คำสนทนาต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงที่เพิ่งเกิดขึ้นกลางดึกของค่ำคืนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้
โดยมันบ่งบอกข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับระบบรักษาพยาบาลของไทย:
“ก่อนอื่นขออนุญาตแจ้งให้ญาติทราบเรื่องค่าใช้จ่ายเบื้องต้นก่อนน๊ะค๊ะ”
“ค่าผ่าตัดและห้องผ่าตัดหัวใจในแบบที่คุณหมอฯ
แจ้งให้ทราบนั้นราคา 1
ล้านบาท
ส่วนค่าห้องซีซียูคืนละ 1
แสนบาทค่ะ...ทางเราจะจัดเตรียมทุกอย่างพร้อมทันทีที่คนไข้มาถึง"
นั่นเป็นคำพูดที่แว่วมาจากปลายสายของประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลเอกชนชื่อเดียวกับพระนคร
ย่านซอยศูนย์วิจัย
ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
พูดกับญาติผู้ป่วยหนักที่กำลังจะถูกส่งต่อไปจากโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่งแถวๆ
ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท
ซึ่งแพทย์เวรที่นั่นพิจารณาแล้วว่าทรัพยากรตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือของโรงพยาบาลแห่งนั้น
ไม่สามารถรองรับคนป่วยได้
จำต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นในละแวกใกล้เคียง
ซึ่งตัวเองประเมินแล้วว่ามีศักยภาพและความพร้อมสูงกว่า
ณ
ห้วงเวลาวิกฤติขณะนั้น
ญาติผู้ป่วยซึ่งกำลังร้อนใจและล้วนไม่มีพื้นฐานความรู้ทางด้านการแพทย์มาก่อนแม้แต่น้อย
ย่อมไม่มีความสามารถที่จะต่อรองได้เลย
พวกเขามีทางเลือกเพียง
2
ทาง
คือยอมรับหรือไม่ก็ปฏิเสธไปเลย
ซึ่งถ้าเลือกทางหลัง
พวกเขาอาจจะต้องรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาเดินทางที่ต้องไกลออกไปและในระหว่างนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ไม่พึงปรารถณาขึ้นกับคนไข้
ในขณะที่ราคาซึ่งจะต้องจ่ายให้กับโรงพยาบาลอื่นก็อาจจะพอๆ
กัน (หรือไม่อย่างไร
ไม่อาจรู้ได้
เพราะราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยขณะนี้
ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยเหมือนกับราคาก๋วยเตี๋ยวหรือราคาสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือซูปเปอร์มาร์เก็ตที่ผู้ขายต้องติดป้ายให้ทราบเป็นแบบเปิดเผยโดยทั่วกันตามกฎหมาย)
ฯลฯ
คำพังเพยที่ว่า
"ไปตายเอาดาบหน้า"
มันช่างผ่าลงตรงกลางใจและก่อให้เกิดความหดหู่ได้จริงๆ
ในสถานการณ์เช่นนั้น
หากพวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว
พวกเขาไม่เคยซาบซึ้งวลีดังกล่าวมาก่อนเฉกเช่นนี้เลยในชีวิตจนกว่าค่ำคืนนั้น!
จะเห็นว่าระหว่างโรงพยาบาลกับคนไข้หรือผู้ใช้บริการนั้น
ฝ่ายหลังย่อมเสียเปรียบได้ง่ายๆ
ในทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า
"ความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงข้อมูลหรือการรับรู้"
(Asymmetry of Information) ซึ่งจะนำไปสู่การได้เปรียบของฝ่ายหนึ่ง
(ในกรณีนี้คือผู้ให้บริการหรือผู้ขายหรือโรงพยาบาล)
และเสียเปรียบของอีกฝ่ายหนึ่ง
(ในกรณีนี้คือผู้ซื้อหรือผู้ใช้บริการหรือคนไข้)
ทั้งในแง่การตั้งราคาแบบไม่เป็นธรรม
หรือตั้งราคาตามใจชอบ
แบบแต่ละคน ทีละคน ไม่เท่ากัน
(Discriminatory
Pricing) และการผูกขาดตัดตอน
ในสังคมไทย
เรามักได้ยินคำพูดของหมอหรือพยาบาลที่ชอบพูดแบบทีเล่นทีจริงว่า
"สำหรับเด็กๆ
นั้น พ่อแม่พูด บางทีก็ไม่เชื่อ
ต้องให้คุณครูพูดเด็กถึงจะเชื่อ
แต่สำหรับคนแก่ ไม่ว่าจะดื้อขนาดไหน
ถ้าหมอพูดก็มักจะทำตาม"
คนส่วนใหญ่เชื่อหมอ
คนไข้ยิ่งเชื่อหมอ
ดังนั้นถ้าหมอกลายเป็นพ่อค้าเสียเอง คนไข้ย่อมลำบาก
สถานการณ์ในเมืองไทยขณะนี้ หมอโรงพยาบาลเอกชน ได้กลายเป็นพ่อค้าไปเสียแล้ว หรือถ้าพูดให้ชัดก็คือได้กลายเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการค้าเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด หรือเพื่อ Maximize Shareholder Value ไปเสียแล้ว
เพราะโรงพยาบาลเอกชนสำคัญๆ ล้วนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งต้องดูแลราคาหุ้นให้ผู้ถือหุ้นพอใจ เพราะต้องเพิ่มทุน ต้องระดมเงิน ต้องเอาเงินของคนอื่นมาใช้ เพื่อลงทุนเพิ่ม ขยายกิจการ เข้าซื้อหรือ Takeover โรงพยาบาลอื่นด้วยเงินสดหรือการแลกหุ้นซึ่งกันและกัน หรือควบกิจการเข้าด้วยกันกับกลุ่มอื่นแล้วแบ่งกันถือหุ้นคนละครึ่งหรือตามสัดส่วนที่ตกลงกัน (Mergers) เพื่อผูกขาดรวบอำนาจธุรกิจไว้ในกลุ่มตน และที่สำคัญคือต้องจ่ายเงินปันผล หรือต้องสร้างอัตราการเติบโตของยอดขายและกำไรอยู่ตลอดเวลาทุกไตรมาส ต้องเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสที่ผ่านมา ต้องเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ต้องบริหารให้มันเพิ่มขึ้นเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซนต์ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพอใจและแสดงถึงศักยภาพของธุรกิจ และหุ้นก็จะเป็นที่นิยมของนักลงทุน โดยราคาหุ้นจะเติบโตยิ่งๆ ขึ้น ตามศักยภาพของกิจการและความนิยมของนักลงทุนดังว่านั้นแล ฯลฯ
เมื่อย่างเท้าเข้าโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันนี้
ผู้ป่วยจะไม่สามารถล่วงรู้หรือประมาณการณ์ได้เลยว่ามันจะจบลงอย่างไรและด้วยราคาเท่าไหร่
เสมือนหนึ่งผู้ป่วยหรือญาติต้อง
"เซ็นเช็คเปล่า"
ให้หมอไว้เติมตัวเลขเอาเอง
ระหว่างนั้น
หมอจะสั่งให้ผู้ป่วยต้องทำโน่นนี่นั่น
X-Ray,
MRI, CT Scan, CAT Scan, ECHO, Ultrasound, ตรวจเลือด,
ตรวจห้องปฏิบัติการ,
ฉีดสี,......เสร็จแล้วก็กลับมา
X-Ray,
MRI, CT Scan, ECHO, Ultrasound, ตรวจห้องปฏิบัติการ
อีกครั้งในวันถัดไป
หรือตามที่หมอวินิจฉัยแล้วว่ามีความจำเป็น...เสร็จแล้วก็จะส่งคนไข้ต่อไปให้กับหมอเฉพาะทางคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาการหรือกลุ่มอาการ
แล้วหมอคนที่สองอาจสั่งให้กลับมาทำ
X-Ray,
MRI, CT, ECHO หรือฯลฯ
ซ้ำอีกรอบ...แล้วอาจต้องส่งต่อไปให้กับหมอเฉพาะทางคนที่
3,
4, 5....ตามความจำเป็น
ทั้งหมดนี้
คงไม่มีผู้ป่วยหรือญาติคนไหนจะมีกะจิตกะใจหรือกล้าลุกขึ้นมาต่อรอง
เพราะความรู้ความเชี่ยวชาญและข้อมูลที่พวกเขามี ตลอดจนอำนาจต่อรอง
ล้วนด้อยกว่าหมอและโรงพยาบาล
ณ ขณะนั้น
ยิ่งการจะนำคนไข้ออกจากโรงพยาบาลยิ่งนับเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ
เพราะต้องต่อรองกับหมอซึ่งจะพล่ามถึงความเสี่ยงต่างๆ
บางทีถึงกับฉายภาพ Worst
Case Scenario ให้เกิดความกลัว
แต่ถ้ามุ่งมั่นจะออกจริงๆ
ก็ต้องเซ็นเอกสารยินยอมเพื่อให้หมอและโรงพยาบาลพ้นมลทินทั้งปวงในกรณีคนไข้เป็นอะไรไปหลังจากนั้น
ตรงข้ามกับพฤติกรรมของโรงพยาบาลรัฐบาล
ที่เมื่อคนไข้ทรงๆ
หรือดีขึ้นบ้างแล้ว
เป็นต้องไล่ให้คนไข้กลับบ้านให้เร็วที่สุด
วิถีธุรกิจแบบนี้
(ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว)
ทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นโดยใช่เหตุ
ญาติผู้ป่วยบางรายถึงกับต้องกู้หนี้ยืมสินหรือบ้างก็หมดตัว
ทั้งๆ ที่บางครั้งการรักษานั้นก็ไม่หาย
จนมีคำพูดเป็นแนวเสียดสีว่า
"คนตายขายคนเป็น"
ยิ่งเดี๋ยวนี้กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ได้ควบกิจการเข้าด้วยกัน
ทำให้เครือโรงพยาบาลเอกชนสำคัญๆ
ทั้งโรงพยาบาลกรุงเทพฯ
สมิติเวช พญาไท เปาโลฯ บีเอ็นเอช
รอยัลอินเตอร์เนชั่นแนล
ซึ่งมีโรงพยาบาลกว่าสี่สิบแห่งทั่วประเทศ
ตกไปอยู่กับกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม
การผูกขาดนี้ยิ่งจะทำให้ต้นทุนรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นไปอีกในอนาคต
โดยการคิดราคาจะยิ่งกลายเป็น
"Discriminatory
Pricing” เต็บรูปแบบ
คือคิดราคาสำหรับคนไข้แต่ละคน
ทีละคน ไม่เท่ากัน...
เราคงสามารถฟันธงได้ตรงนี้เลยว่าคนชั้นกลางจะยิ่งลำบากขึ้นในอนาคต เพราะจะถูกกำหนดราคาแบบเอาแต่ได้โดยกลุ่มผูกขาดนี้
เพราะคนรวยย่อมไม่กระทบ
และคนจนก็สามารถเข้าสู่ระบบการประกันสุขภาพทั่วหน้าของรัฐบาล
การแก้ไขปัญหานี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและการรวมตัวของกลุ่มผู้บริโภคที่จะกดดันให้โรงพยาบาลต้องแสดงราคาของทุกบริการอย่างโปร่งใส เหมือนกับสินค้าที่วางขายในห้างฯ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต มิใช่แสดงแต่ราคาค่าห้องแต่เพียงอย่างเดียว (ซึ่งปัจจุบันราคาค่าห้องนั้น คิดเป็นสัดส่วนน้อยมากของค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลรวม)
นั่นจะช่วยให้ผู้ใช้บริการรับทราบราคาและทำการคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ได้ก่อนตัดสินใจรักษา ว่าบริการแต่ละชนิดราคาเท่าไหร่ และเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ แล้วเป็นยังไง ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ดีขึ้นและมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น โดยสามารถเลือกไปใช้บริการกับโรงพยาบาลที่ตั้งราคาสอดคล้องกับกำลังทรัพย์ของเขาได้ด้วย
นอกจากนั้น
ยังต้องหันกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องของการเพิ่มจำนวนแพทย์
พยาบาล และบุคลากรทางด้านสาธารณสุข
ทั้งโดยการอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเอกชนผลิตแพทย์อย่างจริงจัง
และสมาคมวิชาชีพแพทย์ก็ต้องไม่กีดกันแพทย์ต่างประเทศ
หรือแพทย์ไทยที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่ม Supply ให้มากขึ้น โดยพร้อมกันนั้น ต้องปรับปรุงระบบการบริการของสถานพยาบาลของรัฐให้เพียงพอ ไม่รอคิว สะอาด รวดเร็ว และสะดวกสบาย ให้ยิ่งกว่านี้ ยิ่งเหนือกว่าสถานพยาบาลของเอกชนได้ยิ่งดี
ปัจจุบันรัฐบาลต้อง
Subsidize
นักศึกษาแพทย์คิดเป็นเงินกว่า
5
ล้านบาทต่อคนจนจบหลักสูตร
โดยเมื่อพวกเขาเหล่านั้นจบออกมาไม่นาน
ก็มักถูกโรงพยาบาลเอกชนซื้อตัวไป
นับเป็นการใช้เงินภาษีจากราษฎรไปสนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนได้เปรียบ
สามารถใช้ทรัพยากรที่สังคมช่วยอุ้มชูให้โดยตัวเองไม่ต้องแบกต้นทุน
ให้กลายมาเป็นจักรกลสำคัญในกระบวนการธุรกิจที่จะกลับมาขูดรีดเอากับราษฎรอีกทอดหนึ่ง
คิดๆ
ดูแล้วก็น่าเจ็บใจ
เทคโนโลยีสมัยใหม่บางอย่างอาจช่วยเก็บข้อมูลเบื้องต้นได้บ้าง
ตัวอย่างเช่นอุปกรณ์ของ
FitBit
ที่ช่วยสกรีนขั้นต้นให้ผู้ป่วยได้รู้ตัวตนตลอดว่าถึงจุดไหนควรไปพบแพทย์
ไม่ใช่เป็นอะไรนิดหน่อยก็ต้องไปโรงพยาบาล
โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะเก็บข้อมูลที่จำเป็น
ไม่ว่าจะเป็นค่าของหัวใจ
น้ำตาล ความดัน ฯลฯ
ซึ่งอาจช่วยลดความจำเป็นที่จะต้อง
X-ray,
หรือ
CT
Scan, หรือ
MRI,
หรือ
ECHO
ลง
เป็นการช่วยลดต้นทุนการรักษาพยาบาล
เพราะการเข้าเครื่องพวกนั้นในปัจจุบัน
ต้องเสียเงินหลายหมึ่นบาทต่อครั้ง
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะต้องร่วมเฉลี่ยต้นทุนค่าเครื่องจักร
(Amortization)
หรือช่วยจ่ายค่าเครื่องมือเหล่านั้น
ซึ่งผู้ผลิตต่างประเทศขายมาในราคาแพงมาก
ไม่ว่าของ GE
หรือ
Siemens
คิดเป็นเงินเครื่องละหลายล้านบาท
บางเครื่องหลายสิบล้านก็มี
ทางที่ดีที่สุด
พวกเราต้องรู้จักดูแลตัวเอง
หาความรู้ทางด้านโภชนาการ
หลีกเลี่ยงการกินดื่มอะไรที่เป็นภัยต่อร่างกาย
โดยต้องรู้จักตัวเองให้ดี
รู้จักวิธีการบำรุงรักษาตัวเองเบื้องตน
แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าโรงพยาบาล
ก็จะต้องรู้จักต่อรอง
ไม่ปล่อยให้การตัดสินใจทุกอย่างอยู่ในมือหมอฝ่ายเดียว
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
25 ก.ค. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน ส.ค. 2557
ภาพประกอบ: เบลล่า ราณี และ เจมส์ จิ (จาก www.sabysabynew.blogspot.com)
25 ก.ค. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน ส.ค. 2557
ภาพประกอบ: เบลล่า ราณี และ เจมส์ จิ (จาก www.sabysabynew.blogspot.com)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น