วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มอง ส. ศิวรักษ์ จากอีกมุมหนึ่ง



คนส่วนใหญ่มองและเห็น ส.ศิวรักษ์ หรือ “อาจารย์สุลักษณ์” เป็นนักคิด นักเขียน และปัญญาชนชาวพุทธคนสำคัญของยุคสมัย
ส.ศิวรักษ์ ยังเป็นอะไรอีกตั้งหลายอย่าง
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักประวัติศาสตร์
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ตัวยงและอย่างต่อเนื่อง โดยมีความรู้เรื่องเจ้าและมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักวิจารณ์วงการสงฆ์และรู้เรื่องพระสงฆ์ดีที่สุดคนหนึ่งในประเทศนี้
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักต่อสู้เคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมในสังคมระดับนานาชาติ
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักระดมทุนที่เก่ง
ส.ศิวรักษ์ เป็นหัวขบวนคนสำคัญของบรรดาเอ็นจีโอไทย และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งหน่วยงานพัฒนาเอกชนและองค์กรไม่แสวงกำไรชั้นนำจำนวนมาก
ส.ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการคนสำคัญของอุตสาหกรรมหนังสือไทย
ส.ศิวรักษ์ เป็นคอลัมนิสต์ปากกาคม
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานจำนวนนับร้อยเล่ม ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ โดยทำงานเขียนมาตลอด 60 กว่าปี
ส.ศิวรักษ์ เป็นนักปาฐกถาที่มีลีลาเฉพาะตัว พูดกระชับ ตรงประเด็น มีพลังในการโน้มน้าว และอ้างอิงข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่แม่นยำ
ส.ศิวรักษ์ เป็นปัญญาชนคนแรกๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวโค่นล้มทักษิณ ชินวัตร ในรอบที่แล้ว
มิเพียงเท่านั้น ส. ศิวรักษ์ ยังเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย (และสำนักพิมพ์ในเครือข่าย) สายส่งศึกษิต ร้านหนังสือศึกษิตสยามและร้านในเครือข่าย ล้วนเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีส่วนช่วยเหลือนักเขียน กวี และเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ น้อยๆ จำนวนมาก

พูดภาษาเชิงการบริหารจัดการได้ว่า ส.ศิวรักษ์ นั้นมี “จิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการ” หรือ “Entrepreneurial Spirit” อยู่เต็มเปี่ยม คือชอบริเริ่มสร้างสรรค์และรับความเสี่ยง แม้จะย่างเข้าปัจฉิมวัยแล้วก็ตาม จิตวิญญาณแบบนั้นก็ยังคงไม่มอดไหม้

MBA สนใจ ส.ศิวรักษ์ ในเชิงนี้ เพราะ ส. ศิวรักษ์ เป็นตัวอย่างของผู้สูงอายุที่ยังคงประกอบการและผลิตและสร้างสรรค์

คนอย่าง ส.ศิวรักษ์ พิสูจน์ให้เราเห็นว่า “จิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการ” และความคิดสร้างสรรค์ หรือพลังที่จะริเริ่มกิจกรรมและธุรกิจ โดยพร้อมรับความเสี่ยง ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอยู่แต่ในวัยหนุ่มสาวอย่างเดียว ดังที่เข้าใจกันในบัดนี้ (ส.ศิวรักษ์ ยังพร้อมรับความเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน และถูกพรากอิสรภาพ ทุกครั้ง เมื่อวิจารณ์สถาบันฯ และผู้มีอำนาจ)

สื่อมวลชนและนโยบายสร้างผู้ประกอบการของแทบทุกรัฐบาลล้วนพุ่งความสนใจไปสู่คนหนุ่มสาวในเยนเนอเรชั่น Google, Facebook, และ Groupon และ “เถ้าแก่น้อย”

โดยเรามักคิดว่าคนอายุ 50, 60, 70 ย่อมบุกเบิกสร้างกิจการไม่ได้แล้ว เพราะเป็นวัยอันควรเกษียณและพักผ่อนหรือเลี้ยงหลานอยู่กับบ้าน

โอกาสที่จะเข้าถึงทุนของพวกเขาแทบจะเป็นไปไม่ได้ (มันค่อนข้างนอกเหนือจินตนาการของบรรดานายธนาคารไปมาก ถ้าจะให้พวกเขาปล่อยสินเชื่อให้กับคนในวัย 50 หรือ 60 เพื่อมาลงทุนสร้างกิจการ)

แต่อย่าลืมว่าคนอย่าง Ray Krock ก็เริ่มสร้าง McDonald’s ตอนอายุ 50 กว่า และพันเอก Harland Sanders ก็เริ่มสร้าง Kentucky Fried Chicken เมื่ออายุ 60 กว่าแล้ว Verdi ประพันธ์โอเปร่าเรื่อง Falstaff ตอนอายุ 80 เช่นเดียวกับเบโธเฟนที่แต่งซิมโฟนีหมายเลข 9 เมื่ออายุ 54 และตอนที่รัชกาลที่ 1 สร้างกรุงก็ทรงมีพระชนมายุมากกว่ากึ่งหนึ่งของพระชนม์ชีพแล้ว และ Peter Drucker ก็เพิ่งจะมาดังสุดขีดและสร้างสรรค์สุดขีดในฐานะ Management Guru ระหว่างช่วงอายุ 60-94 นี่เอง เชอร์ชิลนำอังกฤษสู้ฮิตเล่อร์เมื่ออายุ 65 เช่นเดียวกับนายพลไอเซนฮาวที่นำกองทัพสัมพันธมิตรยกพลขี้นบกในวัน D-Day เมื่ออายุ 54 และไมเคิลแองเจโลก็ปีนขึ้นไปวาดภาพบนเพดานโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ตอนอายุ 71 แล้ว หรือคนอย่าง แอ็ด คาราบาว เพิ่งจะก่อตั้งบุกเบิกกิจการ “คาราบาวแดง” ตอนอายุ 50 นี่เอง และยังคงแต่งเพลงและ Produce งานเพลงให้ศิลปินรุ่นหลังอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะย่างเข้าวัยเกษียณแล้ว (อย่าลืมว่า Rolling Stone ยังตระเวนแสดงสดอยู่ และสมาชิกวงก็ยังแต่ตัวสไตล์เดิม ไม่ต่างจากสมัยที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น และ Mick Jagger ก็ยังกระโดดโลดเต้นอยู่อย่างเดิม แม้จะอายุ 69 แล้ว)

คนอย่าง ส.ศิวรักษ์ และปีเตอร์ ดรักเกอร์ และ Ray Krock และพันเอก Harland Sanders และ Mick Jagger และสมาชิกวง Rolling Stone และหลายคนที่กล่าวมานั้น ทำให้คนรุ่นหลังอย่างเราไม่กลัวความแก่ และทำให้เราวางใจได้ว่าสังคมในอนาคตที่คาดกันว่าจะเต็มไปด้วยคนแก่นั้นจะยังสร้างสรรค์ต่อไปและไม่หยุดผลิต

ที่สำคัญ มันยังสร้างความหวังให้กับคนที่กำลังย่างเข้าวัย 40-50-60 ซึ่งคิดว่าตัวเองหมดหนทาง หมดเวลาแล้วสำหรับงานตั้งต้นบุกเบิก งานสร้างสรรค์ และรับความเสี่ยง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะทำงานอยู่ในภาคราชการหรือเอกชนหรือเป็นนายตัวเองหรือทำงานสร้างสรรค์นฤมิตกรรมเพื่อยกระดับจิตใจมนุษย์ (Sursum Corda)

จะไม่มีคำว่า “อยู่ไปวันๆ” “รอเกษียณ” หรือ “รอวันถูกโละออกจากงาน”



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
27 กุมภาพันธ์ 2555


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จดหมายถึงรัฐมนตรีคลัง ว่าด้วยจริยธรรมของการก่อหนี้



เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


ผมเชื่อว่าท่านและสมาชิกร่วมคณะรัฐมนตรีกับท่านทุกคนคงจะเคยกู้เงินหรือเป็นหนี้กันมาบ้างไม่มากก็น้อย และผมก็เชื่ออีกว่าท่านเคยเห็นหรือรู้จักกับคนที่ได้ดีเพราะเงินกู้ และคนที่เสียคนไปเพราะเป็นหนี้เป็นสินแล้วไม่มีปัญญาจ่ายคืนหรือไม่ยอมจ่ายคืนด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม

ผมเคยมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง สมัยก่อนเคยไปมาหาสู่และไหว้วานงานการกันได้ด้วยดี แต่พอเขามาขอยืมเงินไปจำนวนหนึ่งแล้วไม่ยอมใช้คืน ตั้งแต่นั้นความสัมพันธ์ของเราก็กลับหมางเมินกันไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ผมเองไม่เคยเร่งรัดและทวงถาม หรือแม้ว่าเขาจะไม่คืนเงินก้อนนั้น ผมก็ไม่คิดจะถือสาเลยแม้แต่น้อย แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เพื่อนของผมคนนั้นเอาแต่หลบหน้า และไม่ยอมมาพบกับผมอีกเลย...ผมเสียดายความเป็นเพื่อนของเราที่คบกันมาแต่เด็ก และตั้งใจว่าจะไม่ยอมให้เพื่อนฝูงยืมเงินอีก

เพื่อนรุ่นน้องผมคนหนึ่งถึงกับไม่ยอมพูดกับพ่ออีกเลย หลังจากที่พ่อเธอแอบเอาบ้านช่องไปจำนองแล้วเสียพนันไปเกือบหมดสิ้น จนไม่มีปัญญาจ่ายคืนและบ้านช่องถูกยึดและเป็นเหตุให้แม่เธอแอบหนีไป แล้วไปลำบากลำบนจนเสียชีวิตลงด้วยความตรอมใจ

นี่ยังไม่นับพ่อหรือแม่จำนวนหนึ่ง (ซึ่งผมได้อ่านเรื่องราวของพวกเขาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์) ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยสังหารลูกน้อยก่อนจะลงมือกับตัวเอง เพราะหนีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว

นอกจากนั้น ผมยังได้ยินได้ฟังอยู่อย่างสม่ำเสมอถึงแนวนโยบายตลอดจนวิธีการทวงหนี้นอกระบบอันโหดเหี้ยมผิดวิสัยมนุษย์ โดยไม่คิดว่ามนุษย์จะทำกันได้ถึงเพียงนี้ด้วยเดิมพันเพียงมูลหนี้และดอกเบี้ยมูลค่าไม่เท่าไหร่

หลังปี 2540 ผมได้เห็นองค์กรจำนวนมากพังพาบไปเพราะปัญหาหนี้สิน  เดือดร้อนถึงพนักงานเพราะเมื่อพวกเขาเสียบบัตรเอทีเอ็มเข้าเครื่องถอนเงินตอนสิ้นเดือน กลับพบว่าบัญชีเงินเดือนยังว่างเปล่า... ไทคูนหลายคนที่ก่อนหน้านั้นยิ่งใหญ่และเห็นดีเห็นงามกับกระบวนการโลกานุวัตร ดาหน้าออกมากราดเกรี้ยวเอากับเจ้าหนี้และเรียกร้องให้ชักดาบฝรั่ง เกิดลัทธิชาตินิยมและต่อต้านทุนนิยมจักรวรรดินิยมอย่างเฉียบพลัน ตระกูลเศรษฐีหลายตระกูลไม่สามารถรักษาธุรกิจของตระกูลที่ตกทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นปู่ไว้ได้ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน เปลี่ยนมือไปเกือบหมด

ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็มีส่วนทำให้ประเทศชาติล่มจมเพราะไปผูกพันก่อหนี้อันเนื่องมาแต่สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าไว้แบบค่อนข้างบัดซบ และนักเศรษฐศาสตร์และอดีตข้าราชการระดับสูงบางคนก็บอกให้เบี้ยว...เดชะบุญที่รัฐบาลขณะนั้นไม่ได้เต้นตาม



ปี 2551 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่มสลายลงจากปัญหาหนี้สินเช่นกัน เพราะประชาชนพากันจำนองบ้านช่องกันเป็นว่าเล่นจนไม่มีปัญญาผ่อนชำระ และอีกสองสามปีหลังจากนั้น เศรษฐกิจกรีซและโปรตุเกสและสเปนและอิตาลีก็ค่อยๆ ทะยอยล่มสลายลงเพราะนักการเมืองบางคนก่อนหน้านั้นพากันก่อหนี้สาธารณะโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมก็เคยเห็นคน องค์กร และประเทศ ที่กู้หนี้ยืมสินมาลงทุนสร้างตัวสร้างองค์กรและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อประโยชน์กับราษฎร จนบำรุงให้คนๆ นั้นหรือองค์กรนั้นหรือประเทศนั้นพัฒนาขึ้นจนมีรายได้มาใช้หนี้คืนและยังเติบโตเจริญก้าวหน้าต่อไปเหนือคู่แข่งขันได้...เมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นพยานเรื่องนี้ได้ดี

เห็นไหมครับว่าปัญหาหนี้สินมันกลายเป็นปัญหาจริยธรรมส่วนบุคคลและจริยธรรมในระดับสาธารณะไปได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราไม่มีปัญญาจ่ายคืน เพราะมันมักจะนำไปสู่ประเด็น “ดี-เลว-เทพ-มาร-ทุนธรรมะ-ทุนสามานย์” อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

อันที่จริงการกู้หนี้ยืมสินเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม เพราะในเมื่อมีกลุ่มคนนิสัยประหยัด อดออม และบริโภคน้อยกว่ารายรับ พวกเขาย่อมนำเงินเหล่านั้นไปฝากธนาคารและสถาบันการเงิน และเงินก้อนนั้นก็จะถูกนำไปให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเงินสำหรับใช้จ่ายหรือลงทุนขยายกิจการ โดยยอมจ่ายผลตอบแทนกลับในรูปของดอกเบี้ยในอัตราไม่มากไม่น้อย

แม้พระพุทธเจ้าเองก็ยังไม่เห็นว่าการกู้หนี้ยืมสินเป็นเรื่องต้องห้าม มีพุทธพจน์ยืนยันทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ

ครั้งหนึ่งเมื่อตรัสถึงสัมมาอาชีวะ หลังจากแสดงธรรมเกี่ยวกับการแสวงหาและการรักษาทรัพย์ จากนั้นได้ตรัสแสดงธรรม 4 ประการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขเบื้องหน้า (สัมปรายิกัตถะ) คือ สัทธาสัมปทา ศีลสัมปทนา จาคสัมปทา และปัญญาสัมปทา โดยเชื่อมโยงถึงความสุขอันชอบธรรมที่คฤหัสถ์ควรมี ที่เรียกกันง่ายๆ ว่าความสุขของคฤหัสถ์ 4 ประการ ดังพุทธพจน์ที่ตรัสแก่อนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า “ดูกรคหบดี ความสุข 4 ประการนี้ เป็นสิ่งที่คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ควรได้ควรถึงอยู่เรื่อยๆ ตามกาลตามสมัย ความสุข 4 ประการนั้นคือ อัตถิสุข (สุขเกิดจากความมีทรัพย์) โภคสุข (สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค) อนณสุข (สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้) อนวัชชสุข (สุขเกิดจากความประพฤติสุจริตไร้โทษ)”....โดยที่ “อนณสุข (สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้) เป็นไฉน? คือกุลบุตรไม่ติดหนี้สินไรๆ ของใครๆ ไม่ว่าน้อยหรือมาก เธอย่อมได้ความสุข ได้ความโสมนัสว่า เราไม่ติดหนี้สินไรๆ ของใครๆ เลย ไม่ว่าน้อยหรือมาก, นี้เรียกว่า อนณสุข” (ผมอ้างจาก “พุทธธรรม” โดยพระธรรมปิฏก ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2529 หน้า 786)

และอีกครั้งหนึ่ง ท่านได้สอนให้พึงทราบถึงความสุขประณีตในระดับตั้งแต่ฌานสุขขึ้นไป ว่ามีเค้าความรู้สึกอย่างไร ดังที่ท่านแสดงไว้โดยอุปมา ว่าก้าวสุดท้ายก่อนจะบรรลุฌาน ก็คือการละนิวรณ์ 5 (กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา) ได้ ผู้ละนิวรณ์ได้แล้ว จะมีความรู้สึกปลอดโปร่งโล่งเบาสบายและอิ่มใจเกิดขึ้น เป็นพื้นนำของการจะได้ความสุขในฌานต่อไป ดังที่ท่านอุปมาไว้ 5 ประการ โดยหนึ่งในนั้นท่านเปรียบว่า “เหมือนการเกิดความปราโมทย์มีโสมนัสชื่นฉ่ำใจของคนที่เคยกู้ยืมเงินคนอื่นมาประกอบการงาน แล้วประสบความสำเร็จ ใช้หนี้สินได้หมดแล้วและยังมีเงินเหลือไว้เลี้ยงครอบครัว” (หน้า 544)

ผมว่าการกู้หนี้ยืมสินจะไม่เกิดผลเสียหายอันใดหากพิจารณากันบนหลัก 4 ประการดังต่อไปนี้คือ

1.จำนวนเงินกู้จะต้องเป็นสัดเป็นส่วนพอเหมาะพอดีกับสินทรัพย์ที่ก่อเกิดรายได้ของลูกหนี้และรายได้ที่ลูกหนี้คาดว่าจะได้รับ


2.แผนการใช้เงินกู้อย่างละเอียด


3.แผนการใช้หนี้คืนอย่างละเอียดและสมเหตุสมผลที่ต้องวางไว้อย่างเป็นระบบและเปิดเผยก่อนล่วงหน้า ที่จะทำการกู้เงิน


4.ลูกหนี้ย่อมต้องให้สัญญาว่าจะใช้คืนเงินกู้ก่อนรายจ่ายอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายส่วนตน


5.หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้และลูกหนี้จะร่วมกันแก้ไข ผ่อนปรน และช่วยกันฟื้นฟูให้ลูกหนี้กลับมาใช้หนี้ได้อย่างไร

ผมว่าถ้าเจ้าหนี้และลูกหนี้ใช้หลักทั้งห้านี้พิจารณาให้กู้เงินและขอกู้เงิน ปัญหาหนี้สินก็จะไม่กลายเป็นปัญหาเชิงจริยธรรม ดังนั้นรัฐบาลในฐานะที่กำลังจะกู้เงินก้อนใหญ่เพื่อนำไปฟื้นฟูประเทศและเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่นี้ ควรต้องสร้างมาตรฐานที่ดีให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้คนในชาติ เพื่อให้ราษฎรทราบถึงสิ่งที่พวกเขาจะได้จากการนี้ตลอดจนภาระที่พวกเขาต้องแบกในอนาคตในฐานะผู้เสียภาษี

คือรัฐบาลต้องแจกแจงรายละเอียดทั้ง 5 ข้อ ให้ประชาชนได้ทราบก่อนออกพระราชกำหนดฯ มิใช่ออกพ.ร.ก.ก่อนแล้วอย่างอื่นค่อยว่าทีหลัง...รัฐบาลน่าจะประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับราษฏรและภาคธุรกิจและเจ้าหนี้ลูกหนี้ทั่วประเทศ อย่างน้อยรัฐบาลนับแต่นี้และคนที่คิดจะก่อหนี้ในแวดวงธุรกิจ ตลอดถึงลูกหลานจะได้ยึดถือปฏิบัติต่อไปในภายภาคหน้า


รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างที่ทั้งดีและเลวในเรื่องทำนองนี้

ตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐเป็นต้นมา รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว นั่นทำให้เครดิตของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ดีเยี่ยม จนสามารถก่อหนี้ได้ครั้งละมากๆ และดอกเบี้ยถูกๆ เรื่อยมา คนที่ทราบประวัติศาสตร์อเมริกามาบ้าง ย่อมรู้เหตุที่ต้องย้ายเมืองหลวงจาก New York มา Washington, D.C. ว่ามันเนื่องมาแต่การต่อรองทางการเมืองระหว่าง George Washington และ Alexander Hamilton ฝ่ายหนึ่ง กับ Thomas Jefferson และ James Madison อีกฝ่ายหนึ่ง บนเดิมพันที่ฝ่ายประธานาธิบดีกับรัฐมนตรีคลังต้องการให้แผนการแก้หนี้ของ Hamilton ผ่านสภาฯ

Alexander Hamilton เป็นรัฐมนตรีคลังที่มองการณ์ไกลมาก โดยกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า การที่รัฐบาลกลางยอมโอนหนี้ของรัฐต่างๆ ให้เป็นของรัฐบาลกลางโดยมีแผนชำระหนี้ชัดเจนจากเงินรายได้ภาษีอากรตามข้อเสนอของเขา ทำให้บรรดาเจ้าหนี้เชื่อถือและนักลงทุนเชื่อมั่น นับเป็นอิฐก้อนแรกที่สร้างความมั่นคงให้กับระบบการเงินการคลังของประเทศสหรัฐฯ

ทว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของเรากลับทำตัวแย่ หลายรัฐบาลก่อนหน้านี้และรัฐบาลปัจจุบันได้ร่วมกันก่อหนี้จำนวนเหลือคนานับ และไม่มีรัฐบาลใดๆ เลยแม้แต่รัฐบาลเดียว ที่แสดงความกล้าหาญและรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ กล้าออกมาแจกแจงรายละเอียดว่าจะชำระหนี้ก้อนนั้นคืนได้ด้วยวิธีใด และมีกรอบเวลาช้านานเพียงไหน โดยคิดว่าจะชำระดอกเบี้ยและเงินต้นจนหมดสิ้น ณ ปีใด อีกกี่สิบปีหรือกี่ร้อยปีข้างหน้ากันแน่...

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะพี่เบิ้มของโลกและเป็นหัวหอกของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอันก้าวหน้าซึ่งทุกคนเอาเยี่ยง ได้ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่เลว และนิสัยอันนี้ย่อมมีส่วนสร้างให้เกิดความไม่สงบใจและโกลาหลขึ้นกับตลาดเงินตลาดทุนโลกอยู่ในขณะนี้

ผมทราบว่ารัฐบาลไทยเองก็ไม่เคยเบี้ยวหนี้มาก่อน ตั้งแต่เราเริ่มกู้เงินครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา (ครั้งแรกเรากู้เป็นเงินปอนด์ในตลาดลอนดอนและปารีส) รัฐบาลไทยจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นตรงมาตลอด แม้สถานะการเงินของรัฐบาลจะแย่ในบางช่วงเวลา แต่เราก็ถือเอาการจ่ายคืนเจ้าหนี้เป็น Priority หลัก เสมอมา

หากนับเฉพาะสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมว่ารัฐบาลของรัชกาลที่ 1 กับรัชกาลที่ 5 น่าจะก่อหนี้มากกว่าใครเพื่อน (สมัยรัชกาลที่ 1 น่าจะใช้วิธีเกณฑ์แรงงานและทรัพยากรมากกว่ากู้เงิน) และหากพิจารณาให้ดี การก่อหนี้ของรัฐบาลทั้งสองนั้นก็ก่อประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจไม่น้อยในเชิงของการสถาปนา MEGAPROJECT แห่งยุคสมัยของตนๆ...


ลองจินตนาการดูสิครับว่าการย้างกรุงโดยสร้างกรุงขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 จะต้องใช้เงิน ใช้คน และใช้ทรัพยากรจำนวนมากมายเพียงใด แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อการนี้มากน้อยเพียงใด แต่เวลาก็ได้พิสูจน์ว่านั่นเป็นนโยบายที่ถูกต้อง ช่วยให้เกิดความมั่งคั่ง และคงใช้คืนเงินกู้ได้ในเวลาไม่นาน นอกจากนั้น ผลงานของรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เป็นประจักษ์พยานอยู่มาจนเราได้เห็นกันกระทั่งบัดนี้ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ โทรเลข โทรศัพท์ คูคลอง ถนนหนทาง โรงเรียน โรงพยาบาล กองทัพ ระบบราชการและอาคารสำนักงานจำนวนมาก ฯลฯ

ในทางตรงกันข้าม พฤติกรรมการก่อหนี้และใช้คืนหนี้ของรัชกาลที่ 6 ก็ส่งผลให้สถานะของพระองค์ท่านไม่มั่นคงเกือบตลอดรัชกาล และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการล่มสลายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลต่อมา

ผมว่ารัฐบาลของท่านทำถูกแล้ว ที่คิดจะกู้เงินไปบำรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในเวลาเช่นนี้ แต่ท่านในฐานะผู้กุมหางเสือทางเศรษฐกิจการเงินและการคลังของรัฐบาล หากได้คำนึงถึงมาตรฐานการปฏิบัติตนของรัฐบาลอันถูกต้องดีงาม และคิดสร้างบรรทัดฐานให้นักการเมืองในภายภาคหน้าได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติเมื่อจะกู้เงิน ก็น่าจะเป็นเกียรติเป็นศรีต่อตัวและต่อวงศ์ตระกูลสืบไป


ด้วยความนับถืออย่างสูง



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 กุมภาพันธ์ 2555
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับกุมภาพันธ์ 2555