วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

สร้าง "เศรษฐกิจสร้างสรรค์"...ในความเห็นของผม



ในความเห็นของผม "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" หรือ "Creative Economy" คือ 7 เรื่องราวดังต่อไปนี้...ถ้าเราตีประเด็นนี้แตก อนาคตของลูกหลานก็ยังพอมี ที่จะลืมตาอ้าปากอยู่ได้ในระบบทุนนิยมโลก ไม่เช่นนั้น เห็นทีจะต้องไปสมัครเป็นลูกน้องจีนและอินเดีย เพราะทำโรงงานแข่งกับเขาไม่ไหว (หลังจากที่คนรุ่นพ่อแม่อย่างพวกผมเคยเป็นลูกน้องฝรั่งและญี่ปุ่นกันมาแล้ว)


1. ถ้อยคำ

ในยุคโพสต์โมเดร์น ผู้ประกอบการแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้วนต้องผลิต สร้าง ประกอบ ประดิษฐ์ประดอย ตกแต่ง แต่งเติม พลิกแพลง และส่งออก “ถ้อยคำ” เพราะ “ความคิดสร้างสรรค์” จะสำแดงตัวตนออกได้ด้วย “คำ” “วลี” “ประโยค” และ “เรื่องราว”

“กาลครัั้งหนึ่งนานมาแล้ว..........” คือตัวอย่างของ “คำ” หลายคำที่ใช้แทน “ความคิดสร้างสรรค์” และใช้เล่าเรื่องราวของความคิดในหัวและความรู้สึกในใจผู้สร้างสรรค์ หรือ “ความรู้สึก-นึก-คิด” นั่นเอง

อุตสาหกรรมสื่อ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ นิตยสาร พ็อกเก็ตบุ๊ก บล็อก อินเทอร์เน็ต เฟสบุ๊ก อุตสาหกรรมภาพยนตร์ บทภาพยนตร์ อุตสาหกรรมเกมส์ออนไลน์/ออฟไลน์ อุตสาหกรรมเพลง หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมการตลาดทั้งมวล รวมถึงการสร้างแบรนด์ และ ฯลฯ ล้วนต้องอาศัยการผลิต คิดค้น ประกอบ ประดิษฐ์ประดอย ตกแต่ง แต้มสีสัน ประพันธ์ และพลิกแพลง “ถ้อยคำ”

“คำ” หลายคำประกอบกันเป็น “วลี”
“วลี” หลายวลีประกอบกันเป็น “ประโยค”
“ประโยค” หลายประโยคประกอบกันเป็น “ย่อหน้า”
“ย่อหน้า” หลายย่อหน้าประกอบกันเป็น “บท”
“บท” หลายบทประกอบกันเป็น “เรื่องราว” และ “บทประพันธ์”

JK Rowling คือตัวอย่างของนักสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จและสามารถสร้างความมั่งคั่งได้จากการประดิษฐ์ประดอย “ถ้อยคำ” และส่งออก “ถ้อยคำ” หนังสือ แฮรี่ พอตเตอร์ ของเธอขายได้ทั่วโลกกว่า 400 ล้านเล่ม และได้รับการแปลอย่างกว้างขวาง แถมยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขายดี ส่งให้เธอกลายเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของโลก มีทรัพย์ไม่น้อยไปกว่าพระราชินีอังกฤษ

อย่ากระนั้นเลย แม้แต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สัมมาสัมพุทธ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก ผู้เป็นทั้งเบื้องต้น เบื้องกลาง เบื้องปลาย และพระเยซูคริสต์เจ้า บุตรแห่งพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นที่สุดของสรรพสิ่ง เป็นที่สุดของความจริง ความดี ความงาม ความรัก และความยุติธรรม ผู้สร้างโลกและมวลฟ้าจักรวาล ล้วนเป็นมนุษย์ผู้มีความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ และมีสาวกผู้นับถือเลื่อมใสอยู่ค่อนโลก และยังทรงอิทธิพลอยู่ได้จนตราบทุกวันนี้ด้วย “พระธรรม” “พระคำ” และ “พระวจนะ” นั่นเอง  
2. คำร้องและท่วงทำนอง

She love you Yeah Yeah Yeah...., Jin-gle Belle Jin-gle Belle Jin-gle All the way..., ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย...., สิบหกปีแห่งความหลัง ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวาน และขมขื่น..., หรือแม้กระทั่งตัวโน้ตสี่ตัวแรก “พ้าม พ้าม พ้าม พามมมม” ที่สำแดงตนอย่างกระแทกกระทั้นในท่อนเปิดของ Beethoven’s Symphony No.5 ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งยวด

นอกจาก “ถ้อยคำ” แล้ว ความคิดสร้างสรรค์อันละเมียดยังสามารถสำแดงตัวเองผ่าน “คำร้องและทำนอง” อีกด้วย นักสร้างสรรค์อย่าง ศรีปราชญ์ สุนทรภู่ เช็คสเปียร์ โมสาร์ท เบโธเฟ่น บีเติล หรือแม้กระทั่งแรพ และเลดี้กาก้า ล้วนถ่ายทอดความคิดและจินตนาการสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ของพวกเขาด้วยการสร้างหรือผลิต “คำร้อง” หรือไม่ก็ “ทำนอง” และทั้ง “คำร้องและทำนอง”

เหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของอุตสาหกรรมเพลง อุตสาหกรรมแผ่นเสียง อุตสาหกรรมเทป อุตสาหกรรมซีดี อุตสาหกรรมดาวน์โหลด และ iTune และอุตสาหกรรมละคร หนัง ดีวีดี คอนเสริต ตลอดจนอุตสาหกรรมแวดล้อมอีกจำนวนนับไม่ถ้วน เช่น แฟชั่น เสื้อผ้า เม็คอัพอาร์ตีส แสงสีเสียง กล้อง ตัดต่อ โรงเรียนสอนดนตรี และศิลปะการแสดง โรงงานผลิตเครื่องดนตรี ฯลฯ


รัฐบาลและผู้ประกอบการแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยุคโพสต์โมเดร์นจำต้องศึกษา ทำความเข้าใจ สนับสนุน จัดการ ให้เกิดการฝึกฝนทักษะทางด้านนี้อย่างยิ่งยวด กว้างขวาง และลงลึก


3) รูป-ภาพ-รูปภาพเคลื่อนไหว

นอกจาก “ถ้อยคำ” “คำร้อง” และ “ทำนอง” แล้ว “รูป” “ภาพ” และ “รูปภาพ” ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ย่อมเป็นช่องทางของการสำแดงตนแห่งความคิดสร้างสรรค์อีกโสตหนึ่ง

Hollywood และ Japanese Manga หรือ Korean Mangaเป็นตัวอย่างอันดีของผู้ประกอบการแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ประสบผลสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งด้วยการผลิตและส่งออก “ภาพ” และ “ภาพเคลื่อนไหว” จนสร้างอิทธิพลไปทั่วโลก

ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ โดยการวาด สเก็ชต์ แรเงา ถ่าย ปั้น สลัก และประดิษฐ์ด้วยมือหรืออวัยวะส่วนอื่น ตลอดจนเต้น แสดง หรือสวมบทบาทเป็นผู้อื่น ล้วนกำลังสร้าง “รูป-ภาพ” หรือ Image ทั้งสิ้น

ประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี ถือเป็นสังคมที่ได้ประโยชน์จาก “รูปและภาพ” ไม่น้อยเลย อย่าลืมว่าสองประเทศนี้ผลัดกันสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งและสองของโลก คนที่เคยไปสองประเทศนี้มาแล้ว ลองตั้งสติถามตัวเองสักนิดว่า “เราไปเพื่ออะไร นอกจากไปดูธรรมชาติ บ้านเมือง ป่าเขาลำเนาไพร และวิถีชีวิตของสองดินแดนนั้น ถ้าไม่ใช่ไปดูเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Roman Empire และ Renaissance และ Impressionist และ Cubism  และ Belle Epoque และ Modern Art และ Abstract Art และ Fashion Art และ Cabaret และ Opera

ใครที่ไปปารีสแล้วยังไม่เคยแวะ Louvre บ้าง...ยกมือขึ้น?


แม้กระทั่งงานแฟชั่น ที่รวมตลอดถึงนิตยสาร ทีวีโชว์ อินเทอร์เน็ต คลิป และ YouTube (รวมถึงฮาร์ดแวร์เช่นอุตสาหกรรมกล้อง คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เพลย์สเตชั่น) ก็ล้วนแล้วแต่ต้องเกี่ยวข้องกับ Image ทั้งสิ้น

การเสพศิลปะ ภาพ และภาพเคลื่อนไหว (แม้กระทั่งการ์ตูนหรือเกมส์) ได้กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่จนยากที่จะรื้อหรือถอนออกทิ้งได้เสียแล้ว


4) PLATFORM

PLATFORM มิได้หมายถึง OS DOS, MAC OS, LINUX, หรือ PENTIUM หรือมาตรฐานอะไรที่ยักษ์ใหญ่แห่งโลกดิจิตัลกำหนดให้เราบริโภคตามเท่านั้น ทว่าผมต้องการนำเสนอคำนี้ในความหมายกว้างที่รวมถึง ภาษา วัฒนธรรม และสถานที่ ในโลกอนาล็อกแห่งความเป็นจริง ที่เราจับต้อง สัมผัส ส่งออก และขาย ได้ด้ว

ผู้ผลิตในประเทศอังกฤษและอเมริกาได้ประโยชน์มากจากการแพร่ขยายของภาษาอังกฤษ อันนี้นับเป็นวิสัยทัศน์สำคัญของรัฐบาลอังกฤษในกาลก่อน ที่ยอมให้ใครต่อใครใช้ภาษาอังกฤษได้อิสระ กระทั่งพลิกแพลงไปเป็นแบบฉบับเฉพาะถิ่นก็ไม่ว่า (การที่เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษด้วยเงินของพ่อแม่ และด้วยงบประมาณแผ่นดินของเราเอง ย่อมทำให้ผู้ผลิตในประเทศอังกฤษและอเมริกา หรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ประโยชน์ เท่ากับเป็นการ Subsidize ผู้ผลิตเหล่านั้น)

คนอินเดีย คนจีน คนไทย คนญวน คนพม่า คนลาว คนเขมร คนสิงคโปร์ คนฮ่องกง คนมาเลย์ คนอัฟริกัน ย่อมใช้ภาษาอังกฤษต่างกัน พูดและเปล่งสำเนียงเสียงไปกันคนละแบบละทาง แต่ก็เข้าใจกันได้ ค้าขายกันได้เป็นพอ

ผิดกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่เคร่งครัดกับภาษาของตน ทั้งๆ ที่ก็ครอบครองอาณานิคมไม่น้อยไปกว่าอังกฤษสมัยโน้น ทว่าภาษาฝรั่งเศสก็ไม่สามารถถีบตัวขึ้นมาเป็นภาษากลางของโลกได้

ดังนั้น หัวใจสำคัญของ PLATFORM ที่จะประสบความสำเร็จ ก็คือความใจกว้างของเจ้าของ ต้องเปิดกว้างให้สามารถพลิกแพลง ต่อเชื่อม โยงใย และสร้างเครือข่ายกับพันธมิตรอย่างกว้างขวาง หรือที่เรียกในภาษาดิจิตัลว่า Open Source มิใช่ Closeed Source

วัฒนธรรมไทย ภาษาไทย ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ (เช่นมีความพยายามที่จะสร้างภูเก็ตและเชียงใหม่ให้เป็น PLATFORM ของการเกษียณอายุของคนมีตังก์จากทั่วโลกให้มาใช้ชีวิตบั้นปลายกันที่นั่น) และโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้กงล้อของการค้าขายแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดำเนินไปได้เช่น ตลาด ตลาดนัด (เช่นสวนจตุจักรก็เป็นแหล่งรวมตัวสำคัญของผู้ประกอบการแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์) ศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการต่างๆ (เช่นศูนย์ส่งเสริมงานออกแบบ) โรงเรียน สถาบัน พิพิธภัณฑ์ แหล่งจัดวางความรู้ รวมถึงธนาคารและสถาบันการเงินที่สนับสนุนเศรษฐกิจแนวนี้ ฯลฯ ย่อมต้องเดินไปในแนวทาง Open Source โดยปราศจากกฎเกณฑ์และกฎหมาย ที่จะกลายมาเป็นขวากหนามจนต้องจำกัดตัวเองอยู่แต่ใน “อ่าง”

เราต้องสร้าง PLATFORM ของเราให้เป็นสากล


5) FORMAT

ผู้กำหนดฟอร์แม็ตย่อมเป็นใหญ่และอยู่ต้นน้ำในโลกแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ลองดู Word Processor/YouTube/Google App/iTune Store และ ฯลฯ...ในโลกอนาล็อกที่กำลังหมุนพัดมาทางตะวันออก รัฐบาลและผู้ประกอบการไทยจำต้องฉุกคิดและยกระดับตัวเองให้เป็น FORMAT SETTER มิใช่เป็นเพียงแค่ TREND SETTER อย่างที่ชอบพูดกัน

ไลฟสไตล์ของคนรุ่นใหม่และแนวโน้มของโลกปัจจุบัน นับว่าเป็นใจเกื้อหนุนให้ผู้บริโภครุ่นใหม่หันมาบริโภคสินค้าและบริการในแนวที่สังคมไทยถนัด หรือมีจุดแข็งในเชิงของการผลิตและการให้บริการ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องชิงกำหนดฟอร์แม็ตให้กับสินค้าและบริการเชิงวัฒนธรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็น อาหารไทย การแพทย์และวิธีดูแลรักษาสุขภาพแบบของเรา สมุนไพร นวด โยคะ และ ฯลฯ ก่อนที่ฝรั่งหรือญี่ปุ่นจะขโมยของเราไปกำหนดเป็นมาตรฐานโลก


กิจการอย่าง Starbuck หรือ Pizza Hut หรือ TACO Bell เป็นตัวอย่างอันดี ที่ทำให้เราเห็นชัดว่าพวกเขาสามารถสร้างความมั่งคั่งได้จากการกำหนด Format ในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะต้องอย่าลืมว่า กาแฟ พิซซ่า และทาโก้ ล้วนไม่ใช่อาหารประจำชาติของสหรัฐฯ แต่ก็ถูกพวกเขานำมาสร้าง FORMAT เป็นของตนเอง เพื่อให้ง่ายแก่การผลิต บริการ ให้เช่าช่วงแฟรนไชส์ ขาย และบริหารจัดการ

จนคนทั่วไปแทบไม่รู้เลยว่า คาปูชิโน่แท้สูตรอิตาเลี่ยนนั้นรสชาติเป็นไง

ว่าแต่ว่า พวกเรายังจำกันได้อยู่มั้ยเอ่ย ว่า Red Bull ที่โด่งดังไปทั่วโลกเนี่ย ก็ลอกเลียนแบบมาจากเครื่องดื่มชูกำลังของญี่ปุ่น!


6) Way of Life

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าไปเพียงใด ยิ่งโลกแคบลงและภิวัฒน์โลกาและภิวัฒน์วัฒนธรรมจนกลืนกลายเป็นแบบแผนเดียวกันมากเพียงใด ผู้คนยิ่งโหยหาความเป็นตัวของตัวเอง ความเฉพาะถิ่นเฉพาะย่านเฉพาะตัวเฉพาะพื้นที่กันมากยิ่งขึ้นเพียงกัน

“Globalization incubates Localization” “Globalization breeds Local Way of Life”...นั่นเป็นสำนวนของผมเอง

หากมองในแง่ร้าย เราจะเห็นว่า Terrorism สมัยใหม่เอย Secessionism อย่างที่วุ่นวายกันตามแนวชายแดนใต้ของเราก็ดี หรือลัทธิชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ชาวบ้านนิยม หรือการต่อต้านกิจการยักษ์ใหญ่ Anti-Brand, Anti-MNCs, Anti-Globalization จนบรรดาเศรษฐีต้องแห่กันไปทำ CSR และตั้งมูลนิธิกันเกลื่อนกลาดอยู่ทั่วไปนั้น ล้วนเป็นผลสะท้อนมุมกลับจากกระแสโลกาภิวัฒน์

แต่ถ้ามองในแง่ดี พวกเราย่อมเห็นโอกาสแฝงตัวอยู่เต็มไปหมด แฝงตัวอยู่ตามชุมชน หมู่บ้าน ท้องถิ่น และเมือง แฝงตัวอยู่ตามป่าเขา ท้องทุ่ง ลำห้วย ชายหาด แฝงตัวอยู่ตามโบราณสถาน วัดวาอาราม และสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่อลังการ แฝงตัวอยู่ในงานวัด งานปอย และประเพณีสิบสองเดือนตลอดทั้งปี แฝงตัวอยู่กับคำพูดคำจา กิริยามารยาทของชาวเรา แฝงตัวอยู่ตามฟุธบาท ตรอก ซอกซอย และย่านเอ็นเทอร์เทนเม้นต์สำคัญยามหลังพระอาทิตย์ตกดิน  

ก็จะอะไรอีกละ...“วิถีไทย” นั่นไง

เดี๋ยวนี้ เราไม่จำเป็นต้องมาพูดให้ซ้ำซากและเหม็นขี้ฟันเล่นกันอีกแล้วว่า “วิถีไทย” และ วิถีชีวิตชาวบ้าน” เป็นเรื่องที่ขายได้ ส่งออกได้ และ Earn Hard Currencies ได้อ่ะ

เพียงแต่เราต้องใช้เทคนิคของหัวข้อที่กล่าวมาแต่ต้นแล้วคือ “Words” “Lyric & Melody” “Image” “Platform” และ “Format” เข้าช่วยอย่างเหมาะสมและเหมาะเจาะ มันจึงจะติดปีก “บิน” ไปได้

มันไม่ใช่ Marketing Mix น๊ะ...แต่ผมขอเรียกเป็น Creative Mix ตะหาก


7) FEEL GOOD FACTOR

ลองถามฝรั่ง แขก จีน ญี่ปุ่น และต่างชาติสารพัดสารเพที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยดูดิ แล้วจะพบว่าพวกเขา “ติดอกติดใจ” และ “Fell Good” ความรู้สึกหรือประสบการณ์แบบนี้แหละ ที่รัฐบาลและผู้ประกอบการแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องคิด ตรึกตรอง และกลั่นกรองออกมาให้เป็นระบบอย่างลึกซึ้ง แล้วจัดการ หันเห พลิกผัน ให้มันดีขึ้น งามขึ้น จริงขึ้น จับต้องได้มากขึ้น เข้าใจได้กระจ่างขึ้น ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จนเด่นกว่าใครเพื่อนในโลกนี้

ลองพลิกตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยดู ก็จะเห็นว่า 80% เกิดขึ้นในเพลาตะวันลับขอบฟ้าไปแล้ว แน่นอน Night Life ของไทยโด่งดังไปทั่วโลก เพราะเรามี Entertainment ทุกรูปแบบ ใครที่เคยไปสิงคโปร์เมื่อสักสิบกว่าปีมาแล้ว จะเห็นว่าห่างชั้นกับไทยมากเหลือเกิน แม้เกาะแห่งนั้นจะเจริญรุดหน้ากว่าไทยไปมาก ถ้าวัดกันเฉพาะเวลากลางวัน ทั้งเป็นศูนย์กลางการเงิน การบิน การเดินเรือ การบริการ การคมนาคม และอะไรต่อมิอะไรอีกมาก ทว่า Night Life ของสิงค์โปร์ จืดสนิท ยิ่งกว่าแกจืดถวายพระซะอีก แต่รัฐบาลเขาก็รู้จุดอ่อนตรงนี้แล้วก็แก้ไขจนดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือ มิฉะนั้นเขาคงจะดึงดูดคนเก่งๆ ให้ไปใช้ชีวิตและทำงานที่เกาะแห่งนั้นไม่ได้

แน่นอน ว่าเราควรพัฒนาบริการภาคกลางวันของเราให้ทรงประสิทธิภาพทัดเทียมกับ Performance ของกิจการภาคกลางคืนซะบ้าง ถ้าทำได้ขนาดไปติดต่อราชการ แล้วมีที่นั่งโอ่โถงกว้างขวาง ติดแอร์เย็นฉ่ำ ตกแต่งงดงาม มีหนังสือให้อ่าน มี Wifi ให้เล่น เจ้าหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจากสุภาพ จัดบริการอย่างรวดเร็ว แถมยังหอมกรุ่นด้วยอโรม่า (คล้ายร้านสตาร์บัคหรือคล้ายคลับสปาชั้นยอด) เพียงแค่นี้ก็บรรลุแล้ว

Fell Good Factor นอกจากจะสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อมนุษย์ ให้เกิดการ “ติดอกติดใจ” แล้ว ตัวมันเองยังมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์อีกด้วย


ไม่เชื่อก็ลองจัดบรรยากาศห้องเรียนซะใหม่ดิ!


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2554


**อ่าน! บทตวามลำดับที่ 2+3+4 ในชุด "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ได้ที่ลิงก์ข้างล่าง


ว่าด้วยสิ่งสร้างสรรค์ง่ายๆ แบบไทยๆ ที่มักถูกมองข้าม แต่จะสร้างความมั่งคั่งอย่างยิ่งใหญ่


และว่าด้วย "ความคิดสร้างสรรค์" ว่ามันมีที่มามาจากไหนกันแน่


***ความคิดสร้างสรรค์มาจากไหน


และ


****ไอ้เสมา หัวหมู่ทะลวงฟันแห่งยุคเศรษฐกิจใหม่



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น