วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Competing for the Future




"Whoever fights monsters should see to it that in the process he does not become a monster. And when you look into an abyss, the abyss also looks into you."
Friedrich Nietzsche


ผมรู้จักโปรไฟล์ของท่านผู้อ่านนิตยสารฉบับนี้ดี ผมจึงไม่คิดว่า แฟนๆ MBA จะอินโนเซนส์พอจะเชื่อว่าการสัประยุทธ์โดยมี "อำนาจรัฐ" เป็นเดิมพัน ระหว่าง "Thaksin and Co." กับ "Non-Thaksin Network" จะบรรเทาเบาบางลงหลังจากจบวิกฤติรอบนี้ไปแล้ว

เพราะถ้าเปรียบเป็นมวยสากล ก็อาจอนุมานเอาได้ว่าเพิ่งจะเข้ายกที่ 5 หรือ 6 โดยยกที่ผ่านมา นักมวยทำการแลกหมัดกันอย่างดุเดือด งัดเอากลเม็ดเด็ดพลายสารพัด ทั้งเปิดหน้าและชกใต้เข็มขัด จนถึงเลือดตกยางออก อีกทั้ง กองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายก็ฮึ่มๆ กันจนถึงขั้นตะลุมบอนและทำลายข้าวของ เป็นเหตุให้ทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ชมที่เป็นกลางๆ (ซึ่งมีอยู่แยะ แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล และถูกปฏิบัติต่อเหมือนไม่มีตัวตน) ตลอดจนเพื่อนฝูงในต่างประเทศหวั่นใจ

ทั้งสองฝ่ายต่างก็สูญเสีย บาดเจ็บล้มตาย ขมขื่น แต่ก็ยังคิดหวังเอาเองอยู่ลึกๆ ว่านักมวยฝ่ายตัวยังคงมีคะแนนนำ และจะยืนระยะได้จนถึงยกสุดท้าย หรืออย่างน้อยก็ถึงยกที่เป็นหมุดหมาย...ก็คือ "วันนั้น"

แน่นนอน แม้นักมวยและโปรโมเตอร์จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร และรู้ว่า "เราต่างก็ไม่ใช่เทพ ไม่ใช่มาร" และ "ต่างก็มาจากสำนักเดียวกัน" ทว่า กองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ (หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้) และ "อิน" ไปกับการต่อสู้ ต่างก็เกลียดชังกันแบบร้าวลึก และต่างก็อวดอ้างว่าฝ่ายตนเป็น "ฝ่ายเทพ" โดยเหยียดฝ่ายตรงข้ามว่าต่ำและไม่ใช่มนุษย์

ฝ่ายหนึ่งว่า "เชื่อทักษิณ โง่เป็นควาย" ส่วนอีกฝ่ายก็โต้ว่า "เชื่ออภิสิทธิ์" ก็โง่เป็นควายเช่นกัน ฝ่ายหนึ่งว่า "ทักษิณเป็นผู้ก่อการร้าย" อีกฝ่ายก็ว่า "อภิสิทธิ์เป็นทรราช" อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อระฆังยกใหม่ดังขึ้น ฝ่าย Non-Thaksin ซึ่งกุมอำนาจรัฐอยู่ จำเป็นต้องเป็นฝ่ายเดินหน้า รุก และเป็นฝ่ายกระทำ โดยหวังว่าจะ "น็อคเอ้าท์" อีกฝ่ายให้ได้ในยกนี้...ฯลฯ

สถานการณ์จะเป็นยังไงต่อ จะน็อคหรือจะชนะคะแนน หรือจะล้มมวย หรือจะเจราจาให้พี่เลี้ยง "โยนผ้า" เราก็ต้องคอยดูกันต่อไป...

นั่นเป็นเรื่องของมวย !

แต่ความเป็นจริงย่อมมิใช่มวย เพราะการสัประยุทธ์ระดับนี้ มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิต ทรัพย์สิน และอนาคตของพวกเรา ตลอดจนลูกหลานของพวกเราทุกคน

ผมย่อมเศร้าใจที่นับแต่นี้ไป ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความเสี่ยงยิ่งกว่าเดิม (ทั้งที่ธรรมดาอยู่กรุงเทพฯ ก็เสี่ยงมากอยู่แล้ว) และผมก็เชื่อว่าประชาชนคนธรรมดาจำนวนมากคิดแบบนั้น เพราะพวกเรามิได้มีกองกำลังอารักขาหรือจะสามารถโยกย้ายครอบครัวไปต่างประเทศ หรือเข้าไปขออาศัยในค่ายทหารในเวลาฉุกเฉินได้ง่ายๆ แบบผู้มีอำนาจและมีทรัพย์ทั้งหลาย

ผมไม่รู้ว่าคนอื่นคิดยังไง แต่ผมย่อมไม่อยากเห็นความรุนแรง หรือเผชิญกับวิกฤติแบบที่ผ่านมาอีก

ประสบการณ์สอนผมว่า การช่วงชิงอำนาจในสังคมมนุษย์ เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติ แม้สิ้นทักษิณและสหายไป ที่เหลือก็ยังจะแย่งชิงอำนาจกันอยู่ดี โดยดีกรีของการแย่งชิง จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องเพราะทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า เมืองไทยจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงอำนาจที่มีความสำคัญมากๆ ในอนาคตอันใกล้

ทุกฝ่ายต่างก็ซุ่มออกแบบโครงสร้างอำนาจ จัดทัพ และดำเนิน Preemptive Strategy เพื่อช่วงชิงพื้นที่อำนาจ หรือ Shape สภาพแวดล้อมเชิงอำนาจให้เป็นคุณต่อฝ่ายตน และ Positioning ตัวเองไว้ในจุดที่คิดว่าจะได้เปรียบที่สุดเมื่อ "เวลานั้น" มาถึง

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทักษิณและสหายก็ได้ส่งสัญญาณไปสู่ชนชั้นนำในสังคมไทย ทั้งที่อยู่ในหน่วยงานที่เป็น State Apparatus และในภาคเอกชนทั้งมวล ว่ากลุ่มของเขาเองยังคงมีฤทธิ์ ยังมีทรัพยากร และมีความเชี่ยวชาญในการจัดการ สามารถ Financing และ Organized ผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ที่คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้รวมตัวสนับสนุนเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหนือความคาดหมายของผู้คนจำนวนมาก

ที่ผ่านมา ปรากฎการณ์ "เกียร์ว่าง" ที่เกิดขึ้นในระบบราชการ ย่อมมาจากการที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกิดความลังเล อันเนื่องมาแต่คลื่นความถี่ (และความแรง) ของสัญญาณดังกล่าวที่ถูกส่งมาด้วยอีกโสตหนึ่ง จึงกลัวว่าหากดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดลงไปในขณะที่ยังไม่แน่ใจว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในอนาคต อาจจะส่งผลต่อเส้นทางอาชีพในระบบราชการของพวกเขาได้เช่นกัน

การเผากิจการของเอกชนบางแห่ง ก็เป็นการส่งสัญญาณถึงกลุ่มทุนในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งมวล ว่าควรวางตัวอย่างไรนับแต่นี้

นี่คือสงครามเพื่อแย่งชิงอนาคต !

เป็นสงครามที่มีเป้าหมายเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในจิตใจคน เพื่อจะนำไปสู่ส่วนแบ่งของอำนาจรัฐในอนาคตนั่นเอง

ผมเองมีความหวั่นวิตกมาก ว่าสงครามแห่งอนาคตครั้งนี้จะเลยเถิด กลายเป็นสงครามกลางเมืองใหญ่ที่ไม่เฉพาะชนชั้นนำห้ำหั่นกันเองเหมือนที่เป็นมาในอดีต แต่จะลามปามถึงผู้คนทุกชนชั้นในสังคมที่จะถูกเสี้ยมให้จับอาวุธขึ้นมาฆ่าฟันกันเองด้วย

เพราะนอกจากหัวขบวนหลักของทั้งสองฝ่ายที่เผชิญหน้ากันอยู่ขณะนี้ ดูเหมือนจะมีทรัพยากรและกำลังพอฟัดพอเหวี่ยงก้ำกึ่งกันแล้ว ความขัดแย้งอันเป็นข้ออ้างหรือ "อาหาร" ของสงครามครั้งนี้ ยังคงเป็นเรื่องที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างของสังคมเศรษฐกิจไทยและจะแก้ไขได้ยากยิ่ง

ผมเชื่อว่า ผู้อ่านนิตยสารฉบับนี้ แม้จำนวนมากจะมีจุดยืนอยู่ตรงข้ามฝ่ายทักษิณและสหายก็ตาม ย่อมไม่อินโนเซนส์พอจะโต้แย้งว่า ประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดงนั้น ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมและถูกเอารัดเอาเปรียบในเชิงโครงสร้าง

พวกเราต้องเข้าใจว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเกือบ 75% ของ GDP (ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความมั่งคั่ง) มาจากธุรกิจอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และแถบอีสเทินร์ซีบอร์ดเท่านั้น ภาคเกษตรกรรมมีส่วนเพียง 20% และภาคการท่องเที่ยวประมาณ 5-6% โดยที่กว่าสามในสี่มาจากธุรกิจกลางคืน

ลองคิดง่ายๆ ว่าประเทศไทยมีประชากร 63 ล้านคน อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีสเทินร์ซีบอร์ดประมาณ 15 ล้านคน นั่นก็หมายความว่าประชาชนเพียง 20% เท่านั้นที่สร้างความมั่งคั่งได้ถึง 75% (ให้กับ GDP) และหากเอาสัดส่วนนี้มาคิดเทียบแบบ Rule of Thumb ก็อาจอนุโลมได้ว่า ประชาชนประมาณ 80% ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และอิสเทรินซีบอร์ด เป็นคนจน (และก็อาจจะอนุโลมเทียบกับตัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศได้เช่นเดียวกัน)

ก็จะมีกันสักกี่คนเล่า ที่สามารถมีบ้านหรือคอนโดอยู่ในย่านสุขุมวิท สีลม สาทร ราชดำริ หลังสวน หรือตามหมู่บ้านเศรษฐีที่มี Facilities ครบครัน ฯลฯ หรือในเขตเมืองชั้นในได้ ถ้าไม่มีมรดกตกทอด...คน 80% เหล่านั้นย่อมอยู่กันตามมีตามเกิด คือถ้าไม่ออกนอกเมืองอันไกลสุดกู่ ก็อยู่ตามห้องเช่าเล็กๆ หรือตามชุมชนแออัดซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในกรุงเทพฯ

ฉะนั้น ผมจึงไม่แปลกใจที่รู้ว่า พวกที่เป็นผู้จุดไฟเผาบ้านเผาเมืองรอบที่ผ่านมาเป็นคนกรุงเทพฯ มิใช่คนอิสานที่มาร่วมชุมนุม

นั่นเป็นจุดอ่อนของสังคมที่ช่องว่างของรายได้และความมั่งคั่ง ถ่างกว้างเกินไป

สิ่งนี้ย่อมเป็นอันตรายยิ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว เมื่อมันถูกบรรจุอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งดูแคลนการเลือกตั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถหาวิธีการอื่นที่สร้างสรรค์กว่ามาทดแทนได้

มันยิ่งทำให้ระบบการ Share อำนาจ ยิ่งมีปัญหา แล้วก็ย้อนกลับไปซ้ำเติมปัญหาช่องว่างของรายได้และความมั่งคั่ง ซึ่งในที่สุดก็จะเป็น "อาหาร" อันโอชะของความเกลียดชัง และเป็นข้ออ้างของ "สงครามแห่งอนาคต" อีกทอดหนึ่ง

ถึงเวลาแล้วหล่ะ ที่คนธรรมดาอย่างพวกเราจะต้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลง เพื่อขจัดเงื่อนไขของความเหลื่อมล้ำกันนี้ให้สิ้นซากไปด้วยสันติวิธี

ก่อนที่ผู้คนจะสิ้นหวังและถูกครอบงำด้วยความกลัวยิ่งไปกว่านี้ แล้วเลือกเอาความรุนแรงเป็นสรณะ


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

27 พฤษภาคม 2553

วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Primum Non Nocere จรรยาบรรณผู้นำ



ในสมัยโบราณ คนทั่วไปมักคิดกันไปเองว่า "ผู้ปกครอง" ย่อมเป็นผู้มีบุญญาธิการ อาวตารลงมาเพื่อ "ปกครอง" โดยเฉพาะ แม้แต่ผู้นำหรือคณะผู้นำสูงสุดของกิจการธุรกิจหรือองค์กรสมัยเมื่อไม่นานมานี้ ก็ยังถูกมองกันว่าต้องเป็นคนพิเศษที่เกิดมาเพื่อการนั้น หรือสืบทอดมาจากครอบครัวซึ่งสมาชิกต่างก็มีความสามารถพิเศษในเชิงการปกครอง

แต่เมื่อการศึกษาในเชิง "การจัดการสมัยใหม่" หรือ Modern Management แพร่หลายมากขึ้น ผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผู้ปกครอง หรือที่เรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ว่า "ผู้บริหาร" หรือ "ผู้จัดการ" หรือที่เรียกตามตำแหน่งว่า "CEO" หรือ "นายกรัฐมนตรี" หรือ "ประธานาธิบดี" หรือที่เรียกตามหมู่คณะว่า "ชนชั้นปกครอง" หรือ "บอร์ด" หรือ "โปริสบูโร" ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งพอจะอนุโลมเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "Management"


Modern Management เริ่มเปลี่ยน Approach การมองกลุ่มคนเหล่านี้ ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับตำแหน่งเหล่านี้ (office) ว่าเป็นเพียง "อาชีพ" อาชีพหนึ่ง (a specific organ doing a specific kind of work and having specific responsibilities)

นั่นหมายความว่า "ผู้ปกครอง" หรือ "ผู้บริหาร" หรือ Management ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่คล้ายกับ แพทย์ พยาบาล สถาปนิก ตำรวจ ทหาร วิศวกร ทนายความ ครู นักข่าว หมอดู หรือช่างฝีมือ ฯลฯ

ท่านผู้อ่านย่อมเคยได้ยินคำว่า Professional Management หรือ Professional Manager มาบ้าง ไม่มากก็น้อย

เพราะถ้ามันเป็นเพียงอาชีพหนึ่ง ก็ย่อมสามารถมีใครก็ได้ที่ได้รับการฝึกฝนมา จนมีความเชี่ยวชาญและช่ำชองพอจะมารับหน้าที่ "ปกครอง" หรือ "บริหาร" กิจการ หรือ องค์กร หรือแม้กระทั่งประเทศชาติให้เกิดความร่มเย็นและมั่งคั่งได้ เช่นเดียวกับคนที่สามารถฝึกเป็นหมอ (มาเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์) ครู (เพื่ออบรมสั่งสอนกุลบุตรธิดา) ทนาย (เพื่อใช้กฎหมายให้เกิดยุติธรรม) ทหาร (เพื่อใชอาวุธยุทโธปกรในการรบ) หรือวิศวกร ได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อมันถูกมองว่าเป็นอาชีพเฉพาะทางเช่นนี้ ก็แน่นอนว่ามันย่อมต้องมี "จรรยาบรรณ" ของอาชีพหรือประจำอาชีพผู้ปกครองด้วย เช่นเดียวกับ จรรยาบรรณแพทย์ จรรยาบรรณครู จรรยาบรรณสื่อ จรรยาบรรณผู้พิพากษาหรือนักกฎหมาย เป็นต้น

มีหนังสือและบทความจำนวนมากที่เขียนเรื่อง "จรรยาบรรณของผู้บริหาร" แม้แต่ Business School ชั้นนำของโลกหลายแห่ง ก็ได้บรรจุวิชาเหล่านี้ลงไปในหลักสูตร MBA ด้วยแล้ว

Peter Drucker เคยเขียนว่าในประเทศอังกฤษนั้น ผู้พิพากษามักจะตัดสินให้พวกเมาแล้วขับที่เป็นบัณฑิตจาก Oxford หรือ Cambridge หรือที่มาจากโรงเรียน Public School มีชื่อทั้งหลาย ให้ได้รับโทษหนักกว่าคนทั่วไป และกรณีเหล่านี้ก็มักจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมากเป็นพิเศษ

เขาได้ยกตัวอย่างพาดหัวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ว่า "Eton graduate convicted of drunken driving." เป็นต้น

นั่นเป็นเพราะคนทั่วไปย่อมคาดหวังว่าชนชั้นปกครองหรือคนที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อเป็นผู้ปกครอง (หรือผู้บริหารในภาษาสมัยใหม่) ย่อมต้องมีมาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมสูงส่งกว่าคนธรรมดา

"No one expects an Eton education to produce temperance leaders. But it is still a badge of distinction, if not of priviledge." ดรักเกอร์ว่างั้น (อ้างจาก Peter Drucker, Management: Tasks, Responsibilities, Practices, Harper&Row 1974 หน้า 366)

สำหรับดรักเกอร์แล้ว จรรยาบรรณและความรับผิดชอบข้อสำคัญของผู้ปกครอง สรุปได้ด้วยคำละตินที่รู้จักกันในนาม Hipprocratic Oat ว่า "Primum Non Nocere" แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "Above all, not knowingly to do harm." หรือ "First, do no harm."

Drucker ใช้คำว่า "เป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม" (the basic rule of an ethics of public responsibility) เพราะวาจา การกระทำ และพฤติกรรม ตลอดจนการตัดสินใจของผู้ปกครองนั้น มันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ตาม (ผู้ถูกปกครองในองค์กรนั้นๆ) และสังคมโดยรวม (มากน้อยขึ้นอยู่กับว่าองค์กรที่เขาปกครองอยู่นั้นเป็นบริษัท รัฐวิสาหกิจ กรม กระทรวง หรือประเทศ)

ผู้ตามจึงจะสามารถไว้วางใจผู้นำของเขาได้อย่างสนิทใจ

"There are important areas where managers, and especially business managers, still do not realize that in order to be permitted to remain autonomous and private they have to impose on themselves the responsibility of the professional ethic. They still have to learn that it is their job to scrutinize their deeds, words, and behavior to make sure that they do not knowingly do harm." ดรักเกอร์ว่างั้น

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ค. 2553

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ายุค นปช.ยึดเมือง



ในการปาฐกถาครั้งหนึ่ง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เคยพูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ 2475 เสียก่อน ก็ไม่แน่ว่า หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ บริพัตร ซึ่งนั่งฟังอยู่ในห้องนั้นด้วย อาจจะได้ดำรงตำแหน่งรัชทายาท

คำหยอกล้อนี้ มิใช่ไม่มีมูลเอาเสียเลย เพราะสมเด็จปู่ของท่านผู้นั้น คือสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 และทรงกำกับราชการสำคัญรองจากองค์พระมหากษัตริย์ จนเกือบตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งไม่ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา

แต่เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติโดยมิได้ทรงเจาะจงผู้ที่จะสืบราชสมบัติ คณะราษฎรจึงข้ามพระองค์ท่านกลับไปยังสายของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งขณะนั้นได้เสด็จทิวงคตไปก่อนหน้าแล้ว จึงได้อัญเชิญพระโอรส คือพระองค์เจ้าอานันทมิหดล ขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 8 ดังที่พวกเราได้ทราบกันดีอยู่แล้ว

สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ทรงมีพระชายา 1 พระองค์คือ หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร และมีหม่อมอีก 1 ท่านคือ หม่อมสัมพันธ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นโอรสของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ที่ประสูติแต่หม่อมสัมพันธ์ จึงมีสถานะเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจุไรรัตนศิริมาน ซึ่งเป็นพระราชธิดาของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรฯ ที่ประสูติแต่หม่อมเจ้าประสงค์สม

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ม.ร.ว.จัตุมงคล นั้นเป็นสาย "เมียหลวง" แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นสาย "เมียน้อย"

ในวัยเด็ก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้รับการศึกษาชั้นเลิศแบบผู้ดีอังกฤษ โดยผ่านทั้งโรงเรียน Cheam และโรงเรียน Rugby ซึ่งเป็น Public School ที่มีชื่อเสียง และยังได้เข้าศึกษาต่อที่ Pembrook College มหาวิทยาลัย Oxford จนสำเร็จในสาชา PPE ซึ่งเป็นยอดของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น อีกทั้งยังได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Georgetown ในสหรัฐฯ จนได้รับปริญญาโททางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เคยเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสมัยนั้นเขาก็เป็นดาวสัมมนาและยังเป็นคอลัมนิสต์ปากกาคม ที่มีข้อเขียนในเชิงการเมืองและการระหว่างประเทศลงตีพิมพ์ใน ผู้จัดการรายสัปดาห์, Bangkok Post, Far Eastern Economic Review, The International Herald Tribune, และ The Asian Wall Street Journal เป็นประจำอีกด้วย

ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เขาได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกัมพูชาและอินโดจีนอย่างรุนแรง เขาไม่เห็นด้วยที่ไทยเดินตามก้นจีน โดยสนับสนุนเขมรแดงให้ทำสงครามยืดเยื้อกับรัฐบาลกัมพูชาที่มีเวียดนามหนุนหลัง

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เมื่อพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วประกาศนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" เขาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาอยู่ในคณะที่ปรึกษาหนุ่มที่เรียกกันว่า "บ้านพิษณุโลก" อันโด่งดัง

ตัวเขา และพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ตลอดจน ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีบทบาทอย่างมากในการเจรจาสงบศึกเขมรในยุคนั้น เป็นอันสิ้นสุดยุคสงครามอินโดจีนที่รบกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนานลงโดยเด็ดขาด ส่งผลให้เงินทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญี่ปุ่น ไหลเข้ามาลงทุนในไทยอย่างมโหฬาร เป็นสาเหตุหนึ่งของ "ภาวะฟองสบู่" ในเวลาต่อมา

แต่เขาก็ต้องลาออกจากคณะที่ปรึกษา เพราะถูกกดดันจากกองทัพ ในกรณีที่พลเอกชวลิต ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น วิพากษ์วิจารณ์การคอรัปชั่นของรัฐบาล โดยเขาได้ย้อนให้ "ทหารกลับไปปัดกวาดบ้านตัวเองเสียก่อน"

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เขาโดดเข้าสู่วงการเมืองด้วยการร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย กับ ดร.อำนวย วีรวรรณ โดยได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

ตอนนั้น ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้ติงว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ น่าจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากกว่าถ้ายังอยู่ในแวดวงวิชาการ และเขาก็ยังมิได้แสดงฝีไม้ลายมือในเชิงงานวิจัยอันลึกซึ้ง ฝากไว้ให้กับวงวิชาการไทยเลย

แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นในถนนการเมือง เพราะเมื่อพรรคนำไทยฝ่อไป เขาก็เข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลชวน ซึ่งเขาก็ได้ฝากผลงานอันน่าประทับใจไว้ในช่วงที่กองกำลัง God Army บุกเข้ายึดสถานฑูตพม่าที่ถนนสาธร

เขาได้แสดงความกล้าหาญ ยอมแลกเป็นตัวประกันไปส่งกองกำลังดังกล่าวจนถึงชายแดนไทย-พม่า

วันที่เขาชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เขากล่าวว่าจะตั้งใจบริหารนครแห่งนี้อย่างเต็มความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพราะเป็นเมืองที่บรรพบุรุษของเขาได้ทรงก่อตั้งและสร้างความเจริญสืบมา

ผลงานของเขาในฐานะผู้ว่าฯ กทม. มิได้โดดเด่นอันใด จนกระทั่งเมื่อช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ซึ่งเขาได้แสดงภาวะผู้นำอย่างน่ายกย่อง ด้วยการอยู่โยงบัญชาการผ่อนหนักเป็นเบาอย่างเอาจริงเอาจัง และอย่างระมัดระวังที่จะไม่ไปเข้าข้างฝ่ายใด โดยยึดเอาปัญหาของชาวบ้านเป็นหลักใหญ่ ด้วยมาตรการอันถือเอาความปลอดภัยของลูกน้องเป็นสำคัญด้วยความรอบคอบ จนได้ใจผู้ปฏิบัติงานอย่างมาก

อีกทั้งยังพอเป็นที่อุ่นใจได้บ้างของชาวกรุงเทพฯ ว่ายังมีผู้นำที่ให้จับต้องได้ ในระหว่างที่บรรดาผู้นำระดับสูงแทบทั้งหมดต้องเข้าไปหลบในค่ายทหารและไม่ค่อยปรากฎตัวให้เห็นนอกจากเวลาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเท่านั้น

แม้ว่า การได้เป็นผู้บริหาร กทม. ในช่วง นปช.ยึดเมือง ดูเหมือนจะเป็นทุกขลาภ แต่ทว่า ผลงานระหว่างนั้นของคุณชายที่ออกมาในเชิงบวก ย่อมจะส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของเขาในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤษภาคม 2553

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

"จ่ายดอกเป็นเฟอร์นิเจอร์" การเงินเพื่อลดช่องว่างสังคม




ว่ากันว่า John Maynard Keynes สมัยเรียนอยู่ Eton (โรงเรียนเดียวกับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ชอบนอนหลับเป็นอย่างยิ่ง จนเพื่อนๆ รู้กันทั่ว เขาไม่ค่อยชอบกรีกกับละติน แต่กลับชอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เขาศึกษาชีวิตและความคิดของ Sir Issac Newton จนทะลุปรุโปร่ง และเป็นคนหนึ่งที่เคยมีบันทึกฉบับลายมือเขียนของ Newton ไว้ในครอบครอง เป็นของสะสมส่วนตัวอันมีค่ายิ่ง


ทว่า Keynes ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีจิตใจอ่อนโยนมากคนหนึ่ง เขาชอบศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ คู่รักชายแบบ Homosexual ของเขาที่เขารักมาก ก็เป็นศิลปิน ดังนั้น เมื่อเขาเห็นคนงานต้องตกงาน เขาจึงสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง เขามองว่ามนุษย์ที่ไร้งานทำ ย่อมไร้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน


เศรษฐศาสตร์ของเขาจึงมุ่งเน้นไปที่การจ้างงาน เขาเสนอให้รัฐบาลยื่นมือเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ โดยอาศัยนโยบายการคลัง และเครื่องมืออื่นเช่นรัฐวิสาหกิจ เข้ากระตุ้นอุปสงค์มวลรวม เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ Full Employment หรือสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่คนวัยทำงานทุกคนพึงมีงานทำกันถ้วนหน้า


นั่นเป็นเป้าหมายทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้คำนึงถึง “มนุษย์” อยู่ในเป้าหมายนั้นด้วย มันเป็นเป้าหมายแบบมนุษยนิยม ต่างกับเป้าหมายแบบเดิมที่มุ่งเน้นในเรื่อง “ภาวะสมดุล” หรือ Market Equilibrium


ความคิดของเขาเคยได้รับความนิยมอย่างสูงจากบรรดา Policy Maker หลังผ่านการทดสอบจากนโยบาย New Deal เพื่อกู้เศรษฐกิจอเมริกาจากการตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อ 80 ปีก่อน แต่เมื่อหลายประเทศประสบวิกฤติจากกรณีหนี้สินภาครัฐในราวทศวรรษที่ 60-70 ความคิดของเขาก็เริ่มถูกปฏิเสธ และแทนที่โดยความคิดแบบเสรีนิยมขวาจัด ประเภทต้องให้รัฐบาลอยู่เฉยๆ อย่าไปยุ่งอะไรกับระบบเศรษฐกิจ ปล่อยให้ตลาดปรับตัวเอง คอยแต่คุมกฎและเปิดเสรีทุกอย่าง ทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะตลาดการเงิน เพื่อให้ทุนและการค้าไหลผ่านพรมแดนไปมาได้อย่างเสรี (ความคิดแบบนี้ รู้จักกันในนาม Neo-Liberalism หรือ Washington Consensus)

เอาไปเอามา การปล่อยปละละเลยก็กลับเป็นพิษ ส่งผลให้เกิดวิกฤติในตลาดหุ้นและต่อระบบเศรษฐกิจการเงินหลายครั้งหลายหน ในรอบหลายสิบปีมานี้ และดูเหมือนจะถี่ขึ้นๆ จนมาเกิด “วิกฤติซับพราม” ซึ่งถือเป็นที่สุดของวิกฤติการเงินที่โลกตะวันตกกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ผู้กุมนโยบายต้องพลิกตำรากลับแบบ 180 องศา กลับมาหานโยบายประชานิยมแบบ Keynes อีกครั้ง เริ่มโดยพี่เบิ้มอเมริกาโดดเข้าอุ้มสถาบันการเงิน (Hank Paulson รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ บอกว่า “Objectable, me include, but Necessary” ส่วน George Bush หัวหน้าพี่เบิ้ม ก็ออกมาพูดน่าตาเฉยว่า “….Government intervention is to preserve the free market”) พี่เบิ้มยุโรปก็ทำบ้างแถมยังจะตั้งกองทุนพยุงหุ้น คล้ายๆ “กองทุนวายุภักษ์” ที่รัฐบาลไทยเคยทำมา เล่นเอานักเศรษฐศาสตร์หัวเสรีนิยมและผู้กุมนโยบายในประเทศโลกที่สาม ซึ่งเคยเดินตามพี่เบิ้มและเคยแสดงความรังเกียจ “นโยบายประชานิยม” ทั้งหลาย ตกตะลึงจนแทบ “ลมใส่” (Allan Greenspan ผู้ยิ่งใหญ่เพิ่งจะออกมายอมรับกับคณะกรรมาธิการการเงินของรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าในอดีตเขาเข้าใจผิดไป นึกว่า “Self-interested principle in banks will be the best way to protected the shareholders interests”)


วิกฤติการณ์ปัจจุบัน จะจบยังไง ยังไม่มีใครรู้ได้ แต่รู้อย่างเดียวว่าหนักแน่ๆ ดีไม่ดี รัฐบาลใหม่ของอเมริกา อาจหันกลับไปใช้นโยบายแบบ New Deal อีกครั้ง ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเภทจ้างคนมา “ขุดดิน” เสร็จแล้วก็จ้างทีมใหม่มา “กลบดิน” กลับเข้าที่เก่า เป็นต้น


ในการบรรยาย (Lecture) ครั้งหนึ่งของ Keynes ที่ Cambridge เขาได้กล่าวพาดพิงถึงนโยบายประชานิยมอันหนึ่ง ซึ่ง MBA เห็นว่าน่าสนใจและสามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในเมืองไทยได้ทันที

MBA จึงได้ลงมือหาข้อมูลเพิ่มจากที่ Keynes ได้พาดพิงไว้เพียงประโยคเดียว แล้วก็พบว่า สมัยที่นโปเลียนยังฟาดงวงฟาดงาอยู่ในยุโรป ยุคปลายรัชกาลที่ 1 ต่อต้นรัชกาลที่ 2 นั้น รัฐบาลอังกฤษได้ใช้นโยบายปิดล้อม หรือ Blockade คล้ายกับสหรัฐฯ ใช้กับอิรักสมัยซัดดัม ฮุสเซ็น แต่สมัยนั้น อาศัยกองทัพเรือของ Nelson อันเกรียงไกร อุดเส้นทาง Inport-Export ของฝรั่งเศสกับโลกภายนอกทุกทาง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นบางอย่างในฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฟุ่มเฟือย ที่กระทบปารีสเข้าอย่างจัง


ทว่า ฝรั่งเศสไม่ใช่ประเทศสิ้นไร้ไม้ตอก ฝรั่งเศสมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตรขึ้น และอุดมไปด้วยช่างฝีมือทุกด้าน เคยยิ่งใหญ่ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและปัญญา นโปเลียนจึงแก้เกมด้วยการใช้นโยบายประชานิยมในหลายด้าน เช่นสร้างงานก่อสร้างสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ สนับสนุนอุตสาหกรรมสำคัญ และยกหนี้ให้เกษตรกร เป็นต้น (ใช้ก่อน New Deal ของประธานาธิบดี Roosvelt ร้อยกว่าปี และก่อนรัฐบาลทักษิณเกือบสองร้อยปี)


นโยบายหนึ่งของนโปเลียน ที่มีลักษณะ Innovative มากในสมัยนั้น คือการอนุมัติเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการประเภทช่างฝีมือทุกด้านทั่วประเทศ โดยให้จ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นผลงานแทนเงิน พูดแบบภาษานักการเงินสมัยใหม่ ก็อาจเทียบได้กับ “Payback-in-Kind”



นโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดการผลิตงานครั้งใหญ่ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ทอง เงิน โลหะ หนัง เครื่องประดับ สลักหิน พรม เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ยานพาหนะ ฯลฯ หรือแม้แต่อุตสาหกรรม Textile ระดับฟุ่มเฟือยที่เคยพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากอังกฤษ ก็สามารถทดแทนได้


นโยบายนี้ ยังทำให้รัฐบาลสามารถบรรเทาความขาดแคลน และการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี ตลอดจนป้องกันภาวะจารจล โดยลดผลกระทบทางลบต่อวิธีชีวิตประจำวันของผู้คนอันเนื่องมาแต่การ Blockade ลงอย่างได้ผล


นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นโปเลียนได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แสดงว่านโยบายแบบนี้ ส่งผลกับ Popularlity ทางการเมืองอีกด้วย


ประเทศไทยเราก็มีหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการประเภทช่างฝีมือจำนวนมาก ทั้ง ธนาคารวิสาหกิจระดับกลางและเล็ก (SME Bank) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจระดับกลางและขนาดย่อม (สสว.) สถาบันคีนันแห่งเอเชีย สำนักงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สถาบันอาหาร สถาบันฯลฯ เป็นต้น..ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ที่เน้นการปล่อยเงินกู้กับผู้ประกอบการประเภทนี้อย่างเป็นเป้าหมายสำคัญ ก็มีไม่น้อย


น่าจะลองศึกษาเรื่องที่เรากล่าวมานี้ดูอย่างละเอียด เผื่อจะก่อประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งอาจจะช่วยคนเล็กคนน้อยที่มีฝีมือและอยากประกอบการ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551