วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

รัฐบาลคือ Big Business คนฉลาดต้องใช้เป็นเครื่องมือ



คนฉลาดๆ ย่อมรู้ว่าวิธีสร้างเนื้อสร้างตัวที่ได้ผลที่สุดคือการเข้าไปมีอำนาจในรัฐบาล

ส่วนจะยึดอำนาจรัฐโดยวิธีไหนนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เลือกตั้ง รัฐประหาร ตั้งกองกำลังปฏิวัติก่อสงครามกลางเมืองเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจอยู่ก่อน เขียนรัฐธรรมนูญให้พวกตนได้แต้มต่อและคงอำนาจไว้ในหมู่พวกพ้อง หรือรอจังหวะจนกว่าแน่ใจแล้วว่าฝ่ายไหนชนะ แล้วค่อยเข้าไปรับใช้ เพื่อขอมีส่วนร่วมหรือส่วนแบ่งในการใช้อำนาจรัฐ

คนฉลาดๆ จำนวนมาก ค้นพบแล้วว่านั่นเป็นการสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้ตัวเองได้ดีที่สุด โดยไม่สนว่าจะเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีใด

เพราะ "รัฐบาล" เป็นองค์กรสูงสุด ที่มีอำนาจเด็ดขาด และมีเครื่องมือหลากหลายให้เลือกใช้ ในการรวบรวมและจัดสรรทรัพยากร ทั้งเงิน (ในรูปของภาษี เงินตรา และระบบเครดิต) ที่ดิน ทรัพย์สิน ตลอดจนสัมปทานผูกขาด บนดิน ใต้ดิน บนผืนน้ำและใต้น้ำ และคลื่นในอากาศ

รัฐบาลเท่านั้น ที่ฆ่าคนได้ตามกฎหมาย

รัฐบาลเท่านั้น ที่ริดรอนสิทธิได้ตามกฎหมาย

รัฐบาลเท่านั้น ที่สามารถบังคับเอา ตัดส่วนเอา หรือเบียดบังเอา "ความมั่งคั่ง" หรือรายได้หรือทรัพย์สินของประชาชนมาเป็นของส่วนกลาง ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย

รัฐบาลเท่านั้น ที่จะเป็นผู้บอก (ในกรณีของรัฐบาลเผด็จการ) หรือไม่ก็เป็นผู้กำหนดกรอบและกฎเกณฑ์กว้างๆ (ในกรณีของรัฐบาลประชาธิปไตย) ว่าใครทำอะไรได้บ้าง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ใครเท่านั้นที่ทำบางอย่างได้ ที่ไหนไปได้ ที่ไหนไปไม่ได้ เมื่อไหร่ควรทำอะไร ใครต้องจ่าย จ่ายเท่าไหร่ และใครจะได้อะไรเท่าไหร่ ฯลฯ

รัฐบาลมี กฎหมาย ทหาร ตำรวจ และระบบราชการ เป็นเครื่องมือ

โดยผ่านเครื่องมือเหล่านี้ รัฐบาลสามารถควบคุมให้ประชาชนทำตาม

ควบคุมให้ประชาชนและนิติบุคคลต้องจ่ายภาษี ให้ตรงเวลา และตามจำนวน

แล้วนำภาษีนั้นส่วนหนึ่ง ไปสร้างระบบราชการให้เข้มแข็งขึ้นไปอีก เพื่อกระชับการควบคุมให้ทรงประสิทธิภาพ

ที่สำคัญคือกองทัพทั้งสามนั้น นอกจากจะเป็นเจ้าของกำลังพลที่ถูกฝึกมาให้ใช้อาวุธหนักฆ่าคนแล้ว ยังเป็นผู้ผูกขาดการเป็นเจ้าของอาวุธหนักไว้ทั้งหมดในสังคม (โดยใช้ภาษีของประชาชนไปจัดหามา)

ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดนอกเหนือจากนั้นครอบครองอาวุธหนักในราชอาณาจักร

ซึ่งกองทัพและอาวุธหนักเหล่านี้แหล่ะ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมประชาชน

นอกจากนั้น รัฐบาลยังเป็นเจ้าของธนาคารชาติ ซึ่งควบคุมระบบการเงินของประเทศ สามารถสร้างเงินและเครดิต (หรือทำลายเงินและเครดิต) ได้ตามที่เห็นสมควร แถมยังสร้างเงินมาให้รัฐบาลกู้ไปใช้ในจำนวนมากๆ ได้อีกด้วย (อย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ และญี่ปุ่นในปัจจุบัน รัฐบาลใช้วิธีกู้เงินจากสถาบันการเงินจำนวนมหาศาลโดยแลกกับพันธบัตรรัฐบาล เสร็จแล้วก็ให้ธนาคารกลางสร้างเงินหรือเครดิตขึ้นมา เรียกว่าโครงการ QE เพื่อนำมาซื้อพันธบัตรเหล่านั้นกลับไปถือไว้เสียเอง แล้วรัฐบาลก็หันไปจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารกลางแทน เสร็จแล้วธนาคารกลางก็ต้องนำส่งเงินจำนวนนั้นคืนให้แก่รัฐบาลในที่สุด ราวกับการเล่นลิเกให้ประชาชนดู...แต่มันกลับไม่เหมือนตรงที่ว่า ในกระบวนการทำแบบนั้น ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์จำนวนมาก)

ยังอีกรัฐวิสาหกิจ ที่ครอบครองทรัพย์สินและสัมปทานสำคัญๆ อีกเป็นจำนวนมหาศาล

ผลประโยชน์ในแวดวงรัฐบาลนั้นมีจำนวนมหาศาล สุดจะคณานับ

มองอีกแง่หนึ่ง รัฐบาลก็คือธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลโดยตัวมันเอง

และนับวันมันยิ่งจะเพิ่มพูนอำนาจและความมั่งคั่งให้กับตัวเองยิ่งขึ้น (ยกตัวอย่าง รัฐบาลแบบใหม่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ สมาชิกแห่งราชวงศ์จักรี พร้อมด้วยขุนนางบางตระกูล ช่วยกันสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มาบัดนี้ได้ขยายขนาดและขอบข่ายใหญ่โตกว้างขวางลึกซึ้งขึ้นไม่รู้กี่เท่าตัว หรือรัฐบาลสหรัฐฯ เวลานี้ เมื่อเทียบกับสมัยปี 1789 ที่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใหม่ๆ ก็ขยายตัวขึ้นอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งในเชิงความมั่งคั่งที่ต้องดูแลรับผิดชอบและมีส่วนจัดสรร เครือข่าย อำนาจ และงบประมาณ)

ดังนั้น รัฐบาลจึงเป็นที่หมายปองของคนฉลาดๆ ที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้กับตัวเอง

และคนฉลาดๆ ก็ย่อมมองออกโดยไม่ยาก ว่าจะใช้กลไกของรัฐบาลในการสร้างความมั่งคั่งและอำนาจให้กับตัวพวกเขาเองได้อย่างไร

นักธุรกิจ นายทุน นักลงทุน พ่อค้า ล็อบบี้ยิ้สต์ นักการเมือง ข้าราชการ ชนชั้นนำ และพรรคพวก ย่อมเกาะเกี่ยวตัวเองเข้าไปสู่วงใน เพื่อหาทางให้ตัวเองได้รับแต้มต่อ อภิสิทธิ และผลประโยชน์ต่างๆ

ลดภาษี ยกเว้นภาษี บัตรส่งเสริมการลงทุน สัญญาก่อสร้าง สัญญาสัมปทานผูกขาด กำแพงภาษี มาตราการกีดกันทางการค้าต่อต่างประเทศ หรือกฎหมายกีดกันคู่แข่งขัน สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ยอดขายอาวุธ ส่วนแบ่งงบประมาณ เปอร์เซ็นต์จากการจัดซื้อ หรือต้องการอาศัยขอบเขตของอำนาจให้ช่วยปกป้องความผิดแต่หนหลังของตน ตลอดจนขอตำแหน่งที่มีอำนาจแต่ทำงานแบบสบายๆ และอภิสิทธิสารพัดสารพัน ฯลฯ

คนเหล่านี้บางคน สามารถใช้อำนาจและกลไกของรัฐบาลผันแปรสมบัติของชาติให้กลายมาเป็นสมบัติส่วนตัวและพวกพ้องได้แบบง่ายๆ

เหล้า โทรศัพท์มือถือ หวย ธนาคารพาณิชย์ คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ

อีกด้านหนึ่ง พวกวงในเหล่านี้ ก็ใช้รัฐบาลเพื่อปกป้องอภิสิทธิ ความมั่งคั่ง รายได้ ทรัพย์สิน อำนาจ ตำแหน่ง ของตัวเอง

พวกเขาใช้รัฐบาลเป็นเครื่องมือในการปกป้องความได้เปรียบ หรือ Unfair Deals ที่พวกเขามีแต้มต่อเหนือคนอื่น

สมัยก่อน บรรดาเจ้าที่ดินก็อาศัยรัฐบาลเป็นเครื่องมือในการเกณฑ์แรงงานและขูดรีดค่าเช่า

สมัยนี้ บรรดาเจ้าของทุน ก็อาศัยรัฐบาลให้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มพูนทุนทรัพย์ของตน ทั้งโดยการฉวยเอาไปลงทุนในโอกาสที่ตัวเองรู้ก่อนจากข้อมูลวงใน หรือในโอกาสและโครงการที่ได้รับการปกป้องจากกลไกของรัฐ ตลอดจนการควบคุมค่าจ้างแรงงานให้ต่ำเข้าไว้ เพื่อกำไรส่วนเกินจะได้เหลือตกอยู่ในมือของพวกตน

บางที พวกคนฉลาดที่เข้ามากุมรัฐบาล ก็ต้องลดความตึงเครียดลงบ้าง โดยอาศัยกลยุทธ์การตลาดที่เรียกกันว่านโยบายประชานิยม คือแจกเงินและผลประโยชน์ให้กับกลุ่มล่างๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาเป็นพวกวงในและได้ประโยชน์จากกลไกของรัฐโดยตรง

แต่ก็เป็นการสนับสนุนแบบมีเลศนัย คือเลือกสนับสนุนเฉพาะเครือข่ายของพวกตน และที่คิดว่าจะเป็นฐานสนับสนุนตนและพรรคพวกของตนให้อยู่ในอำนาจต่อไปได้อีกในอนาคต

บางทีการหว่านเงินเหล่านั้น ก็เพื่อต้องการให้คนกลุ่มล่างๆ ที่ได้รับไป นำไปใช้จ่ายซื้อข้าวของ ซึ่งสุดท้ายเงินก้อนนั้น ก็จะย้อนกลับมาเข้ากระเป๋าของพวกวงในอยู่ดี

เท่ากับเป็นการโอนเอา Wealth ส่วนกลาง ไปเข้ากระเป๋าส่วนตัว โดยถูกกฎหมายนั่นเอง

และบางที เงินที่แจกไปนั้นก็สูญไปแบบเปล่าๆ ปลี้ๆ หาใครรับผิดชอบไม่ได้ แล้วก็ถือว่าจบกันไป แบบหายไปในสายลม

ไม่ว่านโยบายจะมาในรูปไหน คนฉลาดๆ ที่สามารถแทรกตัวเข้าไปเป็นวงในเหล่านี้ ก็จะได้รับผลประโยชน์อยู่ดี

ไม่ว่าฝ่ายไหนหรือกลุ่มไหนได้กุมอำนาจรัฐ คนเหล่านี้ก็จะเล่นเกมส์แบบเดิม เกมส์ที่พวกเขาจะได้ยื้อให้ตัวเองมีแต้มต่อไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

ดังนั้น สำหรับพวกเขาแล้ว อนาคตคือ "ไม่มีอนาคต"

อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า "A Future without Future”

หมายความว่า อนาคตต้องไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ต้องคงระบบแบบนี้ไว้สืบไป

ประชาชนจำนวนมากในปัจจุบัน แอบรู้สึกได้ว่าระบบแบบนี้มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด

แต่พวกเขาอาจจะยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุที่แท้จริง

คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า "การเลือกตั้ง" จะเป็นตัวแก้ปัญหาเหล่านี้

จำนวนมากเชื่อว่า การเข้าไปในคูหาเพียงไม่กี่นาที แล้วกาบัตรว่าจะเลือกใครมาเป็นรัฐบาล นั้นหมายความว่าเสียงของตัวเอง จะสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและกลไกของรัฐให้มารับใช้พวกตนได้

แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ

ความเชื่อที่ว่า คนซึ่งตัวเองเลือกมา จะเข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงโลกได้ มันก็ยังเป็นแต่เพียงความฝัน

เพราะคนที่เขาเลือกมา ร้อยทั้งร้อย ก็จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ

กลายมาเป็นวงในเสียเอง แล้วก็ใช้กลไกของรัฐบาลนั้นเสียเอง เพื่อความมั่งคั่งและอำนาจของตนและสมัครพรรคพวก

สุดท้ายก็ Cronyism อยู่ดี

ไม่ว่าใครเข้ามา ก็จะถูกระบบกลืน

แล้วระบบ ก็สร้างตัวเองให้เข้มแข็งและเด็ดขาดขึ้นเรื่อยๆ

เพียงเฉพาะระบบราชการของไทยส่วนเดียว ก็สร้างตัวเองให้ใหญ่โตขึ้นอย่างมากมายด้วยเงินภาษีของส่วนรวม

ด้วยข้าราชการเพียงไม่กี่พันคนในสมัยรัชกาลที่ 5 (เมื่อเริ่มระบบราชการใหม่ๆ) เติบโตมาเป็นกว่าสองล้านสองแสนคนที่อยู่ในบัญชีเงินเดือนซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชนในปัจจุบัน คิดเป็นกว่า 7% ของ GDP ประเทศไทย ทุกปี

กลไกเหล่านี้ ครอบคลุมและสามารถแทรกแซงไปได้ในเกือบทุกกิจกรรมของการดำเนินชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมถึงดักฟังโทรศัพท์ และอายัดบัญชีธนาคาร ด้วย

ถ้าหันเหให้มันมารับใช้คนส่วนใหญ่ได้ก็ดีไป แต่ที่ผ่านมามันไม่ใช่

ถ้าไม่กลายเป็นเครื่องมือของพวกวงใน ก็รับใช้ตัวมันเอง

(ยังมีต่อ...ฉบับหน้า)

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
23 มีนาคม 2559
รูปประกอบจากหนังสือพิมพ์ แนวหน้า
ผู้เขียนขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

“Think Big and Kick Ass” บริหารสไตล์ทรัมพ์กับการตลาดสู่ทำเนียบขาว




Donald Trump คือสีสันของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้

นโยบายของเขากีดกันคนต่างชาติ เสนอให้จับส่งแรงงานผิดกฎหมายกลับประเทศ สร้างกำแพงกั้นตลอดแนวระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก ป้องกันคนแอบเข้าสหรัฐฯ เสนอให้แบนคนมุสลิมมิให้เข้าประเทศสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และตั้งใจจะนำอเมริกาให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับนาโต้และสหประชาชาติ

เขาใช้คำขวัญว่า "Make America Great Again”

ความคิดของเขาได้รับการสนับสนุนแบบผิดคาด โดยเฉพาะจากคนชั้นกลางค่อนมาทางล่าง

ปรากฎการณ์นี้ ทำให้หลายคนตกใจ ถึงขั้นพรรครีปับริกันที่เขาสมัครเป็นตัวแทนเกิดแตกแยกครั้งใหญ่ ผู้คนต่างก็คิดและถกเถียงกันถึง Implications ของมัน

ชาวอเมริกันกำลังสับสนว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของพวกเขาหรือเปล่า พวกเขาคิดว่าอเมริกาตกต่ำกระนั้นหรือ หรือพวกเขารู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบและต้องการให้คนนอกอย่างทรัมพ์เข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง (คนเหล่านี้รู้สึกว่ารายได้ของตนลดลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อนและคนรุ่นก่อน และช่องว่าระหว่างคนรวยกับคนธรรมดายิ่งมาก็ยิ่งห่าง) หรือว่าพวกเขาไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตย เสรีนิยม และการเปิดกว้างแบบโลกานุวัตรอีกต่อไปแล้ว และกำลังจะหันเหประเทศไปสู่นโยบายกีดกันและทุนนิยมโดยรัฐ ฯลฯ

เหล่านี้คือประเด็นซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันในอเมริกา ตั้งแต่ร้านกาแฟไปจนถึงห้องเรียนในมหาวิทยาลัย

Donald Trump เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ถึงขั้นมหาเศรษฐี สร้างตัวมาจากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เคยเป็นเจ้าของคาสิโนและโรงแรมในเวกัส และเขียนหนังสือขายดีหลายเล่ม เพื่อโปรโมทวิธีคิดของตัวเอง

จากหนังสือหลายเล่มของเขานี่เอง ที่เรารู้กำพืด ความคิด ตลอดจนสไตล์ ของเขา

เขาภูมิใจว่าเขาเป็นนักเจรจาต่อรอง หรือ Deal Maker ที่เก่งที่สุด และทักษะอันนั้นแหล่ะ ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ

ในบรรดาหนังสือขายดีของเขา Think Big and Kick Ass” น่าจะโลดโผนและบ่งบอกตัวตนของเขาได้มากที่สุด

อันที่จริง Trump เป็นลูกเศรษฐีอยู่แล้ว แต่สามารถต่อยอดมาเป็นอภิมหาเศรษฐีได้ด้วยตัวเอง พ่อเขาก็เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คนสำคัญของนิวยอร์ก

เขาว่าเขาเกิดที่ Queens แต่สามารถข้ามมายึด Manhattan ได้สำเร็จ

เขาว่าเขาเริ่มต้นด้วยกิจการที่พ่อเขาส่งต่อมาให้ ด้วยมูลค่า 400 ล้านเหรียญฯ แต่ปัจจุบันเขามีทรัพย์สินกว่า 10,000 ล้านเหรียญฯ

เขาทำได้อย่างไร?

เขาเล่าหลายเรื่องราวไว้ใน Think Big and Kick Ass” และสรุปบทเรียนท้ายบท เป็น Key Points ไว้ให้ด้วยในแต่ละบท

เขาว่าคนที่อยากประสบความสำเร็จต้องพึ่งลำแข้งตัวเอง “…nobody is going to help you. Not your friends. Not the government. You have to look out for yourself…”

เช่นท้ายบทที่ 1 เขาสรุปบางท่อนว่าความฝันกับสิ่งที่ต้องลงมือทำนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน what you dream is what you will do” ดังนั้นถ้าคุณต้องการร่ำรวยก็ต้องอย่าเหนียมอาย make tons of money, don’t be shy. Set a big goal”

ท้ายบทที่ 2 เขาว่าคนจะใหญ่ได้ ต้องค้นหาความอยากของตัวเองให้เจอ find your passion.”

บทที่ 3 บอกให้เราเดินหน้าด้วยใจและสัญชาติญาณgo with your gut.”

บทที่ 4 บอกว่าเราต้องสร้างโชคให้กับตัวเองให้ได้ อย่าพึ่งชะตา ฟ้าดิน หรือแม้กระทั่งพระเจ้า create your own luck.”

นั่นเป็นเพียงบางตัวอย่าง ที่เขาให้คำแนะนำแบบง่ายๆ โดยเขาว่าเขาต้องการถ่ายทอดส่ิงเหล่านี้ให้กับคนที่ต้องการประสบความสำเร็จ

“I am intent on giving people the knowledge they need to succeed.” เขาว่างั้น

เขาให้ความสำคัญกับความขยันขันแข็ง ทุ่มเทกับงาน และการทำงานหนัก He or she who focuses the longest wins.”

และต้องแสวงหาคนเก่งๆ ให้เข้ามาร่วมงานด้วย แต่ต้องอย่าไว้ใจพวกเขา
“Hire the best people, but do not trust them.”

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเขียนเรื่องการล้างแค้นไว้ทั้งบท เขาว่าเราต้องทำกับคนที่ทำกับเราให้สาสม

“Get even with people who do you wrong,” เขาว่างั้น

เขาให้ข้อคิดหลายเรื่องเกี่ยวกับการล้างแค้น...ล้างแค้น (Revenge) ยังไง ทำให้สาสมยังไง (Get Even) และเมื่อไหร่ต้องลงดาบให้หนัก Go for the jugular”

เพื่อว่าต่อไป คนจะไม่กล้ามาแหยม so that people will not want to mess with you.”

เขาถึงขั้นแนะนำให้จดบันทึกเป็น "บัญชีหนังหมา" เอาไว้ว่าใครบ้างที่เคยทำร้ายเรามาก่อน แล้วรอคอยโอกาสที่จะ "เอาคืน" และเมื่อถึงเวลานั้น ต้องเอามันให้หนักปางตาย...เขาว่า wait for the opportunity and when it comes, hit ’em hard.”

เขาว่า โลกนี้มันโหดร้าย ดังนั้นเราต้องข่มขวัญโดยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง โดยทางหนึ่งคือต้องแต่งตัวให้ดูดี แต่งตัวให้เสริมความน่าเชื่อถือ

“world is a brutal place… Get some respect… always dress for respect…,” เขากล่าว
เพราะมันมีธุรกิจบางประเภทที่ต้องอาศัยการพรีเซนต์ตัวเองให้ดูดี ดังนั้นช่างเสื้อที่ดีจึงสำคัญ เพราะมันจะช่วยให้สถานะทางสังคมของคุณดูเด่นขึ้น

เขายังแนะนำอีกทั้งบทว่า ก่อนแต่งงาน คุณจำเป็นต้องทำสัญญาก่อนสมรส (Prenup) เพื่อกันสมบัติในส่วนที่เป็นของคุณไว้ก่อน อย่าให้ทรัพย์สินเดิมของคุณถูกคำนวณเป็นสินสมรส

เพราะถ้าต้องแยกทางกันแล้ว การเจรจาต่อรองจะได้ง่าย

เขาไม่เชื่อว่าการเจรจาต่อรองจะจบลงด้วยผลสรุปที่ทุกฝ่ายแฮบปี้

“Win-Win Deals” ไม่มีจริง

เขาเชื่อใน "Win-Lose Deals” คือ การเจรจาที่ต้องลงเอยด้วยฝ่ายหนึ่งได้เปรียบและอีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ ฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายหนึ่งแพ้

และเขาจะต้องอยู่ฝ่ายชนะ

เป้าหมายในการเจรจาต่อรองของเขาทุกครั้งคือ "ต้องเป็นผู้ชนะ"

“to be the winner.”

เมื่อชนะแล้ว ก็ต้องมองหาเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นไปอีก

และต้องชนะอีก..

“aims for bigger goals.”

ดังนั้นคุณต้องไม่กลัวที่จะมีชื่อเสียง ไม่กลัวอีโก้ตัวเอง ไม่กลัวที่จะต้องทำงานหนัก และต้องพร้อมที่จะรับความเสี่ยง

หนังสือเล่มนี้ ทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนกล้าชน เพื่อให้ชนะและได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ
เขาไม่กลัวที่จะต้องพนัน ตราบใดที่มีโอกาสชนะ


บุคลิกแบบนี้กระมัง ที่อเมริกันชนซึ่งคิดว่าตัวเองกำลังมีปัญหาและสนับสนุนความเห็นของเขา ต้องการให้เขาเข้าไปปัดกวาดบางอย่าง ที่พวกเขารู้สึกว่าไม่ถูกต้อง

27 มีนาคม 2559

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

ว่าด้วย นโยบายดอกเบี้ยติดลบ (NIRP) และการยกเลิกเงินสด (Banned On Cash)



หลายปีมานี้ Policy Makers ของประเทศพี่เบิ้มทางทุนนิยม ได้พากันออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงมหภาคหลายประการที่ไม่เคยตราไว้ในตำราเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก

ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และประเทศยุโรปตะวันตกชั้นนำอีกหลายประเทศ เช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และอิตาลี เป็นต้น (แม้กระทั่งจีนเองก็ยังทำตามในบางนโยบาย)

นโยบายพิลึกนอกตำราเหล่านี้ มีตั้งแต่นโยบาย Cheap Credit โดยกดดอกเบี้ยให้ต่ำติดดินแบบยาวนานอย่างตั้งใจ (คือฝืนกลไกราคาของตลาดเสรี) ที่เรียกกันว่า ZIRP หรือ Zero interest-rate policy ไปจนถึง Quantitative Easing หรือ QE โดยการเพิ่มปริมาณเงินอย่างมหาศาลแล้วนำมากว้านซื้อพันธบัตรและ Mortgage-Backed Securities ในตลาดรอง และ/หรือซื้อพันธบัตรผนวกกับการลงทุนซื้อกองทุน ETF ในตลาดหุ้นอย่างโจ้งครึ้ม (แบบที่ญี่ปุ่นใช้อยู่) (พร้อมกันนี้ รัฐบาลเองก็ได้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยวิธีในตำรา ด้วยการก่อหนี้จำนวนมากเพื่อไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและ Welfare Scheme และอุดหนุนภาคเอกชนต่างๆ อย่างมากมายมหาศาลจนอัตราหนี้สินภาครัฐเพิ่มสูงอย่างเป็นประวัติการณ์)...ไปจนถึงนโยบายกดดอกเบี้ยให้ติดลบอย่างตั้งใจ NIRP หรือ Negative interest-rate policy

ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ตามแต่ใครจะคิด ใครจะประเมิน

แต่ถ้าดูโดยภาพรวมแล้ว แม้นโยบายการเงินทำนองนี้จะสามารถพยุงราคาสินทรัพย์สำคัญๆ เช่นหุ้น พันธบัตร บ้าน ที่ดิน ทองคำ ตลอดจนของสะสมต่างๆ ไว้ได้ ไม่ให้ดิ่งเหวจนผู้คนรู้สึกว่าตัวเองจนลงกระทันหัน และสถาบันการเงินที่รับจำนองสินทรัพย์เหล่านั้นไว้ต้องพากันย่ำแย่ ตลอดจนยังช่วยธำรงสภาพคล่องให้กับธุรกิจจำนวนมาก ที่โดยปกติ (ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด) ต้องปลาสนาการไปหากว่าอัตราดอกเบี้ยสูงกว่านี้หรือสภาพคล่องในระบบหดหายไปแล้ว...ทว่ามันก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนจักรกลเศรษฐกิจที่แท้จริงให้เดินหน้าไปได้ดังที่หวังไว้

ตัวเลขการจ้างงาน การลงทุนและผลิตภาพ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ลงทุน รายได้ครัวเรือนและบุลคล และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศพี่เบิ้มเหล่านั้น ยังไม่แสดงให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจพ้นขีดอันตรายแล้ว

และเนื่องเพราะประเทศเหล่านี้อยู่ในระดับ "หัวขบวน" ของโลก การชะลอตัวของพวกเขาย่อมทำให้เศรษฐกิจโลกชะงักงันไปด้วย

นั่นเป็นประเด็นที่เราต้องปวดหัวไปด้วย เพราะปากท้องและความรู้สึกว่าตัวเองรวยจนของพวกเราต้องพึ่งพา หรือต้องพัวพันกับความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกอยู่ไม่น้อย

ยิ่งมาก็ยิ่งพึ่งพาและพัวพันมากขึ้นๆ (เช่น การที่ประเทศพี่เบิ้มใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ ย่อมทำให้ดอกเบี้ยในบ้านเราไม่สามารถสูงได้ เพราะย่อมทำให้เงินทุนไหลเข้า ราคาสินทรัพย์เช่นหุ้นและที่ดินถูกเก็งกำไร และค่าเงินแข็งโดยใช่เหตุ เป็นต้น)

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เมื่อไหร่บรรดาพี่เบิ้มหัวขบวนเหล่านี้จะรู้สึกว่ามั่นใจว่าตัวเองดีขึ้นจริงๆ จังๆ จนสามารถกลับมาเป็นหัวรถจักรที่ทรงพลัง ช่วยลากโยงขบวนเศรษฐกิจโลกได้ดังก่อนๆ มา

พวกเราย่อมเฝ้าลุ้นด้วยความหวังเจือกังวลว่านโยบายพิลึกพิลั่นนอกตำราของพวกเขาจะออกดอกผลจริงๆ จังๆ เสียที

แต่เท่าที่ Observe กันมาหลายปี ก็ยังไม่เห็นว่าจะมั่นใจอะไรได้ เพราะบางเวลาดูเหมือนจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ริบหรี่ๆ แต่อีกสักพักก็กลับหรี่ลงหรือดับแสงไปเฉยๆ

เอาเป็นว่า เราพักประเด็นนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยมาว่ากันทีหลัง

ธุรกิจ "กลับหางเป็นหัว"

หากย้อนกลับไปดูต้นตอของนโยบายนอกตำราเหล่านี้ เราจะเห็นได้ค่อนข้างชัดว่ามันถูกคิดค้นและนำมาใช้เมื่อไม่นานมานี้ โดยเหล่า Technocrats ที่อยู่ตามสถาบันการเงินสำคัญๆ ของประเทศพี่เบิ้มเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารชาติ (BOJ) และกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น (ผู้บุกเบิกและทดลองนำเอา ZIRP และ QE มาใช้ก่อนเพื่อน) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (ECB) เป็นต้น (ซึ่งสถาบันเหล่านี้มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับปริญาเอกและหลังปริญญาเอกที่สำเร็จจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ประจำการอยู่เป็นจำนวนมาก)

ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปกี่ครั้ง และไม่ว่านักการเมืองจากค่ายไหนฝั่งไหนจะสลับกันมาเป็นรัฐบาลก็ตาม แนวนโยบายนอกตำราที่แต่ละรัฐบาลนำมาใช้ ก็หาได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก มีแต่จะเพิ่มดีกรีแรงขึ้นๆ มาตามลำดับ แสดงว่ายุคที่ผ่านมาและยุคนี้ บรรดา Technocrats ที่กล่าวมา ได้มีอิทธิพลต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลของประเทศพี่เบิ้มค่อนข้างมาก

โดยถ้าเราหมั่น Observe จากคำพูดของบรรดาหัวหน้าคนปัจจุบันของพวกเขา อย่าง Janet Yellen หรือ Mario Draghi และ Haruhigo Kuroda ย่อมเห็นได้ไม่ยากว่า พวกเขายังจะไม่ละทิ้งนโยบายแนวนี้ ยังคงจะสานต่อไปอีก เพียงแต่ละลดหรือเพิ่มดีกรีตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจที่พวกเขาประเมินกันเป็นระยะๆ ไป (แม้ FED จะหยุดนโยบาย QE และเริ่มหันเหอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เป็นขาขึ้นไปแล้ว แต่จากคำพูดของ Janet Yellen ก็สามารถตีความได้ว่า FED อาจจะนำนโยบาย QE และนโยบายดอกเบี้ยต่ำติดดิน (หรือแม้กระทั่งติดลบ) กลับมาใช้ได้ทุกเมื่อ ถ้าพวกเขาเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกทำท่าจะย่ำแย่ลง)

หากให้มองไปในอนาคต จากปัจจัยลบต่างๆ ในโลก เช่นโอกาสที่เศรษฐกิจจีนจะ Burst และเงินหยวนจะถูกกดดันให้ลดค่า ในขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยังตกต่ำ (ซึ่งหลายคนกังวลว่ายิ่งจะทำให้ภาวะ Global Deflation เป็นจริงยิ่งขึ้น) และภาวะเศรษฐกิจที่จะยังไม่ดีขึ้นของญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ผมคิดว่าโอกาสที่เราจะได้เห็นนโยบายดอกเบี้ยติดลบถูกนำมาใช้อย่างเต็มสูบโดยรัฐบาลของประเทศพี่เบิ้ม ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ (ขณะนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่น ECB เด็นมาร์ก สวีเดน เพียงนำนโยบายดอกเบี้ยติดลบมาใช้เพียงบางส่วน คือบังคับใช้กับบัญชี Reserve Accounts ของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเปิดไว้กับธนาคารชาติบางส่วนเท่านั้น หรืออย่างสวิตเซอร์แลนด์ก็นำมาใช้กับบัญชีเงินฝากรายใหญ่เท่านั้น และบางประเทศในสหภาพยุโรป เช่นอิตาลี ก็เจาะจงไปที่ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลบางส่วนเท่านั้น)

อันที่จริง ความหมายของนโยบายดอกเบี้ยติดลบ ก็เสมือนว่าโลกนี้กลับตาลปัตรเสียแล้ว แบบว่าเจ้าหนี้ต้องจ่ายให้กับลูกหนี้เพื่อตอบแทนที่ลูกหนี้อุตส่าห์มาขอกู้ยืมเงินจากตนไปใช้จ่ายหรือลงทุน เช่น ถ้าเราซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นลูกหนี้เรา แต่เราได้ผลตอบแทนเป็นลบ ก็หมายความว่าเราต้องเอาเงินไปจ้างให้รัฐบาลมากู้เงินจากเราไปใช้นั่นเอง

แบบว่า ถ้าเราซื้อพันธบัตรรัฐบาลวันนี้ มูลค่าตราไว้เท่ากับ 1000 บาท ณ Yield ติดลบ -1% ก็หมายความว่าเงินต้นของเราจะหดหายไป คงเหลือแค่ 990 บาทเท่านั้น

อุปมาอุปมัย เหมือนเราเอาบ้านหรือคอนโดไปปล่อยให้คนอื่นเช่า แล้วเรา (ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโด) ต้องจ่ายค่าเช่าให้กับผู้เช่าทุกเดือนๆ แทนที่ผู้เช่าจะต้องจ่ายให้เรา มันจะไม่ให้เรียกว่ากลับตาลปัตรหรือ "พิลึกพิลั่น" ได้อย่างไรเล่า

และถ้านโยบายแบบนี้ บังคับใช้กับบัญชีเงินฝากของลูกค้ารายย่อย มันก็เท่ากับการเก็บภาษีเงินฝากนั่นเอง เพราะแทนที่ผู้ฝากเงินจะได้รับดอกเบี้ย แต่กลับต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อขอให้ธนาคารช่วยรับฝากเงินให้นั่นเอง

ในทางกลับกัน ลูกหนี้หรือผู้กู้เงินจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ โดยไม่ต้องลงแรง ลงทุน ไม่ต้องเสียหยาดเหงื่อแรงงาน อะไรเลย

สมมติว่า สถาบันการเงิน ก. คำนวณเสร็จสรรพมาแล้วว่่า ตัวเองต้องใช้เงินปีละ 1,000,000 บาท ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว เขาเพียงแต่ไปขอรับเงินฝากมาตอนต้นปี 100,000,000 บาท ในอัตราดอบเบี้ย -1% เท่านี้ก็สบายแล้ว เพราะสิ้นปี ตอนที่เขานำเงินต้นไปใช้คืน (เมื่อมีคนถอนเงิน) เขาจะต้องนำไปใช้คืนเพียง 99,000,000 บาทเท่านั้นเอง ส่วนต่าง 1,000,000 บาทนั้น ก็เท่ากับเขาได้มาฟรีๆ

ลองคิดดูว่า หากกิจการธุรกิจพากันทำแบบนี้กันหมด ผู้ออมจะเป็นอย่างไร และวินัยการออมจะเป็นอย่างไร ตลอดจนทัศนะคติต่อการทำงานและการลงทุน (เพื่อให้ได้เงินและผลตอบแทน) จะเปลี่ยนกลับตาลปัตรอย่างไร เพราะ ผู้คนก็ไม่จำเป็นต้องไปทำงานแต่เช้าทุกๆ วันอีกต่อไป เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่าย ฯลฯ

"ดอกเบี้ย" ที่ตลอดมา มีความหมายว่าเป็นราคาที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพื่อครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจจะเกิดในอนาคต (เช่นความเสี่ยงที่เขาจะตายหรือหายหน้าไปโดยไม่จ่ายคืน หรือความเสี่ยงว่ากิจการของเขาจะพินาศ ฯลฯ) ก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะมันกลับตาลปัตรว่าอนาคตมีความมั่นคงกว่าปัจจุบัน

และเมื่อ "ความเสี่ยง" ไม่มีความหมายเสียแล้ว อะไรๆ (เช่นการเก็งกำไรในระดับสุดโต่ง) ก็จะเกิดขึ้นได้โดยง่ายดาย

คนธรรมดารที่ทำงานกินเงินเดือนสุจริต อาศัยหยาดเหงื่อแรงงานและแรงสมอง จะแย่ลง ผู้ออม ที่รวมถึงผู้ออมรายย่อย รายใหญ่ และกองทุนต่างๆ เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะพบว่าตัวเองแย่ลง ทว่า นักเก็งกำไร นักการเงินหรือนักธุรกิจขนาดใหญ่ หรือนักการเมืองและ Insiders ทั้งหลาย ที่เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายๆ จะทำกำไรได้แบบสบายๆ

ถ้าไม่เชื่อ...เรามารอดูกัน

นโยบายรังเกียจเงินสด

อันที่จริงความต้องการของ Policy Makers เกือบทั่วโลกยุคนี้ รวมทั้งผู้กุมนโยบายในไทยด้วย ล้วนต้องการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการลงทุน ไม่อยากเห็นผู้คนเก็บเงินไว้ในธนาคารเฉยๆ

นโยบายประเภท ลด-แลก-แจก-แถม 0% 10 เดือน" บ้าง 0% 20 เดือน" บ้าง ตลอดจน Everyday Low Prices” หรือแม้กระทั่ง "Everyday Lower Prices” ถูกนำออกมาใช้ตลอดเวลา

ทว่า เศรษฐกิจก็ยังทรงๆ ทรุดๆ อยู่อย่างนี้

ดังนั้น โอกาสที่ผู้กุมนโยบายจะนำนโยบายที่มีดีกรี Aggressive มากกว่าเดิมมาใช้ ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

ที่ว่า Aggressive กว่าเดิมนั้น คือนอกจากจะกดดอกเบี้ยให้ติดลบยิ่งกว่าเดิมแล้ว พวกเขาก็อาจจะขยายปริมณฑลให้ครอบคลุมถึงบัญชีเงินออมของประชาชนทั่วไปด้วย (ความหมายของคำว่า "อัตราดอกเบี้ย -1% ต่อปี” คือหากคุณฝากเงินไว้ในบัญชี 1,000 บาท เมื่อต้นปี พอถึงปลายปี คุณจะเหลือยอดเงินในบัญชีเพียง 990 บาท ดังนั้นถ้าคุณมีเงินออม 1,000,000 บาท เงินออมคุณจะลดลง 10,000 บาทตอนสิ้นปีแรก และลดลงไปตามสัดส่วนทุกปี)

และเพื่อบังคับทางอ้อมไม่ให้ผู้คนถอนเงินสดออกมากอดไว้ในเซฟที่บ้าน (ช่วงนี้ตู้เซฟในญี่ปุ่นขายดีขึ้นมาก เพราะผู้คนกลัวว่า BOJ จะขยายมาตรการดอกเบี้ยติดลบมาสู่บัญชีออมทรัพย์ของประชาชนทั่วไปด้วย) พวกเขาเหล่านั้น อาจผลักดันให้รัฐบาลของตน ยกเลิกการใช้เงินสด หรือไม่ก็ออกกฎเกณฑ์ให้การทำธุรกรรมด้วยเงินสดยากเย็นขึ้น (อย่าลืมว่าเงินสดที่เราฝากไว้ที่ธนาคารนั้น เป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีเฉยๆ หากรัฐบาลจะกักไว้ หรืออนุญาติให้เบิกได้ในจำนวนจำกัดในแต่ละวัน ก็ย่อมทำได้..เช่นที่รัฐบาลกรีซทำมาแล้วในช่วงวิกฤติก่อนหน้านี้)

แนวโน้มอันนี้กำลังเกิดขึ้นในโลกตะวันตก

เด็นมาร์ก สวีเดน นอรเวย์ ทำไปแล้ว และฝรั่งเศสเอง ก็ออกกฎหมายห้ามมิให้ประชาชนทำธุรกรรมที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ยูโร เป็นเงินสดแล้ว โดยรัฐมนตรีคลังและข้าราชการระดับสูงในประเทศสำคัญๆ อย่าง จีน อินเดีย อิสราเอล หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีคลังและข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลังของไทยเอง ก็เพิ่งออกมาพูดเร็วๆ นี้ว่า ในอนาคต ธุรกรรมที่เป็นเงินสดและการพิมพ์ธนบัตรจะต้องลดลง และอาจต้องเลิกผลิตเหรียญกษาปณ์ ตามลำดับ (ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรัฐมนตรีคลัง ก็ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ใน "มติชนสุดสัปดาห์" เมื่อไม่นานมานี้ด้วย)

ยิ่งยุคนี้เป็นยุคของการก่อการร้ายและอาชกรรมข้ามชาติ ตลอดจนการคอรัปชั่นโดยคนในรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนากับบริษัทข้ามชาติ การยกเลิกธุรกรรมเงินสด ย่อมเป็นการป้องกันการฟอกเงินไปในตัว (อย่างน้อย Technocrats ที่เชื่อและผลักดันนโยบายแนวนี้ก็อ้างกันแบบนั้น)



สอดคล้องกับทัศนะของ Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และหัวหน้าที่ปรึกษาของประธานาธิบดี ที่เพ่ิงออกมาเขียนบทความเรื่อง "It's time to kill the $100 bill” ลงพิมพ์ใน The Washington Post เมื่อไม่กี่วันก่อน ว่า "Illicit activities are facilitated when a million dollars weighs 2.2 pounds as with the 500 euro note rather than more than 50 pounds, as would be the case if the $20 bill was the high denomination note."

เขาจึงเสนอให้เรื่องนี้เป็นประเด็นเร่งด่วนในระดับโลก "a global agreement to stop issuing notes worth more than say $50 or $100.  Such an agreement would be as significant as anything else the G7 or G20 has done in years."

ทีนี้ ถามว่าผลของมันจะได้อย่างที่หวังไหม?

เราอาจจะยังตอบไม่ได้ แต่เราคิดว่าสำหรับโจร อาชญากร ผู้ก่อการร้าย โสเภณี หรือนักติดสินบน คงไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขามากนัก เพราะพวกเขาก็สามารถหลีกเลี่ยงไปจ่ายกันโดยใช้ ทองคำ เพชร เงินตราต่างประเทศ หุ้น พันธบัตร หรือแม้กระทั่ง Bitcoin เป็นสื่อกลางแทน ก็คงจะได้อยู่

แต่สำหรับภาวะการบริโภคที่พวก Policy Makers อยากให้มันเพิ่มขึ้น จากการบังคับทางอ้อมให้ผู้ออมถอนเงินออกมาใช้แทนการฝากไว้กับธนาคารนั้น (เพราะเงินฝากต้องมีค่าธรรมเนียม ตามแนวนโยบาย "ดอกเบี้ยติดลบ") เรายังมิอาจฟันธงไปได้ ว่ามันจะเพิ่มขึ้นจริง 

เพราะยิ่งผู้คนรู้สึกว่าตัวเองจนลง เงินออมน้อยลง พวกเขาอาจจะยิ่งออมในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการชดเชยก็ได้


ไม่มีใครฟันธงไปได้ชัดเจนว่า ถ้ารัฐบาลจัดเก็บภาษีเงินออมพวกเขาจนเข้าเนื้อแล้ว เขาจะบริโภคเพิ่มขึ้น

ในตำราก็ไม่ได้บอกไว้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
5 มีนาคม 2559
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA

คลิกอ่านบทความเกี่ยวข้อง:

จะอยู่ยังไงเมื่อดอกเบี้ยติดดิน