วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สื่อมวลชนกับ "ประวัติศาสตร์"


เหตุการณ์ “กรณีเขาพระวิหาร” ได้ทำให้ผู้คนหันมาสนใจ “ประวัติศาสตร์” กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักข่าวหรือสื่อมวลชนรุ่นใหม่ที่เกิดและโตไม่ทันยุคกึ่งพุทธกาลอย่างพวกผม ย่อมต้องทุ่มเทความพยายามกับประวัติศาสตร์ มากกว่าคนในอาชีพอื่น (อาจจะยกเว้นบรรดานักการทูต และนักประวัติศาสตร์อาชีพ เท่านั้น)


ผมสังเกตว่าในรอบยี่สิบปีมานี้ ความสนใจต่อ “ประวัติศาสตร์” ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนชั้นกลางไทยนั้น มีมากขึ้นโดยลำดับ สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์อย่าง “ศิลปวัฒนธรรม” หรือ “เมืองโบราณ” ก็เติบโตอย่างเห็นได้ชัด หนังสือเก่าประเภทพงศาวดารจำนวนมากถูกนำมาพิมพ์ใหม่และก็ขายได้พอสมควร อีกทั้งตัวหนังสือเก่าแท้ ที่เป็นต้นฉบับ Original ก็ขายได้จำนวนมาก ในงานสัปดาห์หนังสือฯ แต่ละครั้ง นักประวัติศาสตร์อาชีพบางท่านกลายเป็นคอลัมนิสต์ยอดนิยมและผู้นำทางความคิดสำคัญของสังคมไทย


การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้การบริโภคประวัติศาสตร์เติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว นักประวัติศาสตร์อาชีพบางท่านอีกเหมือนกัน ที่ได้กลายมาเป็นผู้แต่งหนังสือ Guide Book ชั้นดี

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจประวัติศาสตร์ แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางนั้น แต่ก็พยายามให้การศึกษากับตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อใดก็ตาม ที่ผมไม่สามารถทำความเข้าใจกับสถานการณ์บางอย่างใน “ปัจจุบัน” ได้กระจ่างชัด เป็นผลให้ญาณทัศนะหรือวิสัยทัศน์ต่อ “อนาคต” คลุมเครือไปด้วย ผมมักแก้ปัญหาด้วยการกลับไป Re-read ประวัติศาสตร์เสมอๆ และประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง นอกไปจากความเพลิดเพลินเจริญใจที่ประวัติศาสตร์มักมอบให้อยู่บ่อยๆ


“ประวัติศาสตร์” ในความเห็นของผม เป็นบทบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับมนุษย์และประสบการณ์ของมนุษย์ทั้งมวล ทั้งการเกิด การดับ การเจ็บไข้ได้ป่วย การแก่ ความตาย ความรัก ความเกลียด ความกลัว ความกล้า ความหน้าด้าน ความริษยา ความตะลบตะแลง ความประมาท ความใจแคบ ใจดำ ความยโสโอหัง ความอยาก ความละโมบ ความลุ่มหลง ต่อ ลาบ ยศ สรรเสริญ ชื่อเสียง และต่อความรัก ของมนุษย์ ตลอดจนความเหี้ยมโหด อำมหิต ชิงชัง ที่มนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์ ต่างชาติเชื้อ (บางทีก็เผ่าพันธุ์เดียวกันหรือเชื้อชาติเดียวกัน) ปฏิบัติต่อกัน หรือแก่งแย่งแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นแบบเอาเป็นเอาตาย ไม่เคยลดละ แม้เวลาจะผ่านเลยมาไกล หรือแม้กระทั่ง การฉกฉวย กดขี่ ข่มเหง รังแก เบียดเบียน ขูดรีด ด้วยกำลัง หรือด้วยอุบายอันซับซ้อน ด้วยการหลอกลวง หักหลัง และด้วยการแอบอ้างคุณธรรม ที่คนบางชนชั้น บังคับ เบียดบัง หรือขโมย เอาไปจากผู้คนส่วนใหญ่


“ประวัติศาสตร์” ยังเผยให้เห็นถึง ความหวัง ความใฝ่ฝัน อุดมการณ์อันสูงส่ง ความดีงาม ความเสียสละ โอบอ้อมอารี เอื้ออาทร อ่อนโยนต่อความงาม ความจริงใจ อ่อนน้อมถ่อมตน ข่มใจ ตลอดจนความเที่ยงตรง ความยุติธรรม การสร้างสรรค์ การพิชิตอุปสรรค์ การมุ่งมั่นเอาชนะต่อข้อจำกัดทั้งปวง อดทน ทุ่มเท ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้โดยง่าย ของมนุษย์


บ้านเมืองใดที่ผู้คนปราศจากความสำนักต่อประวัติศาสตร์ หรือมีความทรงจำแต่เพียงสั้นๆ ไม่เห็นความสำคัญของความทรงจำแต่หนหลัง หรือละเลยไม่เก็บเอามาเป็นบทเรียนสอนใจ มักถูกประวัติศาสตร์ “กระทืบซ้ำเติม” เอาสักวันหนึ่ง


ผมไม่แปลกใจเลย ว่าบรรดา Royalist ที่อ่านและเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองและราชวงศ์ไทยเป็นอย่างดี จะเกรงกลัวคนอย่างทักษิณ ชินวัตร จนเป็นที่มาของยุทธการกำจัดให้พ้นทาง อย่างเป็นกระบวนการ และอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในขณะที่ตัวทักษิณเอง อาจเพราะขาดความเข้าใจในประวัติศาสตร์ หรือดูแคลนความเข้าใจแบบนั้น (ยังคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้อำนาจและเงินตรา) กลับตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แม้ในขณะที่ตัวเองเป็นผู้ถืออำนาจรัฐอยู่ก็ตามที


ผมอยากเห็น สื่อมวลชนรุ่นใหม่ สนใจประวัติศาสตร์กันมากขึ้น ให้การศึกษาประวัติศาสตร์กับตัวเองกันมากขึ้น แสวงหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กันมากขึ้น นำประวัติศาสตร์มาช่วยในการตั้งคำถามต่อปัจจุบันและอนาคตกันมากขึ้น ผมเชื่อว่ามันจะช่วยให้พวกเราสามารถเสนอมุมมองใหม่ในเชิงข่าวสารและเนื้อหาสาระต่อสังคมได้อย่างสร้างสรรค์และแปลกออกไป หลุดไปจากการสาละวนอยู่กับประเด็นน้ำเน่า ที่ซ้ำซากจำเจ โดยนักข่าวส่วนใหญ่มักเฮโลสารพาตามๆ กันไปเป็นพักๆ ทำให้การเสนอข่าวสารขาดความหลากหลาย และทำให้พลังสร้างสรรค์และพลังในการคานกันเองของสื่อ ไม่ถูกใช้ในแบบที่ควรจะเป็น


กระนั้นก็ตาม ในความเห็นของผม “ประวัติศาสตร์” ย่อมไม่ใช่เรื่อง ดี-เลว-ถูก-ผิด “ประวัติศาสตร์” คงเป็นได้แต่เพียง “ประวัติศาสตร์”


แม้ การละเลยประวัติศาสตร์ จะเป็นการกระทำหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด ทว่า การหลงมัวเมา และยึดเอาแต่ประวัติศาสตร์ของตัวเองเป็นสรณะ แบบใจแคบ ก็ย่อมอันตราย ไม่แพ้กัน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 สิงหาคม 2551
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น