วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ของขวัญปีใหม่: เมื่อ "เงินทอง ไม่ใช่ มายา" และ "ข้าวปลา ก็ เป็นของจริง"



ปีนี้มีเรื่อง Surprise หลายเรื่อง

ตั้งแต่การรัฐประหาร มาจนถึงการตกลงอย่างฮวบฮาบของราคาน้ำมัน และการปลดเจ้าหญิงสูงศักดิ์และดำเนินคดีกับวงศาณาญาติที่เป็นถึงนายตำรวจใหญ่ ซึ่งเก็บสินบนฝังดินไว้จำนวนมากมายมหาศาลอย่างน่าตกตะลึงพรึงเพริด

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงโลกสันนิวาสที่ไม่เที่ยง ทั้งอำนาจ ทรัพย์สินเงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ ต่างถูกพรากไปจากเราได้ทุกเมื่อ เป็นเครื่องเตือนใจให้ใช้ชีวิตโดยความไม่ประมาท

การผันผวนของราคาสินทรัพย์ก็แสดงถึงความไม่เที่ยงด้วย ในช่วงต้นปี ไม่มีใครคาดคิดว่าราคาน้ำมันจะดิ่งเหวอย่างรวดเร็วปานนี้ โดยผลกระทบทันทีทันใดของมันก็ได้ทำให้ราษฎรรัสเซียต้องเผชิญกับความยากลำบากอยู่ในขณะนี้ เช่นเดียวกับการตกต่ำของราคาพืชผลในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย ทั้งยางพารา อ้อย มัน และข้าว

ยังไม่นับราคาทองคำและค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจของโลกในปีหน้า

บทความนี้ จะเป็นบทความสุดท้ายของผมในปีนี้ และตั้งใจมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแฟนๆ นิตยสาร MBA ทุกท่าน โดยจะนำท่านไปสู่ปุจฉาวิสัชนาในเรื่องที่คนส่วนมากสมัยนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด นั่นคือเรื่อง "เงิน"

มีคำกล่าวอันหนึ่งที่เรามักได้ยินได้ฟังเสมอๆ เมื่อต้องคิดหรือถกเถียงกันเรื่องเงิน

"เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง"

คำกล่าวคลาสสิกอันนี้ ฟังดูเหมือนจะเป็นสิ่งจริงแท้

ยิ่งผู้กล่าวคือ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งเคยเป็นถึงอธิบดีกรมกษาปณ์ มีหน้าที่ผลิตเงินตราทั้งระบบในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยังกล้าลาออกจากราชการมาทำกสิกรรม เลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก ดำนา ขับรถไถ และใช้ชีวิตแบบเกษตรกรด้วยแล้ว การที่ท่านฟันธงลงไปถึงเพียงนี้ ย่อมทำให้คนทั่วไป เชื่อถือคล้อยตาม และมักยกเอาคำกล่าวนั้นมาอ้างซ้ำเสมอๆ เมื่อต้องการให้ฉุกคิดถึงเนื้อแท้ของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา

คนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ได้ยกคำกล่าวนี้มาอ้างเสมอคือ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นดั่ง "ซาร์เศรษฐกิจ" ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในยุคที่เริ่มเข้าพัวพันเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมสมัยใหม่

แต่เมื่อลองพิจารณาดูให้ถ้วนถี่ ผมคิดว่าประโยคหลังที่ว่า "ข้าวปลาเป็นของจริง" นั้น คงเถียงได้ยาก

ทว่า ไอ้ที่ว่า "เงินทองเป็นมายา" นั้น ผมว่าถูกแค่ครึ่งเดียว

เพราะเงินทองนั้น แม้มันจะ "สมมติ" ขึ้นมาก็จริงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีส่วนจริงด้วย

จริงทั้งในแง่ของอำนาจซื้อ (เพื่อครอบครองทรัพยากร) จริงทั้งในแง่ของการเป็นสัญญลักษณ์และตัวความมั่งคั่งเอง ที่สำคัญคือมันจริงในแง่ที่เป็นตัวแทนของ "ทุน" หรือ Capital” ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการผลิตและสร้างสรรค์ของสังคมมนุษย์

อย่าลืมว่า อารยธรรมของมนุษย์จะเดินหน้าต่อไปได้ สังคมมนุษย์จำเป็นต้องสั่งสม "ทุน"

แหล่งอารยธรรมในอดีตล้วนเกิดขึ้นในดินแดนที่มนุษย์บางเผ่าพันธุ์สามารถสั่งสมทุนได้มากพอ แล้วทำการลงทุนและผลิตจนเกิดความมั่งคั่ง ส่งผลให้มนุษย์มีเวลาว่างที่จะคิดค้น ทดลอง ผจญภัย และรับความเสี่ยงกับโครงการที่ใหญ่ขึ้นๆ

ผมจะยกตัวอย่างให้ท่านได้เข้าใจง่ายๆ

แบบว่า ถ้าทุกคนดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ผลิตของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้เอง ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์แบบพอกิน และที่เหลือเล็กๆ น้อยๆ แลกเป็นเสื้อผ้าและสมุนไพรรักษาโรคบ้าง ฯลฯ ระบบเศรษฐกิจแบบนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินทอง

แต่ถ้าท่านลองคิดต่อไปอีกสักนิดว่า ภายใต้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงแบบเดิมนั่นแหละ เกิดปีใดปีหนึ่ง น้ำดี ฝนดี ดินดีขึ้นมา แถมครอบครัวของท่านเกิดมีสมาชิกมาช่วยดำนาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เลยปีนั้นปลูกข้าวได้มากเป็นพิเศษ สมมติว่าได้ 1,000 ถัง แต่บริโภคจริงแค่วันละถัง ยังเหลืออยู่อีกตั้ง 1,000-365 = 635 ถัง

ไอ้จำนวน 635 ถังนั้นแหละ ที่เป็น "ทุน" ของครอบครัวท่าน

เพราะมันเป็นน้ำพักน้ำแรงของพวกท่าน เป็นผลลัพท์ของการลงแรงกาย แรงใจ และสติปัญญา เป็นทั้งผลผลิตจากความสุข ความทุกข์ ความเหนื่อย ความสนุก ความตั้งใจ ความพยายาม ความหวัง และการวางแผน คิดคำนวณ ตลอดจน มัดกล้าม เส้นเอ็น และหยาดเหงื่อ...

ดังที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยแต่เป็นกลอนไว้อย่างเห็นจริงเห็นจังว่า

“...จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเป็นกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น ที่สูซดกำซาบฟัน"



ทีนี้ก็มาคิดต่อยอดไปอีก เพราะว่าท่านมิใช่สัตว์ ที่แม้พวกมันยังรู้จักเก็บสะสมอาหารไว้กินในหน้าหนาว ทว่าท่านเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ มีความคิดอ่าน สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถสร้างนฤมิตรกรรมด้วยพลังแห่งปัญญาได้

ท่านจึงต้องคิดหาทางนำ "ทุน" ดังกล่าวนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ (ทั้งต่อส่วนตัวและส่วนรวม) เช่นเอาไปแลกเป็นวัวควายสักหลายตัวเพื่อนำมาช่วยไถนา หรือเอาไปแลกเป็นเครื่องดนตรีมาเล่นกันในครอบครัว หรือเอาไปแลกเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการปั้น ในการแกะสลัก ในการหล่อโลหะ หรือกระดาษและหมึกเพื่อมาขีดเขียนวาดรูป หรือใช้ไปเพื่อให้การศึกษากับตัวเองและลูกหลาน

อารยธรรมย่อมเดินหน้าต่อไปได้ และถ้าทุกครอบครัวมีทุนเหลือ และรู้จักนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ให้มันงอกงาม มันย่อมเกิดการสะสมทุนหรือ Capital Formation ที่กลายเป็นความมั่งคั่งของสังคมในระดับยิ่งๆ ขึ้นไป

เห็นไหมครับว่า ไอ้ข้าวส่วนเกินที่เหลือ 635 ถังซึ่งครอบครัวของคุณยังไม่จำเป็นต้องบริโภคในปีนี้ มันได้กลายไปเป็น "เงินตรา" หรือ Currency ที่ใช้แลกเปลี่ยนไปในตัว

นอกจากว่ามันเป็น "ทุน" ซึ่งถือเป็นทรัพยากรพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิด "การเติบโต" และ "การสั่งสมเพิ่มพูน" ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกในอนาคต

ดังนั้น "เงิน" มันจึงมีอีกด้านหนึ่ง คือมันเป็นตัวเลข เป็นสิ่งที่นับได้ วัดได้ คำนวณได้ หักออกเพิ่มขึ้นได้ เป็นด้านที่มีลักษณะดิจิตัล ซึ่งในเวลาต่อมา เงินที่เป็นตัวเลขนี้แหละที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน

เพราะเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวและซับซ้อนขึ้น การสมมติเอาสิ่งของอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมาเป็น "เงิน" ย่อมมีความจำเป็น เพื่อความคล่องตัวของการแลกเปลี่ยน และการนับหรือวัดว่าทรัพยากรหรือผลผลิตแต่ละอย่างมีค่าเท่าใด และจะเปรียบเทียบว่าใครครอบครองอะไรก็ง่ายขึ้น

เปลือกหอย เบี้ย แร่เงิน ทองคำ กระดาษ หรือแม้กระทั่งตัวเลขในบัญชีธนาคาร

เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์เคยสมมติขึ้นมาแทน "เงิน" และ "ทุน" (และในบางแง่มุมของ "ความมั่งคั่ง”) แล้วทั้งสิ้น

เห็นไหมครับว่าเงินทองนั้นมันเป็นทั้งของสมมติ และในขณะเดียวกันก็เป็นของจริงด้วย

ตราบใดที่ด้านสมมติของมันยังไม่เป็นด้านเด่นหรือด้านหลัก เงินทองย่อมช่วยยังประโยชน์ให้กับการแลกเปลี่ยนผลผลิต และการสะสมทุนเพื่อลงทุนในการผลิตหรือในกระบวนการแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้มารับใช้มนุษย์และการสร้างสรรค์นฤมิตรกรรม ส่งผลให้คุณภาพของชีวิตมนุษย์ดีขึ้น มีทางเลือกในการบริโภค เกิดความอุดมในชีวิต และอารยธรรมของมนุษย์ก้าวหน้าต่อไปได้ไม่สิ้นสุด ตราบที่ทรัพยากรธรรมชาติยังมีเพียงพอ

ระบบเศรษฐกิจมันก็ทำงานของมันไปเรื่อยๆ

ดังนั้น แม้ว่าเงินทองจะเป็นมายา มันก็ไม่ได้สร้างความย้อนแย้งอันใดให้ปวดหัว

ปัญหามาเกิดเมื่อด้านมายาหรือด้านสมมติของมันถูกขับเน้นจนกลายเป็นด้านหลัก เงินทองถูกสร้างขึ้นอย่างมากมายมหาศาล โดยเป็นแต่เพียงตัวเลข มากเกินจำเป็นต่อการผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงมนุษยชาติ มีส่วนทำให้มนุษย์หลงมัวเมาติดยึดกับด้านสมมติของมันจนเข้าใจว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นของจริง

จะเข้าใจเรื่องแบบนี้ จำต้องเล่าย้อนไปเมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา

สังคมอเมริกันสมัยนั้น นอกบ้านกำลังหมกมุ่นอยู่กับสงครามเวียดนาม และในบ้านก็หมกมุ่นกับโครงการประชานิยมต่างๆ ที่เรียกว่า Great Society”

สองปัจจัยนี้ทำให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเกินตัว เกิดปัญหาขาดดุลงบประมาณ ส่งผลให้คนหมดความเชื่อมั่นในเงินดอลล่าร์และพากันนำเงินมาแลกเป็นทองคำตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ทุกรัฐบาลเคยตกลงกันไว้ ณ เมือง Bretton Woods เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้นใหม่ๆ

ทองคำในท้องพระคลังสหรัฐฯ จึงร่อยหรอลงอย่างน่าตกใจ

ประธานาธิบดี ลินดอน จอนห์สัน จึงประกาศไม่ให้ธนาคารกลางรับแลกเป็นทองคำ และต่อมาอีกไม่กี่ปี ประธานาธิบดีนิกสันก็ประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ

ธนาคารชาติสหรัฐฯ สามารถพิมพ์เงินดอลล่าร์ขึ้นมาให้รัฐบาลกู้ไปใช้ได้โดยไม่ต้องมีทุนสำรองเป็นทองคำหนุนหลัง เท่ากับระบบ Bretton Woods ล่มสลายลง ณ บัดนั้น

นั่นเป็นการ "เสก" เงินกระดาษขึ้นมาเองได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Out of Thin Air หรือคว้ามาจากอากาศแบบพวกมายากลชอบทำกัน

นับแต่นั้น เงินได้กลายเป็นเรื่องสมมติเกือบ 100% โดยธนาคารกลางและระบบธนาคารพาณิชย์สามารถ "สร้างเงิน" ขึ้นมาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อีกทั้งบรรดาวาณิชธนากรที่ช่วยสร้างเงินผ่านการคิดค้นตราสารการเงินออกมาขายในตลาดหุ้นแบบมโหฬาร

เงินจึงเป็นแต่เพียงตัวเลข

คำเรียกขานเศรษฐีในภาษาอังกฤษ เปลี่ยนจาก Millionaire เป็น Billionaire และเป็น Multi-Billionaire คือเติบศูนย์ต่อท้ายเข้าไปเรื่อยๆ

นับแต่นั้น เงินจึงมิได้สะท้อนถึง "ทุน" ที่เกิดจากแรงกายและแรงสมองของมนุษย์ เพราะเงินที่เสกขึ้นมาใหม่นี้ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น "หนี้สิน"

ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ช่วยสร้าง "หนี้สิน" ที่เป็นเงินดิจิตัล (คือเป็นแต่เพียงกระดาษและตัวเลขในบัญชี) มากขึ้นๆ อย่างก้าวกระโดดและในจำนวนมโหฬาร เกินกว่าทรัพยากรและผลผลิตพื้นฐานที่สังคมมนุษย์ผลิตได้

นโยบายสร้างหนี้ของรัฐบาลในโลกทุนนิยมคือการให้ธนาคารกลางหรือธนาคารชาติพิมพ์เงินขึ้นมาแล้วนำไปให้ตัวเองกู้ เป็นลักษณะ "อัฐยายซื้อขนมยาย" แล้วรัฐบาลค่อยอัดฉีดเงินจำนวนนั้นเข้ามาในระบบเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง เช่น นโยบาย QE หรือ Quantitative Easing ของรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลของสหภาพยุโรป และรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นต้น

ผมไม่มีตัวเลขในมือ แต่เข้าใจว่าถ้าเราไปเอากราฟของช่องว่างระหว่าง Financial Assets กับ Real Assets โดยรวมของโลกมาดู จะเห็นว่ามันถ่างขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในช่วงที่หุ้นขึ้นและเกิดฟองสบู่แบบปัจจุบัน ช่องว่างจะยิ่งถ่าง

เห็นหรือยังครับ ว่า "เงินทอง" (ที่แทนด้วยกระดาษและตัวเลขในบัญชีธนาคารหรือบัญชีหลักทรัพย์) มี "หนี้สิน" เป็นส่วนสำคัญไปเสียแล้ว และด้านสมมติของมันได้กลายเป็นสรณะขึ้นมาอย่างน่าเสียดาย

มนุษย์กลุ่มที่เข้าถึงระบบธนาคารหรือระบบกู้หนี้ยืมสินและตลาดทุนหรือการระดมทุนได้ง่ายจึงสามารถกอบโกยเงินทองได้ง่ายกว่ามนุษย์ที่เป็นแต่เพียงเจ้าของแรงกายและแรงสมอง

แต่การเพิ่มจำนวนกระดาษและตัวเลขในบัญชี มันก็ช่วยให้มนุษย์สบายใจและรู้สึกมั่งคั่ง อีกทั้งยังรู้สึกว่ากำลังซื้อเพื่อครอบครองทรัพยากรและความสะดวกสบายต่างๆ ของตัวเองดีขึ้น (เพราะด้านที่เป็นของจริงของเงินก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน)

โลกทุนนิยมจึงพากันสร้างหนี้สินขึ้นมามากมาย

สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อการบริโภค บัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อการศึกษา เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อซื้อหุ้น เพื่อเอสเอ็มอี เพื่อการลงทุน ทั้งผ่านธนาคารพาณิชย์ และผ่านตลาดทุน ที่มีทั้งตราสารหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารอนุพันธ์ สารพัดสารพัน จนนับไม่ถ้วน

โดยที่มนุษย์ส่วนใหญ่ได้หันมานิยมเงินตรา นิยมตัวเลขในบัญชี นิยมเงินกระดาษ และนิยมก่อหนี้เพื่อนำไปสร้างเงินสร้างตัวเลข แทนที่จะมุ่งเน้นการผลิต การสร้างสรรค์ การคิดค้นเพื่อหาทางแปลงทรัพยากรธรรมชาติให้มารับใชมนุษย์ หรือการสร้างความมั่งคั่งและความเจริญเติบโตของอารยธรรมด้วยสมองและสองมือ หันไปเก็งกำไรในราคาสินทรัพย์และกิจกรรมเงินต่อเงินกันแยะขึ้น

มนุษย์หันเข้าสู่ด้านสมมติของเงินยิ่งกว่าก่อน

ข้อสำคัญคือมนุษย์เราลืมหรือแกล้งลืมไปว่าเงินตราที่ถูกสร้างด้วยหนี้นั้นมันมักมีข้อแม้เสมอ เพราะ "หนี้สิน" มันเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่เมื่อเวลาผ่านไปมันต้องมีการอ้างสิทธิเพื่อครอบครองทรัพยากรอะไรบางอย่าง

ดังนั้น "ฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์" ที่สร้างขึ้นมาได้โดยหนี้สินหรือกระดาษที่เสกขึ้นมาจากโรงพิมพ์ธนบัตรเฉยๆ (เช่นโครงการ QE ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโร) มันย่อมมีแนวโน้มกลับสู่ความเป็นจริงเสมอ เฉกเช่นแรงโน้มถ่วงของโลก

ไม่มีต้นไม้ใดที่จะโตขึ้นๆ จนถึงก้อนเมฆ

ปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติในปัจจุบันอันหนึ่งคือวัฏจักรขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ดังกล่าว ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงต่อระบบทุนนิยมโลก และในระยะหลังวัฏจักรเศรษฐกิจ (คือเกิดฟองสบู่แล้วฟองสบู่แตกแล้วก็กลับมาเกิดฟองสบู่อีกแล้วก็แตกอีก...) หดสั้นลงเรื่อยๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำนวนหนี้สินที่เสกขึ้นมานั้นมันเพิ่มมากขึ้นๆ นั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อราคาสินทรัพย์ลดลงแบบฮวบฮาบและทันที (ตอนฟองสบู่แตก) ผู้คนก็ไม่สามารถชำระหนี้สินที่เสกขึ้นมาก่อนหน้านั้นได้ ทำให้สถาบันการเงินล้ม ธุรกิจล้ม คนตกงาน และผู้คนรู้สึกว่าตัวเองจนลง (เพราะมูลค่าทรัพย์สินที่ตัวเองถือครองอยู่มันลดลง)

เดือดร้อนถึงนักเศรษฐศาสตร์และผู้กุมนโยบายเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะวัฏจักรขาลงแบบนี้ได้โดยการ "เสก" เงินเพิ่มเข้าไปอีกในระบบเศรษฐกิจ

แนวคิดแบบนี้เป็นของ J.M. Keynes และสาวก ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจตกต่ำเพราะดีมานด์มวลรวมมีไม่เพียงพอ จึงต้องสร้างดีมานด์ด้วยวิธีเสกโครงการประชานิยมต่างๆ ขึ้นมาเป็นช่องทางในการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบโดยรัฐบาล

โครงการอัดฉีดเงินที่เรียกว่า QE ก็มีที่มาจากแนวคิดแบบนี้เอง

มันเป็นการเสกเงินขึ้นมาเพื่อให้เกิดกิจกรรม "เงินต่อเงิน" โดยหวังว่าปัญหาฟองสบู่แตกจะคลี่คลายไปเองและจะไม่ฉุดเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะตกต่ำ

พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์คือคนคิดนโยบายแบบนี้เพื่อต้องการฝืน "วัฏจักรเศรษฐกิจ" นั่นเอง

ทั้งโดยการเพิ่มปริมาณเงิน การกดดันอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าความเป็นจริง และการพยุงราคาสินทรัพย์ทั้งระบบ

แต่คนลืมนึกไปว่า เงินที่เสกขึ้นมานั้น มันมีลักษณะเป็น "หนี้สิน" เสียเป็นส่วนใหญ่ มันจึงเท่ากับว่า เราพร้อมใจกันประวิงปัญหาไปในอนาคต

อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่เกิดฟองสบู่แตก หนี้สินที่รัฐบาลต่างๆ ต้องเสกขึ้นมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจไว้ ต้องเป็นหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆๆๆๆ

ดังนั้น มันจะต้องกลับสู่ความเป็นจริงสักวันหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเมื่อใด

อาจจะเป็นวันที่เกิดสงครามใหญ่ วันที่เกิดโรคระบาดร้ายแรง วันที่ฟ้าถล่มดินทลาย หรือวันที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะอีกไม่นาน

ผมหวังว่า แนวการวิเคราะห์ข้างต้นจะช่วยให้ท่านเข้าใจปัญหาของเศรษฐกิจโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และคงช่วยให้ท่านวางท่าทีต่อทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ได้ถูกต้องยิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะสามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงในเชิงการลงทุนได้แม่นยำขึ้นนับแต่นี้

พบกันใหม่ปีหน้า ซึ่งจะเป็นปีที่น้ำมันถูก เงินของเราจะเหลือเมื่อเติมน้ำมันเต็มถัง และเงินที่เหลือจะถูกนำไปชำระหนี้หรือซื้อข้าวของเครื่องใช้ ตั๋วเครื่องบินก็จะถูกลง แต่สินค้านำเข้าจะแพงขึ้นเพราะเงินดอลล่าร์แข็ง และที่สำคัญดอกเบี้ยก็จะขึ้นด้วยอย่างแน่นอน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
28 ธันวาคม 2557

วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สองนคราแบงก์ชาติ รัสเซียกับไทย สไตล์ป้องค่าเงิน



เมื่อคืนก่อน หลังเที่ยงคืนไม่นาน (ตามเวลามอสโคว์) ธนาคารชาติรัสเซียได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจาก 10.5% เป็น 17% เป็นอันว่าเช้านั้น ชาวรัสเซียและตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกเลยต้องตื่นขึ้นมาพบกับ Surprise กัน

ตลาดหุ้นไทยวันนั้นก็ถูกเทขายไปด้วย

ท่านผู้อ่านทุกคนที่ติดตามข่าวสารย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าค่าเงินรูเบิ้ลของรัสเซียถูกรบกวนมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยคราวนี้ก็เพื่อปกป้องไม่ให้ค่าของมันรูดลงไปอีก เพราะรัสเซียเกรงว่ามันจะเป็นสาเหตุของ Financial Crisis สถาบันการเงินล้ม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับไทยตอนปี 2540

ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ เงิน 1 ดอลล่าร์แลกเงินรูเบิ้ลได้ 69.7068 รูเบิ้ล (อ้างจากกราฟของ Bloomberg) ในขณะที่ตอนต้นปี หนึ่งดอลล่าร์แลกได้เพียง 33 รูเบิ้ล

ค่าเงินรูเบิ้ลตกต่ำลงกว่า 50% แต่ก็ยังสวิงมากอยู่หลังจากประกาศขึ้นดอกเบี้ย แสดงถึงความไม่มั่นใจต่อนโยบายนี้ว่าจะ "เอาอยู่" จริงหรือ

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ประธานาธิบดีปูตินเพิ่งจะออกมาประกาศลั่นว่ารัสเซียจะไม่ยอมเป็นเหยื่อของนักเก็งกำไร จะปกป้องต่อสู้ทุกวิถีทาง ถึงกับเปรียบเทียบเหตุการณ์ปัจจุบันกับสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่รัสเซียสู้กับฮิตเลอร์ผู้รุกรานแบบไม่คิดชีวิต แล้วก็เอาชนะกองทัพเยอรมันจนได้ และถึอเป็นจุดพลิกผันของสงคราม ซึ่งการเสียสละครั้งนั้นได้นำเสรีภาพมาสู่ยุโรปทั้งมวล

แต่ปัญหาของรัสเซียขณะนี้ไม่ใช่ฮิตเลอร์ แต่เป็นการลดลงอย่างฮวบฮาบของราคาน้ำมัน ทำให้ภาษีที่เคยเก็บได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงกว่าครึ่ง และอย่าลืมว่าหนึ่งส่วนสามของจีดีพีรัสเซียขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมพลังงาน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่รัฐบาลของประธานาธิบดีปูตินไปส่งเสริมอุดหนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครน ทำให้ชาติมหาอำนาจตะวันตกแซงชั่นเข้าให้ (ดังนั้นใครอย่าคิดว่าการแซงชั่นโดยมหาอำนาจตะวันตกไม่สำคัญ)

การแซงชั่นส่งผลให้การค้าขายและธุรกรรมการเงินของบริษัทรัสเซียกับชาติตะวันตกที่เคยคล่องตัว ทำยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้ยืมเงินทองและเข้าถึงแหล่งทุนโลก

จุดแข็งของรัสเซียเพียงอย่างเดียวในขณะนี้อยู่ที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งยังคงมีมากกว่าหนี้ต่างประเทศ ถึงกว่าสองเท่าตัว นับว่าต่างกับสถานการณ์ของไทยในปี 2540 มาก เพราะขณะนั้น ทุนสำรองของเราส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนของคนอื่นที่นำเข้ามาแลกเป็นเงินบาทเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ไทย และเราดันเอาทุนสำรองก้อนนั้นไปพยุงค่าเงินบาทในตลาดซื้อขายเงินตราแล้วขาดทุนป่นปี้ เป็นเหตุให้ต้องหันไปพึ่งไอเอ็มเอฟ จนเป็นที่มาของการขึ้นดอกเบี้ยแบบมหาโหด

จะเห็นว่ารัสเซียขึ้นดอกเบี้ยก่อน โดยยังมิได้นำทุนสำรองออกมาพยุงค่าเงินอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยของเราในสมัยโน้นทำกลับกัน

หมากต่อไปของธนาคารชาติรัสเซียหากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้ผลคือการใช้มาตรการ Capital Control อย่างที่มหาเธย์ โมฮัมมัด เคยนำมาใช้อย่างได้ผลหลังจากวิกฤติต้นยำกุ้งของเราเริ่มลามไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

Capital Control คือการจำกัดการนำเงินเข้าออกประเทศหรือจำกัดการแลกเงินรูเบิ้ลเป็นเงินตราสกุลอื่นและในทางกลับกันนั่นเอง

อย่าลืมว่า สมัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจออกมาปกป้องค่าเงินบาทนั้น เงินบาทยังคงผูกติดอยู่กับเงินดอลล่าร์ในราคา 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ โดยพวกหัวกะทิของธนาคารชาติมั่นใจว่าราคานั้นเหมาะสมแล้ว ในขณะที่บรรดานักเก็งกำไรหรือ Hedge Fund ที่กำลังโจมตีค่าเงินบาทในขณะนั้น เชื่อว่าราคาเงินบาทที่แท้จริงต้องต่ำกว่านั้นมาก

ธนาคารชาติลืมไปว่า ผู้ที่ถือเงินบาทในมือมากที่สุดมิใช่บรรดานักเก็งกำไรพวกนั้น แต่คือราษฎรไทยทั้งประเทศ

ดังนั้น เมื่อราษฎรไทยหมดความเชื่อมั่นในเงินบาท พากันไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเงินของตัวมิให้เสื่อมค่าลง หรือเพื่อเก็งกำไรก็ตามที เงินบาทย่อมรูดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากมีข่าวรั่วว่าธนาคารชาติขาดทุนจากการปกป้องค่าเงินเป็นจำนวนมากนั่นเอง

มันเป็น "ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ"

ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่ถือเงินรูเบิ้ลมากที่สุดในขณะนี้ก็คือราษฎรรัสเซียนั่นเอง มิใช่บรรดานักเก็งกำไรทั้งหลาย

หากพวกเขายังคงไม่เชื่อมั่นว่านโยบายขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะสามารถ "เอาอยู่" พวกเขาอาจทยอยนำเงินรูเบิ้ลมาเปลี่ยนเป็นเงินดอลล่าร์หรือเงินสกุลแข็งอื่น ก่อนที่ธนาคารชาติจะออกมาเล่นหมากต่อไป เพราะพวกเขาย่อมรู้ว่าถ้ามี Capital Control เมื่อไหร่ เงินของพวกเขาจะ "ติดคุก" เมื่อนั้น

เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตามนับแต่นี้


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 ธันวาคม 2557
ภาพพลเอกประยุทธ์ จันโอชา จับมือกับประธานาธิบดีปูติน 
ภาพจากคุณวาสนา นาน่วม

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

มนุษย์จะไปต่อยังไง เมื่อเครื่องจักรเก่งขึ้นทุกวัน




เพื่อนเก่าผมคนหนึ่ง เธอเป็นคนน่ารักและมองโลกในแง่ดี เธอทำงานอยู่ที่สำนักงาน FAO ของสหประชาชาติประจำประเทศไทย วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องของเธอเกิดนึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่า "สายชำระ" ไม่ออก จึงลองใช้บริการของ Google Translation Service ดูบ้าง

ทันทีที่เธอพิมพ์คำภาษาไทยลงไป แล้วคลิกไอคอน "Translate” บนหน้าจอก็ปรากฏคำว่า "Late Payments” หรา

เรื่องนี้จึงได้กลายเป็น "โจ๊กประจำออฟฟิส" นับแต่บัดนั้น

เมื่อเธอเล่าเรื่องดังกล่าวให้ผมฟัง ผมลองเปลี่ยนมาพิมพ์คำว่า "สายฉีดก้น" ดูบ้าง ผลลัพธ์ดูดีขึ้นมาทันตาเห็น เพราะ Google Translation ได้ให้คำว่า "Bottom Hose” มาแทน ซึ่งฟังดูแล้วใกล้เคียงกับความหมายที่เราต้องการกว่าคำแรกมาก

และด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลองให้ถึงที่สุด ผมลองเปลี่ยนคำว่า "ก้น" เป็น "ตูด" และพิมพ์คำว่า "สายฉีดตูด" ลงไป ผลปรากฏว่าคำแปลของ Google กลายเป็น "Hose Ass” ไปเฉยเลย

ผมอดขำไม่ได้ เลยหวนนึกถึงเรื่องเล่าของพระยาอนุมานราชธน สมัยที่ท่านเป็นราชบัณฑิตและกำลังจัดทำพจนานุกรรมภาษาไทยกันอยู่ ท่านไม่สามารถหาคำอธิบายความหมายที่เข้าท่าๆ ของคำว่า "ก้น" กับ "ตูด" ได้ ว่าสองคำนี้ควรต่างกันอย่างไร คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก จนวันหนึ่งระหว่างที่ท่านกำลังเดินไปทำงาน (ท่านเดินไปทำงานทุกวันจากบ้านท่านแถวสุรวงศ์ไปสนามหลวง) ขณะเดินผ่านย่านเยาวราช ก็ประจวบเหมาะกับเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นซนกันอยู่ และอีท่าไหนผมจำรายละเอียดไม่ได้ ท่านไปได้ยินเด็กคนหนึ่งตะโกนพูดกับเพื่อนๆ ว่า "ก้นมีไว้นั่ง และตูดก็มีไว้ขี้ไง เอ็งไม่รู้เหรอ"...ท่านก็เลย "ปิ๊ง"

เลยกลายมาเป็นศัพท์บัญญัติที่ว่า "ก้น น. ส่วนเนื้อล่างหรือส่วนท้ายของลำตัว, โดยปริยายหมายความถึงบริเวณก้นด้วย เช่น ล้างก้น; ส่วนล่างของภาชนะ เช่น ก้นหม้อ, ส่วนสุดของห้วงหรือแอ่ง เช่น ก้นบ่อ ก้นสระ ก้นคลอง, ตรงข้ามกับปาก; ส่วนสุดที่เหลือ เช่น ก้นเทียน ก้นบุหรี่.” และ "ตูด น. รูก้น ว. นูนขึ้น, สูงขึ้น, เช่น เนื้อตูดขึ้นมา; ยื่นออกไป เช่น ปากตูด.” (อ้างจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 หน้า 7 และหน้า 574)

แต่ลองคิดดูดีๆ นิทานเรื่องนี้ชักไม่ตลกเสียแล้ว เพราะมันกำลังชี้ให้เห็นถึงหน่ออ่อนของความเปลี่ยนแปลง ที่เมื่อได้รับการพัฒนาต่อยอดและก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งแล้ว อาจจะยิ่งใหญ่ ส่งผลกระทบกว้างขวางและลึกซึ้งในอนาคต

มันแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าคอมพิวเตอร์เริ่มแปลภาษาคนได้แล้ว แม้มันจะยังไม่เก่งและแปลถูกแปลผิด เพราะภาษาคนแต่ละภาษา รวมตลอดถึงไวยากรณ์ และหลักการใช้ภาษา มันยุ่งยากซับซ้อน

ทว่า มันก็เริ่มแปลได้บ้างแล้ว เพียงแต่ทักษะของมันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น อุปมาเหมือนเด็กหัดพูดหรือนักแปลที่เพิ่งหัดแปล แต่เมื่ออินทรีย์แก่กล้าขึ้น ใครจะไปรู้ว่าอะไรจะเกิดตามมา

เรื่องแบบนี้เราต้องอาศัยจินตนาการประกอบ

ย้อนไปสักสามสิบปีก่อน ใครจะคาดคิดว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องเท่าหม้อแกงที่ต้องแบกไปไหนมาไหนด้วย และพูดได้ในรัศมีใกล้ๆ จากเสาสัญญาณซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ สายจึงขาดเป็นระยะๆ จะกลายมาเป็น Smartphone เครื่องเล็กจิ๋ว ไม่มีปุ่มเพราะใช้วิธีสั่งงานโดยการสัมผัส สามารถพูดคุยกันได้ทั่วทุกมุมโลก ถ่ายรูปได้ ส่งข้อความ เสียง และภาพถึงกันและกันได้ และยังใช้แทนแผนที่ เข็มทิศ ปฏิทิน ปรอท เครื่องคิดเลข บัญชีรับจ่าย นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี เครื่องเล่นเกมส์ ฯลฯ แถมทำงานแทนคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วทันใจ และรับคำสั่งและพูดกับเราเป็นภาษามนุษย์ผ่าน Natural Language Processing Software (เช่น Siri) และทำตัวเป็นห้องเรียนและมหาวิทยาลัยผ่าน MOOC ได้อีกด้วย

พลังการคำนวณของไมโครโปรเซสเซอร์ชิพและขนาดของหน่วยความจำที่เร็วขึ้นและขยายขึ้นหลายล้านเท่า ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้าน Multi-sensors และความก้าวหน้าทางการผลิต ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นจริงขึ้นได้และกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ทั้งๆ ที่มันนอกเหนือจินตนาการของคนส่วนใหญ่ในสมัยโน้น เว้นเสียแต่ว่าเขาเหล่านั้นเป็นแฟนนิยายวิทยาศาสตร์

ท่านที่ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคงทราบแล้วว่า คอมพิวเตอร์สมัยนี้ทำได้แม้กระทั่งสั่งให้พริ้นเตอร์พิมพ์อวัยวะมนุษย์เทียมที่ใช้เปลี่ยนถ่ายได้จริง (3D Printing) สั่งให้รถยนต์ขับไปเอง เลี้ยวเอง ถอยเอง จอดเอง โดยไม่มีคนขับก็ได้ (Google Car) สั่งให้ขับเครื่องบินทิ้งระเบิดหรือสอดแนมเองโดยไม่มีกัปตัน (Drone) สั่งให้เก็บข้อมูลการเจ็บป่วยจำนวนมากมายมหาศาล เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์โรคของหมอถูกต้องแม่ยำขึ้นก็ได้ (ผมได้ข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในประเทศไทยได้สั่งเข้ามาใช้กันบ้างแล้ว) ยังไม่นับว่ามันสามารถตอบคำถามในรายการเกมส์โชว์และเล่นหมากรุกชนะแชมเปี้ยนที่เป็นมนุษย์ อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบางาน (หรือแย่งงาน) ในสำนักงานและในโรงงานประเภททักษะต่ำ ได้นานแล้ว

พลังและความเร็วของชิพกับขนาดของหน่วยความจำซึ่งใหญ่ขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้านดิจิตัลเทคโนโลยี ซึ่งสามารถทำให้ข้อมูลทุกชนิดแปลงมาเก็บในรูปดิจิตอลไฟล์ (01010101...) ได้เหมือนกันและเสมอหน้ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ เสียงเพลง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และข้อมูลที่ได้จาก Sensors แบบต่างๆ นี้เอง ที่ทำให้เรื่องราวที่เคยปรากฏแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์เป็นความจริงขึ้นมา

ทุกวันนี้ เราถึงแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข่าวสาร คลิป ภาพยนตร์ เพลง ข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ แผนที่ เอกสาร และสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่าน Social Networks ได้ภายในลัดนิ้วมือเดียว

ในหลายแง่มุม คอมพิวเตอร์ทำงานล้ำหน้าสมองมนุษย์ไปแล้ว

ถ้ารัฐบาลจีนปัจจุบันรื้อฟื้นการสอบจอหงวนขึ้นมาใหม่ คอมพิวเตอร์คงได้ตำแหน่งจอหงวนกันทุกปี เพราะการสอบจอหงวนนั้นเน้นทดสอบความจำเป็นหลัก

ฉันใดก็ฉันนั้น Google Translation หรือ "กูเกิ้ลแปลภาษา" คงจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้แน่

ถ้าท่านลองคลิกดูจำนวนภาษาบนหน้าจอ Google Translation ที่เปิดให้บริการแล้วในขณะนี้ ท่านจะพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้นถึง 71 ภาษา รวมภาษาไทยของเราด้วย โดยภาคภาษาจีน มีอยู่ถึง 2 เวอร์ชั่นคือแบบ Simplified และแบบ Traditional

และอย่าลืมว่ามันเป็นของฟรี!

ดังนั้น ถ้าผมมีอาชีพมัคคุเทศน์ หรือนักแปล หรือเลขานุการ หรือเสมียน ผมคงหวั่นไหวว่าสักวันหนึ่ง Google Translation จะมาแทนที่ทักษะและบริการของผม

แน่นอน พวกเราคงไม่คาดหวังงานแปลระดับวรรณกรรม เพราะคอมพิวเตอร์คงยังไม่ลึกซึ้งในรสคำขนาดนั้น (อย่างน้อยก็ในขณะนี้ ทว่าในอนาคตมันอาจจะพัฒนาไปได้) แต่งานพื้นๆ อย่างจดหมายโต้ตอบ เอกสารสำนักงาน รายงานการประชุม รายงานประจำปี หรือแม้กระทั่งบทภาพยนตร์และงานข่าวหรือแถลงการณ์และงานประชาสัมพันธ์ง่ายๆ คอมพิวเตอร์คงทำแทนเราได้แล้ว โดยงานที่ยากขึ้นบางชนิด เราอาจใช้บริการ Google Translation ในเบื้องต้นได้ แล้วค่อยส่งต่อให้บรรณาธิการขัดเกลาเพิ่มเติมให้เกิดความสละสลวยก็จะง่ายขึ้นและเบาแรงลงแยะ

ผมทดลองนำบางเสี้ยวของงานเขียนเรื่อง "อสรพิษ" ซึ่งถือเป็นวรรณกรรมชั้นยอดของ แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนรางวัลซีไรต์คนล่าสุด มาให้ Google ลองแปลดู ก็พบว่าความไพเราะยังห่างไกลจากสำนวลแปลของ Marcel Barang ผู้รอบรู้และละเมียด ถึงแม้จะสามารถให้ความหมายที่ดีและถูกต้องในบางท่อนซึ่งง่ายๆ แต่สำหรับบางท่อนที่ยากๆ นั้น Google ยังนับว่า "มั่วเต็มที"


ท่านผู้อ่านลองอ่านดูเอาเองเถอะ... "จวนจะเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนรอนแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำนุ่มนวลอ่อนโยนลง ท้องฟ้าปร่งโล่งเหมือนโดมแก้วผลึก เสี้ยวเมฆบางเบาบนเส้นขอบฟ้าเหนือทิศตะวันตกเมื่อต้องแสงตะวันมีสีสันงามประหลาด รูปทรงต่างๆ นานาของมันเร่งเร้าก่อให้เกิดจินตนาการ เขาได้แต่นั่งนิ่งมองดูเมฆเหล่านั้นเหมือนกำลังเข้าฌาน เขาเห็นเมฆเหล่านั้นเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน เป็นป่าดงพงพี เป็นไม้ใหญ่โดดเดี่ยวซึ่งกิ่งก้านของมันถูกหักรานด้วยพายุ เป็นเนินที่มีรูปลักษณ์เยี่ยงหญิงสาวกำลังนอนตะแคง...” (อ้างจาก "อสรพิษ", "Venom", สำนักพิมพ์แมวคราว พ.. 2545, หน้า 81)

Google แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Practically the evening Heat, light and sunny down, The vivid red sun is gentle softening. Chinedu crystal clear sky like a dome. Thinly slice the clouds on the horizon to the north west, the sun colorful beauty bizarre shapes its numerous congregations causing imagination. He just sat there in silence for those clouds look like a meditation. He saw those clouds a mountain complex. The jungle. A solitary tree, its branches, which were broken by Hurricane Frances. A hill that looks like the girl is lying on its side....”

โดย Marcel Barang แปลได้งดงามกว่ามากว่า "The afternoon was coming to an end. The light was softening, and the dark-red sheen of the sun was fading. The sky was a deep dome of crystal, clear and vast. Thin shred of clouds on the horizon to the west took on wondrous hues under the last sunrays. Their ever-changing shapes enticed the imagination. He sat still, looking at those clouds as if in a trance. He saw them as tangled mountains, as thick jungle, as a solitary tree whose branches had been shorn by storms, as hillocks in the shape of woman lying on her side...” (หน้า 28)

และย่อหน้าที่มีคำผรุสวาทผสมด้วยบ้างนั้น เห็นได้ชัดว่า Google Translation ไม่เข้าใจถึงความลึกและซับซ้อนของภาษาไทยเลย เช่น "ทรงวาดมีความพึงใจอย่างยิ่งที่ได้เรียกเขาว่าไอ้แป ไอ้เหี้ยแป หรือไอ้สัตว์กะหมาแป เรียกอย่างจงเกลียดจงชังและเหยียดหยาม มีความสุขที่ได้เน้นย้ำกับตัวเองหรือกับคนอื่นๆ ในหมู่บ้านถึงปมด้อยของเขา...” (หน้า 84) โดย Google ให้คำแปลว่า "Yaowarat had the pleasure to have known him, but I believe students or students I & Dog Pet students. Called animosity and contempt Happy to be emphasized to themselves or to others. In the minority of his village ...”

คงอีกนานที่คอมพิวเตอร์จะสามารถแปลงานของ Shakespeare และ Hemingway ได้เอง

กระนั้นก็ตาม ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ (หรือถ้าพูดถึงที่สุดแล้วก็คือ "ความรู้ใหม่ๆ" ของมนุษย์นั่นเอง) มักนำความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมาให้เราเสมอ และการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่ออนาคต วิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และฐานะทางเศรษฐกิจของเรา

เพราะเทคโนโลยีมันทำให้เรามีคู่แข่ง ทำให้ของถูกลง หรือจู่ๆ ก็เพิ่มปริมาณสินค้าขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เช่นกรณีของความรู้ใหม่ในการเจาะน้ำมันหรือก๊าซบนชั้นหินลึกที่เรียกว่า Fracking ของกิจการพลังงานในสหรัฐฯ ที่ช่วยให้สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันน้อยลง ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงลดลงด้วย ส่งผลให้ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ดีขึ้น และค่าเงินแข็งขึ้น จนกระทบต่อทุกคนในโลก

ลองพิจารณาดูดีๆ ว่าแนวโน้มราคาทองคำต่อไปจะเป็นเช่นไร หากค่าเงินดอลล่าร์ยังคงแข็งขึ้น และราคาน้ำมันอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาหุ้น ปตท. และ ปตท.สผ. จะเป็นเช่นไรในอนาคต

นี่ยังไม่นับว่าเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกอื่นซึ่งกำลังจะเข้าที่เข้าทางในอนาคตอันใกล้ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนขับรถยนต์เติมน้ำมันน้อยลง และบ้านเรือนใช้ไฟฟ้าที่ได้จากแสงอาทิตย์กันหมด

ใครจะได้ใครจะเสีย และที่สำคัญ ตัวเราจะเสียอะไร หรือตัวเราต้องไปยืนอยู่ตรงไหน เพื่อแต่งตัวและเตรียมตัวที่จะตักตวงผลประโยชน์ เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ผู้คนในโลกสมัยใหม่ต้องคำนึง

การจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในระดับนี้มีได้ทางเดียว คือต้องหมั่นให้การศึกษากับตัวเองอยู่ตลอดเวลา หัดสังเกตุสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง แม้กระทั่งจิตใจของตัวเอง เก็บบทเรียนของตัวเองและจากผู้อื่นเป็นเครื่องเตือนใจ ให้สติตั้งมั่น รู้จักใช้เหตุผล รู้จักเปลี่ยนแปลง และพัฒนาความคิดความอ่านและปัญญาของตัวเองให้สูงขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น และแยบคายขึ้น ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป อายุมากขึ้น ก็ยิ่งจำเป็นเพราะถ้าเราอยู่เฉยๆ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไป ทักษะและวิธีคิดของเราอาจล้าสมัย 

มันเป็นความเสี่ยงแบบหนึ่ง คือเสี่ยงกับการ“ตกยุค” และ “ล้าสมัย” หรือ “หมดประโยชน์ไปโดยปริยาย” 


นี่ยังไม่นับว่า ตลอดช่วงชีวิตเรายังถูกกดทับด้วยความเสี่ยงประเภทอื่นอีกสารพัด เช่นเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ต่อภัยธรรมชาติ และความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งปวง ฯลฯ

ที่สำคัญคือความเสี่ยงอันเนื่องมาแต่ "วิกฤติเศรษฐกิจ" ที่อาจ “พราก” ทรัพย์และความมั่งคั่งทั้งหมดที่เราสู้อุตส่าห์หามาได้ทั้งชีวิต ไปจากเราจนหมดตัวในคราวเดียวเลยก็ได้

ทว่า ตราบที่เรายังครอบครองความรู้ความสามารถและทักษะที่เชี่ยวชาญอันเหนือชั้น เราก็ยังคงจะสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้ทุกเมื่อ โดยมีเครื่องจักรช่วยผ่อนแรง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
1 ธันวาคม 2557
รูปประกอบ: แดนอรัญ แสงทอง และหนังสือ "อสรพิษ" ฉบับสองภาษา
จากเว็บไซต์ www.daen-aran-saengthong.blogspot.com/