วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

เอาชนะสงครามยาเสพติดด้วยหลักเศรษฐกิจ





ข่าวดาราพัวพันกับยาเสพติด เตือนใจและย้ำให้เห็นความจริงที่ว่า ทุกวันนี้ยาเสพติดระบาดหนักกว่าเดิมมากขึ้นทุกที

ลองเปิดดูรายการข่าว ตามช่องทีวีดิจิตัลทุกวันนี้ ต้องเห็นข่าวเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างน้อย 1 ข่าวต่อวัน

บางวันมีตั้งหลายข่าว เช้าข่าวนึง เย็นอีกข่าวนึง

เห็นแล้ว ทำให้อยากค้นคว้าข้อมูลเชิงสถิติ ขึ้นมาดู

ปรากฏว่า ตามรายงานของหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) นั้น พบว่า ปีหนึ่งๆ มีสถิติการจับกุม เป็นแสนๆ ราย บางปีก็เกินสองแสนราย

แบ่งชนิดใหญ่ๆ ได้เป็น ยาบ้า มากที่สุด (ประมาณร้อยละแปดสิบของทั้งหมด) รองลงมาเป็น ยาไอซ์ เฮโรอีน เอ็กตาซี กัญชาแห้ง กัญชาสด คีตามีน โคเคน และพืชกระท่อม

คิดตามตัวเลขนี้ ถ้าทีวีต้องตามรายงานข่าวการจับกุมทุกครั้ง ก็เป็นอันว่า เราไม่ต้องได้ดูข่าวอื่นกันแล้ว เพราะมันจะเต็บไปด้วยข่าวการจับกุมยาเสพติด ทั้งวันทั้งคืน

เมื่อลอง บวกๆ ตัวเลขงบประมาณเกี่ยวกับการปราบปรามและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดดู ผมบวกของปีล่าสุดได้กว่า 20,000 ล้านบาท

นี่เฉพาะของประเทศไทย !

ถ้ารวมทั้งโลกคงหลายแสนล้าน หรืออาจจะถึงล้านล้าน ต่อปี

ไม่นับว่าต้องใช้เจ้าหน้าที่และสายสืบจำนวนมากมายมหาศาลเพียงใด

สิ้นเปลืองไม่น้อย

แต่ผลที่ได้ กลับสวนทางกับงบประมาณและทรัพยากรที่ใช้ เพราะนับวัน ยาเสพติดจะเพิ่มขึ้นและขี้ยาก็เพิ่มขึ้นด้วย

ในรอบ 40 ปีมานี้ คนติดยาเสพติดเพิ่มขึ้นหลายพันเปอร์เซนต์

ทั้งๆ ที่คนมีการศึกษาแยะขึ้น รู้ดีรู้ชั่วว่าการใช้ยาเสพติดในปริมาณมากๆ นั้น มันอันตราย ถึงตายได้ในเวลาอันสั้น และโทษทัณฑ์ตามกฎหมายก็แรงมากด้วย ถึงขั้นประหารชีวิต

ที่สถานการณ์มันใหญ่โตเลวร้ายมาถึงเพียงนี้ มันก็เป็นไปตามกฏของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกฏธรรมชาติของสังคมชนิดหนึ่ง

กฎธรรมชาตินั้น มีลักษณะอย่างหนึ่งที่ตรงกันทุกกฏ คือหากเราฝืนมันแล้ว จะไม่เป็นผลดี

กฏของเศรษฐกิจง่ายๆ คือ ถ้าของสิ่งหนึ่ง มีคนต้องการมาก แต่จำนวนของมีขายเท่าเดิม ราคาของสิ่งนั้นย่อมต้องแพงขึ้นเป็นธรรมดา

ถ้าของสิ่งนั้นถูกทำให้แพงขึ้น โดยการแทรกแซงบังคับของรัฐบาล แทนที่มันจะมีคนซื้อน้อยลง และหายจากตลาดไปในที่สุด มันกลับแพร่หลายยิ่งขึ้น

เพราะเมื่อของชนิดนั้นแพงขึ้น คนค้าคนขายของประเภทนั้นก็จะได้กำไรมากขึ้น ทำให้ร่ำรวยขึ้น

ทีนี้ พอคนอื่นเห็นเข้า ก็เกิดอยากรวยบ้าง จึงหันมาค้าขายของชนิดนั้นกันมากขึ้น

เมื่อมีผู้ขายแยะขึ้นๆ มันก็ต้องแข่งขันกัน เพื่อจะหาลูกค้า ขยายตลาดออกไป ทำให้คนซื้อเพิ่มขึ้นไปด้วย

ผู้ผลิตที่เห็นช่อง ก็ยิ่งต้องเร่งสร้างโรงงานเพิ่ม เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต แล้วส่งเข้ามาขายในตลาดเพิ่มขึ้นไปอีก

แต่พอราคาของมันกำลังจะลดลง ผกผันตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลของทั้งโลก ก็เร่งปราบปรามมันหนักข้อขึ้นไปอีก ก็เลยยิ่งทำให้ราคาของมันเพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิม แทนที่ราคาของมันจะลดลง

นี่เป็นกฏทางเศรษฐกิจ ที่สามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์ การระบาดของยาเสพติดและจำนวนของขี้ยาในปัจจุบันได้แบบง่ายๆ

คือเมื่อบ้านเมืองเข้ามาควบคุมและปราบปราม ทั้งตรากฎหมายให้การซื้อขายและการเสพ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ประกอบกับการปราบปรามจับกุมอย่างหนัก ย่อมทำให้ราคาของยาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น เป็นเงาตามตัว

ยิ่งควบคุมและปราบปรามหนักข้อขึ้นเท่าไหร่ ราคาของมันยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น

ยิ่งราคาของมันแพงขึ้น ธุรกิจนี้ยิ่งเย้ายวน ดึงดูดพวกพ่อค้าให้หันมาประกอบธุรกิจนี้มากขึ้น 

เราจึงมีพ่อค้ายาเสพติดเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด

จับคนเก่าได้ คนใหม่ก็เข้ามาแทนและเข้ามาเพิ่ม

แม้แต่คนเสพ พอเห็นช่องได้เงินเยอะ ก็กลายเป็นคนขายได้ง่ายๆ

แม้กระทั่งพวกนักเลงปากซอยที่เคยเป็นลูกจ๊อก ลักเล็กขโมยน้อย แต่พอได้เข้ามาจับงานนี้ และมีความสามารถในการค้าขาย ก็สามารถกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ในเวลาไม่นานนัก

เราจึงได้เห็นเศรษฐีใหม่ ประเภทไม่ทราบหัวนอนปลายเท้า จำนวนมากในวงการนี้

ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจกฏของเศรษฐกิจข้อนี้ เราก็ควรแก้ปัญหายาเสพติด โดยใช้หลักการของกฎธรรมชาติของสังคมข้อนี้ เช่นเดียวกัน

เป็นการหนามยอกเอาหนามบ่ง

ทำได้ง่ายๆ โดยการยกเลิกกฎหมายเหล่านั้นเสีย ราคาของยาเสพติด ก็จะต้องลดลง เพราะรัฐบาลเลิกแทรกแซงราคา

แล้วต่อไป ราคาของมันก็จะปรับตัวไปตามกฎของธรรมชาติทางเศรษฐกิจ คือตามความต้องการและตามปริมาณการผลิต

อีกทั้ง งบประมาณที่ต้องใช้ในการปราบปราม ก็จะใช้น้อยลง

แล้วเราค่อยนำงบเหล่านั้นมาให้ความรู้กับคน เพื่อลดความต้องการลง หรือจูงใจให้คนเสพน้อยลง (เรื่องแบบนี้สำเร็จมาแล้วกับกรณีของบุหรี่)

ทีนี้ พอราคายาเสพติดมันลดลงเหลือเม็ดละไม่กี่บาท อาจขายกันเท่ากับยาแอสไพริน พ่อค้าและผู้ผลิต มันก็จะหมดแรงจูงใจไปเอง เพราะกำไรมันจะลดลง บางรายอาจเลิกผลิตไปเลย เพื่อไปผลิตยาชนิดอื่นที่ได้ราคาแทน

เหมือนกับโทรศัพท์บ้านนั่นแหละ ที่ครั้งหนึ่งคนต้องเข้าคิวรอกันเป็นปีๆ ราคาก็แพง จนมีธุรกิจยักษ์ใหญ่ทางโทรคมนาคมหลายรายแย่งประมูลสัมปทานกัน

จะเป็นจะตายก็ต้องให้ได้ จะสามล้านหรือสี่ล้านเลขหมาย ต้องทำทุกวิถีทาง แม้กระทั่งต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลก็ยอม

แต่พอราคาโทรศัพท์มันลดลง และมี Smart Phone มาแทนที่ ผู้ผลิตเหล่านั้นก็เลิกลงทุนบ้าง เลิกกิจการไปบ้าง หันมาลงทุนในโครงข่ายไร้สายแทนบ้าง

อย่าลืมว่า มนุษย์ทุกคนย่อมรักชีวิตตน และมีสิทธิที่จะทำอะไรกับชีวิตตนก็ได้ ตราบใดที่การกระทำนั้นๆ ไม่ไปเบียบเบียนคนอื่น

ดังนั้น ถ้าใครจะใช้สารกระตุ้นเพื่อให้ตัวเองตื่นเต้นบ้างเป็นครั้งคราว มันก็เรื่องของเขา ถ้าเขาอยากเสี่ยง เขาก็ต้องรับผลแห่งความเสี่ยงนั้น

และในเมื่อมนุษย์รักชีวิตตน เขาก็ควรรับผิดชอบตัวเองในเรื่องการใช้ยา ไม่ใช้ยาเยอะเกินปริมาณที่จะเป็นพิษต่อร่างกาย

ถ้าจะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ยาเสพติดบางชนิด ก็เหมือนกับหลายสิ่งที่มนุษย์บริโภคอยู่ในชีวิตประจำวัน

ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล ยา ไขมัน เกลือ แอลกอฮอล์ อาหาร เซ็กส์ การพนัน การนอน หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกาย

ถ้าคนเราบริโภคมันมากเกินไป ย่อมไม่เป็นผลดี

นอนมาก มีเซ็กส์มาก กินน้ำตาลมาก กินยามาก กินไขมันมาก กินเกลือมาก กินอาหารมาก หรือแม้กระทั่งออกกำลังกายมากเกินไป ย่อมเป็นผลร้ายต่อร่างกายทั้งสิ้น

ยาเสพติดก็เช่นเดียวกัน




ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 ตุลาคม 2560

หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก www.manager.co.th ผู้เขียนขอขอบคุณเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้ด้วย

ฟ้าผ่า UBER เหยื่อ! ของความหวังดี




เรื่องที่เกิดขึ้นกับ UBER ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว

Travis Kalanick ผู้ประกอบการซึ่งเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งยวด มหาเศรษฐีผู้สร้าง UBER มากับมือ จนเขย่าวงการธุรกิจโลกอยู่ในขณะนี้ ถูกกดดันให้จำต้องวางมือจากการบริหารกิจการของตัวเอง

เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมนึกถึงสมัยเมื่อ 30 กว่าปีก่อนที่ Steve Jobs ถูกไล่หรือปลดออกจากตำแหน่งบริหารของ Apple Computer ซึ่งเขาสร้างมากับมือ เช่นเดียวกัน

ผมจำได้ว่าสมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ ตอนนั้น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพิ่งกลับมาจาก Kellogg ได้ไม่นาน มาสอนวิชา Strategic Management และได้นำเอาวีดีโอเทป เรื่อง "In Search Of Excellence” ของ Tom Peters และ Robert Waterman มาเปิดให้ดูกัน เพื่อประกอบการบรรยาย

สมัยโน้น หนังสือเล่มที่ชื่อเดียวกันนี้ขายดีมาก นับเป็น Breakthrough ของวงการหนังสือธุรกิจและการจัดการ จนส่งผลให้ Tom Peters กลายมาเป็น Management Guru ชั้นแนวหน้าของโลกคนหนึ่ง

Apple เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาสำคัญของ In Search of Excellence

ผมยังจำได้แม่นยำว่าอาจารย์สมคิดได้ชี้ให้เห็นจุดแตกต่างของ Apple ที่ไม่เหมือนกิจการชั้นแนวหน้าของโลกสมัยนั้น คือวัฒนธรรมองค์กรที่แสดงออกมาให้หนังสารดีสั้น ซึ่งมีการถ่ายทำให้เห็นบรรยากาศการทำงาน การประชุม และสัมภาษณ์พนักงานและผู้บริหารนั้น ว่ามันมีความเป็น "จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋" (ภาษาของแกสมัยโน้น) "ดูไปแล้วก็ไม่ต่างจากบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยที่มาทำกิจกรรมกันสมัยเรียน"

เพราะพนักงานและผู้บริหารของ Apple ล้วนเป็นคนหนุ่มสาว ได้รับการศึกษามาดี จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ พูดจาด้วยความฉะฉาน มั่นใจในตัวเองสูง ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างโน่นนี่นั่น แต่ไม่ค่อยสนใจหรือให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผน ทั้งการแต่งตัวและวิถีปฏิบัติหรือขั้นตอนในการบริหารและการดำเนินธุรกิจ

สมัยนั้น สมัยที่นักธุรกิจยังต้องผมสั้นและผูกเน็กไทใส่สูทสวมรองเท้าหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารยังต้องแต่งตัวเนี้ยบและหวีผมเรียบแปร้ และแบบแผนการจัดการในองค์กรยังให้ความสำคัญกับสายการบังคับบัญชา ระบบอาวุโส และธรรมเนียมธุรกิจ เรื่องแบบนี้ยังถือเป็นเรื่องที่ยัง Unconventional อยู่มาก

ไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญเหมือนสมัยนี้ เพราะวัฒนธรรมองค์กรแบบนั้นแหล่ะ ที่ต่อมาโลกได้รับรู้คุ้นเคยกับมันในนามของ "วัฒนธรรมแบบ Silicon Valley” หรือแบบ "Nerd" ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของบรรดา Dot-com” ในยุค 90s และ Start-ups” ทั้งหลายในปัจจุบัน

วัฒนธรรมแบบนี้ ตอนหลังเมื่อองค์กรขยายตัวขึ้น และต้องข้องเกี่ยวกับ Stakeholders หลากหลายกลุ่มยิ่งขึ้น ร้อยพ่อพันธุ์แม่มิใช่ Core Group ที่คุ้นเคยกันเหมือนเดิม เพราะกลายมาเป็นกิจการมหาชนที่มีหุ้นจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และบรรดาผู้ก่อตั้งและพนักงานรุ่นบุกเบิกล้วนกลายเป็นมหาเศรษฐีตั้งแต่อายุยังน้อย ยึดมั่นถือมั่นในความคิดตัวเองว่าถูกว่าดี.... ทำให้เกิดปัญหาจุกจิกยุ่งยากในเชิงการบริหารจัดการ ที่คนเหล่านี้ไม่ต้องการเกี่ยวข้องอีกต่อไป จนต้องนำ Professional Managers จากข้างนอกเข้ามา แล้วก็เกิดความขัดแย้งกับบรรดา Professional Managers เหล่านั้นในที่สุด

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ Steve Jobs ถูก John Sculley ซึ่งตนเป็นคนจ้างเข้ามาแท้ๆ ปลดออก

เพราะถ้า Steve Jobs ยังมีบทบาทนำอยู่ วัฒนธรรมการทำงานแบบ "จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋" นั้น (ส่วนใหญ่เป็น "จิ๊กโก๋" เพราะ “Nerd หญิง" ยังมีจำนวนน้อยมาก) มันก็จะยังโดดเด่นอยู่ และทำให้องค์กรเกิดความขัดแย้งเสียดสีอยู่อย่างนั้น เพราะตัว Steve Jobs เอง เป็นคนแบบนั้น จึงสร้างและสนับสนุน (จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม) กลุ่มคนแบบเดียวกันขึ้นมาแวดล้อมเขา ทำให้ Professional Manager บริหารงานยาก และถึงแม้ว่าวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้จะเป็นคุณในระยะแรก ทว่า เมื่อองค์กรเติบโตขึ้นแล้ว บรรดานักบริหารและคณะกรรมการตลอดจนผู้ถือหุ้น คิดว่าต้องปรับให้เข้ารูปเข้ารอยเสียจะดีกว่า ฯลฯ (สมัยโน้น ยังไม่มีคำว่า "Bro-Culture” เหมือนสมัยนี้)

พูดแบบสมัยนี้ก็คือ Steve Jobs โดนข้อหาว่านิยมหรือเป็นตัวการที่สร้าง "Bro-Culture” ขึ้นในองค์กร และอันที่จริง สมัยโน้นเขาก็ออกจะมองผู้หญิงไม่ขึ้นสักเท่าไหร่ และชอบพูดคำสบถต่อหน้าพวกเธอเสมอ จึงเป็นไปได้ว่า ถ้าเป็นสมัยนี้เขาอาจโดนข้อหา "Discrimination” หรือ "Noninclusive” เพิ่มอีกกระทงหนึ่ง

ดีที่ว่าสมัยโน้น ยังไม่มีวลี "Political Correctness” เกิดขึ้น หรือมันอาจจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้คนยังไม่ให้ค่ากับมันมากมายถึงขนาดปัจจุบัน

นับว่าต่างกับกรณีของ Kalanick แห่ง UBER

เพราะเขาต้องยอมปลดตัวเอง (จากการกดดันของผู้ถือหุ้น) ด้วยข้อหาว่าไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร กับข้อเรียกร้องของพนักงานอันเกี่ยวข้องด้วยเรื่อง การคุกคามทางเพศ ตลอดจนการใช้คำพูดและการกระทำที่ส่อไปในเชิงหมิ่นแคลนกันในที่ทำงาน อันแสดงเป็นนัยยะว่า UBER ภายใต้การบริหารของเขา ยังมีบรรยากาศของการเลือกปฏิบัติ แสดงออกหลายครั้งด้วยกริยาหรือวาจาประเภทที่ชวนให้รู้สึกว่าถูกหมิ่นแคลนระหว่างเพศ (เช่นเพศชายต่อเพศหญิง หรือต่อเพศอื่น) และระหว่างคนกลุ่มใหญ่ต่อคนกลุ่มน้อย (ระหว่างคนที่ยึดถือวัฒนธรรมต่างกัน เช่นคนที่นับถือศานาคริสต์ ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของกิจการ ต่อคนที่นับถือศาสนาอื่น หรือคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่มาตั้งแต่เกิด ต่อคนที่พูดภาษาอื่นเป็นภาษาแม่มาตั้งแต่เกิด หรือคนอเมริกัน ต่อคนเชื้อชาติอื่น เป็นต้น)

คนที่สนใจรายละเอียดเรื่องนี้ ผมแนะนำให้อ่าน "Covington Recommendations” ซึ่งเป็นรายงานที่ผู้สืบสวนเรื่องนี้เสนอความเห็นให้ต่อคณะกรรมการของ UBER ซึ่งเป็นที่มาของแรงกดดันจากผู้ถือหุ้นที่มีต่อตัว Kalanick

รายงานฉบับดังกล่าว ทำให้เราเห็นความสำคัญของ Political Correctness ที่มีและจะมีต่อแวดวงธุรกิจนับแต่นี้

ธุรกิจจะละเลยเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อีกต่อไป

นับแต่นี้ ศาสตร์การจัดการจะต้องบรรจุเรื่องทำนองนี้เข้าไปในหลักสูตร และกิจการธุรกิจจะต้องสร้างโครงสร้างและ Function งานมารองรับคอนเซปท์งานทางด้านนี้โดยตรง เช่นเดียวกับ Good Governance หรือ Business Ethic หรือ CSR ทว่า ต้องเข้มข้นกว่าหลายเท่าตัว (เปรียบไปก็คงจะต้องเหมือนกับที่รัฐบาลพม่าต้องมี "กระทรวงชาติพันธุ์" อยู่ในโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินด้วย นั่นแหล่ะ)

เอาเป็นว่า ผมจะขอยกประเด็นนี้ไว้ก่อน เพราะ นิตยสาร MBA ของเรา คงจะได้เขียนวิเคราะห์ประเด็นนี้กับการจัดการสมัยใหม่ อย่างละเอียดลึกซึ้ง ในเร็วๆ นี้

ตอนนี้ ผมเพียงแต่ติดใจเรื่องนี้อยู่บางประเด็น และต้องการจะแชร์ให้ผู้อ่านได้รู้ด้วย

คือคนที่ต้องลาออกจากตำแหน่งบริหารสำคัญของ UBER นอกจาก Kalanick แล้ว ยังมี David Bonderman อภิมหาเศรษฐีของโลกอีกคนหนึ่ง ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทด้วย

กิจการ Private Equity ของเขาร่วมลงทุนใน Start-Ups ระดับโลกและในเอเชียจำนวนไม่น้อย

เหตุผลคือ Bonderman ดันไปพูดขึ้นในการประชุมบอร์ด ขณะกำลังประชุมพิจารณากันในประเด็นนี้ว่า "Actually, what it shows is that it's much more likely to be more talking,”

เรื่องของเรื่องคือแกเพียงแต่แหย่กรรมการหญิงอีกคนด้วยประโยค (ที่แกคิดว่า) ตลกๆ นั้น ระหว่างที่กรรมการหญิงคนหนึ่ง (คือ Ariana Huffington ผู้ก่อตั้ง Huffington Post) ออกความเห็นไปว่า การที่ UBER ตั้งผู้หญิงมาเป็นกรรมการแล้วคนหนึ่ง (หมายถึงตัวเธอเอง) ย่อมมีแนวโน้มว่าจะมีคนอื่นตามมา (คือโอกาสที่จะตั้งกรรมการหญิงเพิ่มขึ้น) ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการบริษัทมีความหลากหลายยิ่งขึ้น

แล้วเทปลับที่บันทึกการประชุมครั้งนั้นก็หลุดรอดมาถึงมือสื่อมวลชน (คือ Yahoo Finance)

แหล่งข่าวจากผู้ที่ได้ฟังเทปลับในการประชุมครั้งนั้น อ้างคำพูดของ Huffington ที่พูดว่า "There's a lot of data that shows when there's one woman on a board, it's much more likely that there will be a second woman on the board."

แล้ว Borderman ก็พูดประโยคที่เป็นปัญหานั้นขึ้น

ความหมายของ Borderman คือเขาโจ๊กเป็นนัยๆ ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ "พูดแยะ"

เท่านั้นแหล่ะ เมื่อข่าวนี้แพร่ไป (ในสถานการณ์ที่ UBER กำลังเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันอยู่) ทำให้ผู้คนในแวดวงเทคโนโลยีไม่พอใจกันมาก แล้วก็ขยายตัวไปในแวดวงอื่น เช่น สื่อมวลชน การเมือง และสิทธิมนุษยชน

ทำให้เขาต้องตัดสินใจลาออก โดยเขียนอีเมล์ตอนหนึ่งว่า “I want to apologize to my fellow board members for a disrespectful comment,”

ในฐานะสื่อมวลชนและคนเขียนหนังสือคนหนึ่ง ผมก็เคยได้รับคำติเตียนในทำนองนี้มาแยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบหลายปีหลังมานี้

ขนาดว่าผมเอง เป็นคนระมัดระวังเรื่องการใช้ถ้อยคำอยู่แล้ว ผมไม่เคยใช้คำไม่สุภาพกับใคร แม้แต่นักการเมืองหรือนักธุรกิจที่ทำตัวน่ารังเกียจ ผมยังไม่เคยเขียนด่าด้วยคำที่คิดว่า มันจะเข้าข่าย "เหยียด" หรือ Discriminate” มาก่อนเลย

อย่าว่าแต่เรื่องชนกลุ่มน้อย ผู้ด้อยโอกาส คนจน หรือที่เกี่ยวกับเพศสภาพของกลุ่มต่างๆ ผมก็ไม่เคยเขียนถึงด้วยถ้อยคำที่ทำให้ "เคือง" หรือ "ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" เลย (ยกเว้นว่าสมัยเด็กๆ เคยล้อเพื่อนคนหนึ่งซึ่งมีนิ้วมือจำนวน 11 นิ้วว่า "ไอ้หน่อ" และอีกคนที่ผิวดำว่า "นิโกร" แต่พอโตขึ้นก็เลิก)

แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่ทำให้ผมจำได้แม่น คือในขณะที่ผมพูดเรื่องหมาแมวอยู่ในกลุ่มเพื่อน ก็ได้รับคำตำหนิจากเพื่อนคนหนึ่ง ว่าผมไม่ควรใช้คำว่า "มัน" หรือ "ไอ้ อี" กับบรรดาหมาแมวเหล่านั้น

เธอน่าจะใช้คำว่า 'น้อง' หรือ 'เค้า' หรือ 'นาง' ก็ยังดี" เธอพูดแบบไม่ติดตลก

ตั้งแต่นั้น ผมกับลูกๆ จึงหันมาเรียกชื่อแมวตัวเองว่า "ไอ้คุณชิโก้" (แมวผมชื่อชิโก้ เป็นตัวผู้)
ว่ากันว่า Political Correctness เกินพอดีไปมากในอเมริกา

เช่น แวดวงวรรณกรรมมีปัญหากับนักเขียนผิวขาวผู้ชายที่เขียนนิยายเกี่ยวกับผู้หญิงผิวดำ แวดวงบริหารจัดการก็มีความพยายามจะเลิกใช้คำว่า "Human Resource” และ "Manpower” เพราะถือว่ามนุษย์ไม่ควรถูกลดศักดิ์ศรีให้เหลือเพียงแค่เป็น "ทรัพยากร" และมนุษย์ผู้มีคุณค่าก็มิได้มีเพียงแค่เพศเดียว ฯลฯ 

วงการพระศาสนา ก็เลี่ยงที่จะใช้คำว่า "Man” และ "He” โดยหันไปใช้ "He or She” แทน แล้วต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้คำว่า "They” เพราะมีบางกลุ่มวิจารณ์ว่า "He or She” มันฟังแล้วเหมือนเป็นการบังคับให้คนเลือกเพศได้เพียง 2 เพศเท่านั้น (Gender Binary) โดยไม่คำนึงถึงคนที่ถือตัวเองว่าไม่ได้สังกัดอยู่ใน 2 เพศนี้ เช่น พวก Transgender, Genderqueer, Gender Non-conforming, หรือ Intersex เป็นต้น

อ่านถึงตอนนี้แล้ว ผมไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านรู้สึกอะไรหรือไม่

อันที่จริง การที่ผู้หญิงจะพูดมากหรือพูดน้อยกว่าผู้ชาย มันก็มิได้เป็นเรื่องที่ดีหรือเลว หรือมิได้เป็นอาชญากรรม

ออกจะเป็นเรื่องน่ารักเสียด้วยซ้ำ ที่มีผู้หญิงมาพูดๆ กันให้เราได้ยิน เพราะผู้หญิงก็เป็นกลุ่มที่ชอบสังคมและชอบเม้าท์มอยเจ๊าะแจ๊ะกันมากกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ในความเห็นผม

การที่ UBER จะมีกรรมการเป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้น แล้วกรรมการคนใหม่นั้นจะบังเอิญเป็นคนพูดมาก มันก็อาจจะดีต่อองค์กรก็ได้

หรือมันอาจจะทำให้องค์กรแย่งลง?

ไม่มีใครรู้

การที่เกิดกระแสสังคมกดดันจนทำให้เกิดการกดดันของผู้ถือหุ้นและผู้บริหารระดับสูง จนกรรมการบริษัทต้องลาออกเพราะเรื่องแค่นี้ มันเป็นอะไรที่บ่งบอกว่า แวดวงธุรกิจการจัดการของอเมริกัน ได้เกิดมาตรฐานและค่านิยมใหม่บางอย่างขึ้น

มาตรฐานและค่านิยมใหม่นี้ หากเกินเลยไป ย่อมเป็นเรื่องที่จะต้องเพิ่มต้นทุนในการบริหารให้กับสังคม และอาจจะเหนี่ยวรั้ง Competitive Advantage ของอเมริกาเอง เมื่อเทียบกับคู่แข่งขันอย่างจีน ซึ่งยังไม่ต้องพะว้าพะวงกับเรื่องเหล่านี้

แต่มันอาจจะมีข้อดีก็ได้....ต้อง Observe กันต่อไป

พบกันใหม่ฉบับหน้า


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

25 มิถุนายน 2560