วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

เราจะมีประมุขเป็นผู้หญิงได้หรือไม่



หากนับเอา ความคิด ความกล้า ความใฝ่ฝัน จินตนาการ รวมตลอดถึงความปรารถนา และอุปนิสัยฝ่ายดีของมวลมนุษย์ เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งแล้วไซร้ ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า เกือบครึ่งหนึ่งของทรัพยากรเหล่านั้น ถูกละเลยมาตลอดนับแต่มนุษย์อุบัติขึ้นมาบนโลกใบนี้


อย่างน้อย นับแต่ที่มนุษย์รู้จักการจดบันทึก เราก็ทราบว่า ความคิด ความกล้า จินตนาการ และความเห็น ของผู้หญิงส่วนใหญ่นั้น ถูกละเลยมาตลอด และในฐานะที่ผู้หญิงถือเป็นครึ่งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ ดังนั้น การละเลยความคิดและจิตใจของผู้หญิง ก็เท่ากับปฏิเสธการใช้ทรัพยากรอีกครึ่งหนึ่งของมวลมนุษยชาติให้เป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนา และต่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมมนุษย์เอง

มองฝรั่ง…..

จะมีก็แต่บางสังคมของบางเผ่าชนหรือบางเชื้อชาติเท่านั้นแหละ ที่ยอมรับความเท่าเทียมของผู้หญิง และสามารถเอาประโยชน์จากมันสมองและความกล้าหาญของผู้หญิงได้ในยามคับขัน พวกยิวนับเป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดที่สุดในเรื่องทำนองนี้ ไม่เชื่อก็ลองอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่หน้าแรกๆ ดูก็ได้


พระคัมภีร์ไบเบิล นับเป็นเอกสารบันทึกประวัติของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด โดยเฉพาะคัมภีร์เก่าหรือ “พันธสัญญาเดิม” ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า The Old Testament ซึ่งบันทึกกันมาโดยพวกยิวนั้น ได้บันทึกเรื่องราวหลายช่วงที่พระเจ้าให้ความสำคัญกับผู้หญิง หรือสังคมยิวบุพกาลเห็นพ้องให้ยกผู้หญิงขึ้นเป็นผู้นำ เพื่อวางแผนหรือเป็นแม่ทัพในการรบทัพจับศึกกับศัตรู


ถ้าไม่นับ “เอวา” ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้ Passion ของมนุษย์เริ่มทำหน้าที่อย่างที่มันควรจะเป็น และขับเคลื่อนชะตากรรมของมนุษย์ให้ต้องดำรงชีวิต “แบบมนุษย์” เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน (ปฐมกาลหรือ Book of Genesis บทที่ 3) ก็ยังมี “ซาราห์” ภรรยาของอับราฮัมที่แอบหัวเราะเยาะพระเจ้า และคนของพระเจ้า ต่อหน้าสามีของนาง (ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้ชาย) กับความคิดที่ว่านางกำลังจะให้กำเนิดบุตรชาย เพราะอายุนางในขณะนั้นปาเข้าไป 90 ปี และประจำเดือนก็หมดแล้ว แม้นางจะโกหกว่ามิได้แอบหัวเราะ ทว่า พระเจ้าก็เพียงแต่ตำหนินาง หาได้ลงโทษนางแต่ประการใดไม่ นั่นนับเป็น Joke ยุคดึกดำบรรพ์ที่มีการบันทึกไว้ว่ามนุษย์หัวเราะเป็น (ปฐมกาล บทที่ 18)

เมื่ออ่าน “พันธสัญญาเดิม” ไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่าเรื่องราวของชาวอิสราเอลที่ดำเนินไปและคลี่คลายขยายตัวมาเป็นลำดับแบบเป็นขั้นเป็นตอนนั้น ถูกขับเคลื่อนโดยผู้หญิงไม่น้อยเลย และคุณธรรม ความปรารถนา ตลอดจนความอ่อนโยนของผู้หญิงบางคน ก็ได้รับการกล่าวถึงในทางยกย่องหรือในทางบวกไม่น้อยเช่นกัน


ก่อนกลับมาดูบทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยเรา ผู้เขียนอยากจะยกเรื่องราวของการยกย่องผู้หญิงที่บันทึกไว้ใน “พันธสัญญาเดิม” ซึ่งถือเป็นต้นธารของอารยธรรมตะวันตกมาเล่าให้ฟังก่อน อย่างเรื่องของ “เดโบราห์” และ “ยาเอล” (ผู้วินิจฉัยหรือ Book of Judges บทที่ 4-5) ก็เป็นการยกย่องผู้หญิงอย่างชัดเจน แม้การปฏิบัติต่อศัตรูของยาเอลจะดูเหี้ยมโหดไร้ศักดิ์ศรี


เดโบราห์เป็นผู้หญิงที่มีความสามารถและพรสวรรค์มากมาย อย่างแรก เธอเป็นผู้เผยพระวัจนะ (Prophet) เป็นผู้วินิจฉัย (Judges) อีกทั้งยังเป็นแม่ทัพ และเป็นกุนซือเสนาธิการผู้วางแผนการรบอีกด้วย แม้เราจะได้ยินชื่อ Prophet ที่เป็นหญิงหลายคน เช่น มิเรียม (อพยพหรือ Exodus บทที่ 15) และแอนนาในพันธสัญญาใหม่ (ลูกาหรือ Luke บทที่ 2) แต่ผู้วินิจฉัยที่เป็นหญิงนั้น ดูเหมือนจะมีแต่เธอคนเดียว “นางนั่งอยู่ใต้ต้นอินทผลัม...ในแดนเทือกเขาเอฟราอิม และคนอิสราเอลก็มาหานางเพื่อให้ชำระความ”


สมัยที่บันทึกไว้ใน Book of Judges นั้น เป็นยุคสมัยที่สังคมชาวยิวเริ่มเสื่อมทรามลง มีการนับถือพระเจ้าหลายองค์ และปนเปื้อนด้วยการสมสู่กับคนเชื้อชาติอื่น คนยิวจึงถูกพระเจ้าลงโทษ ให้ถูกกดขี่อย่างร้ายกาจมาถึง 20 ปี โดยกษัตริย์ยาบินแห่งคานาอันซึ่งมีรถรบเหล็กกล้าเก้าร้อยคัน และเมื่อพวกชาวยิวที่ถูกกดขี่เหล่านั้นพากันมาหาเดโบราห์ เพื่อขอให้พระเจ้าทรงเมตตา เธอจึงให้คนไปเรียกบาราคมาเป็นแม่ทัพ เพราะตอนนั้นเธออาจจะอายุมากแล้ว หรือไม่ก็อาจเจียมตัวในความเป็นผู้หญิง แต่เธอก็เสนอแผนยุทธการให้บาราคไประดมพลหนึ่งหมึ่นคนไว้ที่ภูเขาทาโบร์ แล้วจะล่อให้สิเสราแม่ทัพของยาบินให้มาเผชิญกับเขาที่แม่น้ำคีโชน พร้อมรถรบและกองทหารของเขา แล้วก็ให้บาราคเผด็จศึก ณ ชัยภูมินั้น


นายพลบาราคเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ของนาง แต่กลับขอให้นางไปเป็น Spiritual Leader ของกองทัพด้วย เพราะเขาอาจพิจารณาแล้วว่าการมีนางไปด้วย จะทำให้ขวัญกำลังใจของทหารกล้าแข็ง อีกทั้งยังจะสามารถขอความเห็นในเชิงยุทธวิธีการรบต่อนางได้อีกด้วยในเวลาคับขัน “ถ้าแม้นางไปกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไป ถ้าแม้นางไม่ไปกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ไป” แล้วนางก็ให้คำตอบในแบบที่พวก Feminist อาจฟังแล้วชอบใจ นางว่า“ฉันจะไปกับท่านแน่ แต่ว่าทางที่ท่านไปนั้นจะไม่นำท่านไปถึงศักดิ์ศรี เพราะว่าพระเจ้าจะขายสิเสราไว้ในมือของหญิงคนหนึ่ง”


ในวันเผด็จศึก ทุกอย่างเป็นไปตามแผน “ทั้งรถรบและกองทัพแตกพ่ายด้วยคมดาบต่อหน้าบาราค....และกองทัพของสิเสราก็ล้มตายด้วยคมดาบ ไม่เหลือสักคนเดียว” แต่สิเสราหนีไปได้ ทว่ากลับหนีไปที่เต็นท์ของยาเอล


ยาเอลให้การต้อนรับสิเสราอย่างดี เอาผ้าห่มให้ เอานมให้ดื่ม และรอจนเขาหลับสนิทเพราะความเหน็ดเหนื่อย แล้วเธอจึง “หยิบหลักขึงเต็นท์และถือค้อนย่องเข้ามา ตอกหลักเข้าที่ขมับของสิเสราทะลุติดดิน” สมองก็คงกระจายเต็มพื้น และนับแต่วันนั้น กษัตริย์ยาบินก็นอบน้อมต่อคนอิสราเอล และในที่สุดคนยิวก็ทำลายกษัตริย์เมืองคานาอันลงได้


แล้วนางเดโบราห์กับบาราคจึงร้องเพลงถวาย ว่ากันว่าเป็นโศลกที่ไพเราะมากในภาษาฮิบรู ซึ่งในคำแปลภาษาไทยบางตอนที่มีการยกย่องผู้หญิงมีอยู่ว่า


“สมัยยาเอล ทางหลวงก็หยุดชะงัก
ผู้สัญจรไปมาก็หลบไปเดินตามทางซอย
ชาวไร่ชาวนาในอิสราเอลก็หยุดยั้ง
เขาหยุดยั้งจนดิฉันเดโบราห์ขึ้นมา
จนดิฉันขึ้นมาเป็นอย่างมารดาอิสราเอล”

และ

“หญิงที่น่าสรรเสริญมากที่สุดก็คือยาเอล
ภรรยาของเฮเอร์คนเคไนต์
เป็นหญิงที่น่าสรรเสริญมากที่สุดที่อยู่เต็นท์
เขาขอน้ำ เธอก็ให้น้ำนม
เธอเอานมข้นใส่ชามหลวงมายื่นให้
เธอเอื้อมมือหยิบหลักเต็นท์
ข้างมือขวาของเธอฉวยตะลุมพุก
เธอตอกสิเสราเข้าทีหนึ่ง
เธอบี้ศีรษะของสิเสรา
เธอตีทะลุขมับของเขา
เขาจมลง เข้าล้ม
เขานอนที่เท้าของนาง
ที่เท้าของนางเขาจมลง เข้าล้ม
เขาจมลงที่ไหน ที่นั่นเขาล้มลงตาย”


นอกจากเรื่องราวใน “พันธสัญญาเดิม” แล้ว เรายังอาจพบเหตุการณ์ที่ยกย่องผู้หญิงหรือผู้หญิงเป็นผู้นำอีกหลายแห่ง อย่างใน Apocrypha บันทึกที่ค้นพบใหม่แต่ไม่ได้รวมไว้ในไบเบิลของโปรแตสเทนต์จึงไม่สามารถหาอ่านได้ในภาคภาษาไทย แต่ผู้สนใจอาจค้นคว้าได้ใน Book of Judith เรื่องราวของหญิงม่ายผู้ร่ำรวย ทรงเสน่ห์ และงามอย่างยิ่ง ซึ่งเธอแสดงความกล้าหาญและความเป็นผู้นำ ที่อาสาปลอมตัวเข้าไปอยู่กินกับกษัตริย์ของฝ่ายศัตรูผู้ทรงอานุภาพมาก (มีทหารราบถึง 120,000 นาย และทหารม้า 12,000 นาย) แล้วก็มอมเหล้า จนสามารถตัดศีรษะออกมาได้ นับเป็นการเอาชนะทางจิตวิทยา ซึ่งต่อมากองทหารฝ่ายตรงข้ามก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด เพราะขวัญเสียและขาดผู้นำ

เหตุการณ์เหล่านี้ได้รับการเล่าขานและอ่านกันสืบต่อมาในหมู่ชาวยิว (ต่อมาก็ชาวคริสต์) ช่วยให้ผู้หญิงยิวยุคหลังมีแรงบันดาลใจและภูมิใจในเกียรติภูมิของหญิง ถึงขั้นที่บางครั้งก็ลงมือเขียนบันทึกเองเลยก็มี อย่าง “ประวัตินางรูธ” หรือ Book of Ruth ใน “พันธสัญญาเดิม” ก็ว่ากันว่าเป็นฝีมือของผู้หญิง เป็นต้น

ศิลปินฝรั่งหลายคนในหลายยุคได้นำเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปกันมานักต่อนักแล้ว ผมเคยเดินทางไปที่เมือง Albi ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เพื่อดูออร์แกนท่อที่ใหญ่อลังการที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป อีกทั้งเยี่ยมชมผลงานของ Toulouse-Lautrec ศิลปินที่ผมชื่นชอบ ณ Musee Toulouse-Lautrec

ณ โบสถ์ใหญ่ใจกลางเมือง ผมได้เห็นรูปปั้น Judith ซึ่งสร้างมาแต่ก่อนยุคบาโรค โดยเมื่อพินิจพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว ก็พบว่าเธอเป็นเพียงหญิงตัวเล็กๆ ที่แต่งตัวดีและงาม ไม่มีลักษณะเหี้ยมโหดแต่อย่างใด ผมจึงได้เดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์ Uffizi ที่เมืองฟลอเรนซ์ ทางภาคอิสานของอิตาลี เพื่อดูภาพ "Judith Slaying Holofernes" ของ Artemisia Gentileschi ซึ่งว่ากันว่าน่าสพรึงกลัว และสยดสยองมาก ก็ได้ประจักษ์กับตัวเองว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง

อิทธิพลเหล่านี้ ส่งผลต่อมาถึงฝรั่งทั้งมวล ทำให้ผู้หญิงยังพอมีที่ยืนอยู่บ้างในสังคมตะวันตก ดังจะเห็นว่า นักบุญ (Saint) ในคริสต์ศาสนาหลายองค์ก็เป็นผู้หญิง และแม่ทัพผู้หญิงหลายคนในประวัติศาสตร์ ก็ได้ถูกบันทึกว่าเคยแสดงความกล้าหาญและความมีไหวพริบ ที่ไม่แพ้ชายชาตรี อีกทั้ง ประเทศสำคัญๆ ในยุโรป ก็ล้วนยอมรับผู้หญิงในฐานะประมุขมานักต่อนักแล้ว อย่างในอังกฤษนั้น ยุคสมัยของพระนางเจ้าอลิสเบธที่ 1 และพระนางเจ้าวิกตอเรีย ก็เป็นยุคที่อังกฤษรุ่งเรืองเป็นที่สุด หรือรัสเซียในสมัยพระนางเจ้าแคธเธอรีน ก็รุ่งเรืองไม่แพ้กัน แม้กระทั่งปัจจุบัน อังกฤษก็ยังมีผู้หญิงเป็นประมุขของรัฐ อันนี้ยังไม่นับผู้หญิงที่เป็นประมุขขององค์กรธุรกิจเอกชนในสังคมตะวันตกอีกจำนวนมาก


น่าเสียดายที่ ฮิลรารี คลินตัน แพ้การเลือกตั้งเมื่อปีกลาย มิฉะนั้น เราก็จะได้เห็นผู้หญิงก้าวขึ้นไปเป็นประมุขสูงสุดของประเทศที่ทรงแสนยานุภาพที่สุดในโลก ซึ่งประวัติศาสตร์การยอมรับผู้หญิงก็จะก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง อย่างแน่นอน

....แล้วย้อนดูตัวเอง

คนไทยเคยยอมรับผู้หญิงเป็นองค์พระประมุขอยู่บ้าง โดยเฉพาะคนไทยทางเหนือนั้นมีบันทึกอยู่ชัดเจน ว่าเมื่อ ประมาณ 600 กว่าปีก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองสุโขทัย ครั้งนั้น เมืองหริภุญชัย (ลำพูนปัจจุบัน) ขาดบุคลากรที่เหมาะสมจะเป็นกษัตริย์ได้ ก็ได้มีการขอพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นธิดากษัตริย์ผู้ครองเมืองละโว้ (ลพบุรีปัจจุบัน) ขึ้นไปปกครอง


ศรีศักร วัลลิโภดม เคยกล่าวไว้ในหนังสือ “ล้านนาประเทศ” ว่า “การเสด็จมาครองราชย์ยังเมืองหริภุญชัยของพระนางจามเทวี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสังคมและวัฒนธรรม ขึ้นแก่บ้านเมืองในที่ราบลุ่มเชียงใหม่อย่างมากมาย เพราะพระนางจามเทวีไม่ได้เสด็จมาเพียงองค์เดียว หากนำคณะสงฆ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต ช่างศิลปะและนักวิชาการ ขึ้นมาด้วยเป็นจำนวนมาก”


พระนางจามเทวีได้สร้างบ้านแปลงเมือง และวางพื้นฐานการปกครองแบบละโว้ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย (ซึ่งเป็นมหาอำนาจและมีอารยธรรมสูงส่งมากที่สุดในเอเซียยุคนั้น) อีกทอดหนึ่ง จนอาณาจักรหริภุญชัยมีอายุต่อมาอีกหกร้อยกว่าปี จึงเสียแก่พระเจ้ามังรายที่ผนวกเอาหริภุญชัยไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา


นั่นเป็นเรื่องของคนไทยทางเหนือ สำหรับคนไทยภาคอื่นโดยเฉพาะภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีอยุธยาเป็นศูนย์กลางและสืบเนื่องมาสู่กรุงเทพมหานครฯ ในปัจจุบันนั้น ก็มีเรื่องราวของประมุขหญิงบันทึกไว้เป็นหลักฐานอยู่บ้าง อย่างเรื่องความกล้าหาญของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยก็เป็นเรื่องที่ประทับใจคนไทย หรือของคุณหญิงโม (ซึ่งก็มีนักประวัติศาสตร์บางสำนักออกมาแย้งว่าท่านไม่มีตัวตนจริง) และวีรสตรีเมืองถลาง เป็นต้น


แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ นับเป็นประมุขหญิงองค์เดียวในประวัติศาสตร์ของคนไทยลุ่มเจ้าพระยา พระนางทรงครองอำนาจการเมืองระยะหนึ่ง และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์สองพระองค์ คือพระยอดฟ้า และขุนวรวงศาธิราช ทว่า เรื่องราวของพระนาง ก็ยังคงคลุมเครือว่าควรจะตัดสินให้เป็นการกระทำในเชิงรัฐบุรุษหรือในเชิงกบฏกันแน่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ให้ความเห็นในหนังสือ “อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง” ไว้ว่า “ในการเขียนประวัติศาสตร์สกุลลัทธิชาตินิยม ทรงได้รับการตำหนิว่าเป็น “หญิงชั่ว” ในหน้าประวัติศาสตร์อยุธยาและราชสำนัก (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงกับระบุว่า “เรื่องพงศาวดารตอนนี้เป็นเรื่องของความชั่วไม่น่าอธิบาย”) แต่ในระยะหลังทรงได้รับการพิจารณาใหม่ว่าเป็นบทบาทของผู้ฟื้นฟูความเป็นใหญ่ของราชวงศ์ละโว้-อโยธยา (อู่ทอง)”


กระนั้นก็ตาม “นางพญาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” ก็มิได้ขึ้นครองราชย์ในฐานะกษัตริย์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด


สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ให้ความเห็นกับผู้เขียนว่า ความคิดความเชื่อทางการปกครองของไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย โดยเฉพาะในด้านการปกครองอาณาจักรนั้น (Administration) เรารับความคิดมาจากพราหมณ์หรือฮินดูเป็นหลัก แต่ทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual) เรายกย่องความคิดของพุทธให้เหนือกว่าของพราหมณ์ ความคิดแบบพราหมณ์นั้นเน้นเรื่องอำนาจและความเด็ดขาด จึงเหมาะกับการจัดการ การปกครอง และกฎหมาย แต่ความคิดแบบพุทธเป็นความคิดคู่ขนาน ที่สามารถเหนี่ยวรั้งจิตใจมิให้ผู้นำหรือพระมหากษัตริย์กลายเป็นเผด็จการทรราช (Tyrant) นับเป็นการคานอำนาจกันอย่างชาญฉลาด


หลักธรรมอย่าง “จักรวรรดิวัตร” หรือ “ทศพิธราชธรรม” นั้น เป็นหลักธรรมที่คอยเหนี่ยวรั้งจิตใจพระมหากษัตริย์มิให้ใช้อำนาจเกินขอบเขต อีกทั้งพระสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันศาสนาก็ได้รับการยกย่องในสังคมไทย แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ก็ต้องกราบไหว้ มีหลายครั้งในอดีตที่พระสงฆ์สามารถเปลี่ยนพระทัยพระมหากษัตริย์ได้ อย่างในกรณีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะทรงประหารชีวิตแม่ทัพนายกอง ก็ได้สมเด็จพระวันรัตน์เป็นผู้ทัดทานไว้ จนในที่สุดก็เลิกล้มพระทัย เป็นต้น


การผสมผสานระหว่างพุทธกับพราหมณ์มี Implications ต่อความเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมของผู้หญิงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะแม้ความเชื่อแบบพุทธจะยกย่องผู้หญิง (พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าผู้หญิงก็สามารถเข้าถึงพระนิพพานได้เช่นเดียวกับผู้ชาย) แต่ความเชื่อแบบพราหมณ์นั้น “กด” ผู้หญิงอยู่มาก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่ประเทศไทยไม่เคยมีผู้หญิงเป็นองค์พระประมุขมาก่อนเลย แม้ก่อนรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เราจะยังไม่ได้รับเอาธรรมเนียมฝรั่งเรื่องการแต่งตั้งให้พระโอรสองค์โตที่เป็นเจ้าฟ้า ดำรงตำแหน่งเป็นองค์รัชทายาทตามกฎหมายก็ตาม


อิทธิพลทางความคิดแบบพราหมณ์ยังทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดให้ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เคยอ้างไว้ใน “เจ้าชีวิต” ว่า “....เป็นกฎการสืบราชสมบัติของไทยเราฉบับแรกที่กำหนดเอาการสืบโดยสายตรงดังอังกฤษเรียกว่า primogeniture ฉะนั้นพระราชโอรสของรัชทายาทที่สิ้นพระชนม์แล้ว จะได้สืบราชสมบัติก่อนทูลกระหม่อมอา….” และว่า “…..แต่บ่งไว้อย่างแน่วแน่ในมาตรา 13 ว่า ‘ในกาลสมัยนี้ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัว บรมราชินีนาถ ผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้นท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใดๆ เข้าไว้ในลำดับราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด’


นับแต่มีการตรากฎมณเฑียรบาลฯ พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นต้นมา ประเทศไทยเคยมีปัญหาการสืบราชสมบัติถึง 3 ครั้งด้วยกัน คือเมื่อรัชกาลที่ ๖ สวรรคต ขณะที่พระราชธิดาพระองค์เดียวเพิ่งประสูติ โดยพระองค์ก็มิได้ทรงเลือกองค์รัชทายาทไว้ก่อน และเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๗ ซึ่งไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ทรงสละราชสมบัติ โดยมิได้ทรงระบุตัวองค์รัชทายาทไว้เช่นกัน และครั้งหลังสุดคือเมื่อรัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน โดยสองครั้งหลังนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ดังนั้น การเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๘ และพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามแบบอย่างของประเทศตะวันตกสมัยใหม่ ที่ปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ


ปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีองค์รัชทายาท คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จึงไม่เป็นปัญหาเหมือนกับในอดีต และพระองค์ท่านก็ทรงมีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี


ผู้เขียนขอจบบทความ ด้วยการอ้างถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ฉบับล่าสุด ที่ได้มีข้อบัญญัติซึ่งทำให้การตั้งคำถามของบทความนี้ยุติลงไปด้วย ดังนี้


มาตรา 22 ภายใต้บังคับมาตรา 23 การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467


การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้


ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง


มาตรา 23 ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ


ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 22 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ


ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่งหรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง




ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน มีนาคม 2551

Sublime Bangkok



แม้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ทว่า ความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ หาได้สิ้นสุดไปพร้อมกับบัตรเลือกตั้งที่หย่อนลงไปในกล่องเมื่อวันก่อนไม่

แน่นอน ความคาดหวังของคนกรุงเทพฯ ย่อมหลากหลาย หากไปถามแต่ละคน ก็อาจได้คำตอบไม่เหมือนกัน แม้จากคนๆ เดียวกัน หากลองถามวันนี้ แล้วเว้นไปอีกหลายวัน คำตอบที่ได้ก็อาจไม่เหมือนเดิม

MBA เราก็มีความคาดหวังเช่นกัน ทั้งในฐานะสมาชิกผู้หนึ่งของกรุงเทพฯ และในฐานะผู้เสียภาษีทุกปี ปีละหลายๆ ครั้ง (บ่อยครั้งถึงกับเสียเกิน ต้องขอคืนด้วยซ้ำไป)

อันที่จริงเราก็มีความคาดหวังหลายอย่างเหมือนคนกรุงเทพฯ ทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ก็ได้รับการกล่าวถึงโดยผู้อื่นไปมากแล้ว เช่นเรื่อง การวางผังเมืองใหม่ การจราจร ความสะอาดและการสาธรณสุข และความปลอดภัย เป็นต้น

เชื่อไหม เดี๋ยวนี้ค่าเช่าแถวสุขุมวิทที่เราอยู่กัน ราคาขึ้นไปเกือบเท่าตัวแล้ว เมื่อเทียบกับที่เราเริ่มมาอยู่ย่านนี้ใหม่ๆ (ขนาดเราพยายามหาสำนักงานใหม่ที่ใหญ่และสะดวกสบายกว่าเก่ามาเกือบปีแล้ว เราก็ยังหาที่คิดค่าเช่าแบบเหมาะสมไม่ได้เลย) เราสังเกตว่ากิจการที่อาศัยหน้าร้านจำนวนมากแถวนี้ เปลี่ยนหน้าตาบ่อยเหลือเกิน แต่ละรอบที่เปลี่ยนไป เจ้าของใหม่ย่อมมาตกแต่งภายนอกภายในกันใหม่ทุกครั้งไป แต่พออยู่ได้ไม่นาน แม้จะมีลูกค้าพอประมาณ ก็เปลี่ยนอีกแล้ว นั่นเป็นเพราะว่า สัดส่วนผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องเจียดให้กับบรรดา Landlord แถวนี้ มันทำให้ Profit Margin ของพวกเขา ไม่คุ้มต่อการลงทุนอีกต่อไป

มันเป็นการสูญเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ และเราก็คิดว่า ในรอบหลายปีมานี้ เรื่องแบบนี้คงประสบกับผู้คนในย่านอื่นด้วย มิใช่ย่านสุขุมวิทแต่เพียงเท่านั้น

อันที่จริง เรื่องแบบนี้มันแก้ไขได้ด้วยการวางผังเมืองและแนวคิดในการสร้างเมือง ตลอดจนระบบขนส่งมวลชนทั้งหลาย และนั่นถือเป็นจุดตัดระหว่างสถาปัตยกรรมกับเศรษฐศาสตร์และการค้า (อย่าคิดว่ามันไม่เกี่ยวกันเชียวน่ะ) ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ต้องคิดให้มัน Serious ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ เพราะกลุ่มคนที่สามารถ (และ Willing ด้วย ในฐานที่เป็นการลงทุนแบบหนึ่งของพวกเขา) เอื้อมถึงได้ จะเหลือเพียงกลุ่มเดียวคือ “ต่างชาติ”

แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรกับพวกเรากันเองเล่า ที่ต้องซื้อข้าวของกันแพงเกินจริง และคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องไปอยู่ในสลัม เพื่ออาศัยเป็นที่ซุกหัวนอก แล้วตอนกลางวันก็มารับใช้คนต่างชาติเหล่านั้น

อย่าลืมว่า “กรุงเทพฯ เป็น Retail Shop City” ร้านค้าข้างถนนเหล่านั้น มันทำให้กรุงเทพฯ เป็นกรุงเทพฯ และเศรษฐีไทยเกือบร้อยทั้งร้อย ก็เคยเติบโตมากับร้านแบบนั้น

นั่นเป็นเรื่องหนึ่งที่ MBA อยากจะเสริม แต่ที่ตั้งใจจะเขียนในฉบับนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

เราคิดว่า เมืองหลวงแบบกรุงเทพฯ แม้จะเทียบอายุกับเมืองเก่าแบบปารีส ลอนดอน โรม เกียวโต หรือปักกิ่ง ไม่ได้ แต่ระยะเวลาสองร้อยกว่าปีมันก็ไม่น้อย (อย่างน้อยก็พอๆ กับ New York และเก่ากว่า Washington D.C.) และการมีประชากรอาศัยอยู่ถึง 13 ล้านคน เคลื่อนไหวไปมา ขับถ่ายของเสียกันทุกวัน ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในเมืองเก่าขนาดนี้ ย่อมสืบลูกหลานมาหลายชั่วอายุ แม้พวกมาใหม่ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีชีวิตในมิติเดียว คือวันๆ แสวงหาแต่โภคทรัพย์ แล้วก็รับประทาน เสร็จแล้วก็ขับถ่าย สืบพันธุ์ สันทนาการ และก็นอน เท่านั้น พวกเขาย่อมต้องการสิ่งจรรโลงใจที่มีคุณภาพ มีความงาม มีความไพเราะ มีความลึกซึ้ง แยบคาย ละเมียดละไม มีความกินใจสะเทือนอารมณ์ มีความหมายต่อการดำรงอยู่ และ Sublime

พวกเขาอยากมีทางเลือกในการสันทนาการ และแสวงหาความรู้นอกตำรา ตลอดจนความหมายของการมีชีวิตอยู่ ให้มากกว่าเดิม หลากหลายกว่าเดิม เช่น เลิกจากงานแล้ว แทนที่จะต้องกลับบ้านไปดูทีวีอย่างเดียว ก็สามารถไปดูโขน ละคร ลำตัด คร่าวซอ ขับเสภา หุ่นกระบอก หนังตะลุง หมอลำแคน ละครใบ้ มายากล มวย ฯลฯ ที่มีสถานที่ให้แสดงและแสดงด้วยความถี่พอสมควร เสร็จแล้วก็เดินออกไปฟังเพลงแจ๊ส หรือเพลงร็อค หรือเพลงคลาสสิก หรือเพลงไทยเดิม หรือเพลงสากล แล้วดึ่มเบียร์สักแก้ว (ที่ไม่ใช่เบียรสิงห์ หรือไฮเนเก้น หรือเพียงไม่กี่ยี่ห้อที่ถูกผูกขาดอยู่) ก่อนกลับบ้าน

พรุ่งนี้อยากดูโอเปร่า หรือละครฝรั่ง ก็หาดูได้โดยง่าย เสาร์-อาทิตย์ อยากพาลูกไปดูภาพเขียน ไปพิพิทธภัณฑ์ ไปฟังสัมมนาสาธารณะ ไปฟังการอ่านบทกวี ไปดูหนังสารดีที่มีประโยชน์ หรือหนังแนวศิลปะ ไปอ่านหนังสือในห้องสมุด หรืออยากจะหาข้อมูลแนวลึก เช่นเกี่ยวกับโขนหรือลำตัดหรือแจ๊สหรือการออกแบบอย่างเดียว ก็ควรมีห้องสมุดเฉพาะให้ Access ได้โดยง่าย ถูก และอยู่ตาม Public Spaces มิใช่ตามห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่อยากให้ลูกหัดวาดรูปหรือถ่ายรูปก็ต้องให้มีห้องสตูดิโอให้เช่าพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือและครูสอนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่ปล่อยให้มีแต่โรงเรียนสอนภาษาในระดับงูๆ ปลาๆ แต่เพียงด้านเดียว

Public Space เอง ก็ควรมีให้มากกว่านี้หลายๆ เท่า (อย่าลืมว่าเรามีคนอยู่ตั้ง 13 ล้านคน แต่มีสวนสาธารณะ มีจตุรัส มีถนนหนทางที่คนสามารถเดินทอดน่องได้โดยไม่อันตราย มีพิพทธภัณฑ์ หรือหอสมุด สักกี่แห่งกันเชียว)

เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครจะต้องคิด วางแผน และระดมทุนมาทำ มาสร้าง มาเนรมิต อย่างน้อยก็เพื่อลูกหลานจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนรุ่นเรา (เช่น ควรกำหนดไปเลยว่าแต่ละเขตจะต้องมี Public Space กี่ตารางกิโลเมตร แล้วทำการออกพันธบัตรเพื่อ Buy-back ที่ดิน โดยมีการออกแบบสถานที่ให้มีความงามและใช้ประโยชน์ได้ดีสำหรับคนทุกชนชั้น เป็นต้น)

อันนี้ไม่ใช่เหรอ ที่เป็นพันธกิจของนักการเมืองและผู้บริหารองค์กรของรัฐ

คือต้อง “สร้างความอุดมให้กับชีวิตของประชาชนในชาติ”

ถ้าทำไม่ได้ หรือทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ก็คงเป็นได้แต่เพียงนักเลือกตั้งและเสมียน ซึ่งอีกไม่นาน ผู้คนก็จะลืมเลือนคนอย่างท่านไปอย่างไม่มีความหมายอะไรเลยในเชิงประวัติศาสตร์

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
 
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551

We ain't no MOB, we're wolf


ระหว่างการชุมนุมคนเสื้อแดง Facebook ของเรา (Mbamagazine Wiki) ได้ตั้งกระทู้หนึ่งว่า "ม็อบ" มักไม่ทันฉุกคิด ไม่ทันตั้งสติ และไม่ทันคิดหาเหตุผล เพราะ "ม็อบ" ใช้แต่ความรู้สึก (เช่นรัก เกลียด ขยะแขยง ชอบ หรือเทิดทูน) แล้วก็ลงมือกระทำเลย...เดินหน้า, บุก, ขว้าง, ปิดล้อม, ยึด, เผา, ทำลาย, โห่ร้อง, ฟัน, แทง, ยิง,...หรือแม้แต่ นั่งลงแล้วก็ร้องเพลง..."

ปรากฏว่ากระทู้นั้นมี Friend ที่เอาใจช่วยฝ่ายเสื้อแดงเข้ามา Comment หลายคน และไม่อยากให้เราใช้คำว่า "ม็อบ"

เราก็เลยแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "Crowd cannot think. They can only feel and act."

ที่เรา Post กระทู้นั้น เพราะเราอยากเตือนสติฝูงชน ให้ "ฉุกคิด" และ "ใช้เหตุผล" ก่อนจะถลำไปยึดโน่น เผานี่ กันให้เสียหายอีก

เพราะถ้าฝูงชนตั้งคำถามกับตัวเองกันสักนิด เช่นว่า "เด็กหรือคนแก่ที่ติดอยู่ต่างประเทศจะกลับบ้านกันยังไง?" "ถ้าพวกเขาป่วยหล่ะ?" "ถ้าคนเหล่านั้นเป็นญาติพี่น้องที่เรารักหล่ะ?" "แล้วร้านค้าที่ขาดรายได้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายลูกจ้าง" ฯลฯ...ก็คงจะไม่เฮกันไปยึดสนามบินแบบคราวก่อนอีก

Charles Kindleberger นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญเคยกล่าวว่า "ม็อบ" "การเก็งกำไร" (ที่ทำให้เกิดฟองสบู่) และ "การล่าแม่มด" (ในสมัยที่ยังมีความขัดแย้งทางศาสนา) มาจากพื้นฐานวิธีคิดอันเดียวกัน

ดังนั้น นักโฆษณาชวนเชื่อ นักปั่นหุ้น และผู้นำม็อบ ย่อมต้องอาศัยทักษะเดียวกันนั่นเอง

และดังที่ Nietzsche เคยบอกไว้ว่า คนทั่วไปย่อมคิดเหมือนแกะหรือ "สัตว์ฝูง" (Heard Mentality) ทว่า "ผู้นำ" เท่านั้นที่เปี่ยมไปด้วย "Will to Power" เข้มแข็ง กล้าหาญ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ใครที่อยากจะเป็นนักการตลาดหรือนักโฆษณาที่เหนือชั้น ย่อมต้องศึกษาแนวคิดเหล่านี้ มิใช่อ่านแต่ Kotler หรือหนังสือแนวการตลาดเท่านั้น

และเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ MBA จึงได้เลือกชิ้นงานโฆษณาหนึ่งที่ "โดน" เพราะมันดูเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยแนวคิดอันลึกซึ้ง โดยคนคิดชิ้นงานนี้ต้องเข้าใจแนวคิดพื้นฐานที่เรากล่าวมาแต่ต้น

ชิ้นงานนี้เป็นของ Louise Boston ที่ตีพิมพ์ใน Arena เมื่อหลายปีมาแล้ว ทว่า ความหมายของ Copy ที่ว่า "Conformity can be a mighty scary thing." มันยังคงสมสมัยอยู่เสมอ เพราะความหมายมันมีทั้งนัยะทางการตลาด การสร้างแบรนด์ การ Differentialte การจัดการ ความเป็นผู้นำ และ Good Taste หรือแม้กระทั่งการเมือง

ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาและจินตนาการเอาเถิด.....

ก่อนจากกัน MBA ขอฝาก "Quote น่าคิด" ไว้ให้ขบกันเล่นๆ ระหว่างที่ท่านผู้อ่านและท่านสมาชิกรอที่จะพบกับเราใหม่ในฉบับหน้า...

“…..the rally speeches of the National Socialists (พรรค NAZI—บ.ก.) were very conspicuous for their skill fullness in operating upon the emotions of the individuals in the masses and of avoiding relevant arguments as much as possible. In various passages in his book Mein Kampf Hitler stresses that true mass psychological tactics dispense with argumentation and keep the masses’ attention fixed on the ‘great final goal’ at all times….”

Wilhelm Reich, “The Mass Psychology of Fascism”, 1970, Pelican Book, page 68

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2553

TOM PETERS IN MY MIND




ระหว่างปี 2534 ผมกับคุณนรรัตน์ ลิ่มนรรัตน์ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและติดต่อธุรกิจกับ Bloomberg ซึ่งขณะนั้นเพิ่งตั้งมาได้ไม่นานและเพิ่งก่อร่างสร้างตัว ยังเป็น Bloomberg Limited Partnership ที่เน้นการขายข้อมูลทางการเงินและโปรแกรมวิเคราะห์ให้กับสถาบันการเงินใหญ่ๆ ไม่กี่แห่ง ยังมิได้มีสถานีโทรทัศน์และนิตยสารสำคัญๆ เป็นของตัวเองเหมือนอย่างทุกวันนี้ (ปัจจุบัน Michael Bloomberg ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเมืองนิวยอร์ค)

ในครั้งนั้น นอกเหนือไปจากสำนักงานใหญ่ที่ Manhatan แล้ว คณะผู้บริหารยังได้พาเราไปดูงานที่สำนักงาน New Jersey ซึ่งเป็น Back Office ที่เป็นฐานการเก็บและประมวลข้อมูลทั้งหมดมาแต่ต้น เราได้พบกับ Joan Aubert ผู้บริหารรุ่นก่อตั้งที่ลาออกจาก Salomon Brothers มาบุกเบิกธุรกิจร่วมกับ Bloomberg ตั้งแต่วันแรก

ผมสังเกตเห็นสำนักงานของเขาโล่งโจ้ง ไม่เห็นมีห้องหับ แถมยังมีโรงอาหารยกพื้นอยู่ตรงกลาง ดูไปคล้ายโกดังสินค้ามากกว่าสำนักงานธุรกิจ แต่ก็ตกแต่งด้วยงานศิลปะอย่างน่าชม (สมัยโน้นการตกแต่งสำนักงานแบบ Loft ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเหมือนตอนนี้)

ดูเหมือนคุณ Aubert จะรู้ความในใจเรา ก็เลยสาธยายว่า "ที่นี่ไม่มีชนชั้น" ผู้บริหารกับพนักงานนั่งทำงานระนาบเดียวกัน เดินถึงกัน มองเห็นกัน พูดคุยกันได้ตลอดเวลา ไม่ต้องมีห้องผู้บริหาร ไม่ต้องมีเลขาฯ หน้าห้องคอยกันท่า ห้องประชุมก็มีเพียงกระจกกั้น ฯลฯ จะมีก็เพียงยกพื้นสักคืบหนึ่งสำหรับบริเวณที่นั่งของคุณ Aubert เพื่อให้เกียรติว่าเป็นผู้บริหารสูงสุดในที่แห่งนั่น

เราได้พูดคุยกับหัวหน้าแผนกต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นกันเองและแต่งตัวกันตามสบาย ไม่มีพิธีรีตรอง ตรงข้ามกับเราที่ใส่สูทถือกระเป๋าหนังกันเต็มยศ คุณ Aubert อธิบายว่าแนวคิดของที่นั่นคือต้องการให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ เขาพยายามแหกกฎเหล็กของการจัดองค์กรขนาดใหญ่แทบทุกข้อ เช่น พยายามลดสายการบังคับบัญชาให้เหลือสั้นที่สุด จัดสถานที่ทำงานให้ทุกคนสื่อสารกันสะดวกและอิสระ มีโรงอาหารบริการพนักงานฟรี ให้กินร่วมกันเพื่อเน้นให้เกิดการปะทะสังสรรค์ทางความคิดกันตลอดเวลา และเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตรอง แต่เน้น Productivity ฯลฯ

สมัยโน้น ต้องถือว่าความคิดแบบนี้ยังใหม่อยู่ (พวกที่ Silicon Valley และวัฒนธรรมของพวกเขายังไม่ใหญ่คับฟ้าเหมือนทุกวันนี้) ยิ่งในวงการเงินด้วยแล้ว การปฏิบัติตัวแบบนั้น ถือเป็นข้อยกเว้นเลยทีเดียว

ขณะนั้น ผมเพิ่งจะอายุยี่สิบกว่าและเพิ่งเรียนจบได้ไม่นาน เมื่อเห็นวัฒนธรรมองค์กรแบบนั้น ก็เลื่อมใสเลยทันที และตั้งใจไว้ว่าสักวันหนึ่ง ถ้ามีโอกาสได้เป็นใหญ่เป็นโต ก็จะนำเอาแบบอย่างนั้นมาประยุกต์ใช้กับองค์กรของตนบ้าง ผมจึงซักถามความเห็นคุณ Aubert เกี่ยวกับประเด็นนี้ละเอียดหน่อย ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่เกี่ยวกับงานที่เราไปในวันนั้นเลย

แม้เวลาจะล่วงเลยมานานเกือบยี่สิบปีแล้ว ผมยังจำได้แม่นยำว่าคุณ Aubert บอกว่า Bloomberg และเขา ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ In Search Of Excellence ของ Tom Peters กับ Robert Waterman ซึ่งที่จริงแล้ว แม้ผมจะไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนั้นมาก่อน ผมก็เคยรับรู้ถึงความโด่งดังของมันและเคยดูเวอร์ชั่นที่เป็นวีดีโอ (สมัยนั้นยังไม่มี VCD) มาก่อนหน้านั้น 3-4 ปี และยังจำได้ว่า คนที่เอามาเปิดให้ดูก็คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พร้อมกับชี้ให้เห็นจุดบกพร่องของวัฒนธรรมองค์กรแบบบริษัท Apple สมัยแรกๆ (ซึ่งมีแสดงอยู่ในวีดีโอ) ว่ามันคล้ายกับการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย มีแต่เด็กหัวดีๆ แต่งตัวสบายๆ ทำท่าทางไม่แยแส ให้สัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจสุดขีด ฯลฯ

หลังจากนั้น ผมก็หาหนังสือเล่มดังกล่าวมาอ่านดูบ้าง และค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Tom Peters แล้วก็พบว่าแนวคิดของเขายืนอยู่ตรงข้ามกับ Peter Drucker ที่ผมค่อนข้างนับถือในฐานะนักคิดนักเขียนที่ค่อนข้างลึกซึ้งกว่าเพื่อนที่เป็น Management Guru ด้วยกัน ผมก็เลยหมดศรัทธาในตัวเขาไปดื้อๆ แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

ยิ่งมาอ่านวิจารณ์ที่โจมตีหนังสือ Search ในช่วงนั้นกันมาก ว่าที่หนังสือเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ติด Best Seller ตลอดกาลนั้น ก็เพราะคนอเมริกันช่วงนั้นขมขื่นกับธุรกิจของชาติตัวที่เริ่มพ่ายแพ้ญี่ปุ่น พอมีหนังสือที่ยกย่องกิจการของอเมริกันขึ้นมา ก็ย่อมขายดีเป็นธรรมดา แต่พอวันเวลาผันผ่าน กิจการที่เขานำมาเป็นต้นแบบในงานวิจัยหาความเป็นเลิศ ส่วนใหญ่ล้วนมีอันเป็นไป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความศรัทธาในตัว Tom Peters ของผม ยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะความตื่นตัวของผมต่อ Search และ Tom Peters มันอยู่ในช่วงที่ตัวอย่างกิจการทั้งหลายแหล่ของเขาทยอยพังพาบหรือไม่ก็ร่อแร่แล้ว เพราะเป็นยุคหลังวิกฤติ Junk Bond

แต่กระนั้น ผมก็ยอมรับว่า "หลัก 8 ประการ" ใน Search นั้นดี เพราะลึกๆ ผมเป็นคนเชื่อในหลัก "ทฤษฎี Y" ของ McGrager อยู่ก่อนแล้ว และก็ได้ใช้หลักการแบบนี้ จัดการกับคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนตลอดมา

ผมมาคิดทีหลังว่า "หลัก 8 ประการ" อันนั้นแหละ ที่น่าจะมีส่วนช่วยให้ Bloomberg เติบใหญ่ขยายกิ่งก้านสาขามาถึงป่านนี้ได้ ถ้าหากคำกล่าวอ้างของคุณ Aubert ที่ว่า Mike Bloomberg และพรรคพวกรุ่นก่อตั้ง ได้รับอิทธิพลจาก Search ของ Tom Peters เป็นความจริง

ผมมาจับเรื่อง Tom Peters อีกครั้ง หลังจากก่อตั้งนิตยสาร MBA ได้ไม่นาน เพราะในฐานะนักเขียนเกี่ยวกับการจัดการ การเงิน การตลาด และกลยุทธ์ธุรกิจ ย่อมหลีกเลี่ยงที่จะต้องทำความเข้าใจกับความคิดของคนเหล่านี้ไปหาพ้นไม่ แต่ผมพบว่าคราวนี้ สถานะของเขามิได้เหมือนเดิม ที่เป็นเพียงนักเขียนนักบรรยาย อดีต Consultant จาก McKinsey แบบเก่า ทว่าเขาได้ถูกอุปโลกให้เป็น GURU ที่ได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนและผู้บริหารกิจการธุรกิจชั้นนำทั่วโลก ผู้คนต้องการฟังเขาพูด เพราะเขาบรรยายได้เฉียบ พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย ค่าตัวเขาสูงเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดา GURU ด้วยกัน กระนั้นก็ยังมีคนเชิญเขาไปบรรยายเกือบตลอดทั้งปี ทั่วโลก

ยิ่งผมติดตามเรื่องของเขามาก ผมยิ่งรู้สึกแย่ เพราะผมรู้สึกว่า Tom Peters เป็นคนก้าวร้าวแบบปัญญาชนอเมริกันทั่วไป ไม่เหมือนคนแบบ Drucker หรือ Philip Kotler ที่ค่อนข้างอ่อนน้อมถ่อมตนและลึกซึ้งแบบปัญญาชนยุโรป

แต่เมื่อพิจารณาถึงปูมหลังของเขา ผมก็เริ่มเข้าใจและทำใจได้ เพราะอย่าลืมว่า Tom Peters เป็นพวก WASP (ความข้อนี้เขายอมรับเอง) มาจากครอบครัวที่ไม่ธรรมดาและได้รับการศึกษาแบบชนชั้นนำอเมริกัน ไม่เหมือน Drucker ที่ถึงแม้จะมาจากครอบครัวชั้นนำจากออสเตรีย แต่ก็เป็นยิว (แม้จะเปลี่ยนมานับถือคริสต์แล้วตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ) และไม่ใช่เยอรมันแท้ๆ เพียงแต่ได้นำแนวคิดและภูมิปัญญาเยอรมันมาเผยแพร่ ประยุกต์ และปลูกฝังในแวดวงการจัดการและธุรกิจวงในของอเมริกัน ส่วน Kotler ก็เป็นยิวเช่นกัน แถมยังเป็นยิวที่สืบสายมาจากยุโรปตะวันออกซึ่งไม่ใช่ยิวชั้นนำ แม้จะช่วยบุกเบิกงานวิชาการทางด้าน Marketing จนโด่งดัง แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการและชนชั้นนำในแวดวงธุรกิจกระแสหลักของสังคมอเมริกันเท่าที่ควร

อีกอย่าง Tom Peters เป็นคนรุ่นฮิปปี้ เติบโตมาในยุค 60 เคยผ่านการรบในเวียตนาม (ข้อนี้เขาไม่ค่อยอยากจะพูดถึง) จึงไม่แปลกที่เขาจะแสดงความเห็นแบบโต้งๆ คิดอะไรก็พูดแบบนั้น และไม่ชอบพิธีรีตรอง มีความคิดขบท และต่อต้านพวก Establishment โดยเฉพาะพวกชนชั้นนำในองค์กรธุรกิจ เขาต่อต้านมาตั้งแต่แนวคิดของ Drucker ต่อต้าน Frederick Tayler (นักเรียนเยอรมันทั้งคู่และเป็นเสาหลักของการจัดการสมัยใหม่) ต่อต้านวัฒนธรรมของ McKinsey (เสาหลักของธุรกิจที่ปรึกษาและศูนย์กลางของ Business Strategist ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย) ต่อต้าน Robert McNamara (สัญญลักษณ์ของพวก The Best and The Brightest) และผู้นำองค์กรแบบเก่าที่ติดยึดกับระเบียบแบบแผน ฯลฯ

จะว่าเขาดังขึ้นมาเพราะ "ด่าผู้ใหญ่" ก็ไม่ผิด

อีกอย่าง เขาเป็นคน Arrogant มาก หลายปีก่อน ผมเคยฟังบรรยายของ Tom Peters ที่โรงแรมดุสิตธานี ผมเห็นกับตาว่าเขาตอบโต้อย่างรุนแรงกับฝรั่งคนหนึ่งที่แสดงความกังขาในความเห็นของเขา ท่าทีและโวหารตลอดจนน้ำเสียงของเขาล้วนยะโส ครั้งนั้น ผมสังเกตว่าคนที่ไปฟังบรรยายส่วนใหญ่ ไม่ได้เสียเงินไปฟังเอง (ถ้าจำไม่ผิด ผู้เข้าฟังต้องเสียเงินคนละกว่า 30,000 บาท) แต่เป็นบริษัทส่งไปเสียมากกว่า Tom Peters ฉายแผ่นใส แล้วก็บรรยายด้วยเสียงดังฟังชัด เดินไปเดินมาพร้อมกับแจกลายเซ็นต์ คล้ายดารา ส่วนเนื้อหาที่บรรยายนั้น ก็เอามาจากหนังสือที่เขาเขียนนั่นแหละ

ผมต้องยอมรับว่า คราวนั้น ผมไปนั่งฟังได้เพียงไม่ถึงยี่สิบนาที ก็จากมา

ข้อดีและจุดที่เด่นมากของ Tom Peters ในความเห็นของผม ก็คือเขาสามารถพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สามารถ Conceptualize แก่นความคิดหรือความคิดหลักของเรื่องราวต่างๆ แล้วอธิบายออกมาให้คนทั่วไปเข้าใจได้อย่างง่ายดาย มีตัวอย่างประกอบแบบง่ายๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน คิดศัพท์แสงจ๊าบๆ ซึ่งฟังแล้วเห็นภาพ หรือ "โดนเลย" จึงไม่แปลกที่เขาจะเป็น Popular Guru และเป็นขวัญใจของสื่อมวลชนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่แสดวงหาไอเดียเก๋ๆ เท่ๆ ตลอดจนศัพท์แสงแนวๆ มาประดับความคิด

ที่สำคัญ ผมว่าเขาเป็นคนที่สามารถ "จับ Trend" ได้เก่งมาก ผมมักเงี่ยหูฟังเสมอว่าเขาออกมาพูดแนวคิดใหม่ๆ อะไรบ้าง เพราะไม่นาน มันมักจะ "ฮิต"

Track Record ของเขาที่เด่นๆ ในรอบสิบปีนี้ ก็คือ "Women: The New Economy's Top Opportunity" และ "The Brand Called You" เป็นต้น

ปัจจุบัน Tom Peters อายุ 68 แล้ว เขาเลิกดื่มและเดินทางไปบรรยายที่โน่นที่นี่น้อยลง อยู่เย้าเฝ้าไร่ของเขาที่ Vermont แต่ก็ยัง Active ผ่าน Blog ของตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ นักอ่านที่สนใจ ก็ตามกันได้ที่ www.tompeters.com

ยิ่งมี Facebook และ Twitter ด้วยแล้ว ผมว่าเข้าทางเขาเลยแหละ เพราะ Tom Peters ถนัดนัก เรื่องเขียนสั้นๆ แต่ได้ใจความ ยิ่งประเภท Anecdote และ Epigram แล้ว เขารวมรวมไว้แยะเลย

ณ วันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ ตรงกับวันที่ 17 มีนาคม 2553 เวลา 12.48 น. ในหน้า Facebook ของเขามีผู้ติดตามอยู่ 2,268 Fans (โฟสต์วอลล์ได้ที่ http://www.facebook.com/profile.php ref=profile&id=100000576047145#!/pages/Tom-Peters/10666812395?v=wall&ref=mf) ส่วนหน้า Twiitter ของเขามีผู้ติดตามอยู่ 11,613 ราย และสามารถ @tweet ได้ที่ http://twitter.com/tom_peters เช่นกัน

ล่าสุด เขาเพิ่งจะออกหนังสือใหม่มาวางตลาดสดๆ ร้อนๆ ชื่อ The Little Big Things นัยว่าเป็นแนวคิดเล็กๆ 163 แนวคิดที่จะช่วยให้กิจการก้าวหน้าเข้าสู่ความเป็นเลิศตามพาดหัวรองของหนังสือที่บอกว่า "163 Ways to Pursue Excellence"

ผมได้ลองอ่านตัวอย่างแนวคิดหนึ่งของเขา คือแนวคิดที่ 131 (#131.The Case of the Two-Cent Candy) ก็เห็นว่าน่ารัก กระจุ๋มกระจิ๋มดี เป็นแนวคิดหรือเครื่องเตือนใจสำหรับผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และนักการตลาดได้ (ผู้สนใจลองเข้าลิงค์นี้ดูได้ที่ http://theharperstudio.com/authorsandbooks/tom_peters/the-book/the-little-big-things/)

ถ้าไม่ซีเรียส หรือคาดหวังมากว่าหนังสือเล่มนี้จะมีความลึกซึ้ง ผมก็คิดว่าน่ามีไว้ เพราะมันเข้าถึงง่ายและมีตัวอย่างแยะ เป็นตัวอย่างพื้นๆ ที่จับต้องได้และเคยเกิดขึ้นจริงกับตัว Tom Peters ผู้เขียนเอง อย่างกรณีประสบการณ์แย่ๆ ที่เขาเจอจากตรวจคนเข้าเมืองของเราคราวมาบรรยายที่ดุสิตธานีครั้งนั้น เขาก็เก็บไว้ไม่ลืม แล้วยังเอาไปตำหนิในหนังสือเล่มนี้ด้วย โดยยกไปเปรียบกับประสบการณ์อันงามและน่ายกย่องของสิงคโปร์ในสายตาของเขา เป็นต้น

นี่แหละหนา ที่โบราณว่า "กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา"

แต่ผมก็ต้องซื้อหนังสือของเขาอยู่ดี

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 มีนาคม 2553

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2553

Michael Porter....Again



แม้อายุอานามจะย่างเข้า 62 แล้ว ทว่า Michael E. Porter ก็ยังดูกระฉับกระเฉง และแม้จะยังไม่มีความคิดอะไรใหม่ แกก็ยังทันสมัย ด้วยศัพท์แสงและไลฟ์สไตล์ อย่าง Twitter แกก็ไม่ยอมพลาดเด็ดขาด บรรดาสาวกและผู้สนใจสามารถติดตามแกได้ที่ www.twitter/MichaelEPorter ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออย่าง Facebook ก็มีให้แฟนๆ โพสต์ Wall กันได้ตลอดที่ www.http://www.facebook.com/pages/Michael-Porter/16743327313#!/pages/Michael-Porter/16743327313?v=wall เหมือนกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานประชุม World Economic Forum ที่ Davos พอร์เตอร์ก็ได้ช่วยดำเนินการสัมมนาเรื่อง Rethinking Government Assistance ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี และยังได้จัดบรรยายเดี่ยวตามโปรแกรม Idea Lab ในหัวข้อ Value-based Healthcare Delivery โดยเสนอโมเดลการจัดการระบบรักษาพยาบาลแบบ "องค์รวม" ให้ได้ผลดี (ดูวิดีโอของการบรรยายได้ใน YouTube ที่ http://www.youtube.com/watch?v=QcMLa4lP75M)

MBA ของเราได้ติดตามความคิดของพอร์เตอร์มาโดยตลอด ก็สังเกตว่าระยะหลังพอร์เตอร์จะล่วงรู้ข้อมูลภายในของประเทศต่างๆ แยะ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา เพราะนักการเมืองตลอดจนข้าราชการและนักธุรกิจระดับสูง เชื่อถือเขา จึงมักจะเชิญให้ไปพูดหรือทำ Workshop เกี่ยวกับการวางกลยุทธ์การแข่งขันเชิงลึกของแต่ละประเทศ อีกทั้งเขายังมีส่วนสำคัญในการจัดทำ World Competitive Report ของ IMD ที่จะประกาศอันดับความสามารถเชิงแข่งขันของแต่ละประเทศทุกปี โดยตัวเขาจะรับผิดชอบการจัดอันดับในระดับ Microeconomic และ Productivity เป็นหลัก

ดังนั้น การเชื้อเชิญให้เขาเข้าไปดูข้อมูลของแต่ละอุตสาหกรรม ก็เหมือนกับได้อวดให้เขาก่อน โดยหวังว่าจะชี้นำหรืออธิบายให้เขาฟังได้อย่างละเอียดละออ จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิด และอาจคิดไกลไปถึงขั้นที่จะให้เขาพอใจ เสมือนกับติดสินบนกลายๆ โดยไม่เฉลียวใจเลยว่าพอร์เตอร์เองเป็นผู้หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ Washington อย่างใกล้ชิด และนั่งอยู่ในบอร์ดของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถเชิงแข่งขันของสหรัฐฯ ด้วย

อย่างคราวก่อนที่เขามาเมืองไทย บรรดาที่ปรึกษาใหญ่ของนายกรัฐมนตรีไทยขณะนั้นก็ระวังตัวกันมาก กลัวว่าจะถูกล้วงความลับเอา แต่กระนั้นพอร์เตอร์ก็พอใจกับการมาครั้งนั้นมาก ทั้งยังได้ชมที่ปรึกษาใหญ่ของนายกฯ ไทย ให้ต่างชาติฟังด้วย ความข้อนี้ MBA ยืนยันได้ เพราะได้ฟังมากับหูที่มาเลเซีย

ครั้งนั้น MBA ได้มีโอกาสฟัง ดร.พอร์เตอร์ บรรยายกับเขาด้วย และได้พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับ ดร.พอร์เตอร์ แม้จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่ก็ได้ถามคำถามเกี่ยวกับเมืองไทยตรงๆ หลายคำถาม โดยที่ยังไม่เคยนำมาเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

พอร์เตอร์บอก MBA ว่าประเทศไทยจะดีขึ้นภายใน 5 ปี ในเชิงของ Competitiveness เขาว่าเขามั่นใจมาก หลังจากได้มี Connections กับผู้นำบางคนของไทย (ขณะที่เขาพูดประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 30 โดยขณะนี้อยู่ในอันดับที่ 36!) เขายังชมให้เราฟังอีกว่า อุตสาหกรรมไทยนั้นสร้าง Innovation ได้ และเขาก็ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย โดยเขากล่าวว่าคลัสเตอร์รถยนต์ของไทยนั้นเดิมส่งออกไม่ได้เลยเพราะ Non-productive เนื่องจากนโยบายคุ้มครองภาษีของรัฐบาลตลอดมา แต่ดันมี Segment หนึ่งที่น่าสนใจมากเกิดขึ้น คือรถกระบะ ซึ่งเขาถือเป็น Innovation และสามารถส่งออกได้แยะ เพราะมันเกิดขึ้นโดย Home-based Demand จนทำให้ผู้ผลิตสามารถคิดสร้างสรรค์ได้แยะ เช่นแต่งเป็นรถแข่ง หรือเป็นอะไรต่อมิอะไรแปลกๆ ซึ่งเขาว่าเป็นไอเดียวที่น่าชมเชย

เขามั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถ "Move-up the Food Chain" ได้อย่างแน่นอน ถ้าทุกหมู่บ้านหรือทุกตำบลสามารถคิดกลยุทธ์ในเชิงคลัสเตอร์ และวิธีพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองขึ้นมาได้จริงๆ จังๆ (นั่นแสดงว่าเขา "ซื้อ" นโยบาย "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" ของรัฐบาลไทยในขณะนั้น)



What industries we should be in?


เขายังกล่าวกับ MBA อีกว่า ประเทศอย่างไทยนั้น ไม่จำเป็นต้องเน้นแต่เพียง "ส่งออก" เท่านั้น ทว่าอุตสาหกรรมภายในก็ต้องเน้นด้วย ข้อสำคัญคือ (อุตสาหกรรมที่เราเลือกนั้น) ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม "ส่งออก" หรือ "ไม่ส่งออก" แต่ว่าอุตสาหกรรมที่เราเลือกนั้นมัน "Productive" หรือไม่เพียงใด ไทยต้องทำให้อุตสาหกรรมที่ทั้ง "ส่งออก" และ "ภายใน" เกิด Productivity สูงที่สุด (นั่นแสดงว่าเขาเห็นด้วยกับนโยบาย Dual-track ของรัฐบาลในขณะนั้นด้วย)

เมื่อเราถามว่า ประเทศไทยควรจะเลือกอุตสาหกรมเป้าหมายที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์หรือ Creative Economy เท่านั้นหรือไม่ เขาตอบว่า "ไม่จำเป็น" และไม่จำเป็นจะต้องเป็น "ไฮเทค" ด้วย เพราะเราสามารถทำให้ "ทุกๆ อุตสาหกรรมสามารถเป็น ไฮเทค ได้เหมือนกัน"...นั่นคือเป้าหมาย...ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นแบบผู้ประกอบการจาก Silicon Valley เท่านั้นที่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จ แต่บรรดาเจ้าของกิจการรองเท้าในอิตาลี ก็ประสบความสำเร็จและเป็นอยู่อย่างสบาย ใช้ชีวิตหรูหราในปราสาท และมีเครื่องบินส่วนตัวได้

"Thailand has to create her own uniqueness by herself. Don't follow anybody" ดร.พอร์เตอร์ กล่าวทิ้งท้ายกับเรา

อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังได้ขยายความในการบรรยายต่อให้กับที่ประชุมว่า เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารในการวางกลยุทธ์การแข่งขันของกิจการ (หรือของประเทศก็ตาม) อยู่ที่ความแตกต่างหรือความมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร (Uniqueness) มิใช่เพียงแค่ "ดีกว่า" คู่แข่งขัน (Better)

การจะบรรลุเป้าหมายดัวว่านั้น โดยไม่ลอกเลียนใคร เราจำเป็นที่จะต้องมี "Insight" จะต้องพิจารณาประวัติศาสตร์ของตัวเองอย่างถ้วนถี่ (Looking your own history) เพื่อหามรดกหรือทรัพย์ที่สะสมและตกทอดมาว่าคืออะไร แล้วค่อยนำมาบวกลบคูณหารว่าของที่เราทำนั้นมันจะเกิดเป็นกำไรแค่ไหนเพียงไร และมันจะทำให้ผู้บริโภคได้เสียอย่างไร (Look into the number) เสร็จแล้วจึงแยกแยะ Value Chain ของกิจกรรมทั้งมวลออก ตีแผ่ดูว่ามันจะสามารถปรุงแต่งหรือปรับแต่งใหม่ (Looking for new configuration of activities) ให้เกิด Productivity สูงสุดและลูกค้าพึงพอใจที่สุดได้อย่างไร

เขามักยกตัวอย่าง FedEx ที่สร้าง Hub ขึ้นมา แล้วให้พัสดุทั้งมวลไปที่ Hub เพื่อถูก "จัดการ" ณ ที่นั่น หรืออย่าง Rent-A-Car ที่มุ่งเน้นให้บริการกับคนขับรถที่รถเกิดเสียกระทันหันหรือเกิดอุบัติเหตุ โดยร่วมมือกับบริษัทประกันฯ เพื่อรวมบริการให้อยู่ ณ ที่เดียวเลย ครั้งเดียวเลย เป็นต้น


Gimmicks of Strategy


เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ Porter ได้ไปบรรยายให้กับรัฐบาลซาอุดิอาราเบียและรัฐบาลเปรู และแม้เขาจะยังคงไม่มีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอ แต่ในการบรรยาย ก็ได้มีข้อคิดและคำคมหลายข้อที่เราเห็นว่ามีประโยชน์

พอร์เตอร์บอกว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีมานี้ ตำราทางการตลาดและกลยุทธ์ธุรกิจส่วนใหญ่มักจะบอกให้ กิจการต้อง "รับใช้" (serve) "สนิทสนม" (intimate) และ "รักษา" (retain) ผู้บริโภค (Customer) แล้วต้องให้ผู้บริโภคพอใจ ซึ่งผู้บริหารก็จะต้องป่าวประกาศ Idea อันนี้ให้ทุกคนในบริษัทยึดถือเป็นเสมือนโองการจากพระผู้เป็นเจ้า

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว Strategy จะต้องทำให้ผู้บริโภคบางราย "ไม่พอใจ" (some customers dissastisfacting)!

"Strategy must give-up certiain things" เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำทุกอย่างได้ดี

และ Strategy ต้อง "FIT" คือต้องสามาระ Integrate กิจกรรมทุกด้านขององค์กรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและผลักดันให้เกิดผลิตภาพสูงที่สุด

ที่สำคัญ Stratety ต้องไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ต้องคงไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ พนักงานปรับตัวเอง และองค์กรทั้งองค์กรเกิดกระบวนการเรียนรู้

พอร์เตอร์ยังบอกอีกว่า Shareholder Value หรือราคาหุ้น เป็นผลของกลยุทธ์ที่ดี Shareholder Value มิใช่เป้าหมายของกิจการ...มันเป็นเพียง "Outcome"

เฉกเช่นเดียวกัน Brand อันมีค่าของกิจการ ก็ควรจะเป็นสิ่งที่มาทีหลัง มิใช่มาก่อน สิ่งที่มาก่อนสำหรับพอร์เตอร์ คือ Good Strategy ที่สามารถค้นหาและกำหนด Value Proposition ได้ชัดเจน ซึ่ง Value Propostition นี้เอง ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าองค์กรจะสร้าง Brand อย่างไร จะทำการตลาดอย่างไร จะโฆษณาอย่างไร ฯลฯ

เขากล่าวว่า "The Brand doesn't come first. The Brand come last. The Brand shoud naturally follow strategy."

นั่นแหละ Michael Porter ณ พ.ศ.นี้

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2553

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

ยึดแบงก์ชาติ

ในสังคมมนุษย์มีสิ่งสมมติมากมาย ที่เมื่อคนทั้งหลายสมมติเอาร่วมกันว่ามันเป็นจริง แล้วมันก็จะเป็นจริงตามนั้น

ยกตัวอย่างเช่นธนบัตร ที่แม้ตัวมันเองเป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง ซึ่งแทบจะไม่มีค่าแม้แต่น้อย แต่เมื่อโรงพิมพ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิมพ์ตัวเลข “๑๐๐๐ บาท” ตราไว้บนนั้น แล้วมีลายเซ็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กำกับอยู่ รวมทั้งตำหนิทุกแห่งถูกต้องตามที่สมมติขึ้น (เช่นพระบรมฉายาลักษณ์ฯ ตลอดจนดิ้นทอง ดิ้นเงิน และอักษรบางตัวหรือเครื่องหมายบางอย่างที่ทำซ่อนเอาไว้ ฯลฯ) โดยที่ธนาคารแห่งนั้นรับประกันว่าจะรับแลกคืนตามมูลค่าที่ได้ตราไว้ (Face Value) ไม่ว่ากรณีใด ผู้คนก็จะถือว่ามันมีค่าเท่ากับ “หนึ่งพันบาท” ตามที่สมมติขึ้น แล้วก็ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันโดยยึดเอาตามมูลค่าที่สมมติขึ้นนั้น โดยไม่รู้สึกอะไร

หรืออย่างธนาคารพาณิชย์ ที่รับฝากเงินไปจากพวกเรา แล้วนำไปปล่อยกู้เป็นทางหากิน (พูดง่ายๆ คือเอาเงินที่พวกเราอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบ ไปใช้โดยเรายินยอม) ผู้คนก็ต่างคิดไปเองว่าธนาคารเหล่านั้น ทั้งโดยที่มีผู้บริหารมืออาชีพ และยังถูกควบคุมจากธนาคารแห่งประเทศไทยอีกชั้นหนึ่ง จะต้องจัดการกับเงินของพวกเราได้ดีแน่ ไม่ไปปล่อยกู้ซี้ซั้ว หรือปล่อยกู้แบบมีปัญหา Term Structure (เช่นรับฝากเงินระยะสั้น แต่ดันไปปล่อยกู้ระยะยาว แล้วเวลาคนฝากต้องการถอนเงินออกมาใช้ ธนาคารก็เรียกเงินกู้คืนมาให้เบิกไม่ทัน ก็เลยเกิดปัญหาด้านความเชื่อถือ แล้วลุกลามพลอยให้คนแห่มาถอน เป็นต้น) หรือนำไปลงทุนในทางเสี่ยง (เช่นซื้อหรือขาย Financial Instruments ที่เกี่ยวข้องกับ Sub-Prime หรือตราสารอนุพันธุ์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนคนธรรมดายากจะเข้าใจหรือประเมินความเสี่ยงได้ เป็นต้น)

ทว่า มีบ้างบางครั้ง หรือในบางสถานการณ์เหมือนกัน ที่คนทั่วไปเริ่มหูตาสว่าง และเริ่มรู้ว่าตัวเองถูกหลอก หรือไปติดยึดกับเรื่องสมมติแบบโรแมนติกจนเกินไป เมื่อนั้น สิ่งเลวร้ายมักจะเกิดขึ้นตามมา เช่น เมื่อผู้คนเริ่มรู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้แอบนำทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไปซื้อขายในตลาดเงิน ตลาดทุน ตลอดจนตลาดซื้อขายล่วงหน้า แล้วก็ขาดทุนย่อยยับจนหมดหน้าตัก เมื่อนั้น คนก็จะเริ่มคิดได้ถึงความเป็นจริงว่า (เป็นแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Moment of Truth หรือแบบนิทานเรื่อง “Emperer Has No Cloth” นั่นแหละ) กระดาษแผ่นเล็กๆ ที่พิมพ์ตัวเลข “๑๐๐๐ บาท” แผ่นเดียวกับที่เคยยึดถือว่ามันมีค่ามาก่อนหน้านั้น (แท้ที่จริงแล้ว) มันไม่มีค่าอะไรเลย ไม่ต่างอะไรกับ “แบงก์กงเต็ก” ฯลฯ…และแล้ว ผู้คนก็จะเริ่มทิ้งเงินบาทเพื่อเปลี่ยนไปเป็นสินทรัพย์ชนิดอื่น เช่น เงินตราสกุลอื่น หรือทองคำ หรือหุ้น หรือบ้าน หรือที่ดิน หรือภาพเขียน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ (เขาคิดว่า) มันจะรักษามูลค่า (Store Value) ไว้ให้เขาได้ ฯลฯ…เสร็จแล้ว ค่าเงินบาทก็จะดิ่งเหวทันที (แม้ IMF จะเข้ามาช่วยแล้ว และสัญญาว่าจะนำเงินก้อนใหญ่มาให้กู้ใช้ไปก่อน ก็ตาม)

ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ในอเมริกาและยุโรปขณะนี้ ที่ผู้ฝากเงินเริ่มรับรู้ว่าธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันที่พวกเขาฝากเงินอยู่นั้น พัวพันติดโรคขาดทุนจาก Sub Prime กันทั่วหน้า เดือดร้อนถึงรัฐบาลของประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านั้นที่จำต้องนำเอาเงินภาษีของประชาชนเข้าไป “อุ้ม” ไว้ ทั้งโดยการตั้งกองทุนช่วยเหลือสถาบันการเงิน และเพิ่มมาตรการประกันเงินฝาก หรือแม้กระทั่งดำริจะตั้งกองทุนพยุงหุ้นแบบเดียวกับ “กองทุนวายุภักษ์” ของเรา เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น ผู้คนที่กำลังหมดความเชื่อถือในระบบการเงิน ก็จะแห่กันไปถอนเงิน และธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น แม้ว่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ต้องล้มครืนลง ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง (ฝรั่งเรียกสถานการณ์แบบนั้นว่า Bank Run)

ในทางการเมืองการปกครองหรือการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ ก็มีเรื่องสมมติมากมาย ว่าไปทำไมมี กฎหมายต่างๆ ที่บัญญัติกันขึ้นมา ก็เป็นเรื่องสมมติกันขึ้นทั้งนั้น เมื่อผู้คนทั้งหลายสมมติร่วมกันว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนั้นเลว แล้วถ้าใครทำเลวก็ต้องถูกลงโทษ หรืออย่างนี้ยุติธรรมอย่างนั้นไม่ยุติธรรม กฎหมายมันก็เลยศักดิ์สิทธิ์จริง (อันที่จริงกฎหมายที่ประมวลกันไว้ในประมวลกฎหมายอย่างที่เรารู้จักกันบัดนี้ ส่วนใหญ่เอาอย่างมาจากกฎหมายฝรั่งเศส ซึ่งบัญญัติกันขึ้นในสมัยนโปเลียน ที่เรียกว่า “Napolean Code” ราวปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ต่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยฯ แล้วหลายประเทศในยุโรปก็เอาอย่างไปใช้บ้าง สืบทอดมาจนบัดนี้)

ทว่า เมื่อผู้คนหลายกลุ่มเริ่มเห็นต่างกันในเรื่อง “ดี-เลว” และ “ยุติธรรม-ไม่ยุติธรรม” แล้วทำการ “อารยะขัดขืน” (หรือ “อนารยะขัดขืน” สำหรับพฤติกรรมบางประการก็แล้วแต่) ในจำนวนมากขึ้นๆ ๆ… มากจนกลายเป็นจำนวนอันมีนัยสำคัญ หรือ Critical Mass (นั่นถือเป็นการเดินข้ามเส้นสมมติเดิมที่ขีดเอาไว้) ซึ่งผู้รักษากฎหมายย่อมทำอะไรไม่ได้ เพราะถ้าต้องการบังคับใช้กฎหมายกับบรรดาฝูงชนเหล่านั้น ก็อาจหมายถึงการนองเลือด หรือสงครามกลางเมือง หรือไม่ก็ต้องมีการบาดเจ็บล้มตายโดยใช่เหตุ ฯลฯ… กฎหมายมันก็เลยสิ้นความขลังไปแบบง่ายๆ

สมัยปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 นั้น (ตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่ ๑) ฝูงชนก็ได้บุกเข้าไปในพระราชวังแวร์ซาย ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี มีความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์มากในความคิดของคนฝรั่งเศสทั่วไป (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงกับเคยตรัสอย่างอหังการ์เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “L’e’tat, c’est moi” หรือ “I am the State” และเป็นภาษาละตินว่า “Ut vidi vici” หรือ “As I saw, I conquered”) แล้วบังคับให้กษัตริย์ย้ายมาปารีสและสละราชสมบัติ ซ้ำร้าย เมื่อรู้สึกว่าการข้ามเส้นสมมติเช่นนั้นมันง่ายดายมาก และชนชั้นสูงก็มิได้วิเศษวิโสไปกว่าพวกเขาเท่าใดนัก หรือมีฤทธิ์เดชมหัสจรรย์และคงกระพันชาตรีดังความเชื่อที่เคยถูกฝังหัวเอาไว้ มันก็เลยมีครั้งต่อๆ มาอีกหลายครั้ง ที่ฝูงชนได้บุกพระราชวังและทำลาย ตลอดจนหยิบฉวยทรัพย์สินมีค่าจำนวนมาก จนที่สุด ก็ถึงกับจับเอาพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีของประเทศนั้น ไปสำเร็จโทษ ด้วยเครื่องประหารที่น่าสยดสยอง ต่อหน้าฝูงชนจำนวนมาก เป็นต้น

นับแต่นั้นมา แม้ประเทศฝรั่งเศสจะกลับมีพระมหากษัตริย์อีกหลายรอบ ทว่า ความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิได้เป็นดังเดิม และก็ได้มีกรณีฝูงชนบุกพระราชวังและวังอีกหลายครั้ง (แม้รัฐบาลของพระมหากษัตริย์จะมีกองทหารที่เข้มแข็ง) ครั้งล่าสุดก่อนที่ฝรั่งเศสจะกลายเป็นสาธารณรัฐแบบถาวรในปี 1871 (ตรงกับช่วงต้นรัชกาลที่ ๕) ก็ปรากฎว่าได้มีการเผาพระราชวังตุยเลอรีจนกลายเป็นผุยผง แล้วเอาทรัพย์สินมีค่าจำนวนมากทิ้งลงในแม่น้ำ Seine ไปอย่างน่าเสียดาย

ในรอบสองสามปีมานี้ คนไทยเองก็เริ่มเห็นต่างกันในเรื่องใหญ่บางเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ที่ว่า “อะไรดี อะไรเลว อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด และแบบใดยุติธรรม แบบใดไม่ยุติธรรม” แล้วบรรดาผู้คนกลุ่มใหญ่ที่เห็นร่วมกันไปในทางเดียวกัน ก็ทำการรวมตัวเป็น “ฝูงชน” หรือ “ม็อบ” เพื่อทำการเคลื่อนไหวและขัดขืนกฎหมายโดยพฤติกรรมตามแบบอารยชน แล้วก็ทำการต่อรองทางการเมือง

กลยุทธ์ที่ฝ่ายหนึ่งใช้อย่างได้ผล (และเป็นตัวอย่างอันดีให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เรียนรู้) คือการใช้ม็อบเข้ายึดสถานที่บางแห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยสมมติร่วมกันว่าเป็นสถานที่สำคัญ อย่าว่าแต่มีคนไปยึดครองเลย แม้จะไปเดินเผ่นพ่านแล้วทำพิเรนห์ ก็ถือ (สมมติเอา) ว่า “ผิด” และอาจต้องได้รับโทษ (โดยคนทั่วไปก็ถือว่า “ยุติธรรม” แล้วที่ต้องถูกลงโทษ เพราะดันไปทำพิเรนห์แบบนั้น)

นั่นถือว่าพวกเราบางคนได้รับรสสัมผัสกับการเดินข้าม “เส้นสมมติ” บางเส้น ไปอย่างสบายๆ แล้วไม่เกิดอันตรายใดกับตัวเองเลย อย่างที่เคยถูกฝังหัวไว้ก่อนหน้านี้….หลายคนอาจเริ่มคิดว่า นับแต่นี้ “อะไรก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น” ตราบใดที่พวกเขายังทำการเคลื่อนไหวแบบ “อารยะ”

สำหรับผมแล้ว ผมว่าเมื่อผู้คนจำนวนมากขนาดนี้ เห็นต่างกันในเรื่อง “ดี-เลว-ถูก-ผิด-ยุติธรรม-ไม่ยุติธรรม” (ในขณะที่สถาบันซึ่งเคยชี้ชัดหรือชี้นำในเรื่อง “ดี-เลว-ถูก-ผิด-ยุติธรรม-ไม่ยุติธรรม” ล้วนถูกทำให้อ่อนแอและขาดความน่าเชื่อถือ) และต่างฝ่ายก็แสดงออกด้วยคำด่าฝ่ายตรงข้ามที่รุนแรงเผ็ดร้อน ตอกย้ำความเห็นต่าง ตลอดจนเอามาเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง จนเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง และพร้อมใช้ “ม็อบ” เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุจุดหมายด้วยนั้น ย่อมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่ระมัดระวัง อาจทำให้สังคมที่เคยสงบสุข เกิดความวุ่นวาย และถูกทำให้ล้าหลังได้โดยง่าย หรือแม้แต่อาจต้องเสียเลือดเสียเนื้อโดยใช่เหตุ ดังตัวอย่างที่สังคมอื่นจำนวนมากเคยเผชิญมาแล้วในอดีต (ลองอ่านประวัติศาสตร์ดูสิ แล้วจะรู้ว่ามันขมขื่น)

ประเทศชาตินั้น ไม่เหมือนบริษัทเอกชนเสียด้วย ที่คิดจะไล่คนที่คิดเห็นต่างออกไปเมื่อใดก็ได้ จะได้ไม่ต้องเห็นกันให้รำคาญกันอีกต่อไป แต่นี่ เมื่อไล่ออกไปจากตำแหน่งใดหรือสถานะใดแล้ว คนที่เห็นต่างเหล่านั้นก็ยังคงต้องอาศัยอยู่ในประเทศนี้อยู่ดี และยังคงเห็นต่างอยู่ดี (แม้อาชญากร เรายังต้องเอาพวกเขาไปไว้ในคุก แล้วก็ยังต้องตามไปดูแลอยู่ดี) ซ้ำร้าย อาจมีความแค้นฝังลึก รอวันเวลาอยู่อย่างเงียบๆ (ถ้าพวกเขาคิดว่าถูกไล่ไปแบบไม่ยุติธรรมกับเขาเลย)

ผมมีความเห็นว่า “ขันติธรรม การใช้เหตุผลอย่างมีสติ ตลอดจนการถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงสมมติฐานและรากเหง้าของสังคมไทย เพื่อหาทางวางรากฐานสำหรับตัวแบบสังคมไทยที่พึงปรารถนา ที่สามารถ Share อำนาจกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งล้วนแต่มีพลังต่อรองเข้มแข็งและทรัพยากรก้ำกึ่งกันและกันด้วย” เท่านั้น ที่น่าจะเป็นกระบวนการแสวงหาทางออกร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์และอาจจะถาวรด้วย

จะอาศัยการใช้กำลังทหาร “กด” เอาไว้ หรือพึ่ง “พระบารมีปกเกล้าฯ” โดยไม่ยอมเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ทางการเมืองและเศรษฐกิจเลย ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหา Fundamental ในระยะยาวได้ เป็นแต่เพียงทอดเวลาออกไป เพราะวิธีการดังกล่าวนั้น แม้จะแก้ไขได้อย่างดูเหมือนจะลงล็อกในระยะเฉพาะหน้า แต่ก็ยังคงต้องยอมรับ Ripple Effects ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกหลายระรอก แล้วต้นตอของวิกฤติเดิมก็จะวนกลับมาอีกอยู่ดี

ดูอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่า ในอนาคตอันใกล้ พวกเราคงต้องทำใจได้เลยว่า อาจมีการใช้ม็อบไปยึดสถานที่นั้น สถานที่นี้อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าฝ่ายใดจะได้เป็นรัฐบาล อีกฝ่ายก็จะใช้ม็อบเป็นเครื่องมืออยู่ดี

สถานที่ทั้งมวลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเบื้องสูงนั้น ผมคิดว่าคงไม่มีใครกล้าคิดไปแตะต้องอยู่แล้ว เพราะแค่คิด ก็จะพ่ายแพ้ไปในทันทีทันใดและอย่างสิ้นเชิง แต่สถานที่อื่น โดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้รัศมีของ State Apparatus ล้วนมีความเป็นไปได้ที่จะถูกยึดครองโดยฝูงชนทั้งสิ้น

ในบรรดาสถานที่เหล่านั้น มีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งผมเป็นห่วงมากที่สุดว่าจะถูกยึดครอง นั่นคือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย”

เพราะผมคิดว่า ถ้าธนาคารแห่งนั้นถูกยึดครองแบบเดียวกับกรณีของทำเนียบรัฐบาลหรือรัฐสภา ประเทศชาติอาจเข้าสู่วิกฤติอย่างรุนแรง

คงไม่ต้องสาธยายกันมากว่าธนาคารกลางหรือ “ธนาคารชาติ” มีความสำคัญเช่นไรต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และมันจะเกิดวิกฤติทันทีที่ธนาคารแห่งนั้นต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของฝูงชน หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่รัฐบาลของประเทศชาติ (อันนี้ ยังไม่นับว่าธนาคารแห่งนั้น ยังทำหน้าที่คลังหลวง ผู้รักษาเงินแผ่นดิน และทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่มีทั้งทองคำและทรัพย์สินมีค่า ตลอดจนเงินตราต่างประเทศสกุลสำคัญ รวมถึงเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ธนาบัตรที่ใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันด้วย)

สมัยนโปเลียนยังรุ่งเรืองอยู่ในยุโรป ก็เคยคิดจะบุกเกาะอังกฤษ โดยสถานที่แห่งแรกๆ ที่นโปเลียนวางแผนว่าจะยึกครองทันทีที่ยกพลขึ้นบกได้ก็คือ “Bank of England” ซึ่งมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิอังกฤษ และว่ากันว่าเก็บทองคำและทรัพย์สินมีค่าของ British Empire ไว้เป็นจำนวนมหาศาล

เดชะบุญที่นโปเลียนทำไม่สำเร็จ

Karl Marx เอง ก็เคยวิเคราะห์สรุปบทเรียนความล้มเหลวของการลุกฮือของ “ม็อบปารีส” ที่เรียกว่า Paris Commune เมื่อปี 1871 ทั้งๆ ที่สามารถยึดครองปารีสอยู่ได้ถึง 70 วัน ว่าความผิดพลาดฉกรรจ์ของฝ่ายคอมมูนที่สำคัญมีอยู่สองข้อ ข้อแรกคือการใช้กลยุทธ์ทางทหารที่ผิดพลาด คือแทนที่จะบุกไปตีกองกำลังฝ่ายรัฐบาล (ซึ่งตั้งทำการอยู่ที่แวร์ซาย) แล้วทำลายให้สิ้นซากเสียแต่ต้นมือ ขณะที่ยังตั้งตัวไม่ติด กลับใช้วิธีตั้งรับ สร้างปราการและ Barricade ทั่วปารีส แล้วรออยู่ในปารีสจนรัฐบาลตั้งตัวติดแล้วยกทัพมาปราบ ส่วนข้อที่สอง คือการเพิกเฉย ไม่ยอมเข้ายึด Banque de France ยังคงปล่อยให้ธนาคารแห่งนั้นดำเนินการอย่างอิสระ

ดังนั้น เมื่อเลนิน (Vladimir Llyich Lenin) ซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญของ Marx นำพลพรรคบอลเชวิก(Bolshevik) เข้ายึดอำนาจรัฐในรัสเซียเมื่อปี 1917 เขาจึงใช้วิธีเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและเข้ายึดธนาคารชาติไว้ในกำมือเสียก่อน

ผมไม่แน่ใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนสำรองไว้ใช้ในยามวิกฤติหรือไม่ ว่าหากธนาคารถูกยึดครองแล้ว จะทำอย่างไรให้ระบบการเงินฝากและการชำระเงินตลอดจนระบบเครดิตในระบบการเงินไทยยังทำงานได้เป็นปกติ

ที่สำคัญ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีแผนอะไรหรือไม่ ที่จะธำรงความเชื่อมั่นหรือหล่อเลี้ยงระบบ “Trust” ของประชาชน ซึ่งเป็นตัวค้ำจุนสำคัญของระบบการเงินไทย ไม่ให้ตื่นตระหนก หรือมีพฤติกรรมไปในทางเสริมให้วิกฤติรุนแรงยิ่งขึ้น หากธนาคารแห่งนั้นถูกยึดครอง

ผมทราบว่า นายธนาคารจำนวนมาก รวมทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย อ่านนิตยสารฉบับนี้เป็นประจำ ผมจึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้น เพราะผมเป็นคนคิดมาก และผมก็คิดว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่สุดของเรา โดยโอกาสที่จะเกิดมันก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียเลยทีเดียว

ผมคิดว่า ประชาชนเองก็ต้องเป็นฝ่ายช่วยป้องกันไม่ให้ธนาคารแห่งนั้นถูกยึดครองโดยม็อบด้วย ไม่ว่าม็อบนั้นจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม หรือม็อบนั้นจะอ้างตัวว่าเป็นประชาชนก็ตาม แม้เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์จริง ก็ต้องผละจากม็อบนั้นทันที เมื่อทราบว่าผู้นำม็อบคิดจะเข้าไปยึดสถานที่แห่งนั้น

ตีพิพม์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2551

หนึ่งประเทศสองระบบ ต้นตอวิกฤติประเทศ



วิกฤตการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงจุดอ่อนฉกรรจ์อันหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศเรามาช้านาน

เป็นจุดอ่อนอันเนื่องมาแต่การออกแบบหรือจัดโครงสร้างทางการจัดการที่ผิดหลักการ

ทำให้การตัดสินใจในเรื่องสำคัญทางการเมือง และสายการบังคับบัญชา เกิดความสับสน ขาดเอกภาพในการจัดการ โดยเฉพาะเมื่อประเทศเผชิญกับวิกฤติ

คนไทยทุกคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และสนใจความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่บ้าง คงจะพอรู้ว่า คณะผู้นำสูงสุดของไทยนั้นมีอยู่สองชุด

ชุดหนึ่งเป็นคณะที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน ตามกติกาของระบอบประชาธิปไตยที่เราเอาอย่างมาจากฝรั่งเมื่อกว่าเจ็ดสิบปีมาแล้ว คณะนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “รัฐบาล” มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำสูงสุด และเป็นคณะผู้นำอย่างเป็นทางการของประเทศ โดยต้องมี Accountability ต่อรัฐสภา ในนามของปวงชนชาวไทย ตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยสากล

ส่วนคณะผู้นำอีกชุดหนึ่งนั้น เป็นคณะผู้นำที่มีอยู่จริง สัมผัสได้จริงถึงอิทธิพลอันเนื่องมาแต่การตัดสินใจของพวกท่าน และเราก็ยังทราบอีกว่า พวกท่านสามารถสั่งการไปยังข้าราชการระดับสูงคนสำคัญๆ ที่ยึดกุมตำแหน่งบัญชาการสูงสุดของหน่วยงานที่เป็น State Apparatus หลักๆ ของประเทศ เช่นกองทัพทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานที่ครอบครองอาวุธหนักทั้งหมดของสังคมไทยพร้อมทั้งบุคลากรที่ถูกฝึกฝนมาให้ใช้อาวุธเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ และมีขีดความสามารถในการจัดระเบียบสังคมได้ในยามฉุกเฉินที่บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายหรือเผชิญกับภัยคุกคาม หรือองค์กรทางด้านตุลาการบางองค์กรที่มีอำนาจในการชี้ถูก ผิด ยุติธรรม ไม่ยุติธรรม ให้กับสังคม เป็นต้น

ทว่า คณะผู้นำชุดหลังนี้ เนื่องเพราะมิได้เป็นคณะผู้นำอย่างเป็นทางการของประเทศ จึงต้องมีลักษณะลึกลับ เก็บตัว และดำเนินงาน ตลอดจนตัดสินใจ และกระทำการจัดการหรือ Managing ในทางลับ

และด้วยลักษณะลึกลับและดูเหมือนไม่มีตัวตนนี้เอง ที่ทำให้คณะผู้นำคณะหลังนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมี Accountability ต่อประชาชนแต่อย่างใด ตามหลักการจัดการสากล ที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

วิกฤติครั้งที่ผ่านมา แสดงให้เราเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี หรือสภาผู้แทนราษฎร (ทั้งๆ ที่โดยโครงสร้างการจัดการหรือการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการจะต้องเป็นเช่นนั้น) ทว่า ในทางลับ กลับพบว่าท่านได้รายงานตรงต่อ “นาย” ในคณะผู้นำชุดหลังซึ่งเป็นคณะที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวได้ ในทางเปิด และไม่มีองค์กรตรวจสอบใดๆ รวมทั้งสื่อมวลชน สามารถตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจตลอดจนการกระทำเช่นนั้นได้เลย เนื่องเพราะประเพณีบางประการของสังคมไทย และกฎหมายพิเศษบางฉบับที่ปกป้องสถาบันชั้นสูงมาแต่ไหนแต่ไร

Top Management Architecture แบบนี้ เป็น Design ที่ค่อนข้างสับสน และอาจก่อผลเสียในระยะยาว อย่าว่าแต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารราชการแผ่นดินเลย

ผู้อ่าน MBA ส่วนใหญ่ที่เป็นผู้บริหาร ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า โครงสร้างองค์กรแบบนี้มันทำให้การจัดการขาดเอกภาพ และเกิดความสับสนใน Line of Command และ Span of Control การประเมินผล การให้รางวัลและการลงโทษไม่ตรงกับความเป็นจริง ตลอดจนการประสานงานและการควบคุมไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้บริหารส่วนใหญ่ย่อมอยากมี Career Path ไปตามช่องทางพิเศษ ที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบจากผู้ถือหุ้น และเมื่อองค์กรเผชิญกับวิกฤติหรือภัยคุกคาม โครงสร้างการจัดการแบบนี้ย่อมไม่เอื้อต่อการรับมือได้อย่างทันท่วงที

บางคนอาจเถียงว่า โครงสร้างแบบนี้ดีอยู่แล้ว เพราะเราเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ไม่จำเป็นต้องตามฝรั่ง และมันยังมีไว้เพื่อคานอำนาจกับนักการเมืองขี้ฉ้อและบ้าอำนาจอีกด้วย

ผมไม่คิดว่า หลักการคานอำนาจในระบบสากลจะด้อยประสิทธิภาพไปกว่าระบบที่เราใช้อยู่ ที่สำคัญคือมันมีมิติของ Accountability ต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ที่ชัดเจนกว่า และเป็นระบบกว่า โดยไม่ต้องไปคอยกังวลว่าผู้ใช้อำนาจรัฐหรือผู้ตัดสินใจใช้อำนาจรัฐนั้นๆ (ซึ่งเป็นการใช้อำนาจแทนประชาชน) ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมสูง หรือเป็นคนดี หรือไม่อย่างไร

เพราะคุณธรรมหรือความดีส่วนบุคคลนั้น เป็นคนละเรื่องกับความต้องการหรือผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ

ผมคิดว่า เราจำเป็นต้อง Redesign ระบบของเราเสียใหม่

แม้จะมีแรงต้านจากกลุ่มอำนาจบางกลุ่ม มิให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบสากลได้ แต่อย่างน้อย เราจำเป็นต้องออกแบบระบบใหม่ให้คณะผู้นำของเราทุกกลุ่ม ต้องมี Accountability ต่อปวงชนชาวไทยอย่างเท่าเทียมกัน

เพราะการไม่รับผิดชอบต่อประชาชน อยู่เหนือความรับผิดรับชอบต่อผลของการตัดสินใจของตน และเหนือการตรวจสอบ หรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ย่อมเป็นอภิสิทธิ์แบบหนึ่งที่พึงถูกขจัดทิ้ง และเป็น “จิตสำนึกที่เหนี่ยวรั้งประชาธิปไตย” ข้อสำคัญ

นับแต่นี้ นักร่างรัฐธรรมนูญและผู้กุมอำนาจรัฐจากนี้ไป น่าจะต้องครุ่นคิดเรื่องดังกล่าวนี้ให้จงหนัก

แม้วันนี้ ดูเหมือนเราจะผ่านพ้นวิกฤติทางการเมืองมาได้แบบน่าใจหาย แต่ก็เป็นเพียงแค่ชั่วคราว พลิกแพลงไปแบบเฉพาะน่า เท่านั้น เพราะสาเหตุต้นตอของวิกฤติยังหาได้รับการแก้ไขให้หมดไปไม่

ความเท่าเทียมกันของคนในสังคม หรืออีกนัยหนึ่งคือประชาธิปไตยที่แท้จริง จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากกลไกของประเทศยังถูกยึดกุมโดยกลุ่มคนที่เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของความคิดแบบ “Status Quo” ที่เน้นธำรงสถานะเดิมของระบบสังคมเศรษฐกิจแบบเก่า ซึ่งมีโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนเพียงบางกลุ่ม เท่านั้นเอง

สังคมไทยปัจจุบัน ต้องการผู้นำที่มีสติปัญญา ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และกล้าหาญ พร้อมที่จะรับแรงต้านทาน กดดัน บีบคั้น กระทบกระทั่ง กระแทกกระทั้น หรือแม้แต่ดับเครื่องชน จากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดโอกาสและความเท่าเทียมกันอย่างทั่วด้าน

แน่นอน โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินที่ดีย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2551

วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553

ลงทุนแบบเข้มแข็ง



“There is a time in the price of certain
Products and commodities,
Which, if taken by men at the advance,
Lead on to fortune;
And if taken at the decline leads to
Bankruptcy and ruin.”

Samuel Benner
“Benner’s Prophecies of Future Ups and Downs in Price”(3rd Edition, Robert Clarke & Co., 1884)

ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้หลังจากรัฐบาลปิดการขาย “พันธบัตรออมทรัพย์เพื่อไทยเข้มแข็ง” ล็อตแรก ให้กับผู้สูงอายุและราษฎรทั่วไป โดยประสบความสำเร็จเกินคาด เกิดภาวะ Oversubscribed หลายเท่าตัว ซึ่งแม้จะสั่งเพิ่มวงเงินจาก 50,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาทแล้ว ก็ยังมีคนรอเก้ออยู่เป็นจำนวนมาก และแม้บางคนจะมาเข้าคิวรอตั้งแต่ตีสี่ ก็ใช่ว่าจะซื้อกลับไปได้ในจำนวนที่ตั้งใจมาแต่แรกไม่

“ขายดี ยังกะแจกฟรี !”

ผมตั้งใจว่า จะไม่ขอพลาด “ล็อตสอง” โดยเด็ดขาด คิดว่ากระทรวงการคลังน่าจะนำออกขายอีกในเร็ววัน เพราะยังไงๆ รัฐบาลก็ตั้งงบประมาณสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจไว้ถึง 1.4 ล้านล้านบาทและผ่านรัฐสภามาแล้ว อีกทั้งยังหยั่งได้แล้วว่าราษฎรกำลังกระหาย Prime Instrument ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ในขณะที่ความเสี่ยง ดูแล้วเท่ากันหรือน้อยกว่าด้วยซ้ำไป

ที่ตั้งใจจะไปชิงรอตั้งแต่ตีสี่เพื่อให้ได้มาถือครองกับเขาบ้างแบบนี้ ผมมิได้มองว่าการลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลในช่วงนี้เป็น Good Investment….หามิได้

ผมวางแผนว่าจะไปซื้อมาครอบครองเพียงแค่ใบเดียวหรือหน่วยเดียว เพื่อเอามาใส่กรอบแล้วแขวนไว้ข้างฝา เคียงข้างกับธนาบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาท ที่ผมใส่กรอบแขวนไว้ก่อนแล้ว (ผมได้ไอเดียแบบนี้มาจากด็อกเตอร์ Marc Faber ที่แนะให้ทำกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่คุณมาร์คเพียงแนะให้เอาแค่พันธบัตรมาใส่กรอบ แต่ผมขอเพิ่มธนาบัตรเข้าไปด้วย)

ที่จะทำแบบนั้น ก็เพื่อจะเอาไว้ประกอบการสอนลูกๆ ให้รู้เรื่องหลักการลงทุน และหลักเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง “Inflation”

ลองคิดดูนะครับ ว่าเมื่อลูกๆ ผมโตขึ้น (ได้ยินรัฐมนตรีคลังพูดว่าพันธบัตรล็อตต่อไปจะมีอายุยาวกว่า 5 ปี) กระดาษสองใบนั้น จะมีค่าลดลงไปมากเพียงใดเมื่อเทียบกับระดับราคาสินค้า บริการ หรือแม้กระทั่งทรัพย์สินชนิดอื่นที่เป็นของหายาก (เช่นทองคำ ที่ดินย่านสำคัญ) และ Collectable Items (เช่นธนาบัตรใบละหนึ่งบาทที่พิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ ซึ่งคุณบุญชัย เบญจรงค์กุล เคยให้ผมมาพร้อมกรอบอย่างงามเมื่อหลายปีก่อน โดยผมตั้งใจจะแขวนไว้คู่กันด้วย) หากมองว่ารัฐบาลยังมีภาระผูกพันต่อการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีกหลายปี ในขณะที่รายได้ภาษียังคงจัดเก็บได้ห่างจากเป้าหมายมาก ดังที่เห็นกันแล้ว ในช่วงครึ่งปีมานี้

อันที่จริง ถ้าเราเทียบค่าของเงินกับระดับราคาสินค้าบริการในรอบสิบกว่าปีมานี้ ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า เงินบาทมีค่าลดลงมาโดยตลอด

แม้นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำคัญๆ ในเมืองไทย จะออกมาชี้ให้เห็นถึงอันตรายของ “ภาวะเงินฝืด” ในขณะนี้ก็ตาม (พวกเขาหมายถึง Deflation) แต่ถ้ามองย้อนกลับไปไกลหน่อย เช่น 5 ปี 10 ปี หรือกว่านั้น ตามสถิติส่วนตัวของภรรยาผม ประกอบกับความทรงจำของผมเอง ทำให้ผมสังเกตพบว่าความจริงที่ผมประจักษ์มันเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

ดัชนีต่อไปนี้ เป็นข้อมูลส่วนตัวบางส่วนของผมและภรรยา ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของครอบครัวเรา ซึ่งเป็นครอบครัวชั้นกลางในย่านสุขุมวิทซอยกลาง เท่าที่พอจะจำได้ เทียบกันระหว่างปี 2542 กับปัจจุบัน

ค่ารถสองแถวจากปากซอยสุขุมวิท 39 มาที่บ้าน (แยกพร้อมศรี) จาก 20 บาท เป็น 30 บาท

ค่าตัดผมลูก ร้านปากซอยสุขุมวิท 51 จาก 100 เป็น 250

ไม้ขนไก่ ซื้อจากรถซาเล้งที่ขับผ่านเสมอ
-แบบก้านสั้น จาก 110 เป็น 170
-แบบก้านยาว จาก 150 เป็น 220
ไม้กวาด จากซาเล้งคันเดียวกัน จาก 35 เป็น 55

ข้าวหอมมะลิเกรด A ถุงละ 5 กก. ซื้อจากวิลล่า มาร์เก็ต ซอย 49 จาก 160 เป็น 260

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อทองหล่อ (ชามธรรมดาใส่ลูกชิ้นกับไส้ ไม่พิเศษ) จาก 25 เป็น 30

เบียร์ไฮเนเก้นขวดใหญ่ ที่ร้านภัตตาคารโคคา ปากซอย 39 จาก 80 เป็น 140

ขาห่านอบหม้อดิน ที่ร้าน อัน อัน เหลา ซอยทองหล่อ (ราคาต่อขา) จาก 80 เป็น 100

เป็ดปักกิ่ง ที่ภัตตาคารเกร็ทเซี่ยงไฮ้ ข้างห้างเอ็มโพเรียม
(เนื้อเป็ดทำเมี่ยง หรือทอดกระเทียมพริกไท แถมน้ำซุป) จาก 400 เป็น 1,000

ค่าเช่าสำนักงาน ที่ซอยอโศก (ราคาต่อตารางเมตร เริ่มอยู่ปี 2545) จาก 200 เป็น 250**

ราคาเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ จำนวน 1 ดอลล่าร์ (เทียบก่อน ส.ค. 40) จาก 25 เป็น 34-35

แต้มสะสมคะแนนของบัตรเครดิตวีซ่า ธนาคารซิตี้แบงก์
ที่ใช้แลกตั๋วเครื่องบินไปกลับ กรุงเทพฯ – โตเกียว จาก 96,000 เป็น 190,000***

นิตยสาร Vanity Fair ซื้อจากวิลล่า มาร์เก็ต ซอย 49 จาก 225 เป็น 395-450****

*ยกเว้นค่าเช่าสำนักงานที่เป็นราคาของปี 2545, ราคาเงินดอลล่าร์ฯ ราคาเป็ดปักกิ่ง และราคานิตยสาร Vanity Fair ซึ่งเป็นราคาก่อนเดือน สิงหาคม 2540 เมื่อมีการลอยค่าเงินบาท
**ราคานี้เป็นราคาแบบเพื่อนฝูงที่เราได้เงื่อนไขดีกว่าผู้เช่าอื่น โดยสัญญาเช่ากำลังจะหมดลงสิ้นเดือนนี้ และเราก็เข้าใจว่าราคาใหม่จะถูกปรับขึ้น
***หน่วยเป็น Point
****ขึ้นอยู่กับความหนาบางของฉบับนั้นๆ ถ้าหนาก็แพงหน่อย


เห็นหรือยังครับว่าค่าเงินบาทมันลดลงไปแค่ไหนเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการ ท่านผู้อ่านลองคำนวณเป็นร้อยละกันเอาเองแล้วกัน

เหตุการณ์แบบนี้ ย่อมทำให้คนที่ถือเงินสดไว้เฉยๆ เสียเปรียบ ผมรู้จักอดีตผู้บริหารระดับสูงที่ซื่อตรงไม่โกงกิน ของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ที่ตอนเกษียณได้รับเงินบำเหน็จ 3 ล้านบาท ปัจจุบันท่านอายุเกือบ 70 แล้วและอยู่คนเดียว ท่านว่าสิ่งที่ท่านกลัวที่สุดคือกลัวเงินหมดในขณะที่ยังไม่ตาย ท่านว่าเงิน 3 ล้านนั้นเดี๋ยวนี้ “มีค่า” ไม่มากนัก

หรืออย่างรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งซึ่งได้รับมรดกมาเป็นเงินสดกว่า 10 ล้านบาทเมื่อ 20 ปีมาแล้ว (เธอไม่ได้รับเป็นที่ดินหรือบ้าน) เธอว่าแต่ก่อน เธอกินดอกเบี้ยอย่างเดียวก็สบาย แต่สิบปีหลังมานี้ แม้จะเปลี่ยนเงินฝากไปเป็นกองทุน หรือโปรแกรมต่างๆ ตามที่ธนาคารเสนอมา เปลี่ยนเข้าเปลี่ยนออกยังไง ก็ยังแย่ เธอบอกกับภรรยาผมว่ามรดกก้อนนั้น เดี๋ยวนี้มัน “มีค่า” ไม่มากแล้ว แม้ตัวเงินต้นจะเป็นเท่าเดิมก็ตามที

อันที่จริงสิ่งที่เธอพูดนั้น พวกนักเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่าภาวะ “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ” นั่นเอง

ผมอยากให้พิจารณาคำอธิบายของ John Maynard Keynes ในเรื่องนี้หน่อยเถอะ เพราะอธิบายได้เห็นภาพดีมาก เขากล่าวว่า “Economists draw an instructive distinction between what are termed the “money” rate of interest, and the “real” rate of interest. If a sum of money worth 100 in terms of commodities at the time when the loan is made is lent for a year at 5 per cent interest, and is only worth 90 in terms of commodities at the end of the year, the lender receives back, including his interest, what is only worth 94½. This is expressed by saying that while the money rate of interest was 5 per cent, the real rate of interest had actually been negative and equal to minus 5½ per cent. In the same way, if at the end of the period the value of money had risen and the capital sum lent had come to be worth 110 in terms of commodities, while the money rate of interest would still be 5 per cent the real rate of interest would have been 15½ per cent.” (A Tract On Monetary Reform, 1st Edition, London 1923, หน้า 20-21)

Keynes ยังวิเคราะห์ไว้อย่างยืดยาวว่าในภาวะ Inflation นั้น บรรดาผู้ดีเก่าที่อยู่ได้ด้วยดอกเบี้ยและค่าเช่า จะเสียเปรียบเศรษฐีใหม่ที่เป็นนักธุรกิจและนักเก็งกำไร ตลอดจนพนักงานหรือคนงานที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินเดือนหรือค่าจ้าง (Keynes ใช้คำว่า The Investing Class, The Business Class, และ The Earner, อ่านละเอียดได้ในบทที่ 1: The Consequences to Society of Changes in the Value of Money)

ขอให้สังเกต Analysis อันนี้ว่าสอดคล้องกับสถานการณ์และ Chemistry ของตัวละครในประเทศไทยมากน้อยเพียงใดในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา นับแต่เริ่มยุคฟองสบู่สมัยรัฐบาล “น้าชาติ” มาจนกระทั่งสิ้นสุดยุค “ทักษิณ”

ผมคิดว่าสถานการณ์แบบนี้หรือแนวโน้มอันนี้ จะยังคงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 5-10 ปีนับจากนี้ เพราะไม่ว่ารัฐบาลใดจะเข้ามาบริหารประเทศ พวกเขาย่อมมีแนวโน้มจะใช้นโยบายประชานิยมต่อไป ซึ่งนโยบายแบบนี้ มันจำเป็นต้อง Financing โดยวิธีที่ Keynes เรียกว่า “Inflation as a Method of Taxation” ทั้งโดยการก่อหนี้ หรือไม่ก็ต้องพิมพ์เงินเพิ่มหรือลดค่าเงินลงเรื่อยๆ หากอยากจะหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีดังที่เป็นมา

อย่าลืมว่าการก่อหนี้ของรัฐบาลนั้น ย่อมทำได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น คือระดับที่รายได้มวลรวมของสังคมไทยจะสามารถรับภาระดอกเบี้ยได้ หรือสุดๆ ได้แค่ว่าคนครึ่งประเทศ ทำงานเพื่อจ่ายภาษี ซึ่งจะต้องนำไปจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้กับคนอีกครึ่งหนึ่งที่ถือพันธบัตรรัฐบาลอยู่

ทว่า การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย่อมอันตราย และนำไปสู่กลียุคได้ ผมขออ้างบทวิเคราะห์ของ Keynes อีกสักครั้ง และหวังว่าผู้กุมอำนาจรัฐปัจจุบันและในอนาคตจะได้ประโยชน์จากข้อสังเกตุนี้ด้วยว่า “The active and working elements in no community, ancient or modern, will consent to hand over to the rentier or bond-holding class more than a certain proportion of the fruits of their work. When the piled-up debt demands more than a tolerable proportion, relief has usually been sought in one or other of two out of the three possible methods. The first is Repudiation. But, except as the accompaniment of Revolution, this method is too crude, too deliberate, and too obvious in its incidence. The victims are immediately aware and cry out too loud;…………….” (หน้า 64 อยู่ในบทที่เรียกว่า Public Finance and the Value of Money)

อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงคิดว่าผมเกลียดเงิน !

หามิได้ ผมไม่ได้รังเกียจเงิน เพียงแต่ไม่อยากให้ฝาก Wealth ทั้งหมดของตัวเองไว้ในรูปของเงิน เท่านั้นเอง (ผมหมายว่า Wealth คือความมั่งคั่งของเราแต่ละคนที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ และหาเพิ่มด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ตลอดจนแรงสมอง อุตสาห์เก็บสะสมมาจนกระทั่งปัจจุบัน)

ผมเพียงแนะนำให้เก็บเงินไว้เท่าที่จำเป็น เพราะถ้าขืนเก็บไว้ในรูปสินทรัพย์ชนิดอื่นหมด เวลาจะซื้อหาอะไรก็ลำบาก ต้องขนของมาบาร์เตอร์กันให้ยุ่งยากไปหมด

ผมทราบดีว่าผู้อ่าน MBA ส่วนใหญ่ เป็นเจ้าของธุรกิจ และเป็นพนักงานกินเงินเดือนที่มีกินมีใช้ หรือไม่ก็เป็นลูกหลานของคนเหล่านั้น ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ได้ลำบาก แต่ต้องบริหารความมั่งคั่งและสนใจเรื่องการลงทุนอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ผมจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนสติ แต่ถ้าจะถามว่า “แล้วจะให้เปลี่ยนจากเงินเป็นสินทรัพย์อะไรดีที่มันจะรักษาหรือเพิ่มพูน Value ของ Wealth ได้ดีกว่า” ผมก็ตอบให้ไม่ได้ แต่รู้ว่าต้องเปลี่ยนมันเป็น Hard Asset บ้าง

ผมมั่นใจอยู่อย่างเดียวว่าถ้าผมเป็นนักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการตลอดจนนักลงทุนซึ่งกำลังจะลงทุนในช่วงนี้ ผมจะใช้เงินกู้ให้มากๆ โดยจะให้ดีต้องกู้เป็นสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ

สำหรับหลักการลงทุนนั้น ผมชอบที่ Marc Faber พูดกับเราเมื่อไม่นานมานี้ว่า “You should buy things that if you wrong, you don’t loose everything.” (ดูบทสัมภาษณ์ใน MBA ฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมา)

แต่ในเมื่อเรารู้ว่าโลกนี้มีแต่ความไม่แน่นอน

ราคาของสินทรัพย์ทุกประเภทในโลก (รวมทั้งเงินด้วย) ย่อมขึ้นลงไปตามอารมณ์ เหตุผล การตรึกตรอง และการตัดสินใจของมนุษย์ ไม่มีราคาของอะไรที่ขึ้นอยู่ตลอดโดยไม่มีลง และก็ไม่มีอะไรดิ่งลงตลอดโดยไม่มีวันโงหัวขึ้น แม้ทองคำจะมีราคาถึงบาทละ 15,000 ในปัจจุบัน ทว่าก่อนหน้านี้ไม่ถึงสิบปี มันก็เคยมีราคาเพียง 4,000 เท่านั้น และเป็นอยู่อย่างนั้นมาแล้วสิบกว่าปี หรืออย่างเงินบาท ก็เคยมีค่าถึง 18-19 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐฯ มาก่อน.....



โชคชะตาของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน สมัยก่อนน้อยคนนักจะคิดว่าคุณทักษิณจะมีวันนี้ และก็ไม่มีใครบอกได้ว่าในอนาคตเขาจะไม่กลับมาเป็นแบบเดิม หลายสิ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือการควบคุมของตัวเรา



เมื่อเข้าใจโลกสันนิวาส ผมจึงคิดว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือ “ลงทุนในตัวเอง”
ทุกวันนี้ ผมพยายามเตือนตัวเองให้ต้องอ่าน เขียน ฟัง สังเกต คิด ตรึกตรอง และจินตนาการอยู่เสมอ กลัวว่าสติจะเลอะเลือน หนังสือหนังหาดีๆ ก็ซื้อมาอ่านโดยไม่เสียดายเงิน อีกทั้งยังพยายามท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เท่าที่จะทำได้ และสุขภาพก็พยายามใส่ใจ หลังจากละเลยมานาน



การลงทุนในตัวเองย่อมมี Economic Value เพราะถึงอย่างไร กำลังกายกับกำลังสมองและกำลังใจนี้แหละ ที่เป็นตัว Generate Wealth ให้กับตัวเอง



ฉะนั้น แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด จะร้อนขึ้นหรือจะเย็นลง ปลาในอ่าวไทยจะน้อยลง อากาศจะวิปริต ฝนไม่ต้องตามฤดูกาล สงครามกลางเมืองจะเกิด เงินบาทจะหมดค่า ตลาดหุ้นจะวอดวาย ธนาคารจะล้มครืน หรือที่พวกเรากลัวกันอยู่ลึกๆ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันจะทรงพระประชวร ฯลฯ



แต่ถ้าหากเรายังสามารถครองสติได้ดี ใช้ร่างกายและปัญญาครองชีวิตและสร้างความมั่งคั่งไปได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้อง “กลัว” การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว



แน่นอน การที่ผมคิดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาใส่กรอบแขวนไว้ข้างฝา เพื่อให้ลูกผมได้รู้จักความยอกย้อนของเศรษฐกิจและค่าของเงิน



ย่อมเป็นการลงทุนอีกแบบหนึ่ง ที่อีกหน่อยผมเชื่อว่าพวกเขาคงจะพอใจยิ่งกว่าได้รับจากผมไปเป็นเงินทอง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 ก.ค. 2552

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2552

เงินกำลังไร้ค่า

“Money is only important for what it will procure. Thus a change in monetary unit, which is uniform in its operation and affects all transactions equally, has no consequences.”

John Maynard Keynes
“A Tract on Monetary Reform”
(1st Edition, Macmillan & Co., London, 1923)


งานอดิเรกอย่างหนึ่งของผมที่ค่อยๆ ทำมาเป็นเวลาหลายปีคือการสะสมต้นฉบับหนังสือเก่า โดยเฉพาะหนังสือทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ตลอดจนงานเขียนนวนิยายของ Ernest Hemingway ผมเสียเวลาไม่น้อยไปกับการนี้ บางทีถึงกับละทิ้งลูกเมียเพื่อธุระของหนังสือ มันเป็นกิเลสแบบหนึ่งที่มีพลังชักจูง ล่อลวง และโน้มน้าวแกมบังคับ อย่างรุนแรง โดยผมพยายามจะเลิกนิสัยนี้หลายครั้ง แต่ก็สลัดมันไม่หลุดเสียที

แน่นอนว่าผมจำเป็นต้องติดตามและรับรู้ระดับราคาในตลาดโลก ของงานเขียนแต่ละชิ้นอยู่เป็นระยะๆ ผมสังเกตว่า ระยะหลังมานี้ นับแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในสหรัฐฯ โดยเฉพาะระหว่างช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว จนถึงมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากยกให้เป็นช่วงตกต่ำที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระดับราคาหนังสือเก่าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังคงไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบัน

ยกตัวอย่างงานต้นฉบับหนังสือเก่าทางด้านเศรษฐกิจการเงินที่นิยมสะสม เช่น The General Theory of Employment, Interest, and Money ของ John Maynard Keynes ฉบับพิมพ์ครั้งแรก (London Macmillan, 1936) ปัจจุบันก็มีคน Quote ราคาขายสูงสุดถึง 23,184.39 เหรียญสหรัฐฯ กันแล้ว (ดูราคาอ้างอิงได้จาก www.abebooks.com) หรืออย่าง The Economic Consequence of Peace (London Macmillan, 1919) ก็อยู่ที่ 10,143.84 เหรียญฯ หรือ The Treatise on Money (London Macmillan, 1930) ก็ 1,600 เหรียญฯ หรือ A Tract on Monetary Reform (London Macmillan, 1923) 1,200 หรืองานของ Irving Fisher อย่าง Boom and Depressions (New York Adelphi, 1932) ก็ Quote กันถึง 2,450 และ Stock Market Crash and After (New York Macmillan, 1930) 3,000 หรือ Principles of Political Economy ของ John Stuart Mill (2nd Edition, John W. Walker London, 1849) อยู่ที่ 1,850.79 เหรียญฯ Geldtheorie Und Konjunkturtheorie ของ Frederick von Hayek (Holder-Pichler-Tempsky, Wien/Leipzig 1929) 8,500 เหรียญฯ Trait’e d’Economie Politique ของ Jean-Beptiste Say (L’imprimerie de Crapelet, Paris1803) 11,540.35 เหรียญฯ และ The Protestant Ethic and Spirit of Capitalism (New York, Charles Scribner’s Sons, 1930) 1,000 เหรียญฯ หรือแม้แต่งานรุ่นใหม่ ทว่าคลาสสิก อย่าง The Panic of 1819 ของ Murray Rothbard (Columbia University Press, 1962) และ The Long Wave Cycle ของ Nikolai Kondratieff (Richardson & Snyder, 1984) ก็สูงขึ้นถึง 420 และ 500 เหรียญฯ ตามลำดับ (อ้างอิงจาก http://www.amazon.com/)

หรืออย่างนวนิยายของ Hemingway ฉบับพิมพ์ครั้งแรก สภาพดี ก็ไต่ขึ้นไปสูงมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น Three Stories and Ten Poems (Contact Publishing Paris, 1923) 75,000 เหรียญฯ In Our Time (William Bird Paris, 1924) 65,000 The Torrents of Spring (Scribner’s, 1926) 20,000 The Sun Also Rises (Scribner’s, 1926) 125,000 Men Without Women (Scribner’s, 1927) 30,000 A Farewell to Arms (Scribner’s, 1929) 12,500 Death in the Afternoon (Scribner’s, 1932) 6,000 Winner Take Nothing (Scribner’s, 1933) 5,000 Green Hills of Africa (Scribner’s 1935) 5,000 To Have and Have Not (Scribner’s, 1937) 3,000 The Fifth Column (Scribner’s 1940) 5,000 For Whom the Bell Tolls (Scribner’s 1940) 2,000 Men at War (Crown Publishers, 1942) 1,000 Across the River and Into the Trees (Scribner’s, 1950) 600 The Old Man and the Sea (Scribner’s, 1952) 3,000 และ A Moveable Feast (Scribner’s, 1964) 200 เหรียญฯ เป็นต้น (อ้างอิงจาก Thomas Lee, 20the Century First Edition Fiction: A Price and Identification Guide, 2008 Edition ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาที่ Quoted ใน www.abebooks.com ณ ปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่าระดับราคาปรับสูงขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา)

ที่เป็นแบบนี้ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากนโยบายกู้วิกฤติที่รัฐบาลของประเทศสำคัญๆ ปลงใจร่วมกันว่าต้องใช้มาตรการทางการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายสุดๆ เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมโหฬารพร้อมกันทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อ “หิ้ว” ภาวะเศรษฐกิจ มิให้เข้าสู่การถดถอยแบบรุนแรง ตามแนวที่ Keynes เคยว่าไว้ใน The General Theory of Employment, Interest, and Money นั่นเอง

ถามว่า.....เมื่อมีการ “พิมพ์เงิน” เพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง มิได้กระเตื้องขึ้นจริง (โปรดสังเกตดัชนีชี้วัดต่างๆ เช่น อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ อัตรากำไรของกิจการในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ อัตราการเติบโตของยอดสินเชื่อของภาคธนาคารทั้งระบบ ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนยอดนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าประเภททุน ยอดเก็บภาษีจริงที่ห่างจากเป้าหมายของกระทรวงการคลังในแต่ละเดือน อัตราการจ้างงาน ยอดขอจดทะเบียนของกิจการเกิดใหม่ และยอดขอจดทะเบียนสิทธิบัตร เป็นต้น จะเห็นว่าดัชนีเหล่านี้ชี้ไปในทิศทางตรงข้าม หรือในทางแย่)... แล้วผลลัพธ์ระยะสั้นมันจะเป็นเช่นไร ?

คำถามนี้ แม้ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ก็ตอบได้ง่ายๆ เพราะการพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในภาวะแบบนี้ มันย่อม “ดัน” ให้ระดับราคาสินทรัพย์ทั้งระบบ “สูงขึ้น” อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

นั่นเป็นคำตอบว่าทำไมตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นพร้อมกันเกือบทั่วโลก รวมทั้งตลาดไทยด้วย ที่แม้ดัชนีทุกชนิดจะย่ำแย่ การค้าขายและความเป็นอยู่จะฝืดเคือง ก็ตามที เดือนสองเดือนมานี้ ผมเห็นพรรคพวกเพื่อนฝูงร่ำรวยจากหุ้นกันหนาตา

นอกจากหุ้นแล้ว ราคาสินทรัพย์ประเภทอื่นก็เริ่มขยับกลับขึ้นมาเกือบเท่าระดับที่เคยเป็นก่อนฟองสบู่จะแตก ไม่ว่าจะเป็นค่าเงิน (ลองสังเกตเงินยูโร ปอนด์ เยน) สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน หรือแม้กระทั่งราคาอสังหาริมทรัพย์ในทำเลสำคัญๆ ของโลก

ผมรู้จักนักสะสมเครื่องเสียงเก่า (Vintage Hi-Fi) ชาวฮ่องกงคนหนึ่งที่อพยพไปอยู่แวนคูเวอร์เมื่อเกือบสิบปีมาแล้ว ประกอบอาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เขาเปลี่ยนบ้านมาหลายหลัง แต่เพิ่งจะซื้อบ้านหลังใหญ่ในทำเลที่ดีพอสมควร (ตามคำที่เขาว่ามา) เป็นของตนเองได้เมื่อปลายปี ๒๕๕๐ (คือมารู้ทีหลังว่าซื้อตอนที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศนั้นเกือบ Peak)

แต่พอฟองสบู่แตก เขาแทบล้มละลาย ทว่า เมื่อตั้งสติได้ ก็เริ่มขุดเอาของเก่าออกมาขายกิน ซึ่งเขาต้องแปลกใจมากที่พบว่า มันสามารถพยุงฐานะไปได้ เพราะเขาไม่เคยนึกเลยว่าของสะสมที่เขาครอบครองมาตั้งแต่อยู่ฮ่องกงและเก็บไว้เฉยๆ นั้น มันกลับช่วยอุดรายได้ที่หายไป ให้กับเขาและภรรยา เพียงพอที่จะ Support วิถีชีวิตที่ใกล้เคียงเดิมได้ (เดชะบุญที่ลูกๆ เขาเรียนจบและพึ่งตัวเองได้หมดแล้ว)

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เขาเพิ่งจะบอกกับผมว่า เขาเกือบ Recovered ราคาบ้านตอนซื้อเอาไว้ได้แล้ว!

เรื่องราวของนายคนนี้ ยืนยันข้อสังเกตของผมเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเป็นไปในอนาคตอย่างน้อยสองประการ

ประการแรก อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว คือผมคิดว่านโยบายกอบกู้เศรษฐกิจของรัฐบาลสำคัญๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย กำลังส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ในแง่บวก และก็จะส่งผลต่อเนื่องไปอีกในอนาคตอันใกล้ อย่างน้อยก็จะสามารถพยุงระดับราคาสินทรัพย์สำคัญๆ ให้กลับมามากกว่าสามในสี่ส่วนของระดับราคาเดิมก่อนฟองสบู่แตก

และถ้าเรากวาดตามองไปในตลาดของสะสมสำคัญๆ (Collectable) ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนและงานศิลปะ หนังสือเก่า รถยนต์และมอเตอร์ไซด์คลาสสิก นาฬิกา เครื่องประดับและ Object of Arts เฟอร์นิเจอร์ เรือยอต์ช ไวน์ราคาแพง ธนาบัตร แสตมป์ พระเครื่อง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนราคาไม่ตกแม้ฟองสบู่จะแตกและราคา Financial Assets เช่นหุ้นและตราสารการเงินอื่น ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ ตกลงเกือบครึ่ง (ยกเว้นภาพเขียนและงานศิลปะในบาง Category ของศิลปินบางคนที่ระดับราคาเว่อร์ขึ้นไปมากก่อนฟองสบู่แตก)

หนำซ้ำ หลังฟองสบู่แตก ราคาของสะสมกลับเขยิบสูงขึ้น และกิจกรรมการสะสมก็กระจายตัวลงไปสู่ตลาดระดับกลางและล่างอย่างกว้างขวาง มิได้ผูกขาดอยู่กับตลาดบนอย่างที่ผ่านมา การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเว็ปไซต์ประมูลอย่าง eBay.com และเว็ปไซต์ซื้อขายของสะสมเฉพาะแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ด รวมไปถึงการเติบโตของระบบชำระเงินออนไลน์ PayPal ยืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เว็ปไซต์เหล่านี้ ทำให้เกิดกระบวนการ Globalization of Collectable Market ช่วยให้นักสะสมทั่วโลก และนายหน้าค้าของสะสมในแต่ละประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูล และซื้อขายแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้อย่างกว้างขวาง เกิดเป็นตลาดโลกขึ้น แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้แต่ Christie’s และ Sotheby’s ก็ยังต้องหันมาศึกษาช่องทางใหม่นี้อย่างจริงจังกันแล้ว

ทีนี้ก็มาถึงข้อสังเกตที่สองของผม คือเมื่อพิจารณากรณีของสะสมข้างต้น ประกอบกับพฤติกรรมของราคาทองคำ เงิน (Silver) และ Precious Metals ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในรอบห้าปีหลังมานี้ เราก็จะพบความจริงอีกด้านหนึ่ง ที่กำลังขับดันทิศทางของเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้

ผมคิดว่า ณ ขณะนี้ ผู้คนในโลกเริ่มหมดความเชื่อมั่นต่อ “เงินตรา” (Money) เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว โดยเฉพาะในความหมายที่เคยฝาก “ความมั่งคั่ง” (Wealth) ของตัวไว้ในรูปเงินตรา ผู้คนจึงเริ่มหนีจากเงินตราไปสู่สินทรัพย์ชนิดอื่นที่จับต้องได้ หวังถ่ายเทความมั่งคั่งไปเก็บไว้ในรูปอื่นบ้าง เพราะเชื่อว่ามันจะรักษาระดับความมั่งคั่งไว้ได้ดีกว่าหน่วยของเงิน (ที่เป็นเพียงกระดาษ) เมื่อเกิดวิกฤติร้ายแรงกับระบบทุนนิยมโลก

ก่อนหน้านี้ การดำเนินนโยบายขาดดุลเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานของสหรัฐฯ ก็มีเหตุเพียงพอให้บรรดานักลงทุนหมดศรัทธาต่อเงินตรามาพอแล้ว แต่เมื่อทุกรัฐบาลหันมา “พิมพ์เงิน” เพิ่มเข้าไปในระบบพร้อมๆ กันอีกหลายรอบ มันก็ยิ่งตอกย้ำให้เกิดวิกฤติศรัทธา “หนัก” ขึ้นไปอีก “กว้าง” ออกไปอีก และ “ลึก” ลงไปอีก

การที่ผู้คนเริ่มทยอยซื้อทองหยอง เพชรนิลจินดา และของมีค่าเก็บไว้ ย่อมมี Logic เบื้องหลังที่นำพวกเขามาสู่วิธีคิดดังกล่าว เพราะนอกจากพวกเขาจะหวังเก็งกำไรแล้ว พวกเขายังแสดงออกถึง (จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) การหมดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อธนาคารกลางของตนเอง (เพราะพิมพ์เงินออกมามากเกินไป) พวกเขาเลยทำตัวเป็นธนาคารกลางเสียเอง คือสร้าง Personal Reserve หรือ “ทุนสำรองส่วนตัว” ขึ้นเองเสียเลย

ภาวะความตึงเครียดของโลก ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้เกิดภาวการณ์ดังกล่าว ทั้งสงครามในตะวันออกกลาง กรณีนิวเคลียร์ของอิหร่านและเกาหลีเหนือ การก่อการร้ายสากลและการเติบโตของมุสลิมหัวรุนแรง ตลอดจนการก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วของจีน เข้ามาแย่งใช้ทรัพยากรที่จำเป็นทุกอย่างในโลก ทั้งน้ำมัน เหล็ก ดีบุก ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง และข้าวปลาอาหาร อีกทั้งผลไม้ทุกชนิด

สิ่งเหล่านี้ย่อมนำไปสู่การเผชิญหน้าทางทหารได้ง่าย

แน่นอน ผู้คนย่อมคิดเองได้ว่าถ้าเกิดสงครามขึ้นจริง เงินตราย่อมสำคัญน้อยกว่าทองคำ ข้าวปลาอาหาร และทรัพย์สินที่จับต้องได้ ดังคำของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ว่าไว้อย่างจับใจ และ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่แม้ตัวเองจะเป็นคนสำคัญซึ่งกุมนโยบายการเงินของประเทศมาอย่างยาวนาน แต่ก็มักนำมาอ้างเสมอว่า “เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

และเมื่อผมได้ยกเอา “คำยั่วคิด” ของ Keynes มาอ้างไว้เป็นคำขึ้นต้นบทความนี้ ผมก็จะยก “คำยั่วคิด” ของคนอังกฤษอีกคนหนึ่งมากำกับลงท้าย

หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ประโยชน์จาก Thought Provoking Phrases เหล่านั้น ไม่มากก็น้อย

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๒

“The surest way to ruin a man who doesn’t know how to handle money is to give him some.”
George Bernard Shaw

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับมิถุนายน 2552