วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

มื้อเย็นที่ต้องคิดมาก


ผมรู้สึกแปลกๆ อยู่เหมือนกันที่ได้เห็นอาหารมื้อเย็นของตัวเองยืนเคี้ยวเอื้องอยู่ใต้ร่มไม้กลางทุ่งนา

แต่พลางที่ยังนึกสงสาร Dinner Menu อยู่ในห้วงความคิดแว้บนึงนั้น เพชรฆาตตัวเล็กๆ ผอมๆ เกร็งๆ ก็ตวัดดาบเสียบเข้าสู่ขั้วหัวใจของวัวตัวนั้นโดยพลัน

รอสักพัก มันก็ทรุดลง สิ้นลมหายใจ

และแล้ว บรรดา Butcher” ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น ต่างพากันกลุ้มรุมเข้ากรีด แซะ ถลก เฉือน ชำแหละ หั่น และตัด หรือแม้กระทั่งฟันแรงๆ จนเนื้อส่วนต่างๆ และเครื่องในแต่ละชิ้น กลายสภาพเป็นวัตถุดิบพร้อมปรุง เพื่อนำไปให้บรรดาแม่บ้านได้แสดงฝีมือ สำหรับเมนูที่จะขึ้นโต๊ะเย็นวันนั้น

ประสบการณ์ของผมที่ได้เห็นการ “ล้มวัว” และร่วมงานเลี้ยง ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครราชสีมาครั้งนั้น ทำให้ผมเข้าใจ Taste และ Style การบริโภคเนื้อวัวของชาวบ้านในถิ่นอีสานของไทย ว่าต่างจากชาวกรุงและสไตล์สากลที่นิยมกันในโลกตะวันตกอย่างไรบ้าง

ผมได้เห็นกับตาว่าเครื่องในวัวทุกชนิด (แม้กระทั่งเลือดและขี้อ่อนและน้ำดีสำหรับผสมน้ำจิ้มที่เรียกว่าแจ่ว) สามารถกินกันสดๆ ได้ทันที และเครื่องในบางชนิดที่มีจำนวนไม่มากเช่นตับและกระบังลม อาจถูกเฉือนไปแบ่งกันกินสดๆ จนหมดเกลี้ยง ณ จุดที่วัวถูกสังหารนั้นเลยทีเดียว โดยไม่ต้องรอจนถึงมื้อเย็น

ยังไม่นับเนื้อที่เพิ่งถูกเฉือนและยังดิ้นดุ๊กดิ๊กอยู่นั้น ย่อมถือเป็นเมนูอันโอชะที่ทุกคนล้วนมุ่งเป้าไป เพราะเนื้อที่เพิ่งถูกเฉือนแบบสดๆ โดยเฉพาะที่ต้นขาและสันหลังสองเส้นนั้น ถือเป็นเนื้อชั้นคุณภาพสำหรับชาวบ้าน เพราะมันยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปเช่น แช่น้ำแข็ง แช่ตู้เย็น แช่เกลือ หรือทำให้สุก (เพื่อเก็บไว้บริโภคข้ามคืนข้ามวัน) มันจึงยังคงความหวาน กรอบ และมีกลิ่นหอมของเนื้อวัวจากธรรมชาติอยู่เกือบ 100%

นั่นคือมาตรฐานของความ “อร่อย” โดยไม่จำเป็นต้องอาศัย “กุ๊ก”

ผมคิดในใจว่า การบริโภคสไตล์ชาวบ้านนี้ก็ดีไปอย่าง เพราะมันไม่จำเป็นต้องอาศัย “กุ๊ก” ที่ชอบวางมาดเท่ห์ๆ และต้องอาศัยสมุนไพรและเครื่องปรุงชื่อแปลกๆ แสดงการคลุกเคล้าให้เห็นบนหน้าจอทีวี มากำหนดว่า “ความอร่อย” ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้

แม้จะเป็น “กุ๊ก” ระดับโลก จากสถาบันอาหารชั้นนำ หรือคอลัมนิสต์ระดับแนวหน้า ก็ไม่จำเป็น

หลังจากนั้น เมื่อเนื้อถึงมือแม่บ้าน เมนูที่นิยมปรุงเป็นมื้อแรกย่อมเป็น “ลาบ” และต้องเป็น “ลาบดิบ” เพราะถือว่าเนื้อดิบในวันแรกย่อมมีคุณภาพกว่าเนื้อปรุงสุก ในเชิงของความอร่อย ความกรอบ และความหวาน และอาจจะมีพล่าเนื้อ ต้มเนื้อ แกงอ่อมเครื่องใน เนื้อย่าง หรือใส้ทอด ประกอบด้วย

ผมได้ร่วมรับประทานกับเจ้าภาพทุกเมนู แต่ขอเป็นปรุงสุกเพราะผมไม่กินอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ โดยผมรู้สึกว่าได้รับรสชาติที่อร่อยและเมื่อเคี้ยวก็ได้กลิ่นหอมของเนื้อวัวแบบเข้มข้นมาก ต่างออกไปจากเนื้อที่เคยกินในกรุงเทพฯ เพราะเข้าใจว่าคุณภาพของเนื้อย่อมลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา โดยเฉพาะเมื่อผ่านความเย็นและกระบวนการถนอมอาหารมาแล้ว รสชาติของเนื้อย่อมเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย

หลังจากคืนแรกไปแล้ว แม่บ้านค่อยปรุงเมนูสุกมากินกัน เพราะถือว่าเป็นเนื้อข้ามคืนแล้ว แม้จะกินดิบๆ ก็ไม่อร่อยเหมือนกับเนื้อวันแรก

นั่นเป็น Taste และ Style การบริโภคโปรตีนจากเนื้อวัวของชาวบ้านในโคราชที่ผมสัมผัสมา และเท่าที่ถามหลายๆ คนจากหลายๆ จังหวัดดู ก็พบว่าการบริโภคลักษณะที่ว่ามานี้ เป็น Style ที่คนอีสานส่วนใหญ่นิยมกัน

ต่างกับสไตล์คนเมืองที่คุ้นเคยกับเมนูแกง ผัด ตุ๋น ทอด และย่างเป็นชิ้นใหญ่ๆ แบบ Steak สำหรับคนที่นิยมบริโภคในแบบสากล

หรือแม้กระทั่งคนในเอเชียที่นิยมบริโภคก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ก็มักบริโภคผ่านเนื้อลวกชิ้นเล็กๆ บางๆ (เช่นก๋วยเตี๋ยวเนื้อสดในเมืองไทย มาเลเชีย สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือจีน และเฝอของชาวเวียดนาม) ลูกชิ้น (ที่ผ่านการต้มมาแล้ว) และเนื้อตุ๋น (ซึ่งอาจจะนิยมแบบติดมันหรือมีเอ็นและปนเครื่องในอยู่ด้วยก็ได้)

แต่ที่จริงจังมาก น่าจะเป็นเมนู Steak และ Hamburger ซึ่งเป็น American Style และกำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนชั้นกลางรุ่นใหม่ในเอเชียที่กำลังรวยขึ้นๆ และไม่ถูกกำหนดโดยความเชื่อของบางศาสนา ที่ห้ามหรือให้หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อวัว (OECD-FAO พยากรณ์ว่าในปี 2020 คนเอเชียจะกินเนื้อเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 56% ในขณะที่อเมริกาเหนือจะเพิ่มเพียง 8% ยุโรป 7% ลาตินอเมริกา 18% อัฟริกา 7%)

ผมสังเกตุว่า เดี๋ยวนี้ร้านอาหารรุ่นใหม่ๆ ในกรุงเทพฯ ที่ออกแนว “เก๋” “เท่ห์” และ “มีรสนิยม” มักบรรจุ Steak เข้าไปในเมนู โดยเฉพาะแถวสุขุมวิทและตามโรงแรมต่างๆ นั้น แทบจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องไปหากินตามร้านสเต๊ก ที่ตกแต่งแบบทะมึนๆ บึกบึนๆ ลูกผู้ชายๆ และมักมีหัววัวและรูปภาพหรือของตกแต่งที่เกี่ยวข้องกับคาวบอยและเปิดเพลง Hank William หรือ John Denver อะไรทำนองนั้น

และผมสังเกตุว่า ผู้หญิงก็เริ่มหันมากิน Steak กันมากขึ้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ ผมลองเข้าไปกินในร้านแถวอโศกใต้ออฟฟิสที่ผมทำงานอยู่ ซึ่งเป็นร้านที่มีชื่อเสียงมาก และผู้หลักผู้ใหญ่ รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีคนหล่อก็ชอบมาทานบ่อยๆ และผมก็ได้ยินสาวๆ โต๊ะข้างๆ สนทนากันเรื่องการชำแหละเนื้อวัวในแบบมาตรฐานว่า Top Round คือส่วนไหน อะไรคือ Chuck, Prime Rib, Short Rib, T-bone, Sirloin, Shank, Plate แถมยังถกเถียงกันไปถึงกระบวนการ Dry-Aging และพันธุ์วัวเนื้อแบบต่างๆ เช่น Angus หรือ Wagyu และว่าพวกไหนถูกเลี้ยงให้กินหญ้า พวกไหนกินข้าวโพด และรดชาติและราคาต่างกันยังไง ฯลฯ

ผมทึ่งมาก!

ผมจึงเริ่มหาเอกสารและสถิติมาอ่านดูอย่างจริงจัง เลยรู้ว่า Steak แบบที่เรากินกันนี้ เพิ่งเริ่มมาเมื่อสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกัน เพราะมันเหมาะจะเป็นเสบียงให้กับทหารหมู่มากที่ต้องอาศัยโปรตีนและกินอยู่ตามเต้นท์และเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ แบบว่า หั่นกันมาเป็นแผ่นๆ เป็นชิ้นๆ แจกจ่ายกันไปเท่าๆ กัน แล้วค่อยไปปิ้งย่างกันเอาเอง เป็น Standardization แบบอเมริกัน โดยมันเริ่มได้รับความนิยมเมื่อมีคนคิดค้นห้องเย็นเคลื่อนที่ที่สามารถบรรทุกเนื้อจาก Chicago Stockyard มาสู่นิวยอร์คและภาคตะวันออก และต่อมาก็ไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกในที่สุด

ข้อมูลล่าสุดจาก OECD-FAO Agricultural Outlook 2013-2022 แสดงให้เห็นว่าการบริโภคเนื้อวัวเพิ่มขึ้นมากในรอบหลายปีนี้ และจะเพิ่มขึ้นไปอีกในอนาคต โดยมียอดการผลิตและการบริโภครองจากหมูและไก่เท่านั้นเอง (รายงานพยากรณ์ว่าตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไปมนุษย์ในโลกจะกินไก่มากกว่าหมู) แต่ยังมีราคาต่อตันแพงที่สุด ซึ่งแสดงว่าคนในโลกยังให้เครดิตว่าวัวเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูงกว่าหมูและไก่ (ผู้สนใจคลิกดูสถิติแบบละเอียดได้ที่ www.oecd.org/site/oecd-faoagriculturaloutlook/highlights-2013-EN.pdf)

นั่นหมายความว่าพลเมืองวัวคงจะเพิ่มอีกแยะ และคงจะแย่งสัตว์อื่นกินหญ้ากินข้าวโพด โดยมนุษย์อาจต้องโค่นป่าถางดินเพื่อปลูกหญ้าและข้าวโพดเพิ่มขึ้น และก๊าซมีเทนจากกระเพาะวัวที่จะต้องปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศคงต้องมากขึ้นไปอีก

ผมจึงรู้สึกเศร้าใจอยู่บ้างที่ทราบว่ามื้อเย็นของผมบางมื้อนับแต่นี้ไป จะต้องทำให้โลกร้อนขึ้นไปอีก


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม 2556

คลิกข้างล่างเพื่ออ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คือเรื่อง "ปลา"

**โปรตีน วันน่าค้นหา



วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ความจริงคือกลยุทธ์



"ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย”

คำพูดวลีนี้เป็นความจริง

แต่บางครั้ง ผู้คนก็อดไม่ได้ที่จะต่อเติมไปอีกสักนิดสักหน่อย เพื่อเตือนผู้พูดว่าให้คิดดีๆ ก่อนจะพูดความจริงออกไป

เราจึงได้คำพูดประโยคใหม่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ผู้พูดมักตาย”

คำพูดประโยคนี้บางทีก็เป็นความจริงเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อความจริงที่ถูกพูดออกไปนั้นมันเป็นการเปิดโปงหรือทำให้คนอื่นเสียประโยชน์ และคนอื่นที่ว่านั้นมักเป็นผู้ทรงอิทธิพลหรือคนชั่วที่ฝังใจเจ็บจนต้องหาทางกลับมาทำลายชีวิตหรือทรัพย์สินของผู้พูดให้เสียหายไปตามกัน

ในวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้น “การพูดความจริง” โดยเฉพาะความจริงแบบตรงไปตรงมา เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก

นักโฆษณา นักประชาสัมพันธ์ และผู้ที่หากินกับ "ภาพลักษณ์" (หมายความว่าตัวตนของเราที่เราสร้างขึ้นในใจของคนอื่น เพื่อให้ผู้อื่นมองเห็นเราเป็นแบบโน้นแบบนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตัวตนจริงของเราก็ได้) มักเคยชินกับการพูดโกหก หรือเลือกพูดเฉพาะส่วนดี (จุดแข็ง) แต่หลีกเลี่ยงหรือปิดบังส่วนเสีย (จุดอ่อน) หรืออย่างมากก็พูดความจริงบางส่วน

ศีลข้อสี่จึงใช้ไม่ได้กับคนในวงการนี้

เพราะพวกเขาต้องพูดหรือแสดงสัญลักษณ์หรือสื่อสารด้วย Half Truth และคำ วลี ประโยค ที่ฟังแล้ว "ดูดี" (แต่ไม่ใช่ความจริง) อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ความสุขที่คุณดื่มได้"เอกลักษณ์ของเอกบุรุษ" เพราะความสวย รอไม่ได้"ความสุขของมวลมนุษย์คือหน้าที่ของเรา" ไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อย"รักคุณเท่าฟ้า" เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ"ต้ม ผัด แกง ทอด หอมอร่อยในพริบตา" ขาว ตึง อ่อนเยาว์" ไม่มีใครรู้จัก Asia Pacific ดีกว่าเรา" ผลิตจากวัตถุดิบหลักจากธรรมชาติ" ความสุข ไม่มีวันละลาย" กินไม่ได้ แต่เท่ห์"เปลี่ยนผิวคุณให้ชุ่มชื่นตลอดทั้งวัน"......ฯลฯ

ฉะนั้น เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติแบบกระทันหัน พวกมืออาชีพเหล่านี้มักตั้งตัวไม่ทันและรับมือไม่ได้ 

โดยที่บางรายถึงกับ "ไปไม่เป็น" เลยก็มี

วิกฤติต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ควรต้องอาศัย "การพูดความจริง" ตั้งแต่แรก กลับถูกปิดบัง บิดเบือน กระมิดกระเมี้ยน และอ้ำๆ อึ้งๆ จนความเสียหายลุกลามใหญ่โต

ความเสียหายอันใหญ่โตของกิจการขนาดยักษ์อย่างโตโยต้ากับกรณี Prius เมื่อสองปีก่อน หรือกรณี Coke ปนเปื้อนในยุโรปเมื่อหลายปีที่แล้ว และความเสียหายของ British Petroleum ต่อกรณีน้ำมันรั่วที่อ่าวเม็กซิโก (Deepwater Horizon Oil spill) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดทักษะของการสื่อสาร โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ที่ดี

Crisis PR Strategy ของกิจการเหล่านั้นล้มเหลว ส่งผลให้ความเสียหายไปไกลเกินกว่าจะควบคุม และมาลงเอยที่ผลประกอบการและราคาหุ้นในที่สุด (กรณีของ Coke นั้น CEO ถึงกับถูกปลด)

กิจการเหล่านั้นต้องอาศัยเวลาอีกนานและเงินทุนอีกไม่น้อยในการฟื้นภาพลักษณ์ขึ้นมาใหม่

เป็นการสูญเสียทรัพยากรและเวลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ

วิกฤติต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในยุคนี้

อย่าลืมว่า "ข่าวอื้อฉาว" เป็นอาหารอันโอชะของอินเทอร์เน็ตและโซเชี่ยลมีเดีย



ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในรอบสองสามเดือนมานี้ในบ้านเรา อย่างกรณีตกสวรรค์ของ "น้องปันปัน" หมอบอลล์" และ "สมีคำ" ล้วนถูกจุดชนวนจากโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น แล้วค่อยนำไปสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ (กรณีสมีคำและน้องปันปัน) หรือการเปิดโปงโดยนักสืบ Pantip (กรณีหมอบอลล์) ในที่สุด

อันที่จริง เนื้อหาของสามกรณีนั้น มีแง่มุมให้ศึกษาไว้เป็นบทเรียนเช่นกัน

บุคคลทั้งสามเป็นคนมีชื่อเสียง ทั้งสามสร้างชื่อเสียงจากความสามารถในการพูดและการแสดง ประกอบกับการสร้างภาพลักษณ์แบบค่อยเป็นค่อยไป จนดูเหมือนจะประสบความสำเร็จด้วยดี

แต่จู่ๆ วันหนึ่งก็เกิดวิกฤติต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของพวกเขาแบบกระทันหัน

สองคนแรก คือสมีคำและน้องปันปัน เกิดจากการกระทำผิดกฎหมาย และคนหลังคือหมอบอลล์ เกิดมาแต่การถูกเปิดโปงว่าวุฒิการศึกษาจำนวนมากที่ตัวเองใส่พ่วงท้ายชื่อเพื่อให้ดูดีและเกิดความศรัทธาเหล่านั้น เป็นเรื่อง Fake

Hoax!

พวกเขาเหล่านั้น (และทีมงาน) ต่าง Response ต่อสถานการณ์ต่างกัน

สมีคำและหมอบอลล์ตอบโต้โดยการ "ทู่ซี้" แต่น้องปันปันตอบโต้ด้วยการยอมรับโดยให้พ่อออกมาพูดความจริงทันทีทันใดหลังจากมีภาพเธอกำลังเสพยาว่อนในอินเทอร์เน็ต แล้วจึงเข้ากระบวนการตามกฎหมายบ้านเมือง คือเข้ามอบตัวกับตำรวจและตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด

การยอมรับความจริงและการตรวจปัสสาวะโดยไม่พบสารเสพติด เท่ากับปันปันต้องการจะสื่อสารกับสังคมวงกว้างว่าเธอเพิ่งเคยเสพเป็นครั้งแรกเท่านั้น โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (ตามคำสารภาพของพ่อ)

หากมองในเชิงการตลาด ถือว่าความเสียหายของปันปันถึงที่สุดแล้ว และการแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ได้ผล

เพราะแทนที่จะปล่อยให้สังคมเข้าใจว่าปันปันเป็นคนตอแหล (หากออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เสพยา แล้วสื่อก็จะเริ่มขุดขุ้ยและอาจจะพบเรื่องที่ไม่พึงปรารถณาเพิ่มขึ้นมาอีก) หรือไม่ก็เป็นขี้ยา (หากไม่ออกมายอมรับและตรวจปัสสาวะโดยปล่อยให้ผู้คนเข้าใจเอาเอง) พ่อของปันปันได้วาง Positioning ให้ปันปันเสียใหม่ ว่ายังเป็นเด็กไร้เดียงสา ที่หลงผิดไปชั่วครู่ (ซึ่งก็ได้ผลเพราะสื่อต่างๆ เลิกขุดขุ้ยและความเห็นในโซเชียลมีเดียก็ออกมาในเชิงเห็นใจ) แล้วก็ปลีกตัวออกจากวงการเพื่อให้เรื่องเงียบไปก่อน

ในอนาคต เราอาจจะได้เห็นปันปันกลับมาในบทบาทใหม่ก็ได้ ใครจะไปรู้*

ในเชิง Crisis PR แล้ว พ่อของปันปันเก่งมาก!

เมื่อเทียบกับสมีคำและหมอบอลล์ซึ่งใช้วิธี "ทู่ซี้" และ "กำกวม" จึงถูกขุดขุ้ยเพิ่มเติมและเสียฐานศรัทธาไปเรื่อยๆ จนถึงจุด Tipping Point ที่ศรัทธากลายเป็นความเกลียด แล้วก็เป็นความรังเกียจในที่สุด

ความเสียหายในกรณีแบบนี้ ถือว่าร้ายแรงกว่าและโอกาสที่จะได้กลับมาก็ยากกว่ากรณีแรก เพราะความจริงยังไม่ได้ถูกพูด หรือถูกพิสูจน์ให้ถึงที่สุด ซึ่งมันจะกลายเป็นอุปสรรคที่คอยเหนี่ยวรั้งต่อกระบวนการฟื้นฟูชื่อเสียงและความเชื่อมั่นให้คืนกลับมาในอนาคต

ในอดีต เรามีวิกฤติการณ์ทำนองนี้มากมายให้ได้ศึกษาเอาเป็นบทเรียน

คนที่เคยผ่านหลักสูตร MBA ย่อมรู้จัก "Tylenol Poisoning and Crisis Management” และ "McDonald's Contamination” ดีอยู่แล้ว

แน่นอน กระบวนการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่จะต้องตามมานั้นย่อมต้องอาศัยเงิน ทรัพยากร และศิลปะชั้นสูงของการสื่อสาร โน้มน้าว จูงใจ เปลี่ยนใจ เปลี่ยนความคิด ทัศนคติ ซึ่งต้องอาศัยทักษะทางด้านโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งในเรื่องข้อมูลข่าวสาร วิธีสื่อสาร และกระบวนการรับ วิเคราะห์ ย่อย เก็บเป็นความทรงจำ และเรียกออกมาใช้ ข่าวสารในหัวของมนุษย์

แต่ "การพูดความจริง" เท่านั้น ที่จะต้องนำมาใช้เป็นกลยุทธ์เบื้องแรกในการรับมือกับวิกฤติ หากต้องการให้เกิดความสำเร็จในบั้นปลาย

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
25 สิงหาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม 2556

*หลังจากข้อเขียนนี้ลงตีพิมพ์ ก็เริ่มมีข่าวในเชิงบวกต่อปันปัน ว่าเธอได้รับกำลังใจจากผู้คนจำนวนมาก จนสภาพจิตใจดีขึ้นแยะ (และแง้มๆ ต่อว่า "พร้อมจะกลับมา")...ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีข่าวเชิงอื้อฉาวออกมาอีก ว่าเธอไปโผล่ที่ผับแห่งหนึ่งท้ายซอยทองหล่อ ในขณะที่อายุยังไม่ถึง (6 กันยายน 2556)

**รูปประกอบจาก www.entertainment.thaiza.com และ www.thairath.co.th

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

โปรตีน วัยน่าค้นหา




สองเดือนมานี้ กระแสปากต่อปากในโซเชียลมีเดียของหนังและละครสองเรื่องมาแรงมากจนไม่ดูไม่ได้

ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น และ Sharknado

หนึ่งฮิตในไทย อีกหนึ่งฮิตที่อเมริกา

ผมดูแล้ว เกิดความ "แหยง" ทั้งสองเรื่อง

แหยง ฮอร์โมน เพราะกลัวลูกๆ จะเอาอย่างตัวละครบางคนเมื่ออยู่ลับหลังเรา และแหยง Sharknado จนอาจต้องเลิกกินปลาไปสักพัก ยิ่งหูฉลาดด้วยแล้ว คิดว่าอาจจะต้องเลิกไปอีกนานแสนนาน

ผมเขียนเรื่องนี้เพราะเพิ่งได้ข้อมูลว่าปริมาณการบริโภคปลาในรอบหลายปีมานี้มากขึ้นหลายเท่าตัว จนตอนนี้สูสีกันกับเนื้อวัวแล้ว

คนในโลกหันมากินปลากันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีน

อันที่จริง ปลาเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญที่มนุษย์พึ่งพิงมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เพราะการจับปลาน่าจะมาพร้อมกับการล่าสัตว์ ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักปลูกพืชด้วยซ้ำ

และในเมื่อพื้นน้ำในโลกนี้มีมากกว่าพื้นดิน ปลาก็ย่อมมีมากกว่าเนื้อหรือไก่หรือเป็ดหรือหมู ซึ่งล้วนเป็นแหล่งโปรตีนแหล่งใหญ่ของมนุษย์เช่นเดียวกันกับปลา

คำพังเพยที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" แสดงให้เห็นว่าจำนวนปลาในเมืองไทยเราแต่ก่อนนั้น มีอยู่มากมาย

ภาษาเศรษฐกิจเรียกว่า Abundant Supply”

แต่การจับปลาน่าจะยากกว่าการล่าสัตว์ เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนบก และเคลื่อนไหวไปมาบนบกได้คล่องแคล่วกว่าในน้ำและบนอากาศ (ซึ่งสมัยก่อนแทบจะทำไม่ได้เลย) เมนูปลาและนก จึงน่าจะน้อยกว่าเมนูหมูไก่เนื้อหรือกวางหรือโปรตีนบนบกที่หาได้สะดวกกว่า

ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในแต่ละย่านด้วยเช่นกัน

แบบว่าใครอยู่ใกล้แหล่งไหน สะดวกยังไง ก็หาโปรตีนเอาจากแหล่งนั้น

หาจากเนื้อไม่ได้ก็หาจากไก่จากหมู หรือถ้าอยู่ใกล้น้ำก็หาจากปลาสะดวกกว่า หรือคนบางพวกที่ไม่ยอมกินเนื้อสัตว์เพราะความเชื่อทางศาสนา ก็เลยต้องหาโปรตีนจากพืชแทน เป็นต้น

นั่นแหละ กระบวนการหาโปรตีนของมนุษย์มาบริโภคเพื่อคงพลังงานให้ชีวิตดำรงอยู่สืบไป



ทุกวันนี้ ด้วยความก้าวหน้าของระบบการค้าระหว่างประเทศ ระบบทุนนิยม และ Globalization เราจึงสามารถเลือกบริโภคโปรตีนชนิดใดก็ได้ จากแหล่งไหนก็ได้ โดยไม่ยากเย็นเกินไปนัก

เดี๋ยวนี้ ถ้าคุณพร้อมที่จะจ่าย ก็สามารถหา "มากุโระ" ชั้นคุณภาพจากตลาดปลา Tsukiji กินได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ยกตัวอย่าง "อะคามิ" และ "ชูโทโร" สดๆ ทำเป็นซูชิคำละสี่ถึงห้าร้อยบาทแถวทองหล่อ หรือไม่ก็เนื้อชั้นดีนำเข้าจากนิวยอร์คเอามาย่างเป็นสเต๊กจานละสามถึงสี่พันบาทแถวอโศกหรือร่วมฤดี หรือแม้กระทั่ง Lobster จากรัฐ Maine ที่ยังเป็นๆ อยู่ ก็หากินได้ไม่ยาก

ตลาดโปรตีนจึงแยกเป็นตลาดล่าง ตลาดกลาง และตลาดบน เหมือนสินค้าและบริการทุกชนิดบนโลกใบนี้ เพราะกิเลสของมนุษย์มันละเอียดซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนเงินในกระเป๋า

ทำให้เราเลือกหาโปรตีนแต่ละชนิดได้อย่างหลากหลายและสนุกสนาน เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับชีวิตและแสดงออกถึงอารยธรรมของมนุษย์

เป็นต้นว่า เป็ดก็มีให้เลือกตั้งแต่ ก๋วยเตี๋ยวเป็ดไปจนถึงเป็ดปักกิ่ง หมูก็มีตั้งแต่หมูปิ้งข้างถนนไปจนถึงหมูหัน เนื้อก็มีตั้งแต่เนื้อย่างน้ำตกหรือยำเศษเนื้อผสมเครื่องในไปจนถึงสเต๊กที่คัดสรรเอาจากส่วนนั้นส่วนนี้ของวัวเนื้อชั้นยอดบรรดามีในโลกนี้ และปลาก็มีให้เลือกตั้งแต่ปลาร้าปลาจ่อมไปจนถึง Seafood Fillet ราคาแพง และ "ฮงมากุโระ" หรือ Bluefin Tuna ที่ต้องจับจากทะเลน้ำลึกและขายโดยการประมูลกันตัวละหลายล้านก็มี แม้แต่ไก่ที่ถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพต่ำ ยังมีให้เลือกเอาตั้งแต่ไก่ย่างข้างทางไปจนถึงไก่ดำขึ้นเหลา

ในบรรดาโปรตีนเหล่านี้ ตลาดปลาแตกต่างกว่าเพื่อน

เพราะหมู ไก่ เนื้อ ล้วนเป็นสัตว์เลี้ยง และผลผลิตรวมของโลกในแต่ละปีก็ได้จากการเลี้ยงทั้งสิ้น

แต่ปลานั้น มาได้ทั้งสองทาง คือเลี้ยงและล่า (การประมง)

สมัยก่อน อุตสาหกรรมเลี้ยงปลายังทำได้ประสิทธิผลต่ำกว่าไก่ หมู หรือเนื้อ เพราะปลาต้องกินปลา ไม่เหมือนกับวัว หมู ไก่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมังสวิรัติ ดังนั้นอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลา จะต้องหาปลามาเป็นอาหารปลาด้วย จึงเป็นเรื่องซับซ้อนและต้นทุนสูง

เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ดีขึ้นแยะ เช่นถ้าจะเลี้ยงปลาซาลมอนให้ได้น้ำหนักสักกิโลกรัมหนึ่ง สมัยก่อนต้องใช้ซาดีนหรือปลาราคาถูกอื่นๆ เป็นอาหารถึง 25 กิโล แต่เดี๋ยวนี้ใช้เพียง 12.5 กิโลเท่านั้นเอง



ปริมาณการผลิตเนื้อปลา (ที่ได้จากการเลี้ยง) จึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เพื่อสนองดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ล่าสุด FAO (Food and Agriculture Organization) หน่วยงานของสหประชาชาติ ประกาศสถิติปริมาณการผลิตเนื้อปลา (ที่ได้จากการเลี้ยง) ปี 2011 สูงถึง 63 ล้านตัน เท่ากับเนื้อวัวแล้ว

แม้กระนั้น ก็ยังเพิ่มไม่ทันความต้องการที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้ราคาปลาเพิ่มขึ้นมาก โดยตั้งแต่ปี 1990 จนถึง 2012 ดัชนีราคาปลาเลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่า 20% แต่ปลาล่า (โดยเฉพาะทูน่า) เพิ่มขึ้นเท่าตัว

ชาวประมงน่าจะแฮปปี้!

เพราะยิ่งคนรวยขึ้น พวกเขายิ่งหันมากินปลามากขึ้น
คนสมัยนี้คิดว่ากินปลาแล้วอายุยืน และร้อยทั้งร้อยเชื่อว่าปลามีพิษและสารตกค้างน้อยกว่าเนื้อ (ทั้งๆ ที่วัวเป็นมังสวิรัติ) ไก่ และหมู

และคนรุ่นใหม่ที่ถือตัวว่า “รักษ์โลก” ก็มักจะหันมาทานปลากัน เพราะถือว่ากระบวนการเลี้ยงปลา หรือแม้กระทั่งจับปลา ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด

คนอย่าง Sergey Brin เจ้าของ Google ถึงกับควักเงิน 250,000 ยูโร สนับสนุนโครงการของนักวิทยาศาสตร์ยุโรปที่ใช้เวลาคิดค้น “เนื้อวัวสังเคราะห์” (Synthetic Beef) ถึง 5 ปี จนสำเร็จและเอามาลองทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์กินกันออกอากาศไปแล้วเมื่อไม่นานนี้ (ท่านผู้อ่านที่สนใจลองคลิกฟังความเห็นว่ามันอร่อยหรือไม่อย่างไร พร้อมกับสังเกตุหน้าคนทดลองกินว่าบางคนยังอิหลักอิเหลื่ออยู่บ้าง เห็นแล้วก็ขำ www.youtube.com/watch?v=o7-ITj4kxeI)

มนุษย์ยังชอบกินเนื้อวัวอยู่ เพราะสถิติการบริโภคเนื้อวัวเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน แต่คนสมัยใหม่ย่อมรู้อยู่เต็มอกว่าวัวมันกินหญ้า และต้องเสียพื้นที่ปลูกหญ้าให้มันกินเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางแห่งต้องถางป่าทิ้ง และในท้องวัวมันยังผลิตก๊าซมีเท็นปล่อยออกมาเป็นระยะๆ อีกด้วย

ความรู้ทำนองนี้ ทำให้การหันมากินปลา "เท่ห์" ขึ้นแยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาราคาแพงแบบทูน่า เพราะมันหายาก เลี้ยงไม่ได้ และมีจำกัด



จึงไม่แปลกที่ความนิยมต่ออาหารญี่ปุ่นและอาหารฝรั่งเศส (ในส่วนที่เป็นเมนูปลา) เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี

Sushi ซึ่งเคยเป็นอาหารตามฟุตบาท ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก แถมยังไต่ระดับขึ้นไปเป็นอาหารชั้นหรูอีกด้วย กลายเป็นอาหาร Luxury ตลาดบนไปเสียแล้ว

อุตสาหกรรมปลาเลี้ยงจึงเข้ามารองรับตลาดระดับกลางและระดับ Mass ที่ต้องการโปรตีนจากปลา

เราจึงเห็นปลาทับทิม ปลาหิมะ ปลาเก๋า ปลากระพง ปลาดุก และปลาเลี้ยงอีกหลายประเภทที่ราคาถูกลงและหาซื้อได้ง่ายขึ้น

ส่วนปลาตลาดล่างอย่างซาดีนหรือปลาราคาถูกทั้งหลายที่ต้องลากอวนขึ้นมานั้น ก็รองรับอุตสาหกรรมปลากระป๋อง หรือปลาป่น หรืออาหารปลา และน้ำมันปลา ตลอดจนอาหารเสริมทั้งหลาย

สรุปว่าปลาล่านั้นครองทั้งตลาดบนและตลาดล่าง โดยปลาเลี้ยงเข้ายึดหัวหาดระดับกลางอย่างมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ

อัตราการเกิดของมนุษย์ดูเหมือนว่าจะไม่ชะลอลงบ้างเลย มนุษย์คนที่ 7,000 ล้าน เพิ่งจะลืมตาดูโลกเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้น วัว หมู ไก่ เป็ด กุ้ง หอย ปู ปลา คงจะถูกฆ่ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมนุษย์จำเป็นต้องใช้โปรตีนในการดำรงชีวิต

ในบรรดาแหล่งโปรตีนเหล่านี้ ปลากำลังน่าสงสารที่สุด เพราะจะถูกฆ่าในอัตราเพิ่มที่มากขึ้นแยะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาตลาดบนที่คนรวยๆ หันมากินกันเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และกระบวนการเกี่ยวกับปลาในตลาดนี้ เริ่มกลายเป็นศิลปะและมีเรื่องราวให้เล่าขานกันไปเพื่อให้สมกับที่เป็น Luxury Goods ตั้งแต่การออกล่าปลาแห่งตำนาน (เช่น Bluefin Tuna) ในเขตน้ำลึกทั่วโลก จนถึงการขายที่ต้องประมูลในตลาดขายส่งที่มีตำนานมาหลายร้อยปี และแล่กันด้วยดาบที่ตกทอดมาในตระกูลเก่าแก่ ในขณะที่การดูปลาและชิมปลาก็ถูกยกระดับให้กลายเป็นศิลปะชั้นสูงไปแล้วด้วย

ยังไม่ต้องพูดถึงการปรุง (ยกตัวอย่าง Sushi หรือ Fillet) ที่เดี๋ยวนี้พ่อครัวเริ่มเรียกตัวเองว่า "ช่างฝีมือ" กันแล้ว



จิโระ โอโนะ นักปั้นซูชิชั้นครูที่ทำซูชิมา 75 ปีและมีคนนำชีวิตเขามาสร้างเป็นหนังดังไปทั่วโลก Jiro Dreams of Sushi โดยใครจะไปกินที่ร้านของเขาต้องจองอย่างต่ำ 1 เดือน และเสียอย่างต่ำ 30,000 เยน....เขากล่าวไว้ในตอนต้นของหนังว่า

อะไรที่เป็นตัวนิยามความอร่อย...
รสชาติเป็นเรื่องยากจะอธิบาย จริงไหมครับ...
ในความฝัน ผมมองเห็นไอเดียต่างๆ...
สมองผมล้นไปด้วยไอเดีย...
บางครั้ง ผมก็ตกใจตื่นกลางดึก...
แม้ในฝัน ผมเองก็ยังฝันเห็นซูชิ"

หลายคนฟังแล้ว คิดว่ามันคุ้มกับการรอคอยและเงินสามหมึ่นเยน

แต่ผมฟังแล้ว มันช่าง Exotic เสียนี่กระไร!


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 สิงหาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับสิงหาคม 2556

คลิกอ่านนิสัยคนญี่ปุ่นในความเห็นผมได้จากลิงก์ข้างล่างนี้

****ความลับของญี่ปุ่น




****มื้อเย็นที่ต้องคิดมาก





วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ถึงเวลาเป็นซูเปอร์แมน



แม้ในชีวิตนี้จะเคยดูหนัง Superman มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทว่า Man of Steel ก็ยังคงมีพลังดึงดูดให้ผมอยากดูมันอยู่อีกไม่น้อยเลย

ว่ากันว่าคราวนี้มันทำเงินค่อนข้างงาม เป็นที่พออกพอใจผู้สร้างและสตูดิโอ ในขณะที่หนังฮอลิวู๊ดฟอร์มยักษ์อื่นที่ออกมาใกล้เคียงกันหลายเรื่องที่คิดว่าจะสำเร็จ กลับเหลวไม่เป็นท่า 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Timing ของมัน

พล็อตเรื่องแบบนี้ มาในเวลาแบบนี้ มันค่อนข้างเหมาะเจาะ

เวลาที่คนสิ้นหวังและเบื่อหน่ายกับภาวะรอบตัว แถมยังหมดศรัทธาในรัฐบาลและนักการเมือง คนมักโหยหาแฟนตาซี เพราะมันเป็นทางออกเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้กระชุ่มกระชวยขึ้นบ้าง หลายคนอาจแอบหวังว่ามันน่าจะมีอัศวินม้าขาวแบบนั้นมาให้พึ่งพิงได้บ้างสินะ และหลายคนก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ดูมันเพียงเพื่อความสะใจ หวังจะเรียกขวัญกำลังใจและกระตุกพลังชีวิตให้ฟื้นคืนมา พร้อมที่จะกลับไปรับสภาพความเป็นจริงอันเหลือทน หลังแฟนตาซีจบสิ้นลง

เพื่อนฝรั่งที่เป็นปัญญาชนของผมคนหนึ่งมักพูดเสมอว่า การดูหนังประเภท Superhero เปรียบได้กับการสูบกัญชา (เขาใช้คำว่า Dope) หรือกินเหล้า (เขาใช้คำว่า Booze) เพราะมันเสมือนเป็นเวทีออกจากปัญหาแบบเฉพาะตัวของใครของมัน (เขาใช้คำว่า Personal Outlet) อย่างน้อยชั่วคราวก็ยังดี

คำพูดแนวนี้ อุปมาว่าหนังเป็น "สารกระตุ้น" (Stimulant) ประเภทหนึ่ง ที่ช่วยหล่อเลี้ยงแฟนตาซีของมนุษย์ ช่วยพยุงให้มันงอกงามอยู่ ณ มุมใดมุมหนึ่งของความคิดคำนึง

ยิ่งหนังที่สร้างได้งดงาม สามารถล้วงลึกถึงความคิดจิตใจและกิเลสมนุษย์ แล้วนำเสนออย่างแนบเนียน ย่อมเปรียบได้กับงานศิลปะชั้นดีที่ช่วยจรรโลงใจคนได้

Man of Steel แม้มิใช่ชิ้นงานศิลปะที่ละเมียดขนาดนั้น แต่มันสามารถเป็น Outlet ของคนส่วนใหญ่ในสภาวะปัจจุบันได้ดีและเหมาะเจาะ

อย่าลืมว่าฝรั่งส่วนมากในขณะนี้มีความทุกข์และความกังวลกดทับพวกเขาอยู่ค่อนข้างหนักหนา

ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องใหญ่

นับแต่ฟองสบู่ซับไพรม์แตกเมื่อปี 2551 เป็นต้นมา ฝรั่งชาติสำคัญที่เคยรวย ล้วนสูญเสียทรัพย์สินกันไปมาก คนจำนวนมากนอกจากจะสูญเสียบ้านช่อง และเงินเก็บแล้ว ยังตกงานอีกด้วย

ปัญหามันลามมาจากอเมริกาสู่ยุโรป และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับความสิ้นหวัง ต้องทนฟัง ดู และอ่านข่าวร้ายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ถ้าไม่เครียด ไม่เบื่อ ก็แปลกแล้วหล่ะ

หนำซ้ำ นักการเมืองของพวกเขาต่างพากันตีฝีปาก หรือไม่ก็ทะเลาะกัน แถมยังทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน เช่นยังคบเศรษฐีและรับเงินจากเศรษฐีหรือกิจการใหญ่ๆ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวก ฯลฯ โดยไม่ได้มีความคิดใหม่ หรือแนวทางแก้ปัญหาใหม่ ที่มันสร้างสรรค์ จนประชาชนรู้สึกว่า "เออ...แบบนี้พึ่งได้!"

ในบางประเทศการสูญเสียศรัทธาต่อนักการเมือง ย่อมหมายถึงการสูญเสียศรัทธาต่อสถาบันทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาฯ ศาล หรือแม้กระทั่งระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจ

อย่าว่าแต่ฝรั่งเลย บ้านเราเองก็เป็น


เดี๋ยวนี้ สภาฯ และตำรวจ และศาล และระบบราชการ ลดความศักดิ์สิทธิ์ไปแยะ

ยังไม่นับนักการเมือง ที่ผู้คนพากันดูถูกดูแคลนและรังเกียจในดีกรีที่แทบจะเป็น "สิ่งปฏิกูล" ไปแล้ว

แม้แต่สถาบันหลักของประเทศ ทั้งพระและเจ้า ก็ใช่ว่าจะได้รับความศรัทธาในดีกรีเดิม

ปัญหาการก่อการร้ายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกเครียด

ผู้ก่อการร้ายในปัจจุบันเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างน่าใจหาย และวิธีที่พวกเขาใช้ก็โหดเหี้ยมขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังเก่งขึ้น สามารถทะลุทะลวงกระทั่งปราการอันเข้มแข็ง เข้าไปเหยียบจมูกเสือได้ด้วย ดังกรณี Boston Marathon เป็นพยานอยู่

หากลองถามราษฎรในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ตอนนี้ดู ก็จะเห็นร่องรอยของความกลัวอยู่ในคำตอบและกิริยาอาการของพวกเขาไม่มากก็น้อย

พวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว คนจำนวนมากกลายเป็นคนเงียบขรึม หวาดระแวง และอยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่อยากข้องแวะหรือสนใจคนอื่นอีกต่อไป

นั่นเป็นผลเชิงลบของ "ความกลัว"

ฝรั่งเองก็รู้สึกกันแบบนี้ และเพื่อจะลดความกลัวในใจคนลง รัฐบาลก็ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการนี้โดยตรง

งบประมาณต่อต้านการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (ทหารและอัยการบ้านเราก็กำลังกดดันให้รัฐบาลสั่งซื้อ "หุ่นยนต์ล่องหน" หรือ Drone มาใช้กับงานปราบผู้ก่อการร้าย) หน่วยงานขนาดใหญ่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือโดยตรง (เช่น Homeland Security เป็นต้น) กฎเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ หยุมหยิมขึ้น ทำให้ชีวิตยุ่งยาก (เช่นการตรวจเช็คอย่างละเอียดก่อนขึ้นเครื่องบิน หรือขั้นตอนศุลกากรที่ซับซ้อน จนถึงขั้นที่สินค้าบางอย่างส่งผ่านไปไม่ได้ หรือถ้าได้ก็ต้องเสียต้นทุนเพิ่ม) และที่บ้ามากคือการก่อสงครามกับอัฟริกานิสถานและอิรักด้วยสาเหตุนี้เช่นกัน

และล่าสุด มีการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่ล้วงลึกครอบคลุมข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคนและข้อมูลทางการของทุกส่วนราชการ ถึงขั้นอีเมล์ทุกชิ้น และภาพ และคลิป และข้อมูลความลับส่วนบุคคลต่างๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ตลอดจนการดักฟังโทรศัพท์อย่างกว้างขวาง (ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ นาย Edward Snowden ที่ออกมาเปิดโปงเรื่องนี้กำลังหนีรัฐบาลสหรัฐฯ แบบหัวซุกหัวซุนอยู่ที่รัสเซีย)

สิ่งเหล่านี้เป็นดาบสองคม

เพราะแม้มันจะช่วยลดความกลัวในใจคนลง แต่มันกลับเพิ่มความกังวล และขยายขอบข่ายของปัญหา ยิ่งขยายความขัดแย้ง และยิ่งเสียทรัพย์ และยิ่งขัดแย้งกันเองหนักขึ้น ยิ่งทะเลาะกันมากขึ้น และยิ่งปวดหัว น่าเบื่อ สิ้นหวัง (เพราะปัญหาไม่จบเสียที) ฯลฯ

นี่ยังไม่นับความกังวลอื่นอีกที่สำคัญต่อชะตากรรมของมนุษย์ เช่นปัญหาโลกร้อน เป็นต้น

Man of Steel จึงทำหน้าที่เหมือนยาคลายเครียด

คือเปิดตัวออกมาตอนที่โลกกำลังตกอยู่ในอันตราย มนุษย์ต่างดาวคิดจะยึดโลกเป็นบ้านหลังใหม่ของพวกมัน หลังจากที่บ้านหลังเก่าของพวกมันถูกภาวะโลกร้อนทำลาย ภาวะที่เกิดจากน้ำมือของพวกมันเอง (แบบว่าพวกมันสูบพลังงานบนดาวดวงนั้นจนหมดเกลี้ยง ดาวมันเลยเกิดวิกฤติทางนิเวศวิทยา...คล้ายๆ จะเตือนมนุษย์อยู่ในที) โดยพวกมันต้องฆ่ามนุษย์ทิ้งให้หมด และตอนนี้สถาบันต่างๆ ของมนุษย์ล้วนไม่สามารถต่อกรกับมันได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ศาล ตำรวจ สื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งทหารและนาซ่า ที่ถูกกล่าวถึงในหนัง

แม้ Superman จะเป็นมนุษย์ต่างดาวเช่นกัน แต่ก็ได้มาอาศัยอยู่บนโลกตั้งแต่ยังแบเบาะ จึงมีความรู้สึกรักมนุษย์และรักโลก

แม้ทหารจะไม่เชื่อใจเขาและโจมตีเขาในตอนแรก แต่เมื่อเขาแสดงให้เห็นว่าอยู่ฝ่ายมนุษย์ ผู้บัญชาการทหารก็บอกออกมาเองว่า "เขาผู้นั้นมิใช่ศัตรูของเรา"

หนังเรื่องนี้ ไม่กล่าวถึงรัฐบาลและนักการเมืองเลย เสมือนลบออกไปจากสมการ ราวกับว่าคนเหล่านั้นไม่มีความสลักสำคัญอะไรเลย และคงทำอะไรไม่ได้ในเวลาวิกฤติ หรือถึงมีอยู่ ก็ใช่ว่าราษฎรจะพึ่งอะไรได้

ทหารเท่านั้นที่หนังเรื่องนี้กล่าวถึง และหนังยังแสดงให้เห็นแง่มุมความกล้าหาญของทหารเหล่านั้นด้วย คือถึงแม้รู้ว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็ยังสู้และสู้ด้วยท่าทางฮึกเหิมไม่หวั่นเกรง

แม้เครื่องบินตก ก็ยังสู้ด้วยปืนยาว และแล้วปืนยาวกระเด็นจากมือ ก็ขอสู้ด้วยปืนสั้น จนสุดท้ายสูญเสียปืนสั้นไปอีก ก็ยังชักมีดแล้วเดินเข้าหาศัตรูแบบไม่กลัวเกรง

เหมือนกับหนังจะจงใจแสดงให้เห็นว่า เมื่อบ้านเมืองวิกฤติ เราต้องพึ่งทหาร (และทหารยังทำตัวให้พึ่งได้)

Superman ในเรื่องนี้ ไม่ได้ "เจ๋ง" ไปหมด เพราะยังเป็นเด็กบ้านนอกและรู้สึกด้อยในเชิงจิตวิทยาและยังแสวงหาความยอมรับจากมนุษย์ แถมยังทำผิดพลาดเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะในฉากที่ต้องต่อสู้กับผู้ร้าย ก็ได้ทำลายทรัพย์สิน ตึกรามบ้านช่อง เสียหายนับไม่ถ้วน ผู้คนจำนวนมากพลอยถูกลูกหลงล้มตายเป็นจำนวนมาก

ดูไปก็คล้ายกับเทพฮินดูบางองค์ ที่ถึงแม้จะตั้งใจช่วยมนุษย์ แต่ก็ได้ทำลายทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์ไปในกระบวนการนั้นด้วย

แบบนี้แหละที่หนังหรือนิยายทำนองนั้นมันถึงจับใจคน เพราะ "เทพ" หรือ "Superhero” มันยังคงมีมิติของความเป็นมนุษย์และมีจุดอ่อนข้อบกพร่อง จับต้องได้ และนิสัยคล้ายๆ กับพวกเรา ยังมีรัก เกลียด โกรธ โง่ เอาแต่ใจ และบางทีก็ชอบกินเหล้า

ไม่ว่าจะเป็น "พระราม" หรือเป็น "Superman”

แต่ดูหนังดูละครแล้วควรย้อนดูตัวเอง

แล้วมันจะทำให้ท่านอดไม่ได้ที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ท่ามกลางวิกฤติของสังคมไทยในขณะนี้ เราศรัทธาใครได้บ้าง?”

ถ้าถามผม ผมจะตอบว่า

"เราต้องพึ่งตัวเอง เพราะนอกจอมันไม่มีซูเปอร์แมน!”

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
15 สิงหาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม 2556

คลิกอ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้จากลิงก์ข้างล่าง

***DOWNTON ABBEY