วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

ก้าวแรกของผู้นำ


คนไทยเชื่อผู้นำและออกจะ “ว่าง่าย”

การเชื่อหัวหน้าและเดินตามหัวหน้าของคนไทย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น มันเป็นแบบนี้มานานแสนนานแล้ว  

สมัยก่อนผู้นำและชนชั้นปกครองมักใช้วิธีบังคับให้เชื่อ หรือไม่ก็ผูกขาดการศึกษาเอาไว้ ไม่ให้ผู้ตามได้รับการศึกษาในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและบริหารองค์กร เช่น การเมืองการปกครอง การจัดการ จัดองค์กร การทหาร การต่างประเทศ และการบริหารทรัพยากร หรือบริหารเศรษฐกิจ

เดี๋ยวนี้เมื่อใช้วิธีบังคับไม่ถนัด ก็หันมาใช้วิธีชักจูง กล่อมเกลา และชวนเชื่อ
ลองย้อนดูตัวเราเอง ทำใจให้เป็นกลางๆ ก็จะพบว่าคนไทยรุ่นพวกเรานี้ ถูกทำให้เชื่อด้วยการจัดระเบียบความคิด ระเบียบการใช้เหตุผล ถูกจัดวางและโยงใยข้อมูล เกี่ยวกับการยกย่องเทิดทูนผู้นำสูงสุดมาเหมือนๆ กัน โดยการกล่อมเกลาผ่านระบบการศึกษา และเครือข่ายการโฆษณาชวนเชื่อ แบบทำซ้ำๆ ถี่ๆ เป็นเวลานาน
สิ่งเหล่านี้ มิใช่เรื่อง “ดี” หรือ “ไม่ดี” เพียงแต่มัน “เป็นเช่นนั้นเอง”

ถ้าเทียบแล้ว คนไทยโดยเฉลี่ยยังไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร แม้พวกที่ได้รับการศึกษามาเต็มที่จนถึงระดับสูง ก็เป็นการศึกษาที่ไร้คุณภาพ หรือไม่ก็ด้อยคุณภาพ
คนไทยจึงเชื่อคนง่าย หรือถูกชักจูงได้ง่าย

ประกอบกับ ความมีจิตใจดี ชอบน้อมรับไมตรี ไม่สงวนท่าที สงวนไมตรี หรือมี Resevation เหมือนคนญวน คนญี่ปุ่น คนจีน หรือฝรั่ง อีกทั้งยังเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหว เห็นใจคนตกทุกข์ได้ยาก และเห็นอะไรเห็นคล้อยตามกัน คนไทยจึงถูก “ยึดครอง” ได้ง่าย

หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี และคอลัมนิสต์ปากกคม รู้จักใช้ข้อมูล รู้จักแพลมข้อมูล ตลอดจนผู้ประกาศที่พูดเก่ง เล่าเก่ง จึงมีอิทธิพลค่อนข้างมาก

นักการเมืองไทยจึงเข้าสู่อำนาจกันง่ายๆ ไม่เหมือนคนของชาติที่เจริญแล้ว ซึ่งได้รับการศึกษามาดี นักการเมืองที่อยากได้อำนาจ จึงต้องพยายามอย่างมากและอย่างหนัก ต้องใช้ทั้งผลงาน พิสูจน์ให้เห็นจริงเห็นจัง และใช้ทั้งการหว่านล้อม ตลอดจนชวนเชื่อสารพัด ผ่านแคมเปญ หรือโฆษณาและการตลาดอย่างต่อเนื่อง กว่าจะสำเร็จ

นั่นเพราะรู้ว่ายึดครองหัวสมองไม่ได้ ก็ต้องยึดครองที่จิตใจ และหากยึดครองจิตใจก็ยังไม่ได้ ก็ต้องยึดครองที่อารมณ์ความรู้สึก หรือต้องยึดครองให้ได้ทั้งสามสมรภูมิไปพร้อมกัน จึงจะมีโอกาสสำเร็จ

ถ้าเราลองมองออกนอกตัว มองไปที่อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เราก็จะเห็นว่าราษฎรในชาติเหล่านั้น ได้รับการศึกษาในระบบที่ดีที่สุดในโลก และเมื่อมองมาที่จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ พม่า หรือเขมร ซึ่งระดับการศึกษาของราษฎรยังด้อยคุณภาพ แล้วเปรียบเทียบกันดู ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า วิถีการเข้าสู่อำนาจหรือขึ้นสู่อำนาจของผู้นำในสังคนเหล่านั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

กลุ่มแรกย่อมต้องใช้วิธีแสดงผลงาน ชักจูง และหว่านล้อม เป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มหลังใช้วิธีบังคับ และยัดเยียดให้เชื่อ ให้รักผู้นำเพราะมีค่าเท่ากับรักชาติ หรือบางทีก็อาจใช้วิธีหลอกลวงเจือปนเข้าไปด้วย

แต่ยังไงก็ตาม ในที่สุดแล้ว ผู้นำจะถูกวัด ถูกตัดสิน ถูกประเมิน และให้คุณค่า ด้วย Moral หรือด้วยการเลือกข้างหรือจุดยืนในเชิงถูก/ผิด มิใช่ด้วยความเก่งกาจ ฉลาดเฉลียว หรือ Creativity

ถ้าเราพลิกประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติดู ก็จะพบความจริงข้อนี้อยู่ทั่วไปหมด

Adolf Hitler นั้น เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก แถมยังมีความจำดี ฉลาดเฉลียว รู้จักธรรมชาติของคนดีมาก หยั่งใจคนได้ลึก และไม่โกงไม่กิน ไม่ทุจริตคอรัปชั่น ไม่รับสินบนเล็กๆ น้อยๆ แถมยังมีอารมณ์ศิลปิน และสนับสนุนศิลปะ แต่ก็ผิดพลาดอย่างจังและไม่น่าให้อภัยในเชิง Moral

อันที่จริง ผมไม่อยากใช้คำว่าจริยธรรมหรือคุณธรรม ในความหมายของดี/ชั่ว เชิงศาสนา แบบคริสตศาสนาที่ยกให้ความเลวร้ายทั้งปวงในฝั่งตรงข้ามกับ God ไปสมมติให้รวมอยู่ในคำๆ เดียวว่า “Satan”
แต่ Moral ที่ผมพูดถึงนั้น เป็น Common Sense แบบกว้างๆ ในเชิงพุทธ (อย่าลืมว่าในภาษาไทยเราสามารถมีคำว่า “ธรรมา ธรรมะ สงคราม”) และการเลือกยืนอยู่ในข้างที่ถูกต้อง ย่อมเป็นศิลปะชั้นสูงที่ผู้นำและผู้ที่ต้องการหรืออยากจะเป็นผู้นำทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องยึดถือ และต้องแสดง
ผมและทีมงานนิตยสาร MBA ทุกคน ยินดีที่ได้เป็นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำและผู้ที่กำลังจะขึ้นเป็นผู้นำทั้ง 54 คน สำหรับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับพวกเราและผู้อ่านทุกท่าน ที่กำลังจะก้าวไปสู่ปี 2554 ด้วยกัน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553

ความไว้วางใจในตัวอานันท์ ปันยารชุน



ชื่อของ อานันท์ ปันยารชุน ติดอันดับที่คนอยากให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีทุกครั้งเมื่อมีการสำรวจความคิดเห็นโดยโพลทุกสำนัก

อันที่จริง ก่อนวันที่ 2 มีนาคม 2534 เขาเป็นที่รู้จักในหมู่ราษฏรทั่วไปน้อยมาก ตลอดอาชีพสื่อมวลชนของผม ผมไม่เคยได้สัมภาษณ์เขาแบบสองต่อสองเลย เพราะให้คนขอไปทีไรก็ถูกบอกปัด

อาณาจักรของเขาคือ Bangkok Post เพราะพ่อเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นบรรณาธิการอยู่หลายปี โดยอิทธิพลของตระกูลเขาก็ยังอยู่มาจนกระทั่งบัดนี้

ผมเคยพบเขาครั้งหนึ่งก่อนเขาเป็นนายกฯ หลายปี ขณะที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ สมัยโน้นเขาเป็นประธานสหยูเนี่ยนและนายกสภานิด้า และมีคนเชิญเขามาปาฐกถาโดยเจ้าภาพได้ขอให้ผมไปเป็นผู้พูดแนะนำองค์ปาฐก

ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าเขาพูดเรื่องอะไร แต่จำได้แม่นว่าตัวเองยืนอยู่บนโพเดียมเป็นเวลานานระหว่างที่เขาพูด และครั้งหนึ่งเขานึกคำไทยให้แทนความหมาย Strategic Goods ไม่ออก แล้วหันมาถามผม โดยผมตอบผ่านไมโครโฟนไปว่า “สินค้ายุทธปัจจัย” เลยเป็นอันพอใจกันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

ก่อนกลับ ระหว่างที่เขากำลังสนทนาอยู่กับ ดร.สมศักดิ์ ชูโต และบรรดาคณาจารย์ผู้ใหญ่ ผมก็แทรกตัวเข้าไปถามคำถามที่ผมคิดว่าหรูแล้วในขณะนั้น แต่มาคิดอีกทีตอนนี้ มันช่างหน่อมแน้มเสียนี่กระไร...ผม (ถาม) : ท่านครับ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของท่านคืออะไร...อานันท์ (ตอบ): Trust ไง สำหรับผม ความสำเร็จมันต้องมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจ จะทำไงให้เขาไว้ใจเรา อันนี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จ...ผม (พูดต่อ) : ขอบคุณครับท่าน....แล้วต่างคนก็ต่างแยกย้าย

งานนั้นเป็นประโยชน์กับอาชีพของผมในเวลาต่อมา เพราะทำให้ผมต้องศึกษาประวัติของเขา สมัยโน้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตและ Wikipedia ผมจึงต้องอาศัยหนังสืองานศพ และผมก็พบว่าเขามาจากตระกูลใหญ่ ที่เห็นความสำคัญของการศึกษามาก พ่อของเขาเป็นนักเรียนเก่า Shrewsbury และโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นนำของอังกฤษ แล้วกลับมาเป็นข้าราชการคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๖ เคยเป็นผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยและปลัดทูลฉลอง ส่วนแม่ของเขาก็มาจากตระกูลเจ๊สัวใหญ่ฝ่ายคหบดีจีน และพี่ๆ ของเขาก็ล้วนได้รับการศึกษาชั้นยอดและแต่งงานเกี่ยวดองกับสมาชิกของราชตระกูลและตระกูลสำคัญๆ แทบทั้งสิ้น ตัวเขาเองเป็นศิษย์เก่า Dulwich College และ Trinity College แห่ง Cambridge เป็นรุ่นพี่เจ้าฟ้าชายชาลส์ประมาณสิบปี

เขาเป็น Aristocrat by Brith โดยแท้ ทั้งวิธีคิด วิธีพูด วิธีจัดการ วิธีเจรจา ลูกเล่น และอารมณ์ขัน (ภาษาอังกฤษของเขา รวมทั้งโวหารและปฏิพานไหวพริบในการโต้ตอบในพากย์อังกฤษ อยู่ในระดับดีกว่าของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาก ทั้งๆ ที่อภิสิทธิ์ก็เป็นนักเรียนเก่า Eton และไปเรียนอังกฤษเมื่อยังเล็กกว่าอานันท์) และตระกูลของเขาก็ได้รับผลกระทบอย่างแรงจากการรัฐประหารของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475

ผลงานชิ้นโบว์แดงของเขาก่อนหน้านั้นคือการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน โดยร่วมกับ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่เขาก็ต้องมาขมขื่น และผิดหวังมากกับสังคมไทย อันเนื่องมาแต่กรณี 6 ตุลาฯ...นั่นเป็นข้อมูลที่ผมรับรู้ ณ ตอนนั้น

เมื่อผมเป็นบรรณาธิการนังสือพิมพ์จตุรัส (ยุคหลังสุด) ผมได้สัมภาษณ์ ดร.ถนัด คอมันตร์ หลายครั้ง ขณะนั้นความจำยังแจ่มใสแม้จะอายุเกินเก้าสิบแล้ว เมื่อจบการสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ และคุยนอกรอบ Off-Record ถนัดได้เล่าเรื่องที่เกี่ยวกับอานันท์ให้ฟังหลายเรื่องตั้งแต่เริ่มรับราชการ จนถนัดเอามาฝึกและสนับสนุนให้เป็นใหญ่ ทำให้ผมรู้จักอานันท์มากยิ่งขึ้น

ผมได้พบกับอานันท์อีกครั้งตอนที่เขาเสร็จสิ้นภาระกิจการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว เพราะมีคนเชิญผมไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดของเขาค่ำวันหนึ่ง ณ ร้านอาหารฝรั่งของ ปรีดา เตียสุวรรณ์ แถวซอยคอนแวนต์

ผมจำว่าได้ร่วมจิบไวน์กับ ส.ศิวรักษ์ และได้เห็นฝ่ายก้าวหน้าและเอ็นจีโอจำนวนมาก สุรชัย จันทิมาธร ได้บรรเลงกีต้าร์เพลง La Marseillaise โดย ดร. โคทม อารียา พิภบ ธงไชย และอีกหลายคน ร่วมกันร้องในเวอร์ชั่นฝรั่งเศส...

งานนั้นได้ตอกย้ำความคิดผมเกี่ยวกับภาวะผู้นำของอานันท์ ว่าเขาเป็นผู้นำที่สามารถสร้าง Trust ให้คนเชื่อใจเขาได้ จนเป็นที่นิยมยกย่องและเป็นที่รักของหมู่คณะ เข้าได้แม้กระทั่งกับฝ่ายก้าวหน้าและบรรดาเอ็นจีโอซึ่งภูมิหลังทางสังคมต่างกับเขาอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ และความคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาก็ต่างกันราวฟ้ากับดิน ฯลฯ และผมก็เริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับอานันท์ ว่าเขาน่าจะเข้าใจความอยุติธรรมในสังคมมากขึ้น และเข้าใจหัวอกคนเล็กคนน้อยอย่างประจักษ์กับตัว แม้จะยืนอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ก็เข้ากับฝ่ายก้าวหน้าได้ เพราะระหว่างที่เขาเป็นนายกฯ ทั้งสองสมัย เขาแทบไม่เห็นหัวคนเล็กคนน้อยเลย เขาเอาแต่เร่งแก้กฎหมายและออกกฎหมายจำนวนมากมายเพื่อเปิดทางให้กับเสรีนิยมและฝ่ายนายทุนอย่างเต็มที่ (ยกเว้นกับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์เท่านั้นแหละ ที่เขาเป็นศัตรูด้วย)

เขาเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่สามารถ “ต่อสาย” ได้ตั้งแต่บรรดาผู้นำสมัชชาคนจน ผู้นำแรงงาน และนักกิจกรรมในสลัม เอ็นจีโอ ปัญญาชน ข้าราชการ พ่อค้านักอุตสาหกรรม ไปจนถึงในรั้วในวัง

เขายังคงมีคุณค่าต่อสังคมการเมืองไทย และยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีของฝ่าย Elite

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553

วิสัยทัศน์อภิสิทธิ์ : A Lucky PM



อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนโชคดีตั้งแต่เกิด

เขาไม่จำเป็นต้องทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างจริงจัง เพราะพ่อแม่หาไว้ให้หมดทุกอย่างแล้ว

พ่อของเขาเป็นคนมองการณ์ไกล และได้ให้การศึกษาแบบที่ดีที่สุดในโลกแก่เขา เป็นการศึกษาแบบที่ให้กับลูกหลาน Aristocrat ของอังกฤษ และแม้เขาจะไม่ได้พำนักอยู่ที่วิทยาลัย Christ Church สมัยเรียน Oxford แต่ St.John’s College กับดีกรี Modern Great ก็เกินพอแล้วสำหรับเมืองไทย

เป้าหมายของเขาจึงมีอันเดียวคือ “การเมือง” และเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ไม่ต้องว็อกแว็ก ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องปันใจให้เรื่องอื่น

เขาคล้ายๆ ฮิตเลอร์หรือเลนิน ที่คิดแต่เรื่องการเมืองและหนทางขึ้นสู่อำนาจ เป็นพวก Single Mission อย่างมุ่งมั่น กัดติด ไม่ลดละ

ดังนั้น ก่อนขึ้นสู่อำนาจ เขาจึงต้องครองตัว ครองภาพลักษณ์ ให้ใสสะอาดหมดจด สูตรสำเร็จของเขาคือ No Sex, No Drink, No Scandal, No Affair, Rare Interview”

สำหรับเขาแล้ว อามิสสินจ้างเล็กๆ น้อยๆ แลสินบาท คาดสินบน จึงไม่มีความหมาย

เขายังโชคดีที่เกิดมาเป็นคนรูปงาม

หน้าตาเกลี้ยงเกลา กระดูกโครงหน้าเล็กและลูกกระเดือกสวยพองาม รูปร่างสันทัด ไม่สูงมาก ไม่อ้วน ช่วงบนและล่างได้สัดส่วน แข็งแรงแบบนักฟุตบอล แลดูกระฉบับกระเฉง ไม่อุ้ยอ้าย มีกำลังวังชา มีพลังชีวิต แถมยังแต่งตัวขึ้น

เขาจึงเหมาะมากกับงาน PR และเขาก็เข้าใจจุดแข็งตรงนี้ของเขา จึงสามารถเล่นกับ “สื่อ” ได้อย่างเกิดผลดีเกินคาด

ไม่ว่าเทคโนโลยีทางด้านสื่อสารจะพัฒนาก้าวไกลไปเพียงใด เขาก็สามารถเอาประโยชน์จากมัน หันเหให้มันมารับใช้เขาได้เสมอ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ โดยเฉพาะออนไลน์นั้น เขามีทีมงานที่ดีคอยติดตามประเมินผลค่อนข้างละเอียดและใกล้ชิด อย่างช่วงวิกฤติที่ผ่านมา เราเคยโพสต์รูปเขาขึ้น Facebook ของนิตยสาร MBA (Mbamagazine Wiki และ MBA_Magazine) แล้วยกคำของ William Butler Yeats มากำกับว่า “The innocent and the beautiful / Have no enemy but time.” เพียงเท่านี้ ก็มีคนมาอ้างกับเราภายหลังว่าเขาและทีมงานก็รู้ แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไรมาก ถือเป็นเรื่องตลกโปกฮาไป แบบเพื่อนฝูงเตือนกันก็ต้องฟัง

นอกจากนั้น เขายังรู้จักพูด รู้จักเลือกคำ เลือกประโยค ไม่น้อยไป ไม่มากไป และหลีกเลี่ยงการทับศัพท์ภาษาอังกฤษ

แต่ข้อเสียของเขาคือ เขาขาดจินตนาการ ขาดลีลาพริ้วไหว ขาดสีสัน สไตล์ของเขาจึงออก Monotone และน่าเบื่อในบางครั้ง

เขาไม่มี National Grandeur Strategies หรือ Agenda Grandeur อะไรเป็นพิเศษ ไม่เหมือนกับนายกรัฐมนตรีคนสำคัญๆ ก่อนหน้านี้ เช่น “โชติช่วงชัชวาล” “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” “ประเทศไทยจะต้องยิ่งใหญ่ และมีแผนเชิงยุทธ์” “เศรษฐกิจพอเพียง” “เสริมสร้างความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศ” “แปลงสินทรัพย์เป็นทุน” “ทำสงครามกับยาเสพติดและความยากจน” หรือแม้แต่ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” “ต้องเอาคนดีมีคุณธรรมมาปกครอง” “สร้างรากฐานประชาธิปไตย โดยส่งเสริมคนดี” “แผนแม่บทประชาธิปไตย” และ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ฯลฯ

ความโชคดีของเขาอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องทีมงานและความช่วยเหลือเกื้อกูลที่ได้รับจากคนรอบข้าง

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปก่อนหน้านี้เป็นเวลานานว่าเขาถูก Groom ให้ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาจึงมีลักษณะของแม่เหล็กอยู่ในตัว ดังนั้นทีมงานและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เขาก็ไม่ได้เป็นคนจัดหามา คนเก่งๆ จำนวนมาก ถ้าไม่ใช่ทีมที่ผู้อาวุโสรุ่นก่อนหน้าเขาสร้างไว้ให้ ก็สมัครใจมาทำงานให้เขาเอง โดยที่เขาไม่ต้องเหนื่อยยาก ไปควานหาแล้วปั้นหรือร่วมทุกข์ร่วมสุขขึ้นมาด้วยกัน อีกทั้งผู้ใหญ่และเครือข่ายของพ่อเขาก็ช่วยเหลืออุ้มชูเขา ท่ามกลางการเอาใจช่วยของคนในสังคมไทย ทั้งแอบเอาใจช่วยและแบบเปิดเผย

เมื่อเห็นเขาเข้าสู่อำนาจได้สำเร็จ แม้อาจจะโดยวิธีไม่ปรกติและสง่างามนัก แต่ก็สมหวังกับที่รอคอยมานาน ตอนแรกเราก็นึกว่าจะถึงคราวเคราะห์ของเขาเสียแล้ว และลักขณาแห่งความโชคดีที่ติดตัวมาแต่เกิดจะช่วยอะไรเขาไม่ได้อีกต่อไป

ที่ไหนได้ เราเข้าใจผิดถนัด!

ในช่วงวิกฤติที่สุดนั้น ฝ่ายเสื้อแดงดันเดินเกมผิดพลาด ประกอบกับการกระทำอันอุอาจเยี่ยงโจรของซีกเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ จนสถานการณ์กลับกลายพลิกผัน มาเป็นลูกไก่ในกำมือเขา ให้เขาบทขยี้ได้โดยไม่มี War Guilt

เขาจึงทำสงคามกับฝ่ายอธรรม เป็น "ธรรมาธรรมะสงคราม" อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนอย่างมั่นคงจากผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจที่แท้จริงของประเทศ

ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา เขาบริหารประเทศแบบข้าราชการ ไม่ต่างไปจากวิธีการเดิมๆ และแบบแผนประเพณีเดิมๆ ที่ทำกันมาในแวดวงราชการไทย เขาพยายามรักษาจังหวะจะโคน ไม่เร็วไป ไม่ช้าไป เอาใจทุกกลุ่ม ประนีประนอม เมื่อไม่ถึงเวลาก็ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า ให้เกียรติทีมงาน และที่สำคัญคือพยายามไม่ให้ตัวเองเด่นดังเกินไป

จุดอ่อนของเขาคือเรื่องทางมหาดไทยและเรื่องทางทหาร

แม้เขาจะได้รับการศึกษามาดี รู้เรื่องเศรษฐกิจและความเป็นไปของโลกทะลุปรุโปร่ง Well Informed ทว่า เรื่องทางมหาดไทยและทางทหารนับเป็นจุดบอดของเขาที่เขาต้องศึกษาเพิ่มเติมอย่างหนักถ้าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีและสำเร็จ เขาต้องรู้เรื่องประเทศไทยที่นอกเหนือกรุงเทพฯ ให้มากกว่านี้ ต้องรู้จักสังคมไทยที่ไม่ใช่สังคมชั้นสูงและชั้นกลางให้ดีกว่านี้ และต้องรู้เรื่องทางทหารและการป้องกันประเทศสมัยใหม่อย่างลึกซึ้ง แม้แต่อาวุธยุโธปกรณ์และเทคโนโลยีด้านนี้ ตลอดจนข่าวกรองและ Spy ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยคอยฟังจากข้าราชการแต่เพียงฝ่ายเดียว

แต่เนื่องจาก Theme ของ MBA ฉบับนี้ เราว่าด้วยเรื่อง Vision และถึงแม้เราจะเคยสัมภาษณ์เขามาก่อนตอนที่ยังไม่ได้เป็นนายกฯ แต่ครั้งนี้ไม่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ เราจึงใช้วิธีอ่านจากเอกสารว่าตั้งแต่เขาเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เขาได้แสดงวิสัยทัศน์อันใดที่มีลักษณะ Original ไม่ลอกเลียนแบบมา และเป็น Innovation หรือ Creative Solutions สำหรับประเทศไทยในระยะยาวหรือไม่อย่างไร

เราไม่พบอะไรที่น่ากล่าวถึงรายละเอียดของวิสัยทัศน์ที่เขาแสดงมาในฐานะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะไม่มีวิสัยทัศน์ เขามีแต่ไม่แสดงออกมากนัก เขาเป็นนักการเมืองอาชีพ ที่ไม่ต้องการพูดอะไรล้ำสมัย หรือหวือหวาน่าตื่นเต้น แต่ต้องผูกมัดตัวเอง และผลของมันก็อาจทำให้คนบางกลุ่มพอใจแต่กลุ่มอื่นหนักใจ เขาต้องพยายามเป็นนายกรัฐมนตรีของคนทุกกลุ่ม

ที่สำคัญ เขาไม่ต้องการทำตัวเด่น ยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งต้องถ่อมตน เพราะบทเรียนทำนองนี้มีให้เห็นมาแล้วอย่างเจ็บปวด

Margaret Thatcher อดีตสาวอ็อกฟอร์ด (Somerville College) และอดีตนายกรัฐมนตรีที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่งของอังกฤษ และร่วมสมัยกับช่วง Formative Years ของอภิสิทธิ์ขณะที่กำลังเรียนอยู่ในอังกฤษนั้น เคยกล่าวไว้ว่า "Good PM's must have the ability to get their big simple ideas across to the public."

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มากด้วย Simple Idea แต่ไม่มี Big Idea



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553