วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สื่อมวลชนกับ "ประวัติศาสตร์"


เหตุการณ์ “กรณีเขาพระวิหาร” ได้ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ “ประวัติศาสตร์” กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักข่าวหรือสื่อมวลชนรุ่นใหม่ที่เกิดและโตไม่ทันยุคกึ่งพุทธกาลอย่างพวกผม ย่อมต้องทุ่มเทความพยายามกับประวัติศาสตร์ มากกว่าคนในอาชีพอื่น (อาจจะยกเว้นบรรดานักการทูต และนักประวัติศาสตร์อาชีพ เท่านั้น)


ผมสังเกตว่าในรอบยี่สิบปีมานี้ ความสนใจต่อ “ประวัติศาสตร์” ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนชั้นกลางไทยนั้น มีมากขึ้นโดยลำดับ สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์อย่าง “ศิลปวัฒนธรรม” หรือ “เมืองโบราณ” ก็เติบโตอย่างเห็นได้ชัด หนังสือเก่าประเภทพงศาวดารจำนวนมากถูกนำมาพิมพ์ใหม่และก็ขายได้พอสมควร อีกทั้งตัวหนังสือเก่าแท้ ที่เป็นต้นฉบับ Original ก็ขายได้จำนวนมาก ในงานสัปดาห์หนังสือฯ แต่ละครั้ง นักประวัติศาสตร์อาชีพบางท่านกลายเป็นคอลัมนิสต์ยอดนิยมและผู้นำทางความคิดสำคัญของสังคมไทย


การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้การบริโภคประวัติศาสตร์เติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว นักประวัติศาสตร์อาชีพบางท่านอีกเหมือนกัน ที่ได้กลายมาเป็นผู้แต่งหนังสือ Guide Book ชั้นดี

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจประวัติศาสตร์ แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางนั้น แต่ก็พยายามให้การศึกษากับตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อใดก็ตาม ที่ผมไม่สามารถทำความเข้าใจกับสถานการณ์บางอย่างใน “ปัจจุบัน” ได้กระจ่างชัด เป็นผลให้ญาณทัศนะหรือวิสัยทัศน์ต่อ “อนาคต” คลุมเครือไปด้วย ผมมักแก้ปัญหาด้วยการกลับไป Re-read ประวัติศาสตร์เสมอๆ และประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง นอกไปจากความเพลิดเพลินเจริญใจที่ประวัติศาสตร์มักมอบให้อยู่บ่อยๆ


“ประวัติศาสตร์” ในความเห็นของผม เป็นบทบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับมนุษย์และประสบการณ์ของมนุษย์ทั้งมวล ทั้งการเกิด การดับ การเจ็บไข้ได้ป่วย การแก่ ความตาย ความรัก ความเกลียด ความกลัว ความกล้า ความหน้าด้าน ความริษยา ความตะลบตะแลง ความประมาท ความใจแคบ ใจดำ ความยโสโอหัง ความอยาก ความละโมบ ความลุ่มหลง ต่อ ลาบ ยศ สรรเสริญ ชื่อเสียง และต่อความรัก ของมนุษย์ ตลอดจนความเหี้ยมโหด อำมหิต ชิงชัง ที่มนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์ ต่างชาติเชื้อ (บางทีก็เผ่าพันธุ์เดียวกันหรือเชื้อชาติเดียวกัน) ปฏิบัติต่อกัน หรือแก่งแย่งแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่เคยลดละ แม้เวลาจะผ่านเลยมาไกล หรือแม้กระทั่ง การฉกฉวย กดขี่ ข่มเหง รังแก เบียดเบียน ขูดรีด ด้วยกำลัง หรือด้วยอุบายอันซับซ้อน ด้วยการหลอกลวง หักหลัง และด้วยการแอบอ้างคุณธรรม ที่คนบางชนชั้น บังคับ เบียดบัง หรือขโมย เอาไปจากผู้คนส่วนใหญ่


“ประวัติศาสตร์” ยังเผยให้เห็นถึง ความหวัง ความใฝ่ฝัน อุดมการณ์อันสูงส่ง ความดีงาม ความเสียสละ โอบอ้อมอารี เอื้ออาทร อ่อนโยนต่อความงาม ความจริงใจ อ่อนน้อมถ่อมตน ข่มใจ ตลอดจนความเที่ยงตรง ความยุติธรรม การสร้างสรรค์ การพิชิตอุปสรรค์ การมุ่งมั่นเอาชนะต่อข้อจำกัดทั้งปวง อดทน ทุ่มเท ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้โดยง่าย ของมนุษย์


บ้านเมืองใดที่ผู้คนปราศจากความสำนักต่อประวัติศาสตร์ หรือมีความทรงจำแต่เพียงสั้นๆ ไม่เห็นความสำคัญของความทรงจำแต่หนหลัง หรือละเลยไม่เก็บเอามาเป็นบทเรียนสอนใจ มักถูกประวัติศาสตร์ “กระทืบซ้ำเติม” เอาสักวันหนึ่ง


ผมไม่แปลกใจเลย ว่าบรรดา Royalist ที่อ่านและเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองและราชวงศ์ไทยเป็นอย่างดี จะเกรงกลัวคนอย่างทักษิณ ชินวัตร จนเป็นที่มาของยุทธการกำจัดให้พ้นทาง อย่างเป็นกระบวนการ และอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในขณะที่ตัวทักษิณเอง อาจเพราะขาดความเข้าใจในประวัติศาสตร์ หรือดูแคลนความเข้าใจแบบนั้น (ยังคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้อำนาจและเงินตรา) กลับตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แม้ในขณะที่ตัวเองเป็นผู้ถืออำนาจรัฐอยู่ก็ตามที


ผมอยากเห็น สื่อมวลชนรุ่นใหม่ สนใจประวัติศาสตร์กันมากขึ้น ให้การศึกษาประวัติศาสตร์กับตัวเองกันมากขึ้น แสวงหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กันมากขึ้น นำประวัติศาสตร์มาช่วยในการตั้งคำถามต่อปัจจุบันและอนาคตกันมากขึ้น ผมเชื่อว่ามันจะช่วยให้พวกเราสามารถเสนอมุมมองใหม่ในเชิงข่าวสารและเนื้อหาสาระต่อสังคมได้อย่างสร้างสรรค์และแปลกออกไป หลุดไปจากการสาละวนอยู่กับประเด็นน้ำเน่า ที่ซ้ำซากจำเจ โดยนักข่าวส่วนใหญ่มักเฮโลสารพาตามๆ กันไปเป็นพักๆ ทำให้การเสนอข่าวสารขาดความหลากหลาย และทำให้พลังสร้างสรรค์และพลังในการคานกันเองของสื่อ ไม่ถูกใช้ในแบบที่ควรจะเป็น


กระนั้นก็ตาม ในความเห็นของผม “ประวัติศาสตร์” ย่อมไม่ใช่เรื่อง ดี-เลว-ถูก-ผิด “ประวัติศาสตร์” คงเป็นได้แต่เพียง “ประวัติศาสตร์”


แม้ การละเลยประวัติศาสตร์ จะเป็นการกระทำหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด ทว่า การหลงมัวเมา และยึดเอาแต่ประวัติศาสตร์ของตัวเองเป็นสรณะ แบบใจแคบ ก็ย่อมอันตราย ไม่แพ้กัน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 สิงหาคม 2551
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551

วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ประเทศไทยได้แบ่งเป็น 2 ประเทศเสียแล้ว


ประเทศไทยในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเทศอย่างชัดเจน
ที่ว่าแบ่งเป็น 2 ประเทศนั้น มิได้แบ่งในเชิงภูมิศาสตร์ หรืออุดมการณ์ แต่แบ่งในเชิงสังคมศาสตร์

เพราะไม่ว่าในส่วนไหน หรือ Territory ใดของประเทศไทยปัจจุบัน ล้วนมีคนของสองสังคม เผชิญหน้ากันอยู่

จะว่าเป็น “สองนคราประชาธิปไตย” อย่างที่ท่านผู้รู้เคยพูดไว้ก็ไม่เชิง เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา บอกเราว่า มันน่าจะค่อนไปทาง “สองนคราเผด็จการ” เสียยิ่งกว่า เพราะคนทั้งสองพวกมักจะ Trade-off เสรีภาพของตัวเองเสมอ เมื่อต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

สังคมแรกเป็นกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ที่ค่อนข้างมีอันจะกิน มีการศึกษา และบริโภคข้อมูลข่าวสารและ "เลือกเชื่อ" ในแบบของตัวเอง ส่วนอีกสังคมหนึ่งประกอบไปด้วยชนชั้นล่างและชนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญของชีวิต และถ้าพูดให้ถึงที่สุดแล้ว คนส่วนหลังนี้ถูกทำให้กลายเป็นที่ “รองมือ รองเท้า” ของคนกลุ่มแรก มาช้านาน

สถานการณ์การเมืองในรอบปีสองปีนี้ ทำให้เรายิ่งเห็นและสัมผัสกับการแบ่งแยกนี้ได้ชัดเจนมาก

ตามความเข้าใจของผม สงครามกลางเมือง (แปลว่ายกพวกฆ่ากัน) สามารถเกิดจากสาเหตุแบบนี้ได้เช่นกัน อย่างสมัยปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสนั้น ผมเข้าใจว่าความคิดและความเป็นอยู่ของคนสองสังคมนี้ มันแตกต่างจากกันอย่างเห็นได้ชัดจนเกินไป และระบบการเมืองในช่วงนั้น ก็ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการต่อรองใดๆ ได้เลย

สงครามกลางเมือง ยังอาจเกิดจากการแย่งทรัพยากร หรือ Territory อย่างที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา หรือจากการยึดอุดมการณ์ หรือ Ideology ที่ต่างกัน อย่างในยุโรปสมัยที่เกิดโปรแตสแตน หรือรัสเซียและจีน ซึ่งสองฝ่ายขัดแย้งกันด้วยเรื่องปรัชญาการบริหารทุน เป็นหลัก

พูดแบบนี้ ผู้อ่านคงคิดว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเกินไป แต่ลึกๆ ผมก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าประเทศไทย ยังคงมีความเสี่ยงแบบนี้อยู่ ตราบใดที่ระบอบการเมืองยังคงเป็นแบบที่เป็นอยู่

เคราะห์ดี ที่กองกำลังติดอาวุธซึ่งถูกฝึกฝนมาอย่างเป็นระบบ และตัวอาวุธส่วนใหญ่ในประเทศไทย นั้น ยังถูกควบคุมโดยคนกลุ่มแรก อย่างเหนียวแน่น แต่ก็ใช่ว่า คนอีกกลุ่มหนึ่งจะไม่สามารถสร้างกองกำลังของตัวเองขึ้นมาได้ในอนาคต ถ้าพวกเขาคิดและมุ่งมั่นที่จะทำ หรือถูกบีบให้ต้องทำ เพราะเงินในสมัยนี้ ก็ทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิดอยู่แล้ว

นับแต่นี้ พวกเรากันเอง คงต้องหันมาขบคิดให้มาก ในเรื่องระบอบการเมืองของไทยในอนาคต ว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถให้มันเป็นเวทีต่อรองของคนทั้งสองพวกนี้ได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังต้องเป็นระบอบที่จะสามารถดึงเอาพลังและทรัพยากรของทั้งสองสังคมนี้ออกมาแปรให้เป็นคุณหรือเป็น “เนื้อนาบุญ” ต่อประเทศโดยรวมให้ได้

“ความสงบใจ” ของผู้คน ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก
ไม่ว่าประเทศไหนๆ “ความสงบใจ” ของผู้คน ย่อมส่งผลต่อความรุนแรงที่คนในสังคมปฏิบัติต่อกัน

ในความเห็นของผม บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ มีส่วนสำคัญมากต่อ “ความสงบใจ” ของคนไทย

แต่ไหนแต่ไรมา สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ได้ช่วยให้ผู้คนเกิดความสงบใจและลดความกังวลต่ออนาคตได้มาก ดังนั้น บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตลอดจนบทบาทของข้าราชบริพารที่ทำงานรับใช้ใกล้ชิดและแวดล้อมองค์พระมหากษัตริย์ ก็น่าจะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพินิจพิเคราะห์กันอย่างจริงจังเสียที

ในความเห็นของผม หากสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดจนข้าราชบริพารที่แวดล้อมอยู่ มีความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง สังคมไทยจะเกิดสันติ และความเสี่ยงที่คนสองสังคมจะเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงก็จะไม่มี ทำให้ผู้คนเกิดความสงบใจและวางใจต่ออนาคตของตนได้

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือขันติธรรมทางการเมือง


ทำอย่างไร พวกเราส่วนใหญ่จะมีขันติธรรมทางการเมือง โดยเฉพาะต่อกระบวนการเปลี่ยนผู้นำทางการเมือง แบบที่พวกเรามีขันติธรรมต่อการเลือกนับถือศาสนามาช้านาน อย่างในสหรัฐอเมริกานั้น เวลาที่คนเกลียดผู้นำ ก็คงไม่มีใครพิเรนทร์ เรียกร้องหรือสั่งการให้รถถังข้ามแม่น้ำไปล้อมทำเนียบขาว เพื่อบังคับให้เปลี่ยนตัวผู้นำ พวกเขาย่อมใช้ความอดทน รอคอยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการอย่างสันติที่เคยตกลงกันไว้แล้ว ในรัฐธรรมนูญของพวกเขา

การเปลี่ยนแปลงผู้นำอย่างสันตินั้น เป็นเงื่อนไขที่สำคัญมากในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำโดยวิธีการใช้กำลัง ย่อมส่งผลให้กระบวนการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation Process) ของสังคมนั้น สะดุดหยุดลงด้วย

ที่กล่าวมานั้น เป็น Observation ของผมเอง มิได้มุ่งหวังที่จะชี้นำท่านผู้อ่านแต่ประการใด เพราะผมเชื่อว่าผู้อ่าน MBA ส่วนใหญ่ล้วนเป็นชนชั้นกะทิ ที่มีวิจารณญาณ (น. ปัญญาที่สามารถรู้หรือให้เหตุผลที่ถูกต้องได้—พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542) ของตนเอง แต่หากท่านใดที่มีความกังวลคล้ายผม หรือเห็นแย้งไปจากผม ก็เขียนมาคุยกันบ้างครับ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน มกราคม พ.ศ. 2551