ข้อเขียนชุด "สังเกตญี่ปุ่น" ตอนที่ II
เมื่อไปโตเกียว ผมมักมีกิจให้ต้องแวะไปแถวชิบูย่า (Shibuya) เสมอ
ณ บริเวณสี่แยก ปากทางเข้าสถานีรถไฟตรงนั้น ถ้าเสร็จธุระแล้ว ผมมักมองหาที่นั่งเพื่อ Observe อาการของคลื่นฝูงชนจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่าข้ามถนนไปมาในแต่ละรอบไฟแดงเสมอ เพราะนั่น นับเป็นโปรแกรม Entertainment อย่างหนึ่งของผมเลยทีเดียว
คะเนด้วยตา แต่ละรอบไฟเขียว ต้องมีคนข้ามไปมาพร้อมกันหลายร้อยคน (บางรอบอาจถึงพันคน) แล้วหยุดรออีกประมาณ 3-5 นาที ก็ถึงรอบใหม่ อีกหลายร้อยคน คิดคร่าวๆ ก็ชั่วโมงละกว่าหมื่นคน ถ้าเป็นชั่วโมงเร่งด่วนก็อาจจะถึงหลายหมื่นหรือแสนคน ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับญี่ปุ่น มักนำภาพคนเดินข้ามถนนตรงนี้ไปเผยแพร่ เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตอันเร่งรีบของคนเมืองใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมหาศาลอย่างโตเกียว
ผมอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นเมืองไทย คนมากขนาดนั้น ในพื้นที่จำกัดแบบนั้นด้วย เมื่อกระทบกระทั่งกัน เท้าเหยียบเท้า ไหล่ชนไหล่ ก้นชนก้น ตาจ้องตา บางครั้งถึงปะทะทั้งตัวแรงๆ ฯลฯ คงมีเรื่องมีราวกันบ้าง ยิ่งแถวมาบุญครองหรือสยามที่แต่ละฟากต่างมีเจ้าถิ่นด้วยแล้ว โอกาสเกิดเรื่องก็มีมาก
ญี่ปุ่นนั้นมีคนมากมาแต่ไหนแต่ไร ก่อนสมัยโตกูกาว่าก็มีบันทึกยืนยันถึงเรื่องนี้แล้ว และการมีคนจำนวนมากบนพื้นที่จำกัดอันโดดเดี่ยวแยกตัวจากแผ่นดินใหญ่ โดยต้องอยู่กันให้ได้อย่างสันตินี้เอง ที่เป็นตัว Form นิสัยและพฤติกรรมสำคัญๆ ตลอดจน Character ของคนญี่ปุ่น
ใครๆ ก็รู้ว่าคนญี่ปุ่น “สุภาพมากๆ” ผมเคยเห็นสุภาพสตรีญี่ปุ่นสองคน ที่ต่างคนต่างรอขึ้นลิฟท์ แต่เมื่อลิฟท์เปิดออก ทั้งสองต่างโค้งซึ่งกันและกัน โค้งกันหลายรอบ ด้วยหวังจะให้อีกคนก้าวเข้าไปก่อนตามมารยาท แต่ก็ไม่มีใครยอมเข้าไปก่อน ยังคงโค้งกันอยู่แบบนั้น จนประตูลิฟท์ปิดลง.....มิน่าเล่า ฝรั่งสมัยก่อน (ก่อนรู้ซึ้งถึงฤทธิ์เดชของญี่ปุ่น) มักมองกันว่า คนญี่ปุ่นเป็นพวก Absurd
แน่นอน ความสุภาพแบบนั้น ย่อมไม่ใช่สไตล์ แต่มันเป็น Character ที่ช่วยลดดีกรีความร้อนแรงจากการกระทบกระทั่งลงได้ เพราะคนหมู่มากในที่แคบ ย่อมต้องแย่งกันอยู่ แย่งกันกิน และต้องระมัดระวังไม่ให้การเคลื่อนไหวของตัวกระทบกระทั่งคนอื่น
คนญี่ปุ่น เมื่อไสไม้ก็ไสเข้าตัว ไม่ได้ไสออกเหมือนพวกเรา หรืออย่างการปอกผลไม้ก็ปอกเข้าตัวเช่นกัน เพราะไม่อยากให้เกิดโอกาสที่มีดจะพลาดไปโดนคนอื่น นั่นเป็นรูปธรรมที่แสดงความหมายเชิงนามธรรมว่า พวกเขาให้คุณค่ากับความเป็นส่วนตัวของกันและกันสูงมาก นับเป็น Irony แบบหนึ่ง สำหรับสังคมของคนจำนวนมากที่ถูกบังคับให้ Share พื้นที่อันมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งในความเป็นจริงย่อมหาโอกาสความเป็นส่วนตัวได้น้อยเต็มที
“ความเป็นส่วนตัว” ของคนญี่ปุ่นจึงเป็นนามธรรมเต็มที (บางทีก็เป็นแต่ “ในนาม” เท่านั้น) ผมเอง ชอบลงใต้ดินไปฟัง Jazz ที่ Dug Pub เสมอ เมื่ออยู่โตเกียว แรกๆ ผมมักไม่คุ้นกับการต้องนั่งรวมกับคนอื่น บางครั้งโต๊ะเดียว นั่งกันเกือบสิบคน โต๊ะก็เล็ก เก้าอี้ก็เล็ก ยิ่งวันธรรมดา หลังเลิกงาน ทุกคนมาพร้อมกระเป๋าและเอกสารพะรุงพะรัง แต่พอได้ที่นั่งแล้ว ทุกคนก็รวบของไว้ใต้เก้าอี้ ของใครของมัน แล้วก็ดื่มด่ำไปกับเสียงดนตรีทันที
แสดงว่า รูปธรรมของ “ความเป็นส่วนตัว” เมื่อเทียบกับของเราแล้ว คนญี่ปุ่นมี Luxury น้อยกว่าเรามาก เพราะ Boundary ของคนญี่ปุ่นมีรัศมีแคบมาก อย่างของพวกเราคนไทย ถ้าลองมีคนอื่นที่เราไม่รู้จัก เข้ามาใกล้เราในรัศมีต่ำกว่า 1 เมตร แล้วอยู่อย่างนั้น ผมว่าพวกเราส่วนใหญ่จะอึดอัด
การต้องแบ่งกันอยู่ แบ่งกันกิน มีให้เห็นและสัมผัสได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น บ้านช่องห้องหอ เฟอร์นิเจอร์ ย่อมต้องมีขนาดเล็ก กินพื้นที่น้อย ร้านอาหาร ร้านไอศกรีม ร้านขนมดั้งเดิม ที่มีชื่อเสียงบางแห่ง มักแอบอยู่ตามซอกเล็กซอยน้อย เพื่อนฝูงญี่ปุ่นเคยพาไปชิม ก็ใช่ว่ากินอิ่มแล้ว จะนั่งแช่ได้นาน หมดรอบก็ต้องไป เพื่อหลีกให้คนอื่นเข้ามานั่งตามคิว
องค์กรที่ประกอบด้วยสมาชิกที่ต้องแบ่งกันอยู่ แบ่งกันกิน แบ่งทรัพยากรอันจำกัดกันให้ทั่วถึง ย่อมต้องอาศัยการจัดระเบียบสังคมที่เข้มงวด ตายตัว ไม่ยืดหยุ่น และวินัยกวดขัน อีกทั้งต้องละเอียด รอบคอบ ชอบวางแผน ไม่สุ่มเสี่ยง และลดช่องว่างทางความคิด ลดพื้นที่ของ “ความคิดต่าง” ให้เหลือน้อยที่สุด
ข้อนี้หรือเปล่า ที่ฝรั่งมักดูถูกว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่เอื้อต่อการงอกงามของความคิดสร้างสรรค์ ซ้ำร้ายยัง “กด” ความคิดสร้างสรรค์ไว้ไม่ให้โอกาสในการแสดงออกอีกด้วย เพราะมาตรการทางสังคม (Social Sanction) ที่ใช้เล่นงาน “คนคิดต่าง” หรือ “แกะดำ” นั้น รุนแรงยิ่งนัก (ลองดูชะตากรรมของพวกเกย์และเลสเบี้ยนในสังคมญี่ปุ่น หรือกรณีของบริษัท Sony ที่ถูกมองว่าเป็นแกะดำ เข้ากับเพื่อนในอุตสาหกรรมไม่ได้ ผลร้ายทางรูปธรรมที่ชัดเจน คือเมื่อครั้งเคยล้มเหลวกับวีดีโอระบบ Betamax ทั้งๆ ที่เป็นเทคโนโลยีคุณภาพสูงกว่า ทว่า โดนเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมรวมหัวกัน Boycott เป็นต้น)
อีกทั้ง วิธีลงความเห็นแบบ “มติสัมบูรณ์” (มิใช่เสียงส่วนใหญ่ แต่ต้องเห็นพ้องกันทุกเสียง) หรือที่เรียกว่า Consensus Vote ประกอบกับ ความที่ผู้น้อยต้องฟัง หรือต้องตามผู้ใหญ่ นั้น ฝรั่งสมัยก่อนก็มองเป็น Conservative Forces ที่เหนี่ยวรั้งพลังสร้างสรรค์ จึงยากที่ Innovation จะเกิดขึ้นได้ เพราะความล่าช้าของการตัดสินใจ และเด็กก็ยากที่จะเถียงผู้ใหญ่ได้ ในวัฒนธรรมแบบนั้น
ความข้อนี้ มีส่วนจริงอยู่มาก ลองดู Designer หรือ ศิลปิน หรือ Programmer ระดับโลกที่เป็นคนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มักเป็นญี่ปุ่นแต่เพียงในนาม พวกเขาเพียงมีพ่อแม่เป็นญี่ปุ่น (หรือคนใดคนหนึ่งเป็นญี่ปุ่น) แต่พวกเขาล้วนใช้ชีวิตอยู่นอกญี่ปุ่น หรือเรียนรู้จากระบบการศึกษาของฝรั่ง แทบทั้งสิ้น เพราะถ้าอยู่ในญี่ปุ่น นอกจากจะแสดงออกยากแล้ว ดีไม่ดียังอาจจะถูกหาว่าเพี้ยนก็ได้
อย่างตอนที่ Yoko Ono รักกับ John Lennon ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ อดีตผู้นำวง Beatles นั้น ก็ถูกผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นประณามมากอยู่ ตระกูลของเธอถือเป็นชนชั้นนำในสังคมญี่ปุ่นซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลซามูไรเก่าแก่และเป็นสมาชิกในกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่อันมั่งคั่งที่เรียกว่า Zaibatsu และ Yoko เองก็เคยเรียนถึง Gakushuin แล้วเรื่องอะไรจะต้องไปเกลือกกลั้วกับ “ศิลปินกุ๊ย” ที่ชอบทำอะไรแผลงๆ จากเมืองกรรมกรท่าเรืออย่าง Liverpool ด้วยเล่า
แต่จะว่าไป ด้านดีของวัฒนธรรมแบบนี้ก็มี ข้อสำคัญคือมันช่วยเขม็งเกลียวความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจ ความมุ่งมั่นร่วมกัน ให้เกิดเป็นพลังโดยไม่วอกแวก
เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมเองเคยไปเยี่ยมกิจการในเครือของ NIKKEI ทั้งกิจการโรงพิมพ์ กิจการหนังสือพิมพ์ Nihon Keizai Shimbun สถานีโทรทัศน์ ตลอดจนกิจการผลิตนิตยสารและหนังสือเล่มในเครือของเขา ก็สังเกตเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างพนักงานกับผู้บริหารมีน้อยมาก การแต่งตัวก็เหมือนกัน ดูไม่ออกเลย กินอาหารก็โรงอาหารเดียวกัน หรือแม้แต่ที่นั่งทำงานก็ไม่แบ่งแยก ปรึกษาหารือกันได้ตลอดเวลา ผู้บริหารไม่ได้มีห้องใหญ่โตแยกไปต่างหาก เวลาเข้าพบต้องนัดแนะล่วงหน้าแบบฝรั่ง และสังเกตดู ประวัติของผู้บริหารระดับสูงทุกคน ล้วนต้องไต่เต้าขึ้นมาจากงานชั้นล่าง หมุนเวียนไปแล้วทั่วด้าน เช่นเริ่มจากนักข่าว แล้วย้ายไปขายโฆษณา ย้ายไปฝ่ายสมาชิก จากนั้นก็ย้ายไปโรงพิมพ์ แล้วค่อยมาเป็นบรรณาธิการ แล้วก็ขึ้นเป็นผู้บริหาร เป็นต้น ไม่มีว่าจบ MBA มาแล้ว ข้ามหัวไปเป็นผู้บริหารเลย
วัฒนธรรมแบบนี้ ต่างกับฝรั่งโดยสิ้นเชิง นั่นจึงทำให้ฝรั่งตื่นตัวศึกษา Japanese Management กันใหญ่โต เมื่อกิจการญี่ปุ่นเริ่มเอาชนะฝรั่งในตลาดโลกได้
ผมสงสัยว่าวัฒนธรรมแบบนี้หรือเปล่าที่เป็นตัวแปรสำคัญให้คนญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยไม่ถาม ไม่เถียง กันเลย
ถ้าดูให้ดีแล้ว ญี่ปุ่นกับเยอรมันเหมือนกันมากในข้อนี้ กองทัพเยอรมันกับกองทัพญี่ปุ่นสมัยนั้น ข้าศึกกลัวกันมาก เพราะขึ้นชื่อว่ารบเก่ง และโหดเหี้ยม ไม่กลัวตาย ที่จริงแล้ว คนสองชาตินี้ เป็นคนมีวินัยสูง และเชื่อผู้นำ ดังนั้น เมื่อได้รับคำสั่งให้รบ ก็รบอย่างมีวินัย ทำไปตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด ที่ต้องทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ราบคาบ เพราะนั่นคือตัววัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของตน ผลลัพธ์ก็เลยออกมาดูเหมือนเหี้ยมโหด และเดนตาย แต่ผมว่าตัวพวกเขาเอง ไม่คิดว่ามันเหี้ยมโหดอะไร เพียงทำไปตามหน้าที่ให้ดีที่สุด อย่างมีวินัย เท่านั้นเอง
การรับเอาลัทธิทหารจากเยอรมัน (อันที่จริง Prussia) ไปตั้งแต่สมัยเมจินั่นแหละ ที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาไปสู่ความก้าวร้าว ยึดมั่นในเชื้อชาติตนว่าเป็นเชื้อชาติที่สูงส่ง มี National Agenda และ Grandiose Strategy มีความมุ่งมั่นเดียวของชาติ คือความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิญี่ปุ่น คิดตั้งตัวเป็นใหญ่ในเอเชีย และเริ่มคุกคามประเทศอื่น ตั้งแต่เกาหลี รัสเซีย จีน และชาติเอเชียทั้งมวล ไปจนเกิดปะทะกับอเมริกันและพ่ายแพ้ในที่สุด
นั่นเป็นข้อเสียของลัทธิทหาร และการยึดถือหรือภักดีในตัวบุคคลแบบไม่กล้าถามหรือเถียง (ในกรณีของญี่ปุ่นคือสมเด็จพระจักรพรรดิ) ที่อาจเตือนใจสังคมไทยในภาวการณ์ปัจจุบัน ได้เหมือนกัน
เรื่อง “สู้ฝรั่ง” นั้น เป็นสันดานของญี่ปุ่นเลยทีเดียว แม้ลึกๆ ญี่ปุ่นจะยกย่องฝรั่ง และรู้ว่าตัวเองสู้ไม่ได้ แต่ก็ยังขอสู้ ไม่ยอมแพ้โดยง่าย (ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ใช้คำว่า “Persistent” คือความพยายายามอย่างไม่ยอมแพ้ หรือยืนหยัดอย่างไม่ยอมแพ้) ผิดกับเรา ที่รู้จักฝรั่งแล้วก็ยอมฝรั่งเลย ไม่คิดต่อสู้
นั่นต้องอาศัย “ความกล้าหาญ” เป็นอย่างมาก
เรื่อง “ความกล้า” เป็นปมเด่นสำคัญอันหนึ่งของคนญี่ปุ่น วัฒนธรรมและระบบการศึกษาของญี่ปุ่นล้วนหล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นมีความกล้าในระดับสูง หรือรู้จักระงับความกลัวได้อย่างทรงประสิทธิภาพมาก
การเน้นว่า “ความเสียสละ” เป็นคุณธรรมขั้นสูง และการตายเพื่อส่วนรวมเป็นวีรกรรมที่ Noble ล้วนเป็นเนื้อนาบุญให้ความกล้าได้แสดงออกอย่างไม่มีขีดจำกัด
คนเรานั้น ถ้าลองมองชีวิตตัวเองว่าไม่ใช่ของตัวเอง แต่เป็นของคนอื่นหรือเป็นของส่วนรวมแล้ว ย่อมเกิดความกล้าแบบสุดๆ เช่น บรรดานักบิน Kamikaze นั่นแหละ
ผมโตมาในช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มตั้งตัวได้หลังจากแพ้สงคราม สมัยโน้นญี่ปุ่นเริ่มส่งออกการ์ตูนหรือหนังชุด Super Hero เนื้อหาและการสร้างยังหยาบอยู่มาก ผมจำได้ว่าการ์ตูนอย่าง “หน้ากากเสือ” นั้น คู่ต่อสู้ของพระเอกมักเป็นนักมวยปล้ำฝรั่งเสมอ และอย่าง “ไอ้มดแดง” ก็เน้นความกล้าและความเสียสละเป็น Character หลัก
มีอยู่ตอนหนึ่ง ที่พระเอกถามเด็กๆ ว่าอยากเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น เด็กว่าอยากเป็นนักบินอวกาศ พระเอกก็บอกว่าการเป็นนักบินอวกาศจะต้องอาศัย “ความกล้า” สูงมาก เพราะต้องออกไปลอยอยู่นอกโลก ผมยังคิดในใจว่า ถ้าเป็นผู้ใหญ่ไทย ก็ต้องตอบว่า ต้องเรียนให้เก่งๆ โตขึ้นถึงจะเป็นนักบินได้
เดี๋ยวนี้ ลูกๆ ผมก็ยังดูไอ้มดแดงอยู่ และแก่นเรื่องก็ยังว่าด้วย “ความกล้า” และ “ความเสียสละ” อยู่อย่างเดิม บางตอน (เรื่อง “คูกะ”) ผมก็เห็นว่าในเนื้อเพลงไตเติ้ล ก่อนที่จะบอกให้พระเอกแปลงร่างไปต่อสู้ ก็มีคำว่า “No Pain, No Fear” อยู่ด้วย ท่านผู้อ่านลองคิดเอาเองก็แล้วกันครับว่าพวกเขาให้คุณค่ากับ “ความกล้า” มากขนาดไหน
ใครก็รู้ว่า จิตสำนึกเรื่อง “สู้ฝรั่ง” ของญี่ปุ่นนี่แหละ ที่เป็นพลังขับให้กิจการของญี่ปุ่นผงาดขึ้นมาบนเวทีเศรษฐกิจโลกได้ แม้ความคิดของชนชั้นผู้นำญี่ปุ่นลึกๆ แล้วจะกลัวฝรั่ง โดยเฉพาะเชื้อชาติที่พวกเขาเรียกว่า Anglo-Saxon ผมเคยอ่านหนังสือที่ผู้ประพันธ์เป็นนักการทูตระดับสูงผู้หนึ่งซึ่งสืบตระกูลมาจากตระกูลขุนนางเก่าแก่ของญี่ปุ่นและมีโอกาสได้คลุกคลีกับชนชั้นปกครองญี่ปุ่นหลังสงครามโลก ผู้ซึ่งเป็นคนรุ่นที่เข้าร่วมสงครามและมีบทบาทในการกำหนดนโยบายระหว่างสงคราม เขาเขียนไว้ชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าอายุได้ 15 ปีเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้ามีโอกาสนั่งฟังผู้ใหญ่ถกเถียงกัน
นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ต้องปราชัย และคนญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการถูกยึดครองด้วยกำลังทหาร ระยะเวลาไม่กี่อาทิตย์หลังจากสงครามสิ้นสุดลงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญเป็นพิเศษในญี่ปุ่น ทุกคนถกเถียงกันถึงอนาคตโดยปราศจากความลำเอียงและแอกอุดมการณ์ หรือนโยบายระดับชาติที่ได้ตั้งขึ้น เป้าหมายและค่านิยมของชาติที่ปวงชนและบรรพบุรุษของพวกเขาได้ทุ่มเทให้ ล้วนดูหมดสิ้นความหมาย ผู้คนย้อนมองดูประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและโลกเพื่อค้นหาอดีตและอนาคตของญี่ปุ่น พวกเขาพยายามค้นหาคำตอบต่อปัญหาเช่นว่า เชื้อชาติญี่ปุ่นเป็นเช่นไร พวกเขาพยายามแสวงหาศักยภาพของญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นชาติ ทุกคนมีความเป็นห่วงต่ออนาคตของญี่ปุ่น แม้ความหิวโหยจะใกล้เข้ามาในช่วงเวลาแห่งวินาศภัยของสงคราม
แขกคนหนึ่งที่มาเยี่ยมบ้านข้าพเจ้า ถามว่า “จะใช้เวลากี่ปีที่จะแก้แค้นต่อความพ่ายแพ้นี้” อีกคนหนึ่งย้ำว่า “ไม่.....พวกเราต้องไม่ท้าทายฝรั่งแองโกลแซกซั่นอีก ในอดีตไม่มีใครเคยทำสำเร็จ คุณไม่รู้เลยหรือว่า ชาวสเปน ชาวดัชท์ และนโปเลียน ล้วนประสบความพ่ายแพ้ทั้งสิ้น ชาวเยอรมันก็แพ้ถึงสองครั้งสองครา”
ความคิดแบบนี้เอง ที่อยู่เบื้องหลังนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามจนกระทั่งปัจจุบัน ที่มักคล้อยตามสหรัฐอเมริกาและยอมเป็น “เบี้ยล่าง” ของอเมริกาแทบทุกด้าน
นโยบายและการแสดงออกของรัฐบาลหรือกิจการธุรกิจของญี่ปุ่น ก็เหมือนกับพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นทั่วไป ที่มักมีอยู่ 2 ระดับ คือระดับที่เอาไว้แสดงออกให้คนทั่วไปได้เห็น และระดับที่คิดอยู่ในใจอย่างเงียบๆ โดยนโยบายแบบที่สองนั้น คือนโยบายที่แท้จริง
คนญี่ปุ่นมี “ความในใจ” แยะ ไม่ชอบแสดงความรู้สึกที่แท้จริงให้ใครเห็น ถ้าไม่ไว้วางใจจริงๆ
บรรณาธิการเก่าคนหนึ่งของนิตยสาร MBA ก็แต่งงานไปกับคนญี่ปุ่น ครั้งหนึ่ง ผมเคยถามสามีเธอตรงๆ ว่าทำไมผู้ชายญี่ปุ่นชอบทำหน้าขึงขังตลอดเวลา ยิ้มยากมาก เขาว่ามันจำเป็น เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น เพื่อนร่วมงานก็จะมองว่าเป็นคนไม่จริงจัง (เขาใช้คำว่า Serious) และคนที่ไม่จริงจังในสังคมญี่ปุ่น จะก้าวหน้ายาก
อย่างเรื่องความสัมพันธ์กับจีนก็เหมือนกัน ผมก็ว่ามันมีสองระดับ ในทางเปิดเรามักเห็นว่าชนชั้นนำจีน ยังโกรธญี่ปุ่นไม่หาย แม้ญี่ปุ่นจะยอมให้สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบันออกมากล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ในทางลึก เราพบว่าญี่ปุ่นกับจีนใกล้ชิดกันมาก แม้สมัยปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ที่จีนปิดประเทศ ใครก็เข้าไปไม่ได้ ยกเว้นญี่ปุ่นชาติเดียวที่เข้าออกได้สบาย หรืออย่างไม่นานนี้ เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงตัดสินใจเปิดประเทศ ก็ได้ส่งคณะข้าราชการระดับกลางชั้นหัวกะทิของจีน ที่ตั้งใจจะ Groom ขึ้นมาให้รับภาระกุมหางเสือเศรษฐกิจของประเทศในยุคต่อมา ไปฝึกอบรมกับญี่ปุ่นอย่างลับๆ ทั้งที่ธนาคารชาติญี่ปุ่นและกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น คนหนึ่งในกลุ่มนั้น ก็คือ จูหรงจี ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นซาร์เศรษฐกิจของจีน มิน่าเล่า จีนถึงไม่เคยเพลี่ยงพล้ำให้กับฝรั่งเลย นับแต่เปิดประเทศ
ในเรื่องเศรษฐกิจ คนเอเชียมักมองไปที่ความสำเร็จของญี่ปุ่นเสมอ และมักคิดไปเองว่าจะเลียนแบบญี่ปุ่นได้ ครูเก่าของผมคนหนึ่งก็สนใจญี่ปุ่นมาก โดยเฉพาะ Industrial Policy ของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลก สมัยไปเรียนปริญญาเอกก็ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มาแยะ และเมื่อมีอำนาจรัฐก็ได้พยายามเดินตามกรอบความคิดแบบนั้น
อันที่จริง Industrial Policy จะใช้ได้ผล มันต้องมีมิติวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ภาคเอกชนต้องเชื่อฟังภาครัฐมาก และภาครัฐก็ต้องทรงภูมิปัญญา เป็นที่เกรงขาม ข้าราชการผู้ปฏิบัติก็ต้องซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และถูกคัดมาจากชนชั้นกะทิ ถึงจะสามารถนำภาคเอกชนได้ เอาแค่สมมุติฐานเหล่านี้ มันก็ไม่เป็นจริงแล้วในเมืองไทย ยังไม่ต้องพูดถึงวิธีการ, Blueprint, และกลยุทธ์ด้านต่างๆ
ญี่ปุ่นก็มีปัญหาของเขา เป็นปัญหาแบบคนรวย ผมยังเคยคิดเล่นๆ ว่าถ้าตัวเองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังหรือผู้ว่าการธนาคารชาติของญี่ปุ่น คงปวดหัวพิลึก เพราะวันหนึ่งๆ มีเงินสดไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก กิจการค้าของญี่ปุ่นทั่วโลก ถ้าลองปิดบัญชีประจำวันดู ว่าวันนี้ขาย Toyota ได้กี่คัน Sony ขายไปกี่เครื่อง 7-Eleven ขายได้เท่าไหร่ Air Conditioning ขายไปกี่เครื่อง ปุ๋ยขายไปกี่กิโล แทรกเตอร์กับจักรยานยนต์ขายไปกี่คัน ฯลฯ คงจะมีเงินสดกองเป็นภูเขาเลากา จนต้องไล่ให้เอาไปเก็บนอกประเทศ เพราะแค่นี้ ราคาที่ดินในโตเกียวก็อยู่ในระดับที่คนทั่วไปยากจะเอื้อมถึงอยู่แล้ว แม้ผลไม้สักผลยังแพงหูฉี่ ขืนเงินยังล้นทะลักไม่หยุดแบบนี้ มันจะมีจุดจบยังไงกัน คนชั้นกลางและชั้นล่าง จะอยู่กันยังไง ฯลฯ
เงินของญี่ปุ่นก้อนนี้แหละ ที่ฝรั่ง Enjoy อยู่ทุกวันนี้ บ้างก็เอาไปหมุนให้เกาหลีใต้ยืมใช้ เพื่อผลิตสินค้าแบบเดียวกับของญี่ปุ่นมาสู้ญี่ปุ่นในตลาดโลก แล้วก็คิดไปเองว่าสุดท้ายจะเอาชนะญี่ปุ่นได้ (ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีการผลิตก็เป็นของญี่ปุ่น) คิดๆ ไป ก็ตลกดี
ความลับของญี่ปุ่น ที่เราไม่รู้หรือรู้ไปไม่ถึงยังมีอีกมาก โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าการศึกษาญี่ปุ่น ย่อมทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 มิถุนายน 2551
ตีพิพม์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมิถุนายน 2551
-------
คลิกอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้จากลิงก์ข้างล่าง
บทเรียนการเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นคราวแพ้สงคราม
วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น