วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

"นักทำดี" ไม่ใช่ "คนดี"



สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับมนุษย์ ก็คือการดำรงชีวิตให้ผ่านพ้นวันคืนไปโดยราบเรียบ และมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามสมควร

เพราะในความเป็นจริง มนุษย์มักอยากได้โน่นอยากได้นี่ มนุษย์อยากเป็นใหญ่เหนือคนทั้งปวง อยากจะมี อยากจะเป็น หรือบางกรณีก็ไม่อยากจะมีไม่อยากจะเป็น เช่นไม่อยากถูกเหยียด ไม่อยากเป็นแกะดำ หรือไม่อยากถูกไล่ล่า หรือถูกกันออกจากสังคมและพรรคพวกเพื่อนฝูง หลายต่อหลายครั้ง มนุษย์มักเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แล้วก็น้อยใจในโชคชะตา หรือเกิดความหวาดระแวงต่างๆ นาๆ เช่น หวาดระแวงว่าคนรักจะเป็นอื่น กลัวว่าลูกจะไม่รัก กลัวว่าจะไม่เป็นที่รักและเคารพของมวลชน กลัวสูญเสียอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ กลัวสิ่งที่มองไม่เห็นและยังมาไม่ถึง เบื่อหน่ายกับสิ่งที่ตัวมีตัวเป็น จนหวานอมขมกลืนต่อวิถีชีวิตประจำวัน ฯลฯ

บางทีแรงจูงใจที่กล่าวมานั้น ก็แอบทำงานภายใต้จิตสำนึกอย่างเงียบๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยเป็นเวลานาน จนชักจูงหรือนำพาให้มนุษย์กระทำในเรื่องซึ่งนำความอับอาย และอัปยศ อดสู มาสู่ตัวเอง บางคนก็กลายเป็นคนขี้โกง อยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตัว บางคนก็ชอบอวดอ้าง อวดร่ำอวดรวย บริโภคสิ่งของให้คนเห็นว่าเด่นดัง และบางคนก็แผลงฤทธิ์จนบ้านเมืองวุ่นวาย ผู้คนต้องเสียทรัพย์และสิ้นหวัง หดหู่ ฯลฯ

แต่ส่วนใหญ่ จะชอบคิด ชอบทำ ตามๆ กัน โดยไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง

ทว่า ตามประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตลอดมาทุกยุคทุกสมัย มักจะมีคนบางคนหรือบางพวกที่ต้องการ “อยากทำความดี” อย่างแรงกล้า และคนเหล่านี้ เมื่อมีโอกาสได้เป็นผู้นำ ก็มักจะคิดแทนคนอื่น ให้คนอื่น “ต้อง” เป็นคนดีด้วย บางทีถึงกับขีดเส้นหรือบังคับให้คนอื่นเดินตามทางที่ตนเองคิดว่ามันจะดีต่อคนเหล่านั้น ด้วยซ้ำไป

สำหรับคนเหล่านี้ โลกและสังคมที่เป็นอยู่ มักจะยัง “ไม่ดีพอ” !

สำหรับพวกเขาแล้ว โลกจะต้องดีกว่านี้ เขียวกว่านี้ บริสุทธิ์กว่านี้ สันติกว่านี้ มั่งคั่งกว่านี้ รักกันกว่านี้ เสรีกว่านี้ เท่าเทียมกว่านี้ พอเพียงกว่านี้ อดออมกว่านี้ ต้องมีคนดีมาปกครองมากกว่านี้ มีคุณธรรมกว่านี้ พูดความจริงกันยิ่งกว่านี้ มีความต้องการทางเพศกันน้อยลงกว่านี้ (เพราะเขาว่าโสเภณีมีมาก) พนันขันต่อกันน้อยลงกว่านี้ (เพราะมีบ่อนแยะ) ดื่มแอลกอฮอล์กันน้อยกว่านี้ และ ฯลฯ

ตอนที่ Ronald Reagan ประกาศนโยบาย Star Wars ก็ว่าต้องการให้ผู้คนในโลกปลอดพ้นจากอาณาจักรปีศาจหรือ “Evil Empire” ที่เขาหมายถึงสหภาพโซเวียตในขณะนั้น

หรืออย่างที่ George Bush, Jr. ประกาศว่าจะบุกอัฟกานิสถาน ก็เพื่อปลดปล่อยชาวอัฟริกันจากปีศาจตอลิบัน “We are all alone in the universe, and only we can determine what is good and what is evil.” เขากล่าวก่อนบุก

หรืออย่างที่เขาเชื่อว่าได้ปลดปล่อยชาวอิรักจากเผด็จการซัดดัม ฮุสเซน เขาก็กล่าวกับ Condoleezza Rice ว่า “Let Freedom Reign” ทันทีที่รู้ว่ากองทัพสหรัฐฯ ยึดแบกแดดได้สำเร็จ

เหล่านี้ เป็นตัวอย่างเพียงบางเสี้ยวของ “นักทำดี”

เมืองไทยเรา นับเป็นดินแดนที่เปิดโอกาสอย่างมากให้กับ “นักทำดี” เพราะเรามีศาสนาประจำชาติเป็นเงื่อนไขให้ผู้นำและชนชั้นนำต้องเป็น “คนดี”

โอกาสที่ “คนดี” จะได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นผู้นำในสังคมไทย มีสูงกว่าคนประเภทอื่น เช่น คนเก่ง คนขยัน คนทำงานหนัก คนทำงานมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล หรือมี Productivity สูง

เหล่านี้ ส่งผลให้ชนชั้นนำมักวางตนต่อสาธารณะว่าเป็น “นักทำดี” เพราะพวกเขาเชื่อว่า สาธารณะชนให้คุณค่าแค่นั้น และจะไม่สนใจเลยไปกว่านี้ ว่าในทางส่วนตัวของพวกเขาจะกลับตาลปัตรอย่างไร (เช่น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ประกาศว่าตัวเองยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศนำทาง ทว่ารัฐบาลของตัวกลับดำเนินนโยบายการคลังขาดดุล--พูดแบบชาวบ้านก็หมายความว่า รายจ่ายมากกว่ารายรับ—หรือนักธุรกิจใหญ่ที่พูดเสมอว่าเมืองไทยนี้ดี จะขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารไปจนชั่วกัลปาวสาน แต่ก็แอบถือพาสปอร์ตกันคนละสองสามเล่ม, หรืออย่างนายทหารใหญ่ที่ปากว่ารักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างแรงกล้า สามารถสละแม้กระทั่งชีพเพื่อปกป้องสถาบันหลัก แต่ก็แอบซื้อบ้านไว้ในต่างประเทศพร้อมจะหนีอยู่ตลอดเวลาเมื่อถึงคราวคับขัน, หรืออย่างผู้นำมวลชนหรือคอลัมนิสต์ที่ประกาศปาวๆ ให้ผู้คนเสียสละ แม้จะต้องรบกับต่างชาติเพื่อปกป้องดินแดนก็ต้องทำ แต่แอบจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ลูกชายปลอดพ้นจากการคัดเลือกทหาร, หรืออย่างนักอนุรักษ์ที่เรียกร้องให้ปลูกต้นไม้เพื่อกู้โลก ทว่า ตั้งแต่เกิดมาตัวเองก็ไม่เคยปลูกต้นไม้เลย แถมยังปลูกต้นไม้และดูแลต้นไม้ไม่เป็นเอาเสียเลย, หรืออย่างทนายสิทธิมนุษยชนที่เอาเปรียบภรรยาตัวเองอย่างมาก, หรือแม้กระทั่งนักการเมืองและวิชาการที่เสนอว่าประเทศต้องเดินไปทางโน้นทางนี้ มีกลยุทธ์อย่างนั้นอย่างนี้ มีความคิดสร้างสรรค์แบบนั้นแบบนี้ แต่ตัวเองกลับลอกๆ ความคิดและคำพูดของฝรั่งมาพูดและเขียนอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น)

ผมสังเกตเอาเองว่า ระยะหลัง Market Share ของ “คนดี” ในสังคมไทยเริ่มลดลง (ไม่เชื่อก็ลองสังเกตดูอิทธิพลของหัวขบวนบางท่านของบรรดาคนดีอย่าง "พลเมืองอาวุโส" หรือ "สี่เสาเทเวศร์" เป็นต้น)

ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชนชั้นกลาง (บางส่วน) และชนชั้นล่าง (ส่วนใหญ่) เริ่มไม่แน่ใจต่อเจตนาและปฏิปทาของคนเหล่านั้น ว่าพวกท่านเป็น "คนดี" จริงๆ หรือเป็นแต่เพียง "นักทำดี" กันแน่ (สำหรับชนชั้นปกครองนั้นมักจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่แล้ว) ทั้งนี้เพราะปัจจุบันพวกเขาสามารถเข้าถึงข่าวสาร ข้อมูล ข้อคิด ความเห็น อย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เดี๋ยวนี้ แม้แต่ชนชั้นล่างประเภทหาเช้ากินค่ำและลูกหลานของพวกเขา ก็ “Go Online” กันแล้ว

ที่พูดนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมชอบหรือไม่ชอบ “คนดี” หรือคิดว่าคนเหล่านั้นเป็นคนไม่ดีจริงอย่างที่สร้างภาพหรือเป็นคนไม่มีประโยชน์ ผมเพียงแต่บอก Observation ของผมในฐานะนักเขียนที่ชอบสังเกตการณ์สังคมไทยคนหนึ่ง

แม้แต่ความคิดเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นความคิดที่สมเหตุสมผล และ Associated กับพระมหากษัตริย์พระองค์ซึ่งเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทยมากที่สุด ก็ยังมีมาร์เก็ตแชร์น้อยมากในหมู่ชนชั้นล่าง ผมได้พูดคุยกับคนชั้นล่างจำนวนมาก และพบว่าคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” สำหรับพวกเขาแล้ว มักมีความหมายในเชิงลบ แม้พวกเขาจะรัก เคารพ และเทิดทูน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างมากก็ตาม

พวกเขาบางคนบอกกับผมว่า บุคคลสำคัญส่วนใหญ่ (ไม่นับองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์) ที่มักออกมาพูดหรือมาสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มักเดินทางไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ ด้วย Mercedes หรือ BMW บางทีก็มีตำรวจล้อมหน้าล้อมหลัง คอยปิดถนน และใส่นาฬิกาเรือนละเป็นหมึ่นเป็นแสน อยู่บ้านหลังละหลายล้าน ถือครองที่ดินกันคนละหลายสิบไร่ มีเงินในธนาคารเป็นล้านๆ ทำงานในห้องแอร์ อีกทั้งตัวเองและลูกหลานยังเรียนหรือเคยเรียนที่ต่างประเทศอีกด้วย

สมัย "เขายายเที่ยง" (ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่ม “คนดี”) ผมเคยคุยกับคนชั้นกลางคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในย่านเดียวกับนายกรัฐมนตรี เธอว่าเธอต้องตื่นแต่เช้า นั่งมอเตอร์ไซด์ออกมาเพื่อต่อเรือ เสร็จแล้วก็ต่อรถเมล์อีกสองต่อ กว่าจะถึงที่ทำงานทุกวัน

เธอบอกกับผมว่า ถ้านายกรัฐมนตรีลองทำแบบนั้นบ้าง นั่งมอเตอร์ไซด์ไปต่อเรือแล้วค่อยต่อรถเมล์ แล้วพอถึงทำเนียบฯ ก็เปิดพัดลม อย่าเปิดแอร์ “เขาก็จะรู้เองว่า ชีวิตนี้มันยังพอเพียงไม่ได้ มันต้องดิ้นรนให้ชีวิตดีขึ้น จะได้สบายตามสมควร” เธอว่างั้น

คนชั้นกลางสมัยนี้ ยังทราบอีกว่าชนชั้นปกครองบางคนที่เน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและคุณธรรมอยู่ตลอดเวลานั้น ในขณะเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการที่ทำลายสภาพแวดล้อมอย่างหนัก หรือเกี่ยวข้องกับนักธุรกิจที่ต้องเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างมโหฬาร และค้าของมึนเมาให้กับชนชั้นล่าง เป็นต้น

เหล่านี้แหละ ที่ทำให้มาร์เก็ตแชร์ของ “เศรษฐกิจพอเพียง” หดตัวลงในหมู่ชนเหล่านั้น

โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” และเห็นว่าผู้นำของเราควรเป็นคนดี มีจิตใจเสียสละ เก่ง และมีเจตนาที่จะสร้างความอุดมบริบูรณ์ให้กับราษฎรอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชักและไม่เลือกชนชั้น แต่ผมไม่เห็นด้วยว่าพวกเราควรจะให้ความสำคัญกับ “นักทำดี” จนเกินเหตุ เพราะแม้ “นักทำดี” บางคนจะเป็นคนดี แต่ผมก็ยังคิดว่า “นักทำดี” จำนวนมากอาจไม่ใช่ “คนดี” ที่มีคุณธรรมเป็นเครื่องชี้นำชีวิตก็ได้ เพราะคนดีที่มีคุณธรรมประจำใจที่แท้นั้น มักทำตัวเงียบๆ ฝึกฝนตนเอง ยกระดับจิตใจตนเอง เคารพเพื่อนบ้าน ต้อนรับผู้คนด้วยใจเมตตาอย่างเท่าเทียมกัน ปฏิบัติกับคนรอบข้างด้วยความเข้าอกเข้าใจและหวังดี ทำงานอย่างมีความสุข ไม่เกียจคร้าน และเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นได้เอาอย่างหรือดำเนินชีวิตตาม คนเหล่านี้แหละที่เป็นเสมือน “แสงสว่าง” ส่องนำทางให้คนอื่น

ตรงข้ามกับ “นักทำดีสาธารณะ” ที่จำเป็นต้องพูดโกหก หรือพูดความจริงไม่ครบ และต้องแสดงละคร จนบางครั้งต้องยิ่งใหญ่เป็น Public Spectacle ซึ่งมักจบลงด้วยความเศร้า และความทุกข์ยากของราษฎร

ผมอยากจะจบบทความนี้ด้วยการยกคำสนทนาในภาพยนตร์เรื่อง Downfall (ซึ่งสร้างได้ดีมาก) ระหว่าง Adolf Hitler ซึ่งเป็น “นักทำดีสาธารณะ” คนสำคัญของเยอรมนี พูดกับบรรดาคนใกล้ชิดในบังเกอร์ที่เขตปรัชเซียตะวันออก ในช่วงสุดท้ายก่อนที่เขาและภรรยาจะสังหารตัวเองและกองทัพแดงของรัสเซียจะยึดเบอร์ลินสำเร็จ ว่า:

“I have devoted my entire life to making the world a better place,…….” เขากล่าว

“But, mein Fuhrer, Berlin is nearly surrounded. We have no more ammunition. We must try to negotiate.” นายพลของเขาคนหนึ่งกล่าวขึ้น

“You, too? I am surrounded by incompetents and traitors. We can never surrender. I’d rather put a bullet into my head. We have done all we could, so far. We must go all the way—to the end, if that is what is coming.” ฮิตเลอร์ตะคอกใส่อย่างมีอารมณ์

“But, mein Fuhrer, think of the suffering of the German people.” นายพลอีกคนกล่าวขึ้น

ฮิตเลอร์กลับตอบอย่างสีหน้าราบเรียบว่า “You want me to have compassion? My work was too important to let compassion or any personal motives interfere. So, don’t expect me to be compassionate now. And besides, the German people deserve to die, too; they let me down. They aren’t worthy of the great new world we were offering them.”………………..


ท่านผู้อ่านครับ พึงตรวจสอบและระมัดระวังบรรดา “นักทำดี” ไว้บ้าง ก็จะดีน๊ะครับ เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือกคนเหล่านี้ขึ้นมาปกครองประเทศ !


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 ธันวาคม 2552
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552

(รูปประกอบจาก www.tnews.co.th)

จัดทัพ


ชุด "สงครามกลางเมือง" Trilogy, Part III

การเขียนเป็นเรื่องยาก ยิ่งงานเขียนที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเข้าประกอบในดีกรีที่มากด้วยแล้ว ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

โดยส่วนตัว ผมจึงนับถือกวีและผู้ประพันธ์ผลงานวรรณกรรมชั้นยอดทั้งหลาย ขนาดผมเขียนเพียงบทบรรณาธิการหรือคอลัมน์สั้นๆ ยังรู้สึกว่าตัวเองต้องใช้ความพยายามอย่างมากในแต่ละเดือน

ยิ่งสมัยนี้ ผู้อ่านสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล ข้อเขียน และความคิดเห็นจำนวนมากในอินเทอร์เน็ตได้โดยง่ายและฟรี พวกผมที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนและแสดงความเห็นโดยการเรียงร้อยอักษร เลือกสรรคำ และจัดเรียงประโยค จึงต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่าตัว เพราะผมรู้ว่า “การอ่าน” เป็นความทรมานอย่างหนึ่ง มันกินพลังงานอย่างมหาศาล ทั้งกายและสมอง ฉะนั้น หากต้องเผชิญกับบทความประเภท “ขยะ” จึงนับเป็นความบัดซบสิ้นดี และสุดท้าย ท่านผู้อ่านก็คงจะไม่กลับมาซื้อนิตยสารฉบับนี้อ่านกันอีกทุกเดือน หรือท่านสมาชิกก็คงจะไม่ยอมต่ออายุอีกในปีถัดไป

พวกผมย่อมต้องระมัดระวังอย่างมากมิให้ตัวเองกลายเป็นสาเหตุของความบัดซบดังว่า ต้องหาทางอยู่เสมอให้ข้อเขียนของตน “โดน” คือถ้าไม่บอกข้อมูลใหม่ ก็ต้องแสดงวิธีวิเคราะห์ที่ลึกซึ้ง หรือไม่ก็ต้องกระตุ้นความคิด ยั่วให้แย้ง อ่านแล้วเพิ่มพูนความรู้ และอ่านสนุก เกิดความบันเทิง

ผมทราบว่าสมาชิกและผู้อ่านส่วนใหญ่ของเราเป็นนักธุรกิจ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือไม่ก็เป็นคณาจารย์และนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา และเมื่อดูจาก Profile แล้ว ก็ทราบว่ามีจำนวนมากทีเดียวที่อยู่ในตำแหน่งบริหารหรือร่วมชี้นำองค์กรของตนๆ

ผมได้สอบถามไปยังท่านเหล่านั้นหลายท่านเพื่อขอความเห็นมาปรับปรุงหนังสือสำหรับปีหน้า และได้ถือโอกาสถามว่าทำไมพวกท่านยังคงสละเวลาอันมีค่ามาทนอ่านข้อเขียนของผมอยู่ ก็เลยทราบจุดเด่นของตัวเองในสายตาผู้อ่าน ว่าข้อเขียนมันมีลักษณะยั่วให้คิดโดยเฉพาะในมุมที่เขาไม่เคยคิดถึงมาก่อน และสามารถช่วยให้พวกเขาอ่านแนวโน้มสำคัญๆ ได้จากการสังเกตเรื่องราวต่างๆ รอบตัว โดยนำเอามาต่อเข้าด้วยกันแล้วกุมกันขึ้นบนพื้นฐานของความรู้เชิงธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง และประวัติศาสตร์ จนมองเห็นเป็นแนวโน้มสำคัญของโลกและสังคมไทยได้ในแต่ละช่วง ซึ่งข้อคิดและความเห็นประเภทนี้มักเป็นประโยชน์กับบรรดาผู้นำที่ชะตากรรมของพวกท่าน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการมองให้เห็นภาพรวมและต้องทะลุออกไปในอนาคตให้ได้ด้วย

พวกท่านนำเอา Analysis ของผมไปเป็นของท่านแล้วช่วยให้ท่านสามารถ “ต่อยอด” ออกไปได้ในแนวทางของตนเอง พวกท่านนำเอาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผมไปเสริมกับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของตัวเอง แล้วประยุกต์ให้เข้ากับจุดยืนของท่าน อุตสาหกรรมของท่าน องค์กรของท่าน งานการของท่าน และชีวิตของท่าน

เมื่อฟังแล้วกลับมาคิด ผมรู้สึกตัวเองเหมือน “หมอดู” ยังไงชอบกล แล้วก็กลับเป็นทุกข์ เพราะกังวลว่าแนวโน้มสำคัญบางเรื่องที่เคยพยากรณ์ไว้จะเป็นจริง โดยเฉพาะเรื่องสงครามกลางเมือง (ดู “ท่ามกลางความกลัว” และ “ตำนานสงครามกลางเมือง ฆ่ากันแล้วก็จบกันไป?”, นิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 หน้า 56-83)

ระยะหลังผมหันมาสนใจและกำลังวิจัยถึงปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความรุ่งเรืองและล่มสลายของเมืองหรืออาณาจักรตลอดจนย่านสำคัญๆ ต่างๆ ในอดีตและปัจจุบัน เพื่อจะเข้าใจอนาคต หลายปีมานี้ ผมได้เดินทางและเก็บข้อมูล หรือไม่ก็อ่านเอกสารสำคัญเกี่ยวกับโรม เชียงใหม่ ลพบุรี อยุธยา นครวัด ปารีส นิวยอร์ก ภูเก็ต เว้ ดานัง ฮ่องกง สิงค์โปร เซี่ยงไฮ้ มะละกา ปัตตาเวีย แบกแดด มัดราส อเล็กซานเดรีย เอเธนส์ เวนีส อามสเตอร์ดัมส์ ลอนดอน ตลอดจน Cote D’Azur, California, Torremolinos, Fort Lauderdale, Boca Raton, Montenegro, และ British Empire เป็นต้น อันนี้ยังไม่นับกรุงเทพฯ และย่านสุขุมวิทหรือเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งต้องปะทะกันทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว (อีกไม่นาน ผมจะเขียน Cover Story อันเนื่องมาแต่ความรู้เหล่านี้ให้ได้อ่านกัน ขอให้ท่านอดใจรอ)

นั่นทำให้ผมรู้ว่า สงครามกลางเมืองและสงครามกับเพื่อนบ้านและผู้รุกราน (หรือหลายกรณีก็เป็นการรุกรานคนอื่น) เป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เมืองหรืออาณาจักรใหญ่น้อยในอดีตถึงกาลล่มสลาย

แม้แต่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มากๆ อย่าง Roman Empire และ British Empire ก็ถูกกรัดกร่อนด้วยความยโส บริโภคและใช้จ่ายเกินตัว ตลอดจนภาวะสงคราม โดยเฉพาะสงครามที่ก่อขึ้นเพื่อรุกรานหรือยึดครองพื้นที่อื่นของชนกลุ่มอื่น และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังสลัดไม่หลุด จนเป็นภาระต่อการคลังและทรัพย์ของอาณาจักร และเพาะศัตรูขึ้นทั่วไปโดยไม่รู้ตัว (อันนี้จะคล้ายๆ กับสหรัฐฯ ปัจจุบัน ที่การก่อสงครามในอัฟริกานิสถานและอิรักชักจะเป็นปัญหาพัวพันไม่สิ้นสุด) หรืออย่าง British Empire ก็ล่มสลายไปเพราะสงครามใหญ่สองครั้งที่ทำลายยุโรปทั้งยุโรป และทำให้ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่เคยยิ่งใหญ่มาก กลายเป็นประเทศไก่รองบ่อนของสหรัฐฯ และรัสเซียไปเลย

ผู้อ่านจำนวนมากคงจะไม่รู้จัก Merv, Fez, Cordoba, Ctesiphon, Akkad, Lagash, Ur, Thebes, Antioch, Antwerp, Potosi, Tyrus, Sidon, Carthage, Gades, Aden, Lubeck, Bruges, Cadiz หรือ Famagusta ทั้งๆ ที่เมืองเหล่านี้เคยเป็นเมืองที่มั่งคั่งและยิ่งใหญ่มาก่อน

ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้ว่า ฉางอัน หรือ หางโจว นั้น เคยยิ่งใหญ่กว่าเซี่ยงไฮ้หรือแม้กระทั่งปักกิ่งเสียซ้ำ หรือสมัยที่ Los Angeles และ California ยังเป็นวุ้นอยู่นั้น เมืองสำคัญของสหรัฐฯ ในยุคแรกกลับเป็น Boston, Philadelphia, New York, Baltimore, Salem, Charleston, Newport, Providence, New Haven, New London, และ Norwich โดย Boston นั้นครองความยิ่งใหญ่มาจนถึงปี 1760 จึงเสียมงกุฎให้กับ New York ไป ท่านที่คุ้นเคยกับประเทศสหรัฐฯ และประวัติศาสตร์ของเขา ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับปัจจุบันดูก็ได้ว่าหลายเมืองที่กล่าวมานั้น หมดความสำคัญลงไปแล้วโดยสิ้นเชิงหรือไม่ อย่างไร

ความรู้เหล่านี้ ทำให้ผมคิดหนัก หากไทยต้องเข้าสงครามกับเขมร หรือคู่ขัดแย้งสำคัญทางการเมืองของไทยจะใช้วิธีก่อสงครามกลางเมืองกันอีก

เพราะสำหรับผมแล้ว ความขัดแย้งกับเขมรมันไม่ใช่เรื่องเขาพระวิหาร แต่เป็นเรื่องตกค้างที่อยู่ในใจซึ่งกันและกัน นอนอยู่ลึกๆ อย่างนั้นมานานแล้ว ผมว่าแม้เราจะรบกันให้พินาศย่อยยับไปข้างหนึ่ง ความเกลียดและความหมั่นไส้อันนั้นมันก็จะยังคงอยู่เหมือนเก่า ซ้ำร้ายจะหนักกว่าเก่า ทำให้ความขัดแย้งยังคงอยู่ ผมว่าสงครามจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะ “รบกันเสร็จแล้ว ก็ไม่ต่างไปจากเดิม” สู้หาทางแก้ไขด้วยสันติวิธีดีกว่า จะได้ไม่สูญเสียกันทั้งสองฝ่าย เพราะยังไง เราทั้งสองฝ่ายก็เคยพิสูจน์กันแล้วไม่ใช่หรือ ว่าสามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติมาได้เป็นเวลานาน แม้จะเกลียดกันปานใดก็ตาม

อันที่จริง ชาวนาที่ศรีสะเกษและคนอีสานจำนวนไม่น้อย ก็เคยสูญเสียที่ดินหรือดินแดนซึ่งตนหวงแหนให้แก่คนอื่นมามากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้านายทุนเชื้อสายจีนทั้งจากกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ หรือเสียไปให้กับธนาคารพาณิชย์ซึ่งอาศัยระบบจดจำนองและดอกเบี้ยอันยอกย้อน ยึดเอาที่ดินผืนงามของชาวบ้านมาเป็นของตัวแบบถูกกฎหมาย โดยทำกันอย่างนี้มานานแสนนาน จนคนอีสานยากจะลืมตาอ้าปากได้ (แม้แต่ชาวประมงภูเก็ต สมุย หรือหัวหิน ต่างก็สูญเสียที่ดินให้แก่ฝรั่ง จีนแผ่นดินใหญ่ แขกจากตะวันออกกลาง และจีนสิงคโปร์กันมาก โดยได้มูลค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด)

ผมไม่เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเดือดเนื้อร้อนใจอันใดเลย...........ไม่มีม็อบ ไม่มีความเห็นของคอลัมนิสต์ใหญ่ ไม่มีความเห็นจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล จากกองทัพ หรือจากพรรคการเมืองของคนอีสานเอง............เงียบสนิท

แต่พอเป็นคนเขมร เท่านั้นแหละ...ม็อบ ทูต นายกรัฐมนตรี อดีตแม่ทัพนายกอง พรรคการเมืองใหม่ วุฒิสมาชิก คอลัมนิสต์น้อยใหญ่ ต่างดาหน้ากันมาด่าว่าผู้นำเขมร จัดม็อบบุก ตัดทุนนักเรียนเขมร ยกเลิก MOU ตรึงกำลังทหาร ปิดด่าน งดค้าขาย ปิดทางนักพนันเข้าบ่อน ฯลฯ

ผมว่า คนไทยเราค่อนข้างจะ Selective เกินไปหน่อย เมื่อพิจารณาเรื่องการสูญเสียดินแดนอันเป็นที่รัก เพราะดูเหมือนเราจะชอบให้คนไทยปล้นกันเอง หรือถูกจีนปล้น ฝรั่งปล้น มากกว่าที่จะให้เขมรปล้น (คุณสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เคยให้ข้อมูลว่าการถือครองที่ดินของคนไทยประมาณ 75% ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และ 90% ของคนไทยทั้งประเทศ ถือครองที่ดินกันรายละไม่ถึง 1 ไร่ ส่วนอีก 10% กลับถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ นับว่าการครอบครองดินแดนไทยนั้นมีความเหลื่อมล้ำกันมาก)

ส่วนที่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในขณะนี้ จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่หลายคนคงคาดเดาได้เองแล้ว ทว่า ตราบใดที่ทหารในกองทัพไทยไม่แตกแยกกันชนิดแบ่งฝ่ายเข้ารบพุ่งกันเองแล้ว สงครามกลางเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ก็คงจะไม่ยืดเยื้อ เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งมีอาวุธหนักครบมือ เข้าพันตูกับฝ่ายที่ไม่มีอาวุธ การสู้รบย่อมจบเร็ว แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างมีอาวุธก้ำกึ่งกัน สงครามย่อมจะยืดเยื้อ

ผมไม่แน่ใจว่า ขณะนี้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งประกอบไปด้วยนายทหารนอกราชการจำนวนมาก กำลังสะสมอาวุธและซุ่มฝึกกองกำลังที่เชี่ยวชาญการใช้อาวุธเหล่านั้นกันด้วยหรือไม่

อีกอย่าง ผมก็ไม่แน่ใจว่าคุณทักษิณแกคิดลึกซึ้งไปกว่าที่เห็นกันหรือเปล่า เพราะถ้าแกเกิดขอให้ท่านฮุนเซนออกหน้าแทน ไปติดต่อขอซื้อนิวเคลียร์กันมาแบบลับๆ เอามาตั้งในเขมรแล้วเล็งมายังสถานที่พำนักของบุคคลสำคัญในกรุงเทพฯ เพื่อต่อรองทางการเมือง.....ซึ่งถ้าเป็นอย่างที่ผมจินตนาการมานี้ ผมว่ามันจะยุ่งมากเลยแหละ

เรื่องทำนองนี้ มิใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียเลยทีเดียว ดร. ปรีชา ทิวะหุต ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ผมนับถือและรอบรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้ง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับฝรั่งเศส เคยเล่าให้ฟังว่าฝรั่งเศสเองก็มีขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ และมีเพียงอันเดียว ไม่จำเป็นต้องมีหัวรบมากมายก่ายกองอย่างสหรัฐฯ หรือรัสเซีย ทว่า ฝรั่งเศสติดตั้งมันไว้ในเรือดำน้ำ โดยให้เรือดำน้ำลำนั้นแล่นไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับที่ เพียงแค่นี้ก็เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับฝรั่งเศสมากโขอยู่

คุณทักษิณเอง ก็เคยเรียนโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยตำรวจมาก่อน คงต้องรู้วิธีเตรียมตัวเข้าสู่ศึกสงครามและการจัดทัพ ไม่มากก็น้อย

ตัวแปรที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือ “ม็อบ”

ความเข้มแข็งและเหนียวแน่นของ “ม็อบ” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกำหนดว่าสงครามกลางเมืองที่อาจเกิดขึ้นนั้น จะรุนแรงมากน้อยเพียงใด หลายปีมานี้ “ม็อบ” ในเมืองไทยก้าวหน้าไปมาก ทั้งในแง่การจัดการ การระดมทุน ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี และอุดมการณ์ ในขณะที่ฝ่ายบ้านเมือง ผู้ต้องรับมือกับม็อบหรือผู้ปราบม็อบ ก้าวหน้าไปน้อยมาก ไม่ว่าจะในแง่ของกำลังพล ยุทธวิธี และเครื่องไม้เครื่องมือ

ม็อบของทุกฝ่าย ต่างมีหนังสือพิมพ์ มีสถานีวิทยุ มีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง มีกองกำลังของตัวเอง หรือแม้กระทั่งมีพรรคการเมืองและแนวร่วมเป็นของตัวเองด้วย โดยที่ในสถานการณ์ปกติพรรคการเมืองจะทำตัวเป็นองค์กรนำของม็อบ แต่ในสถานการณ์สงครามม็อบก็จะกลับเป็นองค์กรนำของพรรคการเมือง

ม็อบมีทั้งคุณและโทษ การปฏิวัติฝรั่งเศสสำเร็จก็เพราะม็อบ และล้มเหลวก็เพราะม็อบอีกเช่นกัน การล้มระบอบเผด็จการทหารสมัย 14 ตุลาคม 2516 สำเร็จได้ก็เพราะว่าม็อบมีส่วนมากอยู่ และความรุนแรงระหว่างปี 2517-2519 ส่วนหนึ่งก็เพราะม็อบอีกเช่นกัน Liddell Hart นักการทหารเชิงยุทธ์คนสำคัญของฝรั่ง เคยบอกว่าม็อบคือสิ่งที่ผู้บัญชาการทหารทุกคนกลัว

ความน่ากลัวของม็อบคือ “มันไม่มีความยั้งคิด หรือมันไม่ทันจะคิด” เพราะข้อมูลที่ม็อบได้รับ ณ ตอนนั้น มันไม่เพียงพอให้พวกเขาได้คิด และส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อมูลด้านเดียว

ม็อบมีความ “รู้สึก”...รัก เกลียด ชิงชัง เคียดแค้น บูชา....และ ม็อบชอบ “ลงมือกระทำ”....บุก ล้อม เผา ทุบ ทำลาย สรรเสริญ เก็บกวาด โห่ร้อง......ฯลฯ แต่ม็อบมัก “ไม่คิด” และ “ไม่ใช้เหตุผล”

ก่อนกระทำการ ม็อบจะไม่ฉุกคิดถามตัวเอง......ไปกินไปนอนไปฟังเพลงในสนามบินจนเครื่องบินลงไม่ได้แบบนั้น แล้วเด็กหรือคนป่วยที่ติดอยู่ต่างประเทศจะกลับบ้านยังไง......เอารถขนแก๊สขนาดใหญ่ไปจอดไว้ใกล้กับแฟลตที่มีคนอยู่จำนวนมากแล้วเปิดให้แก๊สคลุ้งออกมาแบบนั้นมันจะระเบิดเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนเหล่านั้นหรือไม่.....ไปปิดล้อมถนนอยู่แบบนั้นเป็นเดือนๆ ผู้คนที่เคยสัญจรไปมาแถบนั้น จะเดือดร้อนหรือไม่เพียงใด.....ไปตั้งขบวนอยู่หน้าบ้านคนแก่แล้วตระโกนด่าแบบสาดเสียเทเสียผ่านเครื่องขยายเสียงทั้งวันทั้งคืนแบบนั้น มันจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ใครบ้างหรือไม่.....ไปชักจูงคนมายัดเยียดอยู่กันเป็นจำนวนมากแบบนั้น มันต้องเสี่ยงต่อชีวิตพวกเขาอยู่แล้ว ทั้งโรคภัยและต่อการถูกปราบถูกถล่ม และถ้าพวกเขาตายหรือพิการ ญาติพี่น้องจะเสียใจเพียงใด ลูกหลานจะหันไปพึ่งใคร แล้วถ้าคนที่ตายหรือพิการนั้นเป็นตัวเรา จะสำนึกเสียใจไหม หรือจะเกิดผลพวงอะไรตามมากับคนรอบข้าง ฯลฯ.....(ผู้สนใจเรื่องม็อบและการก่อม็อบอย่างจริงจัง ผมแนะนำให้อ่านงานคลาสสิกสองชิ้นคือ The Crowd: A Study of the Popular Mind โดย Gustave Le Bon, และ Extraordinary Popular Delusions and the Madness of Crowds โดย Charles MacKay)

เหล่านี้เองที่ทำให้ม็อบมีความน่าสะพรึงกลัว และถ้าม็อบของทั้งสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างเข้มแข็ง ก็ยิ่งจะทำให้สงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนาน และก่อความเสียหายได้มาก

ผมเชื่อว่าขณะนี้ ทุกฝ่ายต่างกำลังจัดทัพของตัวเอง ทั้งในแง่อาวุธยุโธปกรณ์ กำลังพล ม็อบ พรรคการเมือง หัวคะแนน และแนวร่วม รอวันที่จะต้องช่วงชิงอำนาจรัฐคราวต่อๆ ไป ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชันษายิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็จะเข้มข้นขึ้นเป็นเงาตามตัว เหมือนภูเขาไฟที่รอวันปะทุ

ผมภาวนาไว้อย่างเดียวว่า หากสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นจริง มันจะไม่สร้างความเสียหายจนถึงขึ้นที่อารยะธรรมต้องล่มสลาย แล้วสิ่งที่เข้ามาแทนจะเลวร้ายกว่าเดิม....Fascism, Nazism, Militarism, Absolute Monarchy, Nationalism, Maoism, Republic, Unionism, Stalinism, Troskyite, Pol-Pot-styled Regime….?

ผมเคยทำ Scenario Analysis ส่วนตัวไว้คร่าวๆ แล้วว่าในอนาคต ระบบเศรษฐกิจไทยจะวางอยู่ตรงไหน ระหว่างทุนนิยมสุดขั้วแบบสหรัฐฯ ในยุคหลัง กับสังคมนิยมสุดขั้วแบบจีนสมัยเหมาเจ๋อตง หรือจะเป็นรัฐพอเพียงในความหมายแคบแบบพม่า ลาว และคิวบา

แล้วผมจะเล่าให้ฟังทีหลัง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
10 พฤศจิกายน 2552
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2552

ตำนานสงครามกลางเมือง ฆ่ากันแล้วก็ยังไม่จบ

ชุด "สงครามกลางเมือง" Trilogy, Part II


IN WAR : RESOLUTION
IN DEFEAT : DEFIANCE
IN VICTORY : MAGNANIMITY
IN PEACE : GOODWILL

Winston Churchill
The Second World War Volume I: The Gathering Storm, 1st Edition 1948)


สงครามกลางเมืองและการลุกขึ้นสู้ของประชาชนต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครองที่กดขี่นั้น มีมาช้านานและมีขึ้นเป็นช่วงๆ ถี่ห่างตามแต่ยุคสมัย นับแต่เริ่มมีการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์อย่างเป็นจริงเป็นจังที่อียิปต์โบราณ จีนโบราณ เปอร์เซีย และอินเดียโบราณ ไล่เรียงมาจนถึงกรีก โรมัน ยุโรป อเมริกา อัฟริกา และเอเชีย ก็เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ตลอดมาทุกศตวรรษ แทบไม่เคยว่างเว้น

แม้ในรอบร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง ก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายสิบระรอกทั่วโลก บางระรอกก็เกิดลุกลามกลายเป็นสงครามโลกก็มี

เฉพาะในเมืองไทยเอง การสู้รบอย่างเปิดเผยระหว่างรัฐบาลกับกองทัพปลดแอกประชาชน (ทปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ก็มีขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องยาวนาน เป็นเวลาร่วมสองทศวรรษ โดยที่บรรดานักการเมือง นักธุรกิจ นักกิจกรรมสังคมขององค์กรเอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวชั้นนำ หลายคนในปัจจุบัน ก็เคยเข้าร่วมกับฝ่าย พคท. ก่อสงครามกลางเมืองกันมาแล้ว

อันนี้ยังไม่นับการปะทะกันอย่างรุนแรงบนท้องถนนราชดำเนิน และการล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือทำเนียบรัฐบาล ในการลุกขึ้นสู้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖, ๒๕๑๙, ๒๕๓๕, และ ๒๕๕๑

MBA เห็นว่า สงครามกลางเมืองใหญ่ของโลกบางระรอก เป็นเรื่องที่คนไทยปัจจุบันต้องรู้ อย่างน้อยเพื่อเตือนสติตัวเอง และรู้เท่าทันเหตุปัจจัยของการเกิด-ดับ ของความขัดแย้ง อันนำไปสู่-ดำรงอยู่-และสิ้นสุด ของสงครามแต่ละครั้ง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ และผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากสงครามสิ้นสุดลง


กรีกฆ่ากรีก

แต่ไหนแต่ไรมา ก่อนการปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส (French Revolution) มนุษย์เราส่วนมากถูกปกครองโดยคนจำนวนหยิบมือ ทั้งที่เรียกกันภายหลังว่า นายทาสบ้าง เจ้าที่ดินบ้าง พระบ้าง เจ้าบ้าง ขุนนางบ้าง อำมาตย์บ้าง อีกทั้งยังสืบทอดอำนาจกันเองเป็นรุ่นๆ หลายชั่วอายุคน

จึงไม่แปลกที่ผู้ปกครองเหล่านั้นจะ Manage ไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องกีดกันและเอาเปรียบคนจำนวนมาก ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงอำนาจหรืออยู่ภายในรัศมีของการเมืองการปกครอง

ระบบปกครองแบบประชาธิปไตยที่อนุญาตให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงแบบเท่าเทียมกัน อย่างเรารู้จักกันในโลกปัจจุบันนี้ เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน แม้ในสมัยกรีกโบราณ ที่อ้างกันว่าเป็นปฐมรัฐที่คิดค้นประชาธิปไตยขึ้น ก็มีนักประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงระหว่างที่เกิดสงคราม Peloponnesian War (ปี 431-404 B.C.) ประชากรทั้งหมดประมาณ 315,000 ของแคว้น Attica นั้น เป็นทาสเสีย 115,000 คน และก็มีเพียง 43,000 คนเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียง เพราะสมัยนั้นผู้หญิง พ่อค้า คนงาน และคนต่างชาติ ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว (Will and Ariel Durant, The Story of Civilization Volume I: The Life of Greece, 1st edition 1939)

เป็นธรรมดาอยู่เองที่การปกครองของคนหยิบมือโดยกีดกันคนหมู่มาก ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง

ที่อาณาจักรกรีกโบราณคราวนั้น แรกๆ ก็แสดงออกด้วยการด่ากัน ประณามกัน เขียนหนังสือว่ากัน แสดงละครเสียดสีกัน ประท้วงกัน ตั้งพรรคการเมืองแข่งกัน จนหนักเข้าก็ลอบสังหารกัน แล้วก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นจนได้

ประมาณปี 427 B.C. ที่ Corcyra (เดี๋ยวนี้เรียกว่า Corfu) พวกเจ้า (เรียกว่า Oligarchs ส่วนใหญ่เป็นเจ้าที่ดิน ชนชั้นสูง และเจ้าของกิจการขนาดใหญ่) ลอบสังหารผู้นำพรรคฝ่ายไพร่ (เรียกว่า Democrat ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าเล็กๆ คนงานและประชาชนทั่วไป) 60 คน ฝ่ายไพร่ก็เลยล้มฝ่ายเจ้า จับฝ่ายเจ้า 50 คนขึ้นศาลเตี้ย (คล้ายๆ Committee of Public Safety ในสมัยหลังที่ฝ่ายสาธารณรัฐฝรั่งเศสตั้งขึ้นจัดการกับฝ่ายเจ้า ขุนนาง และพระ ระหว่างการปฏิวัติใหญ่ปี 1792-1793) แล้วประหารทั้งหมด อีกทั้งยังจับขังให้อดอาหารตายในคุกอีกหลายร้อย

ท่านผู้อ่านลองอ่านบทบรรยายของ Thucydides นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยนั้นดูก็ได้ว่า บรรยากาศของสงครามกลางเมืองครั้งนั้น มันน่าสยดสยองเพียงใด

“During seven days the Corcyreans were engaged in butchering those of their fellow citizens whom they regarded as their enemies………Death raged in every shape, and, as usually happens at such times, there was no length to which violence did not go; sons were killed by their fathers, and suppliants were dragged from the altar or slain on it……Revolution thus ran its course from city to city, and the places where it arrived last, from having heard what had been done before, carried to a still greater excess the…atrocity of their reprisals…..Corcyra gave the first example of these crimes,….of the revenge exacted by the governed (who had never experienced equitable treatment, or, indeed, aught but violence, from their rulers) and….of the savage and pitiless excesses into which men were hurried by their passions….Meanwhile the moderate part of the citizens perished between the two (warring groups)…..The whole Hellenic world was convulsed.” (Thucydides, Peloponnesian War, iii 10; อ้างใน Life of Greece)

ว่ากันว่า ยุคหลังจากนี้ เป็นยุคที่ประชาธิปไตยของกรีกโบราณเบ่งบานที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเธนส์ แต่ถ้าเราอ่านงานของ Plato ทั้งที่มักยืมปาก Socrates ให้เป็นผู้วิจารณ์และที่เป็นความเห็นของตนเอง ก็จะเห็นว่าทั้งเขาและโสกราตีส ค่อนข้างดูแคลนและรังเกียจพวก demos (ซึ่งอาจอนุโลมเทียบได้กับบรรดาคนชั้นกลางและชั้นล่างในปัจจุบัน) ที่เริ่มขึ้นมามีบทบาทในการปกครองเอเธนส์หลัง Peloponnesian War ในครั้งนั้น

เปลโต้ค่อนข้างรังเกียจพวกเศรษฐีใหม่ (neoplutoi) ที่ฟุ้งเฟ้อ อวดร่ำอวดรวย และเข้ามาปกครองแทนที่พวกเจ้าที่ดิน โดยอ้างประชาธิปไตย ทว่ามุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ทางการค้า การเงิน และอุตสาหกรรม จนเกิดช่องว่าระหว่างคนรวยกับคนจน (เปลโต้เขียนไว้ใน Republic ว่าเอเธนส์ขณะนั้นแยกเป็นสองเมือง “two cities:…one the city of the poor, the other of the rich, the one at war with the other.”)

เขาถึงกับ Observe ว่า “The excessive increase of anything causes a reaction in the opposite direction;….dictatorship naturally arises out of democracy, and the most aggravated form of tyranny and slavery out of the most extreme form of liberty.” (อ้างตามคำแปลจากภาษากรีกเป็นอังกฤษของศาสตราจารย์ Jowett)

หลังจากเปลโต้ตายลงในปี 347 B.C. ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ยิ่งห่างขึ้น ความขัดแย้งกลายเป็นความเกลียดและระแวงไม่ไว้ใจกัน คนรวยและคนชั้นกลางฝ่ายหนึ่ง รวมตัวกันต่อต้านพวก Democrat โดยฝ่ายหลังก็พยายามกดดันให้รัฐบาลจัดสรรความมั่งคั่งไปสู่ชนชั้นล่างให้มากขึ้น ผ่านระบบประชานิยม ซึ่งรัฐบาลก็ต้องหารายได้แหล่งใหม่ๆ แล้วก็หนีไม่พ้นการเพิ่มภาษีแปลกๆ บางปีที่เศรษฐกิจเกิดตกต่ำ ลูกหนี้ก็รวมตัวกันสังหารเจ้าหนี้แล้วพากันยึดทรัพย์สินมาแบ่งกันก็มี

ภาวะแบบนี้เป็นอยู่จนกระทั่งกษัตริย์ Philip แห่ง Macedon (พระราชบิดาของอเล็กซานเดอร์มหาราช) ยกทัพเข้ายึดเอเธนส์แล้วเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นแบบเผด็จการ และนับจากนั้นจนกระทั่งเสียกรุงให้โรมัน เอเธนส์ก็ไม่ได้กลับไปใช้ระบบปกครองแบบประชาธิปไตยแบบเดิมอีกเลย


เนเธอร์แลนด์ ฆ่าเพื่อปลดแอก 1572-1609

ก่อนยุคพระอาทิตย์ไม่ตกดินบนจักรวรรดิอังกฤษ สเปนเคยเป็นมหาอำนาจมาก่อน จักรพรรดิ Philip II (1527-1598) แห่งสเปนยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปัจจุบัน เป็นไหนๆ

จักรวรรดิสเปนสมัยนั้น ครอบคลุมอาณาเขตของสเปน และส่วนใหญ่ของประเทศอิตาลีเดี๋ยวนี้ รวมตลอดจนถึงดินแดน 17 มณฑลของเนเธอร์แลนด์ และทวีปอเมริกา แถมยังมั่งคั่งที่สุดในโลกขณะนั้น และแสนยานุภาพทางทะเลก็เป็นที่เลื่องลือ

สเปนใช้เนเธอร์แลนด์เป็นฐานการค้ากับยุโรปเหนือและยุโรปตะวันออกทั้งหมด ทำให้เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์มั่งคั่งและชนชั้นนำตลอดจนชนชั้นพ่อค้าวาณิชมีทัศนะที่ทันสมัย ทว่าพระองค์ทรงเป็นคอทอลิกที่เคร่งครัด และเกลียดพวกโปรแตสเตนส์เป็นที่สุด พระองค์จึงหาทางกำจัดคู่แข่งที่ฝักใฝ่นิกายใหม่อย่างเอาเป็นเอาตาย (ภาพยนตร์เรื่อง Elisabeth ทั้งสองภาค สร้างได้ใกล้เคียงความจริง ในแง่ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์เกลียดพระนางเจ้า Elisabeth I มาก ในฐานะที่เป็นโปรแตสเตนส์ และพยายามหาเรื่องอังกฤษอยู่ตลอดเวลา โดยที่ชนชั้นนำอังกฤษยุคนั้น เมื่อประชุมกันครั้งใดก็มักจะถกเถียงกันให้เห็นว่าพระองค์เป็น Threat ที่สำคัญที่สุดของอังกฤษ)

ใครๆ ก็รู้ว่าสไตล์การปกครองอาณานิคมของสเปนนั้นเด็ดขาด ใช้ความอำมหิตกดให้กลัว แล้วก็ขูดเอาทรัพยากรและผลประโยชน์เต็มที่ ชาวพื้นเมืองในอเมริกาถูกฆ่าอย่างเลือดเย็นจำนวนมาก

ไม่เว้นแม้แต่ในเนเธอร์แลนด์ ที่สเปนตั้งภาษีสูงๆ และแทบจะไม่ให้ชาวเนเธอร์แลนด์มีสิทธิมีเสียงในการปกครองกันเลย จนแม้ชนชั้นสูงของทั้งสองนิกายต้องร่วมมือกันปลดแอกจากสเปนอย่างลับๆ

แต่ในหมู่คนธรรมดานั้น ชาวโปรแตสเตนส์ย่อมมีสถานะเป็นเบี้ยล่างสุด จึงทำให้เกิดกระทบกระทั่งกับชาวคาทอลิกอยู่เนืองๆ จนเมื่อปี 1566 เกิดปะทะกันหนัก ถึงชีวิตและเผาโบสถ์คาทอลิก Philip II จึงส่งกองทหารเข้ามาปราบ แถมแม่ทัพที่นำกำลังมาปราบนั้น ก็อำมหิตมาก จับผู้นำฆ่าประจาน และใช้กำลังกดศัตรูทุกทางไม่ให้หือ

การปราบปรามครั้งนั้น ทำให้ผู้นำชาวดัชต์ฝ่ายต่อต้านต้องพากันลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ ที่เหลือก็ “ลงใต้ดิน” สะสมกำลัง อาวุธ และก่อการร้าย เช่น ยึดเมืองท่าบางเมือง หรือไขน้ำทะเลให้เข้ามาท่วมพื้นที่ที่ถูกยึดครอง เป็นต้น (อย่าลืมว่าเนเธอร์แลนด์นั้นเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำไว้) ในขณะที่บรรดาผู้นำก็ลอบไปติดต่อกับอังกฤษและฝรั่งเศสให้ช่วยเหลือฝ่ายต่อต้าน จนผู้นำของ 12 มณฑลที่ต่อต้านสเปน สามารถรวมตัวกันติด แล้วประกาศทำสงครามอย่างเปิดเผยกับสเปนในปี 1572 และร่วมกันก่อตั้งสาธารณรัฐ Republic of the Seven United Netherlands หรือเรียกสั้นๆ ว่า United Provinces ในปี 1581 ส่วนมณฑลที่เหลือก็ยังอยู่ภายใต้สเปนต่อไป

สงครามกับสเปนหรือที่เรียกว่า “สงครามปลดแอก” (War of Independence) กินเวลาตั้งแต่ปี 1572 จนถึงปี 1609 เมื่อสองฝ่ายทำสัญญาสงบศึกกัน โดยระหว่างนั้นเกิดความสูญเสียมากทั้งสองฝ่าย เช่นผู้นำฝ่ายต่อต้าน เจ้าชาย William of Orange ถูกสังหาร หรือกองเรือสเปนถูกปล้นสะดมทั่วท้องน้ำเสมอๆ จนมาพ่ายแพ้ต่ออังกฤษอย่างหมดรูปในปี 1588 ในคราวที่เรียกกันว่า The Spanish Armada

การปลดแอกออกจากสเปน และอานิสงส์ของระบบปกครองแบบสาธารณรัฐ ตลอดจนแบบอย่างจริยธรรมโปรแตสเตนส์ ทำให้เนเธอร์แลนด์มั่งคั่ง สามารถก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนสเปนและปอร์ตุเกส และรุ่งเรืองต่อมาอีกเกือบสองร้อยปีก่อนจะเสียแชมป์ให้กับอังกฤษ ระหว่างนั้นเนเธอร์แลนด์สามารถสร้างกองเรือที่เข้มแข็ง สร้างเครือข่ายกิจการค้าและล่าอาณานิคมไปทั่วโลก ทางด้านการเงินก็ก้าวหน้าไปมาก กิจการธนาคาร วาณิชธนกิจ และตลาดหุ้นเฟื่องฟูอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (เกิดกรณีปั่นราคาสินทรัพย์จนฟองสบู่แตกเป็นครั้งแรก ที่เรียกว่า Tulip Mania) เป็นพื้นฐานและแบบอย่างที่อังกฤษเลียนแบบในเวลาต่อมา ยุคดังกล่าวถือเป็นยุคที่ระบบทุนนิยมแรกอุบัติขึ้น

(ผู้อ่านที่สนใจเรื่องราวของยุโรปในช่วงที่สเปนรุ่งเรืองสุดขีด และการผงาดขึ้นมาของ Amsterdam ในฐานะศูนย์กลางของระบบทุนนิยมระหว่างศตวรรษต่อมา ต้องอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อันยอดเยี่ยมของ Fernand Braudel, The Mediterranean and the Mediterranean world in the age of Philip II, ของผมเป็น The Folio Society Edition, 2000 ทั้งหมดมี 3 เล่มใส่กล่องอย่างดี, และ Fernand Braudel, Civilization & Capitalism 15th-18th Century Volume 3, 1st U.S. Edition, 1984, ส่วนรายละเอียดเรื่อง Tulip Mania แนะนำให้อ่านจาก Edward Chancellor, Devil Take the Hindmost, 1st edition, 1999)


อังกฤษ ฆ่าเจ้าแผ่นดินเพราะเชื่อต่าง 1649

คนไทยยุคนี้จำนวนมากที่ผมเคยคุยด้วย ไม่เคยรู้เลยว่าคนอังกฤษก็เคย “ตัดคอ” กษัตริย์ของตนมาแล้ว นึกว่ามีแต่คนฝรั่งเศสและรัสเซียเท่านั้น ที่ฆ่ากษัตริย์ทิ้งระหว่างการปฏิวัติ

ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่อังกฤษก็ได้เกิดสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า The English Civil War (1642-1649) ระหว่างฝ่ายกษัตริย์กับฝ่ายต่อต้านกษัตริย์ และจบลงด้วยการประหารชีวิตกษัตริย์ Charles I แห่งราชวงศ์ Stuart แล้วอังกฤษก็ปกครองโดยไร้กษัตริย์ (ตอนแรกเรียกว่า Commonwealth แต่ต่อมาเรียกว่า Protectorate) มาอีก 9 ปีหลังจากนั้น

พวกฝรั่งร่วมสมัยกับยุคกลางของอยุธยานั้นแปลก เพราะพวกเขามักรบราฆ่าฟันกันขนานใหญ่เพราะความเชื่อที่ต่างกัน

ในอังกฤษเมืองผู้ดีก็ไม่เว้น ตั้งแต่ก่อตั้ง Church of England ปลดแอกจากสังฆมณฑลภายใต้อำนาจของสันตะปาปาแห่งวาติกันเป็นต้นมา ก็เกิดความขัดแย้งที่อ้างความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกันอยู่เสมอ มิได้หยุดมิได้หย่อน

หลังจากพระนางเจ้าเอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ลงโดยมิได้มีทายาทสืบสันตติวงศ์ ชนชั้นปกครองยุคนั้นก็พากันยกพระเจ้า James VI กษัตริย์แห่งสก๊อต ลูกชายของ Mary Stuart ญาติห่างๆ ของเอลิซาเบธที่ถูกพระนางสั่งประหาร ขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษด้วย ถือเป็นการเปลี่ยนจากราชวงศ์ Tudor มาเป็นราชวงศ์ Stuart

พระเจ้าเจมส์เป็นพวกบ้าอำนาจ และดันไปประกาศแนวคิดว่ากษัตริย์คือ “สมมติเทพ” (Divine Right of the Kings) ในวันเปิดสภาไอร์แลนด์ครั้งแรก พระองค์ทรงตรัสกับสมาชิกสภาว่า “The state of monarchy is the supremest thing upon earth, for kings are not only God’s lieutenants upon earth and sit upon God’s throne, but even by God himself they are called gods….That as to dispute what God may do is blasphemy,….so is it sedition in subjects to dispute what a king may do in the height of his power…..I will not be content that my power be disputed upon…….” (ผมอ้างมาจาก Wallbank, Taylor, Carson, Civilization: Past and Present, Volume II, 5th edition 1965 หน้า 29)

ดังนั้นการบริหารของพระเจ้าเจมส์ มักมีแนวโน้มไปทางเผด็จอำนาจ สุดท้ายก็มีเรื่องกับรัฐสภาจนได้ เพราะพระองค์ท่านอยากเก็บภาษีเพิ่ม แต่รัฐสภาขัดขวาง ทำให้พระองค์ยุบสภาทิ้ง และปกครองโดยไม่มีสภาเป็นเวลาถึง 10 ปี

ต้องเข้าใจว่าสมัยนั้น ความขัดแย้งทางศาสนาก็ดำรงอยู่แบบ “หลายเส้า” เพราะแม้อังกฤษจะประกาศอิสระจากสันตะปาปา แต่นิกายอังกฤษก็ยังดำรงไว้ซึ่งความเชื่อและพิธีกรรมหลายอย่างที่มีกลิ่นอายของโรมันคาทอลิก แม้ในยุคของพระนางเจ้าเอลิสาเบธจะเอียงมาทางโปรแตสเทนส์มากหน่อย แต่คาทอลิกก็ยังไม่หมดไป

มาถึงยุคพระเจ้าเจมส์ ประชาชนเริ่มไม่พอใจสังฆมณฑล พวกคาทอลิกก็หวังว่าจะดึงทุกอย่างกลับ แต่ก็ไม่ปรารถณาจะกลับไปอยู่ใต้อาณัติของสันตะปาปาอีกแล้ว

ในหมู่โปรแตสเทนส์เอง ก็มีพวกสุดขั้วที่ต้องการปฏิวัตินิกายอังกฤษให้ “ปลอดพ้น” จากกลิ่นอายของคาทอลิก และปลอดพ้นจากอาณัติของสังฆราช (Bishop of England) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ พวกเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “Puritans”

พวก Puritans ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีผลประโยชน์ทางการค้า คนเหล่านี้ไม่พอใจรัฐบาลของกษัตริย์ที่นึกจะเก็บภาษีก็เก็บ พวกเขาต้องการให้รัฐสภามีอำนาจในการออกกฎหมายอย่างโปร่งใสเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของการค้าขายและอุตสากรรมให้ชัดเจน

เป็นคราวเคราะห์ของคนอังกฤษ เมื่อพระเจ้า Charles I โอรสของพระเจ้าเจมส์ขึ้นครองราษฎร์ต่อจากพระราชบิดาในปี 1625 กษัตริย์องค์ใหม่บ้าอำนาจยิ่งกว่าพระราชบิดา ไม่ให้เกียรติขุนนางและสมาชิกสภาเลย ยิ่งกว่านั้นยังแสดงออกว่าสนับสนุนพวกคาทอลิกและบรรดา Bishop อย่างออกนอกหน้า

การกระทบกระทั่งมีขึ้นตลอดเวลา จากน้อยไปหามาก จนสังคมอังกฤษแตกแยกแบ่งเป็นสองฝ่ายใหญ่คือฝ่าย Cavaliers และฝ่าย Roundheads

ฝ่าย Cavaliers สนับสนุนกษัตริย์ ส่วนมากเป็นพวกเจ้า ขุนนาง เจ้าที่ดิน พวกนี้แม้ไม่พอใจอำนาจเผด็จการของกษัตริย์ แต่ก็ไม่ชอบพวก Puritans ด้วย เพราะเห็นว่า “สุดขั้ว” จนเกินไป

ส่วนฝ่ายต่อต้าน เรียกว่า Roundheads (เพราะตัดผมสั้น) ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและชั้นล่างที่ต้องการอิสระในการนับถือศาสนาและทำมาหากิน ฝ่ายหลังนี้ค่อยๆ สร้างกองกำลังของตัวเองขึ้น โดยมีแม่ทัพอัจฉริยะผู้หนึ่งเป็นผู้ดำเนินการและบัญชาการ Oliver Cromwell

ในที่สุดสองฝ่ายก็รบกันเมื่อปี 1642 จนฝ่ายกษัตริย์พ่ายแพ้ และกษัตริย์ถูกควบคุมตัว แม้ต่อมาจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในฝ่ายต่อต้านที่ตอนนี้เป็นฝ่ายชนะและปกครองอังกฤษ เพราะมีทั้งพวกสุดขั้ว Puritans พวก Presbyterian ซึ่งขอเพียงให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แถมยังมีพวกสายกลางทางศาสนาแต่นิยมสาธารณรัฐในเชิงการเมืองอีกด้วย โดยที่กษัตริย์ชาลส์เองก็แอบส่งข่าวไปขอกำลังจากสก๊อตแลนด์และพวก Presbyterian ให้ยกมาถล่มอังกฤษเพื่อฟื้นสถานะของตน

ทว่า สุดท้าย Oliver Cromwell และฝ่ายนิยมสาธารณรัฐก็ตัดสินใจกระทำการคล้ายๆ รัฐประหาร โดยยกทัพไปต้านกองทัพสก๊อตจนชนะ แล้วก็หันมาจับสมาชิกสภาฝ่าย Presbyterian ที่เทใจให้ฝ่ายต่อต้าน แล้วสุดท้ายก็ดำเนินคดีกับกษัตริย์ จนให้ประหารชีวิตในปี 1649

หลังจากสิ้นกษัตริย์แล้ว Oliver Cromwell ก็มิได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งราชวงศ์ใหม่ แต่ได้ปกครองด้วยระบบเผด็จอำนาจ จนกระทั่งสิ้นชีพ แล้วลูกชายก็ขึ้นมาแทน ได้พักหนึ่ง ชนชั้นปกครองของอังกฤษก็เห็นร่วมกันว่าควรไปเชิญกษัตริย์ Charles II โอรสของ Charles I กลับมาครองราชย์ในปี 1660

สังคมอังกฤษช่วงนี้ เป็นการต่อสู้ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะระหว่างฝ่ายปฏิกิริยากับฝ่ายก้าวหน้า ที่ต้องการให้คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น สำทับด้วยความขัดแย้งในเชิงความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน กษัตริย์เองก็ได้เจรจาในทางลับกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ให้สนับสนุนทางการเงินเป็นส่วนพระองค์ แลกกับการที่จะนำอังกฤษกลับสู่คาทอลิก (นับเป็นการคอรัปชั่นโดยกษัตริย์ที่คนอังกฤษรุ่นหลังอับอาย) โดยสุดท้ายตัวชาลส์เองก็กลับเป็นคาทอลิก แต่สภาก็แก้ลำโดยการออกกฎหมายห้ามคนคาทอลิกรับราชการในทุกตำแหน่ง

ช่วงนี้เองที่การเมืองอังกฤษแบ่งออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน พวกเอาใจช่วยคาทอลิกรวมตัวกันเป็นกลุ่มซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นพรรค Whig โดยส่วนใหญ่เป็นพวกสมาชิกสภาขุนนางและเจ้าที่ดิน มีสโลแกนในตอนนั้นว่า “The King, The Church, and The Land” โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งคือพรรค Tory ที่เน้นคำขวัญว่า “Life, Liberty, and Property” พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าและชนชั้นกลาง สมาชิกสภาล่าง

จนล่วงเข้ารัชกาลของพระเจ้า James II พระอนุชาของ Charles II ความขัดแย้งก็ยิ่งแหลมคมขึ้นอีก พระองค์ทรงให้เลิกกฎหมายห้ามคาทอลิกเข้ารับราชการ และเริ่มแต่งตั้งข้าราชการคาทอลิก โดยเฉพาะในกองทัพ อีกทั้งยังหันไปคบใกล้ชิดกับฝรั่งเศส ทำให้บรรดาชนชั้นปกครองของอังกฤษเริ่มไม่สบายใจ และเห็นร่วมกันว่าจะต้องปลดพระองค์

พระเจ้า Charles II มีพระธิดาซึ่งเป็นรัชทายาทอยู่องค์หนึ่งชื่อ Mary เป็นโปรแตสเตนท์ อภิเษกกับเจ้าชาย William of Orange แห่งเนเธอร์แลนด์ ทว่า เมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงให้กำเนิดพระราชโอรสคาทอลิกในปี 1688 และทำท่าว่าจะกลายเป็นผู้สืบราชสมบัติในภายภาคหน้า คนอังกฤษก็หมดความอดทน

ชนชั้นนำของอังกฤษสมัยนั้น รวมทั้งบรรดา Bishop ทั้งหลายด้วย จึงคิดการณ์ไปเชิญพระนาง Mary กับพระสวามีให้นำกองทัพเนเธอร์แลนด์เข้ามายึดอำนาจ โดยเมื่อกองทัพมาถึงลอนดอนก็วางแผนให้ทหารโปรแตสเทนส์วางอาวุธ จนสุดท้าย Charles II ก็ทรงลี้ภัยไปฝรั่งเศส หลีกทางให้กับพระราชธิดา

ชนชั้นปกครองของอังกฤษได้ตกลงให้เชิญพระนาง Mary และเจ้าชาย William ขึ้นปกครองอังกฤษคู่กันในฐานะองค์พระประมุข โดยรัฐสภาได้ออกกฎหมายจำกัดพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์และเพิ่มอำนาจให้สภา รับรองเสรีภาพในการพูดและแสดงออก อีกทั้งยังรับรองเสรีภาพในทางกฎหมายและความเท่าเทียมของราษฎร เรียกว่า Bill of Rights และในปี 1701 ก็ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ (Act of Settlement) เพื่อกำหนดการสืบราชสมบัติให้อยู่ภายใต้กฎหมาย

นับแต่นั้นมา กษัตริย์อังกฤษก็ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญและกลายเป็นเพียง “สัญลักษณ์” สืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

เหตุการณ์ในครั้งนั้น รู้จักกันในนาม The Glorious Revolution ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยสันติมิต้องเสียเลือดเนื้อ

การเปลี่ยนระบบปกครองของอังกฤษที่ขยายการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมาก ประกอบกับกระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศ (Industrial Revolution) ได้ส่งผลให้อังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลก ในรอบสองร้อยกว่าปีต่อมา เริ่มจากการผนวกสก๊อตแลนด์ในปี 1707 แล้วก็อเมริกา แคนาดา อียิปต์ อินเดีย พม่า สิงคโปร์ มาลายู ฮ่องกง ฯลฯ จนเพิ่งจะมาหมดบุญบารมีลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง


อเมริกัน ฆ่าเพื่ออิสรภาพ 1776

สงครามปลดแอกของอเมริกันจากอังกฤษเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทย แต่ถ้าเราไม่กล่าวถึงเสียเลย เนื้อหาใจความเรื่องสงครามกลางเมืองอาจไม่ครบถ้วน

แน่นอนว่า อาณานิคมย่อมถูกเอาเปรียบจากเมืองแม่ แม้คนอังกฤษจะรักอิสรภาพและรับรองสิทธิทางกฎหมายกันมาตั้งแต่ Glorious Revolution แต่กับอาณานิคมนั้น อังกฤษมัก “โหด” เสมอ

ไม่เว้นแม้แต่เลือดเนื้อเชื้อไขอย่างอเมริกา ที่อังกฤษขูดรีดผ่านภาษี เอาเปรียบผ่านการผูกขาดการค้า (มีกฎหมายห้ามคนอเมริกันค้าขายโดยตรงกับยุโรป การนำเข้าส่งออกต้องทำผ่านกิจการของคนอังกฤษเท่านั้น) แถมยังไม่เคยนับว่าอเมริกันเท่าเทียมกับอังกฤษ และไม่เคยรับรองสิทธิในการร่วมปกครองแต่อย่างใด

สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศช่วงนั้น เป็นช่วงที่อังกฤษกับฝรั่งเศส สองมหาอำนาจกำลังเผชิญหน้ากันในสงครามที่เรียกว่า Seven Years’ War โดยสุดท้ายอังกฤษเป็นฝ่ายชนะในปี 1763 เลยได้ดินแดนอาณานิคมเดิมของฝรั่งเศสและสเปนผนวกเข้ามาในจักรวรรดิอังกฤษมากขึ้น รวมถึงแคนนาดาด้วย

สงครามทำให้อังกฤษเสียเงินไปแยะ จึงบังคับขึ้นภาษีในอเมริกา (เรียกว่า Stamp Act of 1765) ทำให้เกิดความไม่พอใจไปทั่ว

ปัญญาชนชั้นนำของอเมริกา ที่ศึกษาปรัชญาสำนัก “ตื่น” (Enlightenment) ของยุโรปรวมทั้งนิยม Bill of Rights ของอังกฤษ อย่าง John Adam และ Benjamin Franklin หรือ Thomas Jefferson กับ Alexander Hamilton ก็เริ่มปลุกระดมให้แยกตัวเป็นอิสระ และเรียกร้องการมีส่วนร่วมในการปกครอง ด้วยคำขวัญ “No taxation without representation” ซึ่งหมายถึงการส่งสัญญาณต่อรัฐบาลอังกฤษว่าชนชั้นนำอเมริกันอยากมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษที่ลอนดอน

ระหว่างนั้น ได้เกิดการประท้วงขึ้นที่บอสตัน และทหารอังกฤษก็ทำการปราบปรามทำให้ผู้ประท้วงตายไป 5 คน แล้วก็แก้แค้นกันไปกันมา ตามสูตรสำเร็จ ในฐานะเงื่อนไขหนึ่งของสงครามกลางเมือง

เมื่อรัฐบาลอังกฤษปฏิเสธข้อเสนอของอเมริกันที่ขอส่งผู้แทนเข้าร่วมในรัฐสภาอังกฤษ พวกเขาก็เลยเปิดสภากันเอง โดยเรียกประชุมครั้งแรกในเดือนกันยายน 1774 (เรียกว่า Continental Congress) ที่ฟิลาเดลเฟีย มีผู้แทนจำนวน 56 คนมาจาก 12 รัฐ ตกลงกันว่าให้บอยคอตมาตรการของอังกฤษ

ผลของข้อสรุปนั้น ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันรุนแรงยิ่งขึ้น การประท้วงแต่ละครั้งมักจบด้วยความรุนแรง จนที่สุดเมื่อ 19 เมษายน 1775 กองกำลังของทั้งสองฝ่ายก็เกิดปะทะกันที่ Lexington ใกล้ๆ กับบอสตัน โดยฝ่ายอังกฤษเป็นฝ่ายปราชัย

นับแต่นั้น เลือดชาตินิยมของฝ่ายอเมริกันก็พุ่งพล่าน ฮึกเหิมขึ้น จนกระทั่ง Continental Congress ได้ออกประกาศอิสรภาพที่เรียกว่า Declaration of Independence (ร่างขึ้นโดย Jefferson) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1776 ตรงกับสมัยที่ชนชั้นนำของไทยที่นำโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ทำการกู้ชาติจากพม่าเช่นเดียวกัน

เมื่อลองอ่านคำประกาศอิสรภาพฉบับนั้นดูแล้ว ผมยอมรับว่าร่างได้กินใจมาก มิน่ามันถึงได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักปฏิวัติรุ่นหลังทั่วโลก ประโยคที่มักได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ ก็คือที่บอกว่า “We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal.”

นายพล George Washington แม่ทัพใหญ่ฝ่ายอเมริกัน แม้จะมีบุคลิกที่อาจหาญ เป็นสุภาพบุรุษ แต่ก็เก่งในการรบแบบกองโจร ทั้งซุ่มโจมตี ตัดเสบียง ทำลายขวัญ และรบนอกแบบ แต่แม้จะใช้ยุทธวิธีการรบแบบกองโจรเสียเป็นส่วนใหญ่ นายพลวอชิงตันก็ไม่เคยยินยอมให้ฝ่ายอังกฤษมองกองทัพของเขาว่าเป็นกองทัพโจรโดยเด็ดขาด

เขาไม่เหมือนกับแม่ทัพปฏิวัติยุคหลังอย่าง ตร้อกสกี้ หรือนายพลจูเต๋อ นายพลหลินเปียว หรือนายพลหวนเหวียนย้าป ที่มักปิดตัว แต่งตัวธรรมดา และเป็นอยู่แบบง่ายๆ ดูเผินๆ ไม่รู้ว่าเป็นแม่ทัพใหญ่ ทว่า นายพลวอชิงตัน เป็นคนมีพิธีรีตองแบบทหารสุภาพบุรุษอังกฤษ แต่งตัวเต็มยศ เมื่อเจรจากับฝ่ายตรงข้าม เขาจะต้องสร้างบรรยากาศให้เหมือนการเจรจาระหว่างแม่ทัพสองประเทศ มิใช่ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกบฏ นั่นทำให้รัฐบาลอังกฤษยอมรับเขาในเวลาต่อมา

นายพลวอชิงตันชี้นำการรบสำคัญๆ หลายครั้ง เช่นที่ Saratoga ซึ่งตอนแรกทำท่าว่าจะแพ้แต่ก็กลับมาชนะอย่างงดงามเหลือเชื่อ และที่ Yorktown ซึ่งถือเป็นการปิดฉากสงคราม พวกเขาทำการรบติดพันอยู่เกือบ 6 ปี จนรัฐบาลอังกฤษยอมรับรองสถานะของอเมริกาว่าเป็นประเทศที่มีอิสรภาพโดยสมบูรณ์ตาม “สนธิสัญญาปารีส” ปี 1783 และเมื่อประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญอเมริกัน” หรือ United States Constitution แทน Articles of Confederation และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกในปี 1789 (หนังสือเกี่ยวกับนายพลวอชิงตันที่อ่านง่ายและดีมากคือ Paul Johnson, George Washington, The Founding Father, 1st edition, 2005 ส่วนหนังสือที่เกี่ยวกับสงครามปลดแอกอเมริกัน ผมแนะนำ Gordon S. Wood, The American Revolution: A History, Modern Library Series, 2003)

ถ้านับเอาปี 1783 เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าเป็นปีที่สงครามปลดแอกสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ก็เทียบได้กับ พ.ศ. ๒๓๒๖ ยุคต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เพิ่งทรงครองราชย์ได้เพียงปีเดียว นับว่าอเมริกาและกรุงเทพฯ มีจุด Start ใกล้เคียงกัน

แต่ไฉน เมื่อเวลาผ่านไป 226 ปี ถึงปีนี้ ผ่านไปเพียง 5 ชั่วคน อเมริกาถึงเจริญก้าวหน้า มั่งคั่ง และยิ่งใหญ่กว่าไทยหลายเท่าตัว

โดยระหว่างนี้ อเมริกาปกครองโดยระบบรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ภายใต้การนำของประธานาธิบดี 44 คน และยังผ่านสงครามกลางเมืองใหญ่มาเมื่อสมัยปลายรัชกาลที่ ๔ ส่วนเมืองไทยปกครองโดยสมาชิกของพระราชวงศ์จักรีมาตลอด 227 ปี ในจำนวนนี้เป็นระบบที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญถึง 78 ปี

นั่นเป็นคำถามที่น่าคิด



ฝรั่งเศส ฆ่าเพราะเกลียด 1789


ในที่นี้ผมจะไม่อธิบายถึงเหตุการณ์ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องดาษดื่น สามารถหาอ่านกันได้ในภาคภาษาไทย แต่ผมจะเขียน Observation ของผมที่มีต่อการปฏิวัติและผลกระทบในครั้งนั้น (ถ้าอยากรู้เรื่องเหตุการณ์โดยละเอียด ผมแนะนำให้อ่านหนังสือของหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง จรัล ดิษฐาอภิชัย เรื่อง การปฏิวัติฝรั่งเศส เล่ม 1-2, จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เบรน เซ็นเตอร์ ในเครือ ASTV-ผู้จัดการ แกนนำสำคัญของคนเสื้อเหลือง, ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี 2542)

หากเราไม่อยากอธิบายว่าการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นครั้งสำคัญ เราจะอธิบายว่ายังไงดี

มีคนอธิบายเรื่องราวครั้งนั้นไปแล้วหลายแบบ เพราะการปฏิวัติครั้งนั้น ถือเป็น “ต้นแบบ” ของการปฏิวัติและลุกขึ้นสู้รุ่นหลังต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ที่ว่าเป็น “ต้นแบบ” นั้น เป็นทั้งในแง่ของอุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี แบบอย่างที่ต้องเอามาศึกษาผิดถูกว่าใครพลาดตรงไหน รวมถึงการออกแบบสังคมใหม่แบบทั่วด้าน ฯลฯ

สำหรับผม ผมคิดว่าการฆ่ากันครั้งนั้น เป็นเพราะความหมั่นไส้ และความเกลียดชัง ระหว่างคนสองสังคม สังคมแรกเป็นพวกเจ้าที่ดินและพระที่เรียกโดยรวมว่า “ฐานันดรที่หนึ่งและสอง” ส่วนอีกสังคมหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่เหลือซึ่งสังกัด “ฐานันดรที่สาม”

ความขัดแย้งในฝรั่งเศสช่วงนั้น เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ นั่นแสดงว่าทั้งประเทศฝรั่งเศสขณะนั้นมีคนทั้งสองสังคมเผชิญหน้ากันอยู่ คล้ายๆ กับสถานการณ์ในเมืองไทยขณะนี้ ที่แม้เชียงใหม่จะเป็นฐานของ “เสื้อแดง” แต่ก็มี “เสื้อเหลือง” อยู่ด้วย ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ และทางใต้ ที่เป็นฐานใหญ่ของ “เสื้อเหลือง” ก็มีชุมชน “เสื้อแดง” เช่นกัน

การยกพวกฆ่ากันของคนฝรั่งเศส ต่างกับสงครามกลางเมืองใหญ่ๆ ก่อนหน้านั้น ทั้งที่เนเธอร์แลนด์ที่ฆ่าเพราะต้องการปลดแอก ปลดเปลื้องภาระที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ปกครองต่างชาติ หรือที่อเมริกาเพราะต้องการอิสรภาพ และปลดแอกจากคนที่กำเนิดมาจากชาติพันธุ์และภาษาเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นสงครามแย่งชิงเขตแดนหรือ Territory ส่วนอังกฤษก็ฆ่ากันด้วยยึดความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน

กรณีของฝรั่งเศสนั้น พวกเขามิได้ปกป้องหรือแย่งชิงเขตแดน หรือต้องการอิสรภาพ หรือมีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน เพราะเกือบทั้งหมดเป็นคาทอลิกด้วยกัน แต่ผืนแผ่นดินฝรั่งเศสขณะนั้น กลับเป็นที่อยู่อาศัยของสมาชิกของคนสองสังคม ที่ต่างกันลิบลับ เพียงแต่พูดภาษาเดียวกัน ซ้อนกันอยู่ โดยที่ลึกๆ แล้ว ทั้งสองกลุ่มก็ได้แสดงความหมั่นไส้ รังเกียจ เดียดฉันท์ และกระทบกระทั่งกันเสมอมา

ที่พวกเขาลุกขึ้นมาฆ่ากัน เพราะก่อนหน้านั้น ความเป็นอยู่ของคนสองสังคมนั้นมันต่างกันราวฟ้ากับดิน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมันกว้างดั่งมหาสมุทร บ้านของพวกเจ้ากับสลัมของคนจน ต่างกันหน้ามือเป็นหลังมือ (จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ยังหลงเหลือร่องรอยอยู่ ไม่เชื่อก็ลองไปเดินดู Chateau Versailles เทียบกับตึกแถวตามซอกเล็กซอยน้อยในย่าน Marais หรือหาดูภาพเขียนตาม Museum ในปารีสที่เผยให้เห็นบ้านช่องสมัยนั้น) แม้กระทั่งอาหารการกิน เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ต่างกัน และเห็นกันอยู่ตำตาทุกเมื่อเชื่อวัน

ความไม่เท่าเทียมกันทางด้านความเป็นอยู่และในเชิงกฎหมาย (พวกฐานันดรที่สาม ต้องจ่ายภาษีมากกว่าพวกฐานันดรที่หนึ่งและสอง) เป็นตัวเพาะเชื้อในใจคนให้เกลียดกันได้ง่ายๆ และโดยที่โอกาสในการที่จะเข้าไปมีปากเสียง ร่วมเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของสังคมทำไม่ได้เอาเลย เพราะกระบวนการทางการเมืองเป็นแบบตายตัว หนทางเดียวที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็คือต้องใช้กำลัง แต่เมื่อใช้กำลังบังคับแล้ว มันกลับยิ่งกระตุ้นให้ความเกลียดชังที่ฝังอยู่ในใจอยู่ก่อน พุ่งพล่านออกมาผสมโรงในเวลาเดียวกัน ทำให้ดีกรีความรุนแรง เป็นไปแบบเกินความคาดหมายและจินตนาการของทุกฝ่าย (Florine Aftalion: The French Revolution: An Economic Interpretation, Cambridge University Press, 2002 ให้รายละเอียดด้านเศรษฐกิจช่วงนั้นละเอียดดี)

พวกเขาลุกขึ้นมาฆ่ากันอย่างครึกโครมและเลือดเย็น ฝูงชนทำให้ระบบระเบียบในสังคมล่มสลาย เกิดความกลัวขึ้นทั่วไป จนเกิดพลังต่อต้านการปฏิวัติ ต้องการเห็นระเบียบกลับคืนสู่สังคม หลังจากล้มตายกันไปมากแล้ว

แล้วฝรั่งเศสก็เริ่มถลำลึกเข้าไปสู่ระบบเผด็จการ จนเต็มรูปแบบด้วยการสถาปนาตัวเองของนโปเลียน จนที่สุดก็เกิดความมั่นอกมั่นใจในตัวเองสุดขีด เที่ยวตีชิงไปทั่วยุโรป และก็พบจุดจบแบบที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว

แต่แม้จะสูญเสียมากในระหว่างนั้น สังคมฝรั่งเศสก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านบวกขึ้นพร้อมกันเกือบทั่วด้าน อย่างน้อยบรรดาผู้นำกลุ่มใหม่ที่ยึดถืออุดมการณ์สาธารณรัฐ ก็ได้ช่วยกันประคับประคองและชี้นำระบอบสาธารณรัฐให้ดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง เป็นการจุดเชื้อไฟให้กับคนรุ่นต่อมา อีกทั้งกฎหมายหลายฉบับก็ได้กลายมาเป็นพื้นฐานของระบบกฎหมายในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Napoleon Code แม้กระทั่ง Speech ของผู้นำทั้งสองฝ่าย ก็กินใจ กระตุ้นจินตนาการอย่างน่าชม

ส่วนทางด้านการศึกษานั้นเล่า ผู้นำกลุ่มใหม่ของฝรั่งเศส ก็ได้สร้างโรงเรียนสำหรับผู้นำขึ้นจำนวนหนึ่ง เรียกว่า Grande E’coles เพื่อผลิต Elite ที่พร้อมจะรับใช้สาธารณรัฐ เป็นระบบการศึกษาที่เข้มข้น กรองเอาชนชั้นกะทิมาฝึกเป็นผู้นำ ถือเป็นจุดแข็งของสังคมฝรั่งเศส ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ยังไม่มีนักการศึกษาในสังคมอื่นเลียนแบบไปทำให้สำเร็จได้เสมอเหมือน

การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น เป็นการตัดขาดกับอดีต (ยืมคำของ Edmund Burke) พยายามตัดขาดในทุกทาง ทั้งในแง่จารีต ประเพณี และวัฒนธรรม แม้แต่การนับเดือนและศักราช ยังต้องคิดระบบใหม่ขึ้นมา เป็นการลบอดีตและให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ (ความคิดอันนี้ต่อมา เหมาเจ๋อตง และพอลพต ก็ลอกมาใช้ด้วยสไตล์ที่ต่างออกไป เป็นแบบเฉพาะตัว)

แม้ชนชั้นปกครองไทยในช่วงนั้น คือตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑ ยังไม่คิดอะไรมาก แต่การปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้ยุโรปซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกในขณะนั้นสะเทือนไปด้วย กษัตริย์และชนชั้นสูงยุโรปเริ่มกังวลว่าความคิดปฏิวัติจะเผยแพร่มาสู่ดินแดนของตน (เพราะผู้นำสาธารณรัฐของฝรั่งเศสก็ประกาศสนับสนุนให้ราษฎรของต่างประเทศลุกขึ้นสู้รัฐบาลกษัตริย์ที่กดขี่ด้วย อย่างเปิดเผย) พวกเขารวมตัวเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร พากันกดดันฝรั่งเศส ทำให้เกิดสงครามใหญ่ขึ้น เรียกโดยรวมว่า “สงครามนโปเลียน” (Napoleonic War)

ผลกระทบสำคัญอันหนึ่งของสงครามนโปเลียน ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือมันได้ปลุกจิตสำนึกและพลังชาตินิยมของคนเยอรมันขึ้นมา จนสุดท้ายก็ตั้งประเทศของตัวขึ้นมาได้ แล้วก็กลายเป็นชาติที่น่ากลัว เพราะมีวินัยสูง ทำอะไรทำจริง Productivity และ Efficiency ก็สูงด้วย แถมยังมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก จากชาติที่เคยเป็นไก่รองบ่อนก็กลับกลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่ รบชนะแม้กับกองทัพฝรั่งเศส (ในปี 1870) ที่เคยยิ่งใหญ่เรียกว่า Grande Armee มาก่อน

ประวัติศาสตร์ยุโรปนับแต่นั้นมาถูกชี้นำโดยความขัดแย้งระหว่างเยอรมันกับฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงขีดสุดเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

สองชาตินี้ แค้นกันลึกนัก ผลัดกันกระทำ ผลัดกันทำให้อีกฝ่ายเสียหน้า กล้ำกลืน และเจ็บช้ำน้ำใจ ฆ่ากันตายไปแล้วไม่รู้กี่สิบล้านคน นับแต่สงครามนโปเลียน (1803-1815) สงคราม Franco-Prussian War ในปี 1870 มาจนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี 1914-1918 แล้วก็มาสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 1939-1945

นอกจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งสองฝ่ายยันกันตามแนวรบตะวันตกแล้ว ที่เหลืออีกสามครั้ง กองทัพเยอรมันล้วนสามารถเข้ามายึดปารีสได้ทั้งสามครั้ง

นักประวัติศาสตร์มักถือกันว่าวันที่นโปเลียนทำรัฐประหารเมื่อปี 1799 (เรียกกันว่า 18 Brumaire) เป็นวันสิ้นสุดของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในครั้งนั้น ส่งผลสะเทือนต่อมาอีกนาน

ประเทศฝรั่งเศสเปลี่ยนระบบปกครองกลับไปกลับมาอีกหลายครั้ง คือเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐแล้วก็กลับไปปกครองโดยกษัตริย์แล้วก็กลับเป็นสาธารณรัฐแล้วก็กลับไปกษัตริย์อีก ฯลฯ ระหว่างนั้นก็เสียเลือดเสียเนื้ออีกมาก การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมักมีเรื่องราวของการปฏิวัติใหญ่ครั้งแรกมาหลอกหลอนเสมอ เช่นว่าพวก Commune ที่ก่อสงครามกลางเมืองในปี 1848 และปี 1871 ล้วนเป็นลูกหลานของพวก Commune สมัย 1789 ที่ยังแค้นกันฝังลึกอยู่ ฯลฯ

ตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐที่หนึ่ง (First Republic) ขึ้นในปี 1792 มาจนถึงการปฏิรูปการเมืองและประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1958 (Fifth Republic) ซึ่งทำให้การเมืองฝรั่งเศสเกิดเสถียรภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยไม่หันกลับไปหาระบบเผด็จการอีกเลย พวกเขาต้องใช้เวลาอดทนกันถึง166 ปี

อย่างไรก็ตาม คำขวัญของการปฏิวัติครั้งนั้น “เสรีภาพ เสมอภาพ และภาราดรภาพ” ที่ดูเหมือนว่าจะช่วยให้คนละความเกลียดชัง หันมารักสามัคคีกัน กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการลุกขึ้นสู้ทั่วโลก โดยชีวิตและทรัพย์สินที่ต้องสังเวยไปกับสงครามกลางเมืองนับแต่นั้น คงประเมินค่ากันไม่ได้


รัสเซีย ฆ่าเพื่ออุดมการณ์ 1917



การปฏิวัติในรัสเซียครั้งนั้น สะเทือนขวัญคนที่เกลียดคอมมิวนิสต์ทั่วโลก แม้แต่รัชกาลที่ ๖ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในขณะนั้นก็ทรง Aware

ใครๆ ก็รู้ว่าเลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย เป็นสาวกคนสำคัญของ Karl Marx เขาอ่านงานของ Marx อย่างขึ้นใจ และเป็นผู้ตีความและให้อรรถาธิบายความคิดของ Marx ที่สำคัญคนหนึ่ง ระหว่างลี้ภัยอยู่ในยุโรปก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการอ่านและศึกษางานของ Marx จนสามารถเขียนหนังสือชี้นำการปฏิวัติเล่มสำคัญๆ ได้หลายเล่ม

และใครๆ ก็รู้อีกว่า Marx เกลียดระบบทุนนิยมเข้าไส้ เป้าหมายทางปัญญาของเขาที่เขายึดถือและพยายามทุ่มเททั้งชีวิตให้กับมัน มีเพียงเป้าหมายเดียว คือเขาต้องการล้มระบบทุนนิยม และแทนที่มันด้วยระบบสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ เพราะเขาเชื่อว่าจะทำให้สังคมมนุษย์พัฒนาไปสู่ความเท่าเทียมเสมอภาค และความอุดมบริบูรณ์ แบบที่เรียกกันในภาษาศาสนาว่า “ยุคพระศรีอาริย์”

แก่นความคิดหลักของ Marxism ก็คือการ “รวมศูนย์ทุน” เข้ามาสู่ส่วนกลาง เพื่อให้รัฐบาล (มิใช่กลไกตลาด) เป็นผู้ออกแบบ ตัดสินใจ และชี้นำ การใช้ทุนก้อนนั้นเพื่อผลิตหรือดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (เพิ่มอีกนิดว่า รัฐบาลจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นกรรมาชีพ หรือ Proletariat เท่านั้น)

ทว่า การที่จะทำแบบนั้นได้ จำเป็นที่จะต้องใช้ “อำนาจรัฐ” เข้าจัดการ ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพจะต้องรวมตัวกันเข้าทำการยึดอำนาจรัฐเสียก่อน ไม่มีทางเลือกทางอื่น

แน่นอน ว่าการยึดอำนาจรัฐนั้นจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงซึ่ง Marx ก็สนับสนุนอยู่แล้ว

กรณีรัสเซีย ถือว่าเป็นการยึดอำนาจรัฐโดยพวกคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรกของโลก และเมื่อยึดประเทศทั้งประเทศได้แล้ว ก็ได้ประกาศใช้วิธีการแบบ Marxism ทันที จึงถือเป็นรัฐแรกในโลกที่นำความคิดของ Marx ไปใช้

การปฏิวัติในรัสเซีย จึงเป็น “ต้นแบบ” ให้ชาวคอมมิวนิสต์ทั่วโลกได้ศึกษา เรียนรู้ เลียนแบบ และประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับความเป็นจริงในประเทศตน

แม้การปฏิวัติครั้งนั้น จะได้มาด้วยการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คนจำนวนมหาศาล ทั้งจากการก่อจลาจลต่อต้านพระเจ้าซาร์และราชวงศ์โรมานอฟ และจากสงครามกลางเมืองหลังจากซาร์สละราชบัลลังก์ตั้งแต่ปี 1917 จนถึงปี 1920 (ทั้งตายเพราะขาดอาหารและถูกฆ่า) อันนี้ยังไม่นับการต่อต้านพลังปฏิกิริยาหลังจากนั้น และยังไม่นับการกวาดล้างใหญ่ของสตาลิน (Joseph Stalin) ภายหลังเลนินเสียชีวิตในปี 1924 เป็นต้นมา

มีข้อสังเกตอันหนึ่งที่น่าสนใจ คือระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ก่อนที่พรรค Bolshevik จะกุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จทั่วประเทศนั้น ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ “สี” ขึ้นทั่วประเทศรัสเซีย คล้ายๆ กับที่กำลังเป็นอยู่ในเมืองไทยขณะนี้

คือถ้านับว่า Bolshevik และชาวคอมมิวนิสต์เป็นสีแดง ฝ่ายต่อต้านที่ยังนิยมซาร์ก็คือสีขาว ฝ่ายคอมมิวนิสต์มี “กองทัพแดง” (Red Army) ฝ่ายต่อต้านก็มี “กองทัพขาว” (White Army)

แกนนำของพวกสีขาวส่วนใหญ่คือพวกเจ้าที่ดิน อดีตนายทหารและข้าราชการ และพวกที่กลัวคอมมิวนิสต์ พากันตั้งกองกำลังเข้ายึดครองพื้นที่ห่างไกลกระจัดกระจายไว้ได้จำนวนพอสมควร พวกนี้อ้างว่าเลนินเป็นพวกขายชาติ เพราะไปยอมเซ็นสัญญาสงบศึกกับเยอรมันแบบเสียเปรียบ โดยต้องเฉือนดินแดนบางส่วนให้เยอรมันไป (Brest-Litovsk Treaty)

การต่อสู้ระหว่าง “กองทัพแดง” กับกองกำลังฝ่าย “รัสเซียขาว” เป็นไปอย่างรุนแรงและเหี้ยมโหด เพื่อข่มขวัญให้เกิดความกลัว ขณะเดียวกันฝ่ายแดงในเมืองที่นำโดยเลนินและตร๊อกสกี้ (Leon Trotsky) ก็เข้าควบคุมช่องทางสื่อสารมวลชนที่สำคัญๆ ทำโฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อแย่งมวลชนหรือให้ประชาชนส่วนใหญ่เลิกสนับสนุนฝ่ายสีขาวและสนับสนุนฝ่ายตน

Messages ที่ฝ่ายสีแดงนำเสนอมีหลายแบบ แต่หัวใจสำคัญคือสาดสีใส่พวก “สีขาว” ว่าเป็นพวกนิยมซาร์ทั้งหมด ถ้าสีขาวชนะก็จะนำซาร์กลับมาปกครองรัสเซียอีก (หมายถึงจักรพรรดิ Nicholas II) เพราะเลนินอ่านใจประชาชนออก ว่าส่วนใหญ่ขณะนั้นยังเกลียดซาร์อยู่ เนื่องจากพระองค์นำประเทศเข้าสู่สงครามโลก เป็นผลให้เกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง และขาดอาหาร อีกทั้งญาติพี่น้องก็ต้องถูกเกณฑ์ไปรบ กลับมาพิการและตายเป็นจำนวนมาก โดยที่รัฐบาลของซาร์แต่ก่อนแก้ไขอะไรไม่ได้เลย

แม้สมัยนั้นจะยังไม่มีทีวีดาวเทียมเช่นทุกวันนี้ แต่หนังสือพิมพ์อย่าง Pravda และ Izvestia ก็เพียงพอที่จะเกื้อให้กลยุทธ์ของฝ่ายแดงได้ผล แม้ในความเป็นจริงแล้วฝ่ายขาวก็ไม่ได้เป็นพวกสนับสนุนซาร์ไปเสียทั้งหมด อีกอย่าง ตัวซาร์เองและครอบครัวก็ถูกฝ่ายแดงประหารชีวิตไปแล้ว (เมื่อ 17 กรกฎาคม 1918) เพื่อส่งสัญญาณให้ทุกคนรู้ว่า การปฏิวัติต้องเดินหน้า จะไม่มีการหวนกลับไปอีก เพราะฉะนั้น ถ้ากองทัพแดงพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมือง ฝ่ายแดงและฝ่ายสนับสนุนแดงทั้งหมดก็จะต้องถูกแก้แค้น จุดนี้ทำให้ความโหดเหี้ยมของสงครามทวีขึ้นไปอีก

สงครามมักมาพร้อมกับความยากจน

สงครามระหว่างสีแดงกับสีขาวทำให้เศรษฐกิจและการผลิตชะงักงัน เกิดภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหาร ผู้คนอดอยากล้มตาย แม้แต่กองทัพแดงเองก็เริ่มปล้นชิงประชาชน ทำให้ประชาชนบางส่วนในชนบทเริ่มเกลียดชังกองทัพแดง

สงครามกลางเมืองดำเนินไปด้วยความเหี้ยมโหด ฝ่ายแดงที่กุมอำนาจรัฐอยู่ ใช้วิธีใต้ดินทุกวิธี ทั้งการจัดตั้งตำรวจลับคอยจับตาและปราบปรามประชาชน จัดตั้งค่ายกักกันสำหรับผู้ต่อต้าน ตลอดจนการลอบสังหาร

สีแดงกับสีขาวสู้กันมาตั้งแต่ปี 1917 จนถึงปี 1920 กองทัพแดงก็ตี Crimea ซึ่งเป็นฐานบัญชาการของฝ่ายขาวแตก แต่แม้จะเอาชนะสีขาวได้แล้ว ก็ใช่ว่าสงครามกลางเมืองจะสงบลง เพราะบรรดาชาวนาที่เกลียดชังพฤติกรรมและความไร้วินัยของกองทัพแดง ก็ได้รวมตัวกันขึ้นต่อต้าน โดยเรียกตัวเองว่า “กองกำลังสีเขียว” กลายเป็นสีแดงต้องมาปราบสีเขียวอีก

กองทัพแดงช่วงนั้นบัญชาการโดยตร๊อกสกี้ ได้ทำปราบสีเขียวแบบไร้ความปราณี ทำให้ชื่อเสียงของกองทัพแดงกระฉ่อนไปทั่วยุโรป แม้เมื่อเบอร์ลินกำลังจะแหลกเป็นผุยผงภายใต้อุ้งมือของกองทัพแดงในอีก 25 ปีต่อมา ฮิตเลอร์และบรรดาผู้นำนาซีเยอรมัน ยังแสดงอาการดูถูกกองทัพแดงอย่างออกนอกหน้า และก็สั่งให้สู้ตาย เพราะรู้ว่าถ้าถูกกองทัพแดงยึดก็จะพบชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน

เมื่อปราบฝ่ายตรงข้ามราบคาบแล้ว ทีนี้ก็เหลือสีแดงสีเดียว

สีแดงเข้าควบคุมเครื่องมือของรัฐทุกด้านทั่วประเทศ ปกครองโดยเผด็จอำนาจ และทำการปิดประเทศ โดยไม่สนใจการคว่ำบาตรใดๆ ทั้งสิ้น

อันที่จริง สหภาพโซเวียตเริ่มประกาศใช้แผนเศรษฐกิจตามแนว Marxism แบบเป็นทางการในปี 1928 เป็นแผนระยะ 5 ปี โดยเริ่มบังคับใช้ระบบนารวม และมุ่งเน้นการสร้างฐานอุตสาหกรรมให้ยิ่งใหญ่ อย่างที่เลนินเคยฝันไว้

เป็นที่น่าเสียใจและน่าผิดหวัง สำหรับผู้คนที่เอาใจช่วยเลนินและสีแดงมาตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อเลนินเสียชีวิตลงเมื่อปี 1924 สีแดงก็หันมาฆ่ากันเอง

เมื่อสตาลินผงาดขึ้นมากุมอำนาจได้สำเร็จ เขาก็เริ่มกวาดล้างสหายครั้งใหญ่ แม้ตร๊อกสกี้ที่เคยเป็นแกนนำผู้ยิ่งใหญ่หนึ่งในสามของสีแดงและคู่บุญเลนินมาตลอด ก็ยังต้องระเห็จไปต่างประเทศ แต่ก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือของมัจจุราช เพราะสตาลินได้ส่งทีมล่าสังหารไปถล่มยับถึงเม็กซิโก

ว่ากันว่า ในยุคที่สตาลินปกครองสหาพโซเวียตนั้น ผู้คนถูกกวาดล้างไปเป็นล้านๆ ถูกจับไปทรมานในค่ายกักกันก็มาก และถูกเนรเทศไปไซบีเรียก็ไม่น้อย ประชาชนอยู่ด้วยความหวาดกลัว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเสรีภาพหรือสิทธิของการแสดงออกเอาเลย

ทว่า โซเวียตยุคนั้นกลับเจริญ อุตสาหกรรมก้าวหน้า และแสนยานุภาพทางทหารก็มีขีดความสามารถสูง สามารถเผื่อแผ่ให้การสนับสนุนเงินทองและอาวุธแก่พรรคปฏิวัติทั่วโลกที่กำลังขะมักเขม้น ทำงานใต้ดินเพื่อวางแผนยึดอำนาจรัฐในประเทศของตัว

สองในนั้นก็มี “เหมาเจ๋อตง” และ “โฮจิมินห์” ซึ่งต่อมาจะได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างมีนัยะสำคัญ รวมอยู่ด้วย

ยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โซเวียตก็ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจคู่กับอเมริกา คราวนี้โซเวียตทำตัวเป็นพี่เบิ้มของยุโรปตะวันออกและประเทศสังคมนิยมทั้งหมด ให้การสนับสนุนทางอาวุธและทรัพยากรเพื่อสร้างเครือข่าย Communist Bloc ขึ้นทั่วโลก ทำให้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ซึ่งคนรุ่นผมก็เติบโตมาในบรรยากาศแบบนั้น

บัดนี้ สหภาพโซเวียตเป็นอดีตไปเสียแล้ว และระบบคอมมิวนิสต์ก็กลายพันธุ์ไปมากแล้ว นักประวัติศาสตร์บางคนถึงกับบอกว่า มันมาถึงยุคสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ ไม่มีใครสนใจ Marx อย่างจริงจังอีกต่อไป

แต่ถึงอย่างไร สงครามกลางเมืองเพื่ออุดมการณ์แบบนั้น ตลอดจนความทุกข์ยากทั้งมวลที่มากับสงคราม มันก็ได้เกิดขึ้นไปแล้วจริงๆ และคนตาย ก็ตาย “จริง” แม้จะตาย “ไปแล้ว” ก็เถอะ


ผมใคร่ขอจบการบรรยายตัวอย่างของสงครามกลางเมืองไว้เพียงนี้ แม้หลังจากนั้น จะเกิดสงครามกลางเมืองอีกแยะ แต่เพราะว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่ใกล้ๆ และเป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว ผมจึงไม่อยากจะกล่าวอีก

ประเด็นที่ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือว่า สงครามกลางเมืองเกิดขึ้นเสมอและตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แม้มนุษย์จะรู้ว่าสงครามนำมาซึ่งความทุกข์ยากแสนสาหัส แต่มนุษย์ก็พร้อมจะก่อสงคราม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของตนเสมอ

ดูแค่ร้อยปีที่ผ่านมานี้ มนุษย์ต้องสังเวยชีวิตไปในสงครามไม่รู้กี่ร้อยล้านคน นี่ยังไม่นับทรัพย์สินที่สูญเสียไปกับสงคราม ทั้งที่รัสเซียซึ่งกล่าวมาแล้ว ทั้งที่บาดเจ็บล้มตายระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งซึ่งครอบคลุมถึงมนุษย์เกือบทุกชาติทุกภาษา ไม่จำกัดเฉพาะคนยุโรปเหมือนแต่ก่อน ไหนจะพวกยิวที่เกือบถูก Wipe out อีกเล่า ยังไม่นับคนจีนที่ต้องตายไปกับสงครามปฏิวัติ ตอนที่เหมาเจ๋อตงรวบรวมแผ่นดินจีน และหลังจากนั้นที่ต้องอดตายเพราะนโยบายก้าวกระโดดและปฏิวัติวัฒนธรรม เรื่อยมาจนถึงยุคเทียนอันเหมิน ฯลฯ

ใกล้ตัวเราเข้ามาหน่อยก็ช่วงสงครามอินโดจีน รบกันยาวนานตั้งแต่เวียดนาม ลาว เขมร เรื่อยมา ซึ่งไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดให้แต่เฉพาะคนชาตินั้นๆ ก็หาไม่ เพราะแม้อเมริกันเองก็เจ็บปวดไปด้วย

ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยดูหนังฝรั่งที่ท้องเรื่องว่าด้วยสงครามเวียดนาม โดยมักมีตัวเดินเรื่องเป็นบรรดาชนชั้นกลางอเมริกัน ที่เห็นสงครามเป็นเรื่องสนุก แต่พอเจอเข้ากับตัว ก็ล้วนมีอันเป็นไปต่างๆ นาๆ เป็นความทุกข์ของตัวและญาติพี่น้อง ตลอดจนเพื่อนฝูงและผู้เกี่ยวข้อง

แม้แต่ “แรมโบ้” ที่มีภาพลักษณ์เข้มแข็ง เป็นฮีโร่ของคนอเมริกันอยู่ระยะหนึ่ง ก็ยัง “เพี้ยน” เลย


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 กันยายน 2552
ตีพิพม์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2552



อ่านคู่มือการใช้ชีวิตท่ามกลางสงครามกลางเมืองได้โดยคลิกบทความข้างล่าง


อยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมือง

อยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมือง

ชุด "สงครามกลางเมือง" Trilogy, Part I




“Conflict’ is to be in all situations in which transfers or redistribution occurs, and in all situations in which problems of distribution arise.”

Gordon Tullock
The Social Dilemma: The Economics of War and Revolution


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว สมัยที่มนุษย์ยังไม่ก้าวหน้าถึงเพียงนี้ มีสามเหตุการณ์ที่มักฉุดรั้งสังคมมนุษย์ และสร้างความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสให้แก่มนุษย์อยู่เสมอ นั่นคือ สงคราม โรคระบาด และทุพภิกขภัย

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางด้านเกษตรกรรม การผลิตและถนอมอาหาร ความรู้เรื่องโภชนาการ ตลอดจนวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้เหตุการณ์สองอย่างหลัง แม้ว่าจะยังไม่หมดไปจากโลกเสียเลยทีเดียว แต่ก็ไม่น่ากลัวหรือรุนแรงอย่างที่เคยเป็น (แม้จะมีคนเถียงว่า แต่ไหนแต่ไรมาเมืองไทยไม่เคยมีคนอดตายเพราะอุดมสมบูรณ์มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเคยตายกันเพราะโรคระบาดเสมอมา)

อันที่ยังกำจัดให้หมดไปไม่ได้เหลืออยู่อย่างเดียวคือ “สงคราม”

“สงคราม” เกิดและอยู่เคียงคู่กับมนุษย์ตลอดมา และแก้ไขให้ตกไปไม่ได้ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิทยาการ ความเจริญทางวัตถุ และการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ “ประชาธิปไตย” ที่พวกเราอยากได้กันนัก

ไม่ว่าอารยธรรมของมนุษย์จะก้าวมาไกลสักเพียงใด พวกเราก็ยังคงทำสงครามกันเองอยู่ดี Will และ Ariel Durant เคยเขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ว่า “ถ้านับย้อนหลังไป 3,421 ปี มีเพียง 268 ปีเท่านั้นที่โลกปลอดจากสงคราม” (The Lesson of History, 1st edition, 1968)

แค่ 8 ปีที่ผ่านมานี้ เราก็ได้เห็นสงครามใหญ่ถึงสองครั้ง คือสงครามระหว่างสหรัฐกับอัฟกานิสถาน และสงครามอิรัก ซึ่งยังคงยืดเยื้อเป็นสงครามกลางเมืองมาจนถึงขณะนี้

เรียกว่ามนุษย์ทุก Generation ที่เคยเกิดมาบนพื้นโลก ย่อมพบเห็นสงครามกันมาแล้วทั้งนั้น

ยกตัวอย่างเฉพาะกรณีคนไทยกับคนพม่า ในพงศาวดารเรื่อง “ไทยรบพม่า” งานวิจัยที่ค่อนข้างละเอียดเกี่ยวกับสงครามระหว่างไทยกับพม่า นิพนธ์โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “ตามเรื่องราวที่ปรากฏมาในพงศาวดาร เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไทยได้ทำสงครามกับพม่า ๒๔ ครั้ง ต่อมาถึงเมื่อกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้ทำสงครามกับพม่าอีก ๒๐ ครั้ง รวมเป็น ๔๔ ครั้งด้วยกัน ในจำนวนสงครามที่ว่ามานี้ ฝ่ายพม่ามาบุกรุกรบไทยบ้าง ฝ่ายไทยไปบุกรุกรบพม่าบ้าง........ไทยกับพม่ารบกันเป็นครั้งที่สุด เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ ในคราวไทยไปตีเชียงตุง เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ต่อนั้นก็มิได้รบพุ่งกันอีกจนตราบเท่าทุกวันนี้” (พงศาวดารเรื่อง “ไทยรบพม่า”, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. ๒๕๕๑)

เห็นไหมครับ เอาแค่สมัยกรุงธนบุรีมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ เพียงสามชั่วอายุคนเท่านั้น ไทยกับพม่าทำสงครามกันถึง ๒๐ ครั้ง อันนี้ยังไม่รวมที่เคยรบกับลาว ญวน เขมร และมาลายู หรือรบกันเอง อีกไม่รู้กี่สิบครั้งในช่วงนั้น

ถ้าลองคำนวณค่าเฉลี่ยดู ก็เท่ากับช่วง พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๙๖ เพียง 86 ปี เกิดรบพุ่งกับพม่าเพียงกลุ่มเดียวถึง 20 ครั้ง เมื่อหารเฉลี่ยดูแล้วคือประมาณ 4 ปีกว่าต่อครั้ง สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของโลกที่ยกมาข้างต้นว่า 8 ปีที่ผ่านมา เกิดสงครามใหญ่สองครั้ง และถ้าย้อนหลังไปอีกก็จะเจอ “สงครามล้างเผ่าพันธุ์” ในคาบสมุทรบอลข่าน (เรียกว่า Yugoslav War) และ “สงครามอ่าวเปอร์เซีย” (Gulf War) ตามลำดับ เฉลี่ยแล้วประมาณ 4-5 ปีต่อครั้งเช่นกัน

และถ้ากรอภาพเหตุการณ์โลกย้อนกลับไปอีก เราก็จะพบสงครามเขมร (เพิ่งจบแบบถาวรเมื่อเกิดนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”) สงครามในพม่ากับชนกลุ่มน้อย สงครามสั่งสอนระหว่างจีนกับเวียดนาม สงครามลาว สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามเวียดนาม สงครามหกวัน ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ สงครามปลดแอกจำนวนมากในอเมริกาใต้และอาฟริกา สงครามเกาหลี สงครามกลางเมืองในจีนที่สุดท้ายฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะ สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามกลางเมืองในรัสเซีย สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามบนคาบสมุทรบอลข่านทั้งสองครั้ง สงครามกลางเมืองในจีนยุคขุนศึก สงครามกลางเมืองในตุรกี สงครามญี่ปุ่นกับรัสเซีย สงครามญี่ปุ่นกับจีน สงคราม Boer สงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐฯ สงครามตุรกีกับกรีซเพื่อแย่งเกาะครีต สงครามฝรั่งเศสกับปรัสเซีย สงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ สงครามแหลมไครเมีย สงครามหลายสิบครั้งคราวนโปเลียนครองอำนาจ สงครามกลางเมืองฝรั่งเศส สงครามปลดแอกสหรัฐฯ........เอาเพียงแค่นี้ก่อน

Edward Dewey เคยศึกษาเรื่อง War Cycle อย่างจริงๆ จังๆ แล้วก็ประมาณว่า วัฏจักรของสงครามมีหลายรอบซ้อนกันอยู่ เช่น 142, 57, 22.2, และ 11.2 ปีต่อครั้ง โดยที่รอบของสงครามกลางเมืองจะเกิดทุก 170 ปีโดยประมาณ (อ้างจาก Mark Faber, Of War Cycles and their Economic Consequences, GBD Report 29th March, 2003)

เขายังศึกษาอีกว่า ธรรมชาติมีส่วนต่อการเกิดสงคราม เช่นสภาวะของดินฟ้าอากาศในแต่ละปี น้ำท่วม ฝนแล้ง วัฏจักรความแล้งของแม่น้ำไนล์และวงจรชีวิตของต้นไม้ ฯลฯ โดยที่ผมสะกิดใจกับข้อสังเกตอันหนึ่งที่ว่า “Warm periods were the time of dictators and international wars, while cold periods produced civil unrest and democracy.”

อันนี้ก็ฟังหูไว้หู แต่ถ้ามันเกิดมีมูลตามสถิติข้อมูลที่เขาเพียรเก็บมา ก็น่าเป็นห่วงว่า “ภาวะโลกร้อน” จะส่งผลสนับสนุนพวกเผด็จการและบ้าสงครามให้ขึ้นมาเป็นใหญ่

นอกจากนั้น เขายังพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่าง Biological Cycle และ Economic Cycle โดยเขาศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและเศรษฐกิจ เช่นการเก็บเกี่ยว การเกิดโรค วงจรและวัฏฏะจักรของโรงระบาด การเพิ่มพันธุ์สัตว์ตามธรรมชาติ การเพิ่มจำนวนหรือลดจำนวนของสัตว์และพืชชนิดสำคัญๆ ผลผลิตและราคาพืชผล ตลอดจนโภคภัณฑ์ที่สำคัญ ฯลฯ

เขากล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “In my own mind I picture the space in which we live as filled with forces that alternately stimulate and depress all human beings—make them more or less optimistic, or make them more or less fearful. Those forces do not control us, they merely influence us. They create a climate that is sometimes more favorable to war and sometimes less favorable. War will come without the stimulus of those forces and wars will be avoided in spite of these stimuli, but, on the average, the probabilities for war are greater when “climate” is right. The evidence suggests that one of the major causes, may be mass hysteria or combativeness, which occurs at reasonably regular rhythmic intervals.”

ที่ผมขีดเส้นใต้ประโยคสุดท้ายไว้นั้น เพราะผมคิดว่าข้อสังเกตอันนี้ มันช่างเหมาะเจาะ และ “เข้า” กับสถานการณ์ของสังคมไทยปัจจุบันเสียนี่กระไร

เมื่อพิจารณาเรื่องนี้ประกอบกับระดับราคาพืชผลเทียบกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาหุ้นของกิจการส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่หุ้น Blue Chip ภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และความสามารถในการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงของระบบการเมือง ข้าราชการ พระสงฆ์ และสถาบันหลัก ฯลฯ อาจช่วยให้พวกเราเข้าใจตัวเองได้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน ใกล้ไกลจากภาวะสงครามกลางเมืองเพียงใด

ที่เขียนมาอย่างยืดยาวข้างต้น เพราะผมค่อนข้างมั่นใจว่าสภาวการณ์ของสังคมไทย ณ วันนี้อยู่ไม่ไกลจากภาวะสงครามกลางเมืองเท่าใดนัก

ในฐานะบรรณาธิการนิตยสารฉบับนี้ ผมตัดสินใจเสนอให้กองบรรณาธิการพิจารณาให้ยกเรื่อง “สงครามกลางเมือง” ขึ้นมาเป็น Cover Story ทันทีที่ผมทราบข่าวว่าสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกยิงอย่างอุกอาจและทารุณ

และในฐานะนักเขียน ผมได้ Observe ความเป็นไปในสังคมไทยมาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสามปีหลังมานี้ ผมเห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มันค่อยๆ Drag Down สังคมไทยลงไปเรื่อยๆ และก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

อันที่จริง การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจและความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มคนเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม ตราบใดที่มีกรอบกฏิกาที่ชัดเจนโปร่งใสโดยทุกคนยอมเคารพกติกา ก็ไม่จำเป็นต้องหวาดหวั่น ในอดีตเราก็เคยแก้ไขกันได้โดยวิธีการหรือกระบวนการ “แบบไทยๆ” ของเราเองในแต่ละรอบ โดยสามารถหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองใหญ่โตและรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสังคมอื่นได้ทุกครั้งไป แต่คราวนี้มันพิเศษ เพราะวิธีการที่เคยได้ผลมันกลับล้มเหลวขณะที่ยังหาหนทางใหม่ไม่เจอ ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งมันยืดเยื้อยาวนาน ยาวนานจนมันได้บ่มเพาะให้คนไทยทั้งมวลเกิดความเกลียดชัง หมั่นไส้ ดูถูก เหยียดหยาม ชิงชัง เคียดแค้น กันเองในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ผมอ่าน-ฟัง-ดู สื่อมวลชนสำคัญๆ ที่เอาใจช่วยและแอบเอาใจช่วยแต่ละ “สี” ใช้คำพูดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีดีดักแล้ว ผมคิดว่านั่นมันก็เพียงพอสำหรับการยกพวกรบกันแล้วหละ (ผมชอบคำของ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ใช้ว่า “...ความเกลียดชังระหว่างกันที่พร้อมจะเหยียดให้อีกฝ่ายหนึ่งสูญเสียความเป็นคนไป....” อ้างจาก “การเมืองที่พระยังยุ่งไม่ได้” มติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ ๑๕-๒๑ พฤษภาคม ๒๔๔๑)

บอกได้เลยว่า ขณะนี้สังคมไทยอยู่ในภาวะล่อแหลมต่อการเกิดสงครามกลางเมือง

ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความนี้ ความเคียดแค้นชิงชังก็ได้ลุกลามไปทั่วด้านแล้ว เพราะนอกจากแต่ละฝ่ายจะเขียนหนังสือด่ากัน พูดวิทยุด่ากัน และออกทีวีด่ากัน ตลอดจนใส่เสื้อกันคนละสีและปลุกม็อบปะทะกันแล้ว ยังสร้างละครด่ากัน สร้างหนังด่ากัน เขียนและอ่านบทกวีด่ากัน แต่งเรื่องสั้นด่ากัน ปาฐกถาด่ากัน โต้วาทีด่ากัน ด่ากันในที่ประชุมสำคัญๆ รวมถึงในที่ประชุมของนายตำรวจและทหารชั้นผู้ใหญ่ วาดภาพด่ากัน ปั้นรูปด่ากัน แต่งเพลงและร้องเพลงด่ากัน เขียนเว็บและโพสต์เว็บด่ากัน โพสต์ YouTube ด่ากัน ลอบยิงกัน สะสมอาวุธแข่งกัน แอบจัดทัพแข่งกัน บอยคอตสินค้ากัน หรือแม้กระทั่งตั้งพรรคการเมืองมาแข่งกัน

เหลืออยู่อย่างเดียวคือจุด Trigger Point ที่อาจเป็นเหตุการณ์แบบ “น้ำผึ้งหยดเดียว” ก็ได้

อีกอย่าง คนรุ่นนี้ที่รวมถึงแกนนำที่แท้จริงของกลุ่มสีที่ขัดแย้งกัน ตลอดจนผู้ที่กุมอำนาจส่วนใหญ่ในองค์กรสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อีกทั้งผู้นำมวลชนชั้นล่างที่รู้สึกว่าตัวเองถูกกดขี่มายาวนาน ล้วนเป็นคนรุ่นที่เกิดไม่ทันและไม่เคยซาบซึ้งถึงพิษภัยของสงครามมาก่อน หลายคนถึงกับแสดงออกมาว่าสงครามเป็นเรื่องจำเป็น และเห็นสงครามเป็นเรื่องสนุกเอาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเวทีปราศรัยและตามเว็บไซต์ที่เปิดให้โพสต์ความเห็นต่อท้ายบทความต่างๆ

Bismarck เคยตั้งข้อสังเกตว่า “a generation that has taken a thrashing is always followed by one that deals out of the thrashings” (อ้างจาก Alistair Horne: The Price of Glory, Penguin Books 1993)

สอดคล้องกับนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ Arnold Toynbee ที่เคยกล่าวไว้ว่า “The survivors of a generation that has been of military age during a bout of war will be shy, for the rest of their lives, of bringing a repetition of this tragic experience either upon themselves or upon their children, and……therefore the psychological resistance of any move towards the breaking of a peace…..is likely to be prohibitively strong until a new generation….has had the time to grow up and to come into power. On the same showing, a bout of war, once precipitated is likely to persist until the peace-bred generation that has been lightheartedly run into war has been replaced, in its turn, by a war-worn generation.” (Arnold Toynbee, A Study of History, Abridgement of Volume I-VI by Oxford University Press, 1946)

ผมเคยอ่านงานของ Abraham Maslow ที่กล่าวถึงบรรดานักจิตวิทยารุ่นใหญ่ที่เติบโตมาในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งแรกอย่าง Adler, Freud, หรือ Jung ล้วนเคยบำบัดทหารผ่านศึกเยอรมันที่เคยผ่านความโหดร้ายจากแนวรบตะวันตก แล้วก็ต้องแปลกใจที่คนเหล่านี้กลายเป็นคนสุภาพมาก ไม่ชอบความรุนแรง ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการทะเลาะเบาะแว้งอีกเลย แม้จะถูกเยาะเย้ยถากถาง ก็ไม่สนใจจะไปตอบโต้ (ใครอยากรู้ว่าความโหดของแนวรบตะวันตกมีผลกระทบต่อคนหนุ่มเยอรมันยุคนั้นยังไง ผมแนะนำให้อ่าน “แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” ของเอริค มาเรีย เรอมาร์ค แปลโดยหม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิตติยากร, สำนักพิมพ์อ่านไทย, ๒๕๔๒)

อันนี้นับว่าไปกันได้กับความเชื่อและความเข้าใจของคนไทยที่มักเชื่อว่า “นักเลงจริง” คือพวกที่ไม่พูดมาก ไม่เอะอะมะเทิ่ง ท้าตีท้าต่อย อวดดี ข่มขู่คุกคามด้วยวาจาและการกระทำ ไม่เหมือนกับพวก “อันธพาล”

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้มิได้หมายความว่าผมอยากจะให้เกิดสงครามกลางเมืองนะครับ ผมวิงวอนทุกวันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะจากการอ่านงานประวัติศาสตร์สงครามที่เคยเกิดมาในบ้านเมืองอื่น ผมรู้ว่ามันขมขื่น และความขมขื่นมันไม่จบที่คนรุ่นนั้น มันยังจะถ่ายทอดเหมือนกรรมพันธุ์ไปสู่คนรุ่นต่อไปอีก และความขมขื่นมันจะแบ่งแยกสังคมออกเป็นซ้ายเป็นขวา เป็นเหนือเป็นใต้ เป็นเจ้าเป็นไพร่ มิใช่ว่าปัญหาและความขัดแย้งทั้งมวลจะจบบริบูรณ์เมื่อได้ฆ่ากันเรียบร้อยไปแล้วซะเมื่อไหร่

ผมขออ้าง Karl Marx อีกสักคนเถอะ....ในข้อเขียนเรื่อง The Eighteenth Brumaire of Louis Napoleon (ซึ่งหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ตทั่วไปเลยครับ) เขาให้ข้อสังเกตถึงอิทธิพลของความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นก่อนต่อคนรุ่นต่อมาได้อย่างแหลมคมว่า “The tradition of all the dead generations weights like a mountain on the mind of the living.”

ผมรู้เลยว่าถ้าเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น พวกเราและลูกหลานเราจะต้องพานพบกับความรู้สึกหลากหลายที่โดยปกติแล้วมนุษย์อยากจะหลีกไปให้พ้นๆ นั่นคือความเศร้าสลด หดหู่ สูญเสีย พลัดพราก ขมขื่น ลำบาก ยากแค้น เคียดแค้น พยาบาท หวาดกลัว ถูกกด ถูกจำกัด ถูกทำให้ล้าหลัง ถูกลิดรอน ทั้งทรัพย์สินและสิทธิเสรีภาพทั่วด้าน

ไม่มีใครเลยที่จะรอดพ้นจากความรู้สึกที่ว่านี้ได้........................


แล้วไงดี


แต่จะให้จบบทความแต่เพียงเท่านี้ มันก็กระไรอยู่ เพราะผู้อ่าน MBA ส่วนใหญ่คงจะไม่ยอม และคงจะถามต่อว่า “แล้วไงต่อ” ตามประสาปัญญาชนคนชั้นกลางที่มีปัญญาความคิดอ่านก้าวหน้า เป็นตัวของตัวเอง และดำเนินชีวิตด้วยสติสัมปชัญญะมั่นคง

เป็นธรรมดาอยู่เองที่ย่อมมีคนส่วนน้อยบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสงคราม เถ้าแก่บางคนที่ตอนหลังสามารถต่อยอดจนยิ่งใหญ่กลายเป็น “ไทคูน” ครอบครองกิจการขนาดยักษ์ในเมืองไทย ก็เคยสร้างตัวมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่เชื่อลองศึกษาประวัติของ ชิน โสภณพนิช และ เทียม โชควัฒนา ให้ละเอียด ก็จะสามารถพบเครือข่ายเหล่านั้นได้

แต่ผมขอไม่กล่าวถึงโดยละเอียด ขอละไว้ในที่เข้าใจ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่าคนเหล่านี้สามารถเอาประโยชน์จากสถานการณ์สงครามได้ เพราะอย่าลืมว่าในภาวะสงครามนั้น มักเกิดความขาดแคลน ทั้งอาหารและสินค้าอุปโภค ตลอดจนสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหลาย อีกทั้งกลไกควบคุมของรัฐที่เคยควบคุมราคาสินค้าอยู่ก่อนมักถูกละเลยในยามสงครามเพราะไปมัวมุ่งเน้นแต่ในด้านความมั่นคง พ่อค้าที่เห็นการณ์ไกลและคาดการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำ ย่อมสามารถทำกำไรได้หลายเท่าตัว เพราะอัตรากำไรที่ได้กันในยามสงครามย่อมสูงผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดมืด

ภาวะขาดแคลนย่อมนำมาซึ่งการปันส่วนสินค้าจำเป็น เช่นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และพลังงาน (เช่นน้ำมันและไฟฟ้า) ตลอดจนเงินตราต่างประเทศ ทำให้ “ตลาดมืด” เกิดขึ้นทั่วไป กิจการขนาดใหญ่ย่อมถูกจับตาจากรัฐบาลในยามสงคราม จึงไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในตลาดมืดได้สะดวก ช่องว่างนี้เองที่เอื้อให้บรรดา “เศรษฐีสงคราม” เกิดขึ้นได้

นอกจากนั้น ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว การจลาจลและการสู้รบยังขัดขวางการผลิตและการค้า ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อ Supply ของผลผลิต ซึ่งจะส่งผลให้ราคาผลผลิตเกิดความผันผวน เป็นช่องว่างสำหรับ “เก็งกำไร” ทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้ง Speculative Opportunity และ Arbitrage Opportunity ผู้ที่ควบคุมข้อมูลหรือเข้าถึงแหล่งข้อมูลวงในได้ก่อน หรือมีข้อมูลครบถ้วน เก็งได้ถูก ก็จะสามารถทำกำไรได้โดยไม่ต้องลงแรงอะไรเลย

เช่นเดียวกัน ราคาสินทรัพย์ประเภทอื่นนอกเหนือจากผลผลิตก็จะผันผวนไปด้วย เนื่องจากเงินตราที่เป็นกระดาษจะลดค่าลงเพราะคนมักหมดความเชื่อมั่นในยามสงคราม หันไปเก็บออมเป็นทองคำและสินทรัพย์มีค่าชนิดอื่น ซึ่งก็เป็นช่องว่างให้ Banker ยุคใหม่สามารถแทรกตัวขึ้นมาให้บริการแปลกๆ ใหม่ๆ ได้ท่ามกลาง Banking Monopoly ที่ยึดกุมระบบการเงินอยู่อย่างเหนียวแน่นในภาวะปกติ

โดยปกติแล้ว สงครามกลางเมืองมักทำลาย Monopoly ไปด้วยในตัว หลังการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ชนชั้นพ่อค้ามั่นคงขึ้นและเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด โอกาสทางการค้าเปิดกว้างให้แก่พวกเขา ต่างกับก่อนการปฏิวัติฯ ที่กิจกรรมการค้า การเงิน และอุตสาหกรรมถูกผูกขาดอยู่ในมือของกลุ่มชนชั้นสูงไม่กี่กลุ่ม

ผมคิดว่าถ้าเกิดสงครามกลางเมืองในเมืองไทย สภาพการณ์ก็คงจะไม่ต่างกัน โครงสร้างการผลิตสินค้าที่จำเป็นในเมืองไทยนั้น กระจายกันอยู่ในมือของผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยทั่วประเทศ ยกตัวอย่างการทำนา ทำสวน ก็จะเห็นได้ไม่ยาก เพียงแต่เมื่อผลผลิตเหล่านั้นหลุดออกจากมือของเกษตรกรต้นทางแล้ว ขั้นตอนการผูกขาดจะเข้ามาแทนที่ แล้วเป็นเช่นนั้นต่อไปจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภคคนสุดท้าย

ฉะนั้นเมื่อเกิดสงครามขึ้น โอกาสที่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จะผูกขาดกระบวนการรับซื้อผลิตผลและกระบวนการกระจายสินค้าเช่นในภาวะปกติคงเป็นไปได้ยาก เพราะภาวะอนาธิปไตยจะนำมาซึ่งการขัดขืนทำให้ระบบผูกขาดแตกตัวออก หรือการจลาจลและการรบอาจทำให้เครือข่ายการสื่อสารคมนาคมระดับทั่วประเทศพังทลายลง ทำให้ตลาดถูกแบ่งออกเป็นหลายเขตแคว้น ผู้เล่นรายใหม่จำนวนมากจะสามารถแทรกเข้าไปในแต่ละพื้นที่แบบกระจัดกระจาย เพราะกำไรส่วนเกินในภาวะสงครามมันล่อใจ

แม้แต่สินค้าที่ดูเหมือนฟุ่มเฟือยทว่าลึกๆ แล้วบางทีก็จำเป็นต่อพลังงานของมนุษย์ (เพราะช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานอึดขึ้นและยาวนานขึ้น) อย่างแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ อุ กระแช่) คาเฟอิน (กาแฟ ชา เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำอัดลม) นิโคติน (บุหรี่ ใบยา) หรือสารกระตุ้น (Stimulant) ประเภทอื่น ซึ่งมักถูกผูกขาดอยู่ในภาวะปกติ ก็อาจจะกลับพลิกผันได้ เพราะเมื่อสารกระตุ้นในตลาดที่คุ้นชินขาดแคลนในยามสงคราม ผู้คนก็จะแสวงหา Stimulant เอาเอง เช่นจากการต้มเหล้า หมักไวน์ หรือหมักเบียร์ ดื่มเอง เพราะอย่าลืมว่าความรู้ในการผลิตของเหล่านี้ มีอยู่แล้วในพื้นบ้านไทย

คนจีนอพยพที่หนีมาตายเอาดาบหน้าในเมืองไทยสมัยก่อน เพราะทนความยากแค้นในเมืองจีนยุคสงครามกลางเมืองย่อมทราบอยู่แก่ใจดีว่า “สงครามมักมากับเศรษฐกิจตกต่ำและความยากจน” ไม่เชื่อผู้อ่านที่ยังมี “อากง อาม่า” อยู่ ก็ลองถามดูก็ได้

มันเป็นเรื่องนอกเหนือจินตนาการของคนรุ่นหลังไปมาก ถ้าจะบอกว่าต้องแบกเงินเป็นปึกๆ ใส่ตะกร้าไปจ่ายตลาด เพื่อซื้ออาหารเพียงไม่กี่ชนิด

ผมยังจำได้ว่าเคยอ่านชีวประวัติของ Dr. Horace Greeley Hjalmar Schacht ผู้กุมหางเสือเศรษฐกิจคนสำคัญของเยอรมนี ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งแรกมาจนกระทั่งฮิตเลอร์สร้างประเทศก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งหลัง ทั้งในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารชาติเยอรมนี (สมัยก่อนเรียกว่า Reichsbank) เขาได้เล่าถึงความยากลำบากในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีหลังพ่ายแพ้สงคราม และต้องรับภาระหนักตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันตกต่ำอย่างหนัก และภาวะเงินเฟ้อก็สูงแบบไม่น่าเชื่อ ค่าเงินมาร์กตกลงแทบจะเหลือ “ศูนย์” เขาบอกว่า “น่าสงสารคนแก่ที่อุตสาห์ทำงานเก็บเงินมาชั่วชีวิต เพราะเงินเก็บและเงินฝากธนาคาร ถูก Wipe-out ไปหมดในพริบตา”

ผมจินตนาการถึงตรงนี้ทีไร ดูเหมือนที่คอจะมีก้อนอะไรขวางอยู่ทุกทีไป

เพื่อนคนไทยที่แต่งงานไปอยู่เยอรมันเคยเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เกิดสงครามอิรักใหม่ๆ คนแก่เยอรมันที่เคยผ่านสงครามโลกมาตอนยังเป็นเด็ก ล้วนมีพฤติกรรมแปลกๆ อย่างเช่นซื้อหาอาหารมาตุนจำนวนมาก เบิกเงินจากธนาคารมาซื้อทอง โดยแบ่งซื้อเป็นทองชิ้นเล็กๆ ไม่นิยมชิ้นใหญ่ เป็นต้น

พฤติกรรมแบบนั้นแม้จะดูตลกขบขันสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่เป็น Defensive Strategy ที่ถูกต้อง

แม้แต่คนไทยยุคนี้ ผมยังอยากจะแนะนำให้กระจายการถือครองสินทรัพย์ เผื่อเกิดสงครามขึ้นโดยไม่คาดฝัน เช่นถือเงินตราต่างประเทศสกุลแข็งหลายสกุล ถือทองคำ หรือฝากเงินกับธนาคารนอกประเทศ เพราะหลายครั้งเมื่อเกิดสงครามกลางเมือง ธนาคารพาณิชย์ในประเทศจะตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านทันที หลายคนที่ถูกสงสัยว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็อาจจะถูกอายัดเงินฝาก (อย่างกรณีของพวกยิวในเยอรมนีสมัยพรรคนาซีครองอำนาจก็เคยเจอแบบนี้มาแล้ว หรือแม้แต่คนในอาณัติเยอรมันที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยช่วงสงครามโลกครั้งแรกหลังจากที่ไทยประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะก็เคยเจอแบบนี้มาบ้าง)

กิจกรรมการเงินที่เคยเป็นแบบ “เสรี” (เช่นการเบิกเงิน โอนเงิน แลกเงิน) ก็อาจถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด และกิจกรรมการค้าที่เคยแลกเปลี่ยนกันได้แบบ “เสรี” ก็อาจถูกจำกัดโควตา ถูกบล็อก ถูกตรวจสอบอย่างละเอียด และการส่งออกนำเข้ากับบางประเทศอาจถูก Embargo

เป้าหมายของสงครามกลางเมืองคือ “การยึดอำนาจรัฐ” ดังนั้น การสู้รบหรือการจลาจลจะรุนแรงและก่อความเสียหายมากในเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐ เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น หรือสงขลา เป็นต้น

ผมเคยคุยกับคนแก่ที่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่สองมามาก หลายคนเคยหลบภัยลูกระเบิดไปอยู่ต่างจังหวัด ตามจังหวัดใกล้ๆ เช่นฉะเชิงเทรา อยุธยา ชลบุรี หรือแม่กลอง เหตุผลเพราะอุดมสมบูรณ์ ถ้าไม่เป็นแหล่งปลูกข้าว ปลูกมัน ก็เป็นแหล่งประมง

นับว่าเป็นความคิดที่ฉลาด เพราะถ้าหาคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนจากข้าวไม่ได้ ก็หาจากถั่วจากมันแทน หรือถ้าหาจากข้าวและถั่วมันไม่ได้ ก็ต้องหาโปรตีนเอาจากปลา

แต่ถ้าเกิดสงครามกลางเมืองกันคราวนี้จริง ผมว่ามันจะซับซ้อนกว่า เพราะแต่ละพื้นที่ล้วนมี “สี” เป็นของตัวเอง คือถ้าไม่สีแดง ก็สีเหลือง สีน้ำเงิน หรือไม่ก็สีเขียว ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าใครอยากจะลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่คิดเผื่อเรื่องหลบภัยสงครามไปด้วยในตัว ผมว่าเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน อากาศดี อุดมสมบูรณ์และ “ปลอดสี” แถมราคาที่ดินยังไม่สูงมากนักอย่าง “น่าน” น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

ส่วนการลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์เอกชนนั้น ผมว่าเสี่ยงมากในยามสงคราม เพราะกิจการหลายกิจการจะเจ๊ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินมักถึงกาลอวสานเมื่อเกิดสงคราม นั่นอาจส่งผลกระทบต่อบรรดาตราสารอนุพันธ์ทั้งหลาย ซึ่งคงจะม้วยมลายหายสิ้นไปด้วย เพราะสัญญาเหล่านี้ส่วนใหญ่คู่สัญญาจะเป็นสถาบันการเงินและกิจการในเครือข่ายแทบทั้งสิ้น เมื่อคู่สัญญาหายไปจากโลก แล้วจะไปเคลมเอากับใคร หรือส่งมอบให้ใคร

ผมไม่มีอะไรจะสรุปมากไปกว่าจะบอกว่า

“ผมกลัว”


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

20 กันยายน 2552

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.2552

คุณหมอลดาวัลย์ที่ผมรู้จัก



การเขียนประวัติบุคคลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะคนทุกคนย่อมมีหลายด้านหลากมิติ มีทั้ง ถูก ผิด ดี เลว กิเลส ตัณหา ดำ ขาว เทา สำเร็จ ล้มเหลว แข็งกร้าว อ่อนโยน เมตตา อหังการ อลังการ ยึดมั่นในอุดมการณ์อุดมคติ ทว่าบางครั้งก็โลเลเหลวไหล ฯลฯ สุดแท้แต่ว่ามิติใดจะแสดงตนหรือเข้มข้นขึ้นในช่วงไหน เวลาใด และเมื่อเวลาเปลี่ยน คนส่วนใหญ่ก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย ครั้นจะเขียนแต่เพียงด้านเดียว จุดเดียว หรือ Tone เดียว โดยละทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง จุดใดจุดหนึ่งไป ในฐานะนักเขียนแล้ว มันก็จะเป็นการดูแคลนตนเองจนเกินไป

ดังนั้น ผมจึงพอใจที่จะเขียนถึงเฉพาะคนที่ผมสามารถประจักษ์กับตัวเองได้มากกว่าอย่างอื่น คือผมต้อง Observe เอง เห็นเอง ได้ยินเอง สัมผัสเอง รู้สึกเอง หรือถ้าเป็นเรื่องราวแต่หนหลัง ก็ต้องได้ยินได้ฟังจากผู้ใหญ่ที่ผมเชื่อถือได้อย่างสนิทใจ แล้วค่อยมาคิดหาเหตุผล สืบสวนสอบสวน ต่อยอดเอาเอง

คุณหมอลดาวัลย์เป็นบุคคลที่ผมอยากเขียนถึงมานานแล้ว เพราะชีวิตท่านมีสีสัน ทั้งในแง่พื้นฐานที่มาของวงศ์ตระกูล การศึกษา การงาน และความคิด ล้วนเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญอย่างกว้างขวาง และผ่านช่วงพลิกผันขึ้นลงอันน่าสนใจ

สำหรับผมแล้ว ผมสนใจพัฒนาการทางความคิดของท่านมากกว่าด้านอื่น เพราะผมถือว่าท่านเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก และได้รังสรรค์ Innovation สำคัญให้กับวงการแพทย์สมัยใหม่


ผมชอบศึกษา “Anatomy ของความคิดสร้างสรรค์” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของบรรดาบุคคลสำคัญที่ความคิดของพวกเขามีส่วนเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมมนุษย์ โดย Observe เอาจากชีวประวัติและอัตชีวประวัติจำนวนมาก ก็พบว่าความคิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ มักจะมาจากความศรัทธาอย่างแรงกล้า ความรักหรือลุ่มหลงอย่างแรงกล้า ความอยากรู้อย่างแรงกล้า หรือไม่ก็ความทุกข์ หรือไม่ก็ความกลัว ความหวัง ความกล้าหาญ อยากพิชิต อยากครอบครอง อยากเอาชนะ หรือบางทีก็มาจากความเกลียดและเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรง ก็มี ทว่าทั้งหมดนั้นย่อมต้องผ่านกระบวนการคิด ตรึกตรอง ฝึกฝน และสอนตัวเอง (Autodidact) อย่างหนักหน่วง ต้องคิดซ้ำแล้วซ้ำอีก สืบสวนสอบสวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ทดลองแล้วทดลองอีก แก้แล้วแก้อีก เกลาแล้วเกลาอีก ต้องกัดติด ต้องลุ่มหลงในความรู้อย่างหัวปักหัวปำ ฯลฯ ถึงจะสามารถผลิตความคิดหรือผลงานที่ “บิน” ไปได้ เป็นความคิดที่มัน Breakthrough และเป็น Creative Fecundity

คุณหมอลดาวัลย์ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับนักสร้างสรรค์เหล่านั้น และแน่นอน ความเป็นมาและประสบการณ์ของคุณหมอย่อมมีส่วนบ่มเพาะและเป็นอาหารชั้นเลิศให้กับความคิดสร้างสรรค์ดังว่า

ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ได้พบกับคุณหมอ แม้จะนานมาแล้ว เมื่อหวนนึกดูและลองตรวจสอบความทรงจำของตนดูอย่างละเอียด ก็จะพบมโนภาพว่าคุณหมอเป็นคนมีความเชื่อมั่นมาก มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในสิ่งที่ตนทำและในแนวทางที่ตนเชื่อ ผมคิดว่ามันคง “แรงกล้า” และ “มุ่งมั่น” “กัดติด” จนผมรู้สึกและสัมผัสได้

ประการสำคัญคือ วันนั้นเป็นงานเลี้ยงวันเกิดคุณเฉลียว สุวรรณกิตติ สามีของคุณหมอที่เพิ่งจะป่วยได้ไม่นาน สมัยนั้นผมเพิ่งก่อตั้งนิตยสาร Corporate Thailand ใหม่ๆ และคุณพรศรี หลูไพบูลย์ ซึ่งเป็นประชาสัมพันธ์ใหญ่ให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ขณะนั้น ได้เชิญผมไปกินเลี้ยงเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคุณเฉลียวด้วย พร้อมกับผู้บริหารระดับสูงของซีพีอีกหลายท่าน และผมก็ได้เห็นกับตาว่าอาการของคุณเฉลียวดีขึ้นมาก ซึ่งอาการแบบนั้น ช่างห่างไกลจาก Perception ของผมที่มีต่อคนป่วยชนิดเดียวกันนี้มาก

แม้ปัจจุบัน เวลาจะล่วงเลยมานานและอายุอานามจะเข้าวัยที่ควรเกษียณ ทว่าคุณหมอก็ยังคงพูดและแสดงออกอย่าง “แรงกล้า” ดังเดิม ดีไม่ดี อาจจะมากกว่าเดิมเสียซ้ำ

พื้นฐานการศึกษาของคุณหมอเอง ก็น่าจะมีส่วน Shape ความคิดความอ่านมากโขอยู่ เพราะการที่คุณหมอเป็นนักเรียนแพทย์เยอรมันในยุคที่เยอรมนีเพิ่งจะฟื้นตัวจากสงครามโลกไม่นานนัก น่าจะส่งผลต่อความคิดความอ่านในช่วง Formative Years ของคุณหมอมาก

ใครๆ ก็รู้ว่าคนเยอรมันนั้นมีระเบียบวินัยมาก ให้คุณค่ากับความเที่ยงตรงและแม่นยำของความรู้ ทำงานหนักและลงลึก ที่สำคัญ ความรู้ที่สั่งสมมาในสังคมเยอรมันนั้นไม่เป็นสองรองใคร อีกทั้ง German High Culture ก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่สูง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ปรัชญา และวรรณกรรม

ฝรั่งเยอรมันนั้นศึกษาสันสกฤตก่อนฝรั่งชาติอื่น ดังนั้นภูมิปัญญาทางการแพทย์เยอรมันย่อมเปิดกว้าง ไม่คับแคบ และการที่คนเยอรมันเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูกหลาน จึงเอาใจใส่เป็นพิเศษกับการให้เด็กรู้จักสังเกต ให้ลงมือฝึกหัดจริง และทำให้เห็นประจักษ์ ตลอดจนการคิดเป็นระบบ มิใช่มุ่นเน้นแต่เพียงทฤษฎีแบบแยกส่วนแยกเสี้ยวจนเกินไป นี้ยังไม่นับว่าคุณหมอเป็นผู้หญิงที่อยู่ท่ามกลาง Macho Society อย่างสังคมเยอรมัน

การเป็นแพทย์จากเยอรมนีและเป็นผู้หญิง ย่อมทำให้คุณหมอโดดเดี่ยว กระทั่งถูกกีดกัน เมื่อกลับมารับราชการที่ศิริราชท่ามกลางวัฒนธรรม “พรรคพวก” ในสังคมแพทย์ไทย สิ่งเหล่านี้ เมื่อประกอบกับพื้นฐานครอบครัวที่มีสถานะพิเศษของคุณหมอ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น ย่อมทำให้คุณหมอเกิดความแปลกแยกและ Sensitive ต่อเรื่องราวรอบตัว ยิ่งเห็นจุดอ่อนและความบกพร่องของการแพทย์กระแสหลัก และระบบสาธารณสุขโดยภาพรวมได้ง่ายขึ้น และยิ่งกระตุ้นให้เกิด “การคิดต่าง” และความต้องการในการพัฒนากระบวนทัศน์ใหม่

เหตุการณ์เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นกับใคร หากคนๆ นั้น มีความกล้าหาญพอ ย่อมจะสามารถแหวกวงน้ำเน่าออกมาได้ ซึ่งผมถือว่าเป็น Creative Courage ประเภทหนึ่ง

จุดหักเหทางความคิดที่สำคัญอันหนึ่งของคุณหมอน่าจะมาจากการได้เข้าไปศึกษาการฝังเข็มในประเทศจีนในยุคที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปสัมผัสมือกับประธานเหมาเจ๋อตง และสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาในเมืองไทยกำลังจะยุติลงอย่างสิ้นเชิง นับเป็นการปะทะกับภูมิปัญญาดั้งเดิมหลังจากที่มีประสบการณ์กับการแพทย์สมัยใหม่มาระดับหนึ่ง และต้องถือเป็นแพทย์สมัยใหม่ของไทยกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสได้สัมผัสกับภูมิปัญญาดั้งเดิมอันยิ่งใหญ่ผ่านแว่นของกรอบความรู้และปฏิบัติแบบฝรั่ง

การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและแนวนโยบายต่างประเทศ ทำให้วงการแพทย์และมหาวิทยาลัยแพทย์ไทยยุคหลังจากนั้นให้พื้นที่กับการทดลองใหม่ๆ ที่มาจากภูมิปัญญาจีน โดยเฉพาะจากจีนแผ่นดินใหญ่ และก็ทำให้ลูกจีนในเมืองไทยผ่อนคลาย และยอมรับกับกำพืดของตนอย่างเปิดเผยขึ้นตามลำดับ (ลูกจีนในไทยสมัยนี้ ซึ่งจีนยิ่งใหญ่แล้ว คงเข้าใจจิตวิทยาของลูกจีนสมัยก่อนยากสักหน่อย)

ผมรับรู้มาจากผู้คนร่วมสมัยกับคุณหมอว่า หลังจากกลับมาจากเมืองจีน คุณหมอได้ทดลองความคิดใหม่ๆ หลายอย่าง ซึ่งน่าจะเป็นยุคที่เกิด Fusion ทางความคิด โดยหยิบเอาจุดเด่นของความรู้แต่ละสายมาสานกันเข้าจนสามารถไปพ้นความคับแคบและมองเห็นป่าทั้งป่าได้แบบ “องค์รวม”

อันที่จริง ความคิดหลักของคุณหมอที่ว่าร่างกายเป็นหนึ่งเดียว แต่ละส่วนล้วนพึ่งพาอาศัยกัน สัมพันธ์กัน เนื่องกัน และส่งผลกระทบต่อกันกลับไปกลับมา นั้นเป็นเพียง “Common Sense” ที่ถูกละเลยในสมัยนั้น ซึ่งเป็นสมัยของผู้เชี่ยวชาญ

การรับราชการในมหาวิทยาลัยแพทย์และโรงพยาบาลชั้นนำอย่างศิริราช ประกอบกับการเป็นคนช่างสังเกตของคุณหมอ ย่อมทำให้เห็นความเลวร้ายของอุตสาหกรรมยาและการรักษาแบบแยกส่วน และแม้ในระบบราชการจะมีแพทย์อาวุโสที่น่ารัก เห็นอกเห็นใจ และหัวก้าวหน้า ทว่า สิ่งเหล่านี้คงหยุดยั้งคนกล้าและมุ่งมั่นอย่างคุณหมอไว้ไม่ได้

การหันหลังให้กับระบบราชการย่อมเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในกระบวนคิดของคุณหมอเอง โดยเฉพาะในเชิงนโยบายสาธารณสุขภาพรวม และการสามารถทดลองเชิงความคิดและปฏิบัติต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ความรู้เชิงวิชาการแน่นแฟ้นขึ้น สิ่งเหล่านี้ ย่อมช่วยให้ฐานคิดของกระบวนทัศน์ใหม่เป็นระบบและสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น

แม้ความมุ่งมั่นและความหวังของคุณหมอที่อยากเห็นประชาชนมีสิทธิรักษาตัวเองได้จริงๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จะยังไม่บรรลุผล ผมก็ว่าความไม่สำเร็จอันนั้น จะยิ่งทำให้ “พลังสร้างสรรค์” ของคุณหมอถูกหล่อเลี้ยงอย่างลุกโพลงได้ต่อไป

ผมประสบกับตัวเอง ทั้งคนใกล้ชิดและเพื่อนฝูงรอบข้าง มาหลายครั้งแล้วว่าความเจ็บป่วยที่ไม่ได้เกิดจากการจู่โจมของเชื้อโรค ตรงข้าม คือเกิดจาก Bad Habits หรือ Lifestyle ที่ผิดเพี้ยนของตัวเอง (คือตัวเองทำตัวเอง) เหล่านี้ ผมไม่สามารถพึ่งพาการแพทย์ตะวันตกที่อ้างตัวว่าสมัยใหม่ได้เลย

ทว่า การแพทย์ของคุณหมอ (Equilibropathy) สามารถให้คำตอบและรักษาให้ทุเลาลงได้ ความเป็นเลิศทางวิชาการของคุณหมอ เมื่อประกอบกับความศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ตัวเองทำ อย่างแรงกล้า ทำให้คนไข้มีความมั่นใจและมีกำลังใจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ขาดแคลนมากในตัวแพทย์กระแสหลักรุ่นใหม่

ผมมั่นใจมาก ว่าความคิดและงานของท่าน จะต้องกลายเป็นประเด็นสำคัญ และจะได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในอนาคต เพราะมันจะสามารถชี้ทางแก้ปัญหาและผ่าทางตันให้กับวงการแพทย์ปัจจุบันได้อย่างสร้างสรรค์ และจะเป็นคุณูปการสำคัญต่อผู้คนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานกับ Organic Disease อันเนื่องมาแต่การใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่นับวันจะถอยห่างจาก “ความสมดุล” ยิ่งขึ้นทุกทีๆ


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 มกราคม 2553
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2553