ในชีวิตผม เคยพบพานบุคคลสองคน ที่ช่วยให้ตัวเองเกิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-เขมร และตอนหลังก็เปลี่ยนความคิดไปเลยอย่างสิ้นเชิง
คือสักยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ขณะผมไปบ้านเพื่อนแถวถนนมหาจักรข้างโรงพยาบาลกลาง เขาได้แนะนำให้ผมรู้จักกับพ่อค้าของเก่าที่ชอบมาปูผ้าขายนาฬิกาวินเทจ แซมด้วยแว่นกันแดด ปากกาแบรนด์หรู และไฟแช็กมือสอง บนทางเท้าแถวนั้นทุกเสาร์ เป็นอันรู้กันในหมู่ Bargain Hunter และนักสะสมของเก่า
ผมจำชื่อพี่เขาไม่ได้เสียแล้ว แต่เมื่อมีอันต้องพาดพิงถึง ผมมักเรียกพี่แกว่า “พี่ฮุน” จนเพื่อนผมคนนั้นก็พลอยเรียกตามไปด้วย เพราะหน้าตาผิวพรรณ โครงหน้า รูปปาก หน้าผากและคิ้ว ตลอดจนทรงผมของเธอ เหมือน “สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน” ยังกะแกะ เหมือนโคตรเหมือน แบบว่ามาเดินผ่านแถวมัฆวานช่วงนี้อาจถูกโห่หรือถูกจับขึ้นเวทีได้
หลังจากนั้นหลายปี ขณะผมกำลังเพลิดเพลินอยู่กับกลุ่มเพื่อนในสถานที่อโคจรแห่งหนึ่งแถวต้นซอยเอกมัย ตามประสา Gabfest ของบรรดา Investment Banker รุ่นหนุ่ม ทุกเย็นวันศุกร์ (ซึ่งผมมาทราบภายหลังว่าสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชตัวจริงก็เคยมาหาความสำราญที่นั่น เมื่อครั้งนายทหารใหญ่และตัวแทนของรัฐบาลไทยกำลังล็อบบี้เขมรสามฝ่ายให้หันมาจับมือกันในยุครัฐบาลชาติชาย) ผมก็ต้องตะลึงเมื่อเดินสวนกับคุณลุงคนหนึ่งตอนเข้าห้องน้ำ จนผมต้องหันหลังกลับแล้วเดินตามไปแอบดูให้แน่ใจว่าเธอใช่ “พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ” ตัวจริงหรืออย่างไร
ท่านผู้อ่านคงนึกออก หน้าตากระเดียดจีนนิดๆ ผมสั้น คล้ายๆ พลโทจำลอง แต่ยาวกว่าหน่อยและหวีเรียบกว่า เส้นผมเหนือหน้าผากเป็นสีดอกเลาแซมขาว เส้นหนา เสยขึ้น สวมสูทน้ำเงิน เชิ้ตข้างในขาว ภายใต้เสื้อทับสีเดียวกับสูท เน็กไทลาย รองเท้าหนังดำ กลมกลืนอย่างเหมาะเจาะ ท้วมนิดๆ เตี้ย ดูไปคล้ายอาแป๊ะที่มีความรู้ แม้จะแก่แต่ก็ดูมีรสนิยม
แต่เมื่อท่านเอื้อนเอ่ยภาษาไทยออกมา ผมจึงมั่นใจว่าไม่ใช่
ผมมาคิดได้ทีหลัง ว่าในเมืองไทยเรานี้ คงจะมีคนรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงหรือกระเดียดไปทางรัฐบุรุษขแมร์คู่นี้เป็นจำนวนไม่น้อยเลย และในทางกลับกัน ในประเทศเขมรเอง ก็คงมีคนหน้าตาเหมือนผู้ยิ่งใหญ่ของเราหลายคน โดยเฉพาะคนที่ิผิวคล้ำอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือเจ้านายชั้นสูงของเราในอดีตหลายพระองค์ และหากพวกหน้าเหมือนเหล่านั้น ไม่เอ่ยปากออกมา พวกเรากันเองคงแทบจะแยกไม่ออกเอาเลย ว่าใครเป็นเขมร ใครเป็นไทย อย่างกลุ่มเด็กเสริฟขแมร์แถวทองหล่อ ร้านที่ผมไปนั่งกินก๊วยเตี๋ยวบ่อยๆ ผมก็ไม่สามารถแยกแยะออกว่าพวกเธอมาจากเขมร เพราะพูดภาษาไทยได้ดี หากมีคนมาบอกภายหลังถึงได้รู้
ต่างกับฝรั่งหรือนิโกรหรือแขกหรือละตินหรือญี่ปุ่นหรือเอสกิโมหรือชาวเกาะทะเลใต้ ที่เพียงมองปุ๊บ ก็รู้ทันทีว่าไม่ได้เป็นพวกเดียวกันกับเรา เพราะมันแตกต่างชัดเจน
พูดแบบนี้ เพื่อนผมที่มัฆวานหลายคนคงไม่พอใจ หาว่าบังอาจให้แขมร์มานับญาติกับเรา แต่ที่ผมพูดมานี้ มันเป็นเรื่องจริงที่ผมเห็นมากับตาตัวเอง สัมผัสมากับใจตัวเอง และรู้สึกอย่างนั้น
นั่นเป็นเหตุผลข้อแรกที่ผมไม่คิดว่าเราควรรบแตกหักกับเขมร หรือกำจัดเขมรให้ตายไปข้างหนึ่ง เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้ และจะเป็น Zero-Sum Game ราวกับเราลงมือทำร้ายตัวเอง
ทว่า ในทางกลับกัน หากเราผนึกกันได้ อภัยให้กันได้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้ มันก็จะเกิดพลัง เกิด Synergy เกิดแรงดีด แรงเหวี่ยง และแรงงัด สามารถ Leverage ผลลัพธ์ให้ได้มากกว่าหนึ่งเท่าตัว หรือ 1+1 อาจจะมากกว่า 2 และในทางการต่างประเทศสมัยใหม่นั้น หนทางสันติย่อมง่ายกว่าสงคราม
ส่วนเหตุผลข้อที่สองนั้นเกี่ยวข้องด้วยญวน
แต่ไหนแต่ไรมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขมร มักเป็นแบบ “สามเส้า” โดยมักต้องมีเวียดนามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เพราะเขมรเป็นเมืองเล็กและเป็นกันชนระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งมีกำลังพล ทรัพยากร และแสนยานุภาพทางทหารสูสีกัน ทำให้เขมรต้องเอาใจทั้งสองฝ่าย ที่มักเรียกกันว่า “ส่งส่วยสองฝ่ายฟ้า” นั่นแหละ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยที่ไทยกับฝรั่งเศสพิพาทกันเรื่องเขตแดน และทันรับแผนที่เจ้าปัญหา ฉบับ 1:200000 มาไว้ในความครอบครองของรัฐบาลไทย ทรงเคยนิพนธ์เรื่องความสัมพันธ์ไทย-เขมรไว้ว่า
“เมืองเขมรเป็นประเทศน้อยอยู่ระวางไทยกับญวน ซึ่งมีกำลังมากกว่า ต้องยอมเป็นเมืองออกส่งบรรณาการทั้งสองฝ่ายมาช้านาน แต่เขมรนับถือไทยและสนิทกับไทยยิ่งกว่าญวนเพราะถือลัทธิศาสนาและขนบธรรมเนียมอย่างเดียวกัน แต่ว่าพวกเขมรมักประทุษร้ายและรบพุ่งกันเองด้วยเรื่องชิงอำนาจกันเนืองๆ พวกแพ้มักไปขอกำลังประเทศใหญ่ที่อยู่ใกล้ฝ่ายหนึ่งมาช่วย พวกที่ชนะก็ต้องขอกำลังประเทศใหญ่อีกฝ่ายหนึ่งมาป้องกัน เมืองเขมรจึงคล้ายกับสมรภูมิระวางไทยกับญวนมาแต่สมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี”
Analysis นี้ยังเป็นจริงอยู่ในปัจจุบัน ลองย้อนดูก็ได้ ตั้งแต่ยุค “นักองค์ด้วง” ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนให้กลับไปยึดอำนาจจนสำเร็จ โดยให้กองทัพไทยภายใต้บัญชาการของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ออกไปช่วย และทรงเป็นบรรพบุรุษของ “นักองค์พระสีหนุ” และ “นักองค์พระสีหมุณี” กษัตริย์เขมรองค์ปัจจุบัน หรือย้อนดูแค่สมัยเขมรแดงและเขมรเสรี ที่หนีมาพึ่งไทย ในขณะที่เฮงสำริน เจียซิม และฮุนเซน หนีไปขอกำลังเวียดนามเข้ามาปราบ และภรรยาฮุนเซนคนปัจจุบันก็มีความนิยมเวียดนาม โดยนักข่าวต่างประเทศประจำกัมพูชาคนหนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังว่า ฮุนเซน เป็นคนประเภทหลงเมียตัวเองหรืออยู่ใต้อำนาจของเมียซะด้วย (เขาใช้ภาษาอังกฤษว่า “He is uxorious.”)
ผมคิดว่า ถ้าเราส่งกำลังเข้ายึดเขมร ก็หมายความว่าเราต้องพร้อมที่จะรบกับเวียดนามด้วย (ผมไม่คิดว่าการรบเล็กๆ น้อยๆ แบบจำกัดขอบเขตจะทำให้ความขัดแย้งจบ คือถ้าจะรบก็ต้องเปลี่ยน Regime เลย เหมือนกับที่สหรัฐฯ ทำกับอิรัก เพราะตอนแรกเพียงยึดคูเวตคืน ก็ไม่ทำให้เรื่องจบ ต้องมีรอบสองอยู่ดี)
สมัยฮิตเลอร์ส่งกำลังเข้ายึดโปแลนด์ เขาย่อมพร้อมที่จะทำศึกกับรัสเซีย และการเข้ายึดเนเธอร์แลนด์กับเบลเยี่ยมก็หมายถึงการต้องต่อกรกับฝรั่งเศสและอังกฤษ เพราะสามประเทศนั้นเป็นเสมือนรัฐกันชนระหว่างมหาอำนาจด้านตะวันออกและตะวันตกตามลำดับ เสมือนหนึ่งเขมรเป็นกันชนด้านตะวันออกระหว่างเรากับญวน และรัฐมอญและกระเหรี่ยงเป็นกันชนด้านตะวันตกให้เรากับพม่า
John Foster Dulles อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้มีประสบการณ์เรื่องการต่างประเทศสูงมากคนหนึ่ง เพราะปู่ของเขา John Foster ก็เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และลุงของเขา Robert Lansing ก็ใช่ และตัวเขาเองก็เคยร่วมอยู่กับคณะของประธานาธิบดีวิลสันตอนร่างสนธิสัญญาแวร์ซายด้วย (น้องชายเขาคนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการ CIA ยุคบุกเบิก และทรงอิทธิพลมาก)
เขาเคยกล่าวไว้ว่า “In diplomacy, to go to the brink without going over it is the necessary art.”
ผมว่าคำกล่าวนี้เหมาะเหม็งกับแนวการฑูตของเราต่อเขมรในกรณีเขาพระวิหาร แต่ดูเหมือนว่าฮุนเซนกลับเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีกว่า และประยุกต์ใช้ ตลอดจนแสดงให้โลกเห็น ได้ดีกว่า แนบเนียนกว่า และเหนือกว่าอภิสิทธิ์กับกษิตรวมกัน ทั้งๆ ที่สมัยก่อน สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ ถนัด คอมันตร์ เคยทำได้ดีกว่านี้แยะ
เหตุครั้งนี้ ย่อมเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศในอนาคต ว่าเขาผู้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้เรื่องการป้องกันประเทศสมัยใหม่อย่างลึกซึ้ง รวมถึงเทคโนโลยีอาวุธและการสื่อสาร ภูมิศาสตร์การทหาร การข่าว การจารกรรมข้อมูล Spy และต้องรู้จัก Key Players ในแวดวงการฑูตและการต่างประเทศของโลกอย่างกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ควรปล่อยเรื่องเหล่านี้ให้อยู่ในมือข้าราชการประจำแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือข้าราชการกระทรวงต่างประเทศก็ตาม ลำพังความเชี่ยวชาญเพียงเรื่องเศรษฐกิจและกฎหมายคงไม่พอเสียแล้ว
สุดท้ายนี้ ผมอยากเห็นไทยในฐานะพี่ใหญ่ใช้ “พระคุณ” มากกว่า “พระเดช” คือต้องใช้ Soft Power โดยต้องผ่านความร่วมมือของภาคเอกชน ความร่วมมือเชิงศิลปะวัฒนธรรม ศาสนา ปรัชญา อักษรศาสตร์ การศึกษา และประวัติศาสตร์ มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิจัย ศิลปิน สื่อมวลชน ช่างฝีมือ แพทย์ และผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ให้ทุนแก่กุลบุตรธิดาของเขมรเข้ามาเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของเรา โดยเฉพาะพวกหัวกะทิที่มีแววจะขึ้นเป็นผู้นำในอนาคต ให้ทุนสนับสนุนการดูงานระหว่างกัน อภิปรายร่วมกัน สัมมนาร่วมกัน ประชุมร่วมกัน เที่ยวร่วมกัน เล่นร่วมกัน สันทนาการร่วมกัน บันเทิงเริงรมย์ร่วมกัน สนับสนุนการพิมพ์หนังสือ รายการทีวี วิทยุ และสื่อใหม่ ที่มีเนื้อหาของกันและกัน ในภาษาท้องถิ่นของตนๆ เพื่อเสริมความเข้าใจกัน ความคุ้นเคยกัน และรู้จักกันในหมู่คนรุ่นใหม่ อีกทั้งสนับสนุนการเดินทางไปมาระหว่างกัน หาทางขจัดขวากหนามที่เคยขวางกั้นให้น้อยที่สุด ให้สิทธิกับแรงงานเขมรในเมืองไทย และสนับสนุนการร่วมทุนระหว่างธุรกิจของสองสัญชาติ ฯลฯ
เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่เมื่อบ้านเมืองใดลืมตาอ้าปากได้ เศรษฐกิจและผู้นำเข้มแข็ง ผู้คนก็จะมีความมั่นใจในตัวเอง และเริ่ม Aggressive (ดูอย่างเยอรมนีสมัยไรซ์ที่สองและสาม ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งแรก สหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งหลัง หรือจีนสมัยนี้) ซึ่งผมว่าเขมรในอนาคต ก็จะก้าวร้าวยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ผมเสียดายที่เราละเลยนโยบาย Soft Power มาแต่ต้น
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
คืนวันวาเลนไทน์
14 กุมภาพันธ์ 2554
***โปรดคลิกอ่านความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-พม่า-จีน-ฝรั่ง และแนวกลยุทธ์ของจีนต่ออุษาคเนย์ได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ
***จีน-ฝรั่ง ใน ไทย-พม่า
***โปรดคลิกอ่านความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-พม่า-จีน-ฝรั่ง และแนวกลยุทธ์ของจีนต่ออุษาคเนย์ได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ
***จีน-ฝรั่ง ใน ไทย-พม่า