วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย

"Disruptive Chage is in the air"

บรรดากูรูผู้หยั่งรู้และคนรุ่นใหม่ที่กำหนดไลฟสไตล์ตัวเองจาก Cyberspace ต่างเชื่อกันว่า Internet และเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

หนังสือพิมพ์และแม็กกาซีนกำลังจะตาย!

ยี่สิบปีก่อน สมัยเมื่อแรกเข้าวงการหนังสือ ผมยังจำได้ว่านักหนังสือพิมพ์รุ่นพี่ๆ มักถกกันเสมอ ว่าต่อไปในภายภาคหน้า ผู้คนจะพากันหันไปอ่านหนังสือจากจอคอมพิวเตอร์กันหมด...ใช่ไม่ใช่

ทุกคนล้วนสรุปตรงกันว่า "ยากส์" เพราะเราจะพกเอาคอมพิวเตอร์เข้าไปนั่งอ่านในห้องน้ำขณะกำลังทำธุระส่วนตัว ก็ไม่สะดวก (สมัยนั้นยังไม่มี Laptop) หรือจะม้วนๆ พับใส่กระเป๋าหลัง แบบที่พวกเรามักทำกับ The Economist หรือ Business Week ก็ไม่ได้อีก อย่าว่าแต่ตอนเช้า ขณะนั่งจิบกาแฟเคล้าข่าว ก็คงจะต้องแบกจอไปตั้งบนโต๊ะด้วย...คงพิลึก

ยี่สิบปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก

พวกเราที่ยังไม่ตายไปเสียก่อน ล้วนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น "ต่อหน้าต่อตา"

เราได้เห็นเครื่องคอมพิวเตอร์เล็กลง บางลง เห็นโทรศัพท์มือถือกลายเป็นคอมพิวเตอร์ พกใส่กระเป๋าเสื้อก็ได้ เห็นอินเทอร์เน็ตมาแทนหน้ากระดาษ เห็น E-Books และเครื่อง Kindle หรือ Tablet และเห็นกับตาว่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารจำนวนมาก พากันเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากโลกอานาล็อกไปสู่ดิจิตัล

พูดแบบ Chris Anderson ก็คือเปลี่ยนจาก Atom มาเป็น Bit

อีกหน่อยเด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็คงตกงาน และบรรดาสายส่ง ร้านขายหนังสือ ตลอดจนโรงงานกระดาษ โรงพิมพ์ ร้านเพลท คงเจ๊งกันเป็นแถว (หรือถ้าไม่เจ๊งก็คงจะหดเล็กลงเหลือไม่กี่ราย คอยพิมพ์หนังสือประเภท Limited Edition เพื่อการสะสม สำหรับพวก Hard Core และบรรดาเศรษฐีที่ชอบของแปลก) เพราะหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ทั้งมวล หันมา Serve คนอ่านเป็น Files หรือ Hypertext ที่สามารถ "ดูด" (Download) ผ่านสายเคเบิ้ลใยแก้วหรือดาวเทียมได้ในพริบตา แม้จะอยู่กันคนละซีกโลกก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้เห็นหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ หรือแม้กระทั่งแม็กกาซีนรายเดือน อัพเดตข่าวของตัวเองทุกๆ 15 นาที ราวกับคำว่า "รายวัน" "รายสัปดาห์" "รายเดือน" หมดความหมายไปเสียแล้ว อีกทั้งยังสามารถอัพเดตข่าวเป็นวิดีโอภาพเคลื่อนไหว แบบเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนกับทีวีทุกประการ เลยไม่รู้ว่านี่มันหนังสือพิมพ์หรือสถานีโทรทัศน์กันแน่...อย่าว่าแต่วิทยุเลย ฟังกันบนมือถือมาได้ตั้งนานแล้ว

Stereo Hi-Fi ที่เคยฮิตติดบ้านสมัยพวกผมเป็นเด็ก บ้านใครมีฐานะก็ต้องหายี่ห้อดีๆ มาฟังกันเป็นชุดๆ อย่าง McIntosh, Marantz, JBL ฯลฯ เดี๋ยวนี้กลายเป็น "ของสะสม" ไปเสียแล้ว...อีกหน่อยหนังสือและแม็กกาซีน ก็คงจะซื้อขายกันด้วยราคา "ของสะสม" เช่นเดียวกัน

รุ่นพี่บางคนที่เสียชีวิตไปตอนนั้น ถ้าเกิดฟื้นคืนชีพมาตอนนี้ คงช็อกน่าดู!

สำหรับผม ผมไม่ค่อยแคร์ว่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารจะอยู่หรือไป เพราะผมว่ามันเป็นแค่ Form เท่านั้นแหละ ถึงยังไง Substance มันก็ยังต้องอยู่

คนก็ยังต้องบริโภคข่าวสาร ตลอดจน ข้อคิด ความเห็น Analysis และจินตนาการ ต่างๆ ของคอลัมนิสต์หรือนักเขียนอย่างพวกผมอยู่ดี

คือ News Industry จะยังคงไม่หายไปไหน เพราะ Demand และกิเลสมนุษย์จะยังคงเดิม เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธี Serve เท่านั้นเอง

ตรงกันข้าม Internet และเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือจำนวนมาก (เช่น Social Network เป็นต้น) จะยิ่งช่วยให้นักเขียนและสื่อมวลชนทำงานง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น Productivity ก็จะสูงขึ้นด้วย

สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือเรื่อง "คุณภาพ"

เพราะยิ่งมีความพยายามจากฝรั่ง (ผู้กุมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและอะไรๆ ในนั้น) ที่จะเปลี่ยน Business Model ด้วยการเสนอความคิดเรื่อง "Free" ซึ่งผมคิดว่าจะทำให้คนเล็กคนน้อยเสียเปรียบมาก รายใหญ่ที่มีเครือข่ายทุนหนาแน่นและสายป่านยาว อีกทั้งผูกขาดความรู้สำคัญบางอย่างไว้ จะ "กินรวบ" ง่ายขึ้น กลายเป็นตลาดแบบ "Winer takes all"

เราต้องไม่ลืม Basic ว่าบริการฟรีบนอินเทอร์เน็ตนั้น ต้องมีใครคนใดคนหนึ่ง "จ่าย" หรือ "รับภาระ" อยู่ดี

สมมติ ผมพาลูกน้องไปกินเหล้า กินกันข้ามวันข้ามคืน บางคนมาแล้วก็ไป แต่สุดท้าย At the end of the day ก็ต้องมีใคร "เช็คบิล" อยู่ดี และติ๊ต่างว่าพวกเราพร้อมใจกันเบี้ยว ชักดาบไม่ยอมจ่าย คนที่รับภาระต้นทุนก็คือเจ้าของร้านเหล้านั่นแหละ ยกเว้นว่าเขาจะไปขโมยเหล้า น้ำแข็ง กับแกล้ม มาให้ผมกิน โดยคิดว่าตัวเองไม่เสียหาย (แม้จะเสียค่าน้ำค่าไฟ) ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น คนที่เสียหายก็คือคนที่โดนบโมยนั่นแหละ ฯลฯ คือสุดท้าย Cost มันต้องถูก Transfer ไปที่ใดที่หนึ่งเสมอ

ด้วย Analogy แบบเดียวกัน ถ้า Facebook, Twitter, YouTube, Blog ฯลฯ มันให้บริการฟรี ก็แสดงว่ามันมีคนรับภาระอยู่ ซึ่งก็คือบรรดา VC และผู้ลงทุนในกองทุนเหล่านั้น หรือไม่ก็พวก Mezzanine Financiers หรือ Private Placement Investors และ Pre-IPO Investors โดยพวกเขายอมแลกกับข้อมูลจำนวนมากบนเครือข่ายนั้น ซึ่งสุดท้ายเขาจะต้องทำประโยชน์กับมัน (เช่น เขียน Application ขึ้นมากรองขยะออก เพื่อจับชีพจรความเคลื่อนไหวของความคิดเห็นของคนในโลกให้ได้ เป็นต้น ฯลฯ) แล้วพวกเขาก็จะทำกำไรกันตรงนั้น แต่ระหว่างทาง คู่แข่งขัน (ในที่นี้คือผู้ผลิต Content) ที่สายป่านสั้น ทนขาดทุนไม่ไหว ย่อมต้องตายตกไปตามกัน

เพราะอย่าลืมว่า Content ที่ดีนั้น จะต้องมี "ต้นทุน" ในการจัดหาเสมอ Content ที่ได้มาฟรี ย่อมเป็น "ขยะ" แต่คนบางพวกคิดว่า ถ้าตนเองสามารถผูกขาด "ขยะ" ได้ "ขยะ" ก็จะกลายมาเป็น "ทองคำ" เพราะตนเองกุมเทคโนโลยีที่สามารถ "เล่นแร่แปรธาตุ" ไว้ในมือแต่ผู้เดียว

และอันที่จริง Content ที่ได้มาฟรีเหล่านั้น ก็ไม่ได้ฟรีจริง เพราะพวกเราเป็นคนรับภาระไว้ (ไม่เชื่อก็ลองทำ Blog, ซื้อมือถือมาโพสต์ Facebook, ซื้อกล้องมาเล่น YouTube ดูก็ได้..มันกินพลังและทรัพย์แยะใช่เล่น) เปรียบไปก็เหมือนกับรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษ ด้วยงบประมาณของเราเอง...ลองคิดให้ดี ว่านั่นเป็นการ Support ผู้ผลิตของประเทศ Anglo-Saxon หรือ English-speaking World โดยต้นทุนของเราเอง...ใช่ไม่ใช่

นั่น ทำให้ผมวิตกมาก ว่าพวกเราจะได้บริโภคสื่อที่ด้อยคุณภาพลง แม้ข้อมูลที่ได้รับจะมีจำนวนมากขึ้นก็ตามที

สิ่งเหล่านี้ จะเป็นอันตรายต่อคนรุ่นใหม่ ที่ไม่แน่นในเชิงพื้นฐานวิธีคิด วิธีเลือก วิธีตัดสินคุณค่า...เพราะอย่างลืมว่า "สื่อสามารถหลอมความคิดคน" ได้จริงๆ

แต่ผมก็ยังคิดไม่ออก ว่าพวกเราจะออกจาก "กับดัก" อันนี้ยังไงกันดี



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

22 กุมภาพันธ์ 2553

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ยึดทรัพย์

Karl Marx เป็นผู้ที่ Observe ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของสังคมมนุษย์ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง อย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ผู้หนึ่ง

เขาพบว่า การครอบครองทรัพย์สิน มักเป็นที่มาของ “อำนาจ” เสมอ ดังคำกล่าวที่ว่า “Power follows property”

เขาจึงเสนอให้ชนชั้นกรรมาชีพ เมื่อเข้ายึดอำนาจรัฐสำเร็จ ต้องยึดทรัพย์สินของเอกชนทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐด้วย แล้วค่อยให้รัฐทำการวางแผนเพื่อใช้ทรัพย์สินเหล่านั้น ให้เกิดประโยชน์ในการผลิต และนั่นเป็นหลักการสำคัญ หรือ “หัวใจ” ของการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์

Marx อาจผิด ในเรื่องการรวมศูนย์ “ทุน” เข้าสู่ส่วนกลาง เพราะระบบในอุดมคติที่พึงปรารถนาที่เขาสถาปนาขึ้นบนแผ่นกระดาษนั้น มันไปไม่พ้นกิเลสมนุษย์ ดังเห็นได้จากความล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ทั่วโลก แต่ทว่า ความเห็นเรื่องทรัพย์สินกับอำนาจ นั้น เขาไม่ผิดแน่ๆ

“การยึดทรัพย์” จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นักการเมืองฝ่ายมีเปรียบ นำมาใช้กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อหวังขุดราก ถอนโคน อำนาจของฝ่ายปฏิปักษ์ ดังนั้น การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะต้องถูกยึดทรัพย์ ในส่วนที่เหลืออยู่ในเมืองไทย ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

อันที่จริง การยึดทรัพย์นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามนั้น มีมาช้านานแล้ว ใครที่เคยอ่านบันทึกของ Jeremias van Vliet ที่เขียนขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๙- พ.ศ.๒๑๘๓ ย่อมเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงใช้วิธี “ริบราชบาตร” กับขุนนางฝ่ายตรงข้ามเสมอ

นั่นหมายถึงการยึดแม้กระทั่ง เมีย บริวาร ทาส ช้าง ม้า วัว ควาย ให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย

ในการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น คณะราษฎร มิได้ทำการยึดทรัพย์ของฝ่ายเจ้าเลย แม้ว่า ผู้นำฝ่ายพลเรือนที่เป็น “มันสมอง” ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น จะเป็นผู้ที่เลื่อมใสลัทธิสังคมนิยม (Socialism) และเข้าใจความคิดของ Karl Marx เป็นอย่างดี

เขาเพียงแต่เขียนรัฐธรรมนูญกีดกันมิให้ฝ่ายเจ้าเข้ามาสู่การเมือง เท่านั้นเอง แม้ต่อมา หลังเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” จะมีการยึดทรัพย์สินของฝ่ายเจ้า แต่ก็เป็นเพียงการเข้ายึดสิ่งที่เป็น “สัญลักษณ์” ของฝ่ายเจ้า เช่น วังบางขุนพรหม วังสุโขทัย วังสวนกุหลาบ วังปารุสกวัน เป็นต้น หาได้เข้ายึดทรัพย์สินส่วนใหญ่ของฝ่ายเจ้าทั้งหมดไม่ ยังคงอนุญาตให้ฝ่ายเจ้าได้รับค่าเช่า หรือดอกเบี้ย จากทรัพย์สินมรดกจำนวนมหาศาลต่อไป

นั่น อาจเป็นความผิดพลาดประการหนึ่งของนักการเมืองผู้กุมอำนาจในขณะนั้น ซึ่งต่อมาก็ได้ถูกฝ่ายเจ้าที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ร่วมมือกับฝ่ายทหาร โค่นล้มลงไป โดยที่ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ที่เป็น “มันสมอง” ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว ต้องประสบราชภัยและไม่ได้กลับมาประเทศไทยอีกเลย จนไปจบชีวิตลงที่กรุงปารีส ไม่ต่างจากผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎรคนอื่นที่ประสบความเป็นไปต่างๆ นาๆ ในแบบของตนๆ

ไฮไลท์ของการยึดทรัพย์ฝ่ายเจ้าในครั้งนั้น อยู่ที่รัฐบาลซึ่งมีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยต่อศาล ว่าพระองค์ได้ทรงขนและโยกย้ายทรัพย์สมบัติและทรัพย์สินเงินทองออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และต่อมาศาลก็ได้อายัดทรัพย์สินเงินทองส่วนพระองค์รวมทั้งวังสุโขทัยไว้ทั้งหมด

ต่อเรื่องนี้ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรม ว่า

“การที่เราคิดจะไปอียิปต์นั้นเป็นอันว่าเปลี่ยนไปไม่ได้แล้ว เพราะรีบกลับอังกฤษโดยที่เรามีแปลนว่าจะต้องรีบไปอินเดีย เล็กคงจะไม่ทราบว่าเราคิดจะไปอินเดีย แต่ที่คิดดังนั้นคือเกี่ยวกับเรื่องที่จะต่อสู้ความที่เราถูกฟ้องในศาลที่เมืองไทย เขาได้ส่งสำนวนฟ้องมาให้เราแล้ว และให้เราแก้สำนวนฟ้องภายใน 2 เดือน ฉันจะรีบให้Craig บินไปเมืองไทยต้นเดือนหน้าเพื่อไปปรึกษากับหมอความในเมืองไทยร่างคำแก้ฟ้อง การเตรียมการแก้ฟ้องนี้จำเป็นต้องให้ Craig ไปเมืองไทยเพราะมีอะไรต้องทำที่นั่นหลายอย่าง การที่ให้หมอความมาจากเมืองไทยไม่มีประโยชน์เท่า และพอทำร่างฟ้องเสร็จแล้ว Craig จะต้องบินมาให้เราเซ็น ถ้าต้องบินมาถึงอังกฤษก็แปลว่ามีเวลาอยู่ที่เมืองไทยวันเดียวเท่านั้น การอยู่อินเดียจึงเป็นประโยชน์ในการติดต่อกับเรามาก เพราะฉะนั้นเราอยากจะไปอินเดียโดยทางเรือในต้นเดือนหน้าเหมือนกัน และอาจจะไปอยู่ที่ Calcutta เราไม่อยากไปอยู่นานเลย แต่อยากจะอยู่จนรู้ว่าโจทก์เขาให้การต่อศาลว่าอย่างไร เพื่อฉันจะออกความเห็นในการแก้ความได้บ้าง เสร็จแล้วก็จะรีบกลับมา นึกว่าจะกลับมาได้ในเดือนกันยายน การไปอินเดียคราวนี้ เราคิดจะไปกับสมสวาท (สมสวาทคือชื่อของคุณรอง โชติกเสถียร) และมนัสก์เท่านั้น จะเลื่อนยศสองคนนั้นขึ้นเป็น secretary และ valet ที่จะทำดังนั้นเพราะไม่เปลืองเงิน และสองคนนั้นเขาดูแลเราได้ดีกว่าคนอื่นๆ มาก เพราะเป็นบ่าวได้ด้วย นอกจากนี้เรานึกกันว่าถ้าเราขึ้นไปด้วยที่เมืองไทย เขาคงหาว่าไปทำขบถแน่ ที่เลือกไปอินเดียก็เพราะไม่มีคนไทยที่นั่น และการติดต่อกับเมืองไทยเร็วเพราะมีเครื่องบิน ไม่เหมือนกับปีนังเป็นต้น แต่ที่เราจะไปนี้ทางเมืองไทยก็อาจจะ misunderstand กันได้ เพราะฉะนั้นฉันได้เขียนอธิบายเหตุผลอย่างยืดยาวไปที่ราชวังสัน (พระยาราชวังสัน ทูตไทยที่กรุงลอนดอน ค.ศ 1939) เพื่อให้แกรายงานไปเมืองไทย และบอกว่าถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นที่เมืองไทยอย่าซัดให้เรา เพราะไม่รู้ไม่ชี้ เราจะสู้ความเท่านั้น แปลนต่างๆ เหล่านี้ อาจจะต้องเปลี่ยนไปอีกภายใน the next 24 hrs นี้ก็ได้ เพราะเหตุการณ์ของโลกได้เปลี่ยนเร็วเหลือเกินในเวลานี้..............” (อ้างจาก “ชีวิตเหมือนฝัน เล่ม 1” ของคุณหญิงมณี สิริวรสาร)

ทว่า ระหว่างนั้น ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นเสียก่อน พระองค์ท่านจึงไม่ได้เสด็จไปอินเดียและก็ทรงแพ้คดี จนถูกยึดทรัพย์ที่เหลืออยู่ในเมืองไทยทั้งหมด โดยระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง พระองค์ท่านก็เสด็จสวรรคต

ถึงกระนั้น ทายาทของพระองค์ท่าน ก็มิได้ขัดสน เนื่องเพราะทรัพย์สินในต่างแดนได้ถูกบริหารจัดการโดย Trust Funds ที่มีบรรดาTrustees คอยดูแลให้ทั้งในแง่การลงทุนเพื่อดอกผลและการเบิกจ่ายอย่างเป็นระเบียบ

นักการเมืองสมัยนี้ ก็รู้จักซ่อนเงินและทรัพย์สินไว้ในต่างประเทศเช่นเดียวกัน แม้ชาตินี้จะไม่ต้องอนาทรร้อยใจ และลูกหลานก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการหาเลี้ยงชีพอีกต่อไป ทว่า การถูกยึดทรัพย์ที่คงเหลืออยู่ในเมืองไทยนั่นแหละ คือปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้พวกเขาสูญสิ้นอำนาจทางการเมืองไปอย่างสิ้นเชิง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2551

ชีวิตอันแสนสร้างสรรค์และแสนห้าวของ Earnest Hemingway

“In the late summer of that year, we lived in a house in a village that looked across the river and plain to the mountains. In the bed of the river there were pebbles and boulders, dry and white in the sun, and the water was clear and swiftly moving and blue in the channels. Troops went by the house and down the road and the dust they raised powdered the leaves of the trees. The trunk of the trees too were dusty and the leaves fell early that year and we saw the troops marching along the road and the dust rising and leaves, stirred by the breeze, falling and the soldiers marching and afterward the road bare and white except for the leaves.

The plain was rich with crops; there were many orchards of fruit trees and beyond the plain the mountain were brown and bare. There was fighting in the mountains and at night we could see flashes from the artillery. In the dark it was like summer lightning, but the nights were cool and there was not the feeling of a storm coming.”



นั่นเป็นสองย่อหน้าแรก ของนวนิยายอเมริกันเรื่องสำคัญ A Farewell to Arms ของ Earnest Hemingway ที่นักอ่าน นักเขียน นักวิจารณ์ และนักหนังสือพิมพ์รุ่นหลัง ตลอดจนนักภาษาศาสตร์และผู้ที่ต้องการเอาดีทางด้านเขียนหนังสือจำนวนนับไม่ถ้วน พากัน อ่าน ชำแหละ แยกแยะ วิเคราะห์ วิพากษ์ นำไปบรรจุเป็นบทเรียนในชั้นมัธยมและมหาวิทยาลัย......อ่านซ้ำรอบสอง รอบสาม รอบสี่ รอบห้า และอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่หนังสือเล่มนั้น เขียนเสร็จเมื่อ 90 ปีมาแล้ว

สไตล์การเขียนแบบนี้แหละที่ “โดนใจ” คนอ่านและนักเขียนรุ่นหลังจำนวนมาก จน Hemingway แทบจะกลายเป็นเสมือนเจ้าลัทธิที่มีสาวกจำนวนมากทั่วโลก ที่คอยจำเริญรอยตาม “ปฏิปทา” ของเขา ทั้งในแง่การเขียน การพูด ทัศนะต่อโลกและชีวิต รสนิยมการใช้ชีวิต ตลอดจนสไตล์การดำเนินชีวิตประจำวัน ที่เต็มไปด้วยความโลดโผนโจนทะยานแบบลูกผู้ชาย ยิงนก ตกปลา ล่าสัตว์ ร่องเรือ โต้คลื่น สู้วัว และกิน เที่ยว ดื่ม แบบค่อนข้างจะ “หัวราน้ำ” (หนังสือ A Farewell to Arms ฉบับพิมพ์ครั้งแรกพร้อมลายเซ็นของเขามีค่าถึง 5,877 เหรียญสหรัฐฯ บน www.ebay.com เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา)

สไตล์การเขียนของ Hemingway ห้วน สั้น กระชับ เน้นผูกรูปประโยคแบบพื้นฐาน “ประธาน-กิริยา-กรรม” คำขยายน้อย บางทีก็ตั้งใจละไว้ให้เข้าใจหรือรู้สึกเอาเอง ถ้าเปรียบเป็นหนัง ก็เป็นหนัง Action ที่การเดินเรื่องรวดเร็ว เข้าใจง่าย ใครที่เคยอ่านชิ้นงานข่าวของเขา (เช่นใน By-Line) ย่อมเห็นว่ามันกระชับมาก แต่ก็ครอบคลุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ครบถ้วน ครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เขาเคยเขียนโทรเลขถึง Lincoln Steffens ว่า Steffens อ่านโทรเลขสิ มันไม่มีไขมัน ไม่มีคุณศัพท์ ไม่มีวิเศษณ์ มีแต่เลือด กระดูก และกล้ามเนื้อ…..มันเป็นภาษาแบบใหม่” (“Steffens, look at this cable: no fat, no adjectives, no adverbs – nothing but blood and bones and muscle…..It’s a new language”)

ก่อนจะดัง Hemingway ชอบแต่งบทกวีมาก เขาเลียนแบบ Ezra Pound ที่ต้องสรรหาคำที่ “ใช่” โดยหลีกเลี่ยงคำขยาย เขาว่า “งานเขียนคือโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม มิใช่การตกแต่งภายใน หมดยุคบารอคแล้ว” (Prose is architecture, not interior decoration, and the Baroque is over” )

สไตล์ที่ Hemingway เขียน เป็นการก่อเกิดวิธีเขียนแบบใหม่ในภาษาอังกฤษ ผมอยากจะยกตัวอย่างประโยคหนึ่งจาก A Movable Feast ที่เขาบรรยายช่วงท้ายของการซ้อมมวยระหว่างเขากับ Ezra Pound ภาษาอังกฤษที่ใช้นั้นห้วนกระชับ และเดินเรื่องรวดเร็ว ครอบคลุมกิจกรรมตั้งแต่ชกจนเลิกได้ภายในประโยคเดียว ราวกับหนัง Action ของ Arnold Schwarzenegger ยังไงยังงั้น

เขาเขียนว่า “ผมไม่ได้ตอบโต้เลย เพียงแต่ต้อนให้เอสรายักย้ายตามผม ยกการ์ดซ้ายและแย๊บขวาบ้าง แล้วก็พูดว่าพอเถอะ แล้วกินน้ำกินท่า เอาเหยือกราดหัว เช็ดด้วยผ้าเช็ดตัว แล้วก็คลุมด้วยเสื้อคลุม” (“I never countered but kept Ezra moving after me and sticking out his left hand and throwing a few right hands and then said we were through and washed down with a pitcher of water and toweled off and put on my sweatshirt.”)

หรืออีกประโยคหนึ่งจากหนังสือเล่มเดียวกันว่า “บนเขาสูงเหนือราวป่า ผมจำได้ว่ากำลังตามจิ้งจอกภูเขา จนเข้าใกล้ขนาดมองเห็นว่ามันกำลังยืนยกขาหน้าขวาของมัน แล้วก็ย่องเข้าไปอย่างระมัดระวัง พอหยุดมันก็ตะครุบ ไก่ป่าสีขาวดิ้นรนกระเสือกกระสน ขนปลิวว่อน แต่ก็หลุดบินขึ้นจากหิมะไปบนสันเขาได้สำเร็จ” (“In the high mountains above the tree line I remember following the track of a fox until I came in sight of him and watching him stand with his right forefoot raised and then go carefully to stop and then pounce, and the whiteness and the clutter of a ptarmigan bursting out of the snow and flying away and over the ridge.”)

Hemingway ถือหลัก “Pass-through” คือเมื่อตัวเอง “เห็น” และ “รู้สึก” อย่างไร ก็เขียนให้คนอ่าน “เห็น” และ “รู้สึก” เช่นนั้นด้วย นั่นต้องเกิดจากการสำรวจจิตใจตัว และเลือกสรรคำที่แสดงความรู้สึกจากประสบการณ์ทางอารมณ์นั้นๆ ถ้าให้ดีก็ต้องเป็นคำที่อ่านแล้ว “เห็นภาพพจน์ชัดเจน” ในคำๆ เดียว ไม่จำเป็นจะต้องอธิบายเพิ่มเติม แต่ถ้าคำแบบนั้นไม่มี ก็ต้องหาคำที่ใกล้เคียงที่สุด หรือหาคำอื่นมาประกอบ แล้วค่อยบรรจงถ่ายทอดออกมาผ่านภาษาเขียน ที่บรรจงผูกร้อยขึ้นเป็นคำ เป็นวลี เป็นประโยค เป็นหลายประโยค กระทั่งเป็นย่อหน้า และหลายย่อหน้า เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพในหัวหรือในจินตนาการ เหมือนกำลังดูภาพเขียนหรือดูภาพยนตร์ เขาเขียนหนังสือเหมือนกำลังวาดฉากและเหตุการณ์ให้เราดู ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษก็ว่า มันคืองาน Illustration นั่นเอง

เขาเคยให้ความเห็นต่อหลักการเขียนแบบนี้ว่า “จงหาว่าอะไรที่ทำให้คุณสะเทือนอารมณ์ เหตุการณ์ที่ทำให้คุณตื่นเต้น แล้วลงมือเขียนให้ชัด ให้มั่นใจว่าคนอ่านเขาสามารถเห็นและรู้สึกอารมณ์เดียวกันนั้นได้ ประหนึ่งว่าเป็นตัวคุณเอง” (“fine what gave you the emotion; what the action was that gave you the excitement .Then write it down making it clear so the readers can see it too and have the same feeling that you had.”) หรือ “หนังสือดีทั้งหมดคล้ายกัน มันจะเป็นจริงยิ่งกว่าที่มันเกิดขึ้น เมื่ออ่านหนังสือดีจบ คุณจะรู้สึกคล้ายกับมันเกิดขึ้นกับตัวคุณ สิ่งดี สิ่งเลว ความสุข ความเศร้า ความทุกข์ ผู้คนและสถานที่ สภาพดินฟ้าอากาศ” (หมายเหตุ-วรรคหลังนี้ ผมอ้างจากคำแปลของพิมาน แจ่มจรัส ใน “ปาป้า เฮมิงเวย์ อลังการแห่งชีวิตห้าว” เลยไม่มีภาษาอังกฤษกำกับ)

เขาไม่เชื่อว่าการเขียนหนังสือจะสอนกันได้ มันต้องเรียนรู้ก็ด้วยการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงและเนิ่นนาน จากข้อเขียนของเขาและปากคำของคนรอบข้าง เราพบว่า Hemingway ตื่นขึ้นมาก็เขียนหนังสือเลย และเขียนวันละหลายชั่วโมง ส่วนใหญ่จะพักตอนบ่ายโมง แล้วกลับมาเขียนอีกในตอนกลางคืน เขาเป็นคนพิถีพิถัน เขามักตรวจแก้หลายรอบกว่าจะพอใจ เขาว่าวิธีการของเขาอุปมา “เหมือนกับมองดูอะไรบางอย่างด้วยตาของท่าน เช่นมองดูฝั่งทะเล แล้วมองดูอีกครั้งด้วยกล้องขยาย หรืออีกวิธีหนึ่งมองดูมัน และเข้าไปอยู่ภายในมัน จากนั้นก็ออกมาแล้วมองดูอีกครั้ง”

งานเขียนของ Hemingway ได้รับการยกย่องอย่างมาก ถือกันว่าเป็นงานประเภท Breakthrough ของโลกวรรณกรรม ชนิดที่ถ้าลบผลงานเขาออก ประวัติศาสตร์ของวงวรรณกรรมโลกจะไม่สมบูรณ์เลยทีเดียว ทั้งยังเป็นแม่แบบให้นักเขียนรุ่นหลังได้เลียนแบบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้ งานเขียนอย่าง The Sun Also Rises, A Farewell to Arms, For Whom the Bell Tolls, หรือ The Old Man and the Sea นั้น ย่อมเป็นงานศิลปะที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์และทักษะสูงมาก หนังสือประเภท Creative Writing ทุกเล่มที่สอนการเขียนภาษาอังกฤษแบบสร้างสรรค์และมีสไตล์ ย่อมต้องคัดเอาประโยคหรือย่อหน้าของเขาไปเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ ไม่มากก็น้อย

สมัยที่ผมเริ่มเข้าวงการหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ จำได้ว่าวันหนึ่ง หลังกลับจากลี้ภัยรัฐประหารในฐานะหัวหน้าที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก พันศักดิ์ วิญญรัตน์ มาบรรยายให้ฟังถึงวิธีการเขียน Non-Fiction Writing และได้มอบหนังสือเล่มหนึ่งของศาสตราจารย์ทางด้านภาษาศาสตร์และสื่อสารมวลชนคนสำคัญของอเมริกาไว้ให้ ในนั้น ผมจำได้ว่ามีตัวอย่างงานเขียนของ Hemingway จำนวนมาก ที่ได้รับการอ้างอิง ชำแหละ และวิเคราะห์ ด้วยความยกย่อง

The Creative Mind

MBA เราสนใจ “กระบวนคิด” ของนักคิด นักสร้างสรรค์ผลงานชั้นยอดทั้งหลายของโลก (Creators) ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือนักบริหารที่สร้างสรรค์ธุรกิจจนแผ่กิ่งก้านสาขาให้ผู้คนจำนวนมากได้อาศัยร่มเงา ไปจนถึงรัฐบุรุษ นักปราชญ์ราชบัณฑิต และบรรดาศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ ให้ไว้เป็นมรดกสำหรับชนรุ่นหลัง

เรามักถามคำถามเสมอว่า พวกเขา “คิดออก” ได้อย่างไร ทำไมความคิดพวกเขาถึง “บิน” ไปได้ ผลงานของพวกเขาจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยุคสมัยหรือที่เคยมีมาก่อน นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น มันมาได้อย่างไร พวกเขาเรียนรู้อะไรกัน เรียนรู้อย่างไร ฝึกทักษะกันแบบไหน นิสัยหรือสิ่งแวดล้อมแบบใดบ้างที่พึงปรารถนาต่อการงอกงามของความคิดสร้างสรรค์ในบุคคลนั้น เวลาพวกเขามีทุกข์ พวกเขาจัดการตัวเองให้ออกจากสภาวะทุกข์นั้นๆ หรือให้พ้นทุกข์ไปได้อย่างไร การดำเนินชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร มีนิสัยที่น่ายกย่องและน่ารังเกียจบ้างไหม พวกเขาปฏิบัติต่อคนรอบข้าง เช่นเพื่อนฝูงหรือครอบครัว อย่างไร ฯลฯ

ในกรณีของ Hemingway ผมพบว่า เขาเป็นคนมีครบองค์อิทธิบาท 4 โดยเฉพาะกับสองคุณสมบัติแรก เขามีฉันทะแรงกล้า คิดและใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน อยากเห็นโลกกว้าง อยากมีชื่อเสียงตั้งแต่ยังเด็ก เขาตั้งใจ วางเข็มมุ่ง มีวินัย รับผิดชอบสูง และขยันขันแข็งอย่างยิ่ง แม้เขาจะเรียนไม่สูง แต่ก็ Self-taught อย่างหนัก ช่วงก่อนที่จะดัง เขาแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองแทบจะตลอดเวลา เขาอ่านหนังสือจำนวนมาก จดบันทึก วิเคราะห์ ถกเถียง หัดเขียน และเข้าหานักเขียนเก่งๆ เขาไม่ละเลยที่จะเรียนรู้แบบ “ครู พัก ลัก จำ” โดยเฉพาะกับ Ezra Pound และ James Joyce

ช่วง Formative Years ของเขาในฐานะนักเขียน เป็นช่วงที่เขาอยู่ปารีส ช่วงนั้นเขาอ่านงานวรรณกรรมอย่างหนักหน่วง (แม้จะยังไม่มีเงินพอซื้อหนังสือ ก็อาศัยเช่าอ่านจากร้าน Shakespeare & Co.) เขาศึกษาวรรณกรรมคลาสสิกของอังกฤษแทบทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของ Rudyard Kipling, Joseph Conrad, และ Shakespeare เขาอ่านทุกเรื่องอย่างละเอียด (และอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดชีวิตเขา) นอกนั้นก็ยังศึกษางานเขียนของ Stendhal (นามปากกาของ Marie-Henri Beyle), Gustave Flaubert, Henore’ de Balzac, Guy de Maupassant, Emile Zola, Leo Tolstoy, Ivan Turgenev, Fyodor Dostoyevsky, Henry James, Mark Twain, Stephen Crane, Joseph Conrad, T.S. Eliot, Gertrude Stein, D.H. Lawrence, Ezra Pound, Maxwell Anderson, และ James Joyce (เขายอมรับว่าสไตล์ของตัวเองตกผลึกมาจากสไตล์ของ Kipling และ Joyce) เขาศึกษาแม้กระทั่งงานเขียนของนักเขียนชั้นรองอย่าง Hugh Walpole, George Moore, Sherwood Anderson, Simenons, และ Frederick Marryat

ชีวิตของ Hemingway มีสีสัน น่าศึกษา ทั้งในแง่ที่เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง และในแง่ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะชั้นสูง งานเขียนของเขาเรียกร้องให้มนุษย์กล้าหาญ ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ยึดมั่นในความสัตย์ ความจริง ความเข้มแข็ง ความทรหด ไม่สะท้านสะเทือน ความสง่างาม ความสูงส่ง เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรี ฯลฯ ทว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง นิสัยส่วนตัวบางอย่างและการปฏิบัติต่อคนรอบข้างของเขา บางทีก็ไม่ยักกะเป็นอย่างที่เขียนในนวนิยายและความเรียงจำนวนมากนั้น

เขาเกิดเมื่อปี ๒๔๔๒ ราวปลายรัชกาลที่ ๕ ในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีอันจะกิน บ้านอยู่แถว Oak Park ใกล้เมืองชิคาโก พ่อเป็นหมอ ชอบตกปลา ล่าสัตว์ ยิงปืน เที่ยวป่า ร่องเรือ และเล่นกีฬา แม่ก็เป็นคนฉลาด มีการศึกษา เรียนจากสถาบันศิลปะที่นิวยอร์ก ชอบอ่านหนังสือ วาดรูป ออกแบบเครื่องเรือน สร้างบ้านและตกแต่งภายในเอง เขียนหนังสือสำนวนดี ร้องเพลงเก่ง เล่นดนตรีได้หลายชนิด แถมแต่งเพลงเองจำนวนมาก Hemingway เป็นลูกชายคนโต เลยได้รับถ่ายทอดความสามารถพิเศษบรรดามีของพ่อแม่มาแต่เล็ก เขาอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียน เขาอ่านหนังสือจำนวนมากและหลากหลาย อ่านผลงานวรรณกรรมแนวผจญภัยของ Rudyard Kipling จบทุกเล่มเมื่อยังเด็ก และชอบชีวิตกลางแจ้งเหมือนพ่อ แถมปู่กับตา ก็เคยไปรบสมัยสงครามกลางเมือง ทั้งคู่ชอบเล่าเรื่องสงครามและวีรบุรุษสงคราม ซึ่งน่าจะมีอิทธิพลต่อ Hemingway ให้สนใจสงครามด้วยเช่นกัน

เขาเรียนหนังสือเก่ง คะแนนวิชาภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์อยู่ในเกณฑ์ “ดีมาก” เขาสนใจการเขียนตั้งแต่เด็ก พอมัธยมก็ร่วมทำหนังสือพิมพ์โรงเรียน ต่อมาก็ได้เป็นบรรณาธิการ ระยะนี้เขาเขียนเรื่องสั้นจำนวนมาก แม่เขาบังคับให้เล่นเชลโล่ แต่พ่อให้ชกมวย เขาชอบอย่างหลัง พอจบมัธยมปลายก็เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น Kansas City Star ช่วงนี้สไตล์การเขียนของเขาพัฒนารุดหน้าไปมาก เขาถูกฝึกให้เขียน สั้น-ห้วน-กระชับ-ง่ายๆ-ธรรมดา

ต่อมาเมื่อมีชื่อเสียงแล้ว เขารับว่าความรู้และทักษะเรื่องการเขียนของตัวเองพัฒนาก้าวกระโดดขึ้นมากในช่วงนี้เอง เขาว่าคู่มือการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์นั้นดีมาก (เรียกว่า “110 Rules—does and doesn’t”) ช่วยให้เขาพัฒนาสไตล์ของตัวเองขึ้นมาได้ในเวลาต่อมา

ในเชิงปัญญา เขาก็เหมือนกับปัญญาชนฝรั่งส่วนใหญ่ที่เมื่อโตขึ้นก็เริ่มปฏิเสธพระเจ้า หันมายึดมั่นกับความคิดตัวเอง ยึดเอาคุณธรรมประจำใจเป็นตัวนำทางชีวิตแทนพระคัมภีร์ ทั้งๆ ที่พ่อแม่เขาเคร่งศาสนา ทัศนะต่อชีวิตแบบไม่มีพระเจ้ากับทักษะการเขียนภาษาอังกฤษแบบใหม่นี่แหละ ที่เป็นหัวใจสำคัญของนวนิยายที่เขาเขียน ทำให้งานเขียนของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนถือกันว่าเป็นงานระดับ Breakthrough ดังได้กล่าวมาแล้ว

อีกแง่หนึ่ง เขาก็เหมือนหนุ่มอเมริกัน ที่มีความทะเยอทะยาน อยากมีชื่อเสียง ประกอบกับความกระสันอยากผจญภัยไปในโลกกว้างและความฝังใจต่อเรื่องสงคราม เขาจึงตัดสินใจไม่เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่กลับสมัครเข้าเป็นทหาร เพื่อไปรบในยุโรป ซึ่งขณะนั้นกำลังเกิดสงครามโลกครั้งแรก เขาได้อยู่ประจำหน่วยรถพยาบาลของกาชาดสากล เพราะสายตาสั้น

Hemingway ได้ประจำการที่แนวรบอิตาลีเหนือ แถบเทือกเขา Alp ที่เรียกว่า Dolomite ถือเป็นแนวหน้าที่อันตราย ทั้งหนาว ทั้งสูงชัน เป็นแนวที่อิตาลียันกองทัพออสเตรีย ใครที่เคยไปเที่ยวแถวนั้น จะต้องขึ้นไปบนเขา เที่ยวดูอุโมงค์สำหรับการยุทธ์ที่ขุดไว้เต็มไปหมดเพื่อเตือนใจถึงความโหดร้ายของสงคราม สมัยโน้น Hemingway ได้รับบาดเจ็บที่ขา และมีสัมพันธ์รักกับพยาบาล ต่อมาก็ได้รับเหรียญกล้าหาญ ช่วงนี้เขาเริ่มดื่มจัด ประสบการณ์ช่วงนี้แหละ ที่ต่อมาเขาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนเรื่อง A Farewell to Arms (อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปลเป็นไทยชื่อ “รักระหว่างรบ”) ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นงานเขียนที่ดีที่สุดของเขา ทั้งพล็อต ฉาก สถานที่ ตัวละคร การดำเนินเรื่อง และบทสนทนา ล้วนมาจากความทรงจำของชีวิตช่วงนี้เอง

เมื่อหายดี เขากลับอเมริกา แต่งงาน แล้วก็ย้ายมาปารีส

Hemingway เริ่มชีวิตนักเขียนหนุ่มในปารีสราวปี ๒๔๖๔ (ร่วมสมัยกับที่บรรดานักปฏิวัติคนสำคัญของไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในปารีสขณะนั้น) โดยมีงานหลักเป็นนักข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ในอเมริกา เขาคลุกคลีอยู่กับบรรดานักเขียน ศิลปิน กวี และปัญญาชน แถบ Left Bank เขาเริ่มเขียนเรื่องสั้น โดยอาศัยร้านกาแฟและภัตตราคารต่างๆ เป็นประจำ เขาทำงานหนัก มีวินัยสูง ถ้าอ่านบันทึกประจำวันช่วงนี้ของเขา ประกอบกับ A Moveable Feast (ดวงวิภา สามโกเศศ เคยแปลเป็นไทยชื่อ “ชีวิตไม่จีรัง”) ก็จะรู้ว่าเขาทำงานอย่างมีวินัย ควบคุมตัวเอง ค้นคว้า และพยายามคิดค้นอย่างหนัก เพื่อหาสไตล์ของตัวเอง บางประโยคเขาเขียนแล้วเขียนอีก ขีดฆ่าและปีกกาแทรกคำหรือวลีเพิ่มจำนวนมาก บางครั้งเขาก็สารภาพว่ากว่าจะเขียนได้สักย่อหน้าหนึ่ง อาจต้องใช้เวลาทั้งวัน ผมว่าบันทึกและหนังสือเล่มนั้น รวมทั้งคำแนะนำในการเขียน ที่เขาเปิดเผยในภายหลัง ทั้งใน The Green Hills of Africa, Death in the Afternoon, และ By-line ล้วนเป็นประโยชน์มาก น่าที่นักเขียนหรือนักข่าวรุ่นหลัง ควรมีไว้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

Ezra Pound กวีอเมริกันคนสำคัญ เป็นคนตามีแวว ทำนายตั้งแต่ตอนนั้นว่า Hemingway จะเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ Pound แนะนำให้ Hemingway เข้าทำงานกับ Ford Madox Ford ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการของนิตยสาร Transatlantic Review ที่ถือเป็นนิตยสารแนว Avant-garde ในขณะนั้น เขาจึงเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ศิลปินในฐานะนักเขียนและกวีหน้าใหม่ผู้เปี่ยมความสามารถ และเป็นเจ้าของงานเขียนที่มีลักษณะพิเศษ แตกต่าง สร้างสรรค์ แบบไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร (Originality)

กระนั้นก็ตาม คนในวงกว้างก็ยังไม่รู้จักเขา ผลงานชิ้นแรก Three Stories and Ten Poems ยังต้องพิมพ์ในปารีส เพราะสำนักพิมพ์ใหญ่ยังไม่สนใจ อีกทั้งนักวิจารณ์จากนิตยสารหัวหลักก็ยังไม่ได้เหลียวแลที่จะวิจารณ์หนังสือเล่มนี้กันเลย ว่ากันว่าเรื่องสั้นชั้นยอดของเขาในช่วงนี้คือ The Undefeated

งานเขียนของ Hemingway กลายเป็นความสดใหม่ที่ทะลุกลางปล้องและโดดเด่นออกมาจากบรรดาความเรียงภาษาอังกฤษในขณะนั้น นอกจากสไตล์ที่เรียบง่าย “ห้วน-สั้น-กระชับ” แบบฉายภาพให้เห็นในหัวหรือจินตนาการของคนอ่าน ด้วยการดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว ฉับๆ ๆ ๆ ๆ ดังที่ได้อธิบายแล้ว มันยังแฝงไว้ด้วย “แม่แบบชีวิต” หรือ “ค่านิยม” หรือ “คุณค่าทางจริยธรรม” อย่างใหม่ ที่เขาตั้งใจวางแบบไว้ให้เป็น “ต้นแบบ” ของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อีกด้วย

ตัวเขาเอง ก็พยายามที่จะนำพาชีวิตให้ดำเนินไปตามครรลองที่เขาวางแบบไว้ในข้อเขียนและนวนิยายของเขาเองด้วย มันเป็นระบบการดำเนินชีวิต และการยึดถือคุณค่าบางอย่างในชีวิต ที่ไม่มีพระเจ้า แต่ยึดเอาความจริง ความสูงส่ง เกียรติยศ ศักดิ์ศรี ความกล้า ความแกร่ง ความเข้มแข็ง ความขยัน ความแข็งแรง ความเปี่ยมพลังชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นนักสร้าง นักทำ นักปฏิบัติ นักล่า ผู้ครอบครอง และผู้ชนะ ฯลฯ แต่ทว่าตรงไปตรงมา เยือกเย็น ข่มใจ และอ่อนน้อมถ่อมตน....นั่นเป็นสไตล์

มันเป็นชีวิตที่ “Noble”

ทุกการกระทำของมนุษย์ในสายตา Hemingway ล้วนแฝงไว้ด้วย “ระบบคุณค่า” และ “การตัดสินคุณค่า” เพราะมันมีทั้งวิธีการปฏิบัติที่ถูกและผิดวิธี แม้แต่การดื่มไวน์ที่ผมอยากจะยกมาเป็นตัวอย่าง ดังที่เคยกล่าวไว้ใน A Moveable Feast ว่า “ในยุโรปสมัยโน้น เราถือว่าไวน์เป็นอะไรที่ดีต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับอาหาร ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่านั้น มันยังเป็นตัวหยิบยื่นความสุข ความสำราญ และความแจ่มใสอย่างยิ่ง ให้เราอีกด้วย การดื่มไวน์ ไม่ได้เป็นเรื่องโก้เก๋ หรือเป็นเรื่องทันสมัย หรือเป็นลัทธิอะไรเลย มันเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่ง เหมือนกับการกินอาหารนั่นแหละ และสำหรับผมแล้ว มันจำเป็นมาก ผมไม่เคยคิดว่าต้องกินอาหารโดยไม่มีไวน์ หรือไซเดอร์ หรือเบียร์ คอยแกล้ม มาก่อนเลย” (“In Europe then we thought of wine as something as healthy and normal as food and also as a great giver of happiness and well being and delight. Drinking wine was not snobbish nor a sign of sophistication nor a cult; it was as natural as eating and to me as necessary, and I would not have thought of eating a meal without drinking either wine or cider or beer.”)

นั่นจึงทำให้ Hemingway แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากนักเขียนคนอื่น เพราะข้อเขียนของเขาเป็นดั่งคัมภีร์ชีวิต ที่แม้แต่ตัวเองก็พยายามจะยึดถือไว้ด้วยในโลกที่ไม่ใช่นิยาย ด้านหนึ่งมันคล้ายกับลัทธิหรือความเชื่อทางศาสนา แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ต่างโดยสิ้นเชิง เพราะเขาชิงชังรังเกียจการเทศนาสั่งสอนคนอ่าน และปฏิเสธวิธีเขียนแบบนั้นโดยสิ้นเชิง

Self-image หรือ “ยี่ห้อ” ที่เขาสร้างขึ้นชั่วชีวิต คู่ขนานกันไปกับงานเขียนของเขา ก็สอดคล้องกับระบบคุณค่าอันนั้นด้วย เรามักนึกถึง Hemingway ในฐานะ “A man of Action” กับชุดซาฟารี กับสัตว์หรือปลาที่ล่ามาได้ กับคู่ต่อสู้บนสังเวียนชกมวย กับการสกีจากยอดเขาสูง กับปืนและรังลูกกระสุนพาดบ่า กับเหล้า กับบุหรี่ กับการสู้วัวกระทิง และกับสงคราม เหมือนกับบรรดาตัวเอกในงานเขียนของเขา

เขาทำให้ชีวิตแบบ Action หรือชีวิตกลางแจ้ง กลายเป็นกิจกรรมที่มีเกียรติ์หรือ “Noble” ทั้ง “นอกจอ” และ “ในจอ”

แน่นอน สาวกของ Hemingway ย่อมมีอยู่ทั่วโลก ผมคิดเอาเองว่า ช่วงหนึ่ง งานเขียนของนักเขียนใหญ่ของเราที่มีความสามารถสูงมากอย่าง เสกสรร ประเสริฐกุล ก็เคยได้รับอิทธิพลจาก Hemingway อย่างมาก แม้คนอย่างเสกสรร ถ้าไม่เห็นความจริงด้วยการตริตรองของตัวเองหรือประจักษ์ด้วยตัวเองแล้ว ก็ยากที่จะชักจูงเขาได้ง่ายๆ ที่ว่านี้ ไม่ได้บอกว่าตัวเสกสรรเป็นสาวกของ Hemingway นะครับ อย่าเข้าใจผิด

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์และผู้เขียนชีวประวัติเขายุคหลัง มักมีหลักฐานจับผิดหาว่าเรื่องบางอย่างที่เขาเขียนเกี่ยวกับตัวเขาและคนอื่น เป็นเรื่องโกหก หรือไม่ก็กุขึ้น ทำให้เรื่องจริงหลายเรื่องถูกลดทอนความน่าเชื่อถือไปด้วย ดังตัวอย่างเรื่องสายตาสั้นแล้วอดอยู่หน่วยรบ เรื่องผู้หญิงซิซิเลี่ยนที่กักเขาไว้เพื่อให้บำเรอเธอกว่าอาทิตย์ เรื่องหยุดม้าด้วยมือเปล่าเมื่ออายุห้าขวบ เรื่องที่เขาเคยหมั้นหมายกับนักแสดง Mae Marsh เรื่องน้องสาวคนหนึ่งของเขาถูกข่มขืน เรื่องโอ่เพื่อนตอนอายุ 18 ว่าตกปลาได้ทั้งๆ ซื้อปลาตัวนั้นมาจากตลาด เรื่องเคยจมูกหักตอนชกมวยครั้งหนึ่ง ตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับแม่ เมีย และบรรดาเพื่อนนักเขียนของเขา เป็นต้น ฯลฯ นักวิจารณ์บางคนถึงกับยกคำกล่าวอ้างที่ตัว Hemingway เคยเขียนไว้ในงานเขียนเรื่องสั้น Soldier’s Home มาย้อน Discredited ตัวเขาเอง ที่ว่า “ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดานักเขียนชั้นยอดจะเป็นคนพูดปด...ความสามารถพิเศษที่สำคัญของพวกเขาอย่างหนึ่งก็คือการโกหกหรือกุเรื่องขึ้น.....พวกเขามักโกหกโดยไม่รู้ตัว....” (“It is not unnatural that the best writers are liars,….A major part of their trade is to lie or invent…They often lie unconsciously…..”)

Hemingway เริ่มโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อตีพิมพ์งานรวมเรื่องสั้น In Our Time ที่ถือเป็นงานระดับ Breakthrough ของเขาและของวงการ นั่นตรงกับปี ๒๔๖๘ ยุคต้นรัชกาลที่ ๗ และ (ด้วยคำแนะนำของ Ezra Pound ที่บอกให้เขาหันมาเขียนนวนิยายแทนเรื่องสั้น) ย้ำด้วยนิยายที่ดังคับโลกอีกสองเล่ม The Sun Also Rises และ A Farewell to Arms ในปี ๒๔๖๙ และ ๒๔๗๒ ตามลำดับ หนังสือทั้งสองเล่มนั้นขายได้หลายแสนเล่มทั่วโลก พื้นเรื่องทั้งสองดึงเอามาจากประสบการณ์ตรงของเขาในสงครามโลกครั้งแรก

ทว่าในยามสงบ เขาก็เริ่มหันไปสนใจการสู้วัวในสเปน และการออกล่าสัตว์ในทุ่งซาฟารี และตกปลาน้ำลึกในฟลอริดาและคิวบา โดยประสบการณ์อันแรกเขาใช้มันหมดไปกับ Death in the Afternoon และเรื่องสั้นอีกจำนวนหนึ่ง ผมเองมีนิตยสาร Fortune ฉบับเดือนมีนาคม ๒๔๗๓ ซึ่งถือเป็นฉบับที่สองรองจากฉบับปฐมฤกษ์ ในนั้นมีบทความของเขาเรื่อง Bullfighting, Sport and Industry ที่เขาเขียนเป็น Scoop สำหรับนิตยสารธุรกิจ เน้นเรื่องจริงมิใช่เรื่องแต่ง มีตัวเลขสถิติอ้างอิงอย่างน่าสนใจ พิสูจน์ให้เห็นว่าเขารู้เรื่องการสู้วัวและอุตสาหกรรมสู้วัวดีมาก แถมยังเขียนหนังสือได้หลายแนวอีกด้วย

ส่วนประสบการณ์อย่างหลัง ถ้าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการล่าสัตว์ในซาฟารี ก็ต้องนับว่าเขาใช้มันหมดไปกับ Green Hills of Africa และ The Snow of Kilimanjaro (ถ้านับอย่างกว้างก็อาจรวมถึง The Dangerous Summer ที่ตีพิมพ์รวมเล่มหลังเขาตายด้วยก็ได้) ส่วนประสบการณ์ในการตกปลาน้ำลึกนั้น เขาค่อยๆ ใช้มันไปอย่างค่อนข้างคุ้มค่า ทั้งกับบทสัมภาษณ์และเรื่องสั้นที่เขาให้กับนิตยสารจำนวนมาก (เขาดังยิ่งกว่าดาราเสียอีก) ทว่า ที่สำคัญมากก็คือนวนิยายเรื่อง The Old Man and the Sea ซึ่งถือเป็นผลงานชั้นยอด และนำพาให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ๒๔๙๗ นับว่ากู้ชื่อเสียงให้เขามากในตอนแก่ หลังจากที่เขาไม่สามารถผลิตงานชั้นยอดได้อีกเลยนับแต่ For Whom the Bell Tools ที่เขียนไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๓ โน่นแล้ว (และถ้านับอย่างกว้างอีก ก็อาจต้องรวมเอา Island in the Stream ที่ตีพิมพ์หลังเขาตายไว้ด้วยเช่นกัน)

เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในสเปน Hemingway ก็เข้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด แม้จะไม่ได้ร่วมรบเหมือนอย่าง George Orwell แต่ก็เข้าข้างพรรคคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกัน เขารอจนถึงปี ๒๔๕๓ จึงค่อยดึงเอาประสบการณ์ช่วงนั้นมาใช้ใน For Whom the Bell Tools (อาษา ขอจิตต์เมตต์ เคยแปลเป็นไทยไว้ในชื่อ “ศึกสเปน”) นวนิยายที่ขายดีที่สุดของเขาและทำให้เขากลายเป็นเศรษฐี และนั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ลดทอนความกระตือรือร้นของเขาต่อสถานการณ์สงครามในเวลาต่อมา เพราะเมื่อมองความสัมพันธ์ของเขาต่อสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว จะเห็นว่ามันมีความเชื่อมโยงน้อยมาก ทำให้สามารถตอบคำถามได้ว่าทำไม นวนิยายของเขาที่มีพื้นเรื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองถึงไม่มี แม้เขาจะเป็นคนชอบสงครามและฉากสงครามก็ตามที

Dark Side of an Artist

กลับกัน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขากลายเป็นคนดื่มหนักและใช้ชีวิตหัวราน้ำในฟลอริดาและคิวบา เขาซื้อบ้าน (The Finca Vigia) และเรือในคิวบา และใช้ชีวิตที่เหลือส่วนใหญ่ที่นั่น เขาสนุกกับการตกปลาน้ำลึก และใช้ชีวิตเข้าสังคม และดื่มกับคนทุกชนชั้นในฮาวานา เมื่อฮิตเล่อร์เริ่มบุกโน่นบุกนี่ เขาก็เริ่มเชื่อในทฤษฎีที่ว่าคิวบาจะต้องตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของพวกเผด็จการฟัซชิสเหมือนอย่างสเปน โดยฮิตเล่อร์จะแอบส่งเรือดำน้ำ U-boat เข้ามาส่งกำลังบำรุงให้กับกลุ่มปฏิวัติหรือพวกสเปนฝ่ายขวาในฮาวานา เขาจึงเริ่มขายความคิดนี้ให้กับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำคิวบาซึ่งเป็นเพื่อนวงเหล้ากับเขาเอง เพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนให้เขาจัดตั้งกองกำลังสอดแนมขึ้นระวังภัย

รัฐบาลสหรัฐฯ “ซื้อ” ความคิดเขา เลยเป็นที่มาของปฏิบัติการที่เขาเรียกว่า The Crook Factory ซึ่งเขาได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 1,000 ดอลล่าร์ต่อเดือน เพื่อจัดจ้างสายสืบ 6 คน และจารชนอีกกว่า 20 คน ให้คอยติดตามและรายงานพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัย กับน้ำมันอีกเดือนละ 122 แกลลอน พร้อมปืนกลและระเบิดมือ สำหรับติดตั้งบนเรือของเขา ที่ต้องใช้ลาดตระเวนในพื้นที่ที่คาดว่า U-boat จะโพล่มา

จุดนี้ นับเป็นจุดด่างพร้อยอันหนึ่งในชีวิตของ Hemingway เพราะนอกจากจะไม่มีหลักฐานยืนยันเลยว่าทีมของเขาได้พบ Spy ฝ่ายเยอรมันแล้ว คนยังวิจารณ์เขาว่าทำเรื่องไม่เป็นเรื่องเพื่อต้องการเที่ยวเล่นตกปลาฟรีๆ เสียมากกว่า (“Just cruise around and have a good time.”) ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ ผมก็ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผมพบว่าเอกสารของ FBI สมัยนั้น ถูกเปิดเผยออกมาแล้ว โดยมีคนหัวใสบางคนเอาแฟ้มทั้งแฟ้มที่เกี่ยวกับ Hemingway ที่ประกอบด้วยเอกสารจำนวน 127 หน้า มาถ่ายสำเนาลงไว้ในแผ่น CD-ROM แล้วนำมาขายผ่านเว็บไซต์บางแห่ง ตรวจสอบดูก็พบว่า FBI ขณะนั้นก็สงสัยในตัว Hemingway มาก พวกเขาทำรายงานส่ง J. Edgar Hoover ว่าข้อมูลที่เฮมิ่งเวย์ได้มานั้น มันไร้สาระ ไม่มีมูลพอเชื่อถือได้ รัฐบาลสหรัฐฯ สูญเงินเปล่า

จุดด่างอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้คนและนักเขียนชีวประวัติเขามักตำหนิเสมอ ก็คือการปฏิบัติต่อเพื่อนฝูง ข้อนี้เขาเหมือนกับรุสโสที่วิวาทกับเพื่อนฝูงเกือบทุกคน ทั้งสนิทและไม่สนิท นักวิจารณ์เห็นลงกันว่า อาจเกิดจากความที่เขาเป็นคนขี้อิจฉา เขาวิจารณ์เพื่อนปัญญาชนอย่างรุนแรงใน A Moveable Feast จะมียกเว้นก็แต่ Ezra Pound ที่เขาถือว่าตัวติดหนี้บุญคุณอยู่ และ James Joyce ที่เขายกย่องในฝีมือการเขียนมาก ถึงกับกล่าวว่า Joyce เป็น “นักเขียนที่ยังมีชีวิตอยู่คนเดียวที่เขานับถือ” (“The only alive writer that I ever respected”) และ Scott Fitzgerald ที่เขามองว่าหน่อมแน้ม ไม่เคยแม้กระทั่งนอนกับสาวอื่นนอกจากภรรยาตน และเพียงแค่คำพูดวางยาของภรรยา ก็ถึงกับเก็บมาคิดเป็นปมในใจ เขาเลยขอให้เจ้าตัวควัก “อวัยวะเพศ” ออกมาตรวจสอบดู เมื่อเห็นว่าขนาดของมันปกติดี จึงบอกให้เลิกกังวลได้ เพราะมันไม่ได้เล็กเกินไปอย่างที่ภรรยาตัวดีปรามาสเอาไว้

กับครอบครัวเอง Hemingway ก็มักปฏิบัติด้วยแบบไม่ค่อยดีนัก เพราะนอกจากเขาจะเขียนด่าแม่ตัวเอง (เคยใช้คำว่า “Bitch” เรียกแม่ตัวเองด้วย) และไม่พูดกันเลยในช่วงหลัง นับแต่พ่อเขาฆ่าตัวตาย เขายังด่าและถากถางพี่น้อง จะมีก็แต่น้องสาวคนเดียวเท่านั้น ที่เข้ากับเขาได้ (Ursula) ยิ่งกับภรรยาทั้ง 4 ของเขาด้วยแล้ว ยิ่งมีเรื่องราวให้เศร้าใจมากหลาย เร็วๆ นี้ ขนาด Gore Vidal นักเขียนใหญ่ของอเมริกา ยังกล้าเขียนไว้อย่างเปิดเผยในอัตชีวประวัติตัวเองว่า เขาเห็นใจผู้หญิงของ Hemingway ทุกคนเป็นอย่างยิ่ง (หมายเหตุ—ถ้าสนใจก็ลองอ่าน Point to Point Navigation ได้นะครับ)

อันที่จริง เรื่องผู้หญิงกับเฮมิงเวย์ เป็นเรื่องใหญ่ มีรายละเอียดมาก สามารถเขียนเป็นหนังสือเล่มหนาต่างหากได้ พอๆ กับเรื่องเขากับเหล้านั่นแหละ ในที่นี้ผมจะคัดมาเพียงให้เห็นภาพความสัมพันธ์แบบคร่าวๆ ส่วนผู้สนใจอาจหาอ่านแบบเจาะลึกได้ในหนังสือชีวประวัติของเขาจำนวนมาก โดยเฉพาะงานของ Bernice Kert ชื่อ The Hemingway Women ที่นักวิจารณ์ให้การยอมรับ

Hadley Richardson ภรรยาคนแรกของ Hemingway แก่กว่าเขา 8 ปี เป็นคนง่ายๆ แต่มีเสน่ห์ และค่อนข้างมีฐานะ พวกเขาอยู่กินกันในปารีสระยะแรกด้วยเงินของเธอ ตอนนั้นพวกเขาเริ่มมีลูกเล็ก (Jack หรือ “Bumby”) หลังจากนั้นเธอก็อ้วน ขณะใช้ชีวิตร่วมกัน เฮมิ่งเวย์นอกใจเธอหลายครั้ง ที่สำคัญคือกับ Lady Twysden สาวสังคมพราวเสน่ห์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครสำคัญ Brett Ashley ใน The Sun Also Rises และกับ Pauline Pfeiffer บุตรีของเจ้าที่ดินใหญ่และพ่อค้าธัญพืชแห่ง Arkansas เธอทั้งสวย ทั้งเซ็กซี่ และทั้งรวย แต่แก่กว่าเขา 4 ปี

ความสัมพันธ์แบบรักสามเส้าดำเนินไปแบบเปิดเผย และกล้ำกลืนเหลือทนต่อ Hadley จนเธอทนไม่ไหวและขอหย่า เฮมิ่งเวย์ก็เลยหมดเสี้ยนหนาม และแต่งงานกับพอลลีน เธอลงทุนซื้อบ้านสวยที่ Key West ฟลอริดา ไว้ตกปลาน้ำลึก จนกลายเป็นเรื่องที่เฮมิ่งเวย์หลงใหลไปเกือบจะตลอดชีวิต เธอมีลูกกับเขาสองคนคือ Patrick และ Gregory ระหว่างที่ท้องลูกคนหลังนี้เอง ที่เฮมิ่งเวย์เริ่มนอกใจเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Jane Mason ภรรยาสุดสวยของผู้จัดการสายการบิน Pan-American Airways ในคิวบา เขาและเธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในฮาวานา กินเหล้า เล่นเรือ ตกปลา ขับรถแข่ง และใช้ชีวิตหัวราน้ำ ขณะนั้นเป็นราว พ.ศ. ๒๔๗๔

Hadley พยายามดึงเขากลับหาเธอทุกหนทาง เธอเขียนจดหมายง้อเขาอย่างหยาดเยิ้ม ทำศัลยกรรมใบหน้าใหม่ สร้างสระน้ำใหม่ที่บ้าน Key West แต่ก็ช่วยได้อีกพักใหญ่ (หมายเหตุ—หาอ่านได้ใน Earnest Hemingway: Selected Letters, 1917-61 โดย Carlos Baker) แล้วความสัมพันธ์ก็แย่ลงอีก เฮมิ่งเวย์โทษเธอทุกอย่างที่ทำให้ชีวิตคู่ต้องพินาศลง เฮมิ่งเวย์เคยเขียนไว้ใน To Have and Have Not (กร โกศล เคยแปลเป็นไทยไว้ในชื่อ “ชีวิตเถื่อน”) ไว้ว่า “ยิ่งคุณเอาใจใส่ผู้ชายดีเท่าใด และให้เขารู้ว่าคุณรักเขามากเพียงใด เขาก็จะเบื่อคุณเร็วเท่านั้น” (The better you treat a man and the more you show him you love him, the quicker he gets tired of you”)

ภรรยาคนที่สามของเขาคือ Martha Gellhorn นักข่าวหญิง ผู้มีความทะเยอทะยานสูงมาก เขาพบเธอครั้งแรกในร้านเหล้าเจ้าประจำ Sloppy Joe’s ที่ Key West เมื่อเดือนธันวาคม ปี ๒๔๗๙ แล้วก็ชวนเธอไปสเปนด้วยในปีต่อมา เธอชอบเขาเพราะเขาเป็นนักเขียนที่มีชื่อ และอยากจะซึมซับศิลปะการเขียนจากเขา เธอเป็นคนฉลาดและขัดขืนเฮมิ่งเวย์มากที่สุดในบรรดาภรรยาของเขา เธอห้ามไม่ให้เขากินเหล้า ครั้งหนึ่งหลังงานเลี้ยง เธอยืนยันจะขับรถเองเพราะเห็นว่าเขาเมา จนทะเลาะกัน เขาตบหน้าเธอ เธอเลยขับ Lincoln รถหรูของเขาพุ่งเข้าหาต้นไม้ แล้วก็ทิ้งเขาไว้อย่างนั้น นอกจากนั้นเธอยังแกล้งแมวที่เขารัก และดุด่าว่ากล่าวเขาเรื่องความสกปรกรกรุงรัง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เลวลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็สิ้นสุดลงอย่างถาวรเมื่อปี ๒๔๘๗

Mary Welsh ภรรยาคนสุดท้ายของเขา เป็นคนที่อยู่กับเฮมิ่งเวย์จนวาระสุดท้าย เธอเป็นนักข่าวของหลายนิตยสาร รวมทั้ง Times ด้วย เธอเคยแต่งงานมาแล้วสองหนก่อนพบกับเฮมิ่งเวย์ ดูเหมือนเธอจะหย่าสามีคนที่สองเพื่อมาแต่กับเขาด้วยซ้ำ เธอไม่ใช่คนทะเยอทะยานแบบ Martha แต่เธอเป็นคนจัดการกับอะไรๆ ได้ดี เธอจึงลาออกจากงานอาชีพ เพื่อมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว เธอช่วยจัดการชีวิตและบ้านช่องให้กับเขาได้มาก เธอยอมอยู่ใต้เขาและรับใช้เขา เธอตามไปรับใช้เขาทุกที่ ตกปลา ล่าสัตว์ สู้วัว ฯลฯ แม้เธอจะกล้ำกลืนกับความเจ้าชู้ของเขา (บางครั้งเขาก็เอาผู้หญิงอื่นไปด้วย) เธอก็ทนได้ ครั้งหนึ่งเขาสาดไวน์ใส่หน้าเธอแล้วก็เปรียบเธอเป็นนางแพศยา เธอตอบเขาว่า ถ้าเขาต้องการกำจัดเธอ เธอจะไม่ยอมไปจากบ้านเด็ดขาด นอกจากเขาจะยอมอ้อนวอนเธอด้วยความน้อบน้อมเท่านั้น (“So try as you may to goad me to leave it and you, you’re not going to succeed….No matter what you say or do, short of killing me, which would be messy, I’m going to stay here and run your house and your Finca until the day when you com here, sober, in the morning and tell me truthfully and straight out that you want me to leave.”)

ผมสามารถรวบรวมรายชื่อผู้หญิงบางคนที่เฮมิ่งเวย์ไปติดพันด้วยขณะใช้ชีวิตอยู่กับ Mary ได้คร่าวๆ ดังนี้คือ Marlene ‘The Kraut’ Dietrich, Lauren Bacall, Nancy ‘Slim’ Hayward, Virginia ‘Jigee’ Viertel, Adriana Ivancich, และ Valerie Danby-Smith ซึ่งเฮมิ่งเวย์จ้างให้ไปทัวร์สเปนด้วย โดยให้เธอนั่งหน้ารถแล้วคอยจับมือเขาไว้ ในขณะที่ Mary นั่งข้างหลัง (เข้าใจว่าตอนนั้นเฮมิ่งเวย์เป็นกามตายด้านแล้ว) และต่อมาเธอก็ได้แต่งงานกับ Gregory ลูกชายคนสุดท้องของเขา

ส่วนบรรดาลูกๆ ของเฮมิ่งเวย์นั้นก็เหมือนกับลูกคนมีชื่อเสียงทั่วไป ที่ต้องประสบปัญหาบ้านแตก พ่อแม่แยกทางกัน และต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับพี่เลี้ยง ลูกคนโตของเขามีลูกสาวเป็นดารา แสดงหนังเรื่อง Lipstick โด่งดังมาก แต่ก็ฆ่าตัวตาย เหมือนกับปู่และทวดของเธอ ลูกคนกลางนั้น ต่อมาได้สานต่องานประพันธ์ของบิดา เขาเป็นคนนำต้นฉบับหลายเรื่องที่เฮมิ่งเวย์เขียนไม่จบมาตีพิมพ์หลังจากพ่อเขาเสียชีวิตแล้ว หลายเรื่องเขาก็มีส่วนอย่างมากในการ Edit ต้นฉบับของพ่อเขาอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง True at First Light และ Under Kilimanjaro

ส่วนลูกคนสุดท้อง ก็ได้เขียนหนังสือเล่าเรื่องเกี่ยวกับพ่อ ว่ากันว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นความทรงจำที่ขมขื่น อย่างตอนหนึ่งที่ว่า สมัยเด็กเขาถูกตำรวจคาลิฟอร์เนียจับ แม่เขา (Pauline) ซึ่งตอนนั้นหย่าขาดกับเฮมิ่งเวย์ไปนานแล้ว ก็โทรศัพท์ไปหาเขาเพื่อแจ้งว่าลูกชายถูกจับและต้องการปรึกษา แต่กลับถูกเฮมิ่งเวย์ด่ากลับมาในทำนองว่าเธอดูแลลูกไม่ดี แล้วก็เลยทะเลาะกันหนัก จน Pauline ตะโกนใส่โทรศัพท์แล้วก็วางหู และรุ่งขึ้นเธอก็เสียชีวิต (ในวัย 65) ด้วยเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตกำเริบ เรื่องนี้ทำให้พ่อลูกโทษซึ่งกันและกันจนตลอดชีวิต พ่อก็โทษความเหลวไหลของลูก ส่วนลูกก็โทษความเดือดดาลเกินเหตุของพ่อ

ในช่วงสุดท้ายของชีวิตก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตาย เฮมิ่งเวย์ติดเหล้าอย่างหนัก อันที่จริงเขาเป็นคนดื่มจัดมาแต่แรกรุ่น ทว่า มาเริ่มติดเหล้าอย่างจริงจัง ก็น่าจะช่วงที่เริ่มดื่มหนักกับ Jane Mason ตอนสวิงกันสุดเหวี่ยงในคิวบา เพราะไล่ๆ กันนั้น มีหลักฐานว่าตับของเขามีปัญหา เขาดื่มเหล้ามาแล้วเกือบทุกชนิด เริ่มตั้งแต่สมัยแรกรุ่นที่ชอบ Cider แล้วก็มาเป็น Cognac (สมัยที่นอนซมอยู่ในโรงพยาบาลตอนสงครามโลกครั้งแรก) แล้วก็มาเป็น Wine ตอนอยู่ปารีส (เขาซื้อไวน์ทีละแกลลอน และเคยดื่มไวน์แดงถึง 6 ขวดในคราวเดียว) หนังสือ A Moveable Feast ทำให้เรารู้ว่า เขาเคยสอนให้ Scott Fizgerald ยกซดไวน์จากขวด เขาว่ามันให้ความรู้สึกเหมือน “ผู้หญิงที่ไปว่ายน้ำโดยไม่ใส่ชุดว่ายน้ำ” (“a girl going swimming without her swimming suit”) น้องชายเขา (Leicester) เคยเขียนว่า ช่วงที่อยู่ Key West เขาดื่มวิสกี้กับโซดาอย่างน้อยวันละ 17 แก้ว และยังดื่มแชมเปญก่อนเข้านอนอีกด้วย เขามีร้านเหล้าขาประจำทุกแห่งที่เขาไปอยู่ เมื่อเขารวยแล้ว เขามักเลี้ยงเหล้าคนทั่วไปที่เขาเจอ สมัยคิวบา เขามักดื่มแบบ “สังขยา” โดยเริ่มจาก Rum แล้วก็เปลี่ยนเป็น Vodka แล้วตบท้ายด้วย Whisky ผสมโซดา จนถึงตีสาม พอรุ่งเช้าก็จะถอนด้วยน้ำมะนาวโซดา หรือน้ำส้ม แล้วก็เริ่มด้วย Gin, Champagne, Scotch หรือ “Death in the Gulf Stream” (เขาตั้งชื่อให้) แล้วก็จบลงที่เหล้าวิสกี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบดื่มเป็นประจำ Patrick บอกว่าพ่อของเขาดื่มวิสกี้วันละกั๊ก (หนึ่งส่วนในสี่ส่วน) ทุกวัน ตลอดช่วง 20 ปีหลังของชีวิต

ชื่อเสียงเรื่องกินเหล้าของเขาเป็นที่เลื่องลือ (ว่ากันว่าเขาเชี่ยวชาญ 4W คือ “Words, Wild, Women, Wine) เขาเป็นคนคิดคำในภาษาอังกฤษที่ว่า “Have a drink” และเขามีความสามารถในการเก็บงำความเมาไว้ไม่ให้ใครรู้ ว่ากันว่าหลายครั้งที่เขาให้สัมภาษณ์ เขากำลังเมาอยู่ แต่คนสัมภาษณ์มักไม่รู้ แต่การที่เขาเมาอยู่เป็นส่วนใหญ่นี้เอง ที่น่าจะเป็นสาเหตุให้เขาได้รับบาดเจ็บบ่อยครั้ง หนังสือ “ปาป้า เฮมิงเวย์ อลังการแห่งชีวิตห้าว” ของพิมาน แจ่มจรัส ประมวลเอาไว้ได้น่าสนใจยิ่ง ตั้งแต่หกล้มไม้แทงคอจนมีปัญหากับต่อมทอนซิลเมื่อยังเล็ก ไล่มาสู่การบาดเจ็บจากชกมวยและเล่นฟุตบอล และถูกเบ็ดเกี่ยวหลัง (ราวปี ๒๔๕๘-๒๔๖๐) ทะลวงหมัดทะลุตู้โชว์กระจก และถูกกระสุนปืนครกและปืนกล จนสมองได้รับความกระทบกระเทือน (๒๔๖๑) เดินเหยียบกระจก และล้มถูกเหล็กฉากผูกเชือกเรือ จนช้ำเลือด (๑๔๖๓) ถูกน้ำร้อนลวก (๒๔๖๕) เส้นเอ็นเท้าขวาขาด (๒๔๖๘) ลูกเอาเล็บปัดโดนตาดำข้างขวาจนอักเสบหนัก (๒๔๗๐) ดึงฝาเปิดหลังคาเหนือศีรษะเพราะนึกว่าชักโครก จนกระแทกหน้าผากแตก เย็บหลายเข็ม (๒๔๗๑) กล้ามเนื้อขาหนีบฉีก (๒๔๗๒) นิ้วชี้ขวาฉีกเพราะการชกถุงลม (๒๔๗๓) ตกม้า ๒๔๗๓) ปืนลั่นใส่ขาตอนเมาขณะกำลังใช้ฉมวกแทงฉลาม (๒๔๗๘) เตะประตูหัวแม่เท้าแตก (๒๔๗๙) กระโดดเตะกระจก (๒๔๘๐) เกาจนตาดำอักเสบ (๒๔๘๑) รถชนถังน้ำจนสมองได้รับการกระเทือนครั้งที่สอง (๒๔๘๗) และอีกครั้งเพราะกระโดดจากจักรยาน จนตาพร่าและเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (๒๔๘๗) รถคว่ำ หัวทิ่มกระจก และหัวเข่าอักเสบ (๒๔๘๘) ถูกสิงโตตะปบ (๒๔๙๒) พลาดล้มบนเรือ บาดเจ็บที่หัวและขา เสียเลือดมาก และสมองกระเทือนเป็นครั้งที่สี่ (๒๔๙๒) ตกรถหน้าแตก ไหล่เคล็ด (๒๔๙๖) และช่วงหน้าหนาวของปีนั้น เขาประสบอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในอาฟริกา คือถูกไฟไหม้ขณะเมาและพยายามจะดับไฟ กับเครื่องบินตกสองครั้งซ้อน จนสมองได้รับการกระเทือนอีกครั้ง กะโหลกร้าว เลือดตกใน กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ไขสันหลังเดาะ ตับ ไต และม้ามแตก แขนและหัวไหล่ขวาหลุด ถูกไฟลวกอาการสาหัส (๒๔๙๖-๒๔๙๗ อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้เขาต้องพักยาวและอดไปรับรางวัลโนเบลที่สวีเดน) แถมด้วยเอ็นส้นเท้าขาดขณะปีนรั้ว (๒๕๐๑) และรถตกถนนอีกครั้ง (๒๕๐๒)

โรคพิษสุราเรื้อรัง ทำให้สุขภาพเขาเสื่อมโทรม นอกจากตับแข็ง และไตพิการแล้ว เขายังเป็นไฟลามทุ่งที่หน้า เบาหวาน เลือดข้น บวมน้ำ ข้อเสื่อม นอนไม่หลับ และพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้า จนต้องเข้ารักษาตัวด้วยการช็อตด้วยไฟฟ้า แต่ก็รังแต่จะหนักขึ้น จนเขาพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง และในที่สุด เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๐๔ เขาก็ยิงตัวตาย

Hemingway เป็นตัวอย่างของศิลปินที่ใช้ชีวิตหวือหวา ทว่า รักษาคุณภาพของงานศิลปะ หรืองานเขียนของเขาด้วยมาตรฐานที่สูงยิ่งตลอดชีวิตของเขา พูดง่ายๆ ว่าเขาเป็นคนที่มี “Artistic Integrity” สูงและคงเส้นคงวา เขาค้นพบวิธีเขียนงานอย่างใหม่ และใช้ภาษาแบบใหม่ แบบที่ยังไม่เคยมีใครใช้มาก่อน สิ่งนั้นคือ “นวัตกรรม” หรือ “ความคิดสร้างสรรค์” อย่างเยี่ยมยอด จนส่งอิทธิพลต่อการเขียนความเรียงในภาษาอังกฤษมาจนกระทั่งทุกวันนี้

เขาบรรลุถึงศักยภาพอันสุดยอดของตนในช่วงวัยหนุ่ม และหลังจากนั้น เขาก็มีชื่อเสียงคับโลก ทว่าในเชิงงานเขียน เขากลับไม่สามารถทำลายสถิติเดิม หรือทำให้ดีไปกว่าเดิม หรือสร้างสรรค์ยิ่งกว่าเดิม ได้อีกแล้ว แต่ความที่เขาเป็นศิลปินที่มี Artistic Integrity สูง ทำให้เขาต้องดิ้นรน ไขว่คว้า ถีบตัว ตะเกียกตะกาย มุ่งมั่น รีดเร้น และทำทุกวิถีทางที่จะเขียนหรือสร้างสรรค์งานให้ดีกว่าเดิม ให้จงได้

แต่เขาคงจะพบว่า มันไม่ง่ายเลย

เขาจึงเริ่มเข้าหาสุรา จากเดิมที่เขาไม่เคยใช้แอลกอฮอล์ช่วยในการเขียนหนังสือเลย เขาก็เริ่มใช้มัน จากน้อย ไปหามาก แล้วก็มากๆ คนที่เคยเห็นเขาในช่วงปี ๒๔๘๓-๒๔๙๓ บอกเล่าว่า “เขามักตื่นตอนตีสี่ครึ่ง แล้วก็ดื่มเลย พร้อมกับยืนเขียนหนังสือไปด้วย มือหนึ่งถือปากกา อีกมือก็ถือแก้วเหล้า” (“usually starts drinking right away and writes standing up, with a pencil in one hand and a drink in another”)

พวกเราที่เป็นคนเขียนหนังสือย่อมรู้ดีว่า การใช้แอลกอฮอล์ไม่เป็นผลดีต่องานเขียนเลยแม้แต่น้อย ทว่า กลับกัน มันยิ่งทำให้แย่ (ใครไม่เชื่อก็ลองดูได้) นั่นอาจอธิบายได้ว่างานช่วงหลังของเฮมิงเวย์จึงสู้งานช่วงแรกไม่ได้ จะมียกเว้นก็แต่ The Old Man and the Sea เท่านั้นที่ออกมาดีมาก แต่ก็ยังไม่นับว่า สามารถ “ทะลุ” หรือ Breakthrough ออกไปจากสิ่งที่เคยทำไว้ (นวนิยายเรื่องนี้ เคยมีผู้แปลเป็นไทยอยู่สองสำนวน คือ อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปลไว้ในชื่อ “ชายเฒ่ากลางทะเลลึก” และ วิทย์ ศิวะศริยานนท์ แปลไว้ในชื่อ “เฒ่าผจญทะเล”)

ตัวเฮมิงเวย์เอง ย่อมรู้อยู่เต็มอก ว่าเขาไม่สามารถทำลายสถิติเดิมได้อีกแล้ว ราวกับว่าเขาเป็น “เหยื่อของความสำเร็จในอดีตของตัวเอง” หรือเป็น “Victim of his own success” และนั่น ประกอบกับความที่เขาเป็นคนมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ ไม่เชื่อพระเจ้า และไม่มีศาสนาคอยน้อมนำใจ ก็อาจนำมาซึ่งความทุกข์อันใหญ่หลวง และแสนสาหัส โดยไม่รู้จะ “ปลง” หรือ “นิโรธ” อย่างไร แล้วในที่สุดก็เป็นที่มาของวงจรอุบาทว์ในชีวิต คือ สิ้นหวัง-เหล้า-กายเสื่อม-จิตเสื่อม........หรือ เหล้า-สิ้นหวัง-กายเสื่อม-จิตเสื่อม.... แล้วแต่จะคิด (ไม่ได้เทศนานะครับ)

ผมชอบ Paul Johnson ที่วิเคราะห์ถึงการตัดสินใจฆ่าตัวเองและบทเรียนจากการตายของ Hemingway ไว้ดีมากๆ ว่า “He was a man killed by his art, and his life holds a lesson all intellectual need to learn: that art is not enough”

ตอนตาย เฉพาะห้องสมุดส่วนตัวที่บ้านในคิวบาของเขา มีหนังสือกว่า 7,400 เล่ม


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
พฤษภาคม 2551
ขอขอบคุณผู้เขียนและผู้แปลหนังสืออ้างอิงที่ผมใช้ประกอบการเรียบเรียงบทความนี้คือ
1. Paul Johnson, Intellectual
2. พิมาน แจ่มจรัส, ปาป้า เฮมิงเวย์ อลังการแห่งชีวิตห้าว
3. เชน จร้สเวียง (แดนอรัญ แสงทอง), "ว่าด้วยการเขียน"

หมายเหตุ: ท่านผู้อ่านที่สนใจอ่านประวัติของปัญญาชนฝรั่ง สามารถคลิกอ่านจากลิงค์ข้างล่าง (Jean-Paul Sartre)


ซั้ต



โอบามากับพิธีแช่งน้ำ


เราเชื่อว่าสมาชิกและผู้อ่านส่วนใหญ่ของ MBA คงจะได้ดูถ่ายทอดสดพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโอบามากันไปแล้ว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ กล่าวสุนทรพจน์ได้กินใจ สมกับคุณภาพนักการเมืองอเมริกัน ซึ่งถือกันว่าความสามารถในการแสดงสุนทรพจน์เป็น Key Success Factor สำคัญ และปฏิบัติกันมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ

อันที่จริง “หัวใจ” ของพิธีสาบานตน มิได้อยู่ที่สุนทรพจน์หรือพิธีแวดล้อมอื่น เช่นการกล่าวอวยพรของผู้นำศาสนา การอ่านบทกวี หรือการร่วมร้องเพลงชาติของอดีตประธานาธิบดีทุกคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่

แต่ทว่า อยู่ที่ “คำสาบาน” ซึ่งผู้จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต้องกล่าว ต่อหน้า Chief Justice และสักขีพยาน ที่รวมถึงประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งกำลังดูการถ่ายทอดสดขณะนั้น (เป็นประเพณีสืบมาว่า ผู้จะเข้ารับตำแหน่งฯ ต้องกล่าวคำสาบานต่อหน้า Chief Justice ยกเว้นการเข้ารับตำแหน่งฯ ของประธานาธิบดี George Washington สองครั้งแรก ที่ท่านได้กล่าวคำสาบานต่อหน้า Chancellor of State of New York ครั้งหนึ่ง และกับ Associate Justice of Supreme Court อีกครั้งหนึ่ง)

นั่นจึงเป็น “สัญญาประชาคม” ที่ประมุขสูงสุดของประเทศ ให้ไว้กับราษฏร (คล้ายกับหลัก “ทศพิธราชธรรม” ของบ้านเรานั่นแหละ เพียงแต่หลักทศพิธราชธรรมนั้น มิได้บัญญัติไว้อย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความหมายให้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และสามารถถูกตรวจสอบได้)

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ (Article II, Section I) ผู้จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จะต้องกล่าวคำสาบาน (Oath) ว่า “I do solemnly swear (or affirm) that I will faithfully execute the office of President of the United States, and will to the best of my ability, preserve, protect and defend the Constitution of the United States.”

น่าสังเกตว่า เนื้อหาสาระของคำสาบานมีอยู่เพียง 2 ข้อใหญ่ใจความเท่านั้น คือการจะปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และการจะปกป้องรัฐธรรมนูญอย่างแข็งแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้

คำสาบานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังที่ราษฏรอเมริกันมีต่อประมุขของพวกเขา

พวกเขารู้ว่า สิ่งนี้เท่านั้น ที่จะเหนี่ยวรั้งจิตใจประมุขของพวกเขาไม่ให้กลับกลายไปเป็น “ทรราช” และจะไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางหน่วงเหนี่ยวประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นวิถีที่จะนำให้เข้าถึงความสมบูรณ์พูนสุขอย่างเต็มที่ เข้าถึงความเสมอภาค สันติ ความหวัง ความสุข และความสงบใจ

นั่นคือ “หัวใจ” ของกติกาสำหรับอยู่ร่วมกันของพวกเขา ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนแล้ว

พวกเขาจึงยังคงยึดถือเรื่องทั้งสองนี้เป็นบรรทัดฐานต่อมา นับแต่ที่บรรดา Founding Fathers ซึ่งร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ และประกาศเอกราช จนได้ร่วมร่างความคาดหวังดังกล่าวนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว

มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและจิตวิญญาณของพวกเขา ที่ไม่ว่าใครจะคิดทำลาย ก็ยอมไม่ได้!

The American Heritage Dictionary of The English Language ซึ่งเป็นพจนานุกรมที่นักปราชญ์อเมริกันภาคภูมิใจ ได้ให้คำจำกัดความของคำสามคำที่เน้นย้ำไว้ในคำสาบานดังกล่าวว่า “preserve” หมายถึง “To maintain in safety from injury, peril, or harm” หรือ “To keep in perfect or unaltered condition; maintain” และ “protect” หมายถึง “To keep from being damaged, attacked, stolen, or injured; guard” หรือ “To maintain in safety from injury, peril, or harm” โดยที่ “defend” หมายถึง “To keep in perfect or unaltered condition; maintain unchanged.” หรือ “To keep from danger, attack, or harm.” หรือ “To support or maintain, as by argument or action; justify.” (อ้างอิงจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ปี 1992 โดยที่การขีดเส้นใต้เป็นการเน้นของบรรณาธิการนิตยสาร MBA เอง)

ขอให้สังเกตว่าบรรดา Founding Fathers ได้ตกลงใช้คำภาษาอังกฤษถึง 3 คำ ที่มีความหมายถึงการ “ปกป้อง” รัฐธรรมนูญ เป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญ ที่ประธานาธิบดีจะต้องปฏิบัติ โดยคำทั้งสามนั้น มีดีกรีความรุนแรงจากเบาไปหาหนัก จากสันติไปหารุนแรง คือจาก “preserve” ไปสู่ “protect” แล้วจึงไปสู่ “defend” ซึ่งอาจหมายถึงการใช้กำลังเข้าปกป้องด้วยก็ได้

MBA เห็นว่าประเพณีแบบนี้ แม้จะเป็นของฝรั่ง แต่ก็เป็นของดีและมีประโยชน์ น่าเก็บเอามาคิดต่อ เพื่อเป็นแบบอย่าง และหาทางประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม หากเราจะเดินต่อไปบนเส้นทางประชาธิปไตย

อันที่จริง คนไทยเองก็เป็นพวกที่ชอบสาบาน

และถ้าเราจะให้คณะผู้นำของเรา ที่รวมถึงนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประธานรัฐสภา ประธานศาลสูง ตลอดจนประธานองคมนตรี ทำการสาบานตัวกันก่อนเข้ารับตำแหน่งกันแบบนี้บ้าง สังคมการเมืองไทยในอนาคต คงยากจะจินตนาการ

ก่อนจบบทความนี้ เราขอยกร่ายคำแช่งบางตอน ที่พราหมณ์ต้องอ่าน เพื่อเชิญผีทั้งปวงมาแช่งน้ำ ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา สาบานตนของข้าราชการไทย ให้อ่านกันเพื่อเปรียบเทียบเล่นๆ กับ Article II, Section I of the U.S. Constitution ดังนี้

“……ผีดงผีหมึ่นถ้ำ ล้ำหมึ่นผา มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ หล่อหลวงเต้า ทังภูตเหง้าพนัสบดี ศรีพรหมรักษ์ ยักษ์กุมาร หลายบ้านหลายท่า ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า หน้าเท่าแผง แรงไกยเอาขวัญ ครั้นมาถึงกับเสียงเยียชระแรงชระแรง แฝงข่าวเยียชระรางชระราง รางชางจุปปาก เยียจะเจี๊ยวจะเจี๊ยว เขี้ยวสระครานอานม ลิ้นเยียละลาบละลาบ ตราบมีในฟ้าในดิน บินมาเยียพะพลุ่งพะพลุ่ง จุ่งมาสูบเอา เขาผู้บ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถเกียจกาย ว่ายกะทู้ฟาดฟัด คว้านแคว้นมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าทก หลกเท้าให้ไปมิทันตาย หงายระงมระงม ยมพบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี ผู้บีดีบ่ซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถแก่เจ้า ผู้ผ่านเกล้าอยุธยา...................จระเข้ริบเสือฟัด หมีแรดถวัด แสนงขนาย หอกปืนปลายปักครอบ ใครต้องจอบจงตาย งูเงี้ยว พิศมทงงหลายลุ่มฟ้า ตายต่ำหน้ายงงดินฯ.................”(คัดลอกบางตอนจาก “ลิลิตโองการแช่งน้ำ”)

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม 2552

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ความลับของญี่ปุ่น

ข้อเขียนชุด "สังเกตญี่ปุ่น" ตอนที่ II

เมื่อไปโตเกียว ผมมักมีกิจให้ต้องแวะไปแถวชิบูย่า (Shibuya) เสมอ

ณ บริเวณสี่แยก ปากทางเข้าสถานีรถไฟตรงนั้น ถ้าเสร็จธุระแล้ว ผมมักมองหาที่นั่งเพื่อ Observe อาการของคลื่นฝูงชนจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่าข้ามถนนไปมาในแต่ละรอบไฟแดงเสมอ เพราะนั่น นับเป็นโปรแกรม Entertainment อย่างหนึ่งของผมเลยทีเดียว

คะเนด้วยตา แต่ละรอบไฟเขียว ต้องมีคนข้ามไปมาพร้อมกันหลายร้อยคน (บางรอบอาจถึงพันคน) แล้วหยุดรออีกประมาณ 3-5 นาที ก็ถึงรอบใหม่ อีกหลายร้อยคน คิดคร่าวๆ ก็ชั่วโมงละกว่าหมื่นคน ถ้าเป็นชั่วโมงเร่งด่วนก็อาจจะถึงหลายหมื่นหรือแสนคน ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับญี่ปุ่น มักนำภาพคนเดินข้ามถนนตรงนี้ไปเผยแพร่ เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตอันเร่งรีบของคนเมืองใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมหาศาลอย่างโตเกียว

ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นเมืองไทย คนมากขนาดนั้น ในพื้นที่จำกัดแบบนั้นด้วย เมื่อกระทบกระทั่งกัน เท้าเหยียบเท้า ไหล่ชนไหล่ ก้นชนก้น ตาจ้องตา บางครั้งถึงปะทะทั้งตัวแรงๆ ฯลฯ คงมีเรื่องมีราวกันบ้าง ยิ่งแถวมาบุญครองหรือสยามที่แต่ละฟากต่างมีเจ้าถิ่นด้วยแล้ว โอกาสเกิดเรื่องก็มีมาก

ญี่ปุ่นนั้นมีคนมากมาแต่ไหนแต่ไร ก่อนสมัยโตกูกาว่าก็มีบันทึกยืนยันถึงเรื่องนี้แล้ว และการมีคนจำนวนมากบนพื้นที่จำกัดอันโดดเดี่ยวแยกตัวจากแผ่นดินใหญ่ โดยต้องอยู่กันให้ได้อย่างสันตินี้เอง ที่เป็นตัว Form นิสัยและพฤติกรรมสำคัญๆ ตลอดจน Character ของคนญี่ปุ่น

ใครๆ ก็รู้ว่าคนญี่ปุ่น “สุภาพมากๆ” ผมเคยเห็นสุภาพสตรีญี่ปุ่นสองคน ที่ต่างคนต่างรอขึ้นลิฟท์ แต่เมื่อลิฟท์เปิดออก ทั้งสองต่างโค้งซึ่งกันและกัน โค้งกันหลายรอบ ด้วยหวังจะให้อีกคนก้าวเข้าไปก่อนตามมารยาท แต่ก็ไม่มีใครยอมเข้าไปก่อน ยังคงโค้งกันอยู่แบบนั้น จนประตูลิฟท์ปิดลง.....มิน่าเล่า ฝรั่งสมัยก่อน (ก่อนรู้ซึ้งถึงฤทธิ์เดชของญี่ปุ่น) มักมองกันว่า คนญี่ปุ่นเป็นพวก Absurd

แน่นอน ความสุภาพแบบนั้น ย่อมไม่ใช่สไตล์ แต่มันเป็น Character ที่ช่วยลดดีกรีความร้อนแรงจากการกระทบกระทั่งลงได้ เพราะคนหมู่มากในที่แคบ ย่อมต้องแย่งกันอยู่ แย่งกันกิน และต้องระมัดระวังไม่ให้การเคลื่อนไหวของตัวกระทบกระทั่งคนอื่น

คนญี่ปุ่น เมื่อไสไม้ก็ไสเข้าตัว ไม่ได้ไสออกเหมือนพวกเรา หรืออย่างการปอกผลไม้ก็ปอกเข้าตัวเช่นกัน เพราะไม่อยากให้เกิดโอกาสที่มีดจะพลาดไปโดนคนอื่น นั่นเป็นรูปธรรมที่แสดงความหมายเชิงนามธรรมว่า พวกเขาให้คุณค่ากับความเป็นส่วนตัวของกันและกันสูงมาก นับเป็น Irony แบบหนึ่ง สำหรับสังคมของคนจำนวนมากที่ถูกบังคับให้ Share พื้นที่อันมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งในความเป็นจริงย่อมหาโอกาสความเป็นส่วนตัวได้น้อยเต็มที

“ความเป็นส่วนตัว” ของคนญี่ปุ่นจึงเป็นนามธรรมเต็มที (บางทีก็เป็นแต่ “ในนาม” เท่านั้น) ผมเอง ชอบลงใต้ดินไปฟัง Jazz ที่ Dug Pub เสมอ เมื่ออยู่โตเกียว แรกๆ ผมมักไม่คุ้นกับการต้องนั่งรวมกับคนอื่น บางครั้งโต๊ะเดียว นั่งกันเกือบสิบคน โต๊ะก็เล็ก เก้าอี้ก็เล็ก ยิ่งวันธรรมดา หลังเลิกงาน ทุกคนมาพร้อมกระเป๋าและเอกสารพะรุงพะรัง แต่พอได้ที่นั่งแล้ว ทุกคนก็รวบของไว้ใต้เก้าอี้ ของใครของมัน แล้วก็ดื่มด่ำไปกับเสียงดนตรีทันที

แสดงว่า รูปธรรมของ “ความเป็นส่วนตัว” เมื่อเทียบกับของเราแล้ว คนญี่ปุ่นมี Luxury น้อยกว่าเรามาก เพราะ Boundary ของคนญี่ปุ่นมีรัศมีแคบมาก อย่างของพวกเราคนไทย ถ้าลองมีคนอื่นที่เราไม่รู้จัก เข้ามาใกล้เราในรัศมีต่ำกว่า 1 เมตร แล้วอยู่อย่างนั้น ผมว่าพวกเราส่วนใหญ่จะอึดอัด

การต้องแบ่งกันอยู่ แบ่งกันกิน มีให้เห็นและสัมผัสได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น บ้านช่องห้องหอ เฟอร์นิเจอร์ ย่อมต้องมีขนาดเล็ก กินพื้นที่น้อย ร้านอาหาร ร้านไอศกรีม ร้านขนมดั้งเดิม ที่มีชื่อเสียงบางแห่ง มักแอบอยู่ตามซอกเล็กซอยน้อย เพื่อนฝูงญี่ปุ่นเคยพาไปชิม ก็ใช่ว่ากินอิ่มแล้ว จะนั่งแช่ได้นาน หมดรอบก็ต้องไป เพื่อหลีกให้คนอื่นเข้ามานั่งตามคิว

องค์กรที่ประกอบด้วยสมาชิกที่ต้องแบ่งกันอยู่ แบ่งกันกิน แบ่งทรัพยากรอันจำกัดกันให้ทั่วถึง ย่อมต้องอาศัยการจัดระเบียบสังคมที่เข้มงวด ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และวินัยกวดขัน อีกทั้งต้องละเอียด รอบคอบ ชอบวางแผน ไม่สุ่มเสี่ยง และลดช่องว่างทางความคิด ลดพื้นที่ของ “ความคิดต่าง” ให้เหลือน้อยที่สุด

ข้อนี้หรือเปล่า ที่ฝรั่งมักดูถูกว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่เอื้อต่อการงอกงามของความคิดสร้างสรรค์ ซ้ำร้ายยัง “กด” ความคิดสร้างสรรค์ไว้ไม่ให้โอกาสในการแสดงออกอีกด้วย เพราะมาตรการทางสังคม (Social Sanction) ที่ใช้เล่นงาน “คนคิดต่าง” หรือ “แกะดำ” นั้น รุนแรงยิ่งนัก (ลองดูชะตากรรมของพวกเกย์และเลสเบี้ยนในสังคมญี่ปุ่น หรือกรณีของบริษัท Sony ที่ถูกมองว่าเป็นแกะดำ เข้ากับเพื่อนในอุตสาหกรรมไม่ได้ ผลร้ายทางรูปธรรมที่ชัดเจน คือเมื่อครั้งเคยล้มเหลวกับวีดีโอระบบ Betamax ทั้งๆ ที่เป็นเทคโนโลยีคุณภาพสูงกว่า ทว่า โดนเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมรวมหัวกัน Boycott เป็นต้น)

อีกทั้ง วิธีลงความเห็นแบบ “มติสัมบูรณ์” (มิใช่เสียงส่วนใหญ่ แต่ต้องเห็นพ้องกันทุกเสียง) หรือที่เรียกว่า Consensus Vote ประกอบกับ ความที่ผู้น้อยต้องฟัง หรือต้องตามผู้ใหญ่ นั้น ฝรั่งสมัยก่อนก็มองเป็น Conservative Forces ที่เหนี่ยวรั้งพลังสร้างสรรค์ จึงยากที่ Innovation จะเกิดขึ้นได้ เพราะความล่าช้าของการตัดสินใจ และเด็กก็ยากที่จะเถียงผู้ใหญ่ได้ ในวัฒนธรรมแบบนั้น

ความข้อนี้ มีส่วนจริงอยู่มาก ลองดู Designer หรือ ศิลปิน หรือ Programmer ระดับโลกที่เป็นคนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มักเป็นญี่ปุ่นแต่เพียงในนาม พวกเขาเพียงมีพ่อแม่เป็นญี่ปุ่น (หรือคนใดคนหนึ่งเป็นญี่ปุ่น) แต่พวกเขาล้วนใช้ชีวิตอยู่นอกญี่ปุ่น หรือเรียนรู้จากระบบการศึกษาของฝรั่ง แทบทั้งสิ้น เพราะถ้าอยู่ในญี่ปุ่น นอกจากจะแสดงออกยากแล้ว ดีไม่ดียังอาจจะถูกหาว่าเพี้ยนก็ได้

อย่างตอนที่ Yoko Ono รักกับ John Lennon ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ อดีตผู้นำวง Beatles นั้น ก็ถูกผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นประณามมากอยู่ ตระกูลของเธอถือเป็นชนชั้นนำในสังคมญี่ปุ่นซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลซามูไรเก่าแก่และเป็นสมาชิกในกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่อันมั่งคั่งที่เรียกว่า Zaibatsu และ Yoko เองก็เคยเรียนถึง Gakushuin แล้วเรื่องอะไรจะต้องไปเกลือกกลั้วกับ “ศิลปินกุ๊ย” ที่ชอบทำอะไรแผลงๆ จากเมืองกรรมกรท่าเรืออย่าง Liverpool ด้วยเล่า

แต่จะว่าไป ด้านดีของวัฒนธรรมแบบนี้ก็มี ข้อสำคัญคือมันช่วยเขม็งเกลียวความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจ ความมุ่งมั่นร่วมกัน ให้เกิดเป็นพลังโดยไม่วอกแวก

เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมเองเคยไปเยี่ยมกิจการในเครือของ NIKKEI ทั้งกิจการโรงพิมพ์ กิจการหนังสือพิมพ์ Nihon Keizai Shimbun สถานีโทรทัศน์ ตลอดจนกิจการผลิตนิตยสารและหนังสือเล่มในเครือของเขา ก็สังเกตเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างพนักงานกับผู้บริหารมีน้อยมาก การแต่งตัวก็เหมือนกัน ดูไม่ออกเลย กินอาหารก็โรงอาหารเดียวกัน หรือแม้แต่ที่นั่งทำงานก็ไม่แบ่งแยก ปรึกษาหารือกันได้ตลอดเวลา ผู้บริหารไม่ได้มีห้องใหญ่โตแยกไปต่างหาก เวลาเข้าพบต้องนัดแนะล่วงหน้าแบบฝรั่ง และสังเกตดู ประวัติของผู้บริหารระดับสูงทุกคน ล้วนต้องไต่เต้าขึ้นมาจากงานชั้นล่าง หมุนเวียนไปแล้วทั่วด้าน เช่นเริ่มจากนักข่าว แล้วย้ายไปขายโฆษณา ย้ายไปฝ่ายสมาชิก จากนั้นก็ย้ายไปโรงพิมพ์ แล้วค่อยมาเป็นบรรณาธิการ แล้วก็ขึ้นเป็นผู้บริหาร เป็นต้น ไม่มีว่าจบ MBA มาแล้ว ข้ามหัวไปเป็นผู้บริหารเลย

วัฒนธรรมแบบนี้ ต่างกับฝรั่งโดยสิ้นเชิง นั่นจึงทำให้ฝรั่งตื่นตัวศึกษา Japanese Management กันใหญ่โต เมื่อกิจการญี่ปุ่นเริ่มเอาชนะฝรั่งในตลาดโลกได้

ผมสงสัยว่าวัฒนธรรมแบบนี้หรือเปล่าที่เป็นตัวแปรสำคัญให้คนญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไม่ถาม ไม่เถียง กันเลย

ถ้าดูให้ดีแล้ว ญี่ปุ่นกับเยอรมันเหมือนกันมากในข้อนี้ กองทัพเยอรมันกับกองทัพญี่ปุ่นสมัยนั้น ข้าศึกกลัวกันมาก เพราะขึ้นชื่อว่ารบเก่ง และโหดเหี้ยม ไม่กลัวตาย ที่จริงแล้ว คนสองชาตินี้ เป็นคนมีวินัยสูง และเชื่อผู้นำ ดังนั้น เมื่อได้รับคำสั่งให้รบ ก็รบอย่างมีวินัย ทำไปตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด ที่ต้องทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ราบคาบ เพราะนั่นคือตัววัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของตน ผลลัพธ์ก็เลยออกมาดูเหมือนเหี้ยมโหด และเดนตาย แต่ผมว่าตัวพวกเขาเอง ไม่คิดว่ามันเหี้ยมโหดอะไร เพียงทำไปตามหน้าที่ให้ดีที่สุด อย่างมีวินัย เท่านั้นเอง

การรับเอาลัทธิทหารจากเยอรมัน (อันที่จริง Prussia) ไปตั้งแต่สมัยเมจินั่นแหละ ที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาไปสู่ความก้าวร้าว ยึดมั่นในเชื้อชาติตนว่าเป็นเชื้อชาติที่สูงส่ง มี National Agenda และ Grandiose Strategy มีความมุ่งมั่นเดียวของชาติ คือความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิญี่ปุ่น คิดตั้งตัวเป็นใหญ่ในเอเชีย และเริ่มคุกคามประเทศอื่น ตั้งแต่เกาหลี รัสเซีย จีน และชาติเอเชียทั้งมวล ไปจนเกิดปะทะกับอเมริกันและพ่ายแพ้ในที่สุด

นั่นเป็นข้อเสียของลัทธิทหาร และการยึดถือหรือภักดีในตัวบุคคลแบบไม่กล้าถามหรือเถียง (ในกรณีของญี่ปุ่นคือสมเด็จพระจักรพรรดิ) ที่อาจเตือนใจสังคมไทยในภาวการณ์ปัจจุบัน ได้เหมือนกัน

เรื่อง “สู้ฝรั่ง” นั้น เป็นสันดานของญี่ปุ่นเลยทีเดียว แม้ลึกๆ ญี่ปุ่นจะยกย่องฝรั่ง และรู้ว่าตัวเองสู้ไม่ได้ แต่ก็ยังขอสู้ ไม่ยอมแพ้โดยง่าย (ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ใช้คำว่า “Persistent” คือความพยายายามอย่างไม่ยอมแพ้ หรือยืนหยัดอย่างไม่ยอมแพ้) ผิดกับเรา ที่รู้จักฝรั่งแล้วก็ยอมฝรั่งเลย ไม่คิดต่อสู้

นั่นต้องอาศัย “ความกล้าหาญ” เป็นอย่างมาก

เรื่อง “ความกล้า” เป็นปมเด่นสำคัญอันหนึ่งของคนญี่ปุ่น วัฒนธรรมและระบบการศึกษาของญี่ปุ่นล้วนหล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นมีความกล้าในระดับสูง หรือรู้จักระงับความกลัวได้อย่างทรงประสิทธิภาพมาก

การเน้นว่า “ความเสียสละ” เป็นคุณธรรมขั้นสูง และการตายเพื่อส่วนรวมเป็นวีรกรรมที่ Noble ล้วนเป็นเนื้อนาบุญให้ความกล้าได้แสดงออกอย่างไม่มีขีดจำกัด

คนเรานั้น ถ้าลองมองชีวิตตัวเองว่าไม่ใช่ของตัวเอง แต่เป็นของคนอื่นหรือเป็นของส่วนรวมแล้ว ย่อมเกิดความกล้าแบบสุดๆ เช่น บรรดานักบิน Kamikaze นั่นแหละ

ผมโตมาในช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มตั้งตัวได้หลังจากแพ้สงคราม สมัยโน้นญี่ปุ่นเริ่มส่งออกการ์ตูนหรือหนังชุด Super Hero เนื้อหาและการสร้างยังหยาบอยู่มาก ผมจำได้ว่าการ์ตูนอย่าง “หน้ากากเสือ” นั้น คู่ต่อสู้ของพระเอกมักเป็นนักมวยปล้ำฝรั่งเสมอ และอย่าง “ไอ้มดแดง” ก็เน้นความกล้าและความเสียสละเป็น Character หลัก

มีอยู่ตอนหนึ่ง ที่พระเอกถามเด็กๆ ว่าอยากเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น เด็กว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ พระเอกก็บอกว่าการเป็นนักบินอวกาศจะต้องอาศัย “ความกล้า” สูงมาก เพราะต้องออกไปลอยอยู่นอกโลก ผมยังคิดในใจว่า ถ้าเป็นผู้ใหญ่ไทย ก็ต้องตอบว่า ต้องเรียนให้เก่งๆ โตขึ้นถึงจะเป็นนักบินได้

เดี๋ยวนี้ ลูกๆ ผมก็ยังดูไอ้มดแดงอยู่ และแก่นเรื่องก็ยังว่าด้วย “ความกล้า” และ “ความเสียสละ” อยู่อย่างเดิม บางตอน (เรื่อง “คูกะ”) ผมก็เห็นว่าในเนื้อเพลงไตเติ้ล ก่อนที่จะบอกให้พระเอกแปลงร่างไปต่อสู้ ก็มีคำว่า “No Pain, No Fear” อยู่ด้วย ท่านผู้อ่านลองคิดเอาเองก็แล้วกันครับว่าพวกเขาให้คุณค่ากับ “ความกล้า” มากขนาดไหน

ใครก็รู้ว่า จิตสำนึกเรื่อง “สู้ฝรั่ง” ของญี่ปุ่นนี่แหละ ที่เป็นพลังขับให้กิจการของญี่ปุ่นผงาดขึ้นมาบนเวทีเศรษฐกิจโลกได้ แม้ความคิดของชนชั้นผู้นำญี่ปุ่นลึกๆ แล้วจะกลัวฝรั่ง โดยเฉพาะเชื้อชาติที่พวกเขาเรียกว่า Anglo-Saxon ผมเคยอ่านหนังสือที่ผู้ประพันธ์เป็นนักการทูตระดับสูงผู้หนึ่งซึ่งสืบตระกูลมาจากตระกูลขุนนางเก่าแก่ของญี่ปุ่นและมีโอกาสได้คลุกคลีกับชนชั้นปกครองญี่ปุ่นหลังสงครามโลก ผู้ซึ่งเป็นคนรุ่นที่เข้าร่วมสงครามและมีบทบาทในการกำหนดนโยบายระหว่างสงคราม เขาเขียนไว้ชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าอายุได้ 15 ปีเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้ามีโอกาสนั่งฟังผู้ใหญ่ถกเถียงกัน

นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ต้องปราชัย และคนญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการถูกยึดครองด้วยกำลังทหาร ระยะเวลาไม่กี่อาทิตย์หลังจากสงครามสิ้นสุดลงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญเป็นพิเศษในญี่ปุ่น ทุกคนถกเถียงกันถึงอนาคตโดยปราศจากความลำเอียงและแอกอุดมการณ์ หรือนโยบายระดับชาติที่ได้ตั้งขึ้น เป้าหมายและค่านิยมของชาติที่ปวงชนและบรรพบุรุษของพวกเขาได้ทุ่มเทให้ ล้วนดูหมดสิ้นความหมาย ผู้คนย้อนมองดูประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและโลกเพื่อค้นหาอดีตและอนาคตของญี่ปุ่น พวกเขาพยายามค้นหาคำตอบต่อปัญหาเช่นว่า เชื้อชาติญี่ปุ่นเป็นเช่นไร พวกเขาพยายามแสวงหาศักยภาพของญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นชาติ ทุกคนมีความเป็นห่วงต่ออนาคตของญี่ปุ่น แม้ความหิวโหยจะใกล้เข้ามาในช่วงเวลาแห่งวินาศภัยของสงคราม

แขกคนหนึ่งที่มาเยี่ยมบ้านข้าพเจ้า ถามว่า “จะใช้เวลากี่ปีที่จะแก้แค้นต่อความพ่ายแพ้นี้” อีกคนหนึ่งย้ำว่า “ไม่.....พวกเราต้องไม่ท้าทายฝรั่งแองโกลแซกซั่นอีก ในอดีตไม่มีใครเคยทำสำเร็จ คุณไม่รู้เลยหรือว่า ชาวสเปน ชาวดัชท์ และนโปเลียน ล้วนประสบความพ่ายแพ้ทั้งสิ้น ชาวเยอรมันก็แพ้ถึงสองครั้งสองครา”

ความคิดแบบนี้เอง ที่อยู่เบื้องหลังนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามจนกระทั่งปัจจุบัน ที่มักคล้อยตามสหรัฐอเมริกาและยอมเป็น “เบี้ยล่าง” ของอเมริกาแทบทุกด้าน

นโยบายและการแสดงออกของรัฐบาลหรือกิจการธุรกิจของญี่ปุ่น ก็เหมือนกับพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นทั่วไป ที่มักมีอยู่ 2 ระดับ คือระดับที่เอาไว้แสดงออกให้คนทั่วไปได้เห็น และระดับที่คิดอยู่ในใจอย่างเงียบๆ โดยนโยบายแบบที่สองนั้น คือนโยบายที่แท้จริง

คนญี่ปุ่นมี “ความในใจ” แยะ ไม่ชอบแสดงความรู้สึกที่แท้จริงให้ใครเห็น ถ้าไม่ไว้วางใจจริงๆ

บรรณาธิการเก่าคนหนึ่งของนิตยสาร MBA ก็แต่งงานไปกับคนญี่ปุ่น ครั้งหนึ่ง ผมเคยถามสามีเธอตรงๆ ว่าทำไมผู้ชายญี่ปุ่นชอบทำหน้าขึงขังตลอดเวลา ยิ้มยากมาก เขาว่ามันจำเป็น เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น เพื่อนร่วมงานก็จะมองว่าเป็นคนไม่จริงจัง (เขาใช้คำว่า Serious) และคนที่ไม่จริงจังในสังคมญี่ปุ่น จะก้าวหน้ายาก

อย่างเรื่องความสัมพันธ์กับจีนก็เหมือนกัน ผมก็ว่ามันมีสองระดับ ในทางเปิดเรามักเห็นว่าชนชั้นนำจีน ยังโกรธญี่ปุ่นไม่หาย แม้ญี่ปุ่นจะยอมให้สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันออกมากล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ในทางลึก เราพบว่าญี่ปุ่นกับจีนใกล้ชิดกันมาก แม้สมัยปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ที่จีนปิดประเทศ ใครก็เข้าไปไม่ได้ ยกเว้นญี่ปุ่นชาติเดียวที่เข้าออกได้สบาย หรืออย่างไม่นานนี้ เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงตัดสินใจเปิดประเทศ ก็ได้ส่งคณะข้าราชการระดับกลางชั้นหัวกะทิของจีน ที่ตั้งใจจะ Groom ขึ้นมาให้รับภาระกุมหางเสือเศรษฐกิจของประเทศในยุคต่อมา ไปฝึกอบรมกับญี่ปุ่นอย่างลับๆ ทั้งที่ธนาคารชาติญี่ปุ่นและกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น คนหนึ่งในกลุ่มนั้น ก็คือ จูหรงจี ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นซาร์เศรษฐกิจของจีน มิน่าเล่า จีนถึงไม่เคยเพลี่ยงพล้ำให้กับฝรั่งเลย นับแต่เปิดประเทศ

ในเรื่องเศรษฐกิจ คนเอเชียมักมองไปที่ความสำเร็จของญี่ปุ่นเสมอ และมักคิดไปเองว่าจะเลียนแบบญี่ปุ่นได้ ครูเก่าของผมคนหนึ่งก็สนใจญี่ปุ่นมาก โดยเฉพาะ Industrial Policy ของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลก สมัยไปเรียนปริญญาเอกก็ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาแยะ และเมื่อมีอำนาจรัฐก็ได้พยายามเดินตามกรอบความคิดแบบนั้น

อันที่จริง Industrial Policy จะใช้ได้ผล มันต้องมีมิติวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ภาคเอกชนต้องเชื่อฟังภาครัฐมาก และภาครัฐก็ต้องทรงภูมิปัญญา เป็นที่เกรงขาม ข้าราชการผู้ปฏิบัติก็ต้องซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และถูกคัดมาจากชนชั้นกะทิ ถึงจะสามารถนำภาคเอกชนได้ เอาแค่สมมุติฐานเหล่านี้ มันก็ไม่เป็นจริงแล้วในเมืองไทย ยังไม่ต้องพูดถึงวิธีการ, Blueprint, และกลยุทธ์ด้านต่างๆ

ญี่ปุ่นก็มีปัญหาของเขา เป็นปัญหาแบบคนรวย ผมยังเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าตัวเองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังหรือผู้ว่าการธนาคารชาติของญี่ปุ่น คงปวดหัวพิลึก เพราะวันหนึ่งๆ มีเงินสดไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก กิจการค้าของญี่ปุ่นทั่วโลก ถ้าลองปิดบัญชีประจำวันดู ว่าวันนี้ขาย Toyota ได้กี่คัน Sony ขายไปกี่เครื่อง 7-Eleven ขายได้เท่าไหร่ Air Conditioning ขายไปกี่เครื่อง ปุ๋ยขายไปกี่กิโล แทรกเตอร์กับจักรยานยนต์ขายไปกี่คัน ฯลฯ คงจะมีเงินสดกองเป็นภูเขาเลากา จนต้องไล่ให้เอาไปเก็บนอกประเทศ เพราะแค่นี้ ราคาที่ดินในโตเกียวก็อยู่ในระดับที่คนทั่วไปยากจะเอื้อมถึงอยู่แล้ว แม้ผลไม้สักผลยังแพงหูฉี่ ขืนเงินยังล้นทะลักไม่หยุดแบบนี้ มันจะมีจุดจบยังไงกัน คนชั้นกลางและชั้นล่าง จะอยู่กันยังไง ฯลฯ

เงินของญี่ปุ่นก้อนนี้แหละ ที่ฝรั่ง Enjoy อยู่ทุกวันนี้ บ้างก็เอาไปหมุนให้เกาหลีใต้ยืมใช้ เพื่อผลิตสินค้าแบบเดียวกับของญี่ปุ่นมาสู้ญี่ปุ่นในตลาดโลก แล้วก็คิดไปเองว่าสุดท้ายจะเอาชนะญี่ปุ่นได้ (ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีการผลิตก็เป็นของญี่ปุ่น) คิดๆ ไป ก็ตลกดี

ความลับของญี่ปุ่น ที่เราไม่รู้หรือรู้ไปไม่ถึงยังมีอีกมาก โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าการศึกษาญี่ปุ่น ย่อมทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้น


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 มิถุนายน 2551
ตีพิพม์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมิถุนายน 2551

-------

คลิกอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้จากลิงก์ข้างล่าง

บทเรียนการเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นคราวแพ้สงคราม


ฮาราคีรียุคโลกานุวัตร


ข้อเขียนชุด "สังเกตญี่ปุ่น", Part I

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพวกผู้ชาย มักเป็น “เสือยิ้มยาก”

แม้จะพานพบเรื่องพึงใจ ก็ยากจะฉีกยิ้มให้คนอื่นเห็น

บ.ก. MBA คนปัจจุบัน เคยตั้งคำถามเอากับ สามีญี่ปุ่นของอดีต บ.ก. MBA คนหนึ่ง ว่า “ทำไมผู้ชายญี่ปุ่นถึงไม่ค่อยยิ้มเอาเสียเลย ?”

“เพราะถ้าเรายิ้ม คนก็จะมองว่าเราเป็นคนไม่ซีเรียส และคนที่ไม่เอาจริงเอาจัง ก็จะไม่มีทางก้าวหน้าในองค์กร” คำตอบของเขาถึงกับทำให้ทุกคนอึ้งไปชั่วขณะ

คำตอบนี้ สะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน ว่าพวกเขาให้คุณค่ากับ “ความขยัน” และ “เอาจริงเอาจัง”

แน่นอน บริษัทที่พนักงานขยันและเอาจริงเอาจังกับงาน ย่อมพัฒนาก้าวหน้ากว่าบริษัทที่พนักงานขี้เกียจและเหลาะแหละ

ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน หากประชาชนขยันขันแข็ง ย่อมมีโอกาสจะเจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศที่ประชาชนพลเมืองเอาแต่สรวนเสเฮฮา

นั่นหมายความว่า “ความขยันและเอาจริงเอาจัง” เป็นลักษณะนิสัยที่มีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ หรือ Economic Value อย่างเห็นได้ชัด

คนงานญี่ปุ่นนั้น ทำงานกันหนัก แม้การสรวญเสเฮฮา หรือกินเหล้าเมายา ก็เป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย

ถ้าเดินเล่นในโตเกียวตอนดึก ก็มักจะเห็นอาคารสำนักงาน สว่างไสว เพราะพนักงานยังทำงานกันเป็นปรกติ ใครจะกลับบ้านก่อน ก็เกรงใจ ไม่กล้า ด้วยเหตุว่าหัวหน้างานหรือพนักงานที่อาวุโสกว่ายังนั่งทำงานกันอยู่ครบ

การทำงานล่วงเวลา จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับคนญี่ปุ่น แม้ประเทศญี่ปุ่นจะร่ำรวยและก้าวหน้ากว่าใครเพื่อนแล้ว แต่แทนที่จะได้พักผ่อน หรือให้รางวัลกับชีวิตกันบ้าง กลับยังก้มหน้าก้มตาทำงาน ยังกับสมัยแพ้สงครามใหม่ๆ ไม่มีผิดเพี้ยน

ว่ากันว่า คนวัยทำงานในญี่ปุ่นที่อยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี ทำงานกันโดยเฉลี่ยเกินกว่าอาทิตย์ละ 60 ชั่วโมง เลยทีเดียว อันนี้ยังไม่นับเวลาที่ต้องไปอบรม สัมมนา ซึ่งอาจจัดกันในวันเสาร์-อาทิตย์

การทำงานล่วงเวลาในญี่ปุ่นนั้น เป็นเรื่องของความเสียสละ ตามความเชื่อแบบบูชิโด ที่เน้นให้เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

นั่นก็อธิบายได้อีกว่าทำไม Teamwork ของคนญี่ปุ่นถึงดีนักดีหนา มีคนเปรยว่า ถ้าให้แข่งตัวต่อตัวแล้ว คนไทยไม่แพ้คนญี่ปุ่น แต่ถ้าอยู่กันเป็นทีมแล้ว เราแพ้เขาแน่นอน

องค์กรญี่ปุ่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินพิเศษให้กับพนักงานที่อยู่ล่วงเวลา เพราะเป็นเรื่องของความเสียสละ แต่มีหน้าที่ต้องดูแลสารทุกข์สุกดิบตลอดไป จนกว่าพนักงานจะเกษียณ

Life-time Employment จึงสมเหตุสมผล ในวัฒนธรรมองค์กรแบบญี่ปุ่น

แต่คนก็คือคน ไม่ใช่เครื่องจักร

ใช้งานกันหนักเกินไปขนาดนี้ ย่อมต้องบาดเจ็บล้มตาย กันบ้างเป็นธรรมดา

เดือดร้อนถึงรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการเรื่องทำนองนี้ และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศเดียวที่รัฐบาลรับรองว่า “การทำงานเกินกำลัง” (Overworked) เป็นสาเหตุการตายประเภทหนึ่ง ตามกฎหมาย

หลายปีมาแล้วที่ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดช่องให้ญาติพี่น้องของ “คนที่ตายเพราะทำงานหนักเกินกำลัง” (ญี่ปุ่นเรียกว่า “คาโรชิ”) ยื่นคำร้องต่อศาลให้รับพิจารณา และถ้าศาลเห็นว่าเข้าข่าย รัฐบาลก็จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับญาติพี่น้อง เทียบเท่าปีละ 700,000 บาทโดยประมาณ และอาจได้จากบริษัทอีกก้อนใหญ่ ซึ่งบางกรณีก็อาจได้ถึง 33 ล้านบาท เลยทีเดียว

คำร้องลักษณะนี้ มีมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า ก็โดนมาแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้เอง

กรณีของโตโยต้า ทำให้พวกปัญญาชนฝรั่งที่หมั่นไส้ญี่ปุ่นอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถึงกับออกมาเรียกร้องให้ กิจการของญี่ปุ่น ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้กับพนักงานที่ต้องทำงานเกินเวลา

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อาจทำให้ระบบคุณค่าของญี่ปุ่นกลับตาลปัตรได้ เพราะระบบที่เคยเกื้อกูลกันระหว่างส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งเป็นแกนกลางของวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่นและ Work Ethics ที่ช่วยหนุนส่งให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเวลาอันรวดเร็ว จะกลายเป็นระบบ “หมูไปไก่มา” หรือ “ยื่นหมูยื่นแมว” แบบฝรั่ง ที่อาจทำลายคุณค่าสำคัญที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นอยู่กันได้อย่างสันติมายาวนาน นั่นคือ “ความสามัคคี” หรือ “ความสมานฉันท์”

อันที่จริง คนงานญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เขาก็ไม่ได้คิดมากอะไร ที่เขาต้องทำงานกันหนักและไม่ได้เงินค่าล่วงเวลา

ชนชั้นนักรบ หรือซามูไร ในอดีต มักมีวิธีตายอย่างสมเกียรติในแบบของตัวเอง ที่เรียกว่า “ฮาราคีรี”

คนงานญี่ปุ่นปัจจุบัน ก็ไม่ต่างจากซามูไรในอดีต เพราะพวกเขาล้วนมีสังกัดเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ มีสนามรบเป็นตลาดโลก และมีศัตรูที่เป็นกิจการต่างชาติ เพียงแต่เปลี่ยนจากสมรภูมิรบจริงมาเป็นสมรภูมิการค้า

ที่เคยไปทิ้งระเบิดเพิลร์ ฮาร์เบอร์ เดี๋ยวนี้ก็เข้าซื้อตึกเอ็มไพร์เสตท หรือเข้าตีตลาดอเมริกา จนผู้ผลิตอเมริกันต้องล้มหายตายจากกันไปในหลายอุตสาหกรรม

ในแง่นี้ พวกเขาก็ไม่ได้ต่างอะไร กับกองทัพญี่ปุ่นในอดีต เลยแม้แต่น้อย

แล้วทำไม พวกเขาจะเลือกวิธีตาย ที่สมเกียรติบ้าง ไม่ได้เชียวหรือ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ธันวาคม 2550

Sir Walter Raleigh ความประทับใจ ณ ลานประหาร


พบกับ The Final Exit อีกครั้งครับท่านผู้อ่าน หลังจากห่างหายกันไป เราเขียนคอลัมน์แบบนี้เพราะเรามองว่า ชีวิตมนุษย์กับวงจรชีวิตของธุรกิจนั้น เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือดำเนินไปสู่ความสูญสลาย หรือ Entropy แม้จะยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียง เกียรติคุณสักเพียงใด ก็ต้องจากไปสักวันหนึ่ง

นิตยสาร MBA ของเรา เคยวิเคราะห์และรายงานถึงการจากไปขององค์กรธุรกิจมามากต่อมาก เราเลยอยากจะทยอยรายงานวาระสุดท้ายของผู้คนกันบ้าง โดยเฉพาะบุคคลสำคัญๆ ที่เรารู้จักกันดี เพราะความรู้เรื่องการจากไปของบุคคลสำคัญ น่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ยังอยู่ ให้ได้เกิดอนุสสติ ถึงการครองชีวิตที่ยังเหลือ อีกทั้งยังสามารถสังเกตเห็นร่องรอยที่คนเหล่านั้น ต้องการทิ้งไว้ ให้คนรุ่นหลังพูดถึงพวกเขาว่าอย่างไร หรือในบางกรณี ก็อาจถึงขั้นหมายใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใดๆ ในเรื่องที่พวกเขาคาดหวังให้เกิด หรือไม่เกิดขึ้น หลังจากที่เขาจากไปด้วย (End-Game Strategies)

ตั้งแต่เริ่มเขียน เราได้นำเสนอมาแล้วทั้งเรื่อง “วาระสุดท้ายของโสกราตีส” และ “พระราชพินัยกรรมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ “The Death of Napolean” ทั้งหมดล้วนเกิดจากการค้นคว้าและตีความวาระสุดท้ายของท่านนั้นๆ อย่างละเอียดเท่าที่จะหาหลักฐานอ้างอิงได้ นับเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับพวกเรามาก ที่จะต้องค้นคว้าเอกสารจำนวนมากเพื่อประกอบการเขียนบทความเพียงแค่ 3-5 หน้าเท่านั้น

ทว่า ความชื่นชม ยกย่อง ให้กำลังใจ จากท่านผู้อ่าน และกัลยาณมิตรผู้หวังดี ที่มีมาถึงเราอย่างไม่ขาดสาย เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ ยิ่งทำให้เราต้องเพิ่มความมุ่งมั่น และขยันขันแข็งขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ทั้งในแง่การขยายขอบเขตของการแสวงหาข้อมูล และการครุ่นคิดตีความ เพื่อนำเสนอเรื่องราวของคนใหม่ๆ และมุมมองใหม่ๆ ที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่าน เมื่อท่าน “ได้รู้”

แน่นอน บทความแบบนี้ ยังไม่เคยมีใครทำอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อนในภาคภาษาไทย



ฉบับนี้ เราเลือกเรื่องของ Sir Walter Raleigh เพราะเห็นว่าเดี๋ยวนี้ เรื่องราวของอังกฤษในช่วงที่ปกครองโดยราชวงศ์ Tudor ต่อด้วยราชวงศ์ Stuart กำลังได้รับความสนใจและนิยมในหมู่ชนทั่วไปที่ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ทั่วโลก สังเกตจากภาพยนตร์ Hollywood หลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ ทั้ง Shakespeare in Love, Elizabeth (ที่สร้างถึงสองภาค), และ Other Boleyn Girl หรือแม้กระทั่งในเมืองไทยที่กำลังเป็นเรื่องเป็นราวกล่าวหาว่ารัฐมนตรีบางคนสนับสนุนให้เผยแพร่สารคดีชุด “ปฏิวัติฝรั่งเศส” (The French Revolution) และกรณี “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” (The English Civil War) ที่จบลงด้วยการสำเร็จโทษพระเจ้าแผ่นดินแห่งราชวงศ์ Stuart แล้วก็ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐอยู่ถึง 11 ปี

อันที่จริง ยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 16 ต่อ 17 เป็นยุคของความขัดแย้งทางศาสนาและสงครามศาสนา ระหว่างคาทอลิกและโปรแทสแตนส์ ทั้งสงครามเย็นและสงครามร้อน ตลอดจนสงครามกลางเมือง ทั้งผู้ยิ่งใหญ่และไม่ยิ่งใหญ่ในยุคนั้น ถูกสำเร็จโทษและประหารชีวิตกันมาก มันเป็นยุคของ “State Murder” ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ค่อนข้างน่ากลัว น่าขนลุกขนพอง น่าสยดสยอง และน่าอนาถ ที่ผู้คนต้องมาล้มตายเพราะ “ความคิดเห็น” ที่ต่างกัน เป็นจำนวนมากมายขนาดนั้น

สัญลักษณ์ของความสยดสยองของยุคนั้นในอังกฤษก็คือ “หอคอยแห่งลอนดอน” (Tower of London) และวิธีประหารชีวิตอันโหดเหี้ยม ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการประหาร ที่รวมถึง ขวาน ดาบ มีด เคียว สำหรับควักไส้ หรือสำหรับฉีกกระชากร่างออกเป็นส่วนๆ ฯลฯ การประหารชีวิตส่วนใหญ่ทำอย่างเปิดเผย เป็นโชว์แบบหนึ่ง ต่อหน้าฝูงชนที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่างซึ่งต้องการความสะใจ ทั้งการแขวนคอ ตัดหัว เผาทั้งเป็น เพื่อทรมานให้ผู้ถูกประหารสามารถสูดกลิ่นเนื้อไหม้ของตัวเองได้ขณะที่ยังไม่สิ้นใจ ตลอดจนการฉีกร่างออกเป็นชิ้นๆ แล้วนำชิ้นส่วนเหล่านั้นไปประจานไว้ตามที่สาธารณะต่างๆ เป็นต้น

Shakespeare กวีเอกซึ่งมีชีวิตร่วมสมัยนั้น ถ่ายทอดเรื่องราวในวัยเด็กของชนชั้นสูงอังกฤษยุคนั้น ไว้โดยผ่านชีวิตของเจ้าชาย Hamlet ในบทละครเรื่อง Hamlet ของเขาว่า



Of carnal, bloody and unnatural acts,

Of accidental judgments, casual slaughters,

Of deaths put on by cunning and forced cause…….



นั่นเพราะชนชั้นสูงส่วนใหญ่ที่พวกเขาและเธอเคยรู้จักมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ล้วนถูกประหาร หรือไม่ก็มีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งด้วย “ราชภัย” และภัยทางการเมืองต่างๆ นาๆ เชื่อกันว่า Shakespeare แต่งบทนี้ เพราะได้แรงบันดาลใจจากชีวิตในวัยเด็กของพระนางเจ้าอลิซาเบธ นั่นเอง

ใครที่เคยไปเยี่ยมชมหอคอยแห่งลอนดอน คงทราบเรื่องราวของความสยดสยองเหล่านี้ ดีอยู่แล้ว

Sir Walter Raleigh ก็เคยถูกจองจำในหอคอยแห่งนั้นมาก่อน เช่นเดียวกับ Elizabeth Tudor ราชินีในอนาคตซึ่งเป็นผู้ชุบชีวิตและสนับสนุนเขาให้ได้ “เกิด” และมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา

Sir Walter Raleigh เป็นทั้งกวี นักเขียน ข้าราชสำนัก นักรบ นักผจญภัย เผชิญโชค โจรสลัด และนักล่าอาณานิคม เขาเป็นชนชั้นนำของอังกฤษรุ่นบุกเบิกที่ร่วมสร้างตำนานของ “British Empire” ทั้งนี้โดยการปล้นสดมภ์กองเรือสเปนและตีชิงที่มั่นสำคัญของสเปนใน “โลกใหม่” สมัยนั้นสเปนยังเป็นประเทศมหาอำนาจผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกเหมือนกับอเมริกาในสมัยนี้ ถ้าดูในภาพยนตร์เรื่อง “Elizabeth ภาค 2” จะเห็นว่าเขามีบทบาทอย่างมากในการเอาชนะกองเรืองสเปนในยุทธการที่เรียกว่า “Spanish Armada” อันโด่งดัง ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว นักประวัติศาสตร์อังกฤษยังคงถกเถียงกันมากต่อบทบาทในช่วงนั้นของเขา

Sir Walter Raleigh เกิดในตระกูลผู้ดีเก่าแห่งเมือง Devonshire ทว่ายากจนลงในยุคที่เขาเกิด เขาอ่อนกว่าพระนางเจ้าอลิซาเบธ 30 ปี ลืมตาดูโลกเมื่อปี 1544 ตรงกับสมัยที่แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์กุมอำนาจสูงสุดอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เขาไปรบตั้งแต่อายุ 15 แล้วเข้าเรียนที่วิทยาลัย Oriel หรือ King’s College แห่งมหาวิทยาลัย Oxford แล้วต่อเนติบัณฑิตที่สำนัก Middle Temple สำนักเดียวกับอดีตประธานองคมนตรี สัญญา ธรรมศักดิ์ และนักคิดนักเขียนรุ่นใหญ่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์

เขาท่องโลกทางทะเล ปล้นสะดมเรือสเปน ปราบกบฏในไอร์แลนด์ และบุกเบิกทำเกษตรกรรมในแถบ Roanoke ในอาณานิคมใหม่อเมริกา แล้วเขาก็ตั้งชื่อให้ดินแดนนั้นว่า “Virginia” (ปัจจุบันคือรัฐ Virginia ในสหรัฐอเมริกา) เพื่อเป็นเกียรติ์กับราชินีพรหมจรรย์ของอังกฤษ เรื่องเล่าที่เขาเอาเสื้อนอกวางทับโคลนไว้เพื่อให้พระราชินีเดินย่ำไปนั้น (มีฉากนี้ในหนังด้วย) เป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง และการที่เขาเป็นคนสูงโปร่ง สมาร์ต หล่อเหลา และพูดจาฉะฉาน เล่าเรื่องเก่ง ทั้งมีความเป็นปัญญาชนในตัว ขณะเดียวกันก็มีบุคลิกโลดโผนดังนักรบ พระราชินีจึงโปรดเขา

พระราชินีทรงไถ่ถามประสบการณ์จากเขามากมาย พระนางทรงโปรดให้เขาเล่าเรื่องราวผจญภัยต่างๆ ในโลกใหม่ที่เขาเผชิญมา เขาเล่าอย่างได้น่าสนใจและน่าตื่นเต้น และไม่เบื่อที่จะตอบคำถามทุกคำถามของพระนาง เขาเป็นคนนำยาสูบและมันฝรั่งจากอเมริกามาเผยแพร่ในราชสำนักอังกฤษ และเขาต้องการให้พระนางสนับสนุนเขาในเชิงการล่าอาณานิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อำนาจสิทธิขาดเขาปกครองโลกใหม่หรืออเมริกา และทั้งๆ ที่ข้าราชการระดับสูงในรัฐบาลของพระนางสนับสนุนเขาในเรื่องการสร้างจักรวรรดิอังกฤษ ทว่าพระนางก็หาได้สนับสนุนเขาอย่างจริงจังไม่ นั่นอาจเป็นเพราะพระนางเกรงว่าความกระทบกระทั่งกับสเปนจะรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้เขียนชีวประวัติของเขาส่วนใหญ่ล้วนลงความเห็นว่า หากพระนางทรงสนับสนุนเขาในเรื่องอเมริกา ก็อาจทำให้ประวัติศาสตร์ของอเมริกาพลิกผันไปจากเดิม เพระอังกฤษจะเอาใจใส่อเมริกามากขึ้น (ไม่ใช่อินเดียในตอนหลัง และเขาก็จะเป็นเสมือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมคนแรก) และอเมริกาก็จะพัฒนาหรือเจริญขึ้นก่อนที่ควรจะเป็น ส่งผลให้จักรวรรดิอังกฤษรุ่งเรืองและเป็นปึกแผ่นก่อนที่ควรจะเป็นอีกด้วย

พระนางทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าหน่วยทหารราชองค์รักษ์ ซึ่งมีเกียรติและราชสำนักยุโรปพากันเอาอย่าง แต่ก็ทรงกริ้วมากเมื่อเขาแอบแต่งงานกับ Elizabeth Throckmorton นางสนมคนหนึ่งของพระนาง (Ladies-in-waiting) โดยไม่ได้ทรงอนุญาต พระนางจึงส่งพวกเขาไปกักขังที่ “หอคอย” ทว่าไม่นาน พระนางก็ทรงให้อภัยโทษ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ให้ความสนิทสนมและไว้วางพระราชหฤทัยดังเดิม แม้กระนั้นเขาก็ยังคงร่ำรวยจนกระทั่งเสียชีวิต

เมื่อสิ้นพระนางเจ้าอลิซาเบธ กษัตริย์ James I แห่งราชวงศ์ Stuart ขึ้นครองราชย์ ไม่นาน Raleigh ก็ถูกจับกุมในข้อหาสมคบคิดเป็นกบฏ ตอนแรกเขาถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ก็ลดโทษให้เหลือแค่จำคุกตลอดชีวิต เขาถูกกักบริเวณอยู่ใน Tower of London นานถึง 12 ปี แรกๆ เขาพยายามฆ่าตัวตาย แต่ต่อมาก็ทำใจได้ เขาใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มสำคัญของเขา History of the World ในช่วงนี้เอง เขากุเรื่อง “มนุษย์ทองคำ” หรือ “El Dorado” ขึ้น และขอให้กษัตริย์ปล่อยเขา เพื่อให้เขาไปตามล่าหาขุมทองคำ ตามลำน้ำ Orinoco ซึ่งปัจจุบันคือประเทศ Venezuela ทว่าบัดนั้นยังอยู่ใต้อิทธิพลของสเปนอย่างแข็งแรง

กษัตริย์ทรงเชื่อเขา และก็สนับสนุนตามคำขอของเขา ภายใต้ข้อแม้ว่าเขาต้องหลีกเลี่ยงการปะทะกับกองกำลังสเปน ปฏิบัติการณ์ครั้งนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เขาไม่พบทองคำ แต่ได้เข้าประจัญบานกับกองเรือสเปนแทน ลูกชายคนหนึ่งของเขาเสียชีวิตในการรบครั้งนั้น เขากลับมาอย่างคนหมดอาลัยตายอยาก เพื่อเผชิญกับโทษทัณฑ์อย่างกล้าหาญ และด้วยความเกรงใจสเปนของรัฐบาลกษัตริย์ขณะนั้น เขาเลยถูกตัดสินให้ประหารชีวิต

วาระสุดท้ายของเขาถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดในเอกสารภาษาอังกฤษ ทั้งเอกสารทางราชการและบันทึกส่วนตัวของผู้ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตั้งแต่คืนก่อนประหารที่เขาถูกควบคุมตัวไว้ที่ Westminster แล้วก็ถูกนำตัวขึ้นตะแลงแกงที่ Palace Yard ในเช้าวันรุ่งขึ้น วันนั้นเขามีจิตใจปลอดโปร่ง และว่าตายบนลานประหารยังดีเสียกว่าตายเพราะพิษไข้ เขายังว่าอีกว่าเขาไม่กลัวที่จะต้องไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะต้องยกโทษให้เขาต่อบาปที่เขาเคยกระทำมา เขากินอาหารเช้ามื้อนั้นด้วยความร่าเริง แล้วก็สูบยาเส้นจากไปป์

เช้าวันที่ 29 ตุลาคม ปี 1618 ลานประหารเนืองแน่นไปด้วยผู้คน จนเขาเองยังต้องกระเสือกกระสนฝ่าฝูงชนเพื่อไปสู่ตะแลงแกง ชายคนหนึ่งส่งแก้วไวน์สเปน (Sack wine) ให้เขาดื่ม เขาดื่มรวดเดียว แล้วพูดอย่างเย้ยหยันแกมตลกว่า “It is a good drink, if a man might tarry by it.” เมื่ออยู่บนตะแลงแกง เขาทำความเคารพทุกคนที่เขารู้จัก ทั้งเพื่อนและศัตรู และเขายังกล่าวสุนทรพจน์อีกค่อนข้างยาว แล้วก็นั่งลงสวดมนตร์ เมื่อลุกขึ้นเขาถอดหมวกโยนให้ฝูงชนพร้อมกับเงินที่เขามีอยู่ทั้งหมด เขาจับมือกับเพชฌฆาตและเจ้าหน้าที่ทุกคนบนตะแลงแกง แล้วเข้าสวมกอด Lord Arundel เพื่อนของเขา และกล่าวกับเพื่อนว่า “I have a long journey to go, and therefore I take my leave.”

เขาขอให้เพชฌฆาตนำขวานมาให้เขาดูใกล้ๆ เขาเอาหัวแม่มือลูบคมมันดู แล้วก็พูดขึ้นว่า “This is a sharp medicine but it is a physician for all diseases.” ประโยคสุดท้ายที่เขาเปล่งออกจากปากได้คือ “Strike, man, strike!”

ศีรษะของเขาหลุดจากบ่าหลังจากเพชฌฆาตต้องลงขวานถึงสองครั้งสองครา ริมฝีปากเขายังขยับได้ หัวหน้าเจ้าพนักงานขย้ำเอาเส้นผมแล้วชูศีรษะของเขาขึ้นเพื่อให้เห็นได้ทั่วกัน และตามธรรมเนียมเขาจะต้องตะโกนว่า “Behold the head of a traitor.” แต่นี่เขามิได้กระทำ

เสียง “อือ” อื้ออึงขึ้นในหมู่ฝูงชนด้วยความไม่พอใจ และมีเสียงกล่าวขึ้นมาว่า “We have never had such a head cut off.”

การตายของเขานำมาซึ่งความไม่พอใจของขุนนางและประชาชนอังกฤษบางส่วนต่อกษัตริย์ หาว่ากษัตริย์ใจแคบและโหดร้ายเกินไป ชนชั้นสูงบางคนที่อยู่ในหมู่ฝูงชนวันนั้นด้วย ต่อมาก็ได้กลายมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ คนสำคัญที่เป็นหัวหอกต่อต้านราชวงศ์ Stuart อย่างเช่น John Pym และบางคนก็กลับกลายจากการเป็นกษัตริย์นิยม ไปเป็นพวกเกลียดกษัตริย์ อย่าง Sir John Eliot เป็นต้น

หลังจาก Raleigh ตายได้เกือบ 24 ปี (และหลังจากพระนางเจ้าอาลิซาเบธเสด็จสวรรคตได้ 39 ปี) ประเทศอังกฤษก็ลุกเป็นไฟ เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับฝ่ายรัฐสภา ที่เรียกว่า “The English Civil War” แล้วก็จบลงโดยฝ่ายกษัตริย์พ่ายแพ้ และถูกสำเร็จโทษเมื่อวันที่ 30 มกราคม 1649 หลังจากนั้นประเทศอังกฤษก็ถูกปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐภายใต้การกุมอำนาจสูงสุดของผู้บัญชาการกองกำลังปฏิวัติ Oliver Cromwell (และต่อมาก็ลูกชายเขา) เป็นเวลาถึง 11 ปี (เราคงต้องมาหาคำตอบกันในโอกาสต่อไปว่าทำไม Cromwell ถึงไม่ยอมปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ของตัวเอง เหมือนกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงกระทำ)

แม้การตายของ Raleigh จะส่งให้เขากลายเป็นวีระบุรุษ ทว่า ชีวิตของเขาก็น่าศึกษา แม้เขาจะมีความสามารถหลากหลายและมีข้อดีหลายอย่าง แต่นิสัยมั่นใจในตัวเองจนเกินเหตุของเขา ก็ทำให้เขา “ล้ำเส้น” อยู่บ่อยๆ เท่ากับเป็นการเพาะศัตรูโดยไม่รู้ตัว นิสัยเสียอีกอันหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของเขา และทำให้เขาต้องตาย ก็คือ “ความขี้โอ่” หรือ “ขี้โม้” นั่นเอง เมื่อไม่มีพระราชินีคอยปกป้องเขา นิสัยพวกนั้นของเขาก็กลับมาทิ่มแทงเขา ให้ต้องประสบชะตากรรมอย่างที่กล่าวมา

ทว่า การเผชิญความตายอย่างกล้าหาญ สุขุม เยือกเย็น มีสติ และการแสดงตัวต่อฝูงชน ณ ลานประหารในเช้าวันนั้น นับเป็น “Showmanship” ที่ทำให้เขากลายเป็นตำนาน จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การตายแบบนั้น นับเป็น End-game Strategy ที่เหนือชั้นเป็นอย่างยิ่ง

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
พฤศภาคม 2551

**คลิกอ่านบทความชุด Final Exit บางอันที่น่าสนใจของผมได้ตามลิงก์ข้างล่าง

1. พระราชพินัยกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ



2. วาระสุดท้ายของนโปเลียน


3. ศรีปราชญ์ ยักษ์ใหญ่ที่ไร้ตัวตน


แซยิด ด็อกเตอร์พอร์เตอร์ (Michael Porter)


ปีนี้ ไมเกิล พอร์เตอร์ (Michael E. Porter) มีอายุครบ 60 ปีพอดีๆ ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องมีงานบุญเป็นการใหญ่เพราะถือว่าอายุครบ 5 รอบ และถ้าเป็นคนจีนก็ต้องจัดงาน “แซยิด” กันอย่างใหญ่โตโอฬาริก เช่นกัน แต่ไม่ว่าชาติไหนๆ ก็ต้องถือว่าคนอายุ 60 นั้น เป็นคนที่ย่างเข้าวัยชราแล้ว

สมัยก่อน คนอายุปูนนี้คงต้องพักผ่อนอยู่กับบ้าน ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว เลี้ยงปลา หรือช่วยเลี้ยงหลาน เลี้ยงเหลน ไปตามเรื่อง แต่สมัยนี้ สมัยที่ความรู้ทางด้านโภชนาการก้าวหน้า และเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวไกลเกินจินตนาการของคนรุ่นก่อน ทำให้ตัวเลข 60 ยังเป็นตัวเลขที่ยังเต้นระบำได้

พอร์เตอร์ก็เป็นคนหนึ่งที่ยัง Active อยู่มาก เพราะมิเพียงเขาจะไม่ได้อยู่กับบ้านเลี้ยงหลานให้กับลูกสาวทั้งสองแล้ว เขายังไปทำงานทุกวัน และยังสอนหนังสือและเขียนหนังสือแบบเต็มเวลา บริหารสถาบันวิจัย คุมการจัดสัมมนาใหญ่ปีละสองครั้ง เป็นผู้จัดการวงดนตรีร็อก อีกทั้งยังรับงานปาฐกถาและให้คำปรึกษาไปทั่วโลก ล่าสุด เขายังอุตสาห์คิดค้นวิชาใหม่ขึ้นมาสอนที่ต้นสังกัด Harvard Business School ชื่อ Microeconomics of Competitiveness ซึ่งฟังดูแล้ว ก็แปลกพิลึก แต่อะไรที่ฟังดูแปลกนี้แหละ ที่มักเป็นหัวเชื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในแวดวงวิชาการทางด้านบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ความคิดภาพรวมดูเหมือนจะนิ่ง และหยุดชะงัก มาหลายปีแล้ว

หากย้อนดูประวัติการทำงานของพอร์เตอร์ เราจะไม่แปลกใจเลยสักนิด เพราะพอร์เตอร์มักทำอะไรแผลงๆ อย่างน้อยก็แปลกไปจากประเพณีทางปัญญาของ HBS เสมอ เขาเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ทางวิชาการอย่างน่าชมเชย ผลงานของเขาในอดีต ได้ช่วยเพิ่มสีสันและชีวิตชีวาให้กับแวดวง MBA อีกทั้งยังสร้างผลกระทบต่อแนวการสอนและบรรยายวิชา Business Policy หรือ Strategic Management อย่างลึกซึ้ง และก็แน่นอน วงการธุรกิจเอง ก็ย่อมได้รับผลกระทบนี้ไปอย่างจัง ผ่านทางวิธีคิดและปฏิบัติของผู้บริหารหรือพนักงานที่เคยเรียน MBA หรือเคยสัมผัสและซึมซับแนวความคิดของเขาจากหนังสือ บทความ และหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ Framework ของเขาช่วยเปลี่ยนมุมมองเชิงกลยุทธ์และการแข่งขันให้กับนักบริหารทั่วโลก

พอร์เตอร์เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง เขาจบปริญญาเอกเมื่ออายุเพียง 25 ปี แล้วก็เข้าเป็นอาจารย์เด็กที่ Harvard Business School เลยทันที เขาอยู่ภายใต้ร่มเงาของ Edmund Learned, C. Roland Christensen และ Kenneth Andrew สามผู้บุกเบิกและพัฒนาวิชา Business Policy ที่โรงเรียนแห่งนั้น จนโด่งดังและโรงเรียนบริหารธุรกิจแห่งอื่นเอาเป็นแบบอย่างไปทั่วโลก หนังสือที่พวกเขาเขียนขึ้น Problems of General Management: Business Policy—A Series Casebook ก็เป็นตำรามาตรฐานของโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลกในขณะนั้น Kenneth Andrew ผู้นี้เองที่เป็นต้นคิดโมเดลวิเคราะห์ธุรกิจที่เรียกว่า SWOT หรือ Strength, Weakness, Opportunity, and Threat ซึ่งยังคงนิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ด็อกเตอร์พอร์เตอร์ ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์หนุ่มที่ไฟแรง เป็นดาวอภิปราย ชอบการปะทะสังสรรค์ทางปัญญา และมักผลักดันแนวคิดตัวเองด้วยความร้อนแรงเสมอ ทั้งยังทำงานวิจัยแบบหามรุ่งหามค่ำ จนเวลาล่วงไป 2 ปี John McArthur ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งรองคณะบดีของ HBS ก็เรียกเขาไปพบเพื่อแนะบางอย่าง ซึ่งทำให้เขาพลิกวิธีคิดไปอย่างสิ้นเชิง โดยหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็สามารถค้นพบแนวทางของตัวเอง ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

รองคณะบดีคนนี้เป็นคนที่ตามีแวว (ต่อมาเขาได้ขึ้นเป็นคณะบดีและได้สร้างคุณูปการไว้ให้กับ HBS หลายด้าน) เขามองเห็นศักยภาพบางอย่างในตัวพอร์เตอร์ เขาคงมองว่า ถ้าพอร์เตอร์ยังอยู่ภายใต้ฉายาผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้น ก็ยากที่จะเกิดได้ และก็น่าเสียดายความคิดของพอร์เตอร์ที่หลายอย่างมีลักษณะเป็น Original และสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าได้รับการบ่มเพาะ ขัดเกลา และสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ก็อาจจะสร้างผลกระทบต่อวงวิชาการ และเกิดประโยชน์กับฮาร์วาร์ดได้ไม่น้อย เขาจึงวางอนาคตให้พอร์เตอร์โดยขอโยกพอร์เตอร์ออกจากการเป็นผู้บรรยายในโปรแกรม MBA เพื่อมาประจำโครงการพัฒนาผู้บริหาร หรือ Program for Management Development

แรกๆ พอร์เตอร์ ก็ยังอิดออด เพราะรู้ว่าโปรแกรม MBA นั้นเป็นเส้นเลือดใหญ่ของ HBS การหลุดออกไปแบบนี้ เป็นเรื่องที่ทำใจลำบาก แต่ในที่สุดเขาก็ยอมทำตามแผนของ McArthur ที่ต้องการให้เขาได้พบปะ วิวาทะ และทดลองโมเดลกับบรรดานักธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลก ที่แวะเวียนเข้ามาในโปรแกรม PMD ของฮาร์วาร์ด อีกทั้งยังให้ลดงานสอนลง เพื่อมุ่งงานวิจัย กับทีมสนับสนุนซึ่งก็คือบรรดานักศึกษาปริญญาเอกที่ชื่นชมในตัวเขา โดยมุ่งเน้นไปในเรื่องการวิเคราะห์โครงสร้างอุตสาหกรรมและการแข่งขัน เป็นหลัก

พอร์เตอร์กลับมาที่ MBA อีกครั้งเมื่อปี 2521 หลังจากซุ่มอยู่ถึง 3 ปี คราวนี้ McArthur ขึ้นเป็นคณะบดีแล้ว และได้เปิดโอกาสให้เขาสร้างวิชาใหม่ขึ้นมาสอนเอง ชื่อ Industry and Competitive Analysis ซึ่งเป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย เขาสอนวิชานี้อยู่ 5 ปี กว่าเขาจะพัฒนาขึ้นเป็นหัวหน้าผู้บรรยายวิชา Business Policy I ได้ เพราะต้องรอให้ผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้นเกษียณไปเสียก่อน

กระนั้นก็ตาม วิชาที่เขาสอนกลับได้รับความนิยมและกล่าวขวัญกันมาก เขาจึงนำโมเดลวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจของแนวคิด ที่เรียกว่า Five Forces หรือ “พลังผลักดันทั้งห้า” มาเขียนเป็นบทความลงพิมพ์ใน Harvard Business Review เมื่อปี 2522 ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังเป็นพลุแตก และอีกปีต่อมาเขาก็ต่อเติมเสริมแต่งอย่างละเอียด แล้วพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Competitive Strategy: Techniques for Analyzing Industries and Competitors ซึ่งทำให้ชื่อชั้นของเขาก้าวพ้นความเป็นนักวิชาการธรรมดา ไปสู่ความเป็น Management Guru ชั้นแนวหน้าของโลก

ณ วันนั้น เขาเพิ่งจะมีอายุได้เพียง 32 ปีเท่านั้นเอง นับว่าเขาประสบผลสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งอันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งของช่วงชีวิตที่เหลือของเขา

ความคิดของพอร์เตอร์นับเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงบริหารธุรกิจขณะนั้น แม้ศัพท์แสงที่เขาใช้จะเป็นที่คุ้นเคยของนักเศรษฐศาสตร์มาก่อนแล้ว แต่ในวงการบริหารธุรกิจนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ เขาสามารถดึงเอาความคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาคให้ลงมาเชื่อมต่อกับแนวคิดเชิงกลยุทธ์ขององค์กรธุรกิจได้ เขาเป็นคนสร้างสะพานเชื่อมแนวคิดสองกระแส คือบริหารธุรกิจกับเศรษฐศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด เนื่องเพราะเขามาจากสองโลก ทั้งเคยเรียน MBA และต่อยอดด้วย Business Economics ตอนปริญญาเอก เขาหลีกเลี่ยงการอธิบายด้วยกราฟหรือสมการคณิตศาสตร์ ใช้ภาษาที่มีชีวิตชีวา และเข้าใจง่าย อย่าง Player, Entry Barrier, Mobility Barrier, Exit Barrier, New Entrant, Industry Attractiveness, Degree of Competition, Bargaining Power of Buyers and Supplier, Market Signal, Strategic Positioning, Cost Drivers, Switching Cost, Competitive Advantage, Competitive Strategy, Value Chain, Offensive Move, Strategic Group, Stuck in the Middle, Focus, Strategic Fit, ฯลฯ

โมเดลการวิเคราะห์อุตสาหกรรมของเขาได้รับการยอมรับอย่างสูง และพลิกแนวคิดในการวงกลยุทธ์ธุรกิจ ให้หันมาเน้นย้ำกับการแข่งขันและคู่แข่งขัน แทนที่จะมองแต่ตัวเองดังแต่ก่อน เขานำเอาแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มาต่อยอดและทำให้ง่าย ว่าความน่าสนใจและดีกรีการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งห้า คือ ภัยคุกคามจากผู้เล่นหน้าใหม่ พลังต่อรองของลูกค้า พลังต่อรองของซัพพลายเออร์ ภัยคุกคามอันเนื่องมาแต่สินค้าทดแทน และสภาวะการแข่งขันของแต่ละกิจการในอุตสาหกรรมนั้นๆ แทนที่จะพูดถึงตลาดแบบต่างๆ เช่น ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ตลาดแข่งขันน้อยราย ตลาดผูกขาก ในลักษณะดุลภาพ ฯลฯ อย่างที่เคยพูดกันแบบแพร่หลายมาก่อนหน้านั้น อันนี้นับว่าผิดกับหนังสือเล่มแรกของตัวเขาเอง Interbrand Choice, Strategy and Bilateral Market Power ที่ยังพยายามอธิบายโครงสร้างการแข่งขันด้วยแนวคิดแบบเดิม และยังอธิบายมันโดยเส้นกราฟและสมการคณิตศาสตร์อยู่เลย นั่นหมายความว่า พอร์เตอร์ใช้เวลาเพียง 3 ปี ในการแสวงหาแนวทางของตัวเอง และเปลี่ยนวิธีนำเสนอให้เป็น “ภาษาคน” ซึ่งเขาต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ John McArthur อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังจากนั้นอีก 5 ปี เขาก็ออกหนังสือเล่มต่อมา Competitive Advantage: Creating and Sustaining Superior Performance และเสนอโมเดลใหม่คือ Value Chain ที่มองธุรกิจว่าเป็นผลรวมของกิจกรรมหลายกิจกรรมทั้งที่ต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่อง แต่เกี่ยวข้องและกุมกันเข้าเป็นองค์รวม ซึ่งการวิเคราะห์แบบนี้ เป็นการมองที่กิจกรรมพื้นฐานขององค์กรธุรกิจ เช่น การจัดซื้อ การออกแบบกระบวนงาน กระบวนการบริหาร เป็นต้น ต่างกับการมองในเชิงหน้าที่ เช่น การตลาด การเงิน การผลิต การบุคคล แบบเก่า เขามองว่าปมเด่นในการแข่งขันของธุรกิจ (competitive advantage) จะมาจากการออกแบบและจัดการกับ Value Chain ของตน นั่นเอง

ความคิดเรื่อง Value Chain ของเขานั้น ไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร เพราะมันยังไม่ Breakthrough เหมือนกับความคิดอันแรก ที่เน้นเปิดสมองให้นักธุรกิจรู้จักมองออกไปนอกตัวอย่างมีเป้าหมาย รู้จักวิเคราะห์อุตสาหรรมด้วยแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ทรงพลัง รู้ว่าจะเปลี่ยนหรือมีอิทธิพลต่อโครงสร้างอุตสาหรรมได้อย่างไร รู้จักสังเกตพัฒนาการของอุตสาหกรรมว่าอยู่ในช่วงไหน ช่วงเกิด โต แก่ หรือกำลังจะตาย รู้จักสังเกตพฤติกรรมของผู้เล่นในอุตสาหกรรมแต่ละประเภทและแต่ละช่วง รู้จักวิเคราะห์คู่แข่งขัน ทั้งในเชิงจิตวิทยาและการอ่านใจคู่แข่ง แต่ความคิดเรื่อง Value Chain นั้นเป็นความคิดแบบมองย้อนเข้าหาตัว และไม่ได้ใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่พอร์เตอร์ถนัดเข้ามาช่วยยกระดับ อีกทั้งยังเป็นแนวคิดที่นักธุรกิจโดยทั่วไปคุ้นเคยและรู้ดีอยู่แล้ว เพราะคลุกคลีอยู่กับธุรกิจของพวกเขามาแทบจะทุกรายละเอียด จึงไม่จำเป็นต้องมาสมาทานเอาความคิดของพอร์เตอร์ไปใช้อีก

พอร์เตอร์นั้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แม้เขาจะเรียนปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ แต่งานวิจัยและวิทยานิพนธ์นั้นเน้นไปทางเศรษฐศาสตร์ยิ่งกว่าธุรกิจหรือการจัดการ อาจารย์คนสำคัญและมีอิทธิพลต่อเขาก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญคือ Michael Spence เจ้าของรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แต่พอร์เตอร์กลับไม่ได้รับการยอมรับในแวดวงเศรษฐศาสตร์เลย แม้เขาจะได้รับยกย่องอย่างมากในแวดวงบริหารธุรกิจและการจัดการ ถ้าเทียบกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน อย่าง Paul Krugman, Joseph Stiglitz, Lawrence Summers, Gregory Mankiw แล้ว จะเห็นว่าบรรดาคนเหล่านั้นต่างไปไหนต่อไหน ทุกคนได้รับรางวัล John Bates Clark Medal และบางคนก็ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์แล้ว บางคนเคยเป็นถึงรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เป็นผู้นำสูงสุดของธนาคารโลก หรือหัวหน้าคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ซึ่งล้วนได้เข้าไปลิ้มลองกับการนำแนวคิดเข้าไปขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

กิเลสของนักเศรษฐศาสตร์คือเรื่องแบบนี้แหละ !

พอร์เตอร์ก็หนีเรื่องแบบนี้ไปไม่พ้น เขายังอายุสี่สิบต้น และเป็นที่นับหน้าถือตาในแวดวงธุรกิจ หนังสือที่เขาเขียนก็ล้วนแต่เป็นหนังสือระดับขายดี ค่าตัวในการบรรยายแต่ละครั้งก็สูงกว่าพรรคพวกที่กล่าวมา แต่เมื่อเขาให้ความเห็นในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ หรือเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กลับไม่มีใครฟัง หรือฟังก็ฟังแบบไม่ตั้งใจ เขาจึงทุ่มเทเวลาให้กับงานวิจัยชุดใหม่ที่เขาคิดว่าจะต้องข้ามพ้นข้อจำกัดที่ว่า และต้องเป็น Breakthrough Idea อีกครั้งหนึ่ง

เขาและทีมงานจำนวนมาก ทุ่มทำวิจัยอุตสาหกรรมสำคัญๆ ในหลายประเทศ อยู่หลายปี เพื่อที่จะยกระดับแนวคิดในเรื่อง Competitive Advantage ให้สามารถขึ้นชั้นไปอธิบายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมุ่งหวังให้ผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐนำเอาแนวคิดของเขาไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอีกด้วย นับว่าเขาคิดการณ์ใหญ่ไม่ใช่เล่น คือหวังจะเอาความคิดแบบเศรษฐศาสตร์จุลภาคและบริหารธุรกิจไปอธิบายปรากฏการณ์และเรื่องราวที่อยู่ในอาณัติของเศรษฐศาสตร์มหภาค หรือ Macroeconomics ซึ่งมีนักคิดรุ่นใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก

ผลของความพยายามดังกล่าว คือหนังสือเล่มสำคัญ The Competitive Advantage of Nations ที่พิมพ์ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2533 ซึ่งสำหรับผมแล้ว ถือว่าเป็นที่สุดของความพยายามของเขา แนวคิดหลายอย่างในหนังสือเล่มนั้น มีอิทธิพลต่อผู้นำประเทศและผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในแถบประเทศกำลังพัฒนา ไม่น้อยเลย ผมเคยเดินทางไปสิงค์โปรเมื่อหนังสือเล่มนี้วางตลาดใหม่ๆ ช่วงนั้น กำลังมีการถ่ายทอดสดการประชุมสภาฯ ทันใดนั้น นายกรัฐมนตรีของสิงค์โปรเวลานั้น ก็ลุกขึ้นอภิปรายโดยอ้างอิงถึงหนังสือของพอร์เตอร์เป็นทำนองชื่นชม อันนี้ยังไม่นับอิทธิพลที่มีต่อผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจไทยในยุคหนึ่ง แต่สำหรับในประเทศที่เศรษฐกิจก้าวหน้าและพัฒนาแล้ว ร่องรอยของอิทธิพลทางความคิดเขาดูเหมือนจะเบาบาง ผกผันกับดีกรีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจยังไงชอบกล

“Dynamic Diamond” โมเดลหลัก ที่ถูกวางให้เป็นตัวกำหนดความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศ ที่เขานำเสนอในหนังสือเล่มนี้ ไม่แรงอย่างที่ตั้งใจไว้ หรืออย่างน้อยก็ไม่แรงเท่ากับ “Five Forces” หรือแม้แต่ “Value Chain” ที่เขาเคยเสนอไว้ในหนังสือสองเล่มก่อนหน้านั้น ทว่า แนวคิดเสริมที่เขาเสนอขึ้นมาในหนังสือ กลับได้รับการยอมรับและอ้างอิงถึงอย่างกว้างขวาง นั่นคือแนวคิดเรื่อง Cluster จนเขาต้องต่อเติมเสริมแต่งให้พิสดารออกไปอีกในหนังสือ On Competition ที่ออกในปี 2541 รัฐบาลในบางประเทศถึงกับออกนโยบายสร้าง Cluster เพื่อบ่มเพาะธุรกิจตามแนวทางของเขา

พอร์เตอร์ได้ชี้ให้เห็นว่า การจะพัฒนาเศรษฐกิจนั้น มิได้จำกัดอยู่แต่การใช้ปัจจัยการผลิต คือที่ดิน แรงงาน ทุน อย่างที่เข้าใจกันมาตั้งแต่ยุคสมัยของ Adam Smith และ David Ricardo แต่มันยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอีกหลายประการ อย่างเช่น ความเชี่ยวชาญพิเศษ ลักษณะของดีมานด์ภายในประเทศ และโครงสร้างของอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง ตลอดจนโครงสร้างการแข่งขันและจัดการในแต่ละอุตสาหกรรม (นี่แหละ ที่เขาเรียกว่า Dynamic Diamond) ซึ่งรัฐบาลหรือผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจจำต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อที่จะยื่นมือเข้าไปปรับแต่ง ปรุงแต่ง และหันเห หรือผัน ให้ปัจจัยเหล่านั้น เกิดสภาวะที่เป็นคุณ หรือเป็นเนื้อนาบุญ กับสมรรถนะเชิงการแข่งขันของแต่ละบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งก็จะส่งผลต่อความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศโดยรวมในที่สุด

พอร์เตอร์ให้ความสำคัญกับสถานที่ตั้ง หรือ Location ว่ามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างสมรรถนะเชิงแข่งขันของธุรกิจ อย่างกิจการในคลัสเตอร์ไฮเทคแถว Silicon Valley ที่ถึงแม้จะแข่งขันกันเองอย่างรุนแรง แต่ก็ร่วมรับประโยชน์จากความรู้ใหม่และแหล่งเงินทุน ตลอดจนความประหยัดจากการร่วมมือกันสั่งซื้อวัตถุดิบ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านในคลัสเตอร์นั้น ฯลฯ แนวคิดอันนี้แหละ ที่เป็นต้นแบบของโมเดล “Co-opetition” ที่ลูกศิษย์ลูกหาของพอร์เตอร์ได้คิดต่อยอดออกไปอย่างพิสดารในภายหลัง

The Competitive Advantage of Nations ถือเป็น Peak ของชีวิตพอร์เตอร์ ช่วงเวลาที่เขา Bright ที่สุด ความคิดความอ่านเปล่งประกายที่สุด ได้ถึงจุดสูงสุดที่ผลงานชิ้นนี้เอง แม้ว่าหลังจากนั้น เขาจะเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม และบทความอีกหลายสิบบทความ ด้วยประเด็นที่หลากหลายออกไปกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายสุขภาพ เรื่องการกลยุทธ์การบริจาค หรือแม้กระทั่งภาวะโลกร้อน แต่ก็หาได้มีความคิดใหม่ที่มีลักษณะเป็น Breakthrough Idea ไม่ แม้ความเห็นบางเรื่องของเขาจะควรค่าแก่การสำเหนียก ก็ตามที

สำหรับผมแล้ว ผมสนใจงานที่เกี่ยวเนื่องกับสมรรถนะเชิงแข่งขันของประเทศหรือรัฐต่างๆ ผมจึงคิดว่าผลงานช่วงหลังของเขาที่ดีและมีประโยชน์ น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่เขาเขียนขึ้นร่วมกับบรรดาลูกศิษย์ลูกหา เพื่อเอาไว้ประกอบการบรรยายที่ HBS ซึ่งหลายๆ ชิ้น เป็นงานวิจัยที่ละเอียด และอาศัยความทุ่มเทในการเก็บข้อมูลที่มีประโยชน์ แม้จะอาศัย Framework เดิมในการวิเคราะห์ก็ตาม อย่างงานสองชิ้นล่าสุดที่เราเลือกมาลงใน MBA ฉบับนี้ ก็เป็นการลงไปศึกษาสมรรถนะเชิงแข่งขันของประเทศ Latvia และ Iceland อย่างค่อนข้างละเอียด และน่ายกย่องในความพยายาม เหมาะกับการอ่านเทียบเคียงงานหลักที่งอกมาจากการวิจัยอุตสาหกรรมสำคัญใน 7 ประเทศเมื่อสิบกว่าปีก่อนของเขาเอง ซึ่งจะทำให้เราเห็นพัฒนาการทางความคิด และการต่อยอดจากงานหลักในบางประเด็น

ผมเดาว่า ในใจของพอร์เตอร์ลึกๆ เขายังโหยหาความยอมรับนับถือในแวดวงเศรษฐศาสตร์ ที่เขาคิดว่าเขายังได้รับน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาคิดและทิ้งไว้ให้วงการนั้น ชื่อวิชาปัจจุบันของเขา Microeconomics of Competitiveness แสดงถึงปมด้อยดังว่านั้น

นานมาแล้ว ผมเคยอ่านสุนทรพจน์ของ Harry Markowitz ขณะรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ที่สวีเดน เขากล่าวความในใจตอนหนึ่งว่า สมัยที่เขากำลังจะจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิคาโกในครั้งกระโน้น Milton Friedman ซึ่งเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้ควบคุมการสอบ คัดค้านว่าไม่ควรประสาทปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ให้แก่เขา เพราะวิทยานิพนธ์ที่เขาทำเรื่อง Portfolio Theory นั้น มัน “ไม่ใช่” หรือ “ไม่เป็น” เศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่า เขาต้องกล้ำกลืนกับความเห็นดังว่านั้นอยู่จนบั้นปลายของชีวิต ถึงยังจดจำและนำมากล่าวให้โลกได้รับรู้ ทั้งๆ ที่โลกการเงินและโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลกยอมรับแนวคิดเรื่อง Portfolio Management ของเขาอย่างพร้อมเพรียงมาช้านานแล้ว จนมีคนช่วยคิดต่อยอดไปถึงไหนต่อไหน แต่แวดวงเศรษฐศาสตร์กลับยังดูแคลนหรือไม่กล้ายอมรับอย่างเปิดเผย

ผมเห็นว่า พอร์เตอร์เอง ก็กำลังต้องการพิสูจน์อยู่อย่างขะมักเขม้น ว่าแนวคิดเรื่องการแข่งขันทั้งหลายแหล่ที่เขาคิดและเรียงร้อยขึ้นอย่างเป็นระบบนั้น เป็นเศรษฐศาสตร์ ด้วยเช่นกัน


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 กุมภาพันธุ์ 2551