วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เกี้ยเซี้ยะ! มองอเมริกามาแก้ปัญหาไทย




ผมว่าคนไทยกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจาก "วิกฤติปิดหน่วยงาน" หรือ "Shutdown Crisis" ไม่ใช่นักธุรกิจโลกานุวัตร หรือผู้ส่งออกนำเข้าที่ไหนหรอกครับ

คือบรรดานักข่าวอย่างพวกผมนี่แหละ!

เพราะนอกจากจะต้องอดตาหลับขับตานอน คอยติดตามข่าวสารอ่านเกมวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดกับประเทศเราแล้ว ยังโดนจังๆ ในกรณีที่ประธานาธิบดีโอบามาประกาศยกเลิกแผนการเดินทางมาเยือนภูมิภาคแถบนี้

อย่างกรณีของผมเอง ตอนแรกก็ว่าจะต้องไปร่วมประชุมสัมนาในงานเอสเอ็มอีโลกที่เรียกว่า 4th Annual Global Entrepreneurship Summit ซึ่งคุณโอบามามีคิวมากล่าวเปิดที่กัวลาลัมเปอร์ แต่ก็ได้รับแจ้งตอนต้นเดือนว่าประธานาธิบดีขอยกเลิก โดยจะส่งเป็นภาพเสียงมาแทน เล่นเอาเรา "ผงะ" และหันมาจริงจังกับ Shutdown Crisis ครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพราะคิดว่ามันคงต้องเอาเรื่องพอควร เพราะขนาดประธานาธิบดียังไม่กล้าจากบ้านไปไหน

แม้ว่าขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ทุกคนจะโล่งอกไปได้เปลาะหนึ่งแล้ว เพราะบรรดา Elite ของประเทศซึ่งทำหน้าที่อยู่ในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้ตกลงผ่านกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ทำให้วิกฤติสิ้นสุดลง (อย่างน้อยก็สิ้นสุดลงชั่วคราวจนกระทั่งกฎหมายฉบับนี้จะหมดอายุลงอีกคราในราวต้นปีหน้า) และที่สำคัญคืออนุญาติให้ขยายเพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปจนสามารถดึงให้รัฐบาลรอดพ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านสภาฯ

สหรัฐอเมริกาผ่านวิกฤติมาได้อีกครั้ง ด้วย "การประนีประนอมกัน" ของผู้ที่ได้รับเลือกมาให้เป็น "ผู้นำ" ประเทศของพวกเขา!

ผมอยากจะให้ตราไว้ตรงนี้เลยว่า "การประนีประนอมกัน" นั้น แม้จะเป็นหลักการง่ายๆ แต่ก็เป็นหัวใจอันสำคัญอย่างยิ่งยวดของการเมืองอเมริกัน ช่วยให้ประเทศของพวกเขาผ่านวิกฤติครั้งสำคัญๆ มาได้โดยตลอด และช่วยรักษาและส่งต่อสาธารณรัฐของพวกเขามาได้จนถึงบัดนี้


ประนีประนอม

คนอเมริกันมาจาก "ร้อยพ่อพันแม่" ดังนั้น ความคิด ความเชื่อ ความเห็น ความฝัน ความหวัง อุดมคติ โลกทัศน์ ความกลัว และผลประโยชน์ ของแต่ละกลุ่ม ย่อมมีความหลากหลายและแตกต่างกันมากเป็นธรรมดา

จากซ้ายไปขวา จากบนลงล่าง จากดำไปขาว...ไปเหลือง...ไปน้ำตาล

เรียกว่า ไม่ใช่เฉพาะเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่เป็นสารพัดสี และความคิดความเห็นที่แสดงออกก็หลากหลายมาก มีตั้งแต่สุดขั้วด้านหนึ่งไปจนสุดขั้วอีกด้านหนึ่ง

การประนีประนอม" จึงสำคัญมากในสังคมแบบนั้น!

รัฐธรรมนูญอเมริกันจึงสั้นๆ กว้างๆ เพื่อให้คนทุกกลุ่มที่มาจาก "ร้อยพ่อพันแม่" ยึดถือหรือพึ่งพิงได้เหมือนกันหมด

ดูไปแล้ว รัฐธรรมนูญอเมริกันก็คล้ายๆ กับคัมภีร์พันธสัญญาเดิมนั่นแหละ ที่บางครั้งคนสองกลุ่มที่มีความคิดต่างกันโดยสิ้นเชิง ก็สามารถนำไปอ้างเพื่อทิ่มแทงอีกฝ่ายหนึ่งได้

สมดังคำของ Mr. Justice Holmes ที่ว่า "A constitution is made for people of fundamentally differing views.”

และกระบวนการประนีประนอมกันก็สำคัญในทางปฏิบัติสำหรับสังคมอเมริกันด้วย เพราะนอกจากจะระบุไว้เป็นกฎหมายแล้ว ยังมีกระบวนการในที่ลับซึ่งสำคัญมากพอกัน

อย่าลืมว่าอเมริกาเป็นประเทศที่มี Lobbyist อย่างถูกกฎหมายจำนวนมากมายทำงานอยู่ในทุกวงการ พวกเขามีเป้าหมายให้คนที่มากกว่าสองกลุ่มขึ้นไปซึ่งมีความเห็นไม่ลงรอยกัน สามารถตกลงกันได้ด้วยวิธีเจรจา ประนีประนอม ตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หรือยื่นหมูยื่นแมวกัน....ให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้โดยราบรื่นภายใต้กรอบของกฎหมาย


หากยังตกลงกันไม่ได้จริงๆ พวกเขาก็ยังมี "ศาลสูง" หรือ Supreme Court ให้พึ่งได้เป็นไม้สุดท้าย

Supreme Court มีหน้าที่ตัดสินความขัดแย้งทุกเรื่องในสังคมอเมริกัน เรียกว่าตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ โดยยึดเอารัฐธรรมนูญเป็นไม้บรรทัด

เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งอย่างการเต้นระบำโป๊ หรือการที่จู่ๆ ตำรวจเอาประแจมาล็อกล้อรถยนต์ที่เราจอดไว้ในที่สาธารณะและลากไปโดยพละกาล ไปจนถึงเรื่องสำคัญระดับชาติอย่างการที่คนของประธานาธิบดีไปแอบดักฟังและขโมยเอกสารของฝ่ายคู่แข่งทางการเมือง ล้วนอยู่ในขอบข่ายที่ Supreme Court วินิจฉัยตัดสิน (ว่ากระกระทำนั้นๆ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่) ได้ทั้งสิ้น

ข้อสรุปของผู้พิพากษา 5 คนใน 9 คน ถือเป็นอันสิ้นสุด

และคำตัดสินย่อมศักดิ์สิทธิ์

ถึงแม้ว่าคนที่ถูกตัดสินให้เสียประโยชน์จะไม่พอใจและผิดหวังในตัว Supreme Court แต่ก็ต้องปฏิบัติตาม

คุณสมพงษ์ สุวรรณจิตรกุล นักเขียนนักแปลซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ เป็นเวลานานเล่าให้ผมฟังว่า สมัยที่วิกฤติการณ์คดีวอเตอร์เกตกำลังจะถึงศาลสูงและรู้แน่แล้วว่าประธานาธิบดีนิกสันอาจต้องมีอันเป็นไปถึงขั้นติดคุกติดตาราง และบรรดาวงในของทั้งสองพรรคและแกนนำของประเทศในขณะนั้น ได้ตกลงไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้วว่าให้ประธานาธิบดีลาออก แล้วจะมีกระบวนการ Pardon ให้ และหาทางยกย่องให้เกียรติในทางอื่น เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี

ท่านประธานาธิบดีได้หันไปปรึกษา Alexander Hiag ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมในขณะนั้นว่าท่านมีทางเลือกอื่นหรือไม่นอกจากลาออก

อเล็กซานเดอร์ เฮก ตอบนิกสันไปว่า "You've got the army.”

เล่นเอาประธานาธิบดีต้องถอนหายใจเฮื้อกใหญ่ เพราะความหมายของคำพูดนั้นคือหมดหนทางแล้ว เพราะถ้าจะดึงดันก็ต้องปฏิวัติรัฐประหารกัน ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ในสังคมอเมริกัน

(ประธานาธิบดีนิกสันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

แม้ตลอดระยะเวลากว่า 200 ปีตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐของพวกเขามา ความเห็นของศาลสูงสหรัฐฯ ก็ใช่ว่าจะคงเส้นคงวาตรงเป๊ะไปเสียทุกเรื่อง เช่นครั้งหนึ่งเคยตัดสินว่าการที่คนขาวกับคนดำต้องแยกกันเรียนแยกกันใช้ชีวิตนั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่อีก 60-70 ปีต่อมาก็ว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมันเป็นสิทธิของคนดำที่จะนั่งเรียนในห้องเดียวกับคนขาวได้ ดูหนังโรงเดียวกับคนขาวได้ หรือขึ้นรถบัสคันเดียวกับคนขาวและนั่งด้วยกันได้ และ...เป็นต้น ซึ่งหมายความว่าความเห็นของศาลสูงก็ขึ้นอยู่กับค่านิยมและศีลธรรมของยุคสมัยเช่นเดียวกัน

แต่ทว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของคำตัดสินและความเชื่อถือในตัวศาล ยังคงไม่สั่นคลอน

ผมคิดว่าวันใดที่ความเชื่อถือในตัวศาลสูงสหรัฐฯ เกิดสั่นคลอน จนเกิดความคิดในมวลหมู่ราษฎรส่วนใหญ่ว่าศาลสูงไม่ยุติธรรมและพึ่งไม่ได้ อาจจะด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เช่นเกิดสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตหรือความโน้มเอียงเชิงเล่นพรรคเล่นพวกต่อตัวผู้พิพากษา 9 คนนั้น หรือความคิดความเห็นของบรรดาผู้พิพากษาเหล่านั้นเกิดล้าสมัยตามไม่ทันค่านิยมและศีลธรรมของยุคสมัย วันนั้นจะต้องเป็นกลียุคของชาวอเมริกันเป็นแน่แท้

               (55 คนประชุมร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2330 และใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้)
ประนีประประนอม

ที่เล่ามานั้นเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของกระบวนการประนีประนอมของสังคมอเมริกันที่ถูกออกแบบมาเพื่อคลี่คลายวิกฤติของสังคม และเป็นมรดกตกทอดมาจากไอเดียของบรรดา Founding Fathers หรือคณะผู้นำเมื่อ 200 กว่าปีก่อน ร่วมสมัยกับช่วงก่อร่างสร้างสยามของราชวงค์จักรี

ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นสาธารณรัฐแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ ก่อตั้งมาพร้อมๆ กับกรุงเทพฯ โดยเมื่อเราย้อนไปดูไอเดียของผู้นำของพวกเขาในตอนนั้น เราก็จะเข้าใจปัจจุบันได้

ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ได้ถูกต้อง เราย่อมเข้าใจปัจจุบันได้ถ่องแท้!

และถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ได้ถูกต้อง เราย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญอเมริกันนั้นเป็น "การประนีประนอม" หรือ "Compromise” ของความคิดเห็นหลายกระแส

กระบวนการได้มาซึ่งข้อสรุปแต่ละข้อในรัฐธรรมนูญอเมริกัน (เช่นการถกเถียง ศึกษา วิเคราะห์ ลงความเห็น และให้ความเห็นชอบ) ก็เป็นกระบวนการประนีประนอมเช่นกัน

สมัยเมื่อบรรดาผู้นำที่มาเรียกขานกันในตอนหลังว่า Founding Fathers จำนวน 55 คนไปประชุมร่วมกันที่ Independence Hall ฟิลาเดลเฟีย ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม ถึง 17 กันยายน พ.. 2330 (เรียกกันในเวลาต่อมาว่า Constitutional Convention) รัฐบาลอเมริกันกำลังมีปัญหา และสังคมก็เริ่มมีปัญหาที่ทำท่าว่าจะแก้ไม่ได้ด้วยวิธีปรกติ เพราะปัญหาใหญ่ๆ จำเป็นต้องแก้ด้วยการเมือง

                    (หน้าแรกของรัฐธรรมนูญอเมริกันที่มีคำขึ้นต้นว่า  "We the People...")
หลังชนะสงครามปลดแอกต่ออังกฤษ (ที่เรียกว่า American Revolutionary War) ต่างคนก็ต่างแยกย้ายกลับบ้าน และสนใจแต่ตัวเองและรัฐตัวเอง ตั้งกำแพงภาษีกันเอง พิมพ์เงินใช้เอง และต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจปัญหาของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้ก้อนโตที่ก่อมาเพื่อสู้สงครามปลดแอก ทำเหมือนไม่่ใช่ปัญหาของตัวเอง

รัฐบาลกลางตอนนั้น (ดำเนินการภายใต้ธรรมนูญเดิมที่แต่ละรัฐมารวมกันแบบหลวมๆ เรียกว่า Articles of Confederations) ก็อ่อนแอ ถังแตก เก็บภาษีไม่ได้ เงินที่พิมพ์มาใช้ก็ด้อยค่า จะจ้างทหาร จ้างข้าราชการลำบาก แม้เกิดจลาจลก็ปราบไม่ไหว ฯลฯ

United States of America กำลังจะกลายเป็น Disunited States of America (ผมอยากจะให้ตราความข้อนี้ไว้เพื่อเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรปในปัจจุบัน)

ผู้นำของแต่ละรัฐจึง "จำใจ" ต้องมารวมตัวกันเพื่อหาทางออก

ผมใช้คำว่า "จำใจ" เพราะพวกเขาไม่ค่อยเต็มใจในตอนแรก สังเกตุจากที่กว่าจะมากันครบองค์ประชุมได้ (7 รัฐจาก 13 รัฐ) ต้องใช้เวลาถึง 10 วัน และ Rhode Island ก็ไม่ส่งสมาชิกมาร่วมเลยตลอดการประชุม

อย่าลืมว่าพวกเขาล้วนเป็น Big Guys ในรัฐของตนๆ พวกเขาเป็นผู้นำธุรกิจ เป็นผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น และเป็นนักวิชาชีพที่ประสบความสำเร็จ เช่น เจ้าของกิจการเรือสมุทรและกิจการอุตสาหกรรมจากทางเหนือและเจ้าของไร่ฝ้ายและบรรดาผู้ทรงภูมิจากทางใต้ 29 คนในจำนวนนั้นจบมหาวิทยาลัยจากอเมริกาหรืออังกฤษ กว่าครึ่งเป็นทนาย และอายุเฉลี่ย 42 ปี

ถ้าเทียบกับสมัยนั้นแล้ว พวกเขาคงต้องเป็นคนฉลาด รอบรู้ ทันสมัย ตื่นตัว และเป็นนักปฏิวัติ ถึงสามารถร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนั้นได้

อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญอเมริกันที่เกิดจากมันสมองและข้อตกลงร่วมกันของพวกเขาในช่วงนั้นเป็นกรอบโครงสำคัญที่วางพื้นฐานให้ประเทศสหรัฐฯ สามารถพัฒนาขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยจนยิ่งใหญ่ทั้งในทางทรัพย์สฤงคารและอำนาจอิทธิพล และยังคงสำคัญยิ่งต่อชีวิตและวิญญาณของชาวอเมริกันอยู่ในปัจจุบัน แม้เวลาจะล่วงเลยมานานมากแล้ว

พวกเขาใช้เวลาอยู่ด้วยกันเกือบ 17 อาทิตย์ โดยเห็นร่วมกันก่อนอื่นเลยว่า Article of Confederations มันโหลยโท่ย ต้องฉีกทิ้งโดยไม่ต้องหาทางแก้ไขมัน และต้องสถาปนาประเทศใหม่ขึ้นมาบนรัฐธรรมนูญอันใหม่เลย

พวกเขาใช้เวลา 2 เดือนแรก ชำแหละระบบสาธารณรัฐในอดีตตั้งแต่สมัยกรีกเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ณ ขณะนั้น แต่ก็ไม่พบระบบที่น่าเอาอย่าง พวกเขาจึงเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า "อะไรบ้างที่พวกเขาจะไม่เอา หรือจะตัดทิ้ง"

เช่น พวกเขาจะไม่เอาระบบ Parliamentary System ไม่เอาระบบกษัตริย์ ไม่เอากองทัพประจำการ เพราะพวกเขาพบจากการศึกษาระบบการเมืองในประวัติศาสตร์ว่า กษัตริย์สามารถควบคุมกองทัพเพื่อไปควบคุมรัฐสภาอีกทอดหนึ่งได้

เป็นที่น่าสังเกตุว่า ระหว่างการประชุม ความคิดความเห็นของพวกเขาแยกเป็นสองขั้วในเรื่องสำคัญๆ อุปมาเหมือนเสื้อเหลืองเสื้อแดงในบ้านเราปัจจุบัน

อย่างประเด็นการจัดสรรอำนาจของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐว่าจะแบ่งและคานกันอย่างไรนั้น ถือว่าสำคัญมากในช่วงเริ่มต้น


ความเห็นแตกเป็นสองขั้ว นำโดย Alexander Hamilton ฝ่ายหนึ่งที่เสนอให้รวบอำนาจสู่ส่วนกลางและสามารถวีโต้กฎหมายของรัฐในทุกกรณี (เขายังเสนอให้ประธานาธิบดีและสมาชิกสภามาจากขนชั้นสูงและดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต)


อีกขั้วหนึ่งนำโดย George Mason จากเวอร์จิเนียซึ่งสนับสนุน Individual Rights และเน้นออกแบบรัฐบาลกลางให้มีอำนาจน้อยเพื่อก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคลให้น้อยที่สุด และให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจเท่าเทียมกับรัฐบาลกลาง

ระหว่างสองขั้วก็มีความเห็นของ James Madison ผู้คงแก่เรียนซึ่งเคยศึกษาและนำเสนอต่อที่ประชุมถึงรายละเอียดของระบบสาธารณรัฐเท่าที่เคยมีมาบนโลก โดยเขาให้ข้อสังเกตุว่า "ไม่มีสมาพันธรัฐแห่งใดที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยการออกแบบให้อำนาจและขอบข่ายการดำเนินการของรัฐบาลกลางขัดแย้งกันกับรัฐบาลท้องถิ่น

เขาจึงเสนอว่ารัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต่างต้องมีอำนาจ เพราะเขาเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่น่าวางใจ เขากล่าวครั้งหนึ่งในที่ประชุมว่า "If man were virtuous, there will be no need of governments at all.”

แต่เขาเห็นว่ารัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นไม่ได้มีไว้เพื่อแข่งขันกัน และรัฐบาลกลางมิได้ตั้งขึ้นเพื่อควบคุมรัฐบาลท้องถิ่น แต่ทั้งคู่ต้องตั้งอยู่เพื่อร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของราษฎรอเมริกัน

และไอเดียของเขานี้เองที่กลายมาเป็นหลักการสำคัญของระบบการเมืองอเมริกันจนกระทั่งบัดนี้


โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับความคิดเขาและร่างเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับความคิดสำคัญๆ ในรัฐธรรมนูญ ที่เห็นร่วมกันได้ด้วยการประนีประนอมทางความคิดของบรรดา Founding Fathers นั่นเอง

ตัวอย่างอันดีที่นักการเมืองรุ่นหลังน่า "เอาเยี่ยง" ก็คือผู้แพ้อย่าง Hamilton ที่เมื่อรู้ว่าตัวเองแพ้ ก็ไม่ทำตัวขวางโลก แต่กลับหันมาสนับสนุนมติกลาง และช่วยพูดช่วยเขียนสนับสนุนและปกป้องหลักการของ Federalism ให้กระจายไปสู่สังคมวงกว้าง (แม้จะขัดกับหลักการที่ตัวเองเชื่อ) และข้อเขียนของเขานี้เอง ที่ต่อมาได้มีผู้รวบรวมพิมพ์กับข้อเขียนของ Madison และ John Jay และเรียกกันว่า "Federalist Papers” จนยึดเอาเป็นดั่งคัมภีร์การเมืองกันในภายหลัง แม้แต่ Supreme Court ก็มักนำไปใช้ประกอบในการตีความอยู่เสมอ

เมื่อ Benjamin Franklin หนึ่งใน Founding Fathers ผู้อาวุโสเดินออกจากประตูห้องประชุมในวันสุดท้าย หญิงสูงวัยคนหนึ่งเอ่ยถามเขาว่า 
"Well, Doctor, What have we got? A republic or a monarchy?”
เขาตอบทันทีว่า "A republic, madam, if you can keep it.”

                            (ตัวอย่าง Federalist Paper หมายเลข 10)
และ ประนีประนอม

เป็นที่น่ายินดีสำหรับชาวอเมริกันที่ยังคงธำรงไว้ซึ่งสาธารณรัฐที่บรรพบุรุษออกแบบไว้ให้ แม้จะผ่านวิกฤติหลายครั้งและสงครามกลางเมืองใหญ่ครั้งหนึ่ง

แต่ก็รอดพ้นและพัฒนาต่อยอดมาได้ด้วยหลักการง่ายๆ แต่สำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งเป็นแกนกลางของการเมืองอเมริกันเสมอมา

นั่นคือ "การประนีประนอมซึ่งกันและกัน" และนั่นเป็นความสามัคคีในความหมายของอเมริกัน ที่ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทุกคนคิดและเชื่อเหมือนกัน

คนอเมริกันทราบจากประวัติศาสตร์ของตัวเองและของสาธารณรัฐมาแล้วว่า ถ้าเมื่อใดความคิดของผู้คนหรือผู้นำเกิดสุดขั้วและประนีประนอมกันไม่ได้ เมื่อนั้นสาธารณรัฐและสังคมของพวกเขาจะเกิดวิกฤติ ดังในช่วงก่อนและระหว่างสงครามกลางเมืองพิสูจน์ให้เห็นแล้ว

ตราบเท่าที่คนอเมริกันยังยึดเอา "การประนีประนอม" เป็นตัวตั้งดังที่บรรพบุรุษเคยทำมา วิกฤติการณ์ย่อมจะไม่เกิดขึ้น

แต่วิกฤติของอเมริกาที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ฉากนี้ ให้ข้อคิดอะไรกับเราบ้างล่ะ!

บ้านเมืองของเราตอนนี้ ต้องการคณะผู้นำประเภท Founding Fathers ที่เฉลียวฉลาด ทรงภูมิ รอบรู้ และทันสมัย และต้องเด็ดขาด พร้อมที่จะหันหน้าเข้าปรึกษาหารือกัน เพื่อโละทิ้งระบบเดิมที่มีปัญหามากโดยไม่ต้องไปคิดแก้ไขมันอีก แต่ควรร่วมกันออกแบบระบบใหม่ขึ้นมาบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ล้วงลึกถึงประวัติศาสตร์ของตัวเองภายใต้บริบทของโลกสมัยใหม่ ความคิดใหม่ และความคิดความเชื่ออื่นบรรดามีในโลก สนับสนุนความคิดความเชื่ออันหลากหลาย และอาศัยจินตนาการที่กำกับด้วยความรู้ความเข้าใจเชิงประวัติศาสตร์และบริบทของโลกสมัยใหม่อันนั้น แสวงหาข้อสรุปภายใต้หลักการ "ประนีประนอม" ที่จริงๆ แล้วก็อยู่คู่กันกับการเมืองไทยมาช้านานแล้วเช่นกัน

โดยผมเชื่อว่า ระบบใหม่จะก่อกำเนิดขึ้นได้ด้วย "การประนีประนอม" เท่านั้น

และ "การประนีประนอม" เท่านั้น จะทำให้สังคมไทยรอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ไปได้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
18 ตุลาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนตุลาคม 2556

คลิกอ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้จากลิงก์ข้างล่าง:

**เราต้องยกขาจากหล่มโคลน





วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เวียดนาม รู้หน้าไม่รู้ใจ



ผมเติบโตขึ้นมาในยุค "สงครามเย็น" และทันเห็นกับตาว่ากำแพงเบอร์ลินถูกโค่นและสหภาพโซเวียตล่มสลายและจีนกลับลำแบบ 180 องศา จนสามารถวิ่งไล่กวดฝรั่งชนิดเขย่งก้าวกระโดด แบบว่าอะไรๆ ที่ฝรั่งใช้เวลาสะสมและสร้างให้สมบูรณ์นานถึงร้อยสองร้อยหรือสามร้อยปี แต่จีนใช้วิทยายุทธ์ย่นย่อให้สำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 30 กว่าปีเท่านั้นเอง โดยจีนใช้วิธีทุ่มซื้อความเจริญสำเร็จรูปแทบทุกอย่างที่ฝรั่งพัฒนาจนเป็นแบบแผนล่าสุดแล้ว

สมัยที่ผมเริ่มเรียน ร.. (รักษาดินแดน) นั้น ไซ่ง่อนเพิ่งแตกได้ไม่เกิน 4 ปี และกองทัพเวียดนามเพิ่งจะบุกเขมรไปหมาดๆ ผมยังจำได้อย่างแม่นยำถึงเช้าวันหนึ่งที่ผมดันไปเดินข้ามปืนยาวที่นอนเรียงเอาไว้ในขณะพักพล ทำให้ครูฝึกเดือดขึ้นมาอย่างแรง และปรี่เข้ามาเตะผมจนผมล้มลงและยังรุกเข้ามาเตะอีกเป็นชุดในขณะที่ผมกระเถิบตัวถอยหนีและเอาฝ่าเท้ากันลูกเตะไปพลาง

“....(ป้าป!)...ต้องมีวินัย จำไส่กะโหลกไว้...(ป้าป ป้าป!)...มึงเห็นภูเขารอบๆ นี้ไหม (ป้าป!)...ไอ้แกวมันล้อมมึงไว้หมดแล้ว (ป้าป! ป้าป! ป้าป!)....มึงยังมาทำเล่นอีกเหรอ...(ป้าป! ป้าป!)....ไอ้แกวไอ้เกี๊ยบมันกำลังจะบุกมึงอยู่แล้ว...(ป้าป!)....”

นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้ยิน Analysis แบบนี้ เพราะสมัยนั้น ความเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์และเวียดนามยังมีอยู่มาก ดังที่ท่านทูต อนุสนธิ์ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงฮานอย ย้อนรำลึกให้ผมฟังเมื่อไม่นานมานี้ว่า "สมัยโน้น คอมมิวนิสต์ใหญ่เบอร์หนึ่งที่พวกเราเกลียดกลัวกันมากคือเมาเซตุง และเบอร์สองคือโฮจิมินห์"

ผมมาคิดได้ทีหลังว่าเพื่อนผมคนหนึ่งซึ่งเป็น "เวียดเกี่ยว" หรือ Oversea Vietnamese และเรียน ร.. อยู่ด้วยกัน เขาคงกล้ำกลืนฝืนทนมาก เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาคุยกับผมแบบ Private ว่าพ่อแม่เขาได้ส่งเงินไปช่วยเวียดกงเพื่อรบกับอเมริกันและบอกว่าเขาได้ดูหนังที่กองทัพเวียดนามเหนือเอาชนะกองทัพอเมริกัน โดยเล่าด้วยความภูมิใจมาก

และผมก็มารู้ทีหลังอีกว่า "ไอ้เกี๊ยบ" ที่ครูฝึกคนนั้นพูดถึงในขณะที่กำลังระดมแจกลูกเตะให้ผม ก็คือนายพล "หวอเหวียนย๊าป" นักการทหารนามอุโฆษ มือขวาด้านการทหารของโฮจิมินห์ และอดีตผู้บัญชาการกองทัพประชาชนเวียดนามและวีรบุรุษสงครามของเวียดนามตลอดกาล ผู้พิชิตฝรั่งเศสในสมรภูมิเดียนเบียนฟูและรบชนะอเมริกันจนยึดเวียดนามใต้และรวมประเทศได้สำเร็จ และเพิ่งเสียชีวิตลงหมาดๆ ด้วยวัย 102 ปี...เพราะคนไทยในขณะนั้นรู้จักท่านแม่ทัพในนาม "โววันเกี๊ยบ"

วีรกรรมของนายพลย๊าปมีคนเขียนไว้แยะแล้ว ในหนังสือหลายเล่มของท่าน ท่านก็ได้เขียนไว้เองด้วย และมีแปลเป็นภาษาอังกฤษและวางขายทั่วไปตามแหล่งท่องเที่ยวของเวียดนาม โดยสำนวนเป็นแบบอ่านง่าย เพราะท่านนายพลเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์และครูสอนประวัติศาสตร์มาก่อน

ในภาคภาษาไทยก็มีหนังสือของคุณศุขปรีดา พนมยงค์ ลูกชายของ ดร.ปรีดี ที่เข้าออกบ้านของท่านแม่ทัพได้ และมีโอกาสได้สัมภาษณ์ท่านแม่ทัพไว้หลายครั้งก่อนที่ผู้เขียนจะเสียชีวิตอีกด้วย

ท่านเขียนไว้ใน Memoir of Wars: Dien Bien Phu ว่า ที่ตัดสินใจเขียนหนังสือก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากวันที่ท่านไปตรวจค่ายทหารฝรั่งเศส ณ สมรภูมิเดียนเบียนฟู (หรือที่ไทยเรียกว่า "เมืองแถน") หลังจากพิชิตได้แล้ว และท่านเห็นอะไรต่อมิอะไร ทั้งศพทหาร เลือดที่หลั่งจนผืนดินแดงกลายเป็นคล้ำ และปึกจดหมายถึงครอบครับของบรรดานายทหารฝรั่งเศสที่ยังเขียนไม่จบ โดยท่านอยากให้โลกรู้ว่ากองทัพของชาติด้อยพัฒนาก็สามารถเอาชนะกองทัพแห่งจักรวรรดินิยมอันยิ่งใหญ่ได้

ผู้อ่านหลายท่านคงรู้แล้วว่าท่านแม่ทัพบัญชาการให้ค่อยๆ ลำเลียงสรรพาวุธและเสบียงโดยอาศัยจักรยานต่างของหลายหมึ่นคันและแพและหาบเร่และรถสามล้อเข็นโครงไม้ไผ่ที่ต่อขึ้นแบบง่ายๆ อีกกว่าหมึ่น โดยปืนใหญ่ต้องถูกถอดออกเป็นชิ้นๆ และใช้กองลำเลียงกว่าสองแสนคน

แม่ทัพฝรั่งเศสไม่คิดว่าเวียดนามจะบุกขึ้นมาได้ เพราะชัยภูมิล้อมรอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนและป่าทึบ แต่นายพลย๊าปยึดเอาคำของนโปเลียน ฮีโร่ในดวงใจท่าน ที่ว่า "ถ้าแพะผ่านได้ คนก็ต้องผ่านไปได้ และถ้าคนผ่านไปได้ กองทหารย่อมผ่านไปได้เช่นกัน"

ที่สำคัญ ท่านอ่านใจคู่ต่อสู้ขาด เพราะท่านรู้ภาษาฝรั่งเศสดีและเข้าใจวัฒนธรรมฝรั่งเศสอย่างลึกซึ้ง ท่านว่าบรรดาทหารฝรั่งเศสนั้น แม้ว่าจะได้รับการฝึกมาดี จบจากโรงเรียนทหารที่มีชื่อเสียง และระเบียบวินัยเข้มงวด แต่มันไม่มีอุดมการณ์อันแน่วแน่ พวกเขาไม่ได้มีเป้าหมายอะไรเป็นพิเศษ บางทีก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมารบถึงแดนอาณานิคมอันไกลโพ้นและลำบากเช่นนี้...ทำไปเพื่ออันใดกัน

ต่างกับชาวเวียดนามที่มีเจตนารมณ์ชัดเจน มีเป้าหมายและเข็มมุ่งอันแน่วแน่ คือต้องการอิสระภาพและเสรีภาพอย่างแรงกล้า ต้องการปลดปล่อยแอกอันหนักอึ้งของเจ้าอาณานิคม

ความคิดอันนี้แหละที่ผู้นำเวียดกงใช้เป็นตัวกระตุ้นแรงรักชาติในตัวคนเวียดนามให้ลุกขึ้นสู้กับฝรั่งทั้งฝรั่งเศสและอเมริกัน แม้จะต้องลำบากเข็นใจและสูญเสียเพียงใดก็ตาม

ลองฟังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโฮจิมินห์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945 ณ จตุรัสบ่าดิ่นห์ ตอนขึ้นไปประกาศเอกราชของชาติต่อหน้ามหาชน ก็สามารถพิสูจน์ชัดในข้อนี้ ดังตัวอย่างของความตอนหนึ่งว่า

ฝรั่งเศสได้หนีไปแล้ว ญี่ปุ่นก็ยอมจำนน จักรพรรดิบ๋าวได่ก็สละราชบัลลังก์แล้ว ประชาชนของเราได้ตัดพันธะซึ่งผูกมัดพวกเขามาเกือบศตวรรษ และได้ช่วงชิงเอกราชให้แก่เวียดนาม.....เวียดนามมีสิทธิที่จะได้รับเสรีภาพและอิสรภาพ และได้เป็นประเทศอิสระและเสรีแล้วจริงๆ ชาวเวียดนามมุ่งจะใช้กำลังกายและกำลังปัญญาทั้งหมด และสละชีพและทรัพย์สินเพื่อรักษาอิสรภาพและเสรีภาพไว้"

                                              (รูป: เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จากนิตยสาร Way)
ความคิดและเจตนารมณ์หรือจิตใจอันแน่วแน่แบบเดียวกันนี้แหละ ที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาประชาชนไทยเอาชนะเผด็จการทหารในการลุกขึ้นสู้ครั้งสำคัญ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาในขณะนั้น ได้หวลวิเคราะห์ทบทวนในหนหลังและให้เครดิตกับ "จิตใจอันแน่วแน่" ว่าเป็นปัจจัยชี้ขาดแห่งชัยชนะ เขาได้กล่าวไว้ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า

"ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ท่ามกลางผู้รักประชาธิปไตยทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า และยิ่งยินดีเป็นพิเศษที่ได้พบปะกับมิตรสหายที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ เมื่อ 40 ปีก่อนในวันเวลาเดียวกันนี้ คนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยได้พร้อมใจกันเคลื่อนกำลังออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมวลมหาประชาชนประกาศตนไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ มันเป็นการต่อสู้อันมีชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจรัฐด้วยอำนาจกระบอกปืน ขณะที่ฝ่ายเรามีสองมือเปล่าและหัวใจเปี่ยมความฝัน ชัยชนะในครั้งนั้นสอนเราว่าเจตนารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าในชีวิตของคนคนหนึ่งหรือการเติบโตของประชาชาติหนึ่ง เจตจำนงแน่วแน่เป็นเรื่องสำคัญโดยตัวมันเอง โดยเฉพาะเมื่อมาจากคนเรือนแสนเรือนล้านที่ผนึกกันเป็นหนึ่งเดียว....”

และยังต่อด้วยประโยคอันงดงาม ที่เน้นย้ำในเรื่องเดียวกันอีกครั้ง หลังจากนักศึกษาประชาชนจำนวนหนึ่งหันไปก่อสงครามกลางเมือง โดยเข้าป่าจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลในขณะนั้นว่า

"...อันที่จริงสงครามไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาของผู้ใด เนื่องจากมันคือกองไฟที่อาศัยชีวิตมนุษย์เป็นฟ่อนฟืน กระนั้นก็ตาม เมื่อต้องเลือกระหว่างการต่อสู้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อกับการยอมจำนนกับการกดขี่ข่มเหง ก็คงมีน้อยคนนักที่จะเลือกชีวิตอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี..."

คำพูดของเสกสรรค์ช่วยให้เราคนไทยเข้าใจภาวะจิตของคนเวียดนามในตอนนั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการ "เอาใจเราไปใส่ใจเขา" หรือ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" มันก็เหมือนกันเด๊ะ

จิตใจของชาวเวียดนามตอนนั้นก็อยู่ในภาวะที่ “เหลืออด” จากการถูกกดขี่ข่มเหงโดยผู้ปกครองที่เป็นเจ้าอาณานิคมคล้ายๆ กันนี้แหละ

พันปีภายใต้จีน และอีกเกือบร้อยปีภายใต้ฝรั่งเศส

ดังนั้นเมื่ออเมริกันทำท่าจะเข้ามาอีก ด้วยการยุแยงให้คนเวียดนามเข่นฆ่ากันเอง และขัดขวางเหนี่ยวรั้งไม่ให้เวียดนามเหนือใต้ได้รวมกันและปกครองตัวเองอย่างมีอิสระด้วยแล้ว พวกเขาจึงต้องลุกขึ้นสู้ และเป็นการลุกขึ้นสู้อย่างมีเป้าหมาย อย่างมีเข็มมุ่ง หรืออย่างมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสระภาพและเสรีภาพนั่นเอง

สงครามเวียดนามสำหรับพวกเขาจึงเป็นสงครามที่ต้องทุ่มสุดตัว ต่างกับฝ่ายอเมริกันที่บางทีก็ยังเบลอๆ อยู่ว่า ตัวเองพากันมายังดินแดนอันไกลโพ้นที่มีแต่ป่าดิบ ฝน หนองน้ำ ทุ่งนา โคลน และแมลง และต้องตกระกำลำบาก และต้องฆ่าแกงชาวเวียดนามไปเพื่ออะไรกัน....

ด้วยที่ต้องผ่านประวัติศาสตร์กันมาแบบนี้กระมังที่ทำให้นิสัยคนเวียดนามในเชิงลึกนั้นยากจะไว้ใจคนอื่น โดยเฉพาะคนต่างชาติ

ประวัติศาสตร์ของคนเวียดนามเป็นประวัติศาสตร์ของการถูกคนอื่นเอารัดเอาเปรียบและการลุกขึ้นสู้และการปลดปล่อย

เป็นประวัติศาสตร์ที่กลัวว่าเดี๋ยวจะมาหลอก จะมาเอาเปรียบ จะมากดตัวเองลงเป็นเบี้ยล่าง จะมายุให้พี่น้องแตกแยกและฆ่าฟันกันเอง จะมาหลอกใช้ เหมือนกับที่เคยเจอมาแล้วในรอบพันกว่าปี

                                         (อนุสนธิ์ ชินวรรโณ กับ ผู้เขียน ที่สถานทูตฯ)
จุดนี้เป็นจุดสำคัญและไม่ควรมองข้าม เมื่อเราต้องพิจารณายุทธศาสตร์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการร่วมมือในระดับภูมิภาคอย่าง AEC หรือการร่วมทุนและหุ้นส่วนในระดับเอกชนและวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนร่วมงานในระดับองค์กรและปัจเจกบุคคล

ท่านผู้อ่านเคยรู้บ้างไหมว่านักธุรกิจใหญ่ของเราหลายคน ในอดีตก็เคย "ล้มเหลว" และ "เข็ด" กันมาแล้วที่เวียดนาม และนับตั้งแต่เวียดนามเปิดประเทศมานี้ กิจการร่วมทุนระหว่างเวียดนามกับฝรั่งหรือกับญี่ปุ่นหรือกับใครๆ ก็มักจะฝ่อไปด้วยความระหองระแหงเช่นเดียวกัน

ผมว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะนิสัยที่ยากจะไว้ใจและวางใจคนต่างชาตินี้เอง ที่ทำให้กิจการร่วมทุน ทั้งในเชิงของ Equity Participation, Joint Venture, หรือ Mergers & Acquisitions ระหว่างคนเวียดนามฝ่ายหนึ่งกับคนต่างชาติอีกฝ่ายหนึ่งมักล้มเหลว

นั่นทำให้ผมนึกถึง Fish Can't See Water: How National Cultures Can Make or Break Your Corporate Strategy” หนังสือเล่มใหม่ของ Kai Hammerich และ Richard Lewis ที่แสดงให้เห็นอย่างค่อนข้างละเอียดว่า Walmart ล้มเหลวไม่เป็นท่าอย่างไรบ้างในเยอรมนี

ก่อนจะขยับตัวไปกับท่วงทำนองของ AEC ผมอยากจะขอร้องให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาอย่างท่องแท้ถึงนิสัยใจคอของเพื่อนบ้านแต่ละชาติ ว่ามีข้อไหนบ้างที่จะเกื้อกูลหรือเหนี่ยวรั้งมิตรภาพและความสำเร็จของเราในอนาคต

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
15 ตุลาคม 2556

คลิกอ่านบทความชุด AEC เพิ่มเติมได้จากลิงก์ข้างล่างนี้: