วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

คอลัมนิสต์ที่ดี



ใครจะปฏิเสธบ้างว่า การได้อ่านผลงานของคอลัมนิสต์ชั้นดี ที่เขียนออกมาด้วยความประณีตบรรจง ตรงประเด็น ให้ความรู้ ผสมผสานด้วยความเห็นและประสบการณ์ชั้นยอด และใช้ภาษาสละสลวย นับเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งของชีวิต


การเขียนคอลัมน์ แม้จะสั้น แต่ก็เป็น Art Form แบบหนึ่ง ทั้งการเลือกประเด็น วาง Plot การใช้ข้อมูลสนับสนุน หรือบางทีอาจต้องหาตัวละคร และบทสนทนา ตลอดจนคำ วลี ประโยค ที่เลือกมาใช้ ย่อมต้องให้ประหยัด ทว่ากินความกว้างขวาง และมีพลังอำนาจในการโน้มน้าว จูงใจ ผู้อ่าน


สมัยที่ผมเริ่มสอนตัวเองเขียนหนังสือใหม่ๆ ผมก็อาศัยฝึกจากการเขียนบทความประเภทนี้แหละ แน่นอนว่าบทความส่วนใหญ่เหล่านั้น ไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหน ทว่า ผมก็ได้รับความเพลิดเพลินและได้เรียนรู้อะไรมาก ในกระบวนการทำแบบนั้น

นักเขียนใหญ่ของโลกและของไทย ที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ล้วนเคยเขียนงานประเภทนี้มาแล้วทั้งสิ้น อย่างของฝรั่งที่ถือเป็นแบบฉบับ โดยผมเองมักนำผลงานเก่าแก่ของพวกท่านมาอ่านซ้ำเสมอๆ ก็มีอย่าง Francis Bacon นักเขียนสมัยพระนเรศวร ที่เขียนในสไตล์ Essay เลียนแบบวิธีเขียนของ Michel De Montaigne ผู้บุกเบิกงานเขียนประเภทนี้



ประเด็นที่ทั้งคู่เลือกมาเขียน ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจ ใกล้ตัว และอยู่ในความสนใจของผู้คนในยุคสมัยของพวกเขา เช่น Of Truth, Of Death, Of Friendship, Of Innovations, Of Empire, Of Ambition, Of Riches, Of Fortune, Of Nature in Men, Of Beauty, Of Liars, Of Fear, Of Sadness, Of Books, Of Drunkenness, Of the Education of Children, Of War-Horses, Of Glory, Of Custom, Of Presumption, Of Thumbs, Of Vanity, Of Experience, Of Coaches, Of Repentance, Of Physiognomy, Of the Force of Imagination,..ฯลฯ

ประเด็นเหล่านี้ ยังคงเป็นประเด็นที่นักคิด นักเขียน ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ ตลอดจนคอลัมนิสต์ ยุคหลัง นำมาเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังเขียนกันอยู่ และผมว่า มันก็จะเป็นที่นิยมต่อไปตราบเท่าที่มนุษย์ยังนิยมอ่านหนังสือเพื่อแสวงหาความเห็นจากคนอื่น และตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเอง ตลอดจนสังคมที่พึงปรารถนา ว่าควรเป็นเช่นไร

ตัวผมเอง เมื่อมีเรื่องให้ต้องเขียนความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ผมมักจะกลับไป Check ดูว่า สองคนนี้เคยคิดยังไง ต่อประเด็นนั้น มาแล้วบ้าง


นอกนั้นแล้ว ผมยังชอบ Walter Bagehot อดีตบรรณาธิการคนสำคัญของ The Economist ที่เขียนได้น่าสนใจทุกเรื่อง ตั้งแต่ บทวิจารณ์วรรณกรรม บทกวี การเมือง ไปจนถึงเรื่องการวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเงิน และหุ้น งานรวมเล่มเกี่ยวกับหุ้นของเขา Lombard Street ถือเป็นงานระดับ Classic ที่นักการเงินทั่วโลกต้องศึกษา และ The English Constitution ของเขา ก็กลายเป็นคู่มือสำหรับกษัตริย์และราชินีของอังกฤษทุกพระองค์นับแต่มันได้รับการตีพิมพ์

ทางฝั่งอเมริกา ผมว่า H.L. Mencken เด่นมากกว่าใครเพื่อน ผมเองมีงานอดิเรกอย่างหนึ่ง คือการเก็บสะสมนิตยสาร The American Mercury ในยุคที่เขาเป็นหัวเรือใหญ่ และก็ได้เคยใช้มันเป็นแนวทางในการจัดทำนิตยสารในเครือที่ผมเป็นบรรณาธิการ อยู่หลายกรรมหลายวาระด้วยกัน

Ralph Waldo Emerson ก็เด่นในยุคของเขา และงานของเขาก็อ่านง่าย นำมาอ่านเล่นในยุคนี้ก็เพลิดเพลินและให้ความรู้เกี่ยวกับ “ความรู้สึก-นึก-คิด” ของคนอเมริกันและชาติอเมริกาสมัยที่กำลังสร้างตัว ได้ดีมาก

ของไทยเรา ผมก็เคยกลับไป Observe หนังสือพิมพ์ยุคแรกอย่าง Court ข่าวราชการ ที่พระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูงในสมัย รัชกาลที่ ๕ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเขียน ก็เห็นว่าเป็นการเขียนแบบการเสนอข่าวเป็นหลัก มิได้เป็นแบบอย่างคอลัมนิสต์ หรืออย่างบทความที่เด่นๆ ใน วชิรญาณ หรือ วชิรญาณวิเศษ ก็เป็นการเขียนแบบเรื่องสั้น หลายเรื่องเป็นเรื่องสั้นที่มีชื่อเสียง เช่น “เรื่องสนุกนิ์นึก” (โดยกรมหลวงพิชิตปรีชากร) “อิล่อยป้อยแอ” “ตาบอดสอดตาเห็น” “ยังไงอิฉันจึงได้เป็นสาวทึนทึก” (ทั้งสามทรงพระนิพนธ์โดย กรมหมึ่นนราธิปประพันธ์พงศ์) และ “ปลาดถุ่ยถุ่ย” (โดยกรมหลวงดำรงราชานุภาพ—พระยศขณะนั้น) เป็นต้น



ผู้ที่นับได้ว่าเป็นคอลัมนิสต์ของไทยยุคแรก น่าจะเป็น เทียนวรรณ (ต,ว,ส, วัณณาโภ) และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ตลอดจนบรรดาปัญญาชนรอบข้างรัชกาลที่ ๖ อย่าง ครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (น.ม.ส.) พระสารประเสริฐ (นาคะประทีป) และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เอง ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์โดยใช้พระนามแฝงนับสิบ โดยที่เด่นที่สุด เห็นจะเป็น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ Editor คนสำคัญพระองค์หนึ่งของอุตสาหรรมหนังสือไทย

หลังจากนั้น ก็ข้ามมายังยุคที่หนังสือพิมพ์ไทยรุ่งเรืองถึงขีดสุด ที่มีผู้เล่นสำคัญอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ มาลัย ชูพินิจ โชติ แพร่พันธุ์ ส่ง เทพาสิต ชิต บูรทัต อารีย์ ลีวีระ อิสรา อมันตกุล สุภา สิริมานนท์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ แล้วก็มาถึงรุ่นที่มี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นหัวเรือใหญ่

คนเหล่านี้ ยึดกุมความเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารสำคัญๆ เป็นเวลานาน จนสังคมไทยพัฒนาเข้าสู่ยุคใหม่ที่เศรษฐกิจผูกพันกับระบบโลกอย่างแน่นแฟ้น เราจึงมีคอลัมนิสต์ประเภททันสมัยที่ส่วนใหญ่ผ่านการฝึกฝนโดยระบบการศึกษาตะวันตกอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล สุทธิชัย หยุ่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ และนิธิ เอียวศรีวงษ์ ฯลฯ เดี๋ยวนี้ เราก็ยังมีหนังสือพิมพ์ของคอลัมนิสต์ หรือหนังสือพิมพ์ที่อาศัยข้อเขียนจากคอลัมนิสต์เป็นหลัก ให้ได้พึ่งพาในด้านความเห็นต่อประเด็นสำคัญๆ รอบด้าน เช่น มติชนสุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์ และสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เป็นต้น



ผมรู้สึกมาสักระยะหนึ่งแล้วว่า อุตสาหกรรมหนังสือไทย กำลังขาดแคลนคอลัมนิสต์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะคอลัมนิสต์ทางด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ และประเภทสรรพวิชา เพราะสังเกตุจากบรรดาคอลัมนิสต์หลายท่านที่กล่าวถึงข้างต้นและถือเป็นคนรุ่น Baby Boomer Generation ซึ่งล้วนล่วงพ้นวัยเกษียณกันแล้ว ทว่าก็ยังคง Active อยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารฉบับสำคัญๆ ของไทยอยู่ งานของพวกท่านยังคงเป็นส่วนสำคัญของหนังสือเหล่านั้นอยู่ (ที่พูดนี้ ไม่ได้ดูถูกงานของพวกท่าน หรือไม่อยากเห็นพวกท่านทำงานทางความคิดต่อไป น่ะครับ อย่าเข้าใจผมผิด เพราะตัวผมเองก็ได้อาศัยงานของท่านเหล่านั้นเป็นครูมาช้านาน)

งานของคอลัมนิสต์รุ่นใหม่ ถึงแม้จะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยต่อเนื่อง และที่จะทำให้ดีลึกซึ้งได้เท่าคนเก่าหรือดีกว่าที่คนเก่าได้ทำไว้ ก็มีจำนวนน้อยมาก นั่นอาจส่งผลทางอ้อมให้คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือน้อยลง เพราะพวกเขาถือว่าความเห็นบนหน้าหนังสือเหล่านั้น ไม่ได้สะท้อนความเห็นของคนรุ่นเขา พวกเขาจึงหันไปบริโภคความเห็นจาก Website ต่างๆ จำนวนมาก ที่แม้จะมีคนร่วมลงความเห็นเป็นจำนวนร้อยจำนวนพันต่อท้ายข่าวหรือข้อเขียนแต่ละชิ้น แต่ก็หาความลุ่มลึกได้ยากยิ่ง

พูดได้เหมือนกันว่า Website เหล่านั้น ได้ร่วมผลิตคอลัมนิสต์ยุคใหม่จำนวนมาก เพราะทุกแห่งล้วนอนุญาตให้คนอ่านร่วมโพสต์ความเห็นต่อท้ายบทความแทบทุกบทความ ผมเองก็ชอบอ่านความเห็นเหล่านั้น เพราะบางทีก็ได้อะไรดีๆ เหมือนกัน แต่เนื่องจาก ผู้เขียนไม่จำเป็นต้องลงชื่อจริง ข้อเขียนส่วนใหญ่จึงเอาจริงเอาจังด้วยไม่ได้ เพราะผู้เขียนไม่มีความจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อข้อความที่ตัวเองโพสต์ลงไป



ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารที่คนอ่านต้องควักเงินซื้อ พวกเขาย่อม Demand คุณภาพ และต้องการรู้จักกับตัวตนของคอลัมนิสต์ เพราะพวกเขาและหนังสือที่เขาอ่าน มักมีสัมพันธ์ทางใจหรือมีเยื่อไยกันทางใดทางหนึ่ง เป็นความสัมพันธ์ในแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Love-hate relationship นั่นแหละ ผมเองเคยเห็นกับตาตอนคุณ สนธิ ลิ้มทองกุล หยิบนิตยสารในเครือของท่านสมัยที่ท่านยังรุ่งเรืองสุดขีด มาพลิกดู แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีอารมณ์ แล้วก็โยนลงถังขยะไป

นั่นทำให้คอลัมนิสต์และนักเขียนย่อมต้องพิถีพิถัน และรับผิดชอบต่อความเห็นของตัวเอง

โลกเรานั้นเต็มไปด้วยเรื่องเลวร้ายต่างๆ นาๆ มนุษย์ส่วนมากมักเผชิญอยู่กับความทุกข์ยากในขณะที่มนุษย์ส่วนน้อยเท่านั้นที่ชีวิตมีแต่ความสุข แม้ตัวเรา ถ้าดูจริงๆ ก็มีความทุกข์เกิดกับตัวเองแยะ ดังนั้นคอลัมนิสต์ที่เด่นดังและแสบสันต์ส่วนใหญ่มักเชี่ยวชาญการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเลวร้ายต่างๆ นาๆ เช่นเล่นงานผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีอำนาจ นายทุนผู้เอารัดเอาเปรียบ กดขี่ขูดรีด นโยบายและคนของรัฐบาล ตลอดจนอภิสิทธิ์ต่างๆ

แต่ก็อย่าลืมว่า โลกเรายังมีมิติที่งาม มีคนที่น่าสนใจ จริงใจ ไม่เสแสร้ง มีเรื่องราวที่ทำให้อิ่มเอมใจ และมีอุดมการณ์ที่สูงส่ง น่า Observe อีกมากมาย

สิ่งเหล่านี้แหละ ที่คอลัมนิสต์รุ่นใหม่ควรต้องใส่ใจ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 กรกฎาคม 2551
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2551
-----------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น