วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553
น้ำชากับอาหารเย็น
ข้อเขียนชุด "แนะนำ Blog การเงิน" ลำดับที่ 8
ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนคอลัมน์นี้ คงทราบดีว่า Blogger ให้ความสนใจกับภาวะเศรษฐกิจโลกมากโขอยู่ จึงมีเหตุให้ต้องติดตาม Blog ต่างๆ มากมาย ที่เป็นความเห็นของบรรดา “ของจริง” และ “ผู้เล่นสำคัญ” ในระดับโลกทั้งหลาย
หลายเดือนก่อน ฺัBlogger เคยแนะนำ Blog ของ Nouriel Roubini นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของ New York University และเจ้าของ Blog พยากรณ์เศรษฐกิจที่มีผู้ติดตามมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ว่าเขาค่อนข้าง Bullish ต่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ Bearish ต่อค่าเงินยูโรอย่างมาก
เขาทำนายว่าค่าเงินยูโรจะตกลงมาเท่ากับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ หรืออาจจะต่ำกว่านั้น
ัBlogger ฟังแล้ว ในหัวก็คิดจินตนาการไปว่า “เราคงจะได้ไปเที่ยวยุโรปกันในเร็ววัน” แต่เพื่อน Blogger บางคนฟังแล้ว กลับบอกว่า “งั้นปีหน้าคงได้ฤกษ์ซื้อ BMW คันใหม่แล้วสินะ” ส่วนลูกน้องเก่าผู้ชมชอบกระเป๋าหลุยส์ ฟังแล้วดีใจออกหน้าว่าสิ้นปีนี้คงจะได้ “สอยสักใบสองใบ”
เห็นไหมครับว่าค่าเงินมีผลต่อเศรษฐกิจยังไงบ้าง
ัBlogger ฟังแล้วก็แอบดีใจแทนผู้ประกอบการในยูโรโซน
ประกอบกับความเห็นของบรรดายักษ์ใหญ่ผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจของยูโรทั้งหลาย ที่แสดงความมุ่งมั่นให้โลกเห็นว่า พวกเขาสามัคคีกันเหนียวแน่น ร่วมผนึกกำลังตั้งป้องต่อสู้นักเก็งกำไร และร่วมแรงร่วมใจกันประหยัด ตัดค่าใช้จ่ายของตัว และงัดมาตรการสารพัดเื่พื่อพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าพวกเขาเอาจริง พวกเขาจะต้องรักษายูโรไว้ไม่ให้แตกสลาย
มันเป็นจิตใจที่มุ่งมั่นของชนชั้นผู้นำยุโรป จิตใจแบบนี้มีมาแต่โบราณ คล้ายๆ กับ “ขัตติยะมานะ” ของอินเดียและไทยโบราณนั่นแหละ
ผมอยากแนะนำให้ท่านผู้อ่านฟังคำพูดแบบ Bold Bold ของคนเหล่านั้นดู ทั้ง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี, Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, Wolfgang Schaeuble รัฐมนตรีคลังเยอรมัน, Dominique Strauss-Kahn แห่งไอเอ็มเอฟ, Steffen Kampeter รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเยอรมนี, Jean-Claude Trichet ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งยุโรป, Axel Weber ตัวเก็งผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปคนต่อไป, Christine Lagarde รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศส, หรือแม้แต่ David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็เอากับเขาด้วย
มันเป็นน้ำเสียงที่มุ่งมั่น แข็งกร้าว แม้จะต้อง “กลืนเลือด” ก็ยอม
้่ฟังแล้วก็พอจะคิดออกว่าพวกเขาจะต่อสู้กับเศรษฐกิจตกต่ำรอบนี้ยังไง และจะขจัดความเสี่ยงอันเนื่องมาแต่หนีสินที่รัฐบาลของพวกเขาก่อขึ้นกันอย่างไร
รู้เขา รู้เรา ไว้ก่อน คงไม่เสียหาย
ัBlogger ขอแนะนำให้ฟัง Christine Lagarde พูดถึงเยอรมัน เพราะน้อยนักที่คนฝรั่งเศสจะยกย่องคนเยอรมันโดยไม่แขวะ หรือไม่มีหางเสียง หรือออกสีหน้าท่าทาง
เธอเป็นรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก เพราะเธอเคยเรียนมัธยมในสหรัฐฯ และยังเป็นใหญ่ใน Baker & McKinzie ที่ชิคาโกมาหลายปี เธอจึงเข้าใจความคิดอ่านแบบ Angle-Saxon ได้ดี
ลองคลิกเข้าไปที่ http://video.economist.com/?fr_chl=1257fd4a3f457735719f845205531ed840915d9c
ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์ในรายการ “Tea With The Economist” โดยหลายคนที่มาคุยด้วยในรายการนี้ก็น่าสนใจทั้งนั้น
ลองดูกันเอาเอง ว่าใครเป็นใคร
เสร็จแล้วก็กลับไปพักผ่อนในวันเบาๆ กับคอลัมน์ Dinner With MBA ในเว็บไซต์ของเราที่
http://www.mbamagazine.net/home/index.php/dinner-with-mba
ก็จะได้ทั้งสาระและบันเทิงครับ
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๓ ภายใต้นามปากกา Blogger
ตะวันตกดินที่ยุโีรป
ข้อเขียนชุด "แนะนำ Blog การเงิน" ลำดับที่ 7
เดือนสองเดือนมานี้ เรื่องใหญ่ที่นักการเงิน นักธุรกิจ ตลอดจนนักการเมือง ให้ความสนใจมากที่สุดน่าจะเป็นปัญหาหนี้สินของรัฐบาลกรีซ ซึ่งกลายเป็นปัญหาลุกลามไปทั่วเขตแคว้นยุโรป และทำท่าว่าจะลุกลามใหญ่โตจนเงินยูโรล่มสลาย แม้เยอรมนีจะยอมควักเงินช่วยเหลือไปแล้วไม่น้อยก็ตาม
Blogger ทะแม่งมาแต่แรกแล้วละว่า “ยูโร” มันมีโครงสร้างที่แปร่งๆ อยู่ คือสมาชิกที่จะเข้ามาร่วมใช้เงินยูโร จะต้องทำโง้น ทำงี้ หนี้ต้องไม่เกินเท่านั้น งบประมาณต้องไม่เกินเท่านี้ ฯลฯ แต่ทางการเมืองกลับเป็นอิสระต่อกัน ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างตัดสินใจ
คือควบคุมในเชิงเศรษฐกิจการเงิน แต่ดันปล่อยในเชิงการเมือง..พวกเราก็รู้อยู่แล้วว่านักการเมืองมีนิสัยยังไง เพราะฉะนั้น โครงสร้างแบบนี้มันเปราะบางมาก
ทว่าที่ผ่านมา ทุกคนต่างอดทน ยอม “กลืนเลือด” เพื่อให้ความฝันเป็นจริง ว่าวันหนึ่งยุโรปคงจะรวมกันได้จริง อย่างที่บรรพบุรุษของพวกเขาหวังกันไว้
แต่ปัญหาครานี้ใหญ่หลวงนัก แถมบรรดานักเก็งกำไรก็มารุมกินโต๊ะ ทั้งเสมอนอก เสมอใน ว่าเงินยูโรอาจล้มครืนลงก็เป็นได้
Blogger ว่ามันก็มีโอกาส ถ้ารัฐบาลเยอรมันหรือ (พูดให้ถึงที่สุด) บรรดาเทคโนแครตชั้นสูงที่เคยคุม Bundesbank เดิมแล้วพากันย้ายมาที่ ECB ในเวลานี้ ยอมแพ้บรรดา Hedge Fund และแร้งทึ้งทั้งหลาย เหมือนกับที่ Bank of England เคยโยนผ้าขาวให้ George Soros มาแล้วในปี 1994
แต่จิตใจของคนเยอรมันนั้นยากแท้หยั่งถึง เวลาได้สู้รบกับใครแล้ว...บรื๋อ! Blogger ขนลุก
ยังไงก็ตาม Blogger อยากให้แฟนๆ ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะหลายคนอาจอาศัยลูกชุลมุนทำกำไร โดยการซื้อดอลล่าร์ ซื้อปอนด์ (สองสกุลนี้ต้องขึ้นถล่มทลายแน่ถ้ายูโรล่ม) หรือที่อินทรีย์แก่กล้าหน่อยก็อาจเข้าไปซื้อหุ้นอิตาลี (คนที่ชอบไปเที่ยวอิตาลีคงทราบดีว่าสมัยก่อนอิตาลีถูกแต่พอเข้ายูโรแล้วของแพงไปหมด ดังนั้นถ้าออกจากยูโรอิตาลีต้องดี) หรือพันธบัตรรัฐบาลเยอรมัน (เยอรมนีเป็นชาติที่แข็งแกร่งในเชิงเศรษฐกิจการเงินและอุตสาหกรรม แต่ต้องมาอุ้มคนอื่นในยูโร ถ้าสลัดพันธะนี้ได้ก็จะ....)
อย่างน้อย พวกเราที่ต้องค้าขายกับยุโรปหรือที่ต้องถือเงินยูโรไว้ในช่วงนี้ก็ต้องระวัง!
ช่วงนี้ Blogger อยากแนะนำให้แฟนๆ ติดตามงานวิเคราะห์ของ Nouriel Roubini (www.roubini.com) อย่างใกล้ชิดหน่อย เพราะ Blogger เองก็ “ซื้อ” ความเห็นของเขาเกี่ยวกับยูโร (วันก่อนอ่านข้อเขียนของ ดร.โกร่ง ใน มติชนรายวัน ก็มองเช่นเดียวกับ Roubini)
Roubini อยู่ในกลุ่ม Bearish ต่อยูโร เขามองว่าค่าเงินยูโรจะตกลงไปต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐฯ ด้วยซ้ำไป เพราะเขาไม่เห็นทางว่าการกระตุ้นด้วยนโยบายการคลังของบรรดาประเทศใน Eurozone จะช่วยอะไรได้
ส่วนเศรษฐกิจภาพรวมนั้น Roubini มองว่าอเมริกาช่วงหกเดือนหลังของปีนี้จะเกิด Double-Dip Recession ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นแย่ แต่แทนที่เขาจะมอง Emerging Market ว่าเป็นทางออก เขากลับแนะนำให้นักลงทุนเริ่มเก็บพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US government Bonds)
ความเห็นข้อหลังนี้คล้ายคลึงกับของ Warren Buffet ซึ่งยังคงยืนยันอีกครั้งใน Shairman’s Letter ถึงผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway ฉบับล่าสุดของเขา เพียงแต่เขาแนะให้ซื้อ Corporate Bonds ให้มากด้วย อีกโสตหนึ่ง (อ่านรายละเอียดได้ใน Cover Story ฉบับนี้)
Nouriel Roubini เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค เขาโด่งดังขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อนด้วยการทำนายว่าจะเกิด Sub-prime Crisis และเขาเพิ่งจะออกหนังสือเล่มใหม่คือ Crisis Economics: A Crash Course in the Future of Finance
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๓ ภายใต้นามปากกา Blogger
Private Equity “ห่วงโซ่อาหาร” ข้อต้นๆ
ข้อเขียนชุด "แนะนำ Blog การเงิน" ลำดับที่ 6
ตอนที่ประธานาธิบดีบุชผู้พ่อมาปรากฎตัวที่บ้านฝั่งธนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่เขาจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นานนั้น David Rubenstein ก็อยู่ในคณะของบุชด้วยคนหนึ่ง นายคนนี้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Carlyle Group บริษัทที่ทรงอิทธิพลของโลก เป้าหมายของเขาคือการชักชวนให้ทักษิิณและครอบครัวนำเงินไปลงทุนร่วมกับกองทุนของเขานั่นเอง โดยกองทุนทั้งหมดของเขาเลือกเอาแต่เงินของมหาเศรษฐีและผู้ทรงอิทธิพลของโลกเท่านั้น...รายย่อยรายกลางอย่าหวัง
กิจการแบบ Carlyle นี้ เรียกเป็นภาษาในวงการเงินว่า Private Equity Firm คือเป็นกองทุนรวมชนิดหนึ่ง ที่มิใช่ Mutual Fund, Unit Trust, หรือ Venture Capital Fund ที่ี่เราคุ้นเคย
กองทุนเหล่านี้ เน้นระดมเงินทุนจากมหาเศรษฐีแล้วนำไปลงทุนฮุบกิจการ (ด้วยการกู้หนี้ยืมสินเสียเป็นส่วนใหญ่) แล้วก็ไปจ้างนักบริหารมืออาชีพมาบริหารจัดการ ตัดค่าใช้จ่าย ขายโน่นขายนี่ทิ้งไปบ้าง หรือเอาอันโน้นมาผสมอันนี้ โปะไปโปะมาใน Portfolio ของตัวเอง ฯลฯ แล้วในที่สุดเมื่อผลประกอบการดีขึ้นแล้ว ก็มักจะขายทิ้งไปเพื่อทำกำไร แล้วค่อยนำกำไรมาจ่ายปันผลให้มหาเศรษฐีผู้ถือหน่วยลงทุนอีกทอดหนึ่ง เป็นอันสิ้นสุดวงจร Investment
กองทุนแบบนี้จึงมักเป็นแหล่งรวมของนักบริหารมืออาชีพ คอยเข้าไป Run กิจการที่ซื้อเข้ามาใน Portfolio เพื่อ Turnaround ให้เกิดกำไร
Lou Gerstner อดีตซีอีโอที่สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองด้วยการพลิกฟื้น IBM ให้กลับมายิ่งใหญ่ ก็เข้าร่วมกับ Carlyle Group หลังเกษียณจาก IBM
โดยปกติ Private Equity Firm จะคิดค่าธรรมเนียมการบริหาร 2% ต่อปี และหักส่วนแบ่งกำไรอีก 20% เมื่อการลงทุนมีกำไร แต่ถ้าขาดทุนก็คิดเฉพาะค่าธรรมเนียม...ดูแล้วก็มีแต่ได้กับได้
กองทุนประเภทนี้ สมัยก่อนเรียกว่า LBO Firm ย่อมาจาก Leverage Buy-Out เพราะมักเข้าฮุบกิจการผู้อื่นด้วยการก่อหนี้ (เพื่อให้ส่วนที่จะต้องลงทุนจริงน้อย ทำให้ผลตอบแทนสูง) และมีขอบข่ายการลงทุนทั่วโลก
พวกที่บุกเบิกกิจการประเภทนี้ก็มีเช่น KKR (www.kkr.com) และ Blackstone Group (www.blackstone.com) เป็นต้น กิจการเหล่านี้บริหารเงินลงทุนกว่า 50,000 ล้านเหรียญฯ ต่อราย และเคยทำสถิติเข้าฮุบกิจการสูงสุดถึง 48,800 ล้านเหรียญฯ ซึ่งคิดเป็นกว่า 30% ของ GDP ประเทศไทย นับว่าสูงมากสำหรับเข้าซื้อกิจการเพียงครั้งเดียว
เจ้าของกิจการเหล่านี้ล้วนเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นชาวยิว อีกทั้งยังทรงอิทธิพลมากใน Wall Street อย่างเรื่องราวของ KKR ก็เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลิวู๊ดมาแล้วในเรื่อง Babarian at the Gate
แน่นอน Private Equity Firm ย่อมเป็นเป้าหมายของบรรดา MBA หัวไบรท์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกทั้งหลายด้วย
ผู้อ่านที่สนใจเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง Blogger ใคร่ขอแนะนำ Lecture ที่ Yale ของ Stephen Schwarzman มหาเศรษฐียิว ผู้ร่วมก่อตั้ง Blackstone Group (คนนี้เคยมาพบสนธิ ลิ้มทองกุลที่เมืองไทยเมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้ว)
ว่าแล้วคลิกไปที่ http://openmedia.yale.edu/projects/media_viewer/video_viewer2.php?window_size=medium&type=flv&title=ECON%20252%20-%20Lecture%2020%20-%20Prof.%20Robert%20Shiller&path=%2Fcourses%2Fspring08%2Fecon252%2Fflash%2Fecon252_20_041108
แล้วท่านจะรู้ว่าเงินพันล้านสำหรับคนเหล่านี้ มันช่างหามาได้ง่ายดายจังเลย
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ ภายใต้นามปากกา Blogger
Patient Capital การเงินเพื่อลดช่องว่าง
ข้อเขียนชุด "แนะนำ Blog การเงิน" ลำดับที่ 5
ผ่านพ้นไปอีกยกหนึ่งแล้ว สำหรับการต่อสู้ของฝ่าย "Have" กับ "Have Not"
Blogger ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับความสูญเสียของทุกฝ่าย และก็หวังว่าการต่อสู้ในยกต่อไปจะไม่รุนแรง โดยจะให้ดีก็ต้องสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมไปในเชิงสร้างสรรค์ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ได้ด้วยวิธีสันติ เฉกเช่นสังคมที่มีความซิวิไลซ์ทั้งหลายบนพื้นโลกใบนี้
และด้วยพื้นที่อันน้อยนิดในคอลัมน์นี้ Blogger ขออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับด้วยข้อเขียนเรื่อง Patient Capital ด้วยหวังว่ามันจะสามารถเชื่อมช่องว่างระหว่าง Have กับ Have Not และระหว่าง "นายทุน" กับ "ผู้ไร้ทุน" ด้วยความเข้าใจอันดีต่อกันได้บ้างในอนาคต......
ผู้อ่านหลายท่านคงพอรู้จัก Patient Capital กันบ้างแล้ว ว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของ Venture Capital ซึ่งไประดมทุนจากผู้ที่มีเงินเหลือใช้ มารวมเอาไว้เป็นกองกลาง แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปจัดการแบ่งเงินออกเป็นหลายก้อน เพื่อลงทุนไปกับกิจการที่ต้องการเงิน (ขาดเงิน) โดยหวังว่าจะทำกำไรจากการลงทุนเหล่านั้น เมื่อกิจการที่เข้าไปลงทุนนั้นตั้งตัวได้ หรือทำกำไรได้ดีในอนาคต
Venture Capital ได้เครดิตมากจาก Silicon Valley ที่ได้เคยเป็นแหล่งเงินทุนคอยอุ้มชูคนอย่าง Bill Gate, Steve Jobs, Jeff Bezos, และ ฯลฯ จากที่เคยเป็น "เด็กไร้ทุนหัวดี" ผู้หนึ่ง ให้สามารถแทรกตัวขึ้นมายืนแถวเดียวกับบรรดาเจ้าของกิจการยักษ์ใหญ่ได้
แต่ Venture Capital ก็ยังคงถูกขับเคลื่อนด้วยผลตอบแทนเฉพาะหน้าอยู่ดี จึงยังไม่สามารถลงไปถึงรากหญ้าได้
กิจการเล็กกิจการน้อย ของคนเล็กคนน้อย ตามหมู่บ้านเล็กหมู่บ้านน้อย ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากความเจริญ หรือแอบซ่อนอยู่ตามซอกเล็กซอยน้อยของเมืองใหญ่ ที่ C.K. Prahalad เรียกว่า "At the bottom of the Pyramid" นั้น คงยังถูกทอดทิ้ง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้โดยสะดวก เท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่เงินทุนในโลกนี้มีเหลือเก็บอยู่มากมายมหาศาล และหมุนไปมาทุกวันวันละหลายล้านล้านบาท
Blogger จึงขอก้มหัวให้คนอย่าง Mohammad Yunus และองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมาก ที่ทำงานช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่คนรากหญ้า
แนวคิดเรื่อง Microfinance ของด็อกเตอร์ยูนูส นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจในหมู่นักพัฒนาด้วยกันเองแล้ว ยังเปล่งประกายออกสู่นอกแวดวงดังกล่าว ทะลุทะลวงเข้าสู่แวดวงธุรกิจ รัฐบาล นักเศรษฐศาสตร์ สื่อมวลชนกระแสหลัก Philanthropist และที่สำคัญคือ "นักการเงินที่มีจิตสำนึก" หรือถ้าจะพูดให้ถึงกึ๋นก็คือ "นักการเงินที่มีรูปการณ์จิตสำนึกแบบคนรากหญ้า"
คนเหล่านี้ เริ่มคิดหา Venture Capital Model ใหม่ และ Business Model ใหม่ ที่จะเป็นช่องทางผ่านเงินจากกองเงินที่เหลือใช้ให้ไหลไปสู่รากหญ้า โดยไม่ต้องผ่านช่องทางของรัฐ
นั่นแหละสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า Patient Capital
กองทุนเหล่านี้จะลงทุนในพื้นที่ยากจนจริงๆ เช่นอาฟริกา และเอเชีย และดำเนินการโดยอดีตนักการเงินที่เคยผ่านงานเอ็นจีโอสนามมาก่อน
นับเป็นทางเลือกทางอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการฝึกฝนมาทางด้านธุรกิจ MBA หรือเศรษฐศาสตร์ ให้ได้เลือกดำเนินชีวิตไปบนทางสายรองที่มีอุดมคติเป็นเดิมพัน มิใช่ต้อง Get-rich-quick แล้วก็ Early Retired แต่เพียง Track เดียวเหมือนแต่ก่อน
Blogger ขอแนะนำ Acumen Fund Blog (http://blog.acumenfund.org/author/jnovogratz/) ของ Jacqueline Novogratz ซึ่งเป็น Patient Capitalist คนสำคัญ
งานของ Novogratz ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Chris Anderson สามีจอม Hip ของเธอ ที่เป็นเจ้าของ TED Conference อันโด่งดังในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ถือตัวว่าหัวก้าวหน้าทุกคนบนโลกใบนี้
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๓ ภายใต้นามปากกา Blogger
หมายเหตุ: คลิกอ่านบทความการเงินเพื่อลดช่องว่างได้ตามลิงก์ข้างล่าง
***กระแสสำนึกแห่งนายธนาคารแห่งอนาคต
และบทความแนะนำ Blog การเงินที่เด่นๆ:
****Greg Mankiw บล็อกเศรษฐกิจ No.1
แผนถล่มจีนของ Krugman
ข้อเขียนชุด "แนะนำ Blog การเงิน" ลำดับที่ 4
เมื่อฉบับที่แล้ว Blogger เขียนถึง Paul Krugman ว่าตอนนี้เธอทำตัวเป็น "สายล่อฟ้า" ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ และสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจแบบ "เจ้าบุญทุ่ม" สุดจิตสุดใจ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลอัดฉีดเพิ่มเข้าไปอย่างเต็มเหนี่ยวและต่อเนื่อง อย่าทำแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยเด็ดขาด
Blogger ยังเขียนอีกว่า Agenda สำคัญล่าสุดของเขาในฐานะ "สายล่อฟ้า" คือการเล่นงานรัฐบาลจีน โดยกดดันให้จีนเลิกแทรกแซงค่าเงินหยวน ต้องให้ค่าเงินหยวนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ เพื่อแก้ปัญหา Imbalance ให้เบาบางลง
มีผู้อ่านท่านหนึ่งที่ไม่ได้ตาม Krugman มาแต่ต้น มาถาม Blogger นอกรอบ ว่าเรื่องนี้มันมีรายละเอียดยังไง อยากให้อธิบายให้ฟังละเอียดหน่อย เพราะผู้อ่านท่านนั้น ท่านทำกิจการค้าระหว่างประเทศ และต้องถือเงินตราต่างประเทศหลายสกุลอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งเพื่อความสะดวกในเชิงการค้าและเพื่อลงทุน
Blogger จึงใคร่ขอขยายความในฉบับนี้ เผื่อว่าผู้อ่านท่านอื่นจะได้ประโยชน์ด้วย เพราะประเด็นนี้กำลังเป็น International Economic Issue ที่สำคัญมาก ณ ขณะปัจจุบัน
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา Paul Krugman เขียนบทความใน New York Times เรื่อง "Taking on China" ต่อว่ารัฐบาลจีนอย่างแรง หาว่าจีนแทรกแซงค่าเงินหยวนให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (Undervalued) ประมาณ 20-40% โดย Krugman ว่าการที่จีนทำแบบนี้มันทำให้ดุลการชำระเงินของประเทศคู่ค้าปั่นป่วนเสียดุลมากอย่างต่อเนื่องด้วการเอาเปรียบเชิงการค้า เขาว่า "for purposes of preventing effective balance of payments adjustments and gaining unfair competitive advantage in international trade."
เขาจึงเสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับจีนโดยขู่จะเก็บ Surcharge สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนทุกรายการ 25% อย่างไม่ต้องหวั่นเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม และไม่ต้องกลัวว่าจีนจะตอบโต้ด้วยการขายสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปดอลล่าร์ (เช่นทุนสำรองที่ประกอบด้วยเงินดอลล่าร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พันธบัตรเอกชน ตั๋วเงินคลัง ฯลฯ) เพราะมันจะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลล่าร์ตกลงซึ่งจะเป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันมันก็จะทำให้จีนจนลงไปด้วย เปรีบเหมือนการมีลูกแต่เอามาฝากให้อเมริกาเลี้ยง นั่นแหละ (MBA เตือนเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว)
เขาเขียนว่า "In 1971 the United States dealt with a similar but much less severe problem of foreign undervaluation by imposing a temporary 10 percent surcharge on imports, which was removed a few months later after Germany, Japan and other nations raised the dollar value of their currencies. At this point, it's hard to see China changing its policies unless faced with the threat of similar action--except that this time the surcharge would have to be much larger, say 25 percent."
ดูแนวโน้มแล้วจีนคงจะไม่มีทางเลือก นั่นก็หมายความว่าค่าเงินดอลล่าร์คงจะตกต่ำลงไปอีก
ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของผู้อ่านแต่ละท่านแล้วว่าจะตีความ Investment Implications ต่อพอร์ตและผลประโยชน์ของแต่ละท่านยังไงกันบ้าง
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๓ ภายใต้นามปากกา Blogger
***โปรดคลิกอ่านแนะนำบล็อกของ Paul Krugman ได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ
***บล็อกสายล่อฟ้าของ Paul Krugman
Blog สายล่อฟ้า ของ Paul Krugman
ข้อเขียนชุด "แนะนำ Blog การเงิน" ลำดับที่ 3
แฟนๆ MBA คงเห็นว่าเราได้เล่นเรื่อง Hyperinflation มาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ไปสัมภาษณ์ Marc Faber แล้วก็ลงบทความเกี่ยวกับ Tulipmania และ South Sea Bubble อีกทั้งยังแนะนำ Blog ของ Jim Rogers ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา
เหล่านี้ ล้วนตั้งอยู่บนความเห็นที่เป็นห่วงว่า การเพิ่ม Money Supply อย่างไม่จำกัดของ FED จะทำให้เกิดวิกฤติเงินเฟ้ออย่างแรงเข้าสักวันหนึ่ง
ความเห็นแบบนี้ ย่อมยืนอยู่ฝั่งฟากตรงข้ามกับนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่ยังเป็นห่วงในเรื่องอัตราการว่างงาน และเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องอัดฉีดงบประมาณให้มากกว่าที่เป็นอยู่
เดี๋ยวจะหาว่า พวกเราถือหางบรรดา Contrarian ทั้งหลายแบบเทใจให้ร้อยเปอร์เซนต์ ฉบับนี้ Blogger จึงอยากให้ผู้อ่านหันมาติดตามความเห็นของ Paul Krugman ซึ่งถือเป็น "หัวขบวน" คนสำคัญของความคิดกระแสหลักที่รวมถึงผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วย เพื่อจะช่วยให้เราเข้าใจและอ่านเกม MarcroTrend ได้แม่นยำขึ้นในยุคที่อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเร็วมากๆ ดังเช่นปัจจุบัน
อันที่จริง MBA ได้ติดตามเอาความคิดของ Krugman มาเผยแพร่ตลอดมานับแต่แรกตั้ง หรือตั้งแต่ Krugman ยังไม่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์
Krugman นั้น ดังขึ้นมาในหมู่คนเอเชียเพราะเขาวิจารณ์ Asia Miracle สมัยโน้น (ก่อนวิกฤติต้นยำกุ้ง) ว่าเป็นของปลอม เพราะเป็นการเติบโตที่ใส่แรงงานราคาถูกเข้าไปในระบบการผลิต หาได้เกิดจากการสร้างหรือเพิ่ม Productivity อันพึงปรารถณาไม่
เขาหยิบยืนงานวิจัยนั้นมาจาก Alwyn Young อีกทอดหนึ่ง แต่งานนั้นก็ทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั่วโลก
ยิ่งมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจด้วยแล้ว คนยิ่งเห็นว่าเขาทำนายแม่น แถมมหาเธย์แห่งมาเลเซียดันประกาศนโยบาย Capital Control ตามที่เขาเสนอไว้ก่อนหน้านั้น ก็ยิ่งช่วยให้ชื่อเสียงของเขาระเบิดระเบ้อ ไปกันใหญ่
Krugman เป็นคนเขียนหนังสือสนุก ปากกล้า และปากกาคมกริบ คิดยังไงเขียนยังงั้น ด่าใครก็ด่าแรงเลย จุดแข็งของเขาคือการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและพฤติกรรมเชิงเศรษฐกิจของรัฐบาล..สมัยโน้น เขาถูกจัดเป็นฝ่ายตรงข้ามและเป็นนักเศรษฐศาสตร์กระแสรอง
ก่อนได้รับรางวัลโนเบลไม่นานนัก เขาเคยมาเมืองไทยครั้งหนึ่ง คุณสมพงษ์ สุวรรณจิตกุล ซึ่งเป็นคนดูแลเขาระหว่างนั้น เล่าให้ Blogger ฟังว่าตัวจริงของ Krugman เป็นคนสุภาพมาก พูดน้อย และค่อนข้างซีเรียส
ตอนนั้น Blogger ฝากให้คุณสมพงษ์ถามเขาว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เอเชียจะรวมตัวกันสร้างระบบการเงินของตนเองขึ้นมาเหมือนยุโรปเพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดอะไรขึ้นใน Dollar Zone เขาได้แสดงความไม่เห็นด้วย
นั่นแสดงว่า เขาได้กลายเป็นพวกกระแสหลักไปเสียแล้ว หรือยังไงๆ เขาก็ยังคงเป็นตัวแทนความเห็นของ American Elite อยู่นั่นเอง
ยิ่งรัฐบาลขณะนี้ เน้นเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมหาศาล เขาก็ยิ่งสนับสนุน เพราะเขาเป็น Keynesian
ปัจจุบัน เขาเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญต่อแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ และ FED เขาเป็นหัวขบวนที่ Push ให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ต้องเพิ่มการอัดฉีดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเขาคิดว่าการทำครึ่งๆ กลางๆ จะทำให้เกิดผลเสีย แม้ในทางการเมืองจะเริ่มมีคนออกมาต้านมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กระนั้น ก็ใช่ว่าเขาจะรักพวก Wall Street เพราะเขาด่าแบบสาดเสียเทเสียเสมอมา
ระยะหลัง Agenda ของเขาคือการเล่นงานจีน เขาต้องการให้รัฐบาลสหรัฐฯ กดดันรัฐบาลจีนให้เพิ่มค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ เพื่อปรับ Global Imbalance นอกจากนั้น ยังมีเรื่อง Healthcare และอื่นๆ ที่เป็นประเด็นภายในประเทศสหรัฐฯ เอง
เขาเขียนคอลัมน์ประจำมาแล้วทั้งที่ Slate, Fortune, และมาจบที่ New York Times ซึ่งยังเขียน Op-Ed อยู่จนทุกวันนี้
งานของเขาอ่านง่าย ไม่ใช้ศัพท์แสงซับซ้อน และเนื่องจากเขาได้กลายเป็น "สายล่อฟ้า" ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ไปแล้ว การอ่านความเห็นของเขาจึงจำเป็น สำหรับผู้ที่ต้องการจะมองเห็นอนาคต
คลิก http://krugman.blogs.nytimes.com/
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ภายใต้นามปากกา Blogger
**โปรดคลิกอ่านเรื่องเกี่ยวกับ Paul Krugman ที่ผมเขียนได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ
***แผนถล่มจีนของครุกแมน
เกาะติด MacroTrend กับ Jim Rogers
ข้อเขียนชุด "แนะนำ Blog การเงิน" ลำดับที่ 2,
Jim Rogers (www.jimrogers-investments.blogspot.com) เป็นนักลงทุนระดับกูรูของโลก ที่ความเห็นของเขาน่ารับฟังมาก
ที่สำคัญ เขาเป็นคนเปิดเผย ไม่ค่อยปิดบังความคิด หรือใช้เวทีแสดงความเห็นเพื่อหลอกล่อให้นักลงทุนเข้าไปติดกับ แล้วตัวเองและพรรคพวกก็ฉวยโอกาสทำกำไรจากการณ์นั้น
อันที่จริง ผมเป็นแฟน Jim Rogers มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเมื่อยังไม่มี Internet ใช้กัน (รู้สึกตอนนั้น CNN ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย)
สมัยโน้น นักลงทุนที่หูตากว้างไกลหน่อย ก็ต้องอ่านข่าวจากจอ Reuters หรือ Knight Rider และอ่านหนังสือพิมพ์ WSJ และ Financial Times
ก่อนสงครามอ่าวเปอร์เซียไม่นานนัก ผมจำได้ว่า Financial Times ได้เขียนข่าวต่อเนื่อง (Series) เกี่ยวกับอดีต Hedge Fund Manager ที่หันมาเอาดีกับการแสวงหาชีวิตใหม่ โดยการขับขี่มอเตอร์ไซค์ BMW ไปทั่วโลกกับแฟนสาว และในขณะเดียวกันก็หาโอกาสในการพบปะผู้คน ใช้ชีวิตหรือร่วมกิจกรรมแบบแปลกๆ สังเกตการณ์ รับบรรยายเชิงการเงิน และหาโอกาสในการลงทุนไปด้วยในตัว
ข้อเขียนชุดนั้น ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม เพราะขณะนั้นเป็นยุคหุ้นบูมทั่วโลก หนุ่มสาวการศึกษาดีในแวดวงการเงิน ทั้ง Investment Banker, Fund Manager, Dealer, และ Analyst, ต่างพากันฝันหาโมเดลชีวิตแบบนั้น คือรวยเร็ว (Get-rich-quick) รีบเกษียณ (Early Retired) และใช้ชีวิต (Enjoy Life)
Lifestyle แบบนี้ ต่อมาได้รับฉายาว่า Yuppy และเป็นที่ฮือฮาอยู่พักใหญ่
หนุ่มที่ขี่มอเตอร์ไซด์คนนั้นแหละ Jim Rogers อดีตบัณฑิตจาก Yale และมหาบัณฑิตจาก Ballion College, Oxford ผู้ร่วมก่อตั้ง Quantum Fund กับ George Soros ซึ่งต่อมาเป็นผู้โจมตีค่าเงินบาทรายใหญ่ในปี 2540
Jim Rogers ทำเงินได้อย่างมากมายในวัยสามสิบกว่า และก็ได้หันหลังให้กับ Soros แยกตัวออกมาเป็นนักลงทุนเองแบบ “บินเดี่ยว” เขาเป็นนักลงทุนฝรั่งคนแรกๆ ที่เห็นโอกาสในจีนและยุโรปตะวันออก โดยเขาก็สามารถทำเงินได้อีกก้อนใหญ่จากการลงทุนในตลาดเหล่านั้น และเขาก็ผ่านวิกฤตมาแล้วทุกครั้ง โดยแต่ละรอบก็กลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม ชื่อเสียงของเขาเป็นชื่อเสียงที่ดี และแม้เขาจะไม่ได้บินสูงขนาด Warren Buffet และ George Soros นายเก่า แต่ความเห็นของเขาก็ Practical และได้รับความนับถือจากวงการเงินการลงทุนโลก
เขาเขียนหนังสือมาแล้วหลายเล่ม (ประสบการณ์ขี่มอเตอร์ไซค์รอบนั้น ต่อมารวมพิมพ์เป็นหนังสือขายดีชื่อ Investment Biker) แต่ละเล่ม ล้วนมีข้อคิดและคำคม สำหรับนักลงทุนจำนวนมาก
แม้ปัจจุบันเขาจะเลยวัยเกษียณมาแล้ว แต่ก็ยัง Active อยู่มาก เขายังคงให้ความเห็นในเรื่องการลงทุนกับสื่อระดับโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง
ความเห็นและคำคมเหล่านั้นแหละ ที่มีคนรวบรวมมาไว้ใน Blog ของเขา ซึ่งผมว่ามีประโยชน์มากสำหรับนักลงทุน ที่ต้องการอ่านแนวโน้มสำคัญๆ เช่นเขาเห็นว่า ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นอีกแยะเพราะดีมานด์จะสูงมากในอนาคตอันใกล้ ขณะที่การผลิตลดลง แถมเรายังเอาอาหารไปเผาเป็นเชื้อเพลิงเสียอีก
นอกจากนั้น เขาก็ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่รวมถึงทองคำ (ซึ่งใครๆ ก็คิดว่ามาไกลแล้ว) จะยังสูงขึ้นไปอีกหลายเท่า จนกระทั่งปี 2014 และสำหรับการลงทุนในช่วงนี้ เขาก็ให้รอดูก่อน จนกว่าจะมั่นใจค่อยลงมือ เขากล่าวว่า “I just wait until there is money on the corner, and all I have to do is go over there and pick it up. I do nothing in the meantime. Even people who lose money in the market say, “I just lost money, now I have to do something to make it back.” No, you don’t. You should sit there until you find something.”
และเขายังกล่าวอีกว่า หลักการสำคัญอันหนึ่งของการลงทุน ที่คนมักลืมและละเลย ก็คือ “อยู่เฉยๆ ” โดยเฉพาะ หลังจากที่เพิ่งได้เงินมา ผู้คนส่วนใหญ่มักจะ “คัน” รีบออกไปหาที่ใช้เงินนั้น
เขาจะว่ายังไงต่อ...........
ต้อง “คลิก” ดูเอาเอง
หมายเหตุ : อันที่จริงเขาก็มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองคือ www.jimrogers.com แต่ Blogger ว่าเนื้อหายังสู้ Blog ที่ว่ามาไม่ได้
ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธุ์ ๒๕๕๓ ภายใต้นามปากกา Blogger
วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553
Brand You SMEs
“Advertising is only evil when it advertises evil things.”
David Ogilvy
คริส หอวัง ดาราสาวผู้มากด้วยความสามารถและสติปัญญา ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับคุณวีรพงษ์ เจตน์พิพัฒนพงษ์ เพื่อตีพิมพ์ใน MBA ฉบับนี้อย่างน่าฟังว่า “โปรดักท์ของตัวคริสก็คือคริส ก็คงไม่ได้เหมือนน้ำเปล่าที่จะขายได้ตลอดปี...(...)...จริงๆ ทุกคนต้องรู้อยู่แล้ว อาชีพนี้มีขึ้นมีลง ช่วงหนึ่งฮิตชาเขียว อีกช่วงก็ไม่ฮิตแล้ว ก็เป็นโปรดักท์หนึ่ง การรักษาโปรดักท์ให้นานที่สุดก็ไม่มีใครรู้ เพราะถ้ามีคนรู้ป่านนี้ดาราคงเต็มเมืองไปแล้ว คริสก็คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรให้อยู่นานๆ....” (อยากอ่านต่อ โปรดพลิกไปที่หน้า 156)
ฟังจากน้ำเสียงแล้ว นอกจากดูเหมือนเธอจะ “เข้าถึง” แก่นแท้ของการตลาดชั้นสูงแล้ว เธอยังไม่เสแสร้ง และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนในทีอีกด้วย คุณสมบัติอันหลังนี้แหละที่จะช่วยให้เธออยู่ได้นานในสัมคมแบบไทยๆ
เธอเป็นตัวอย่างของคนที่ “รู้ว่าตัวเองเป็นใคร” และ “มาทำอะไรที่นี่”
ความรู้เท่าทันตัวเองถือเป็น Key Success Facfor ของการตลาดแบบ Transformation Marketing ที่สินค้าและบริการคือ “ตัวเราเอง”
ดารา นักแสดง นักการเมือง ศิลปิน พิธีกร นักพูดนักบรรยาย ผู้นำม็อบ ฯลฯ ตลอดจนอาชีพที่ต้องอาศัย “ชื่อเสียง” และ “ภาพลักษณ์ในใจคน” หนุนช่วยหรือเกื้อกูลกับกระบวนการประกอบอาชีพ ย่อมต้องใช้การตลาดแบบนี้เป็นเครื่องมือบ้างไม่มากก็น้อย
ท่านเหล่านั้นที่ประสบความสำเร็จ ย่อมต้องรู้จักและเชี่ยวชาญในการสร้างและรักษาแบรนด์ตัวเอง รู้จักวางตำแหน่งในใจคนอย่างเหมาะสม ว่าอยากให้ผู้คนและแฟนๆ มองหรือรู้สึกกับตัวเองอย่างไร รู้จักใช้สื่อหรือ Social Networks ให้เป็นประโยชน์ และรู้จักตรวจสอบตำแหน่ง (ในใจคน) ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าคลาดเคลื่อนไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป เพราะ Product Life Cycle ย่อมมีอิทธิพลอย่างหลีกเี่ลี่ยงได้ยาก
คือนอกจากจะต้องรู้จัก “เอาใจเราไปอยู่ในใจเขา” แล้ว ยังต้อง “เอาใจเขามาใส่ในใจเรา” ด้วย เราถึงจะเห็นจุดอ่อนจุดแข็ง และข้อบกพร่องของเราได้ทะลุปรุโปร่งบนจุดยืนของแฟนๆ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Put yourself in a customer’s shoes”
Brand You to Power
ระยะหลังมานี้ เราจะเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ใช้การตลาดแนวนี้อย่างเปิดเผย คึกคัก ทะมัดทะแมง และบางทีก็โจ๋งครึ้มมากขึ้น
จะให้ดีก็ต้องมีหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กบอกเล่าเรื่องราวแต่วัยเด็ก เสร็จแล้วก็มีหน้าเว็บเป็นของตัวเอง แล้วแตกลูกออกเป็น Facebook และ Twitter หลายๆ Account ที่ครอบคลุมทั้งแอ็กเค้าส่วนตัวและหน้าม้า แต่ก็โพสต์โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญทางด้านอินเทอร์เน็ตและ Social Media โดยเฉพาะ
ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากคือของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์ จาติกะวนิช
หรืออย่างในกลุ่ม ส.ส. ประชาธิปัตย์หัวก้าวหน้าทั้งหลาย เช่นสรรเสริญ สะมะลาภา และอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็ทำได้ไม่เลวเลย
เทรนด์แบบนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ไล่มาตั้งแต่ทีมงานโอบามาของอเมริกา และคาเมรอนในอังกฤษ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่ทั่วโลกเอาอย่างมาใช้ในประเทศตน
ทั้งนี้เพราะคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการทางการเมือง หรือพูดภาษาราชการว่า “ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง” นั้น ยอมรับการใช้หลักการตลาดกับการเมืองมากขึ้น ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อนที่ออกจะเหยียดๆ นักการเมืองที่ใช้การตลาดนำอย่างโจ่งแจ้ง
ขนาดเดวิด โอกิลวี่ เจ้าพ่อโฆษณาผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ก่อตั้งบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของโลกตามชื่อตัวเอง ยังรังเกียจการใช้กลยุทธ์การตลาดกับการเมืองหรือการหาเสียงเลือกตั้ง
เขาเคยกล่าวไว้อย่างครึกโครมว่า “โฆษณาทางการเมืองทั้งหลายแหล่ควรจะเลิกได้แล้ว มันเป็นการโฆษณาที่หลอกลวงเพียงอย่างเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ ณ บัดนี้ มันหลอกลวงอย่างมาก” (“Political advertising ought to be stopped. It's the only really dishonest kind of advertising that's left. It's totally dishonest.”)
อย่างว่าละ ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของโอกิลวี่ แต่เป็นยุคของการสร้างแบรนด์ และเป็นยุคของการตลาด การค้าขาย อะไรๆ ก็เป็นการ “เซ็งลี้” ไปหมด
หลังจากทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายเมื่อสิบปีก่อน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นนักการเมือง ทำตัวเองเป็นสินค้าให้คนเลือกหยิบ
โดยบ้างก็วางตัวเองเป็นสินค้าขึ้นหิ้ง บ้างก็เป็นสินค้าอินเตอร์ แต่ก็มีบ้างที่เป็นแบกะดิน
บางคนที่ใช้การตลาดไม่เก่ง ก็ต้องอาศัยพรรคที่ตัวเองสังกัดเป็น Umbrella Brand คอยคุ้มกะลาหัว เวลาหาเสียง ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” บ้างละ “ปรองดอง” บ้างละ หรือไม่ก็ “กรุงเทพฯ ทราบแล้วเปลี่ยน” บ้างละ
ทว่า กลยุทธ์การแฝงตัวเองภายใต้แบรนด์พรรคโดยไม่มียุทธศาสตร์ Transformation Marketing ที่เป็นส่วนตัว ย่อมมีความเสี่ยงมาก เพราะการสร้าง Umbrella Brand เป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยกระแสที่แรงจริงๆ และต้องทุ่มเททรัพยากร รวมทั้งเงินทองมากมายมหาศาล
จะอาศัยวิธีแทรกซึมนอกแบบหรือ Guerilla Marketing อย่างที่ครั้งหนึ่ง พลตรีจำลอง ศรีเมือง เคยใช้สำเร็จมาแล้วกับพรรคพลังธรรมในยุคต้ัน ย่อมต้องเป็นกรณีพิเศษจริงๆ เพราะถ้าไม่เรียกว่าฟลุ๊ค ก็ต้องบอกว่าโชคดีจริงๆ
ความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองใหม่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ และสมาชิกสภาพเขตฯ ที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำให้เห็นความยากเย็นแสนเข็ญอันนั้น
ถึงแม้ว่าผู้บริหารพรรคฯ จะออกมาวิเคราะห์ความพ่ายแพ้ของตนเองว่ามันเนื่องมาแต่การจัดตั้งหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อมองในเชิง Marketing แล้ว ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ มันช่วยตอกย้ำหลักการทางการตลาดว่ายังคงใช้ได้ดี
สำหรับการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งหน้า แม้เราจะเห็นว่านโยบายหลายข้อของพรรคการเมืองใหม่เป็นประโยชน์และมีลักษณะมองการณ์ไกล อีกทั้งอุดมการณ์ของพรรคการเมืองนี้จะน่านับถือและน่าให้ความสนับสนุน แต่ถ้าขาดกลยุทธ์และการประยุกต์ใช้ Transformation Marketing ทั้งในระดับพรรคและในระดับผู้สมัคร อย่างเข้มข้น ในดีกรีที่ไม่น้อยไปกว่าพรรคการเมืองคู่แข่ง เพื่อสร้าง Competitive Advantage ในเชิงชื่อเสียง แบรนด์ และภาพลักษณ์ที่อยากให้ผุดขึ้นในใจคนได้เป็นอันดับแรก (คือเมื่อผู้ลงคะแนนเสียงคิดถึงนักการเมืองน้ำดีก็ต้องคิดถึงเราเป็นอันดับแรก) พวกเขาก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างเพียงพอ ที่จะสามารถเข้าไปเป็นตัวแปรอันมีน้ำหนัก เพื่อชี้นำการเมืองใหม่ และขจัดความเลวร้ายของการเมืองเก่าอย่างที่หวังไว้ได้
Brand You, Not Real You
แต่เนื่องจาก MBA ฉบับที่ท่านกำลังถืออยู่นี้ เป็นฉบับที่พวกเรา “จัดให้” กับบรรดาผู้ประกอบการน้อยใหญ่ทั้งหลายในเมืองไทย ตามสำนวนพาดหัวบนปกอันเก๋ไก๋ว่า “Of the Entrepreneurs, for the Entrepreneurs, and by the Entrepreneurs”
เซ็กชั่น Marketing ของเราก็ขอสนองนโยบายของบรรณาธิการ ด้วยการ “จัดให้” ด้วยคน
ถือเป็นการทิ้งทวนทางปัญญาในสไตล์ของเรา
เพราะระยะหลังเราเห็นการ Extend ขยายขอบข่ายของ Transformation Marketing ไปสู่กิจการของบรรดา SME อย่างได้ผล
ผู้ประกอบการหลายคนอาศัยตัวเองและเรื่องราวของตัวเอง สร้างชื่อให้กับกิจการค้าของตน หรือที่ตนกุมบังเหียนอยู่ ตลอดจนสร้างฐานลูกค้าและผู้สนับสนุนสินค้าและบริการของตัวเองอย่างกว้างขวาง
ตัน ภาสกรนที และ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นและเราคิดออกทันที
พวกเขาเป็นนักการตลาดที่เก่ง พวกเขาสร้างเครือข่ายลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าในอนาคตอย่างกว้างขวาง ด้วยการใช้ตัวเองและเรื่องราวของตัวเองเป็นท้องเรื่อง และเป็นแบรนด์พร้อมไปในเวลาเดียวกัน
พวกเขารู้จักบริหารชื่อเสียงของตัวเอง มีจังหวะจะโคนที่ดี รู้จักเล่นกับสื่อ รู้จักใช้กลยุทธ์ Free PR และให้ความสำคัญกับการบอกต่อแบบ “ปากต่อปาก” หรือที่เรียกในภาษามาร์เก็ตติ้งว่า Buzz!
โดยผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับก็คุ้มค่า
ทั้งคู่กลายเป็นเศรษฐี และธุรกิจที่พวกเขาสร้างก็ดำเนินไปได้ด้วยดี
นับเป็นความสำเร็จที่ผู้ประกอบการ SMEs ควรเอาเยี่ยง กลยุทธ์และวิถีการตลาดแบบนี้ เหมาะกับ SME ในฐานะที่มีทรัพยากรน้อย จะหยิบฉวยอะไรก็ยาก จึงต้องอาศัยความเชื่อ และความน่าเชื่อถือของตัวเอง เป็นต้นทุน
คีย์สำคัญของวิถีการตลาดแนวนี้คือการวางตำแหน่งในใจคนและการสร้างตัวเองเป็นแบรนด์ ซึ่งต้องอาศัย “Stories” และ “การเล่าเรื่อง” ที่ “ใช่” “แนบเนียน” และ “มีศิลปะ” หรือบางทีก็อาจเข้าขั้น “ดราม่า” และ “sensational” (สำหรับบางคน) แต่ที่สำคัญคือต้องไม่ “หลอกลวง” และเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า
ในต่างประเทศ ผู้ประกอบการที่เดินสายนี้และประสบความสำเร็จจนเติบใหญ่เป็นมหาเศรษฐีระดับโลกมีมากมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็มี Warren Buffet และ Steve Jobs หรือ Bill Gates หรือ Donald Trump หรือ Oprah Winfrey หรือ Martha Stewart เป็นอาทิ
แน่นอนว่าการเดินไปบนหนทางสายนี้ ย่อมมีคนหมั่นไส้ มีศัตรู มีคนไม่ชอบหน้า (พร้อมๆ กับมีแฟน มีสาวก มีคนชื่นชม) แต่เราก็ต้องไม่หวั่นไหว เพราะภาพลักษณ์ที่คนอื่นเห็นเรานั้น ย่อมไม่ใช่ตัวเราแท้ๆ เราเพียงเป็นสินค้าและบริการ ที่ย่อมต้องมีคนรัก ชอบ เกลียด กลัว หรือแม้แต่บูชา ขยะแขยง ฯลฯ เป็นธรรมดา
ก็บอกแล้วไงว่า Key Success Factor ของวิถีการตลาดเยี่ยงนี้คือความรู้เท่าทันตัวเอง คือต้องรู้ว่า “ตัวเราเป็นใคร” และ “มาทำอะไรที่นี่”
แต่อย่าเผลอไปยึดมั่นถือมั่นเสียเองละ!
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2553
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)