วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประชาธิปัตย์: Split Personality




ความพ่ายแพ้ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่ตัวเองกุมอำนาจรัฐอยู่แท้ๆ ก่อให้เกิด Dialogue อย่างเปิดเผยและกว้างขวาง เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพรรค ทั้งในเชิงการบริหาร เชิงนโยบาย และเชิงกลยุทธ์มวลชน

เสียงเรียกร้องดังขึ้นจากทุกฝ่ายที่เอาใจช่วยพรรค ทั้งจากสมาชิกอาวุโส อดีตมวลสมาชิก อดีตหัวหน้าพรรค สื่อมวลชน และแฟนๆ ตลอดจนประชาชนที่แอบเอาใจช่วยพรรคและคุณอภิสิทธิ์ ทั้งในและนอกประเทศ แม้แต่มิตรที่กลายมาเป็นศัตรูซึ่งเคยมีส่วนอุ้มชูคุณอภิสิทธิ์ให้ได้ขึ้นมาบริหารประเทศอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล และสหายในขบวนการ ก็ยังให้คำแนะนำที่ฟังเผินๆ เหมือนจะเป็นการด่าส่งและสมน้ำหน้า แต่ถ้าฟังดีๆ ด้วยใจเป็นกลาง ก็จะเห็นว่า “น่าคิด” ไม่น้อยเลย

สังคมออนไลน์เต็มไปด้วยข้อความฟูมฟาย ผิดหวัง กระแนะกระแหน กระทั่งด่าทอสาดเสียเทเสีย แต่ขณะเดียวกัน ก็เต็มไปด้วยข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และกำลังใจ

ความพยายามของพรรคที่จะรับฟัง ก็แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมผ่าน Future@democrat บนหน้า Facebook

อันที่จริง พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดและมักจะ Inspire คนรุ่นใหม่ (หรือพ่อแม่ของพวกเขาที่วางแผนให้ลูกเดินไปบนถนนสายอำนาจ) ที่คิดว่าตัวเองพร้อมแล้ว ทั้งในเชิงคุณสมบัติ รูปสมบัติ ธนสารสมบัติ และดีกรีการศึกษา หรือเชิงใดเชิงหนึ่ง และมีความทะเยอทะยานทางการเมืองและต้องการแสวงหาอำนาจ...เป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

คนรุ่นปัจจุบันคงจะไม่ค่อยรู้กันแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์นี้ เคยเป็นโรงเรียนการเมืองให้ดวงดาราอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัคร สุนทรเวช เฉลิม อยู่บำรุง วีระ มุสิกพงษ์ หรือนักการเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยมากบารมีอย่าง นั่น ขจรประศาสน์ และประจวบ ไชยสาส์น หรือพวกลูกเศรษฐีอย่าง เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เล็ก นานา พรเทพ เตชะไพบูลย์ สุชาติ ตันเจริญ หรือแม้กระทั่งซ้ายเก่าอย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง สุนัย จุลพงศธร และธัญญา ชุนชฎาธาร

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ระหว่างที่ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ กำลังรุ่งสุดขีด ผมเคยถามศิรินทร์ผู้น้องชาย ว่าเหตุใดพี่ชายจึงเลือกพรรคประชาธิปัตย์เป็นเป้าหมาย คอยเฝ้าดูแลพะเน้าพะนอช่วยเหลือ ชวน หลีกภัย อย่างลับๆ เรื่อยมาตั้งแต่ตัวยังเป็นนายธนาคารอยู่

“พรรคนี้มันไม่มีเจ้าของ” คำตอบของศิรินทร์ย่อมบ่งบอก Latent Objective ของธารินทร์อยู่ในที

ใครๆ ก็รู้ว่าธารินทร์มี Ambition ทางการเมืองสูงมาแต่ไหนแต่ไร เขาเคยเขียนจดหมายถึงพ่อว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี เขาเลือกเรียนรัฐศาสตร์ที่ฮาร์วาร์ดทั้งๆ ที่ได้รับ Admission จากมหาวิทยาลัยระดับ Ivy League ทุกแห่ง เขาเลือกมาอยู่และเติบโตกับธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งทำให้มีโอกาสได้ร่วมอยู่ในแวดวงที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในด้านเศรษฐกิจการเงิน และเขาก็ซุ่มออกแบบ จัดทัพ สร้างขุนพล วางคน ตลอดจนสร้างฐานสนับสนุนทั้งในเชิงสื่อและเชิงธุรกิจและเชิงต่างประเทศอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะรุกเข้าการเมือง และส่งคนของตัวเองเข้าครอบครองตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศแบบเบ็ดเสร็จ

เขาเหลือเพียงบันไดขั้นสุดท้ายคือตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ถ้าตอนนั้นเขาไม่บังเอิญสะดุดขาตัวเองเสียก่อน ด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดอย่างแรง เขาก็คงได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็คงจะไม่พ้นมือเขาเป็นแน่

ความล้มเหลวของธารินทร์ช่วยส่งให้อภิสิทธิ์ ซึ่งจริงๆ แล้วต่อคิวอยู่กลางๆ แถว ได้ลัดคิวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแบบปรู๊ดปร้าดขึ้นลิฟท์อย่างไม่ต้องใส่ความพยายามและความเหนื่อยยากในกระบวนการฝ่าพงหนาม เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคคนก่อนๆ

การขึ้นสู่อำนาจของอภิสิทธิ์ในขณะที่บารมียังไม่แก่กล้าและภาพความสำเร็จหรือผลงานในอดีตยังไม่ชัด (อย่างน้อยก็ไม่ชัดเหมือนกับธารินทร์ที่เคยเป็นนักการธนาคารระดับประเทศและมีเครือข่ายคอนเน็กชั่นกว้างขวางมาก่อน) ทว่ามีจุดแข็งในเชิงภาพลักษณ์ที่ดี บุคลิกดี ชาติตระกูลดี ซื่อสัตย์สุจริต พูดเก่ง ภาษาอังกฤษดี และประวัติการศึกษาเยี่ยม  ผูกพันให้อภิสิทธิ์ยังต้องพึ่งพาฐานอำนาจของผู้อาวุโสกลุ่มเดิมให้ช่วยค้ำจุนเขาในขณะที่เขากำลังสร้างบริวารของเขาเองขึ้นมา...

Fundamental อันนี้ มันก็เลยส่งผลให้บุคลิกของพรรคประชาธิปัตย์เกิดความ “ก้ำกึ่ง” ไปด้วย เพราะบุคลิกภายนอกของอภิสิทธิ์และสหาย ซึ่งเป็นตัวแสดงหลักของประชาธิปัตย์ กับผู้กุมอำนาจเดิมในพรรคซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสมาชิกภาคใต้ และเป็นผู้กุมหางเสือและปฏิบัติงานการเมืองของพรรคนั้น แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ภาพของประชาธิปัตย์ด้านหนึ่งจึงเป็นภาพสะท้อนของอภิสิทธิ์และสหาย แต่อีกภาพหนึ่งกลับเป็นภาพสะท้อนของสุเทพ ของชวนและองค์รักษ์ ของบัญญัติ และของสมาชิกภาคใต้

ภาพหนึ่งทันสมัย หัวสากล Cosmopolitan พูดจาสุภาพ นิยมเทคโนโลยีและโมเดร์นไลฟสไตล์ ไปประชุมหรือเจรจาความเมืองก็ให้ทีมงานทำทีแอบถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตัลแล้วนำกลับมาโพสต์ขึ้น Facebook หรือ Twitter ด้วยท่าทางสบายๆ ลำลองๆ โดยใช้ภาษาเก๋ๆ และติดต่อสื่อสารกับแฟนๆ หรือฐานเสียงผ่าน Social Media...แต่อีกภาพหนึ่ง กลับเป็นภาพตรงข้าม โบราณ แต่งตัวเชยๆ พูดเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ เช่นพูดเรื่องคนดี คนซื่อ คนมีคุณธรรม เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง แต่กลับ กระแนะกระแหนหรือตอบโต้คู่แข่งทางการเมืองและผู้วิจารณ์พรรคแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เน้นผลประโยชน์ท้องถิ่นและกลุ่มพวกพ้อง ใกล้ชิดกับนักการเมืองภาพมารและทหาร และใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น

สำหรับผมแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ช่วงนี้เริ่มมีปัญหาเชิงอัตตลักษณ์ คือมีลักษณะ Split Personality อย่างเห็นได้ชัด

อุปมาคล้ายดั่งพระสังข์ ที่บุคลิกตอนสวมเงาะกับตอนถอดรูปต่างกันราวฟ้ากับดิน

ผมว่าแฟนๆ และฐานเสียงของประชาธิปัตย์ก็ Perceive จุดนี้ต่างกันด้วยในใจตน...หมายความว่า ภาพของประชาธิปัตย์ในใจของคนใต้ กับประชาธิปัตย์ในใจของคนกรุงเทพฯ ก็ไม่เหมือนกัน และพวกเขาก็คาดหวังจากพรรคและหัวหน้าพรรคต่างกันด้วย (เช่นอยากให้พรรคเป็นแบบโน้นแบบนี้ หรือคนกรุงเทพอาจมองภาพประชาธิปัตย์เป็นแบบ อภิสิทธิ์-กรณ์-อภิรักษ์ หรือเห็นมุม “อภิสิทธิ์ประชาธิปัตย์” กระจ่างกว่า “ชวนประชาธิปัตย์” แต่แน่นอนว่าคนใต้ไม่ได้มองเช่นนั้น)

อาการ Split Personality ของประชาธิปัตย์รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อได้เป็นรัฐบาลและวิกฤติการเมืองเริ่มรุมเร้า

ภาพของคุณอภิสิทธิ์กลายเป็นคนที่พูดไปทาง แต่การปฏิบัติของรัฐบาลกลับไปอีกทางหนึ่ง สวนทางกันอยู่บ่อยๆ เร่ิมตั้งแต่แรกที่จัดตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร และมาหนักข้อเอาตอนที่ ทหารเข้าปราบปรามม็อบเสื้อแดงบนท้องถนน ซึ่งคุณอภิสิทธิ์ก็เพิ่งจะมายอมรับภายหลังว่าแอบร้องไห้ในค่ายทหารหลายครั้งเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าแม้แต่คุณอภิสิทธิ์เอง ลึกๆ แล้วก็ยังอิหลักอิเหลื่อกับบุคคิลหน้าฉากที่ต้องแสดงไปตามบท กับบุคลิกหลังฉากที่ยังทำใจลำบาก

หรืออย่างที่คุณอภิสิทธิ์มักพูดว่ารัฐบาลต้องยึดหลัก “นิติรัฐ” อย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่ได้เร่งรัดให้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุในกรณีลอบสังหารสนธิ ลิ้มทองกุล ทั้งๆ ที่มันน่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ อีกทั้งนโยบายหลักของพรรค ก็หันเหไปเดินตามแนวทางหรือเอาอย่างพรรคคู่แข่งที่ตัวเองเคยดูถูกดูแคลนและแสดงตรรกเชิงลบไว้ก่อนหน้านั้นอย่างอึกทึกครึกโครม เป็นต้น

อย่าลืมว่าฐานมวลชนของพรรคที่เสียงดังและพูดแล้วมีคนฟังส่วนใหญ่เป็นคนมีการศึกษา ดังนั้นการพูดกลับไปกลับมา หรือทำกริยาผีเข้าผีออก คนนึงเล่นบท Good Guy อีกคนสวมบท Bad Guy แม้จะทำได้เนียบเนียนเพียงใด ย่อมตบตาคนเหล่านี้ได้ยาก 

แม้แต่พวก Fanatic ก็ยังรู้สึกได้ ถ้าพรรคทำบุคลิกแบบนั้นให้เขาเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แพทย์ที่ผมนับถือ ให้ความเห็นว่าอาการ Split Personality นั้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะแบ่งตัวตนออกเป็น 2 ตัวและเล่นเป็น 2 บทบาท คือฝ่ายดีตัวหนึ่งและฝ่ายชั่วอีกตัวหนึ่ง ฝ่ายดีจะมีบุคลิกแบบ Positive เช่น ศรัทธา นอบน้อม สัตย์ซื่อ เฉลียวฉลาด มุ่งมั่น และฝ่ายชั่วก็จะ Negative เช่น โหดเหี้ยม เจ้าเล่ห์ ถือดี ทะเยอทะยาน เป็นต้น 


โดยโรคชนิดนี้ ถ้าปล่อยไว้ ไม่ได้รับการเยียวยารักษาอย่างถูกวิธี มันจะคุกคามหนักข้อขึ้น จนทำให้เจ้าตัวเริ่มเชื่อกับการแบ่งฝ่ายที่ตัวเองสมมติขึ้นว่าเป็นเรื่องจริง และจะเริ่มไม่รู้สึกตัว และอาจทำอะไรร้ายแรงลงไป ในขณะที่กำลังสวมบทบาทเป็นฝ่ายชั่วอยู่ก็ได้ โดยเมื่อกลายร่างกลับมาเป็นฝ่ายดีแล้ว ก็จะจำไม่ได้หรือไม่สามารถระลึกได้เลย คล้ายๆ คนเมาหนักเมื่อคืนแล้วสร่างเมามาตอนเช้านั่นแหละ (หมอว่าบางทีก็อาจเรียกเป็น ฝ่ายสูง-ฝ่ายต่ำ หรือ ฝ่ายละเอียด-ฝ่ายหยาบ ฝ่ายสุภาพ-ฝ่ายก้าวร้าว หรือ ฝ่ายสะอาด-ฝ่ายสกปรก ฯลฯ)

ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Primal Fear (บทคนหลายบุคลิกนั้นถึงกับส่งให้ Edward Norton ได้รับตุ๊กตาทอง) หรือเรื่อง Me, Myself, & Irene (บทของ Jim Carrey คนหนึ่งขี้กลัว ขาดความมั่นใจในตัวเอง แต่อีกคนหนึ่งกล้าหาญ ก้าวร้าว และปกป้องหญิง) ก็จะเข้าใจ หรือในเรื่อง Spider Man ภาคแรก ที่ ดร.นอร์แมน ออสบอร์น พ่อของแฮรี่ เพื่อนสนิทของพระเอก เริ่มแปลงร่างเป็นไอ้ตัวเขียว (Green Goblin) ใหม่ๆ เขาก็ไม่รู้สึกตัวเลยว่าได้ทำอะไรเลวร้ายลงไปบ้างในตอนกลางคืน ขณะที่เขากลายร่างเป็นไอ้ตัวเขียว

นานมาแล้ว ผมเคยอ่านวรรณกรรมเรื่อง Strang Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde ของ Robert Louise Stevenson ซึ่งช่วยให้ผมเข้าใจคำว่า “Hypocrite” ในเซนส์ของฝรั่งยุควิกตอเรียนกระจ่างชัดขึ้นมาก จนต่อมาผมได้นำเอา Sense แบบนั้นมาเป็น Theme ของบทความที่ผมเขียนและมีคนนิยม Quote เอาไปโพสต์ที่โน่นที่นี่เรื่อยๆ โดยให้ชื่อเรื่องว่า “คนดี” ซึ่งผมได้ตีแผ่ให้เห็นว่า “นักทำดี” กับ “คนดี นั้นต่างกัน และนักการเมืองหรือคนดังที่แสดงตัวว่าเป็น “นักทำดี” ส่วนใหญ่ มักไม่ใช่ “คนดี” (ท่านผู้สนใจสามารถคลิกอ่านได้ http://mba-magazine.blogspot.com/2010_01_01_archive.html)

แน่นอน การจะเป็นพรรคมหาชนที่ชนะใจคนทั้งประเทศได้นั้น พรรคประชาธิปัตย์ย่อมต้องอาศัยมวลสมาชิกอักหลากหลาย ต้องอาศัยคนหลายประเภท ร้อยพ่อพันธุ์แม่ เข้าผสมผสานกันให้ได้ Chemistry ที่ลงตัว แต่ก็มิได้หมายความว่า พรรคจำต้องดำเนินงานทางการเมืองแบบหลายบุคลิกภาพที่ขัดแย้งในตัวเองด้วยเสมอไป

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่พึงปรารถนาในอนาคต จะต้องปรับปรุงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพรรคที่นอกจากจะต้องมีลักษณะสร้างสรรค์แล้ว ยังต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง มี Originality มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และทีมเศรษฐกิจที่ต้องแสวงหาคนมากความสามารถและประสบการณ์เข้ามาร่วมทีมให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่ ตลอดจนเสริมทีมงานที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในเชิงบริหารงานด้านต่างๆ ให้หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าคนเหล่านั้นเป็นคนมีฝีมือในเชิงบริหารราชการแผ่นดินจริงๆ มิใช่เพียงแค่พูดเก่ง นำเสนอเก่ง หรือเพียงมีดีกรีการศึกษาที่โก้เก๋

แต่สำหรับผมแล้ว Priority หลักของหัวหน้าพรรคคนต่อไปคือการรักษาเยียวยาตนเองให้หายขาดจากโรคหลายบุคลิกภาพ

เพราะนั่นย่อมเป็นหนทางเร่งด่วนที่จะสามารถฟื้นฟู Trust ให้กลับมางอกงามขึ้นในใจคน และจะเรียก “ขวัญ” และ “ความนับถือตัวเอง” ให้กลับคืนมาได้ในที่สุด

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
29 กรกฎาคม 2554
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน ก.ค.2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น