อีสานเป็นแผ่นดินกันดาร
พระเจ้าให้มาน้อย
ความอุดมสมบูรณ์ของอีสานนั้นด้อยกว่าภาคกลาง
ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก
และภาคใต้
พูดแบบนักเศรษฐกิจการค้า
ก็ต้องบอกว่าอีสานมี Endowment
น้อยกว่าภาคอื่น
ดังนั้น เพียงแค่จะดำรงชีวิตให้ดี
อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีตามสมควร
คนอีสานก็จำต้องออกแรงและใช้ปัญญามากกว่าคนอื่นหลายเท่าตัว
ยิ่งถ้าจะสร้างและสะสมความมั่งคั่งในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันด้วยแล้ว
ยิ่งจะต้องแสวงหา Competitive
Advantage อย่างยิ่งยวด
และต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนอื่นเขา
คนอีสานส่วนใหญ่จึงเป็นคนสู้งาน
หนักเอาเบาสู้ และมีความคิดสร้างสรรค์สูง
แผ่นดินอีสานเป็นที่ราบสูงและมีเทือกเขาเพชรบูรณ์กับดงพญาไฟขวางกั้นอยู่
ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านขึ้นมาทางอ่าวไทย
และถึงแม้ดินแดนแถบชายฝั่งโขงจะได้รับประโยชน์จากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านลงมาจากอ่าวตังเกี๋ย
แต่ก็ได้อยู่เพียงแถบนั้น
ทำให้แผ่นดินใจกลางอีสานซึ่งเป็นดินแดนส่วนใหญ่แห้งแล้ง
“ในฟ้าบ่มีน้ำ
ในดินซึ้ามีแต่ทราย"
สุรชัย
จันทิมาธร แห่งวงดนตรี
คาราวาน ได้เคยนำเอาบทกวีของ
นายผี หรืออัศนี พลจันทร มาร้องไว้เป็นเพลงอย่างเห็นภาพความแห้งแล้งและความอัตคัต
(บาทต่อมาของสุรชัยคือ
"น้ำตาที่ตกราย
คือเลือดหลั่งโลมลงดิน"
แต่ในต้นฉบับเดิมของนายผีเป็น
“น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม”
ซึ่งได้ตอกย้ำภาพแห่งความแห้งแล้งให้ชัดเจนยิ่งขึ้น)
ดินทราย
ดินเค็ม และดินดาน
มีอยู่เป็นบริเวณกว้างในภาคอีสาน
บางจังหวัด
เพาะปลูกยากถึงขนาดที่พลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณ
อดีตนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาจากนครราชสีมา
เคยกล่าวไว้เมื่อนานมาแล้วว่า
"ทันทีที่เอาจอบฟันลงไป
เราจะได้ยินเสียงดัง เช้ง!
และเกิดประกายไฟแลบขึ้นมาจากดิน"
เลยทีเดียว
ทุนที่ธรรมชาติให้มาน้อยดังว่านี้
ส่งผลให้คนอีสานจนกว่าคนภาคอื่น
รายได้ต่อหัวของคนอีสานน้อยกว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทยกว่าเกือบสี่เท่า
และน้อยกว่ารายได้ต่อหัวของคนกรุงเทพฯ
เกือบสิบเท่า (อีสาน
=
48,549 บาทต่อคนต่อปี
กรุงเทพและปริมณฑล =
422,141 และรายได้เฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ
=
164,512)
แต่โลกสันนิวาสย่อมมีพลวัตของมัน
ความแน่นอนจึงไม่แน่นอน
และความไม่แน่นอนย่อมแน่นอนเสมอ
การเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองของเอเชียปัจจุบันกำลังเกิดเป็นคุณกับอีสานของเรา
การขึ้นมาแบบพรวดพราดของจีน
ประกอบกับการเติบโตของชนชั้นกลางในอินโดจีน
ทั้งเขมร ลาว เวียดนาม
ล้วนส่งผลดีต่ออีสาน
อีสานจึงกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งอนาคต
เพราะจะเป็นประตูเปิดไปสู่อินโดจีนและจีนตอนใต้
ยิ่งสำหรับกลุ่มประเทศ
CLMV
ด้วยแล้ว
อีสานมีพรมแดนร่วมอยู่ถึงสองประเทศคือกัมพูชาและลาว
และอีกหนึ่งคือเวียดนามนั้นก็ห่างออกไปเพียงสองร้อยกว่ากิโลเมตรเท่านั้นเอง
โดยเฉพาะกับลาว
ซึ่งคั่นระหว่างไทยกับจีนตอนใต้อยู่เพียง
250
กิโลเมตรเท่านั้น
ก็พูดภาษาเดียวกัน
สื่อสารกันรู้เรื่องโดยไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสให้ซับซ้อนและเหินห่างเกินกว่าจะไว้วางใจกันได้โดยง่าย
ดังนั้น
เมื่อภูมิภาคเอเชียอาคเนย์รวมตัวกันเข้าเป็นเขตเศรษฐกิจร่วมหรือ
AEC
ที่
(หวังว่า)
การไปมาหาสู่กันเองของผู้คนและสินค้าในแถบนี้จะเป็นไปอย่างอิสระ
คล่องตัว และบ่อยครั้งกว่าเดิม
อีสานย่อมจะได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะมีขีดขั้นพัฒนาการที่เหนือกว่าเพื่อนบ้าน
มีสินค้าและบริการที่ครบครันกว่า
ย่อมเยาว์กว่า และทรงประสิทธิภาพกว่า
อีกทั้งยังมีความรู้ในการผลิต
(หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า
"เทคโนโลยี")
และแหล่งเงินทุน
ตลอดจนผู้ประกอบการที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์
พร้อมที่จะลงทุนเอาประโยชน์จากโอกาสที่เปิดขึ้นใหม่นั้นได้ง่าย
สะดวก และเร็วกว่านักลงทุนที่มาจากภาคอื่นหรือมาจากต่างประเทศ
เรื่องราวของอีสานจึงมีความน่าสนใจ
ทั้งในแง่ของความสำเร็จ
ล้มเหลว
ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมซึ่งมีต่อกระบวนการสร้างความมั่งคั่งของคนที่นั่น
ตลอดจนกลยุทธ์และวิธีการปรับตัวเมื่อโลกาสันนิวาสเปลี่ยนแปลงไป
อีกทั้งศักยภาพอันมหาศาลที่จะสามารถได้รับประโยชน์จากอนาคตที่เราเริ่มเห็นตัวตนอยู่แค่เอื้อมและกำลังจะเผยตัวออกมาอย่างหมดจดต่อหน้าต่อตาเราในอีกไม่ช้า
ดร.พิชิต
ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นผู้หนึ่งที่รู้เรื่องอีสานแบบทะลุปรุโปร่ง
อีกทั้งยังแม่นยำในพื้นฐานความรู้และสถิติภาพรวม
ดร.พิชิตได้ช่วยบรรยายที่มาที่ไปและพัฒนาการของอีสาน
เสมือนหนึ่งได้ช่วยฉายภาพให้เราเห็นถึงการคลี่คลายขยายตัวและการปรับตัวของอีสานสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
รวมถึงจุดอ่อน จุดแข็ง
วิธีหากินของคนเก่ง
และช่วยชี้ให้เห็นโอกาส
อุปสรรค และศักยภาพในอนาคต
ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมที่จะเอาประโยชน์จาก
AEC
ด้วย
และแน่นอน
กิจกรรมทางการเงินซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของธนาคารแห่งประเทศไทย
“การเกษตรเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของอีสาน
ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศ
ถ้าดูผลผลิตของพืชหลักๆ
อย่างข้าว มันสัมปะหลัง อ้อย
ข้าวโพด และยางพารา รวมๆ
แบบคร่าวๆ แล้วก็ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ"
เขากล่าว
และเสริมอีกว่าช่วงหลังมานี้โครงสร้างการเกษตรของอีสานเริ่มเปลี่ยนไป
เพราะมีการหันมาเน้นปลูกยางพารา
ปาล์ม และอ้อย มากยิ่งขึ้น เพราะผลตอบแทนสูงกว่าพืชหลักเดิม
แต่ด้วยความที่รัฐบาลยัง
Subsidize
การเกษตรแบบเก่า
(หมายถึงข้าว
ขาวโพด)
และความเคยชินกับการ
"อยู่ไร่อยู่นา"
ที่ถือเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวอีสาน
ทำให้การปรับตัวไปสู่โครงสร้างการเกษตรแบบใหม่ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น
แต่ถึงยังไงก็คงหนีไม่พ้น
การขึ้นมาอย่างพรวดพราดของจีนมีส่วนอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของอีสาน
จะเรียกว่าจีนช่วย "หิ้ว"
อีสานขึ้นมาในรอบเกือบสิบปีหลังมานี้
ก็ว่าได้
ดีมานด์ที่เติบโตมากของอุตสาหกรรมรถยนต์และการบริโภคน้ำตาลและแป้งมันอีกทั้งความต้องการพลังงานทดแทน
(เอทานอล)
ส่งผลโดยตรงต่อยางพารา
ปาล์ม และอ้อย
นอกจากนั้น
คนอีสานก็เริ่มหันมาปรับปรุงคุณภาพการเลี้ยงสัตว์
ทั้งไก่เนื้อ โคเนื้อ และหมู
ซึ่งผู้ประกอบการที่เก่งบางรายอย่าง
"โคขุนโพนยางคำ"
ก็ทดลองจนเห็นผลดี
โดยสามารถทำราคาตลาดเนื้อวัวตัวเองได้แพงกว่าเกือบสองเท่าของเนื้อวัวทั่วไป
ด้วยการมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพสายพันธุ์
และวิธีเลี้ยง
และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับของบรรดาร้านอาหาร
ภัตตาคาร และในหมู่ผู้บริโภค
หรืออย่างการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่ชอบดินทรายจนกลายเป็นขายตลาดบนที่โด่งดังไปทั่วโลก
อีกทั้งยังมีการทดลองปลูกทุเรียนศรีสะเกษที่ย้ายมาจากนนทบุรีและสามารถสร้างชื่อจนขายได้ลูกละหมึ่นกว่าบาทเป็นต้น
จีนเห็นความสำคัญของอีสานมากถึงขั้นที่รัฐบาลของเขาเข้ามาเหมาซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ในขอนแก่นเพื่อเปิดเป็นที่ทำการกงศุล
แสดงถึงการเข้ามาปักหลักดูแลคนและผลประโยชน์ของจีนที่ลงทุนไปแล้วในอีสาน
และที่กำลังจะลงทุนเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต
ทั้งที่นิคมอุตสาหกรรมสองแห่ง
(อุดรและขอนแก่น)
และศูนย์พักและกระจายสินค้าที่อาจจะเกิดขึ้นตามแนวรถไฟความเร็วสูงซึ่งจะลากผ่านอีสานเข้าลาวและต่อเข้าไปยังบ้านเขา
นี่ยังไม่นับหน่วยจัดซื้อพืชผักผลไม้
อาหาร และวัตถุดิบ ที่จำเป็นจากอีสาน
ซึ่งจีนมักใช้สไตล์
"เหมาซื้อล่วงหน้า"
คล้ายๆ
กับการตกเขียวสมัยก่อน
ทว่า
อุปสรรคสำคัญของอีสานคือการขนส่ง
เพราะการขนส่งทางน้ำมีจำกัด
(ไม่เหมือนภาคเหนือ)
และโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางบกยังอยู่ระหว่างการพัฒนา
ทำให้ต้นทุนขนส่งสูง
จึงไม่สามารถดึงดูดอุตสาหกรรมเข้ามาสู่อีสานได้
สิบกว่าปีมานี้
หลังจากพรรคไทยรักไทยและพรรคอนุพันธ์ของพรรคนั้นเข้ามาบริหารประเทศ
ส.ส.อีสานก็สามารถต่อรองงบประมาณได้มากขึ้น
ถนนหนทาง สนามบิน
และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ขยายตัวขึ้นแยะ
ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถต่อยอดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์อันลงตัวคือกรณีของเชียงคาน
ที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่อันเก๋ไก๋ได้
(คล้ายๆ
กับปายของแม่ฮ่องสอน)
โดยความร่วมมือของสายการบินและสภาอุตสาหกรรมของเมืองเลย
ซึ่งนำร่องด้วยการรับประกันที่นั่งขั้นต่ำให้กับเที่ยวบิน
ว่าหากมีผู้โดยสารน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้
ทางสภาอุตสาหกรรม
(ซึ่งสมาชิกผู้ก่อการยอมควักเงินลงขันกันเองคนละ
1
ล้านบาท)
จะชดเชยให้
นับเป็นก้าวแรกที่ทำให้สายการบินกล้าเปิดเที่ยวบิน
ประกอบกับการโหมโปรโมท
พร้อมกับพัฒนาจุดท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
จนประสบความสำเร็จด้วยดีในเวลาต่อมา
ถือเป็น
Case
Study
ที่น่ายกย่องและเป็นไอเดียที่น่าขโมยสำหรับเมืองอื่นที่ใกล้สนามบินซึ่งมีอยู่ทั่วไปแล้วในภาคอีสาน
ซึ่งตอนนี้ขอนแก่นกับหลวงพระบางก็นำเอาโมเดลนี้ไปทดลองใช้
เมื่อมองในแง่นี้
เราจึงเห็นได้ไม่ยากว่าโครงการรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงนับเป็นความหวังของอีสาน
เพราะมันจะช่วยพลิกจุดอ่อนในเชิง
Logistic
ของอีสานให้กลายเป็นจุดแข็ง
แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะล้มไปแล้วและโครงการ
2
ล้านล้านก็ทำท่าว่าจะเป็นหมันตามไปด้วย
แต่หากไม่ได้ลงทุนในโครงการรถไฟก็นับว่าน่าเสียดายยิ่งนัก
“ผมว่าในที่สุดโครงการแบบนี้จะต้องมา
แต่อาจจะเปลี่ยนชื่อไป
เปลี่ยนวิธี Financing
ใหม่
และผมอยากจะฝากไอเดียไปด้วย
ซึ่งผมได้คุยกับกงศุลจีน
เขาว่าวิธีที่จีนใช้วิธีร่วมลงทุนกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น
เพราะตามมณฑลต่างๆ
เขาก็พอมีรายได้อยู่
โดยถ้ารัฐบาลท้องถิ่นเห็นว่าสายนี้ๆ
สำคัญควรสร้าง
ก็จะเสนอขึ้นไปให้รัฐบาลกลางพิจารณา
ถ้ารัฐบาลศึกษาแล้วเห็นว่าจริง
รัฐบาลกลางก็สมทบเงินเพิ่มให้
เช่น 20:80
หรือ
30:70
หรืออาจจะมากกว่านั้นแล้วแต่ความจำเป็น
แต่ถ้าเป็นสายที่รัฐบาลกลางต้องการให้เกิดและรัฐบาลท้องถิ่งได้ประโยชน์ด้วย
รัฐบาลกลางก็อาจจะลงให้มากหน่อย
โครงการรถไฟความเร็วสูงของเขาจึงเกิดง่ายและเร็ว
เพราะวงเงินมันอาจไม่ใหญ่มากจนคนทั้งประเทศตกใจ"
เขากล่าวถึงวิธีการ
Financing
โครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนที่มีลักษณะคล้ายกับ
"กฐินสามัคคี"
หากเจาะลึกลงไปสักนิด
เราจะเห็นว่าคนอีสานเป็นคนเก่ง
แม้รายได้ต่อหัวจะต่ำกว่าทั่วไปกว่าเกือบ
4
เท่า
ทว่าพวกเขาก็มีวิธีหารายได้เสริมจากทางอื่น
เพราะถ้าดูจากรายได้ครัวเรือนแล้ว
ครอบครัวของคนอีสานก็หาได้น้อยไปกว่าภาคอื่นสักเท่าใดไม่
รายได้เหล่านี้มาจากเงินช่วยเหลือที่ลูกหลานส่งกลับมาให้จากการออกไปทำงานที่อื่น
และรายได้จากภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ
และที่สำคัญคือรายได้สนับสนุนจากรัฐบาล
อย่าลืมว่าอีสานมีจำนวนประชากรมาก
ทำให้มีโควต้า ส.ส.
มากไปด้วย
จึงมีอำนาจต่อรองกับทุกรัฐบาล
ทำให้งบประมาณที่จัดมาลงในภาคอีสานค่อนข้างมาก
คิดเป็นเกือบ 25%
ของ
GDP
ภาคอีสาน
เงินปันผลจากทุกรัฐบาลนับเป็นดาบสองคม
เพราะทำให้คนอีสานชอบก่อหนี้โดยไม่ระวัง
(หนี้สินครัวเรือนของคนอีสานสูงกว่าภาคอื่นทั้งหมด)
จนบางทีก็ติดเป็นนิสัย
โดยเกิดความคาดหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาอุ้มชูหรือแก้ไขให้ในที่สุด
เพราะบางทีรัฐบาลก็ยกหนี้ให้
(นโยบายยกหนี้ให้เกษตรกร)
หรือสนับสนุนให้กู้เงินตามอาชีพ
(สินเชื่อครู
เป็นต้น)
ประกอบกับนโยบายรถคันแรก
นโยบายจำนำข้าว ฯลฯ
ทำให้เกิดเป็นปัญหา Moral
Hazard แบบหนึ่ง
เหมือนกับการกด ATM
ในอนาคตมาใช้ก่อน
หรือรูดบัตรเครดิตมาใช้ก่อนและเจ้าหนี้ก็ใจดียกหนี้ให้
จึงทำให้ติดใจ กลับไปกดและรูดเรื่อยๆ
โดยไม่ระมัดระวังการใช้จ่าย
“ปัญหานี้เป็นที่น่าจับตา
เพราะถ้าพฤติกรรมแบบนี้ยังไม่เปลี่ยน
มันจะทำให้ขาดเงินออม
ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุน
และการยืนบนขาตัวเองไม่ได้ในที่สุด"
นอกจากนั้นยังมีสถาบันเงินฝากของรัฐอย่างออมสินและ
ธ.ก.ส.
ที่เข้ามาสนับสนุนเงินกู้อย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย
(4
ปีหลังนี้สถาบันการเงินประเภทนี้โตถึง
40%)
เพราะธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับภาคอีสานเพียง
800,000
ล้านบาทเท่านั้น
ทั้งๆ ที่ GDP
ของอีสานล่าสุดนั้นมีมูลค่าถึงประมาณ
1.2
ล้านล้านบาท
นั่นพอจะบอกได้ว่าอีสานพึ่งพิงรัฐบาลกลางและนักการเมืองมากเพียงใด!
แต่เมื่อหันมามองผู้ประกอบการ
"คนเก่ง"
ของอีสาน
เรากลับมีความหวัง
และเห็นได้ชัดเจนจากข้อมูลทางการเงินว่าพวกเขาทำได้ค่อนข้างดี
ข้อมูลล่าสุดเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา
จะเห็นว่าสินเชื่อรายใหญ่
(ตั้งแต่
20
ล้านบาทขึ้นไป)
ปล่อยไปให้กับผู้ประกอบการประมาณ
4-5
พันราย
รวมเป็นยอดสินเชื่อ 250,000
ล้านบาท
คิดเป็นประมาณ 30%
ของยอดสินเชื่อรวมที่ได้จากธนาคารพาณิชย์
โดยยอดปล่อยกู้สูงสุดต่อรายสูงถึง
1,200
ล้านบาทก็มี
และสินเชื่อหมวดนี้โต 24.5%
ต่อปี
และ NPL
ลดลงเรื่อยๆ
จนล่าสุดเหลือเพียง 2%
เท่านั้นเอง
พวกหัวขบวนเหล่านี้เป็นใคร?
คำตอบคือเกือบทั้งหมดเป็น
Family
Business ทำธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก
(ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าวัสดุก่อสร้าง)
ตัวแทนจัดจำหน่ายรถยนต์
ต่อรถพ่วง โรงงานแป้งมัน
น้ำตาล โรงแรมและบูติกอพาร์ตเม้นต์
อาหาร อสังหาริมทรัพย์
และโรงสีบางแห่ง
ผู้บริหารกิจการเหล่านี้บางรายเป็นคนรุ่นที่สองที่สามและได้รับการศึกษาสมัยใหม่
จึงเริ่มผลักดันกิจการของตนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพิ่มช่องทางในการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ
เช่น ช.ทวีดอลลาเชียน
และสยามโกลบอลเฮ้าส์ เป็นต้น
ในอนาคต
เราน่าจะได้เห็นผู้ประกอบการเปี่ยมศักยภาพเหล่านี้ปรากฏตัวบนเวทีธุรกิจระดับชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม
สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เกือบทั้งหมดมักกระจุกตัวอยู่แค่เพียงในเขต
4
จังหวัดสำคัญที่มีความมั่นคงมาแต่เก่าก่อน
คือ โคราช (ประตูสู่อีสาน)
อุบลราชธานี
(พืชผลเกษตร)
อุดรธานี
(ฐานทัพอเมริกันเก่า)
ขอนแก่น
(มหาวิทยาลัยและศูนย์ราชการ)
และมุกดาหาร/นครพนม
ซึ่งเริ่มเติบโตขึ้นมาในระยะหลังในฐานะประตูสู่
CLV
(กัมพูชา
ลาว และเวียดนาม)
รวมทั้งเขตที่มีการกระจายตัวของเมือง
(Urbanization)
รอบๆ
ศูนย์กลางทั้ง 5
นั้น
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่รัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาเสริมโดยผ่านสถาบันการเงินพิเศษอย่างธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ทว่าความขาดแคลน
บางทีก็เป็นที่มาของความคิดสร้างสรรค์
“คนมีฐานะบางคนเห็นโอกาสนี้
ก็ผันตัวเองมาเป็นผู้ให้กู้นอกระบบ
ยกตัวอย่างเช่นรายหนึ่งที่จังหวัดร้อยเอ็ด
สามารถขยายตัวเปิดสาขาไปถึง
5
จังหวัดและมีวงเงินปล่อยกู้กว่าพันล้านบาท
โดยมีการระดมทุนมาจากพรรคพวกเพื่อนฝูงที่เป็นหมอบ้างหรือเป็นคนมีฐานะบ้าง"
น่ันเป็นตัวอย่างของ
Merchant
Bank สไตล์อีสานๆ
น่ายินดีตรงที่โลกสันนิวาสในเชิง
Geopolitics
ของเอเชียกำลังส่งผลบวกต่ออีสาน
การเติบโตของลาว กัมพูชา
เวียดนาม และจีนตอนใต้
ส่งผลให้เมืองใหม่ๆ
ในอีสานเติบโตไล่กวดเมืองศูนย์กลางเดิม
Star
เหล่านี้ได้แก่มุกดาหาร
นครพนม หนองคาย เลย และสกลนคร
และเมื่อการรวมตัวของภูมิภาค
AEC
เกิดเป็นมรรคผลเต็มที่ในอนาคต
โอกาสที่จำนวนจุดผ่านแดนจะมากขึ้นและสะดวกขึ้นก็ย่อมต้องมีแน่
เมื่อนั้นการค้าและการลงทุนจากไทยผ่านอีสานเข้าไปในลาว
กัมพูชา และเวียดนาม
คงจะเป็นมรรคเป็นผลและให้ประโยชน์กับเราอย่างเป็นกอบเป็นกำ
ต่อประเด็นนี้
ดร.พิชิต
ได้ให้ไอเดียที่น่าสนใจมากว่า
ถ้าเรารู้จักเก็บบทเรียนจากอดีตในยุคสงครามเย็น
ที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้
เคยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นความลับจากฝรั่ง
(กระทั่งปากีสถานที่สามารถผลิตปรมาณูได้)
ก็เพื่อให้เป็นกันชนของค่ายโลกเสรีเพื่อไปต่อกรหรือคานอำนาจกับโลกคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้
นับเป็นสงครามตัวแทน
(Proxy
War) รูปแบบหนึ่ง
ทว่านับแต่นี้ไป
เราทราบค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่าดินแดนแถบนี้กำลังจะกลายเป็นพื้นที่
"ชิงดำ"
ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น
(โดยมีฝรั่งกับจีนซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย)
ดังนั้น
"ถ้าเราเล่นเป็น"
โดยการสร้างอิทธิพลในแถบนี้แล้วต่อรองกับเจ้าของเทคโนโลยี
เราอาจได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะทำให้การผลิตของเราก้าวหน้าขึ้นและผลกำไร
(Profit
Margin) สูงขึ้นได้อย่างแน่นอน
“แทนที่จะกินเศษเนื้อก้อนเล็กๆ
แบบในปัจจุบัน"
ทั้งหมดทั้งมวลนั้น
อีสานย่อมเป็นสปริงบอร์ดชั้นดี
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน ม.ค. 57
หมายเหตุ: รูปประกอบจาก http://www.pixpros.net/forums/showthread.php?t=73446&page=2