วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

วิถีเมฆ



มิเพียง “ฟ้า” และ “ดาว” เท่านั้น ที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตคน “เมฆ” ก็หาได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันไม่

เวลาเกิดความหวัง แรงบันดาลใจ และมองโลกในแง่ดี มนุษย์เรามักสมมติให้ “ดวงดาว” เป็นสัญลักษณ์แทนความรุ่งโรจน์ เปล่งปลั่ง แวววาว สุกสกาว สุกใส สว่างไสว และให้ “เมฆ” แทนความอิ่มเอิบ สดสวย สนุกสนาน หรรษา เบิกบาน ปุกปุย บางเบา และไร้กังวล.....Sheen & Fell Good
ทว่า เวลาหดหู่ ดวงดาวก็จะริบหรี่ ห่อเหี่ยว หม่นหมอง ฟ้าก็จะมืดครึ้ม พิโรธคำราม และเมฆก็จะทะมึน ทรงอำนาจ น่ากลัว น่าหวาดหวั่น และร้ายกาจ....Gloom & Insidious
ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนแรกที่เปรียบอินเทอร์เน็ตกับเมฆ แต่มารู้ตัวอีกที ก็เห็นว่าหมู่เมฆเหล่านี้มันมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่เข้าจริงๆ เสียแล้ว และมีนัยะสำคัญอย่างมาก จนจะละเลยไม่กล่าวถึง และไม่นำมา “ขึ้นปก” ของนิตยสาร MBA ไม่ได้เสียแล้ว
เดี๋ยวนี้ ใครๆ ก็ฝากชีวิตไว้กับอินเทอร์เน็ต ฝากข้อมูล ฝากตัวอักษร ฝากภาพนิ่ง ฝากภาพเคลื่อนไหว ฝากเสียง ฝากแฟ้ม ฝากสไลด์ ฝากข้อสอบ ฝากสินทรัพย์ ฝากสินค้า ฝากผลิตภัณฑ์ ฝากผลผลิต ฝากร้านค้าทั้งร้าน ฝากความคาดหวัง ฝากการบริโภค ฝากรสนิยม ฝากความเห็น ฝากความลับ และอะไรต่อมิอะไรไว้บนนั้น
ตั้งแต่จดหมายส่วนตัวไปจนถึงข้อมูลการเงินของบริษัทและข้อมูลความลับของรัฐบาล
Google App., 100% Web, Amazon Connected, Netflix Connected, Polyvore, Kaboodle, Ecademy, Swipy, Blippy, Shopsite, Facebook, Twitter, YouTube, Video-haulers, Social Media, E-commerce, E-learning, Social Commerce, PayPal, Peer-to-Peer Banking, P2P Financing, Sales Cloud....ฯลฯ ตลอดจน Cloud Software, Cloud App, และ Cloud System อีกเป็นจำนวนมากล้วนเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การตัดสินใจ และการบริโภคของคนรุ่นใหม่ และจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา 24/7 และจากทุกสถานที่
ผมลองทิ้งเงินไว้ใน PayPal มาหลายปีแล้ว ก็รู้สึกสะดวก และปลอดภัยดี และราวๆ ปลายปี 2552 ผมก็ตัดสินใจเลิกใช้ Thumdrive และหันมาเขียนต้นฉบับลงบน Google Docs ก็รู้สึกสะดวก ประหยัด และปลอดภัยกว่า นักธุรกิจหลายคนที่เป็นเจ้าของกิจการ ก็เริ่มนำ Operations ของกิจการไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตกันแล้ว ทั้งในเชิงการเงิน การขาย และการตลาด นัยว่า Cloud กับ SMEs เป็นของคู่กัน และกำลังไปได้ดีมากๆ ในต่างประเทศ กิจการอย่าง Salesforce.com, eBay, หรือ Google App เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้เพราะหากินกับ SMEs แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ก็เลิกทำระบบเอง หันมาฝากระบบ E-learning ของตนไว้กับ Cloud เอาเวลาไปมุ่งผลิต ยกระดับ และเพิ่มคุณภาพของ Content ตามความถนัดดีกว่า หรือแม้กระทั่งมูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรไม่แสวงกำไรหลายแห่ง ก็หันมาเอาประโยชน์จาก Cloud ได้อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ น่ายกย่อง และประสบความสำเร็จ ช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากให้กับมวลชน
วิถีชีวิตแนวใหม่และเทรนด์เหล่านี้ จำเป็นสำหรับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักการตลาด นักโฆษณา หรือแม้กระทั่งรัฐบาล ให้ต้องศึกษาทำความเข้าใจกับมัน จริงจังกับมัน เพราะมันย่อมจะกระทบต่อกลยุทธ์ แบบแผนปฏิบัติ และการดำเนินงานของท่านอย่างจังเข้าสักวัน

บทความต่อไปนี้ เป็นเรื่องสั้น 4 เรื่อง ที่ผมทดลองเขียนขึ้น โดยใช้เทคนิคทางวรรณกรรม เพียงแต่มันจะบอกเล่าเรื่องราวขององค์กรจริง เทรนด์จริง ตลอดจนกิจกรรมธุรกิจที่มีจริง ที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ผมเขียนมันขึ้นมาจากเรื่องที่รับรู้มาจริง หาข้อมูลมาจริง พูดคุยกับแหล่งข่าวมาจริงในฐานะนักข่าว และใช้หรือประสบกับตัวมาจริงในฐานะตัวละคร และจากสถานที่จริง ยกเว้นการดำเนินเรื่อง ที่บางทีผมได้อาศัยจินตนาการปะปนเพิ่มเติมเข้าไปกับเรื่องจริง ช่วงเวลาในจินตนาการปนกับช่วงเวลาจริง และบทบรรยาย Landscape ในบทความสุดท้าย ที่ผมเสริมแต่ง Landscape ในจินตนาการ ต่อเติมเข้าไปกับฉากสถานที่จริง (สถานที่ในสามบทความแรกเป็นฉากจริงไม่ได้แต่งเติม) เพื่อเร้าอารมณ์ โดยคิดว่ามันมิได้กระทบต่อแก่นสารสำคัญ หรือบิดเบือนความจริงของกิจกรรมที่ผมต้องการสื่อเลย 

ตัวละครเกือบทุกตัวล้วนมีตัวตนจริง (ยกเว้นตัวละครประกอบบางตัวในบทความแรกและบทความสุดท้าย) แต่ผมได้เปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่ ตามที่เห็นสมควร โดยบทสนทนาและบทรำพึงรำพันกับตัวเองในเชิงกระแสสำนึกนั้น ผมแต่งมันขึ้น เพื่อให้มีความงามตามสมควรในเชิงศิลปะ

หวังว่าท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำจะพอใจ และจะช่วยสร้างจินตนาการให้ท่านตามสมควร

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับพิเศษ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554

วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทางหัวใจ




(Creative Non-Fiction เชิงวรรณกรรมการเงินแกมการตลาดแนวโมเดรินไลฟสไตล์ ลำดับที่ ๒ ว่าด้วย Christie's LIVE)


ตรงหัวถนน New Bond Street ด้าน Bruton Street ที่จะมาออก Berkeley Square ใน Mayfare เป็นที่ตั้งของ Sotheby’s London บริษัทประมูลหรือ Auction House เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดหนึ่งในสองของโลก

วิรัช อดีตฟันด์แมเนเจอร์วัยกลางคนกำลังนั่งอยู่ในคาเฟ่ด้านล่าง ที่โต๊ะหัวมุม เอียงตัวมาข้างหน้านิดๆ จ้องมองเมนูเพื่อสั่งอาหารกลางวันจานโปรดพร้อมของหวาน Lobster Club Sandwich ชิ้นเดียว 18.5 ปอนด์ และ Sotheby’s Hand-made Chocolate Truffles ชิ้นละ 1.20 ปอนด์....ขอสักห้าชิ้น

เขามากินที่นี่ทุกครั้งเมื่อบินมาลอนดอนเพื่อดูงานศิลปะและของสะสมที่ Sotheby’s ต้องนำออกมาโชว์ผู้สนใจกันก่อนเปิดประมูล แม้เขาจะยังไม่เคยลงมือประมูล แต่ก็ได้เข้าไปร่วมอยู่ในห้อง ณ วันประมูล กับบรรดาเพื่อนฝูงฝรั่งในแวดวงหุ้นด้วยกันหลายครั้งแล้ว บางครั้งเขาก็เห็นเจ้าพ่อดิวตี้ฟรี และตัวแทนของรัฐมนตรีหนุ่มศิษย์เก่า Oxford ตลอดจนนายหน้าของอดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาร่วมชูป้ายด้วยในบางครั้ง

เขารู้แล้วว่าคนเหล่านั้นเริ่มโยกย้ายถ่ายเทเงินทองที่ตัวเองกอบโกยมาซ่อนไว้ในต่างประเทศ เจียดวงเงินมาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของงานศิลปะและของสะสม เพราะอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำเตี้ยลงทุกวัน แถมเงินดอลล่าร์ ยูโร ปอนด์ ก็ไร้อนาคต

วิรัชเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ดูแลกิจการกองทุนรวมของธนาคารมาแต่ต้น มีหน้าที่ตัดสินใจซื้อขายหุ้น และบริหารเงินลงทุนให้กับธนาคารมากว่า 20 ปี จนสะสมทุนได้ก้อนใหญ่ ด้วยการซื้อขายพอร์ตส่วนตัวคู่ขนานกันไป เดี๋ยวนี้วิรัชร่วมหุ้นกับฝรั่งเปิดกิจการให้คำปรึกษากับบรรดากองทุนเฮจฟันด์ที่นำเงินไปลงทุนในเมืองไทย เขาจึงคุ้นเคยกับบรรดาเฮจฟันด์แมเนเจอร์และ Private Equity จำนวนมาก ที่ส่วนใหญ่มีสำนักงานและนิวาสถานอยู่แถว Mayfair

แม้เขาจะคุ้นเคยกับอเมริกามากกว่า เพราะเคยไปเรียนที่ประเทศนั้นกว่าสิบปี ทว่า นับแต่เกิดวิกฤติซับไพร์ วิรัชบินมาลอนดอนเกือบทุกเดือน เพราะเขาดีดลูกคิดรางแก้วแล้วว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ย่านสำคัญๆ ที่นี่น่าลงทุน และถือโอกาสหมายตางานศิลปและของสะสมเด็ดๆ ที่คิดว่าจะทะยอยเก็บไว้ในพอร์ตด้วย ที่สำคัญ เขากำลังติดพันอยู่กับสาวน้อยรูปร่างอ้อนแอ้นอรชร นักศึกษาปริญญาโทแห่ง Central St.Martin ที่จากบ้านมานานและกำลังเหงาอย่างยิ่ง

วิรัชชอบลอนดอนและพยายามใช้ชีวิตเยี่ยงนักการเงินที่นี่ เขาตัดเสื้อผ้าแถว Savile Row และ Burlington หรือไม่ก็ซื้อสำเร็จจาก Jermyn Street สูบซิก้าร์และยาเส้นของ JJ Fox และ Robert Lewis ดื่มชาที่ The Ritz เป็นประจำ อ่านหนังสือ Singed Copy จาก Hatchards ช็อปของใช้ส่วนตัว Gentleman’s Relish ใน Fortnum & Mason และดูโอเปร่าที่ Covent Garden และตระเวนดูการประมูลของสะสมตาม Auction  House ที่เชื่อถือได้มาจวนจะครบแล้ว Sotheby’s, Christie’s, Gray’s, Bloomsbury, 1818 Auctioneers, Andrew Smith, Bearnes Hampton & Littlewood, Boulton & Cooper, Burstow & Hewett, Crow’s Gallery, Jones & Jacob, Lyon & Turnbull, McTear’s, Sworders, Toovey’s, Wooley & Wallis, Aspire, Bushey, Chalkwell, Chorley’s, H & H Auction Room, Hampstead Auction, Locke & England, Richardson & Smith, Murray’s, Churchgate, Lloyd Cameron & Partners, Davon & Cornwall, Gilding’s, Lawrences of Bletchingley, W & H Peacock, Michaan’s, Rudd’s, Tamlyn & Son,.......ฯลฯ

เขาต้องศึกษาตลาดก่อนลงมือ สไตล์ของเขาต้องรอบคอบ ศึกษาให้ครบ ใช้เวลากับมันในช่วงแรกให้เยอะ รู้จุดเสี่ยงและทางถอย แต่พอลงมือ ก็ต้องสุดแรงเกิด เขายึดสูตรนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตั้งแต่เริ่มอาชีพ หลังจบปริญญาเอกจากยูท็อปเท็นด้วยทุนคิงกลับมาเมืองไทยใหม่ๆ

เขาแทบไม่เคยพลาด แม้ตอนปี ‘40 เขาก็ “ออกทัน” ทำให้มีกำลังไปซื้อของถูกได้หลังจากนั้น ในช่วงรัฐบาลทักษิณ เขาเกาะกระแสและ Make Money ได้มาก Net Worth ของเขาเพิ่มขึ้นในช่วงนั้นเกือบห้าเท่าตัว เขาเป็นนักคำนวณ สมัยมัธยมปลายเคยสอบได้ที่หนึ่งของประเทศ เมื่อต้องลงทุนและต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน เขาไม่เคยคิดหวังในเชิงความสัมพันธ์ ไม่คิดและไม่หวังในเชิงนำ้ใจ เชิงไมตรี ไม่เคยรัก ไม่เคยเกลียด ไม่เคยเห็นใจ ไม่โกรธ ไม่แค้นเคือง ไม่เคียดแค้น ไม่ผูกใจเจ็บ เขาสนใจแต่การทำดีล ทำ Transactions ทำสัญญา ต้องเซ็น ต้อง Amend ต้องซื้อ ต้องขาย ต้องโอน ต้องตัดขาดทุน ต้อง Cut Loss ต้องจ่ายใต้โต๊ะ ต้องแบ่งเปอร์เซ็น ต้องให้คอมมิชชั่น โดยเป้าหมายสูงสุด คือต้องซื้อถูกและขายแพง หน่วยวิธีคิดของเขามักเป็นบาท เป็นดอลฯ เป็นยูโร เป็นหุ้น เป็นออนซ์ เป็นบาเรล เป็นกิโล เป็นตัน เป็นลูกบาทก์ เป็นบุชเชล เป็นแบ็ทช์ เป็นทรังก์ เป็นเบซิสพ้อยท์ เป็นยิล เป็น Options เป็น Futures เป็น Holding Companies เป็น Subsidiaries เป็นเงินปันผล และเป็นค่า Fees

เขาพบว่าเขาเหมาะกับอาชีพหุ้น กับการเก็งกำไร กับการซื้อมาขายไป กับการซื้อถูกขายแพง เขาจึงหันหลังให้กับอาชีพวิศวกรทั้งๆ ที่ร่ำเรียนมาจนจบปริญญาเอก เพราะเขาหูตาไว เปี่ยมพลังชีวิตและพลังทางเพศ  ชอบล่า ชอบเอาชนะ ชอบพิชิต ชอบยึดครอง ชอบครอบงำ ตื่นตัว ขี้สงสัย ชอบหาข้อมูล ไม่อยู่นิ่ง มีสัมผัสพิเศษ รู้ว่าภัยพิบัติกำลังจะมา จังหวะจะโคนเขามักถูกต้อง ซื้อถูกเวลา ขายถูกเวลา และเขายังเลือดเย็น ไม่เคยนึกสงสารเห็นใจใคร ไม่เคยสำนึกเสียใจ ไม่เคยละอายใจ แต่ก็อัธยาศรัยดี เป็นที่รักใคร่ของผู้คน โดยเขาไม่เคยคิดจะมีความผูกพันกับใคร ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า เพื่อนฝูง คนรัก หรือแม้แต่ญาติพี่น้อง เขาเพียงใช้คนเหล่าที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเหล่านั้นเป็นบันใดเพื่อกรุยทางให้เขาบรรลุเป้าหมาย....เขาอาจเป็นคนไร้หัวใจ แต่ก็เป็นนักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จมาก

ทว่า ขณะเพ่งมองภาพเขียนยุคแรกของ Lucian Freud ณ ห้องแสดงงานของ Sotheby’s นั้นเอง พลันเขาก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองแก่ตัวลง พลังชีวิตและจิตวิญญาณนักล่าในตัวเองเริ่มถดถอย เขาโหยหาสิ่งเริงรมย์ใจ อยากเห็นของสวยๆ อยากลิ้มรสอร่อยๆ อยากฟังเสียงไพเราะๆ อยากสูดกลิ่นอันหอมหวานชื่น และรับสัมผัสจรุงใจ

เขาคิดแล้วว่าต้องใช้สตางก์ที่หามาได้ให้คุ้มค่า ต้องเริ่มใช้ชีวิต ต้องหารักแท้ รักแบบหนุ่มสาว รักโรแมนติก และต้องเลิกกิจกรรมการลงทุนแบบวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง นาทีต่อนาที วินาทีต่อวินาที แต่ก็ต้องไม่ทิ้งลายนักเก็งกำไร ซื้อถูกขายแพง ต้องหาอะไรที่สามารถทำไปด้วยเดินทางท่องเทีี่ยวไปด้วย มีเวลาติดพันหญิงสาวที่ตนรัก มีเวลาอ่านหนังสือที่ชอบ ไม่อยากหมกมุ่นกับข้อมูลเศรษฐกิจการเมืองเหมือที่ผ่านมา และต้องสามารถครอบครองสัมผัสขัดถูสิ่งของหายากที่น่าหวงแหน เสพงานศิลป เสพอาหารแปลกๆ เสพเสียงเพลง เสพของดีที่ Unique เพราะลูกไม่มี เมียก็หย่าไปแล้ว



ห่างจากตึกนั้นไม่ไกล อีกฝั่งของ Piccadially เยื้องๆ กับ St. James’ s Palace และ Spencer House คฤหาสประจำตระกูลของเจ้าหญิงไดอาน่า ตรงแยก King Street ตัดกับ Bury Street เป็นที่ตั้งของ Christie’s ยักษ์ใหญ่ของวงการอีกราย

วิรัชมาดูชิ้นงานประมูลตามนัด เขาผ่านซุ้มประตูแมนชั่นหรูเข้าไปยังห้องโชว์ด้านซ้าย ก็เห็นหนังสือเก่าและต้นฉบับลายมือเขียน รวมทั้งจดหมายเก่าที่ลงลายมือชื่อคนดังในอดีตจำนวนมาก วางกางอ้าซ่าอยู่ในตู้กระจกนิรภัย ภายใต้ลำแสงเล็กๆ แต่แรงและสว่างพองาม พร้อมแว่นขยายที่จัดไว้ในตำแหน่งสำคัญ ให้ผู้ประมูลได้เพ่งพินิจก่อนตัดสินใจร่วมเสนอราคาเมื่อวันประมูลจริง ในอีกสามอาทิตย์ข้างหน้า

เป้าหมายของวิรัชอยู่ที่ LOT 48/ SALE 7760 คือ “On the Origin Of Spicies by Means of Natural Selection” ของ Charles Darwin ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดย W. Clowes and Sons by John Murray, London 1859

สำหรับเขาดาร์วินเป็น Super Genius และ “Survival of the Fittest” คือคติประจำใจที่เขายึดถือตลอดมา การใช้ชีวิตอยู่กับตลาดหุ้นท่ามกลางฟันแมเนเจอร์ทั่วโลกที่ล้วนแต่เป็นพวกหัวกะทิ อุปมาก็เหมือนต้องดำรงชีวิตในป่าดงดิบท่ามกลาง เสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่ต้องล่า ต้องฆ่า ต้องหลบหลีก และต้องชนะ ในขณะที่ต้องออกหาขุมทรัพย์ตามลายแทงมหาสมบัติ

“Would you like me to book your pre bid?, Sir.” ผู้เชี่ยวชาญหญิงประจำห้องโชว์ถามวิรัช หลังจากหยิบหนังสือเล่มนั้นออกมาพลิกทีละหน้าอย่างละเอียด เพื่อให้เห็นว่าหน้าไหนมีตำหนิอะไรที่ควรระวัง โดยเล่มนี้มีรอยฉีกราว 20 ม.ม. ตามรอยสันปกหน้าด้านบน และสันปกบนยวบนิดหน่อย มุมปกแข็งทั้งสี่ยู่เข้ามานิดนึง และปกหน้าในมีรอยปริเล็กๆ แต่ก็สังเกตุเห็น ที่เหลือค่อนข้างสมบูรณ์ หุ้มปกแข็งเดิมๆ สีเขียวเดินทอง ตัวหนังสืออยู่ครบและยังเห็นชัดเจน

“I’ll be on board that day to Boca Raton” วิรัชตอบ

“I would recommend our online bid, Sir.”

“Could you please open my account?”

“As you wish, Sir.”  

วิรัชเคยเห็นตอน Christie’s ประมูลหลายครั้งแล้ว ห้องนั้นจุคนได้สัก 300 หรืออาจสัก 400 อีดอัดเล็กๆ แต่กลิ่นหอม โถงกว้างมีเก้าอี้เรียงรายให้สำหรับผู้ร่วมประมูล ตรงผนังห้องสองข้างซ้ายขวามียกพื้นสูงสักเมตร บนนั้นเรียงรายไปด้วยผู้เชี่ยวชาญที่คอยรับโทรศัพท์จากบรรดาเศรษฐี VIP ผู้มิได้อยู่ในห้องนั้นแต่อยากร่วมเสนอราคาด้วยคน และเหนือขึ้นไป แขวนภาพสำคัญๆ ที่จะเป็นเป้าหมายของการประมูลในวันนั้น โดยโพเดียมไม้โอ๊กสีแดงเข้มแต่ขลัง ลงอักขระ Christis’s สีทองประกาย จะตั้งตระหง่านอยู่บนปรัมด้านหน้า พร้อมกับผู้กำกับการประมูลที่คอยพากษ์ราคาอย่างเชี่ยวชาญ น่าฟัง แต่เร้าอารมณ์ ในมือถือฆ้อน Gavel กำกับการประมูลด้วยลีลาลีลาศเข้าจังหวะ

วิรัชเพิ่งรู้ว่าระบบ Online Auction ของ Christie’s ที่พวกเขาเรียกว่า LIVE กำลังไปได้สวย สำหรับของสะสมทั่วไปชิ้นเเล็กๆ อย่างนาฬิกา ไวน์ หนังสือ เครื่องประดับ ที่ราคาประมูลยังไม่ขึ้นหลักหลายหลายล้าน ผู้เชี่ยวชาญสาวสวย หลังจากขอบัตรเครดิตจากวิรัชไปเปิดบัญชี และสร้าง MY CHRISTIES ให้เขาเป็นเฉพาะ ก็มอบ User’s Name และ Password กับบอกวิธีประมูลแบบ Real Time อย่างละเอียด พร้อมกับกล่าวอวยพร “Good Luck, Sir.”

สามอาทิตย์ต่อมา ขณะที่เขากับแฟนสาวกำลังอยู่บนเครื่อง Boeing 767-200 ของ American Airline จาก New York’s JFK ปลายทาง Miami วิรัชกลับจ้องอยู่หน้าจอ MacBook Air ขนาดสิบห้านิ้วของเขาอย่างใจจดใจจ่อ สัญชาติญาณนักล่ากลับเข้าสิงสู่เขาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ก็เป็นธรรมชาติ เขายิงสามช่วงราคาทันทีเมื่อได้ยินเสียงพากษ์เปิด LOT 48 จากราคาเริ่มต้น 5,000 ปอนด์ ดันขึ้นไปทันทีที่ 10,000 ปอนด์ ภายในเวลาไม่ถึงนาที

เขารู้สึกเหมือนถูกหมัดฮุกเข้าที่ลำตัว แต่ก็ทันปล่อยอัปเปอร์คัตก่อนเบี่ยงขวาออกมา แล้ววกกลับเข้าไปออกหมัดขวาเต็มเหนี่ยว


ตัวเลขราคาก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จาก 10,000-12,000-15,000-20,000-30,000-40,000-55,000-65,000-80,000-95,000 แลกหมัดกันอย่างชุลมุนชุลเก และระหว่างที่กำลังจะหมดยก เขาก็เบี่ยงตัวหลบออกมาจากกลุ่มควันที่กำลังตลบอบอวล ในสมองของเขาคิดคำนวณหน่วย Cross Currency โดยอัตโนมัติ โอ้ว! นี่มันเกือบห้าล้านบาทแล้วนี่นา แต่ดาร์วิน โอ้ดาร์วิน ซูเปอร์จีเนียส ไอสไตน์ ไฟร์แมน ว้อกออนเดอะวู๊ด นิวตัน กาลิเลโอ ดาวินชี เคปเล่อร์ ไลปนิซ รัสเซล ไวท์เฮ็ด ลิง วานร คน ลิงมาเป็นคน คนเป็นบรรพบุรุษของลิง หรือลิงเป็นบรรพบุรุษของคน ห้า ห้าล้าน ห้าล้านบาท ใจ ใจเต้น ใจเต้นแรง มันส์ มันส์ดี มันส์มาก มันส์สุดๆ Buyer’s Premium อย่าลืม อย่าลืม บวกไป คำนวณ คำนวณเร็ว ยี่สิบเปอร์เซนต์ อีกล้านกว่า หกล้าน โอ้ว! หกล้าน หนังสือเล่มเดียว หกล้าน สร้างห้องสมุดได้ ห้องสมุด เด็กไร้โอกาส ห้องสมุด VAT VAT  VAT อ้า..แต่ VAT ยกเว้น ยกเว้นคือไม่ต้องเสีย แล้ว Buyer’s Premium ละเสียไหม เสีย ไม่เสีย ไม่เสียหนิ หกล้าน หกล้าน หกล้าน ต้องเต็มที่ ต้องสุดแรงเกิด ต้องหมดแม็ก แต่ไม่ได้ ไม่ได้ ไม่ได้ ต้องอั้น ต้องอั้นไว้ ต้องอั้นไว้บ้าง อั้นเลย อั้นเท่าไหร่  หกล้าน หกล้าน อั้นหกล้าน


เขาสูดหายใจเข้าเร็วแรงแล้วกดคีย์ 120,000 แล้วก็ “คลิก”

เขาเห็นตัวเลขสีเขียวกระพริบบนหน้าจอขาวเอี่ยมเลี่ยมด้วยกรอบดำเมี่ยมคลาสสิก 103,250 พร้อมเสียงพากษ์ One hundred and three thousands two hundred and fifty, One hundred three thousands two hundred and fifty, One-oh-three two fifty pounds,....One...bla bla bla bla bla....Two....bla bla bla bla bla....Three แล้วเสียงฆ้อน แล้วเสียงพากษ์ Next, Lot forty-nine.

“แวะ Key West ก่อนกลับกรุงเทพได้ไหมค่ะ” เสียงใสๆ ดังขึ้นข้่างหูพร้อมลมหายใจอุ่นๆ
“น่าไป SLOPPY JOE’ S

เขารู้สึกโหวงๆ พิกล ราวกับหลังเสร็จภาระกิจอะไรสักอย่างที่คุ้นเคย



หมายเหตุ: ท่านผู้อ่านที่สนใจผลประมูลหนังสือ An Origin of Species เล่มนั้นจริงๆ เชิญคลิกตรงนี้


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับพิเศษ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2544

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

ธุระครอบครัว

(Creative Non-Fiction เชิงวรรณกรรมการตลาดแนวโมเดินร์ไลฟสไตล์ ลำดับที่ ๒ ว่าด้วย whipcar.com)



ผมไม่เคยเห็นฝรั่งจำนวนมากแบบนี้มาก่อนตั้งแต่เกิดมา

ผมเห็นเด็กชาย เด็กหญิง และผู้ใหญ่ จำนวนมาก คนแก่ก็มีแยะ ดูไปก็คล้ายๆ ปู่กับย่า พวกเขาเดินผ่านไปมาหน้าร้านที่เรากำลังนั่งกินไอสครีมกันอย่างขวักไขว่ตลอดเวลา

เพียงไม่กี่นาทีที่พวกเรามานั่งตรงนี้ ผมลองนับเล่นๆ ได้เก้าร้อยกว่า แต่พอจะขึ้นถึงพัน ผมก็เริ่มสับสน เพราะใจมันลอยเมื่อเห็นคนขายของเล่นเดินมาหยุดอยู่ตรงหน้า รอบๆ ตัวเขามีจานบินเล็กๆ หมุนรอบตัวเขาอยู่ตลอดเวลา ประเดี๋ยวเฉไปด้านบน ประเดี๋ยวลงล่าง ประเดี๋ยวออกห่างตีวงกว้าง ประเดี๋ยวประชิดแคบเข้าไป วนไปเวียนมา คล้ายๆ โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์แบบที่ครูเคยสอน ต่างกันแต่เพียงเจ้าจานนี้มันตามชายคนนั้นไปตลอดเวลา ชายคนนั้นเดินไปไหนมันก็ไปด้วย โดยหมุนรอบตัวเขาอยู่อย่างนั้น คล้ายกับเหาฉลามที่ติดตามเจ้าฉลามไปเป็นเงาตามตัว ดูๆ ไปก็น่ารำคาญเหมือนกัน

ยังไม่ทันไร อีกสองคนก็มาเสนอขายโปสการ์ด เย็บติดกันเป็นพวง เวลาคลี่ออก แผ่นล่างๆ ก็จะร่วงลงแต่ไม่หลุดออกจากกัน กระดอนขึ้นลง เพยิบพะยาบ ดูไปก็คล้ายหีบเพลงแอ็กคอร์เดียน พ่อบอกว่าเป็นโปสการ์ดรูปถ่ายสถานที่สำคัญในกรุงลอนดอนนี้ ผมไม่เห็นมีใครสนใจ แต่พอเขาเปิดให้ดูข้างใต้กระเป๋า ผมเห็นผู้ใหญ่มุงดูกันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ผู้ชายดูแล้วหัวเราะคิกคัก แต่ผู้หญิงมักหน้าแดง เอามือตีแขน ตีไหล่ ตีอกผู้ชาย พ่อสงสัยเลยเดินไปดู พอกลับมาพ่อก็เงียบ ถามเท่าไหร่ก็ไม่บอกว่าเป็นอะไร เพียงแต่พูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า “มันเป็นของเล่นผู้ใหญ่”

ผมเห็นคนไทยเดินผ่านมาหยุดใกล้ๆ เราด้วย เพราะได้ยินเขาเถียงกันเรื่องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา บางคนว่าต้องไปทางโน้น แต่บางคนก็ว่า “ทางนี้ๆ” แล้วก็ชี้ให้กันดูแผนที่ แต่คนจีนที่นี่แยะกว่า เพราะร้านบะหมี่เป็ดที่พวกเราชอบกินก็อยู่ในซอยเยื้องไปหน่อยนึง แถวนั้นมีแต่ร้านขายเป็ดและร้านอาหารจีน แม้แต่ร้านฝังเข็มยังมีเลย

ข้ามถนนไปฝั่งโน้น เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ ข้างในมีเครื่องเล่นจำนวนมาก คล้ายๆ ดรีมเวิลด์ที่แม่เคยพาไป แต่ตอนนี้ยังไม่เปิดไฟ ถ้าเปิดแล้วผมอยากจะขอพ่อไปเล่นขับรถชนกัน และยิงปืน และขึ้นเครื่องบิน และนั่งชิงช้าสวรรค์

ทางมุมสวนทางด้านขวามือ ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งกำลังพ่นไฟออกจากปาก แล้วก็ควงคบเพลิง โยนขึ้นไปบนฟ้า โค้งเป็นครึ่งวงกลม ตามกันไปเป็นสาย สลับมือซ้ายขวา ค่อนข้างชำนาญ คนมุงดูต่างตบมือเมื่อเขาโค้งคำนับ ก่อนจะก้มลงหยิบเหรียญที่หลายคนหยอดไว้ให้ในขันเหล็กเล็กๆ

ข้างๆ เขาก็ยังมีนักดนตรีผู้หนึ่ง นั่งเคาะจานเหล็กรูปร่างคล้ายฆ้อง แต่มีตะปุ่มตะปั่มคล้ายลูกมะนาว ปูดอยู่บนผิวฆ้องเต็มไปหมด ไม่เหมือนฆ้องบ้านเราที่มีเพียงปูดใหญ่อันเดียวอยู่ตรงกลางเดี้ยะ

ชายคนนั้นนั่งเคาะลูกมะนาวเป็นเพลงผ่านลำโพงที่หิ้วมาเปิดด้วย เสียงมันก้องใส กังวาลดี ผมถามพ่อว่าเครื่องดนตรีชิ้นนั้นเขาเรียกอะไร พ่อก็ไม่รู้ แต่พ่อว่าอยากรู้ก็ลองไปซื้อซีดีที่เขาปูผ้าขายอยู่ตรงหน้ามาฟังดูก็ได้ ผมไม่สน เพราะผมชอบเล่นกีต้าร์มากกว่า

สักประเดี๋ยว มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งหน้าตาน่ารัก ผมสีบลอน ถักเปีย อายุน่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับผม เดินจูงมือแม่มานั่งโต๊ะข้างๆ เธอจ้องหน้าผม

ในใจผมตอนนั้นคิดว่าถ้าจะทักเธอจะต้องพูดยังไง Hello! หรือ Good Evening ดี เพราะฟ้ากำลังจะมืดแล้ว

แต่ก็พอดี มีแขกคนหนึ่ง แขวนแผงของเล่นที่หน้าอก คล้ายๆ แขกขายถั่วแถวโรงเรียนผม เดินมาหยุดที่หน้าโต๊ะเธอ แล้วก็ยื่นสายอะไรให้เธอสักอย่าง พอเธอบีบ ก็มีนกพลาสติกบินขึ้นมา เธอหัวเราะร่า แล้วก็หันมามองผมอีก

“น่ารักใช่มะ” เฮ้ย! นี่พ่อรู้ใจผมได้ยังไงกัน

“เธอไม่กล้าคุยหรอก” พี่สาวผมสำทับ เธอชอบดูถูกผม ทับถมผม และแย่งผมดูทีวีมาตั้งแต่เด็ก ผมไม่ค่อยชอบเธอเท่าไหร่ ผมรักน้องชายมากว่า แต่น้องไม่ได้มาด้วย ผมคิดถึงน้อง อยากให้เขามาอยู่ตรงนี้ด้วยกัน แต่น้องต้องอยู่เป็นเพื่อนแม่

“พ่อ พ่อครับ โรงอาหารวันนี้เป็นที่ที่เค้าถ่ายหนังแฮรี่ พอร์ตเตอร์ ภาคแรกใช่ไหมครับ” ผมเปลี่ยนเรื่องทันที

“วิทยาลัยไครส์เชิช” พ่อตอบก่อนจะทำท่าชะเง้อมองหาใครสักคนไปรอบๆ

“ในหลวงรัชกาลที่ 6 พระองค์ท่านเคยพำนักที่นั่น ตอนเรียนอ็อกฟอร์ดอยู่ 3 ปี”

“นายกรัฐมนตรีก็เคยเรียน ใช่ไหมพ่อ เห็นครูที่โรงเรียนบอก”

“เรียกว่าวิทยาลัยเซนต์จอนด์ อยู่เยื้องออกมาตรงถนนข้างหน้า วันนี้เราไม่ได้เข้าไป”

“งี้พวกที่เรียนมหาวิทยาลัยก็ต้องไปอยู่ที่นั่นกันหมดเหรอพ่อ ก็ไม่ได้อยู่ลอนดอน ใช่มั้ยพ่อ”

“ว่างก็นั่งรถไฟเข้ามาเที่ยวได้ ลงที่แพดดิงตัน”

“แล้วเราทำไมไม่นั่งรถไฟไปหล่ะ”

“ก็เราหลายคน แถมเรายังแวะเที่ยวที่อื่นได้อีก อย่างวินเซอร์บ่ายนี้ไง”

“จ่ายค่ารถไฟก็พอๆ กับเช่ารถ” พี่สาวผมสอดขึ้น เธอจะรู้ได้ไง ในเมื่อเธอก็เพิ่งจะเคยมาลอนดอนครั้งแรกพร้อมกับผมนี่แหละ

“จริงเหรอพ่อ”

“ผู้ใหญ่หนึ่ง เด็กสอง รถด่วน ก็คงราวหกสิบ ค่ารถเมล์อีก ก็คงพอกันกับค่าจอดรถ”

“แล้วนี่พ่อจ่ายพี่เขาไปเท่าไหร่ครับ”

“35 แต่เราต้องเติมน้ำมันให้เขาด้วย ตกแล้วก็มากกว่ารถไฟนิดหน่อย แต่สะดวกกว่า เพราะเราแวะเที่ยวได้ตลอด”

“แล้วพ่อไปเจอพี่เขาที่ไหน”

“ในเว็บ เมื่อคืน Whipcar.com พี่เขาเอารถไปขึ้นเว็บไว้ พ่อก็เลยแอ็ดเข้ามา”

“แล้วพี่เขาไม่ใช้รถเหรอ เพราะพี่เขาก็ต้องไปโรงเรียนเหมือนกัน”

“เขาขึ้นเว็บไว้ว่ารถว่างช่วงเวลาไหน พอดีวันนี้รถเขาว่าง และมันตรงกับที่เราอยากได้พอดี เขาเลยปล่อยให้เราเช่า ดีกว่าจอดไว้เฉยๆ”

“แล้วพ่อรู้ได้ไงว่าพี่เขาอยู่แถวนี้เหมือนกัน”

“ก็ในนั้นมันมีทุกย่านเลย ใครมีรถว่างจอดทิ้งอยู่ย่านไหน แล้วอยากให้คนเช่า ก็เอาไปขึ้นเว็บไว้ ในนั้นมันก็มีแผนที่ ปักหมุดเต็มไปหมด พอเราคีย์คำว่า Mayfair มันก็เลือกแต่ย่านนี้ให้เราว่ามีของใครอยู่ตรงไหนบ้าง เราก็ตัดสินใจว่าจะแอ็ดใครดี ก็เลือกราคา เลือกยี่ห้อรถ มีหมดหล่ะตั้งแต่โตโยต้า บีเอ็ม ออสติน รถเล็ก รถใหญ่ รถตู้ก็มี”

“พ่อจ่ายเงินให้พี่เขายังไงครับ”

“เขาตัดเครดิตการ์ดผ่านเว็บไปตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว”

“แล้วงี้ เจ้าของเว็บจะได้อะไร”

“เขาตัด 15% จากส่วนเจ้าของรถ และผู้เช่าต้องจ่ายเพิ่มให้อีก 2.5 ปอนด์ ประมาณร้อยบาท”

“แล้วไงต่อ”

“เว็บเขาก็แจ้งไปทางเมล์หรือ SMS เข้ามือถือเจ้าของรถว่าเราตกลงเช่าแล้ว และนัดว่าจะมาเอารถตอนกี่โมง เราก็เอาใบคอนเฟริมกับใบขับขี่มาให้เจ้าของรถดู เขาก็เอากุญแจ่ให้เรา”

“แค่นั้นเอง”

“ใช่”

“แล้วพ่อรู้ได้ไงว่าพี่เขาเป็นคนไทย”

“ตอนแรกก็ไม่รู้ แต่พอแอ็ดเข้ามา เห็นชื่อแล้วก็พอเดาได้”

“ถ้าเราขับไปชนล่ะพ่อ”

“เว็บทำประกันฯ ให้แล้ว เราก็ต้องแจ้งประกันตามเอกสารในรถนั่น รู้สึกจะของ Willis”

“เมืองไทยมีไหมครับ”

“มี แต่ไม่เหมือนกัน นั่นเราต้องไปที่บริษัทรถเช่าหรือตามสาขา ถ้าอยู่ไกลๆ ก็หายาก ไม่เหมือนแบบนี้ที่เจ้าของรถเขาปล่อยเช่าเองเลย ฝรั่งเรียก Peer to Peer หรือ P-2-P”

“เกิดอยู่บนเขาหรือตามหมู่บ้านเล็กๆ ถ้าอยากเช่า ก็มีด้วย ใช่ไหมพ่อ” พี่สาวแทรกอีกแระ

“ที่นี่มีบนเขาด้วยเหรอพ่อ”

“เมื่อคืนพ่อเห็นหมุดปักเต็มเลย แถวภูเขาในสก็อตแลนด์”

“แล้วถ้าเราไม่เอาทั้งวันได้ไหม”

“ต้องดูในเว็บ หาพวกที่เขาปล่อยเช่าชั่วโมงสองชั่วโมงก็มีแยะ”

“พ่อให้ผมไปเล่นยิงปืนได้ไหมพ่อ” ผมไม่รู้จะถามอะไรพ่อต่อ ก็พอดีพี่สมพงษ์ เจ้าของรถเดินมาพอดี และแล้ว....พ่อทักทาย พี่ทักทาย ผมหวัดดี พี่หวัดดี คืนกุญแจ เที่ยวไหนมาบ้าง หนุกไหม ขับดีไหม เครื่องแรงน๊ะ ไม่รวนเลย กินข้าวยัง อาหารอร่อยไหม อากาศหนาวแล้ว จะกลับเมื่อไหร่ พรุ่งนี้จะไปไหนกัน ไปโน่นสิ ไปนี่สิ ไซแอ้นมิวเซียม เด็กต้องชอบ กรีนวิชก็ดี ทอยมิวเซียมอย่าไป ช่วยฟีดแบ็คด้วย ช่วยด้วยน๊ะ อย่าลืมครับ เตือนพ่อด้วย ่พ่อขอตัว ผมหวัดดี พี่หวัดดี โชคดีน๊ะ ขอบคุณครับ เจอกันเมืองไทย....

“พ่อ ฟีดแบ็กคืออะไรเหรอพ่อ”

“เหมือนอีเบย์ ถ้าเราชอบพี่เขา ชอบรถพี่เขา ก็ให้ดาวไปตามนั้น กี่ดาวก็ให้ไป”

“ให้ดาวทำไมพ่อ”

“ความน่าเชื่อถือไง” พี่สาวชิงตอบอีกแล้ว “คนที่คิดจะมาเช่าต่อจากเรา จะได้เห็นว่ารถคันนี้น่าเช่า และเจ้าของไม่ค่อยเรื่องมาก อะไรแบบนี้ไง”

พ่อพยักหน้าเห็นด้วย พร้อมกับควักเงินให้คนละ 10 ปอนด์

“ไปแลกเหรียญ แล้วใครจะเล่นอะไรก็เล่น พ่อให้เท่านี้น๊ะ ถ้าเกินก็ออกเอง”

ผมเพิ่งรู้ว่าตรงนั้น คนเขาเรียกว่า “เลสเตอร์สแควร์”

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับควบ เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554

หมายเหตุ: บทความนี้ เป็นเรื่องสั้นที่ผมทดลองเขียนขึ้น โดยใช้เทคนิคทางวรรณกรรม เพียงแต่มันจะบอกเล่าเรื่องราวขององค์กรจริง เทรนด์จริง ตลอดจนกิจกรรมธุรกิจที่มีจริง ที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ผมเขียนมันขึ้นมาจากเรื่องที่รับรู้มาจริง หาข้อมูลมาจริง พูดคุยกับแหล่งข่าวมาจริงในฐานะนักข่าว และใช้หรือประสบกับตัวมาจริงในฐานะตัวละคร และจากสถานที่จริง ยกเว้นการดำเนินเรื่อง ที่บางทีผมได้อาศัยจินตนาการปะปนเพิ่มเติมเข้าไปกับเรื่องจริง ช่วงเวลาในจินตนาการปนกับช่วงเวลาจริง และบทบรรยาย Landscape ในบทความสุดท้าย ที่ผมเสริมแต่ง Landscape ในจินตนาการ ต่อเติมเข้าไปกับฉากสถานที่จริง (สถานที่ในสามบทความแรกเป็นฉากจริงไม่ได้แต่งเติม) เพื่อเร้าอารมณ์ โดยคิดว่ามันมิได้กระทบต่อแก่นสารสำคัญ หรือบิดเบือนความจริงของกิจกรรมที่ผมต้องการสื่อเลย
ตัวละครเกือบทุกตัวล้วนมีตัวตนจริง (ยกเว้นตัวละครประกอบบางตัวในบทความที่สามและบทความสุดท้าย) แต่ผมได้เปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่ ตามที่เห็นสมควร โดยบทสนทนาและบทรำพึงรำพันกับตัวเองในเชิงกระแสสำนึกนั้น ผมแต่งมันขึ้น เพื่อให้มีความงามตามสมควรในเชิงศิลปะ

หวังว่าท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำจะพอใจ และจะช่วยสร้างจินตนาการให้ท่านตามสมควร