ้าง แถมยังลดปัญหา Crowding Out เพราะสามารถเอาวงเงินที่กันไว้นี้ ไปสร้างประโยชน์ในเชิงสวัสดิการสังคมอื่น เช่นยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างทักษะให้กับแรงงานทุกระดับเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่และโลกใหม่ หรือลงทุนกับบริการสาธารณสุข หรือสวัสดิการพื้นฐานอื่นที่สังคมไทยยังต้องการอีกมาก

ผู้ซื้อหน่วยลงทุน (ซึ่งในที่นี้ก็คือประชาชนหรือภาคเอกชนที่มีเงินออม) ก็สามารถมีทางเลือกในการออมเพิ่มขึ้น โดยเลือกลงทุนให้สอดคล้องกับ Pattern ความเสี่ยงของตน แต่ละรายย่อมไม่เหมือนกัน และอาจได้ผลตอบแทนจากโครงการเหล่านั้นในระยะยาวด้วย อีกทั้งยังสามารถขายหน่วยลงทุนได้ทันทีเมื่อกองทุนเหล่านั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดรอง

แม้กระทั่งผู้ลงทุนในโครงการ เช่นผู้รับเหมาก่อสร้างหรือผู้รับสัมปทาน ก็สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้ได้ด้วย ทั้งในเชิงของการเป็น Originator และ Operator อีกทั้งสถาบันการเงิน Project Financiers และบรรดา Supplier ต่างชาติตลอดจนธนาคารของพวกเขา (และที่อยู่เบื้องหลังพวกเขาเช่นธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของประเทศนั้นๆ) ก็จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยและ Cost of Capital ของโครงการโดยรวม ซึ่งอาจจะลดลง....สุดท้าย บรรดา บลจ. ตลอดจน Underwriter, Sub-underwriter, Dealer/Brokerและที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ ย่อมได้รับค่า Fees กันทั่วหน้า

นั่นเป็น Win-Win Game ที่ Infrastructure Fund จะนำมาให้พวกเรา

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
18 ธันวาคม 2555

วันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2555

“Yu-Gi-Oh!” Wealth Style


ลูกชายผมเป็นเด็กคนหนึ่งในหลายล้านคนที่ติดการ์ดเกมส์ ยูกิโอ” หรือ Yu-Gi-Oh! Trading Card Game


ท่านผู้อ่านคงทราบดีว่าเวลาเด็กสมัยใหม่ติดเกมส์นั้น ความคิดและการกระทำของพวกเขาจะพัวพันหมกมุ่นกับกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับเกมส์เกือบจะตลอดเวลา...ตั้งแต่มุ่งมั่นแสวงหาข้อมูล หาก๊วน Chat เฟสบุ๊กกัน หาทางลงแข่งขันใน Tournament ของโรงเรียนและนอกวงโรงเรียนออกไป เก็บเงินซื้อการ์ด สะสมการ์ด ตลอดจนซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเอง และในที่สุดก็ขยายวงซื้อขายออกไปนอกกลุ่ม ไม่ว่าจะในประเทศ (เช่นแถวสะพานเหล็ก) และนอกประเทศ (โดยผ่านเว็บไซต์สำคัญๆ เช่น eBay หรือ Amazon.com เป็นต้น)...จนบางทีก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า Hobby ของพวกเขาจะเบียดบังการเรียนจนทำให้เสียหาย

ผมเชื่อว่าพ่อแม่จำนวนมากกำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับผม!

อันที่จริงโมเดลธุรกิจแบบนี้มันมีมาตั้งนานเป็นร้อยปีแล้ว เริ่มมาจากฝรั่งก่อน (แต่ถ้าจะพูดให้ถึงแก่นก็คือพวกศิลปินยิวอพยพที่พากันไปอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ น่าจะถูกกว่า) ที่สร้างงานการ์ตูนซีรี่ส์แบบ Flash Gordon, Spiderman, Superman หรือบรรดา Marvel ทั้งหลาย โดยแรกๆ ก็ออกมาในรูปนิตยสารหรือหนังสือก่อน (ซึ่งสมัยผมเป็นเด็กก็ยังได้ติดตามอ่านฉบับแปลเป็นไทยผ่านวารสาร "วีรธรรม") แล้วตอนหลังค่อยมาเป็นการ์ด เป็นโปสเตอร์ เป็นภาพยนตร์ เป็นทีวีซีรี่ส์ และเป็นเกมส์ โดยมีสินค้า Tie-in จำนวนมากไว้ให้บรรดาสาวกสะสม ทั้งในหมวดเสื้อผ้า เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน หรือแม้แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมก็ยังเป็นได้

ในสายตาของผม คนที่สำเร็จยิ่งใหญ่มากมีอยู่ 2 คน คือ Walt Disney และ George Lucas โดยคนแรกนั้นเป็นศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก และทำอะไรล้ำยุคไว้แยะ โดยเฉพาะความฝันของเขาในเรื่อง Theme Park และโครงการทดลองที่เนื่องมาแต่ Fantacy World ของเขา ซึ่งล้วนแต่เป็น Innovations สำคัญของโลกในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเมืองลดมลภาวะใน Disney World ให้คนไปไหนมาไหนด้วยรถไฟฟ้า สร้างระบบ Monorial และสนามบินที่ทดลองให้เครื่องบินขึ้นลงในแนวดิ่งเพื่อลดมลภาวะทางเสียง สร้าง Pedestrial Mall แห่งแรกของโลก และโครงการทดลอง EPCOT ซึ่งสำเร็จเป็นรูปธรรมออกมาแล้ว ณ บัดนี้ที่ Magnolia Bend, New Orleans

Walt Disney ได้เปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจการ์ตูนใหม่หมด โดยสามารถผสมผสานศิลปะ เทคโนโลยี และการตลาด ได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญเขาได้สร้างศิลปินรุ่นใหม่ไว้จำนวนมาก ทั้งนักวาดการ์ตูน Graphic Designer ช่างกล้อง ช่างตัดต่อ และ Game Developer

ส่วนคนหลังนั้นได้รับอิทธิพลมาจากคนแรกและรับมรดกเชิงอุตสาหกรรมมาจากคนแรก โดยเขาเติบโตมาในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของเทคโนโลยีอนาล็อกกับดิจิตัล และเป็นคนบุกเบิกให้เกิดธุรกิจที่ผมเรียกว่า วงไพบูลย์ด้านเอ็นเทอร์เทนเม้นต์” ยุคใหม่ โดยใช้ Star Wars เป็น Theme หลัก สร้างเครือข่ายธุรกิจ Entertainment ยุคใหม่มูลค่ามหาศาลขึ้นมาบน Story นั้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งเกมส์ คอมพิวเตอร์ ไมโครโปรเซสเซอร์ชิพและระบบประมวลผลอันรวดเร็ว ระบบ Graphic อันก้าวหน้าเสมือนจริง ระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาสมัยใหม่ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือให้เป็นประโยชน์ นำมันมารับใช้ใน Business Model ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว และสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้เกี่ยวข้องอย่างที่คนรุ่นก่อนนึกไม่ถึง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เลียนแบบฝรั่งแต่ก็ประสบความสำเร็จยิ่งกว่าฝรั่งในเรื่องทำนองนี้ เพราะญี่ปุ่นอุดมไปด้วยศิลปินนักวาดการ์ตูนและผู้ประกอบการที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ปัจจุบัน “วงไพบูลย์ด้านเอ็นเทอร์เทนเม้นต์” แบบครบวงจรของญี่ปุ่นครองหัวใจเด็กทั่วโลก (สมัยผมเป็นเด็กก็มีอย่าง "หน้ากากเสือ" และ "ไอ้มดแดง" หรือ "อุลตร้าแมน" เป็นต้น)

โมเดลของญี่ปุ่นมักเริ่มจากหนังสือการ์ตูน แล้วก็ปรับเป็นทีวีซีรี่ส์ พร้อมกันนั้นก็จะออกสินค้า Tie-in และ Accessory คือของเล่นให้สะสมกันเป็นล็อตๆ โดยทะยอยออกตลอดเวลาตราบที่หนังยังฮิตอยู่ (และส่วนใหญ่จะทำเป็น Limited Edition เพื่อให้มันมีมูลค่าในตลาดรอง หรือตลาดนักสะสม และยังเป็นเหตุผลเชิงธุรกิจที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ซีรี่ส์ใหม่ขายได้ เพราะมันจะไม่ซ้ำกับซีรี่ส์เดิม ซึ่งสาวกก็จะต้องตามเก็บอยู่ดี) เสร็จแล้วก็จะทำเป็น VCD หรือให้ดาวน์โหลด และก็ทำเป็นเกมส์ในที่สุด

หากเรา Break-down ดูสัดส่วนรายได้ จะพบว่าหมวดของเล่นเป็น Portion ใหญ่ที่สุด (นั่นเป็นเหตุผลที่บริษัท Bandai มีอิทธิพลเหนือผู้สร้างภาพยนตร์อย่าง Toei) ยกตัวอย่างกรณีของ Yu Gi Oh! เมื่อเริ่ม Launch การ์ดจากภาพยนตร์ในปี 2009 นั้น Guinness World Record รับรองสถิติไว้ว่าขายไปแล้ว ณ ขณะนั้นกว่า 22,000 ล้านใบ และความแรงของเกมส์นี้ ยังส่งผลให้เกิด Fan Club ทั่วทุกมุมโลก (รวมทั้งในไทยด้วย) และมีการจัดแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายในระดับทวีปและระดับโลกปีละหลายครั้ง อีกทั้งยังพิมพ์การ์ดซีรี่ส์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การ์ดบางใบที่เคยออกมานานแล้ว และสมมติว่ามีฤทธิ์เดชแยะ กลายเป็นของสะสมที่มีผู้ต้องการทั่วโลก ระดับราคาจึงถีบตัวขึ้นไปเป็นหลักหมึ่นก็มี

นั่นมันเป็นธรรมดาของระบบทุนนิยม แต่ถ้าหากเราหันกลับมามองในเชิงของผู้เล่น สำหรับผมแล้ว นอกจากความสนุกเพลิดเพลินของเด็กที่ได้เล่นของเล่นของพวกเขา เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เราเคยเป็นเด็กมาก่อน เด็กสมัยนี้ยังได้สัมผัสการงานอีกมิติหนึ่งที่แฝงอยู่ในกระบวนการนั้น นั่นคือ “การบริหารจัดการกับสินทรัพย์และความมั่งคั่ง” เพราะควบคู่กับการเล่นของพวกเขา พวกเขายังจะต้องสืบหาราคาตลาดของการ์ดแต่ละใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางใบที่หายาก หัดดูตำหนิของแต่ละล็อตว่าอันไหนของจริงของปลอม ติดตาม Trend และ Theme ในการเล่นเพื่อจะลงทุนไปให้ถูกทาง และรู้จักกระบวนการค้าขายของสะสมในระดับโลกผ่านเว็บไซต์ eBay หรือ Amazon หรือเว็บไซต์ประเภทแฟนพันธุ์แท้ต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยความสามารถเชิงภาษาในระดับที่จะต้องสื่อสารแลกเปลี่ยนและทำ Transaction กันได้ นอกจากนั้นยังต้องศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่จะมีผลต่อราคาการ์ดที่พวกเขาถืออยู่ เช่นภาวะเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนรสนิยมของผู้เล่นที่หันไปนิยมเกมส์หรือของเล่นชนิดอื่นที่เป็นคู่แข่งขันกัน หรือคอยเปรียบเทียบระดับราคาอยู่เป็นประจำเพื่อตรวจสอบดูว่าภาวะฟองสบู่ในขณะนี้มันเกินขีดอันตรายแล้วหรือไม่อย่างไร เป็นต้น อีกทั้งยังต้องรู้จักออมเงิน หาเงิน คำนวณผลได้เสีย (บ่อยครั้งต้องทำในระดับ Cross-currencies) และทำการซื้อมาขายไป และฝึกตัดสินใจในยามคับขัน หรือท่ามกลางทางเลือกจำนวนมาก อีกด้วย

สิ่งเหล่านี้เป็น แง่งาม” ของธุรกิจเกมส์และของเล่นสมัยใหม่ในบัดนี้ ซึ่งทักษะแบบเดียวกันนี้ สามารถนำไปใช้ได้กับการบริหารทรัพย์สินและความมั่งคั่ง (Wealth Management) เมื่อพวกเขาโตขึ้น และเขยิบขึ้นไปตามความสนใจและการลงทุนกับ Sophistications ของ Asset Class ไล่เลียงไปตั้งแต่ระดับ Day Trading จนถึง Portfolio Management จนถึง Synthetic Portfolio ไปจนถึง Collectible Items ซึ่งถือเป็นความรู้ขั้นสูงสุดของการเพิ่มพูนและธำรงไว้ซึ่งความมั่งคั่งของผู้มีอันจะกิน


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
16
ธันวาคม 2555

วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Ladies and Gentlemen.... The winner is...“Branded Content”


หลายปีมานี้ Branded Content ได้กลายเป็นรูปแบบการโฆษณาที่ได้รับความนิยมมาก

อย่างว่าแหละ ในยุคที่ผู้บริโภคละครหรือรายการทีวีสามารถ Skip โฆษณาได้โดยใช้เทคโนโลยีถูกๆ อย่าง Tivo หรือ DVR การโฆษณาสินค้าและบริการจึงต้องใช้วิธีแฝงเข้าไปกับ Content 

ส่วนจะแฝงได้เนียนหรือไม่เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับฝีมือของนักการตลาดและบรรดา Creative ที่สร้างสรรค์งานชิ้นนั้นๆ

ถ้าเนียนได้ถึงขึ้นที่เป็น งานศิลป์” มันก็น่ายกย่องอยู่

เดี๋ยวนี้คนในวงการโฆษณาและ Entertainment ถึงกับตั้งรางวัลมาให้กำลังใจกันเองแล้ว กับงานประเภท Branded Content คือถ้าทำได้ดีถึงขั้น ก็อาจจะได้รับรางวัล ดูอย่าง Branded Content & Entertainment Lions ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลหนังเมือง Cannes นั่นปะไร

วงการเอ็นเทอร์เทนเม้นต์ไทยก็ใช้การโฆษณาแนวนี้แยะเหมือนกันในระยะหลัง ท่านผู้อ่านที่ชอบดูหนังหรือละคร ต้องเคยเห็นฉากที่พระเอกขับรถ Ford นางเอกขับ Chevy นางร้ายขับ BMW เพื่อนพระเอกกับพระเอกกินนั่งคีบ ไวไวควิก กันหน้าร้าน MaxValu หรือดื่มเบียร์ช้างเวอร์ชั่น Export กระป๋องเป็นกองๆ แล้วกดโทรศัพท์มือถือ iPhone และ Check-in หน้า Facebook และทำงานเป็นพนักงานร้าน 7-11 หรือไม่ก็ถ่ายทำกันในร้านดังกล่าวนั้นเกือบทั้งเรื่องก็มี ล่าสุดแม้แต่หน่วยงานของรัฐอย่าง กลต. ก็ยังใช้กลยุทธ์แนวนี้ในการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาลงทุนและบริหารเงินทองของตัวเองกันผ่านภาพยนตร์เรื่อง มนุษย์เงินเดือน” เป็นต้น

อันที่จริงการใช้แนวคิดแฝงโฆษณาในเนื้อหามันมีมานานนมแล้ว เพียงแต่สมัยก่อนยังไม่เน้นขายของ ทว่ามันจะออกแนวโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า เช่นการทำภาพยนตร์หรือละครของพวกนาซีเพื่อโปรโมทความรักชาติ เชื้อชาติ และ NAZI Brand และเพื่อเป็นการตอบโต้ ชาลี แชปลิน ก็ทำหนังซึ่งให้ฮิตเลอร์ดูเป็นตัวตลก ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ต้านการโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ คือ เกลือจิ้มเกลือ” โดยเอาการผลิตแบบ Branded Content มาแก้เกมส์ Branded Content ด้วยกันเอง

นานมาแล้ว Marlon Brando เคยขอค่าตอบแทนเพิ่มอีก 65,000 เหรียญฯ สำหรับการกล่าวคำพูดเพียง “3 Lines” ในหนังของ Francis Ford Coppola เรื่อง Apocalypse Now ซึ่งถือเป็นเรื่องฮือฮามากในสมัยโน้น เพราะทั้งๆ ที่ Coppola ขอ Favour จาก  Brando โดยอ้างว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ทาง Studio ขอมา แต่ Brando ไม่ยอมกล่าวให้ฟรีๆ...เขาให้เหตุผลว่า GM มันเป็น Corporation ไม่ใช่เหรอ ส่วนพวก Hollywood มันก็เป็น Corporation เหมือนกัน เวลาเราจะขอ Favour อะไรจากพวกมัน มันยังไม่เคยให้เรา ดังนั้นในฐานะที่เขาเป็นศิลปิน เขาก็จะต้องได้ค่าตอบแทน ถ้าจะให้เขาพูด”

ทว่า การใช้ Branded Content ก็มีความเสี่ยง เพราะต้องลงทุนมาก แต่ก็ใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป ดูอย่าง Cast Away ของ Steven Spielberg นั้น แม้หนังจะประสบความสำเร็จล้นหลาม และก็เกิด Impact ในเชิง Exposure ต่อบริการ FedEx ซึ่งเป็น Single Branded Content Sponsor ของหนัง แต่อัตราเติบโตของรายได้ของ FedEx หลังจากนั้นก็ยังทรงและลดลงด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน

หัวใจสำคัญของ Branded Content คือต้องมีลักษณะ Positive มีคำพูดหรือเนื้อเรื่องที่กินใจทำให้คนดู คนฟัง คนอ่านเกิดอารมณ์ร่วมหรือสะเทือนอารมณ์ และต้องมีลักษณะ Trend Settling โดยเฉพาะในเชิงพฤติกรรมการบริโภคหรือ Lifestyle และที่สำคัญคือต้องมี ลูกตาม” ไม่ผลิตครั้งเดียวแล้วหายไปแบบ ไฟไหม้ฟาง” และต้องถูก Traget


18 ธันวาคม 2555




วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Dinner@Cemetery


สมัยเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย โรงเรียนผมอยู่ใกล้ป่าช้า เวลาเผาศพก็จะได้กลิ่นทุกครั้งเมื่อลมโชยผ่านห้องเรียนของพวกเรา จนตอนหลังก็ชิน แต่เมื่อมีอันต้องกลับบ้านค่ำ หรือต้องมาทำกิจกรรมพิเศษในวันหยุด ช่วงที่ต้องเดินทางผ่านป่าช้า ต้องเดินให้เร็ว หรือปั่นจักรยานผ่านที่ตรงนั้นไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และต้องไม่หันไปมอง

ผมจำได้ว่าเกือบ 7 ปีที่เรียนอยู่ที่นั่น ที่ดินแถบนั้นพัฒนาช้ามาก เคยเปลี่ยวอยู่อย่างไรก็เปลี่ยวอยู่อย่างนั้น เพราะที่ดินแถบป่าช้าคงไม่ค่อยเป็นที่ต้องการมากนัก (หากมีทางเลือก) ส่งผลต่อ Real Estate Price อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น


ผมก็เหมือนคนทั่วไป ที่เมื่อโตขึ้นก็ต้องมีบางโอกาสซึ่งวิถีชีวิตได้นำพาให้ได้ไปเยี่ยมชมป่าช้าที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ถ้าไม่นับป่าช้าในเมืองไทย เท่าที่ผมจำได้ ผมว่าผมเคยไป Pere Lachaise, Montparnasse, Montmartre, Highgate, Brompton, Zentralfriedhof, Woodlawn, St.Louise Cemetery No.1 และ Arlington ตลอดจน ปิรามิด หลายแห่งในอียิปต์ รวมทั้งบรรดา War Memorial สำคัญๆ อย่าง Verdun, Somme, Tyne Cot,และ Normandy (ณ Colleville-sur-Mer) เป็นต้น


ผมยังจำความรู้สึกที่ได้ไปเยือนแต่ละแห่งได้คร่าวๆ ว่ามันล้วนเยือกเย็น วิเวก หดหู่ ถึงแม้บางแห่งจะมีร่องรอยของเกียรติยศ ความกล้าหาญ และความเสียสละ ทว่ามันก็ยังน่ากลัวอยู่ดี ยิ่งถ้าลองจินตนาการว่าเป็นกลางคืนด้วยแล้ว...โอ้ว! ขนลุก


แน่นอนว่า Demand ต่อบ้านเรือนละแวกนั้นย่อมเบาบางลงเป็นเงาตามตัว ผมเคยมีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าสมัยเขาจองคอนโดหรูที่จามจุรีสแควร์เมื่อไม่นานมานี้ พนักงานขายสาวสวยยังแอบกระซิบว่าไม่ควรเลือกด้านที่ปะทะกับวัดหัวลำโพงถ้าเป็นคนขวัญอ่อน เพราะจะต้องได้เห็นหรือ (บางทีอาจ) ได้กลิ่น การฌาปณกิจเป็นประจำ


ด้วยเหตุนี้ผมจึงชอบใจมากที่ได้รู้ว่า Krug Champagne ในเครือ LVMH ในนามของสถาบันอาหารที่ตั้งชื่อแปลกๆ ว่า Krug Institute of Happiness ได้ทดลองออกแคมเปญ The December Krug


งานนี้ Krug ไปเช่าสถานที่บ้านริมสุสาน Highgate เลขที่ 85 Swains Lane (http://www.85swainslane.co.uk/) ซึ่งมีความวิเวก และมองเห็นทิวทัศน์ของสุสาน แต่สร้างและตกแต่งได้เก๋ไก๋ (บ้านหลังนี้ได้รับรางวัลทางด้านสถาปัตยกรรมของอังกฤษ RIBA ด้วย) แล้วเชิญกุ๊กมีชื่อ Nuno Mendes มาปรุงอาหารให้แบบ Four-course Menu สำหรับอาหารค่ำ เป็นเวลาเพียง 4 วันเท่านั้น (แคมเปญจบไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ยังคลิกดูได้ที่ www.kruginstituteofhappiness.com) สนนราคาเริ่มต้นที่คนละ 220 ปอนด์ รวมค่ารถรับส่งจากตัวเมืองลอนดอน และจองได้ทางอินเทอร์เน็ต


ผมทราบมาว่างานนี้ได้รับความสำเร็จในเชิงพีอาร์เกินคาด มีคนคลิกเข้าเว็บไซต์อย่างล้นหลาม จน Krug คิดว่าจะจัดซ้ำอีกในหลายประเทศ


กลยุทธ์ Marketing ทำนองนี้ เป็น Luxury Exotic Experience ที่ไปกันได้กับจริตของคนชั้นกลางในเมืองรุ่นใหม่ ผมสังเกตว่าบ้านหลังหนึ่งแถวบ้านผมในซอยพร้อมศรีที่ไม่มีความน่าสนใจใดๆ เลย พอมีกุ๊กนักธุรกิจอย่างคุณพล ตัณฑเสถียร นำมาปรับเป็นร้านอาหาร ตกแต่งใหม่เล็กน้อย ทำสนามหญ้าให้น่านั่ง ก็กลับฮิตขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย (ร้าน Spring) หรืออย่างล่าสุดบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนหลังเล็กๆ หน้าปากซอยกลาง (สุขุมวิท 49) ซึ่งดูร้างรามานาน พอได้กุ๊ก/นักพีอาร์มือดีอย่างเชฟเอียน มาจับปรับใหม่ เอาสังกะสีเข้าล้อม และตกแต่งข้างในดิบๆ มีประตูเข้าออกเป็นซอกเล็กๆ อยู่แอบๆ เหมือนโรงฆ่าสัตว์ ก็กลับดูดีและดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้อย่างเหลือเชื่อ (ร้าน Smith)


เราคงจะได้เห็นอะไรทำนองนี้มากและถี่ขึ้นในแวดวงธุรกิจไทยในอนาคตอันใกล้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
หมายเหตุ: ภาพหลุมฝังศพของ Karl Marx ณ Highgate Cemetery นำมาจาก Blog ชื่อ Scrapperduncan.com
17 ธันวาคม 2555


วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

DOWNTON ABBEY




ผมเป็นแฟนคนหนึ่งของ Downton Abbey และผมก็ได้ความรู้แยะเลยจากหนังซีรี่ส์เรื่องนี้ นอกไปจากความบันเทิงแบบ Soap Opera ทั่วไปแล้ว ยังได้เห็นชีวิตของผู้ดีอังกฤษในช่วงขาลง เห็นบรรยากาศของสังคมอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและหลังสงคราม และสัมผัสได้ถึงสภาวะขาลงของ British Empire อีกทั้งยังได้ฟังบทสนทนาชั้นเลิศ การใช้ภาษาอังกฤษชั้นดี ทั้งสำเนียงเจ้า สำเนียงไพร่ ฝีมือเขียนบทของ Julian Fellowes ซึ่งในชีวิตจริงก็ได้แต่งงานอยู่กินกับทายาทตระกูลขุนนางเก่าแก่ของอังกฤษ

แม้นักวิจารณ์บางฝ่ายจะตำหนิละครเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องฟื้นฝอยหาตะเข็บ ที่จู่ๆ ก็นำเอาชีวิตคนชั้นสูงมายกย่อง แสดงให้เห็นดีเห็นงามอย่างโง้นอย่างงี้ เป็นการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันในยุคก่อนซึ่งหมดสมัยไปแล้ว โดยการทำแบบนี้มันจะทำลายความสมานฉันท์ในสังคมเสียเปล่าๆ

คนอังกฤษมี Class Conscious สูง ดังนั้นนวนิยายหรือละครที่พล็อตหลักอิงกับ “ชนชั้น” จึงมักได้รับความนิยม ดูอย่าง Harry Potter นั้น ถ้าวิเคราะห์ดีๆ ก็เป็นเรื่อง "การต่อสู้ระหว่างชนชั้น" คำว่า "เลือดสีโคลน" และ "เลือดบริสุทธิ" มันบ่งบอกชัดเจน เพียงแต่ผู้แต่ง Harry Potter สมมติให้ฝ่ายเจ้า (เลือดบริสุทธิ) เป็นฝ่ายมาร และฝ่ายไพร่ (เลือดผสม) เป็นฝ่ายพระ แถมพี่เบิ้มของฝ่ายเจ้ายังมีลักษณะ Hypocrite เพราะเมื่อสืบสาวไปลึกๆ แล้ว แท้จริงตัวลอร์ดโวลเดอร์มอร์เองก็มีเลือดไพร่อยู่ด้วยและมาจากตระกูลที่อับจนเข็นใจ อีกทั้งตระกูลที่สมมติว่าเป็นตระกูลเจ้าเก่าแก่มาหลายชั่วคนอย่างตระกูลวิสลี่ย์ ก็ถูกผู้แต่งตั้งใจทำให้ดูตลกขบขัน มิได้มีความขลังในแบบ Stereotype อยู่เลย

ดังนั้น การต่อสู้ระหว่างชนชั้น ไพร่ชนะเจ้า ในนามของธรรมะชนะอธรรมหรือความดีชนะความชั่ว ในสังคมคนชั้นกลางที่หมั่นไส้วัฒนธรรมดัดจริตแบบปากว่าตาขหยิบหรือคิดอย่างทำอย่าง จึงได้รับความนิยมโดยรวดเร็ว (อย่าลืมว่า J.K. Rowling ผู้ประพันธ์เรื่องนี้ เป็นหญิงหม้ายลูกติด มีอาชีพเป็นครูธรรมดา และใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางค่อนมาทางล่าง ในสังคมอังกฤษที่อุดมไปด้วย Class Consciousness)

Downton Abbey มิใช่เรื่องของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น แต่เป็นเรื่องของชันชั้นสูงตระกูลหนึ่งที่ดิ้นรนให้ชีวิตครอบครัวในคฤหาสน์ประจำตระกูล (รวมทั้งบริวาร) ซึ่งเป็นสมบัติตกทอดชิ้นสำคัญยังคงสืบทอดต่อไปได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งส่งผลต่อสังคมการเมือง โดยหวังว่าสมาชิกของครอบครัวภายใต้การนำของหัวหน้าตระกูลรุ่นต่อไป จะยังคงรักษาวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของชนชั้นสูงไว้ได้ โดยไม่ต้องขายสมบัติทิ้ง และแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตเยี่ยงคนชั้นกลางหรือคนสามัญทั้วไป

Downton Abbey แสดงวิธีคิดและวิถีชีวิตคนชั้นสูงตลอดจนบริวารซึ่งเป็นคนชั้นล่างอย่างละเอียด โดยแต่ละคนล้วนมีลักษณะ Nice People ยึดถือเกียรติยศและศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย และ Aristocratic Scruples แสดงให้เห็นถึงการข่มใจอันเนื่องมาแต่การอบรมบ่มนิสัย แม้บริวารบางคนจะเล่ห์เหลี่ยมจัดไปบ้าง

มันคล้ายๆ กับ “สี่แผ่นดิน” ที่ตัวละครส่วนใหญ่เป็น Nice Guy

ผมดูละครเรื่องนี้แล้วก็ย้อนดูตัวเอง!

ผมรู้สึกว่าขณะนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัวสูงในเรื่อง “ชนชั้น” หรือ Felling ที่ว่าตัวเองสังกัดชนชั้นนั้นชนชั้นนี้ โดยเฉพาะชนชั้นล่างและชนชั้นกลางที่เอาใจช่วยทั้งชนชั้นล่างและชนชั้นสูงนั้น จะมีความรู้สึกนี้ค่อนข้างมาก สังเกตุได้ง่ายๆ จากข้อความใน Facebook และสัญลักษณ์ของสีเสื้อ และคำที่ใช้เรียกพวกตัวเองว่า “ไพร่” และ "อำมาตย์" หรือ "...รักในหลวง"

ดังนั้น ถ้านักสร้างละครไทยจะหันมาใช้ “ชนชั้น” หรือ “การต่อสู้เชิงชนชั้น” เป็นแกนหลักในการวางพลอต ละครก็น่าจะได้รับความนิยมได้ แม้จะเป็นละครรักๆ ใคร่ๆ ก็ตาม

น่าจะลองกันดูมั่ง เผื่อจะเกิด Innovation ในแวดวงละครไทยได้บ้าง ใครจะไปรู้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 ธันวาคม 2555

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มรดก DRUCKER




Peter Drucker มหาคุรุทางด้านการจัดการ เป็นผู้หนึ่งที่แสดงความห่วงใยระบบทุนนิยมไว้มาก ว่านับวันมันจะออกนอนลู่นอกทาง คนรวยรวยเกิน คนจนจนเกิน แถมยังไม่บันยะบันยังกับการถลุงทรัพยากรของโลกอย่างไม่ทะนุถนอม สร้างขยะและปล่อยมลพิษ และโหดเหี้ยมขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่แสดงออกด้วยการปลดคนงานทีละมากๆ หรือว่าจ้างแรงงานเด็กอย่างไร้เมตตา อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะถูกชักใยจากคนจำนวนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกนักการเงิน ที่นับวันจะตั้งค่าตัวให้กับตัวเองอย่างมากมายมหาศาล และสนใจเฉพาะการปั่นราคาสินทรัพย์หรือหุ้นหรือตราสารการเงินอย่างมัวเมา จนทำให้ระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของโลก (ซึ่งก็หมายถึงระบบทุนนิยมโดยรวม) เข้าสู่วิกฤติใหญ่เป็นระยะๆ และถี่ขึ้นเรื่อยๆ

หลังจาก Peter Drucker ตายลง มีมูลนิธิจำนวนมากตั้งขึ้นมาเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเขา กิจกรรมน่าสนใจจำนวนมากถูกจัดขึ้นทุกปี โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานปาฐกถาและสัมมนา บ้างก็ต่อเนื่องและบ้างก็เลิกไปหลังจากทำได้เพียงสองสามครั้ง ตามแต่ความนิยมและความน่าสนใจของกิจกรรมเหล่านั้น

ในบรรดากิจกรรมที่ "จุดติด" และทำท่าว่าจะน่าสนใจขึ้นเรื่อยๆ เมื่อดูจากความสำคัญของ Speakers และผู้เข้าร่วมสัมมนา คืองานที่เรียกว่า Global Drucker Forum ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นประจำ โดยปีนี้จะเป็นครั้งที่ 4 และว่าด้วยอนาคตของทุนนิยมโดยเฉพาะ ภายใต้หัวข้อว่า Capitalism 2.0: New Horizons for Managers” ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายนนี้

ตามโปรแกรม Dan Shechtman นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลจะมาพูดว่าเราจะสร้างโลกที่สงบได้อย่างไรโดยผ่านจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และยังมีนักวิชาการและผู้บริหารระดับสูงที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนมากร่วมให้ความเห็นตลอดสองวัน

ผู้สนใจคลิกเข้าดูได้ที่ www.druckerforum.org หรือติดต่อโดยตรงที่คุณ Mareike Oetting, อีเมล์ mareike.oetting@e3-communications.com, โทร. 0049 30 310 18 18 35 (Peter Drucker Society Europe)