วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ไอ้เสมา หัวหมู่ทะลวงฟันแห่งยุคเศรษฐกิจใหม่



ปี 2554 เป็นปีที่ผู้คนซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำสามารถสั่งตัดเสื้อจากต่างประเทศ ตัดกางเกง ตัดรองเท้า สั่งเย็บกระเป๋าด้วยมือ เย็บสมุดบันทึกหุ้มหนังชั้นดีด้วยมือ พร้อมสลักชื่อย่อโดยการตอกลิ่มอักษรโบราณลงบนแผ่นปก หรือสั่งให้ช่างทองในต่างประเทศสลักชื่อย่อลงบนเหรียญทองคำหรือเหรียญเงินสวิส 99.99% หรือแม้กระทั่งส่งเครื่องเสียงระดับ Hi-End ไปซ่อมกับช่างมือดีของโลกได้ โดยไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน หรือรู้จักกันเป็นการส่วนตัว ที่สำคัญคือสามารถซื้อได้ในราคาย่อมเยาว์กว่าแต่ก่อนมากนัก

บริการ Exclusive! เหล่านี้ สมัยก่อนจะสงวนไว้กับเศรษฐีหรือบรรดาเจ้าผู้ปกครองที่มีเงินและอำนาจวาสนาเท่านั้น 

อย่ากระนั้นเลย แม้เพียง 20 กว่าปีก่อน เพื่อนฝูงที่เป็น Investment Banker นิยมตัดเสื้อเชิ้ตแล้วปักชื่อย่อที่โคนแขนหรือมุมกระเป๋า ยังต้องไปตัดกันที่ลอนดอนหรือฮ่องกง ก่อนที่ร้านแถวซอยร่วมฤดีจะให้บริการแบบนั้นบ้าง และผู้ครอบครองเครื่องเสียงหลอด McInosh รุ่นสะสมเช่น MC275 หรือ MC240 หากต้องการจะส่งเครื่องไป Overhaul ใหม่ ด้วยมือช่างผู้ชำนาญ พร้อมเครื่องไม้เครื่องมือทดสอบและตั้งค่าให้เหมือนกับตอนออกจากโรงงานใหม่ๆ จะต้องเสียค่าบริการพิเศษเทียบแล้วเกือบเท่ากับซื้อเครื่องใหม่ได้อีกเครื่องหนึ่ง และต้องเสียเวลารอคอยเครื่องไปกลับกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก ร่วมสองเดือน นี่ยังไม่นับ Patek Philippe ที่ต้องส่งกลับไปล้างถึงสวิตเซอร์แลนด์โน่น

แน่นอน ราคาสินค้าและบริการที่ถูกชาร์ตย่อมสุดที่คนส่วนใหญ่จะเอื้อมถึง!

สังคมในยุคของ Mass Production ซึ่งการผลิตสินค้าและบริการเป็นแบบเหมาโหล หรือผลิตครั้งละมากๆ เพื่อให้ต้นทุนต่ำและสามารถจัดสายการผลิตได้ง่ายและทรงประสิทธิภาพกว่าการผลิตทีละชิ้นนั้น เมื่อลูกค้าหรือผู้บริโภคดันมีความต้องการแบบเฉพาะเจาะจง เช่นอยากได้ของหรือบริการพิเศษที่มีเพียงน้อยชิ้นหรือเพียงชิ้นเดียว ย่อมต้องจ่ายค่าผลิตให้เป็นพิเศษเพียงไม่กี่ชิ้นนี้ด้วยราคาสูงมาก เพื่อให้คุ้มกับค่า Set-up และค่าเสียเวลา ซึ่งเป็นแนวคิดการตั้งราคาของระบบธุรกิจในยุค Mass Production ที่ต้องให้การผลิตหน่วยแรกนั้นครอบคลุม Fixed Cost และ Variable Cost แล้วค่อยบวกอัตรากำไร เข้าไปให้เพียบพร้อมเลยทีเดียว


การผลิตครั้งละมากๆ จะสามารถกระจาย Fixed Cost และ Variable Cost ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของสินค้าและบริการแต่ละหน่วยต่ำลง ดังนั้น ยิ่งผลิตได้เต็มกำลังผลิตของเครื่องจักรหรือการ Set-up แต่ละครั้ง ต้นทุนก็ยิ่งจะถูก...นักธุรกิจและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จยุคนี้จำต้อง คิดใหญ่” และ “ทำใหญ่” ไปโดยปริยาย

เพราะภาวะการณ์บังคับเชิงการผลิตเช่นนี้ (หมายถึงการจัดการผลิตแบบ Mass Production) ย่อมส่งผลให้ระบบธุรกิจจำเป็นต้องนำกลยุทธ์ Mass Marketing และ Mass Advertising มาใช้ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการบริโภคแบบ Mass และแบบ Monoculture คือกินใช้อะไรเหมือนๆ กัน เพื่อจะได้ช่วยดูดซับสินค้าและบริการเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะสดสวย และระบบทุนนิยมก็จะดำเนินไปโดยไม่ติดขัด

ดังนั้น การตัดเสื้อผ้าใส่เอง ในยุคของห้างสรรพสินค้าและ Mass Advertising ที่เน้น Big Brands, National Brands, และ Global Brands เช่น “เอกลักษณ์ของเอกบุรุษ” และจัดจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วประเทศเหมือนๆ กัน โดยมีให้เลือกเพียงไม่กี่แพทเทรินและไม่กี่ขนาด s,m,l,xl จึงเป็นเรื่องล้าสมัย หรือไม่ก็เป็นเรื่อง Hi-End สำหรับเศรษฐีไปเลย

ช่างฝีมือย่อมหาที่ยืนในสังคมได้ยากยิ่ง เพราะตลาด Hand Made ที่ต้องอาศัยเวลา และการผลิตด้วยใจรัก ต้องทำแบบ "แต่ละคน ทีละคน ไม่เหมือนกัน" และต้องปราณีตด้วยศิลปะอันสืบเนื่องมาหลายชั่วคน ย่อมหดเล็กลงด้วยประการทั้งปวง

ผู้บริโภคในยุคนี้ ก็ยากที่จะมีปากมีเสียง เพราะจะถูก Bombard โดยการโฆษณาผ่าน Mass Media ให้เกิดความอยากและความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ ด้านเดียว โอกาสที่จะเข้าร่วมออกความคิดหรือเสนอความเห็นเกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้นๆ มีน้อยมาก เพราะโอกาสที่จะเข้าถึง Mass Media ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก อย่างเก่งก็มารวมตัวกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์เพื่อกดดันรัฐบาลและผู้ผลิต เช่นชมรมหรือองค์กรผู้บริโภคต่างๆ ซึ่งได้ผลมั่ง ไม่ได้ผลมั่ง ไปตามเรื่องตามราว

แต่จู่ๆ ก็เหมือนฟ้าบันดาลให้เกิดอินเทอร์เน็ตขึ้น! ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป



ยุคฟื้นฟูงานช่างและงานศิลป์


การแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์และบล็อกและไมโครบล็อกและเว็บบอร์ดและแทปเล็ตแอ็พพลิเคชั่นและสมาร์ทโฟนแอ็พพลิเคชั่นและอินเทอร์เน็ตโฟนและยูทิว ตลอดจนเครือข่ายสังคมอันหลากหลาย ทำให้พลังของ Mass Media ลดทอนลงไป และเกิดสื่อเฉพาะหรือ Niche Media ขึ้นทั่วไปราวดอกเห็ด

Niche Media ที่ว่านี้ ช่วยให้คนที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันมารวมตัวกันได้ มามีปฏิสัมพันธ์ มาสังสรรค์ทางความคิดกันได้ตลอดเวลา ทำให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้คนที่เป็นคนเล็กคนน้อย ซึ่งเคยแอบซ่อนอยู่ตามซอกหลืบของสังคม กลายเป็นพลังต่อรองที่สำคัญขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกประเทศและทุกเรื่องราว

จุดนี้ทำให้อำนาจต่อรองของผู้บริโภคสูงขึ้นโดยปริยาย

นอกจากนั้น ความเห็นของพวกเขากันเอง ยังส่งอิทธิพลต่อกันและกันอย่างมีนัยยะสำคัญอีกด้วย นักการตลาดระดับโลกยอมรับกันแล้วว่า “ความเห็นของเพื่อนบนอินเทอร์เน็ต” ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเร้าอารมณ์ และกระตุ้นความอยาก และตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการแหล่งสำคัญในปัจจุบัน

“การเจาะแจะกัน” บน Facebook หรือ Twitter หรือเครือข่ายสังคมอื่นและตามเว็บบอร์ดต่างๆ ย่อมสำคัญต่อการ Form Opinion ของผู้คนสมัยนี้

จุดนี้ทำให้พลังของ Mass Advertising ที่เน้นการกรอกหูกรอกตาผู้บริโภคแต่ฝ่ายเดียว ลดทอนลงไป

ย่ิงไปกว่านั้น อินเทอร์เน็ตยังทำให้โครงสร้างการผลิตแบบ Mass Production แตกกระจายออก เพราะมันทำให้ผู้บริโภคสามารถค้นพบผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยได้โดยตรง พวกเขาเหล่านั้นในอดีต ไม่มีทุนหรือทรัพยากรเพียงพอที่จะเข้าถึงตลาดระดับกว้างและ Mass Media ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อเกิดอินเทอร์เน็ตและ E-commerce Platform ต่างๆ พวกเขาย่อมสามารถ “เข้าถึง” ตลาดได้ทั่วโลก

อำนาจเหนือตลาด หรืออำนาจผูกขาดของผู้ผลิตรายใหญ่ย่อมลดทอนลง ทำให้เกิดช่องว่าง และผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยที่มีฝีมือและทักษะ ตลอดจนช่างฝีมือที่เคยอยู่ในสังกัดผู้ผลิตรายใหญ่ แตกตัวออกมาเป็นอิสระ และจัดการผลิตของตัวเอง กระจัดกระจายไปทั่วท้องตลาด ถ้าเราเปิดดูเว็บไซต์อย่าง www.etzy.com หรือ www.artfire.com เราก็จะเจอกับผู้ผลิตที่เป็นช่างฝีมือรายเล็กรายน้อยที่มากันจากทั่วทุกมุมโลก และมีสินค้าเก๋ๆ ให้เลือกเป็นล้านๆ ชิ้น ล้านๆ แบบ

หรืออย่าง www.sparkfun.com นั้นก็เป็นที่รวมของบรรดา Nerd และผู้ชมชอบงาน D-I-Y ทั้งหลาย ได้มาพบปะกัน อวดของกัน แลกของกัน และซื้อขายกัน คล้ายๆ คลองถมหรือบ้านหม้อในสมัยก่อน

ส่วนผู้ชมชอบแฟชั่นและการแต่งกายเก๋ๆ ย่อมต้องมีศูนย์รวมอยู่บน Cyberspace เช่นกัน www.boticca.com, www.kaboodle.com, wwwknickerpicker.com, www.modcloth.com, www.storrz.com, www.garmz.com, www.polyvore.com เว็บไซต์เหล่านี้กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการแฟชั่นโลก

แม้แต่ผู้บริโภคที่พอมีทักษะหรือครอบครองปัจจัยการผลิตอยู่บ้าง ก็ได้กลายเป็นผู้ผลิตหรือผู้ขายไปในยุคอินเทอร์เน็ตนี้

เว็บท่าอันทรงพลังอย่าง www.ebay.com ก็เริ่มขึ้นจากการเอาของสะสมที่ภรรยาของผู้ก่อตั้งนำมาโพสต์ขาย  

ผมเองเคยตามหาหนังสือ คนจมน้ำตายที่รูปหล่อที่สุดในโลกและเรื่องเล่ามหัศจรรย์ทั้งห้า” ที่ แดนอรัญ แสงทอง แปลมาจากต้นฉบับของ เกเบรียล การ์เซีย มาร์เคซ ซึ่งผมตามไปทางไหนก็ไม่เจอ จะเจอๆ ก็มีคนมาซื้อตัดหน้าไปเสียก่อน ทว่าสุดท้าย ผมกลับพบมันบนเว็บไซต์ขายหนังสือเก่าเล็กๆ ที่ชื่อ www.tortaobooks.com และเมื่อพลิกเห็นลายเซ็นของเจ้าของเดิม ผมก็รู้ทันทีว่าเจ้าของเว็บไซต์นั้น เธอนำหนังสือเธอออกมาขายเอง...เพียงแค่นี้ก็นับเป็นธุรกิจได้

หรืออย่าง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นั้นผมเองก็ตามหามานาน และไม่เคยได้เล่มที่สภาพดีพอสำหรับนำมาสะสมเลย ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือไม่รู้กี่ครั้ง ในรอบหลายปี สอบถามไปตามสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ และร้านหนังสือ Chain Store ใหญ่ๆ ที่มีไม่กี่แห่งและผูกขาดการค้าหนังสือไว้ในมือ ก็ไม่เคยหาเจอ แต่ผมกลับมาหาเจอบนเว็บไซต์ขายหนังสือเก่าที่ชื่อ www.lovesiamoldbok.com เมื่อไม่นานมานี้

เว็บไซต์ประเภทนี้ หากมีจำนวนมากขึ้น มันก็จะเปลี่ยนโครงสร้างของการค้าหนังสือเก่า ซึ่งเคยผูกขาดอยู่ในมือของพ่อค้าไม่กี่รายที่สวนจตุจักรเป็นต้น

ตัวอย่างทำนองนี้ยังมีอีกมากในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่นเพื่อนผมคนหนึ่ง เป็นผู้ครอบครองเครื่องเสียงโบราณยี่ห้อ McIntosh รุ่น MC275 ที่บังเอิญ Output Transformer เสียไปข้างหนึ่ง เขาไม่สามารถหาอะไหล่มาเปลี่ยนได้เลยเป็นเวลาหลายปี จนอยู่มาวันหนึ่ง เขาได้เข้าไปเป็นสมาชิกของ www.audiokarma.com ซึ่งเป็นเว็บของผู้รักเครื่องเสียงทั่วโลก แล้วไปโพสต์ความเห็นไว้ในเว็บบอร์ด

เท่านั้นเอง ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมโลก และได้นำเขาไปสู่ www.mcintoshaudio.com ซึ่งเจ้าของเว็บเป็นอดีตช่างผู้ชำนาญของโรงงาน McIntosh ในสมัยที่ยังรุ่งเรืองสุดขีด ปัจจุบันเกษียณแล้ว และเปิดเว็บไซต์อยู่กับบ้าน รับซ่อมและ Restore เครื่องเสียงหลอดยุคทศวรรษที่ 40-70 ด้วยความรู้ความชำนาญและเครื่องไม้เครื่องมือ ตลอดจนอะไหล่ของยุคนั้น จนต่อมาก็เริ่มรับฝากขายจนกลายเป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนเครื่อง McIntosh รุ่นเก่าใหม่ นอกเหนือไปจากการเป็นศูนย์อะไหล่และศูนย์บริการที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับ www.audioclassics.com ที่ก่อเป็นลูกหลานของผู้ร่วมก่อตั้งคนหนึ่งของ McIntosh Laboratory เมื่อครั้งกระโน้น

หรืออย่าง eBay Bullion Center ที่เพิ่งเปิดตัวขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ เพื่อให้บริการซื้อขายทองแท่ง เงินแท่ง และเหรียญทองคำ สำหรับนักลงทุนและคนทั่วไป ก็ประกอบด้วยผู้ผลิตขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนมาก ย่อมกระทบต่อโครงสร้างการค้าทองโลกไม่มากก็น้อย หากศูนย์ซื้อขายนี้เกิดฮิตติดลมบนขึ้นมาในอนาคต

ปรากฎการณ์เช่นนี้ ทำให้การจัดการปัจจัยการผลิตของสังคมและพลังการผลิตของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ความสำคัญของการจัดการผลิตแบบ Mass Production จะลดลง และอำนาจของ Mass Market Players ก็จะอ่อนแรงลงด้วย เกิดช่องว่างให้การจัดการผลิตแบบ Non-Mass Production หรือ Craft Production ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงการผลิตที่มีมาแต่เก่าก่อน ก่อนยุค Mass Production ได้กลับฟื้นฟูคืนชีพขึ้นมาทั่วทุกหัวระแหง

เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะทอดตาไปทางใด เราย่อมเห็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ SMEs หน้าใหม่ และสินค้าหัตถกรรม สินค้า Hand-Made หรือสินค้าอุตสาหกรรมเฉพาะ ประเภท Niche Products ทั้งที่ต้องอาศัยทักษะหรือศิลปะและใช้เทคโนโลยีระดับสูง หรือทั้งแบบผสมผสานกัน ได้รับความนิยมขึ้นมาในแทบทุกอุตสาหกรรม และจากแทบทุกภูมิภาคทั่วโลก



สู่ยุคงานฝีมือและทุนนิยมก่อนยุคเหมาโหล

อินเทอร์เน็ต จะช่วยให้เราย้อนกลับไปสัมผัสบรรยากาศของตลาดน้ำอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เราจะได้เห็นสินค้าและบริการในยุคนั้นกลับคืนมา แต่ด้วยประยุกต์ศิลปและเทคโนโลยีการผลิตที่ทรงประสิทธิภาพและสอดคล้องกับรสนิยมของปัจจุบันยิ่งขึ้น

เราจะได้เห็นสินค้าและบริการที่เคยวางขายตามตลาดบกและตลาดน้ำในยุคนั้นโพสต์อยู่ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้ามันได้รับความนิยมขึ้นอย่างเป็นสากล ก็ย่อมทำให้การจัดโครงสร้างการผลิตเปลี่ยนไปด้วย

เราอาจได้เห็นภาวะเฟื่องฟูของหมู่บ้านปั้นหม้อ หมู่บ้านช่างทอง หมู่บ้านสัมพันนี (ทำขนมและตีเหล็ก) หมู่บ้านตะเคียนทอง (ต่อเรือ) บ้านช่างหล่อ (หล่อพระ) บ้านบาตร บ้านช่างไม้ บ้านช่างปูน บ้านช่างเหล็ก บ้านช่างเฟอร์นิเจอร์ บ้านอ้อย บ้านน้ำตาล บ้านกะปิ บ้านเคย บ้านอุกระแช่ บ้านน้ำผึ้ง บ้านสมุนไพร บ้านสบู่ บ้านหมวก บ้านผ้าไหม บ้านเซรามิก บ้านเย็บหนัง บ้านหมอนวด และ ฯลฯ กระจายกันไปเป็น Cluster การผลิตและการจำหน่าย ในทุกจังหวัด ทั่วประเทศ

อินเทอร์เน็ตอาจทำให้บรรยากาศแบบนี้กลับคืนมา ใน Cyberspace

แม้อินเทอร์เน็ตจะเป็นสัญญลักษณ์ของความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด แต่ตัวมันกลับเปิดโอกาสให้เราถอยหลังเข้าคลอง ให้เราสามารถย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่ Mass Production จะอุบัติขึ้นบนโลก

อุปมาเหมือนดั่งนั่ง Time Machine ย้อนเวลากลับไปก่อนยุคเครื่องจักรและโรงงาน กลับไปก่อนยุค Model T ของ Henry Ford ก่อนยุคเครื่องจักรไอน้ำของ James Watt แม้กระทั่งกลับไปหาซื้อเครื่องลายครามที่ชนชั้นสูงสุโขทัยในยุคพ่อขุนรามคำแหง เคย Import มาจากจีน โดยต้องรอคอยรอบสำเภาเป็นปีๆ แต่สามารถสั่งผลิตเป็นแบบเฉพาะ และส่งคำสั่งซื้อขายกันในปัจจุบันได้ เพียงคลิกเม้าส์และจัดส่งผ่าน EMS หรือ Courrier Services ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

จะว่าคนทั่วไปสมัยนี้มีความเป็นอยู่ดีกว่าเศรษฐีคหบดีสมัยโน้น และเศรษฐีสมัยนี้มีความเป็นอยู่ดีกว่าเจ้านายสมัยโน้น ก็ว่าได้

สมัยเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอรายและวัดบวรนิเวศน์ ก่อนเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ นั้น พระองค์ทรงสั่งหนังสือภาษาอังกฤษจากต่างประเทศมาทรงอยู่เป็นประจำ โดยทรงวานผ่านสังฆราชปาชเลอกัวซ์บ้าง หรือสั่งโดยตรงบ้าง ซึ่งบางเล่มต้องรอเป็นปีๆ กว่าจะได้ทอดพระเนตรก็มี

ขอให้ผู้อ่านลองเปรียบเทียบกับการสั่งหนังสือผ่าน amazon.com ในปัจจุบันดู โดยเราก็ยังสามารถสั่งให้ผู้ขายพิมพ์หนังสือเก่าโบราณที่ร้างการพิมพ์ไปแล้วเป็นเวลานานแสนนาน เอากลับมาพิมพ์เป็นการเฉพาะเพียงเล่มเดียวในโอกาสนี้ เพื่อขายให้เราได้ด้วย

เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ Printed-on-Demand และอินเทอร์เน็ตช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้นแยะ

ผมลองหาข้อมูลดูคร่าวๆ ว่าระยะเวลานำเข้าและส่งออกสินค้าของไทยเรากับยุโรปในกาลก่อนนั้นต้องอาศัยเวลาช้าเร็วอย่างไร ก็พบว่า สมัยเมื่อแรกมีเรือกลไฟหลังขุดคลองสุเอซแล้ว การเดินทางไปกลับยุโรปต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน รวมเวลาขนถ่ายสินค้า และหยุดพักตามสมควร

แต่เมื่อย้อนกลับไปก่อนสมัยเรือกลไฟและคลองสุเอซ เอาแค่ต้นรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗ นั้นต้องใช้เวลาถึงปีถึงปีครึ่งเป็นอย่างน้อย

นั่นเพียงแค่ยุคปลายรัชกาลที่ ๑ เอง ตรงกับสมัยจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส พระเจ้าจอร์จที่สามแห่งกรุงอังกฤษ และโทมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และปีนั้น เอมมานูเอล คานท์ เสียชีวิตที่โครนิสแบก แคว้นปรัซเซียตะวันออก และเบโธเฟนได้แต่งซิมโฟนีหมายเลข 3 (Eroica) โดยนำออกแสดงครั้งแรกที่ Theaterander Wien กลางกรุงเวียนนาเมื่อวันที่ 17 เมษายน ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่เดือน หมอบรัดเลย์ก็เกิด (18 กรกฎาคม) และตามมาด้วยพระประสูติกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (18 ตุลาคม)

หรือว่าจะย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นสักร้อยปี เราก็พอรู้ว่าคณะทูตของสมเด็จพระนารายณ์นั้นใช้เวลาเดินทางไปกลับ อยุธยา-ปารีส และ ปารีส-อยุธยา/ลพบุรี ถึง 1 ปี 9 เดือน และการเดินทางของข่าวสารก็ใช้เวลาหลายปี อย่างเรื่องคณะทูตคณะแรกหายสาบสูญเพราะเรืออัปปางไปแถวแหลมกู๊ดโฮปนั้น กว่าจะรู้ก็ปาเข้าไปถึง 3 ปี เป็นต้น

และแม้จะไม่มีใครสามารถบ่งชัดลงไปได้ว่า International Trade เมื่อครั้งบรมสมกัลป์ มันมี pattern เป็นไฉนกันแน่ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจต้องใช้จินตนาการเข้าช่วยค่อนข้างมากจึงพอเดาได้บ้าง แต่ทว่า สำหรับท่านกะปิตันวาสโกดากามาแห่งปอร์ตุเกสแล้ว พวกเรารู้ค่อนข้างแน่ชัดว่า ท่านใช้เวลาเดินทางไปกลับโปรตุเกส-อินเดีย (รวมเวลาโอ้เอ้อยู่ด้วย) ประมาณ 2 ปี

นั่นเป็นช่วงเดียวกับที่พ่อขุนรามคำแหงยังครองราชย์อยู่ที่กรุงสุโขทัย

เรารู้อีกว่าโปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาค้าขายกับไทยในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา เข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2054 และพวกเขาใช้เวลาไปกลับแต่ระรอบในราว 3 ปี

สินค้า Export สมัยโน้น ย่อมเป็นวัตถุดิบเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ครั่ง ไม้หอม ไม้จันทร์ หมาก กรอก ฝาง ดินประสิวดำ ดินประสิวขาว ดีบุก และงาช้าง ส่วนสินค้า Import นั้นมักจะเป็นสินค้า Luxury เช่นเครื่องถ้วยชามจากจีน แพรจากอินเดียและเปอร์เซีย และเครื่องศาสตราวุธจากฝรั่ง เช่นปืน และสุพรรมถัน เป็นต้น (หรืออาจมีชาและนำ้ตาล ซึ่งก็เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในสมัยโน้นเช่นกัน)

นี่ยังไม่นับสมัยก่อนหน้านั้น ที่ฝรั่งยังมิได้เข้าควบคุมเส้นทางเดินเรือก่อนยุคของกะปิดตันวาสโกดากามา ซึ่งการขนสินค้าจากไทยไปยุโรปต้องผ่านทะเลแดง แล้วขึ้นบกผ่านคอคอดสุเอช แล้วลงเรืออีกทีที่ฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน (ช่วงนี้บางทีพ่อค้าเปอร์เซียหรืออินเดียก็ใช้วิธีถอดเรือออกเป็นชิ้นๆ ขึ้นต่างอูฐในกองคาราวาน แล้วกลับไปประกอบเป็นเรืออีกที) แล้วแล่นเข้าทะเลบอลติก เพื่อมุ่งสู่มหานครเวนิส ศูนย์กลางการค้าและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ณ เวลานั้น

หรือถ้าไปทางจีนย่อมต้องขนไปตามเส้นทางสายไหมดังที่รู้ๆ กันอยู่.....

แน่นอน อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีการขนส่งสมัยใหม่ได้ช่วยขจัดอุปสรรคของการค้าระหว่างประเทศยุคเก่า (ดังตัวอย่างที่ยกมานั้น) ไปจนหมดสิ้นแล้ว

ดังนั้น แม้อินเทอร์เน็ตจะช่วยให้เราย้อนกลับไปสู่ยุคก่อน Mass Production แต่ก็เป็นการย้อนกลับไปอย่างคนยุคนี้ คือย้อนเข้าไปในอดีตพร้อมกับโทรศัพท์มือถือ ไปพร้อมกับคอมพิวเตอร์ ไปพร้อมกับกล้องดิจิตอลและ Wifi และไปพร้อมกับ Ebay.com, Etsy.com, Artfire.com, Amazon.com, Google.com, Tarad.com และไปพร้อมกับ FedEx, UPS, และ DHL ที่ช่วยให้การซื้อขายเกิดขึ้นได้ในพริบตาและการส่งมอบเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่วัน ไม่ว่าคุณจะอยู่แห่งหนตำบลใดบนพื้นผิวโลก

สิ่งสำคัญคือบรรยากาศแบบก่อน Mass Production ที่ผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีปฏิสัมพันธ์กัน มีการเจาะแจะกัน มีการเม้าส์กันตามตลาดและตามร้านกาแฟ ก่อนจะตัดสินใจซื้อขายแลกเปลี่ยนอะไรกันสักอย่าง ก็จะกลับคืนมาด้วย

ผมอยากจะจบบทความนี้ด้วยจินตนาการอันบรรเจิดของ ไม้เมืองเดิม ที่วาดภาพตลาดของอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้อย่างงดงามน่าชม ซึ่งผมเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตและ Social Networks และ Search Engines จะช่วยรื้อฟื้นให้มันกลับมาอีกครั้ง...ดังนี้

“อันกำแพงพระนครศรีอยุธยานั้น ที่ตำบลย่านร้านตลาดขายของสรรพของเป็นร้านชำ และตลาดขายของสดทั้งเช้าเย็น โดยประมาณสี่สิบตำบลด้วยกัน แลเฉพาะย่านป่าไหม ถนนซีกหนึ่งขายไหมครุยไหมฟั่น ไหมเบญจพรรณ ส่วนอีกฟากถนนหนึ่งเป็นย่านป่าเหล็ก ขายดาบและมีด พร้า จอบ เสียม ตะปู ปลิงบิยหล่าทั้งโรงเหล็กอึงคนึง มีตลาดขายของสดเช้าเย็น อันเรียกว่าตลาดสะพานหน้าคู มีของสดทั้งผลไม้แปลกอย่าง

และยามเช้าติดตลาด ผู้คนก็จอแจมาซื้อของด้วยเป็นยามศรีอยุธยาสิ้นศึก ตลาดสะพานหน้าคูเพ่ิงจะติดอีก จึงมีชาวเมืองพากันมาซื้อของหลากหลาย ทั้งนางทาส และนางไท มีบ่าวตามกระเดียดของที่มี เหล่าแม่เพื่อนก็เดินคู่สนทนาระรื่นสนุกสรวลเสทั้งข้าวของขายถูกขายดี บรรดาแม่ค้าที่นั่งร้านก็ยิ้มแย้ม ปราศรัยเป็นที่สนุกสำราญ...” (อ้างจาก “ขุนศึก” เล่ม 3 หน้า 33-34 สำนักพิมพ์บรรณาคาร)

ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบคุณหญิงคุณนายและพวกไฮโซสมัยนี้ที่มีแม่บ้านพม่าหรือไทยใหญ่ติดสอยห้อยตามแถวเอ็มโพเรียมหรือสยามพารากอน

และบรรยากาศในโรงงานเล็กๆ ของช่างฝีมือก่อนยุค Mass Production ที่ว่า

“หน้าเตาเพลิงต่อหน้าพระเพลิง ซึ่งเผาเหล็กแท่งจนแดงดังถ่าน บรุษช่างเพิ่งหนุ่มเหงื่อเต็มหน้าตลอดแขนเกร็งด้วยกล้ามเนื้อ ยังบีบคีมจับแท่งเหล็กซึ่งโชนแล้วคาทั่งอยู่ กัดฟันไม่รู้สึกแก่ตัวเอง ฟังอีกบรุษหนึ่งที่มาจ้างพ่อตีดาบ....” (อ้างจาก “ขุนศึก” เล่ม 1 หน้า 2)

คนอย่างไอ้เสมา “บรุษช่างหนุ่ม” ผู้นี้แหละ ที่จะเป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจใหม่หรือ New Economy ของโลกที่ย้อนกลับไปให้ความสำคัญกับการผลิตในแบบ Craft Production เพราะ “เหล็กแท่งที่แดงดังถ่าน” ที่เขากำลังคีบตีอยู่นั้น อาจมิใช่ดาบที่จะนำไปต่อกรกับพม่าข้าศึก แต่มันอาจจะเป็น มีด ทัพพี ช้อน ซ่อม แบรนด์เนมชั้นยอดที่กำลังจะเดินทางไปอยู่บนโต๊ะอาหารในย่าน Park Avenue หรือ Bay Area หรือ Mayfair หรือ Saint German หรือ Puerta del Sol หรือเขตกู่เป่ยและจินเฉียวในซ่างไห่ หรือ Repulse Bay หรือ Victoria Peak ในฮ่องกง หรือในบ้านหรืออพารต์เม้นต์หรือรีสอร์ตของนักการเงิน ดีไซด์เนอร์ โปรแกรมเมอร์ และเศรษฐีรุ่นใหม่ของโลก

และคำสั่งซื้อของ “อีกบรุษหนึ่งที่มาจ้างพ่อตีดาบ” นั้น เป็นออร์เดอร์ที่สั่งตรงมาทางออนไลน์

นั่นจึงเป็นโอกาศอันสำคัญยิ่งของผู้ประกอบการไทยยุคใหม่ ที่จะเอาประโยชน์จากเทรนด์แห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลกอันนี้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
18 กรกฎาคม 2554
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2554




***โปรดคลิกอ่านบทความของผมเรื่อง "สร้าง "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ในความเห็นผม"