ผมพบกับคุณเฉลียวครั้งแรกเมื่อยี่สิบปีก่อนที่ร้านอาหารแถวสยามสแควร์ จากการแนะนำของคุณสมชัย วงศาภาคย์ โดยการสนทนาครั้งนั้นเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องโทรศัพท์สามล้านเลขหมายซึ่งกำลังถูกหั่นลงให้เหลือสองล้านเลขหมาย
คุณเฉลียวเป็นนักเล่าเรื่อง ความจำดี เล่าสนุก พูดยากเป็นง่าย มีอารมณ์ขัน และมีมุขหักมุม แต่ก็พูดจาสุภาพ อีกทั้งยังรู้จักคนแยะ เพราะผ่านงานมาหลายแห่งและหลายลักษณะ
ผมทราบว่าคุณเฉลียวจบบัญชีจุฬาฯ แล้วไปต่อเอ็มบีเอที่อินเดียนา แล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่บัญชีจุฬาฯ แล้วก็ออกไปทำ ร.ส.พ. แล้วก็ ข.ส.ม.ก. แล้วก็ทำกิจการเรือขนส่งสินค้าของครอบครัว แล้วก็มาทำธนสถาปนาซึ่งเป็น Venture Capital แห่งแรกของเมืองไทยภายใต้การร่วมทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในขณะนั้น แล้วถึงจะเข้าร่วมกับซีพี
ผมทราบอีกว่าคุณเฉลียวเป็นลูกเขยของเหียมุ่ยเก๋า (บุตรบุญธรรมและอดีตมือขวาของเหียกวงเอี่ยม) เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับเติ้งเสี่ยวผิง และเป็นคีย์แมนคนสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-จีนมาตั้งแต่ยุคโจวเอินไหล จึงเป็นผู้ช่วยเปิดประตูให้กับนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนได้เข้าไปร่วมลงทุนในจีนหลังจากเติ้งเสี่ยวผิงเปิดประเทศ และเป็นที่มาแห่งความสำเร็จของซีพี
สมัยนั้นธุรกิจโทรคมนาคมกำลังเป็นดาวดวงใหม่ และคุณเฉลียวก็เป็นคน “ทำคลอด” ให้กับโครงการสามล้านเลขหมายของซีพี ซึ่งพัฒนาไปเป็นเทเลคอมเอเซียในเวลาต่อมา และกลายมาเป็น True ในปัจจุบัน
แม้คุณเฉลียวจะไม่ใช่วิศวกร แต่ก็เข้าใจธุรกิจโทรคมนาคมทะลุปรุโปร่ง และด้วยความเป็นคนมีอัธยาศัยง่ายๆ แบบอาจารย์ผู้ใหญ่ใจดี จึงกลายเป็นขวัญใจของสื่อมวลชนที่ต้องติดตามเบื้องหน้า (ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยมิติทางด้านเทคโนโลยี การแข่งขัน การตลาด การเงิน การลงทุน การร่วมทุน และการจัดการ) และเบื้องหลัง ซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยเรื่องสัมปทานรัฐและการเมืองระดับชาติอย่างแยกไม่ออก โดยมีไส้สนกลในค่อนข้างลึกลับซับซ้อน (และต้องอัพเดตตลอดเวลา) คือโยงถึงนักการเมืองแทบทุกพรรค และข้าราชการระดับสูง นายหน้าล็อบบี้ยิ้สต์ ตลอดจนกลุ่มนายทหารผู้ถืออำนาจรัฐในช่วงนั้น
การสนทนาในครั้งนั้นช่วยให้ผมสามารถฟอร์มความคิดได้ชัดและเข้าใจแนวโน้มว่าธุรกิจโทรคมนาคมในเมืองไทยจะพัฒนาต่อไปยังไง Pattern ของการแข่งขันจะออกมาแนวไหน และจะอ่านใจผู้เล่นสำคัญๆ อย่างคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ดร.อดิศัย โพธารามิก คุณบุญชัย เบญจรงค์กุล และ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ว่าใครน่าจะเคลื่อนไหวเดินหมากยังไงกันต่อไป ฯลฯ
คุณเฉลียวช่วยให้ผม Conceptualize ได้ทันที ผมจึงประทับใจและยังคงจดจำเนื้อหาส่วนใหญ่ของการสนทนาครั้งนั้นได้จนกระทั่งบัดนี้
ผมมีโอกาสสนทนากับคุณเฉลียวอีกเพียงสามครั้งหลังจากที่ท่านล้มป่วยและย่างเข้าวัยชราแล้ว แต่ผมก็ได้อ่านงานเขียนของคุณเฉลียวเป็นระยะ และยังเคยทำบทสัมภาษณ์และนำความเห็นของคุณเฉลียวมาตีพิมพ์ในนิตยสาร Corporate Thailand ของผม ก่อนหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คของคุณเฉลียวจะวางแผงอีกด้วย
ผมพบว่าคุณเฉลียวเป็นคนทันสมัย ไม่ตกเทรน มีความสนใจกว้างขวาง และมีลักษณะแบบนักคิดที่เข้าใจปัญหาสังคมอย่างลึกซึ้งแต่ไม่ค่อยแสดงออก
ที่สำคัญ คุณเฉลียวเป็นคนมีความสุข และมองชีวิตด้วยอารมณ์ขัน หัวเราะเยาะได้แม้กระทั่งความเจ็บป่วยและโชคชะตาของตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการมีลูกเมียที่น่ารักและอบอุ่น โดยที่คุณเฉลียวคงจะเข้าถึงสัจธรรมขั้นสูงอีกโสตหนึ่งด้วย
ครอบครัวคือ Asset ที่สำคัญของคุณเฉลียว โดยคุณเฉลียวมีภรรยาที่ประเสริฐ อุทิศตน และลูกๆ ก็ประสบความสำเร็จในชีวิต
ครั้งสุดท้ายที่ผมพบกับคุณเฉลียว ผมได้ขออนุญาตว่าจะเข้าไปขอความรู้จากคุณเฉลียวอย่างสม่ำเสมอ โดยจะขอให้คุณเฉลียวเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟังแบบไม่ปิดบัง แม้จะพาดพิงถึงผู้คน (และผมจะไม่เปิดเผยหรือนำไปเผยแพร่ในระหว่างที่คุณเฉลียวยังคงมีชีวิตอยู่)...ซึ่งคุณเฉลียวบอกกับผมว่ายินดีจะเล่าให้ฟัง
แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ยังไม่ได้ลงมือทำ
ผมเสียดายมากที่พลาดโอกาสสำคัญที่จะได้รับรู้ถึงประสบการณ์อันมีค่ายิ่งของคนรุ่นก่อนว่าพวกท่านคิดยังไง ผ่านอะไรกันมาบ้าง กว่าจะสามารถสร้างผลงานสำคัญๆ ไว้ให้กับสังคมไทยและลูกหลาน
ผมได้ทราบว่าภรรยาของคุณเฉลียวดำริจะตั้งมูลนิธิขึ้นในนามของท่านผู้ล่วงลับ
ผมคิดว่ามูลนิธิดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดความรู้สำคัญๆ ให้กับคนรุ่นหลัง และจะเป็นบุญกิริยาอันยิ่งใหญ่ให้กับท่านผู้ล่วงลับ
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 มกราคม 2555
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2555
หมายเหตุ:
โปรดอ่านบทความที่ผมเคยเขียนถึง พ.ญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ ได้ตามลิงก์ข้างล่าง...
***คุณหมอลดาวัลย์ที่ผมรู้จัก
โปรดอ่านบทความที่ผมเคยเขียนถึง พ.ญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ ได้ตามลิงก์ข้างล่าง...
***คุณหมอลดาวัลย์ที่ผมรู้จัก