วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ดราม่าที่กรีซกระทบอะไรกับเรา




อริสโตเติ้ล เคยมีความเห็นว่าเงินตราที่ดีในอุดมคติ ควรมีคุณสมบัติ 4 ประการคือ คงทนถาวร พกพาไปมาได้สะดวก แบ่งซอยให้ย่อยลงได้ และที่สำคัญคือต้องมีค่าโดยตัวมันเอง (ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า "Intrinsic Value”)

หากอริสโตเติ้ลฟื้นคืนชีพมาที่เอเธนส์ในวันนี้ เขาคงตกใจไม่น้อยที่พบว่าเอเธนส์กำลังเกิดวิกฤติ และลูกหลานของชาวกรีกโบราณ ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองทางปัญญาและเป็นต้นเค้าของอารยธรรมตะวันตกแทบทุกทาง กลับถือเงินตราส่วนใหญ่ในรูป "ตัวเลขในบัญชีธนาคาร"

อริสโตเติ้ลจะผิดหวังที่ลูกหลานพากันละเลยคำสั่งสอนของเขาในเรื่องนี้หรือไม่ เราไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ๆ การถือครองเงินตราในรูปของ "ตัวเลขในบัญชีธนาคาร" ซึ่งหมายความว่าผู้คนต่างได้เอาทรัพย์สิน เงินออม และความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของตน ที่สู้อุตส่าห์อดออมสะสมมาชั่วชีวิต มาแปลงให้อยู่ในรูป "ตัวเลขในบัญชีธนาคาร" ด้วยนั้น เป็นวิธีที่เสี่ยงมาก โดยเฉพาะในยามวิกฤติ

ตัวอย่างของกรีซ ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ในยามวิกฤตินั้น รัฐบาลย่อมเลือกที่จะปกป้องธนาคารมากกว่าผู้ฝากเงิน รัฐบาลกลัวว่าธนาคารเจ๊ง โดยห้ามมิให้ผู้ฝากเงิน ถอนเงินสดเกินกว่า 60 ยูโรต่อวัน ทั้งๆ ที่เงินก้อนนั้นเป็นเงินของพวกเขาเอง

นับเป็น Greek Tragedy ได้เหมือนกัน

คิดอีกทาง นั่นเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้จ่ายของประชาชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในยามวิกฤตินั้น ผู้คนที่ไม่มั่นใจต่ออนาคต ย่อมอยากจับจ่ายซื้อของจำเป็นและกันเงินสดไว้ เพื่อเตรียมทางหนีทีไล่ให้กับตัวเองและครอบครัว (พลิกอ่านบทความประกอบ เรื่อง "วิกฤติ 101: บทเรียนจากกรีซ")

ผมจะไม่แปลกใจเลย หากในอนาคต ชาวบ้านชาวช่องทั่วไป (ซึ่งไม่ใช่นักการเงินหรือนักลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการเงินการลงทุนอยู่แล้ว) จะศรัทธาและไว้ใจต่อ "ตัวเลขในธนาคาร" น้อยลงไปอีก เพราะมันเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงกับทรัพย์สินและชะตากรรมของประชาชนมากเกินไป และวิกฤติการณ์กรีซในครั้งนี้ ก็เป็นบทเรียนสอนใจให้พวกเขาได้เห็นแล้วว่า หากพวกเขามีเงินในธนาคาร พวกเขาต้องถอนเงินออกก่อนแต่เนิ่นๆ ก่อนที่รัฐบาลจะยื่นมือเข้าแทรกแซง

นายธนาคารและผู้กุมนโยบายการเงินภาครัฐ ก็ต้องพึงสังวรในเรื่องนี้ด้วย เพราะชาวบ้านชาวช่องปัจจุบันบริโภคสื่อกันมาก และรับรู้เรื่องราวในกรีซอย่างแพร่หลาย

ดราม่าในกรีซและยูโรโซน คงจะดำเนินต่อไป ตราบเท่าที่ลูกหนี้ยังไม่สามารถชำระคืนหนี้สินได้ (หรือแสดงให้เจ้าหนี้เห็นว่าตัวเองจะมีวิธีการหารายได้ (หรือประหยัดค่าใช้จ่าย) หรือแผนการชำระคืนที่มีความเป็นไปได้จนเจ้าหนี้เชื่อถือคล้อยตาม หรือไม่ก็หาหลักประกันที่เพียงพอหรือ หลักประกันที่เจ้าหนี้หมายตาอยากได้หรือต้องการยึดเอาได้เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ครั้งหน้า) แม้วิกฤติครานี้จะสิ้นสุดลงชั่วคราว ด้วยการบรรลุข้อตกลงในเรื่อง Bridge Loan และ Debt Restructuring Plans พร้อมเงื่อนไขที่ค่อนข้างโหดในสายตาประชาชนชาวกรีซก็ตาม (โดยกรีซได้สัญญาว่าจะนำเงินก้อนใหม่นี้ไปใช้ให้สมเหตุสมผลและจะยอม "กระเบียดกระเสียน" (“Austerity”) ตามที่เจ้าหนี้ต้องการและได้ตั้งเงื่อนไขไว้)

มีข่าวลือมากมายเกิดขึ้น มีการปลุกม็อบ มีการลงคะแนนเสียง Vote No กันทั้งประเทศ และต่อมาก็มีการประท้วง ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจ ต่อคำว่า "Austerity"

เราได้แต่เอาใจช่วย อยากให้เรื่องนี้จบลงด้วยดี และพอใจกันทั้งสองฝ่าย

ลูกหนี้ก็ได้ประโยชน์ไปแล้วจากการเอาเงินนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในประเทศตน ส่วนเจ้าหนี้ก็ได้ดอกเบี้ยทั้ง In-Cash และ In-Kind เป็นการตอบแทนไปแล้วเช่นกัน

ว่ากันว่า ข้าราชการและพนักงานภาครัฐของกรีกมีสวัสดิการและบำเหน็จบำนาญมากกว่าใครเพื่อน Public Pension Payment/GDP ของกรีซสูงถึง 18% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของเพื่อนฝูงในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 10% และสหรัฐฯ อยู่ที่ 5% เท่านั้นเอง

มีตัวอย่างสุดขั้วมากมายที่พวกเราได้รู้แล้วถึงกับอึ้ง เช่นที่ว่าในประเทศกรีซนั้นมีกฎหมายให้ผู้ที่ประกอบอาชีพ "อันตราย" สามารถเกษียณได้เมื่ออายุ 53 ปี และยังได้บำเหน็จบำนาญหลังเกษียณเต็มจำนวนอย่างเต็มที่ ขนาดสามารถเลี้ยงครอบครัวได้สบายๆ ทั้งตัวเองและภรรยา บุตรและภรรยา รวมถึงหลานอีกด้วย

และอาชีพ "อันตราย" ที่ว่านั้น ดันรวมถึง "ช่างตัดผม" ด้วย!

เหล่านี้คือวิธีใช้เงินที่กู้มาในอดีต และจำต้องลดทอนหรือตัดออกตามเงื่อนไข "Austerity” ของเจ้าหนี้ หากต้องการให้พวกเขา "เสียบปลั๊ก" ให้ทุกอย่างเดินต่อไปได้

แน่นอน เราไม่อยากเห็นการเบี้ยวหนี้ในระดับนี้เกิดขึ้น เพราะเราคิดว่าระบบทุนนิยมจะอยู่ได้ สัญญาก็ต้องเป็นสัญญา

ถ้าสุดวิสัยก็ต้องเจรจาต่อรองกันตามวิสัยเจ้าหนี้ลูกหนี้

จะละเว้น งดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ หรือ Moratorium หรือ Hair Cut ก็เป็นหนทางที่ทำได้ตามแบบแผนที่ทำกันมานานนม

แต่การจะพาลหรือเบี้ยวกันให้เป็นเรื่องเอิกเกริกนั้นไม่สมควรยิ่ง

ยิ่งถ้าพิจารณาในมิติของ Geopolitics ว่า กรีซอาจหันไปซบฝ่ายตรงข้ามกับสหภาพยุโรป (เช่นรัสเซีย) โดยขอให้รัสเซียยื่นมือเข้ามา Bailout ด้วยแล้ว ยิ่งจะยุ่งไปใหญ่

เพียงแค่นี้ โลกก็ขัดแย้งวุ่นวายกันยังไม่พออีกเหรอ

แต่ถ้าลูกหนี้คนใดก็ตาม มีนิสัยชอบเบี้ยวหนี้ ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ฝ่ายไหน เจ้าหนี้ย่อมไม่ไว้วางใจอยู่ดี

ดังนั้น โอกาสที่ใครจะมา Bailout โดยไม่ตั้งเงื่อนไขที่โหดพอกัน ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

ไทยเอง มีส่วนได้เสียกับกรีซน้อยมาก ถ้าไม่นับว่าคนมีอันจะกินของไทยมักไปเที่ยวเอเธนส์และหมู่เกาะในทะเลเอเจียนบ้างเป็นครั้งคราว และนักวิชาการไทยชอบอ้างเปลโต้ อริสโตเติ้ล และโสกราตีสแล้ว ก็ต้องถือว่าคนไทยบริโภคของจากกรีซน้อยมาก ยอดนำเข้าสินค้าจากกรีซมาไทยนั้น คิดเป็นเพียงไม่ถึง 0.1% ของสินค้านำเข้าทั้งหมด และยอดส่งออกไทยไปที่กรีซก็คิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่ถึง 0.25% ของยอดส่งออกทั้งหมด เท่านั้นเอง (ยอดส่งออกของสหรัฐฯ ไปสู่กรีซมีเพียง 0.004% เท่านั้น)

กระนั้นก็ตาม หากวิกฤติการณ์กรีซเกิดลุกลามใหญ่โต สมมติว่าต้องเบี้ยวกันและต้องเลิกใช้เงินยูโรชั่วคราว แม้ประเทศเจ้าหนี้อาจไม่กระทบมากจริง ดั่งที่นักวิเคราะห์ว่ากันไว้ (ว่าหนี้สินส่วนใหญ่มาจากธนาคารกลางของสหภาพยุโรป และกองทุนพยุงเสถียรภาพต่างๆ ที่สหภาพยุโรปตั้งขึ้น และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีเจ้าหนี้เป็นธนาคารพาณิชย์ในสัดส่วนน้อยมาก) แต่สถานการณ์เช่นนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อไทย ทั้งในแง่ที่ว่าเสถียรภาพในยุโรปย่อมจะไม่มั่นคง เช่น อาจเกิดความยุ่งยากทางการเมืองในกรีซ เพราะเงินออมและมูลค่าสินทรัพย์ของประชาชนอาจหายไปหลายส่วนเนื่องจากต้องแปลงจากยูโรไปเป็นเงินสกุลท้องถิ่นในอัตราแลกเปลี่ยนที่แย่ ฯลฯ หรือ อาจเกิดพรรคการเมืองแนวสุดกู่ขึ้นในประเทศลูกหนี้อื่นอย่าง อิตาลี สเปน และโปรตุเกส เป็นต้น

สถานการณ์แบบนั้น อาจทำให้การค้าขายระหว่างไทยกับคู่ค้าเหล่านั้นแย่ลง

อีกอย่างหนึ่ง วิกฤติการณ์ในกรีซย่อมจะทำให้เงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์ และจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกตกลงไปอีก ซึ่งย่อมกระทบต่อราคาพืชผลและเกษตรกรไทยเข้าอย่างจัง

ยิ่งภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของเราอยู่ในสถานะอ่อนแอเช่นปัจจุบัน เราคงไม่สามารถรับผลกระทบเชิงลบแบบนั้นได้นานเป็นแน่แท้

อันที่จริง มีแนวโน้มสองอันที่กดราคาพืชผลให้ดิ่งลงอยู่ในขณะนี้

อันแรกคือ การเพิ่มค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และอันที่สองคือ การลดการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ของจีนทั้งระบบ (จีนลดการนำเข้าอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง)

เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ที่รวมถึงพืชผลเกษตร) ที่ซื้อขายกันในตลาดสำคัญๆ ของโลกล้วนซื้อขายกันด้วยเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และ Quote ราคาเป็นดอลล่าร์สหรัฐฯ ดังนั้น เมื่อเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีค่าสูงขึ้น (ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆ คงที่ เช่น ความต้องการในตลาดโลกเท่าเดิม และปริมาณการผลิตไม่แปรผันมากนักในวันนั้นๆ หรือ ไม่มีภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ที่จะกระทบต่อดีมานด์/ซัพพลายอย่างกระทันหันเกิดขึ้น) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ย่อมมีแนวโน้มลดลง

ที่พูดถึงนี้ย่อมรวมถึงสินค้าเกษตร น้ำมัน เหล็ก ทองแดง ทองคำ และแร่ธาตุ (ท่านผู้อ่านที่มีจอ Bloomberg จะลองคลิกดูกราฟของ Thomson Reuters/Core Commodities CRB Index ซึ่งคำนวณจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายกันมากและคึกคักในตลาดโลก 19ชนิด แล้วนำมาเทียบกับกราฟอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง Euro/Dollar ดูก็ได้ จะเห็นว่ามันเคลื่อนไหวขึ้นลงไปในทิศทางเดียวกัน)

และยิ่งราคาน้ำมัน (ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งในเชิงต้นทุนพลังงาน ปุ๋ย และต้นทุนการขนส่ง) มีแนวโน้มลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ย่อมลดลงตาม

ปัจจุบัน ค่าเงินยูโรตกต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ค่าเฉลี่ยของเงินยูโรเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยวัดกันในระยะยาวตั้งแต่เริ่มพิมพ์เงินยูโรกันมา มีค่าประมาณ 1.22 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามรายงานของ Goldman Sachs ทว่า วันที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ เงิน 1 ยูโร สามารถแลกเงินดอลล่าร์ได้เพียงประมาณ 1.09 ดอลล่าร์ฯ เท่านั้นเอง นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวกว่า 10%

ดังนั้น ถ้าดราม่าในกรีซยังคงฉุดรั้งค่าเงินยูโรให้อย่างน้อยอยู่กับที่เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ความหวังที่ราคาพืชผลจะฟื้นคงเป็นไปได้ยาก

ปัจจัยกดดันราคาพืชผลอีกตัวหนึ่งก็คือสภาวะเศรษฐกิจในจีนปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต เพราะหากเกิดวิกฤติในจีนดังที่หลายคนกังวล โอกาสที่ราคาพืชผลจะฟื้นก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก นอกเสียจากว่าปริมาณการปลูกและเก็บเกี่ยวของโลกลดลง

อย่าลืมว่าจีนเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์หลักของโลก เช่นบริโภคน้ำมันดิบถึง 11% ของโลก แร่เหล็กถึง 29% และทองแดงถึง 52% เป็นต้น

ถ้าหากว่าฉากของดราม่าย้ายจากกรีซไปสู่จีน โอกาสที่จะเกิดดราม่าขึ้นในไทยก็อาจเป็นไปได้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
16 กรกฎาคม 2558
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วิกฤติ 101: บทเรียนจากกรีซ


วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศกรีซสอนบทเรียนให้เราหลายประการ ที่สำคัญคือ เมื่อใกล้เส้นตายวันชำระหนี้เข้ามาทุกที เราก็ได้เห็นคนกรีซเข้าแถวเรียงคิวยาวขึ้นทุกทีเช่นกัน

ทั้งแถวที่ปั๊มน้ำมัน ร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต และที่สำคัญและน่าหวาดเสียวคือ แถวที่เครื่องเอทีเอ็มและเคาเตอร์ธนาคาร

แม้ว่าชาวกรีซที่ฉลาดๆ และมีวิสัยทัศน์ หรือไม่ก็ได้รับข้อมูลภายใน จะทยอยถอนเงินออกจากธนาคารมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ทว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ที่ไม่ได้มีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินอย่างเพียงพอ แต่เชื่อถือในคำพูดของนักการเมืองและคำมั่นของรัฐบาล ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ พวกเขายังคงฝากเงินออมส่วนใหญ่ของพวกเขาไว้กับธนาคาร

แต่เมื่อข่าวลือเริ่มแพร่สะพัดว่าเงินออมของพวกเขาจะมีค่าลดลงมาก หากรัฐบาลผิดนัดชำระหนี้แล้วเจ้าหนี้จะไม่ต่อเวลาให้อีก โดยรัฐบาลอาจจะต้องประกาศเลิกใช้เงินยูโร แล้วกลับมาพิมพ์เงินแดรกม่าใช้เหมือนเดิม ซึ่งจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน และเงินยูโรที่พวกเขาถืออยู่ในปัจจุบันนั้น คงจะแลกเงินแดรกม่าได้น้อยลงมาก เพราะรัฐบาลจะต้องบังคับให้ทุกคนแลกเงินในอัตราที่แย่ลง หรือถ้าเป็นอัตราที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ตลาดมืดก็ย่อมจะเกิดขึ้นทั่วไป อีกทั้งวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น อาจทำให้สถาบันการเงินล้มครืนลงด้วย ฯลฯ...นับว่าเป็นความไม่แน่นอนอย่างยิ่ง

ดังนั้น พวกเขาจึงเริ่มเฮโลกันไปถอนเงิน

อุปมาดั่งเวลาไฟไหม้โรงภาพยนตร์ คนที่เริ่มได้กลิ่นควันไฟบางคนที่ฉลาดและตัดสินใจไว ก็จะเริ่มลุกขึ้นแล้วเดินช้าๆ ไปที่ประตู แล้วก็ค่อยๆ มุดออกไป คนส่วนใหญ่ย่อมไม่รู้สึกตกใจ เพราะดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าคนสามคนเกิดวิ่งกรูไปที่ประตูพร้อมกัน คนส่วนใหญ่ในนั้นย่อมตกใจ แล้วสถานการณ์ Panic ก็จะตามมา

ทีนี้ เพื่อไม่ให้ผู้คนเหยีบกันตาย เพราะประตูย่อมเล็กและมีไม่พอให้คนออกไปพร้อมกัน เจ้าของโรงหนังย่อมต้องยื่นมือเข้ามาจัดระเบียบ ให้คนต่อแถวกันออกไปอย่างเท่าที่จะทำได้ ถ้าคนในนั้นยอมเชื่อฟัง

ลองนึกถึงหัวอกของคนที่อยู่ท้ายๆ แถว

รัฐบาลกรีกเองก็ตัดสินใจเล่นบทเดียวกับเจ้าของโรงหนัง โดยประกาศใช้มาตรการจำกัดการถอนเงิน ให้ถอนได้เพียงวันละ 60 ยูโรต่อคนต่อวัน (ประมาณ 2,000 บาท) และใช้มาตรการ Capital Control สำทับอีกชั้นหนึ่ง คือไม่อนุญาตให้เคลื่นย้ายเงินออกนอกประเทศ

แม้กระนั้น สถานการณ์ Panic ก็ใช่ว่าจะเอาอยู่

ร้านค้า ร้านอาหาร และปั๊มน้ำมันหลายแห่งเริ่มปฏิเสธลูกค้าที่ใช้บัตรเครดิต เพราะเกรงว่าธนาคารจะเจ๊งแล้วพวกเขาขึ้นเงินไม่ได้

ลูกหนี้เริ่มผิดนัดชำระหนี้ และพ่อค้าไม่มีเงินจ่ายซัพพลายเออร์

เจ้าของภัตราคารจำนวนมากออกมาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า พวกเขาอาจต้องปลดพนักงานออก เพราะพวกเขาไม่มีเงินสดไปจ่ายซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารให้ลูกค้า ส่วนลูกค้าก็ไม่สามารถใช้บัตรเครดิตได้ เพราะถูกจำกัดวงเงินเช่นกัน ในขณะที่ภัตราคารเองก็งดรับบัตรเครดิตเพราะกลัวธนาคารผู้ออกบัตรนั้นๆ ล้มละลาย ทุกอย่างต้องซื้อขายเป็นเงินสด แต่ปัญหาคือลูกค้าเองก็ไม่มีเงินสดจะจับจ่ายเช่นกัน

ผมมีเงิน ไม่ใช่ไม่มีเงิน แต่เงินผมอยู่ในธนาคาร ซึ่งเบิกออกมาไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นเงินของผมเอง" บางคนกล่าวเชิงอึดอัดกับมาตราการของรัฐบาลอันนี้

แน่นอน เงินในมือกับเงินที่อยู่ในธนาคารย่อมมีค่าแตกต่างกันมากในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้

แม้เงินในมือเอง ก็ใช่ว่าจะมั่นคง เพราะไม่รู้ว่ามันจะกลายเป็นเพียงเศษกระดาษที่มีค่าน้อยลงหรือไม่มีค่าเมื่อไหร่ก็ได้ หากมีการเปลี่ยนสกุลเงิน หรือวิกฤติการณ์ลุกลามใหญ่โตกลายเป็นจลาจลและโกลาหลจนกฎเกณฑ์เดิมของสังคมเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ

หนังสือพิมพ์และทีวีช่วงนี้ที่ลงข่าวกรีซ ล้วนเสนอภาพที่ผู้คนเข้าแถวยาวเหยียดหน้าธนาคาร หรือเครื่องเอทีเอ็ม ปั๊มน้ำมัน หรือซูปเปอร์มาร์เก็ต

เว็บไซต์แห่งหนึ่งนำเสนอภาพของชายวัยเกษียณที่ทรุดลงนั่งร้องไห้อย่างผิดหวังตรงหน้าธนาคารที่เขาไม่สามารถเข้าไปเบิกเงินของตัวเองที่สู้อุตส่าห์ออมมาทั้งชีวิตได้

เอทีเอ็มจำนวนมาก เงินเกลี้ยงตู้

อาหารและของใช้จำเป็นถูกกว้านซื้อ

ปั๊มไม่มีน้ำมันให้เติม

ประธานหอการค้าฯ (Chamber of Commerce) ยังออกมาแสดงความกังวลให้เห็นเลยว่า "soon, even basic goods will not be available”

เตรียมตัวรับวันสิ้นโลก

บทเรียนจากกรีซคงทำให้หลายคนเริ่มตระหนักว่า ชีวิตคนเรานั้น ควรเตรียมการณ์เพื่อรับมือกับวันคืนแบบนี้ไว้บ้าง

สมัยเด็กๆ ผมชอบนิยายกำลังภายในเรื่อง "เพชรฆาตดาวตก" มาก (ต่อมารู้จักกันดีในนาม "ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่") จำได้ว่า ตัวเองอ่านซ้ำถึง 4 เที่ยวในรอบไม่กี่ปี

นอกจากตื่นเต้นเร้าใจไปกับการวางพล็อตที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนทว่าค่อยๆ เผยโฉมออกมาอย่างชาญฉลาดของโกวเล้งผู้เขียนแล้ว ผมยังประทับใจกับบุคคลิกของตัวละครเอก เจ้าพ่อผู้ชาญฉลาด คิดละเอียดรอบคอบ สุขุม และมองการณ์ไกล อย่าง "เล่าแป๊ะ"

ถ้าพูดภาษาสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า เล่าแป๊ะ นั้นเป็นพวก Preppers” นั่นเอง

เล่าแป๊ะเป็นคนทำธุรกิจหลากหลายและมีศัตรูมาก เขาจึงเตรียมทางหนีทีไล่ไว้อย่างลับๆ ว่าถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุวิกฤติกับตัว จะซุกซ่อนตัวอย่างไรให้อยู่รอด จะต้องเตรียมทรัพยากรและสินทรัพย์แบบไหนไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน สำหรับการฟื้นฟูกำลังและการโต้กลับ

เล่าแป๊ะเตรียมเส้นทางลับไว้หนีเมื่อภัยมา เตรียมห้องใต้ดินพร้อมอาหาร นำ้ และสิ่งของจำเป็นไว้ เพื่อการดำรงชีพในระยะยาวๆ เก็บแก้วแหวนเงินทองแบบซอยออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แบ่งเตรียมไว้จับจ่ายใช้สอยในยามจำเป็นแทนเงินสดหรือตั๋วเงิน (อุปมาราวกับสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อเราไม่สามารถใช้เอทีเอ็ม สมุดเงินฝาก และบัตรเครดิตได้สะดวก) และที่สำคัญ เขาได้เก็บความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของครอบครัวไว้ในรูปสินทรัพย์ที่เขาคิดว่าสำคัญที่สุด แต่คนนอกยากจะรู้ นั่นคือ "โฉนดที่ดิน" จำนวนมาก โดยเก็บซ่อนไว้ในที่ลับที่สุด

ความคิดแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับแนวทางของพวก Preppers” ในปัจจุบัน

พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากพอสมควร (และมากขึ้นเรื่อยๆ) ที่เชื่อว่าวันหนึ่งโลกจะต้องเกิดวิกฤติขั้นร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นจากภัยธรรมชาติ เช่นน้ำท่วมโลก แผ่นดินไหวรุนแรง คลื่นความร้อนจากลมสุริยะ (Solar Wind) หรือวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินระดับโลก ที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายใช้การณ์ไม่ได้

โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า น้ำประปา และระบบการเงิน ล้วนล่มสลาย

เงินกลายเป็นกระดาษไร้ค่า บัตรเครดิตกลายเป็นเพียงแค่บัตรพลาสติกธรรมดา สมุดเงินฝากกลายเป็นสมุดที่ใส่ตัวเลขหลายหลักไว้เพื่อดูเล่น โรงงานอุตสาหกรรมผลิตต่อไปไม่ได้

เกิดการจราจลในเมือง โจรผู้ร้ายชุกชุม คนดีกลายเป็นคนร้าย เข้าปล้นสดมภ์ เพื่อขนเอาอาหารและของใช้จำเป็นสำหรับดำรงชีพ

โลกจะกลับไปสู่จุดที่ต้องเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง โดยจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกันด้วยวิธีเอาของแลกของหรือ Barter System

คนเหล่านี้ล้วนมีแผนทางหนีทีไล่อย่างเป็นระบบ และสร้าง "รังซ่อนตัว" ของตัวเองไว้ เหมือนกับเล่าแป๊ะ

บางกลุ่มเจาะถ้ำไว้บนภูเขาสูงทางภาคเหนือ บางกลุ่มหาเครือข่ายหมู่บ้านชาวเขาทางเขาค้อไว้เผื่อเหนียว (โดยจ่ายเงินจ่ายทองช่วยเหลือความเป็นอยู่ของชาวเขาเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ) เพื่อเตรียมว่าถ้าเกิดวิกฤติการณ์หรือภัยพิบัติขั้นร้ายแรง ก็จะอพยพครอบครัวไปอยู่กับชาวเขาเหล่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะนิยมซื้อฟาร์มไว้ต่างจังหวัด ในพื้นที่ๆ ตัวเองคิดว่าปลอดภัย เผื่อไว้ว่าต้องเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ในยามที่ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย

บางกลุ่มก็นิยมหาที่ปลอดภัยในเมืองไว้เป็นทำนอง Safe House อย่างห้องใต้ดินบ้านตัวเอง หรือในสวนหลังบ้าน หรือหาซื้อบ้านธรรมดาที่ไม่มีใครสังเกตุ แล้วสร้างห้องนริภัยสำหรับการณ์นี้ ปกปิดทางเข้าออกไว้อย่างเป็นความลับ

สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมไว้ใน Safe House หนีไม่พ้นต้องมีข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุงรสและ Herb ต่างๆ น้ำดื่ม น้ำใช้ (ส่วนใหญ่จะใช้ภาชนะที่เรียกว่า Waterbob) ยารักษาโรคและอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ถังอ๊อกซิเจน หน้ากาก แก๊ซหุงต้ม ฟืน เทปกาวอย่างเหนียว ถุงดำใส่ขยะ ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง ผ้าพลาสติก และกระสอบทราย (ไว้สำหรับทำเป็นส้วมในยามที่จำเป็นจริงๆ) อุปกรณ์ช่าง อาหารกระป๋อง น้ำตาล ถั่วกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ใส้กรอก เตาสนาม เป้สนาม พลั่วสนาม เต๊นท์ ฯลฯ 

นอกจากนั้นก็ต้องมีอุปกรณ์สันทนาการและเอ็นเทอร์เทนเม้นต์ทั้งหลายไว้แก้เบื่อด้วย

บางคนก็จะตุนน้ำมันไว้ด้วย เพื่อเอาไว้หนีออกไปต่างจังหวัดในยามที่ต้องเคลื่อนย้าย รถของพวกเขาทุกคันล้วนเติมน้ำมันไว้เต็มถังอยู่ตลอดเวลา

Safe House ของพวกเขาอาจมีแผงโซล่าร์ติดตั้งไว้ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดย่อมใช้เอง เมื่อการไฟฟ้าหยุดจ่ายไฟ

และที่ขาดไม่ได้ก็คืออาวุธสำหรับป้องกันตัว ไล่ไปตั้งแต่มีดสนาม หน้าไม้ ไปจนถึงปืนสั้น ปืนยาว และปืนกล พร้อมกระสุน ดีไม่ดี บางคนถึงกับมีระเบิดด้วย ทั้งระเบิดควัน ลูกเกลี้ยง และน้อยหน่า

ทางด้านเงินทองยามจำเป็น (หรือควรเรียกว่า "Medium of Exchange”) พวกเขามักนิยมเก็บเป็นทอง เงิน (หมายถึงเหรียญเงินหรือสร้อยหรือกำไลเงินหรือแหวนเงินแท้) และเครื่องประดับ ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่สามารถขนไปกับตัวและแบ่งใช้แทนเงินได้ในยามวิกฤติ (ทองแท่งพกไปกับตัวยากเพราะหนัก และใช้จ่ายยากด้วย เพราะคู่ค้าไม่สามารถหาทองมาทอนให้ได้ในยามวิกฤติ)

สำหรับเงินสด พวกเขาก็เก็บไว้กับตัวส่วนหนึ่ง บางคนเก็บเงินไว้หลายสกุล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เงินยูโร และเงินบาท บางคนซ่อนไว้ในท่อประปา บางคนซ่อนไว้ในรางผ้าม่าน หรือซุกไว้ในเบาะโซฟา ตามแต่จินตนาการของแต่ละคน

ผมเคยคุยกับคนกลุ่มนี้บางคน พวกเขาจะมีตารางทองคำติดตัวไว้ และสามารถคำนวณเทียบน้ำหนักทองคำกับทองคำผสมกลับไปกลับมาได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะคิดเป็นหน่วยออนซ์ (U.S. Ounce) ทรอยออนซ์ (Troy Ounce) บาท หรือ Pennyweight หรือ กรัม

เช่น ทองคำ 1 ออนซ์ มีค่าเท่ากับ 28.350 กรัม และ ทองคำ 1 บาท (ทองคำบริสุทธิ์ 96.5% มาตรฐานประเทศไทย) จะหนัก 15.16 กรัม สำหรับทองรูปพรรณ และหนัก 15.244 กรัม สำหรับทองแท่ง เป็นต้น 

ดังนั้น การแปลงราคาทองคำจากราคาตลาดโลกมาเป็นราคาเงินบาทจะต้อง นำราคา Spot ในตลาดโลกมาคูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยน (บาท/ดอลล่าร์ เพราะทองคำในตลาดโลกซื้อขายกันเป็นเงินดอลล่าร์) ณ วันนั้นๆ แล้วคูณด้วย 0.4723 ซึ่งเป็นตัวแปรค่าคงที่สำหรับแปลงหน่วยออนซ์เป็นหน่วยบาท)

สำหรับทองคำผสมนั้น 24K หรือ 24 กะรัต (Karat) มีค่าเท่ากับทองคำบริสุทธิ์ 100% (หรือ 99.99% แบบที่ใช้ในต่างประเทศ) ดังนั้น ทองคำ 18K (18 กะรัต) ย่อมหมายความว่าทองคำชิ้นนั้นเป็นทองคำผสมที่มีเนื้อทองบริสุทธิ์อยู่ 75% และเป็นโลหะอื่นอีก 25% (คือมีทองบริสุทธิ์อยู่ 18 ส่วน จาก 24 ส่วน) นั่นเอง

และถ้าเป็น 14K หรือ 10K ก็สามารถคำนวณทอนลงไปได้โดยใช้หลักการเดียวกัน ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถคิดและเทียบมูลค่าของทองคำทุกชนิดได้ว่ามันควรมีค่าในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเท่าใด

ทองคำจึงเหมาะอย่างยิ่ง ที่จะใช้เป็น "เงินตรา" ในยามวิกฤติ ในสายตาของคนกลุ่มนี้

แน่นอน มาตรการเหล่านี้ย่อมมีมูลเหตุและแรงจูงใจมาจากความกลัว

จะว่าพวกเขาเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายก็ได้ แต่โลกปัจจุบันก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มากเหลือเกิน

ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โลกร้อน โรคติดต่อร้ายแรงชนิดใหม่ๆ ความอดอยากหิวโหย การก่อการร้ายที่โหดร้าย รุนแรง และขยายขอบเขตกว้างขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อีกทั้งชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน ยังต้องขึ้นและพึ่งพิงอยู่กับส่ิงที่จับต้องไม่ได้เสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า นำ้ประปา พลังงาน ระบบการเงิน ระบบเครดิต ระบบธนาคาร ระบบสื่อสาร หรือแม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถล้มคลืนลงได้ทุกเมื่อ

ผมได้แต่หวังว่า วิกฤติใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะไม่ถึงขั้นที่อารยธรรมต้องล่มสลาย จนมนุษย์ที่เหลือรอดอยู่ต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับหยิบก้อนหินขว้างปากันแบบที่ไอซไตน์ว่าไว้

หรือเป็น "มิคคสัญญียุค" ที่ต้องร้อนถึงพระศรีอาริยเมตไตรยและบรรดา Messiah ทั้งมวล

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
4 กรกฎาคม 2558
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA


วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คู่มือสร้าง "ความเชื่อมั่น"



ผู้นำทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า "ความเชื่อมั่น" สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทว่า น้อยคนเท่านั้น ที่สามารถ "สร้าง" ความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้สำเร็จแบบตลอดรอดฝั่ง

ถ้าปราศจากความเชื่อมั่น แม้ว่านโยบายหรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะดีและดูเข้าท่าถูกหลักการแค่ไหนก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้มักจะน่าผิดหวัง

หกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาแล้วและกำลังจะผ่านคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในไม่ช้านั้น หากว่าไม่มีเชื้อของความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนเป็นตัวหนุนส่ง ก็ยากที่จะจุดไฟเศรษฐกิจให้ลุกโชนขึ้นได้

เพราะถ้าคนไม่เชื่อมั่น พวกเขาที่เป็นคนทั่วไปก็จะยังไม่กล้าจับจ่ายเต็มที่ ส่วนพวกที่เป็นนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมก็จะไม่ยอมตัดสินใจลงทุนเพิ่มในทันที สถาบันการเงินก็จะนั่งทับเงินไว้เฉยๆ ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อในโครงการที่ควรได้รับในเวลาปกติ และยิ่งช่วงนี้ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกตกต่ำ ดังนั้น ถ้าการบริโภคและการลงทุนชะงักหรือกระเตื้องน้อยหรือช้า เศรษฐกิจภาพรวมและรายได้ย่อมแย่ตาม

ตรงกันข้าม หากมาตรการเหล่านั้นมาพร้อมกับความเชื่อมั่น หรือสามารถจุดประกายแห่งความเชื่อมั่นได้ ต่างคนต่างมั่นใจในอนาคต พวกเขาก็พร้อมจับจ่ายเต็มที่ การลงทุนย่อมเกิด เงินจะสะพัด หมุนไปในระบบเศรษฐกิจอีกหลายรอบด้วยสปีดที่น่าพอใจ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่อบแย่บย่อมพลิกผันเติบโตกระปรี้กระเปร่าขึ้นในทันทีทันใด

แน่นอน ผู้นำทุกคนรู้เรื่องทำนองนี้

พลเอกประยุทธ์เองก็ออกมาเน้นย้ำแทบทุกครั้งในรายการพบประชาชนของท่านว่า "ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น"

ที่จะปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ก็เพราะจะเรียกความเชื่อมั่นนั่นเอง

เร็วๆ นี้ เมื่อเกิดการเทขายหุ้นในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเสินเจิ้น ทำให้หุ้นตกเป็นประวัติการณ์ และทำท่าจะเกิด Panic ใหญ่ จนถึงขึ้นที่จะทำให้ตลาดหุ้น Crash และดึงเอาเศรษฐกิจโดยรวมลงสู่หลุมดำ รัฐบาลจีนจึงได้ออกมาตรการแรงๆ หลายอย่าง นัยว่าเพื่อ สร้าง” และ "ฟื้นฟูความเชื่อมั่น" ให้กับนักลงทุน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง ไม่ยอมให้ราคาหุ้นไหลลงไปยิ่งกว่านี้

มาตรการเหล่านั้นรวมถึง การห้ามผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น การห้าม Short Sell และตั้งกองทุนเพื่อพยุงราคาหุ้น เป็นต้น

ถ้ามองด้วยใจเป็นธรรม จะเห็นว่ามาตรการเหล่านี้ได้ผล อย่างน้อยก็ในระยะนี้ เพราะสามารถคงความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนจีนให้เชื่อว่ารัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อพยุงตลาดหุ้นเอาไว้

ลองย้อนไปเมื่อสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก ราวๆ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สมัยนั้น คนงานในสหรัฐอเมริกาตกงานกันมาก ต้องเข้าคิวขอแบ่งปันอาหาร ธุรกิจเจ๊งระนาว และเกิดความสิ้นหวังไปทั่ว

Franklin D. Roosevelt ซึ่งเพิ่งชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี ถึงกับกล่าวตอนหนึ่งในสุนทรพจน์ตอนรับตำแหน่งในปี 2476 ว่า "The only thing we have to fear is fear itself.” (สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวก็คือตัวความกลัวนั่นเอง")

เขาและรัฐบาลของเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะความกลัวในใจของผู้คน

รัฐบาลของเขาสร้างความเชื่อมั่นโดยประกาศนโยบาย New Deal ที่มุ่งการสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจโดยโครงการของรัฐจำนวนมาก โดยรัฐเป็นผู้อัดฉีดเงินผ่านนโยบายการคลังอย่างมโหฬาร ตามแนวคิดของ John Maynard Keynes

อย่างที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า แนวคิดของ Keynes นั้นแพร่หลายอย่างมากภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

รัฐบาลจำนวนมาก (รวมทั้งรัฐบาลไทยในยุคที่ผ่านๆ มาและยุคนี้ด้วย) มักกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้ โดยให้รัฐบาลกู้เงินมาอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ

ทั้งนี้โดยความเชื่อใน "ตัวคูณ" หรือ "Multiplier” ที่เคนส์ว่าไว้ในหนังสือ The General Theory of Employment, Interest, and Money ของเขานั่นเอง

เคนส์อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า เงินก้อนแรกที่รัฐบาลจ่ายออกไปผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบต่างๆ นั้น มันก็จะตกไปอยู่ในกระเป๋าประชาชน ซึ่งพวกเขาก็จะนำไปใช้จ่ายอีกทอดหนึ่ง

เงินที่รัฐบาลจ่ายถือเป็นการใช้จ่าย "ทอดแรก" ซึ่ง (มองในฝั่งคนรับย่อม) เป็น "รายได้" ของประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับมันไว้

พวกเขาเหล่านั้นย่อมใช้จ่ายเงินก้อนนั้นออกไปบางส่วน (ถือเป็นการใช้จ่าย "ทอดที่สอง") โดยเคนส์เรียกเงินส่วนนั้นว่า Marginal Propensity to Consume (MPC)

และในทำนองเดียวกัน รายจ่ายทอดที่สองนี้ย่อมเป็นรายได้ของคนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับมันไปจากคนกลุ่มแรก โดยรับไปในจำนวนเท่ากับ MPC ซึ่งพวกเขาก็จะนำบางส่วนไปใช้จ่ายอีกทอดหนึ่ง (เป็นทอดที่สาม) และพวกที่ได้รับในทอดที่สาม ก็จะนำบางส่วนไปใช้จ่ายในทอดที่สี่ และที่ห้า ที่หก ที่เจ็ด ไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งระบบเศรฐกิจ (เขียนเป็นสูตรคณิตศาสตร์แบบง่ายๆ ของการใช้จ่ายแต่ละทอด และผลรวมของมันได้ว่า $1+$MPC+$MPC2+$MPC3+$MPC4.... = 1/(1-MPC) ซึ่งตัวนี้ เราเรียกในเวลาต่อมาว่า Keynesian Multiplier)

ดังนั้น เราจะเห็นว่าการประเดิมด้วยการใช้จ่ายก้อนแรกของรัฐบาล มันย่อมก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม คือการใช้จ่ายโดยภาคประชาชนกันเองเลย ในทอดที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า และทอดต่อๆ ไป

นั่นคือเคล็ดลับของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้รัฐบาลประเดิมลงทุนหรือใช้จ่ายเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบ เพื่อก่อให้เกิดผลทวีคูณที่จะตามมา

เห็นได้ชัดว่า "ตัวคูณ" นี้แหล่ะที่จะเป็น "ตัวเบิ้ล" ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจสำเร็จมากหรือน้อยเพียงใด

ถ้าหากว่าตัวคูณสูง (หมายความว่า MPC มีค่าสูง คือประชาชนได้รับเงินมาเท่าใดก็นำออกไปใช้จ่ายเป็นสัดส่วนที่สูงในแต่ละทอด ไม่เก็บไว้กับตัวมากนัก) การอัดฉีดก้อนแรกจากรัฐบาลก็จะได้ผลดี

(ลองแทนค่าในสูตรคณิตศาสตร์ง่ายๆ ข้างต้นดูก็ได้ว่า ถ้า MPC มีค่าเท่ากับ 0.5 (หมายถึงประชาชนที่ได้รับเงินมา นำเอาออกมาใช้ในทอดต่อๆ มาเพียง 50%) ตัวคูณก็จะมีค่าเท่ากับ 2 แต่ถ้า MPC มีค่า 0.8 (หมายถึงประชาชนเอาเงินออกมาใช้ถึง 80%) ตัวคูณจะสูงขึ้นเท่ากับ 5 เป็นต้น)

ทว่า ในทางกลับกัน หากเรามองโดยใช้ตรรกะข้างต้นว่าในช่วง "ขาขึ้น" ตัวคูณย่อมทำหน้าที่เป็นตัวเบิ้ลหรือคานงัดให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น แต่ในช่วง "ขาลง" ตัวคูณก็ย่อมทำหน้าที่เบิ้ลหรือกระทืบให้เศรษฐกิจเตี้ยต่ำลงอย่างเป็นทวีคูณเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นช่วงหุ้นตกมากๆ เพราะนักลงทุนเกิด Panic ต่างคนต่างแย่งกันขาย ตลาดย่อม Crash อุปมาเหมือนไฟไหม้โรงหนังแล้วคนดูกรูกันไปที่ประตู ก็อาจเกิดเหยียบกันตายได้

ดังนั้น แม้ตัวคูณจะมีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นเดียวกัน เพราะในช่วงขาลง มันอาจกลายเป็น Negative Multiplier ได้ ถ้าหยุดอารมณ์ความรู้สึกหวาดกลัว/ตกใจ/ตกตะลึง/วิตกกังวล ของผู้คนไว้ไม่ทัน

ตรงนี้แหละที่ "ความเชื่อมั่น" เข้ามามีบทบาทในทฤษฏีของเคนส์ ดังที่เขากล่าวไว้เองว่า

“With the confused psychology which often prevails, the Government programme may, through its effect on “confidence”, increase liquidity-preference or diminish the marginal efficiency of capital, which, again, may retard other investment unless measures are taken to offset it.” (อ้างจาก The General Theory of Employment, Interest, and Money”, 1st Edition, Macmillan and Co., Ltd., February 1936, หน้า 120)

และที่ชัดยิ่งขึ้นอีกว่า

“The state of long-term expectation, upon which our decisions are based, does not solely depend, therefore, on the most probable forecast we can make. It also depends on the confidence with which we make this forecast—on how highly we rate the likelihood of our best forecast turning out quite wrong. If we expect large changes but are very uncertain as to what precise form these changes will take, then our confidence will be weak.

The state of confidence, as they term it, is a matter to which practical men always pay the closest and most anxious attention. But economists have not analysed it carefully and have been content, as a rule, to discuss it in general terms. In particular it has not been made clear that its relevance to economic problems comes in through its important influence on the schedule of the marginal efficiency of capital. There are not two separate factors affecting the rate of investment, namely, the schedule of the marginal efficiency of capital and the state of confidence. The state of confidence is relevant because it is one of the major factors determining the former, which is the same thing as the investment demand-schedule.” (อ้างจาก The General Theory of Employment, Interest, and Money”, 1st Edition, Macmillan and Co., Ltd., February 1936, หน้า 148-149)

หน้าตาของความเชื่อมั่น

ความเชื่อมั่น" เป็นความรู้สึกที่อยู่เหนือเหตุผล เพราะมันเจือปนไปด้วย "ความเชื่อถือ" และ "ความไว้วางใจ" หรือ "ไว้เนื้อเชื่อใจ" ต่ออะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบุคคล คณะบุคคล คำพูด ภาพลักษณ์ การกระทำ หรือชุดความคิด นโยบาย มาตรการ หรือโครงการ ฯลฯ

ความหมายของ Confidence ในปทานุกรมภาษาอังกฤษคือ Trust หรือ Full Believe ซึ่งแปลว่า ความไว้วางใจ และ เชื่อแบบเต็มร้อย

คำๆ นี้ มีรากศัพท์มาจากคำภาษาละตินว่า fido แปลว่า I trust หรือ ฉันไว้ใจ ซึ่งความหมายของมันใกล้เคียงกับคำว่า Credit ที่มาจากรากละติน Credo แปลว่า I believe (ฉันเชื่อ)

วิกฤติของความเชื่อมั่น มักมาพร้อมกับวิกฤติของเครดิต

มิน่าเล่า สถาบันการเงินถึงไม่ยอมปล่อยกู้ในภาวะอึมครึมแบบปัจจุบัน

การวิเคราะห์เจาะลึกถึงความหมาย ที่มาที่ไป และ Anatomy ของ ความเชื่อมั่น ย่อมช่วยให้เรารู้ว่า เราจะสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราเป็นผู้นำ

แน่นอน การจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในใจประชาชน ต้องเริ่มจากการพูดความจริง และเอาความจริงมาพูด ว่าตอนนี้สถานการณ์โลกเป็นอย่างไร คู่ค้าของเราแย่ยังไง และสถานการณ์โลกนั้นมันจะ Play กับจุดอ่อนและจุดแข็งของเราอย่างไร

เสร็จแล้วค่อยกลับมาดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรหรือมีไพ่ใบไหนที่ยังพอจะเล่นได้ และรัฐบาลจะสร้างโครงการเสริมเพื่อกระตุ้นตรงไหน โดยในหกมาตรการนี้มันจะสร้างผลสะเทือนหรือ Impact ตรงไหนอย่างไร และจะสร้างตัวคูณตลอดจนผลตามมาอย่างไร ใครจะได้ ใครจะเสีย โดยรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันหรือเยียวยากลุ่มที่จะเสียผลประโยชน์อย่างไร

ทั้งหมดนี้จะต้องทำภายใต้ผู้นำที่มีความมุ่งมั่น พูดจริงทำจริง และนำพร้อมกับขอร้องให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างสรรค์อนาคตร่วมกัน ให้ผลลัพธ์เป็นไปดังที่หวังไว้ สามารถฝ่าวิกฤติและสร้างการเติบโตและรายได้ได้จริง

ขั้นตอนสำคัญต่อมาคือขั้นลงมือปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พูดหรือวางแผนมานั้น รัฐบาลได้ลงมือทำจริง

ประชาชนจะต้องเห็นผู้นำที่ถลกแขนเสื้อ ลงพื้นที่ ตอกเสาเข็ม และ Kick-off โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกอันที่วางแผนไว้

เช่นถ้ารัฐบาลประกาศว่าจะกระตุ้นโดยโครงการก่อสร้างภาครัฐ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถไฟรางคู่ หรือโครงการน้ำ ประชาชนจำต้องเห็นความคืบหน้าโดยเร็ว คือต้องเห็นการตอกเสาเข็ม การสำรวจราง การเวนคืนที่ดิน ฯลฯ โดยเร็ว

เพราะถ้าพวกเขาเห็นประจักษ์แล้วว่ารัฐบาลเอาจริง พวกที่เป็นนักธุรกิจก็จะเริ่มขยับ เช่น บรรดากิจการอสังหาริมทรัพย์ก็จะเริ่มมองหาที่ดินตามแนวรถไฟ ออกแบบโครงการก่อสร้างที่พักอาศัย หรือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างก็อาจจะเพิ่มกำลังผลิตเพื่อรองรับโครงการของรัฐบาลและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งการจ้างงานก็จะเริ่มกระเตื้องขึ้น เป็นต้น

อีกทางหนึ่ง ข้าราชการทุกภาคส่วนที่สัมผัสกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ต้องสามารถสร้าง Trust ให้เกิดขึ้นต่อประชาชนกลุ่มนั้นๆ ให้ได้ ทั้งนี้โดยการรับฟังปัญหาของเขาอย่างอดทนและลงลึก เพื่อหาทางเยียวยาและช่วยเหลือบรรเทาในกรณีที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคเกษตรกรรม ต้องมีความร่วมมือในทุกกลุ่มพืชผลและสัตว์เลี้ยง เช่น กลุ่มชาวนา ชาวสวนที่ปลูกพืชแต่ละชนิด จะต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร หากแผนการกระตุ้นไม่เป็นไปดังคาด

ทางด้านธุรกิจเอกชนก็เช่นเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะสถาบันการเงินภาครัฐ จะต้องทำตัวเป็นหัวหอก ทำการปล่อยสินเชื่อและหามาตรการเคลื่อนทุนอย่างสร้างสรรค์ไปให้กับภาคเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อจุดประกายให้สถาบันการเงินภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นแล้วทำตาม

ทางด้านการแข่งขันและความยุติธรรมในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด มิให้ผู้ประกอบการรายใดหรือกลุ่มใดมีอำนาจเหนือตลาด ทำการผูกขาดตัดตอนหรือกีดกันคู่แข่งขันที่อ่อนแอกว่าด้วยอำนาจเหนือตลาดของตน ต้องทำลายและป้องกันการ "กินรวบ" โดยคนจำนวนหยิบมือ

คนผิดต้องถูกนำมาลงโทษโดยเร็ว

การคิดถึงหัวอกของคนทุกกลุ่มที่ร่วมสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้กับส่วนรวมเป็นเรื่องจำเป็นและถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในอันดับต้น

ระบบการ "กินแบ่ง" อย่างสมน้ำสมเนื้อ เพื่อมีส่วนกับความสำเร็จที่จะได้รับ ย่อมทำให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นธรรมและจะช่วยเขม็งเกลียวให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมแน่นแฟ้นขึ้นอย่างแน่นอน

ท่องให้ขึ้นใจเลยว่า ไม่มีใครอยากได้เศษเนื้อและเศษสตางค์แล้วในยุคนี้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
6 สิงหาคม 2558


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA
หมายเหตุ: ความคิดในการเรียบเรียงท่อนแรกของต้นฉบับของบทความนี้ได้อ้างอิงมาจากเนื้อหาของบทที่ 1 ของหนังสือชื่อ Animal Spirits: How Human Psychology Drives the Economy, and Why It Matters for Global Capitalism เขียนโดย Robert Shiller และ George Akerlof


ภาพเปิดก็อปปี้มาจากไทยรัฐ www.thairat.co.th 

ผู้เขียนขอขอบคุณเป็นอย่างสูง