วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ม็อบไซเบอร์ VS รัฐไซเบอร์



มีแฟชั่นอันหนึ่งระบาดไปทั่วโลก ณ ขณะนี้
แฟชั่น "หน้ากากขาว"
ใครๆ ที่ไม่พอใจรัฐบาล หรือไม่สบอารมณ์ผู้ปกครองและเดือดนักการเมือง ต่างพากันสวมหน้ากากขาวไปประท้วง
ประท้วงทั้งบนท้องถนนและบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ จอแท็ปเล็ท และมือถือ 
Facebook, Line, WhatsApp, Instagram และ Twitter เต็มไปด้วยหน้าขาวๆ หนวดเรียวๆ และปากบางๆ
"หน้ากากขาว" คลาคล่ำไปตั้งแต่หน้า Central World ใจกลางของกรุงเทพฯ จนถึง Gezi Park และ Taksim Square กลางกรุงอิสตันบูล จนถึงท้องถนนและสลัมใน Sao Paulo บราซิล
แม้แต่การประท้วงหมอกควันในอินโดนีเซีย และม็อบต่อต้านการคอรัปชั่นในบัลแกเรีย ก็เต็มไปด้วย "หน้ากากขาว"
ผู้ประท้วงส่วนใหญ่นัดกันผ่านอินเทอร์เน็ต และจะหมายรู้ "วัน วอ เวลา นอ" กันเป็นอย่างดี ว่า Schedule ของแต่ละอาทิตย์จะให้ไปโผล่ที่ไหนเวลาใด เพื่อแอบไม่ให้ฝ่ายบ้านเมืองรู้และวางแผนต่อต้านหรือสลายการประท้วงไว้ก่อนอย่างมีประสิทธิภาพ
จึงไม่แปลกที่จู่ๆ จะมีม็อบหน้ากากขาวไปโผล่ที่นั่นที่นี่โดยไม่มีลางบอกเหตุมาก่อนเลย
ผู้บริหารคนหนึ่งของ Central World ยอมรับกับผมว่า แม้ Central World ได้ประกาศไปแล้วอย่างเป็นทางการว่าจะไม่สนับสนุนการประท้วงของฝ่ายใด แต่ม็อบมักเกิดขึ้นโดยไม่ทันได้ตั้งตัว
"บางทีเห็นเดินช็อปปิ้งอยู่ดีๆ พอคล้อยหลังไปหน่อยเดียว พวกก็งัดหน้ากากขาวขึ้นมาสวม กลายเป็นส่วนหนึ่งของม็อบไปเลย" เขากล่าว
นี่แหละผลพวงของ Social Media
“ม็อบไซเบอร์" หรือ "ม็อบกลางอากาศ"
แม้สาเหตุที่ทำให้พวกไม่พอใจ จนต้องลุกขึ้นมาประท้วงจะต่างกัน ทว่าพวกเขามี Agenda คล้ายคลึงกัน และมีลักษณะร่วมที่เหมือนกัน
นั่นคือพวกเขาใช้ Social Networks ในการสื่อสารและระดมคน
ม็อบราชประสงค์ไม่พอใจระบอบทักษิณและต้องการให้ยิ่งลักษณ์ไป ไม่เอาจำนำข้าวและเห็นว่าโครงการน้ำมีนอกมีใน
ม็อบ Taksim Square ไม่พอใจที่ตำรวจทำร้ายผู้ประท้วงอย่างสันติซึ่งตั้งแคมป์อยู่ใน Gezi Park เพียงเพราะพวกเขาไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะสร้างห้างสรรพสินค้าบนพื้นที่แห่งนั้น และเมื่อท่าทีของประธานาธิบดีออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าวด้วยแล้ว มันก็ไม่ต่างอะไรกับน้ำผึ้งหยดเดียว
ม็อบ Sao Paulo ไม่พอใจบริการสาธารณะและงบประมาณที่รัฐบาลบราซิลใช้ไปกับการก่อสร้างสเตเดียมและอื่นๆ เพื่อรองรับเทศกาล "ฟุตบอลโลก" ที่กำลังจะมาถึง แล้วเลยลุกลามไปสู่ประเด็นคอรัปชั่นและข้าวของแพง
ม็อบบัลแกเรียตีประเด็นเล่นพรรคเล่นพวก จนนายกรัฐมนตรีต้องปลดผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงเพื่อลดความกดดันลง
พวกเขาสื่อสารกันผ่านอินเทอร์เน็ต
พวกเขาถ่ายรูป ถ่ายคลิป ส่ง SMS ขึ้นโพสต์ และ Share ข้อมูลไปตามเครือข่ายอย่างรวดเร็ว โดยไม่สนใจว่าข้อมูลหรือข่าวสารเหล่านั้นเป็นจริงหรือได้รับการตรวจสอบรับรองแล้วหรือไม่อย่างไร
ที่สำคัญ เครือข่ายของพวกเขามักมี "หน้ากากขาว" เป็นสัญญลักษณ์
และแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรดาม็อบเหล่านี้ล้วนมีพวก "จัดตั้ง" คอยทำงานอยู่ใต้ดินอย่างลับๆ แต่ก็ดูเหมือนว่า พวกเขาจะไม่มี "แกนนำ" หรือ "หัวหน้า" ที่ชัดเจน
หรือว่า "ม็อบไซเบอร์" เป็นม็อบสมัยใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมีแกนนำ ไม่จำเป็นต้องมีสนธิ จำลอง หรือเสธ.อ้าย
มีแต่ Guy Fawkes เจ้าของหน้ากากขาวที่แท้จริง ซึ่งกลุ่ม Hacker บางกลุ่ม ได้นำเขามาเป็นสัญญลักษณ์ของกลุ่มคู่กับอักษร "V” (ที่ย่อมาจาก Vendetta) เมื่อหลายสิบปีก่อน และตอนนี้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของม็อบและผู้ประท้วงอำนาจรัฐไปแล้ว
หลายคนในกลุ่มจัดตั้งมักเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดม็อบ จึงสามารถส่งข่าวสารที่สำคัญและจำเป็นอย่างทันการณ์ ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ รวมถึงมาตรการความปลอดภัย ตลอดจนการปฏิบัติตัวของผู้ร่วมชุมนุมในสถานการณ์คับขัน เช่นเมื่อถูกปืนฉีดน้ำ กระบอง หรือแก๊สน้ำตา
แม้กระทั่งแผนที่และพิกัด GPS ของเส้นทางที่คาดว่าจะสามารถหลบหนีหรือถอยร่นได้โดยปลอดภัยหากถูกปราบปราม
และอีกหลายคนก็เชี่ยวชาญในการถ่ายทำและตกแต่งตัดต่อภาพและเสียงและคลิป พวกเขาสามารถหามุมถ่าย Footage งามๆ โดนๆ ให้คนทางบ้านที่ยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมม็อบ ได้เห็นความยิ่งใหญ่อลังการและเร้าใจของม็อบ ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นความไม่เอาไหน ความงี่เง่า หรือแม้กระทั่งความโหดร้าย ทารุณ ของฝ่ายรัฐบาล ที่กระทำหรือตระเตรียมจะกระทำต่อม็อบ
น่าเสียดายที่อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมมันมีความเป็นกลางๆ โดยตัวมันเอง ใครจะ Access หรือเอาไปใช้ก็ได้เช่นกัน
ฉะนั้น ในเมื่อฝ่ายม็อบใช้ประโยชน์จากมันได้ ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐก็สามารถเอาประโยชน์จากมันได้เช่นเดียวกัน
ละครฉากนี้จึงยังไม่จบ
อุปมาเหมือน "ละครเถา" ของช่อง 3 ที่ต้องดูกันจนถึงความรักของคุณชายคนสุดท้อง จึงจะประเมินได้ว่าใครได้ใครเสีย และใครสมหวัง ใครผิดหวัง
ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนเล่นเฟสบุ๊คและชอบเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มการเมืองของฝ่ายต่างๆ และเป็นคนช่างสังเกตหรือชอบสอดรู้สอดเห็นเหมือนพวกเรานักข่าว และได้ลองทำวิจัยด้วยตัวเองไปสักพัก ด้วยการคลิกดูประวัติและที่มาที่ไปบน Timeline ของใครบางคน ท่านก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า ในนั้นจะต้องมีสายสืบของฝ่ายตรงข้ามคอยสอดแนมอยู่เสมอ ที่สำคัญคือ ตำรวจสันติบาล และสมาชิกของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงของทหาร
บางครั้งคนเหล่านั้นอาจเข้าร่วมแสดงความเห็นหรือให้ข้อมูลบางอย่างเพื่อจงใจพลิกผันสถานการณ์หรือทำลายเกมด้วยการบิดหรือเลือก Timing "ปล่อยของ" ให้เกิด Impact และให้เข้าทางฝ่ายอำนาจรัฐ
เรายังทราบอีกว่า ในหน่วยงานฝ่ายสืบสวนของตำรวจ อย่างน้อยก็ที่หน่วยงานสอบสวนกลางแห่งหนึ่งละ ที่มีหน่วยสืบสวนไซเบอร์ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ดังผลงานการจับตัวกำนันเป๊าะเป็นพยานอยู่
“ตำรวจไซเบอร์" เหล่านี้ นอกจากจะรับแจ้งเบาะแสทางอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมแล้ว ยังสามารถระบุตัวคนได้จากคลิปภาพหรือคลิปเสียง โดยใช้ซอฟท์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นระบุตัวตน จากการขึ้นจอเปรียบเทียบภาพบุคคลในคลิปกับภาพใบหน้าใกล้เคียงในฐานข้อมูลประชากรได้อย่างรวดเร็ว
ยังไม่ต้องพูดถึงอำนาจในการดักฟังโทรศัพท์ หรือขอแกมบังคับเอาข้อมูลจาก Mobile Operator และ Internet Hosting Providers โดยไม่ให้พวกเรารู้ตัว (ในสหรัฐอเมริกานั้น หน่วยงานฝ่ายความมั่นคงมีเครื่องมือที่สามารถอัดเสียงการสนทนาทางมือถือจำนวนมากๆ พร้อมกันในคราวเดียว ในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่าน Operator ด้วยซ้ำ)
เครื่องมือเหล่านี้ อาจช่วยให้ฝ่ายกุมอำนาจรัฐสามารถล่วงรู้ถึงความคิดและความเคลื่อนไหวของทีมจัดตั้งและเครื่อข่ายของฝ่ายม็อบว่าคิดยังไงและจะเดินหมากยังไง หรือถ้าจะเลือกใช้ "วิธีเถื่อน" หรือ "วิธีวิสามัญ" ก็จะสามารถกระทำได้ถูกคน
ว่ากันว่าในสหรัฐอเมริกานั้น เทคโนโลยีของกล้องสอดแนมสมัยใหม่ สามารถ Capture ใบหน้าคนได้ถึง 400 ใบหน้าต่อ 1 วินาที
จึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงาน Homeland Security และตำรวจ Boston สามารถระบุตัวผู้ก่อการร้ายที่วางระเบิดช่วง Boston Marathon ได้เกือบจะทันทีที่ควันระเบิดจางลง
ยิ่งเดี๋ยวนี้มีหุ่นยนต์สอดแนมหรือ Drone ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ก็ได้ข่าวว่าตำรวจปราบจราจลในหลายประเทศเริ่มติดกล้องรุ่นนั้นกับหุ่นยนต์สอดแนมเพื่อให้บินสอดแนมม็อบแล้วด้วย
ณ ขณะนี้ เรายังมั่งใจได้ว่าหน่วยงานตำรวจสันติบาล หรือหน่วยงานความมั่นคง และฝ่ายปราบจราจลของไทยเรายังไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ใช้ แต่หลายฝ่าย รวมถึงทหาร ตำรวจ และอัยการ ก็กำลังเสนอแนวคิดอย่างเปิดเผยว่ารัฐบาลต้องลงทุนซื้อ Drone เหล่านั้นมาใช้ได้แล้ว อย่างน้อยก็ในภาคใต้
รู้งี้แล้ว เมื่อท่านผู้อ่านจำเป็นต้องเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในอนาคต ไม่ว่าจะกับฝ่ายใด ท่านอาจจะต้องตระหนักถึงเทคโนโลยีเหล่านี้
ยิ่งถ้าท่านคิดจะเข้าร่วมกับม็อบที่ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้กุมอำนาจรัฐอยู่ด้วยแล้ว ท่านยิ่งต้องระวังตัวและทำตัวเนียนมากๆ ไม่ให้ตกเป็นเป้าของเทคโนโลยีดังกล่าว
ถ้าคิดจะถ่ายรูป ถ่ายคลิป ท่านจะต้องระวังไม่ให้เห็นหน้ากันเอง หรืออาจต้องหัดใช้แอพที่ช่วย "เบลอหน้า" หรือ "เบลอเสียง" ไม่ให้ถูกจับได้โดยง่าย
เพราะ "อำนาจรัฐ" เป็นอำนาจที่รุนแรง แม้ผู้ถืออำนาจรัฐจะเป็นคนสุภาพอ่อนหวานโนเนะ ทว่าตัว "อำนาจรัฐ" มันก้าวร้าวรุนแรงและเด็ดขาด การตกเป็นเป้าหมายของ "อำนาจรัฐ" ย่อมเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพ 
ถ้าท่านยังไม่มั่นใจว่าจะเปิดหน้าชกได้ ก็อย่างเพิ่งถอดหน้ากาก


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
30 มิถุนายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น