วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

จินตนาการ



ผมรู้สึกมาได้สักระยะหนึ่งแล้วว่า คนไทยส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้ (โดยเฉพาะชนชั้นผู้นำ หรือชนชั้นปกครอง) ขาด “จินตนาการ” กันมากอย่างน่าใจหาย

เราให้คุณค่ากับ “เหตุผล” “ความสำเร็จ” “ความสมเหตุสมผล” “ความเป็นวิทยาศาสตร์” “ใช้งานได้” “ความง่ายต่อการนำไปประยุกต์ใช้และดัดแปลง” “ประโยชน์ระยะสั้น” “ประโยชน์ที่เห็นได้” “เห็นชัด” “จับต้องได้” “เห็นจริงเห็นจัง” “ทันท่วงที” “เดี๋ยวนี้เลย” และ “ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ” “เป็นเงินเป็นทอง” “ได้ไม่ได้” “ได้เท่าไหร่” “ได้ยังไง” “คุ้มไหม” ฯลฯ และซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังดูแคลน “จินตนาการ” อีกด้วย

หลายสิบปีมาแล้ว ที่เราขาดแคลนบทกวี วรรณกรรม จิตรกรรม ปติมากรรม สถาปัตยกรรม และบทเพลง ที่งดงาม ลึกซึ้ง กินใจ กระตุ้นจินตนาการ และ Sublime
อาจมีข้อยกเว้นบ้าง ก็เพียงน้อยนิด นับว่าน่าเสียดาย และน่าเสียใจ สำหรับคนรุ่นนี้ (ที่พูดนี้รวมถึงตัวผมเองด้วย)

คนมีความรู้สมัยนี้ ส่วนใหญ่รู้ด้านเดียว เน้นไปในเรื่อง “ทำมาหากิน” และวิธีแสวงหา “โภคทรัพย์” เป็นหลักใหญ่

เดี๋ยวนี้ แม้แต่ด็อกเตอร์ ก็ยังอ่านภาษาไทยไม่แตก น้อยคนจะอ่านศรีปราชญ์ได้ อ่านเจ้าฟ้ากุ้งได้ อ่านพระลอได้ อ่านโองการแช่งน้ำได้ อ่านมหาชาติได้ อ่านยวนพ่ายได้ อ่านไตรภูมิได้ อ่านศิลาหลักหนึ่ง หลักสอง หลักสาม...ได้ อ่านเพลงยาวต่างๆ ได้ แม้แต่ กฎหมายตราสามดวง หรือจินดามณี ก็อ่านกันไม่แตกเสียแล้ว

แต่ก็เห็นอ้างความเป็นไทย และเรียกร้องให้กลับไปหารากเหง้าความเป็นไทย กันมาก

ผมเคย Recruit คนจบปริญญาตรี ปริญญาโท มามาก ทั้งจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียง ก็พบว่าส่วนใหญ่ อ่านและเขียนภาษาไทยได้จำกัด ซ้ำร้าย ความรู้ภาษาต่างประเทศ ก็ใช่ว่าจะดี

เป็นแบบ “หัวมังกุด ท้ายมังกร” ไทยก็ไม่ได้ อังกฤษก็ไม่ดี จีนก็ไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่มีเลือดจีนอยู่ในตัว ชัดเจน

ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้ ขาดแคลน “จินตนาการ” อย่างน่าใจหาย


จินตนาการ และ ความคิดสร้างสรรค์ นั้นเกี่ยวโยงถึงกัน เมื่ออันหนึ่งขาด ก็ยากที่อีกอันจะงอกงามได้ (ความคิดสร้างสรรค์ในที่นี้ ผมหมายให้กินความกว้างกว่า เรื่องของชิ้นงานโฆษณา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือการดีไซน์สินค้า ที่มักคุ้นเคยกันในเวลานี้ นะครับ)

ผมไม่เชื่อว่า เด็กไทยจะไร้จินตนาการ แต่ผมคิดว่า ระบบการศึกษาบ้านเรา ทำลายจินตนาการในวัยเด็กของพวกเขาไปเสียจนเกือบหมด (หรือหมดเลยสำหรับบางคน)

สังคมไทยในตอนนี้ ต้องการและถวิลหา “ความคิดใหม่” อย่างยิ่งยวด และความคิดใหม่หรือ New Idea จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าปราศจากจินตนาการ

รัฐธรรมนูญอเมริกัน ที่เป็นพื้นฐาน เอื้ออำนวยให้สังคมอเมริกันสะสมความมั่งคั่ง และยิ่งใหญ่มาได้จนทุกวันนี้ เป็นผลผลิตของบรรดา Founding Fathers ที่เปี่ยมด้วยจินตนาการ ถึงสังคมที่ดีและพึงปรารถนา ในแบบของพวกเขา

จินตนาการ อาจหาไม่ได้ในห้องเรียนหรือตำราเรียน แต่อาจหาได้ในป่าเขา ท่ามกลางพรรณไม้และสิงสาราสัตว์ ท้องทุ่ง ท่ามกลางความร้อนระอุและแมลง ขุนเขา แม่น้ำ ลำธาร ตรอกซอกซอย ตลาดสด สลัม ห้องสมุด หรือท่ามกลางซากปรักหักพังของอยุธยา สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลพบุรี นครศรีธรรมราช หรือจากวรรณกรรม บทกวี งานศิลปะ สิ่งปลูกสร้างที่สวยงาม วัด ปราสาท นิทานพื้นบ้าน เพลงพื้นบ้าน ตำนานพื้นบ้าน ประเพณีพื้นถิ่น เรื่องเล่า แหล่ ร่าย ลิลิต ฉันท์ ดอกสร้อย สักวา เพลงยาว เสภา นิราศ กลอนสวด ขับไม้ ตลอดจนความเชื่อผีสาง และเทวา อารักษ์ ที่มีอยู่มากมาย ให้ยึดถือกันทั้งเจ้าและไพร่
สิ่งเหล่านี้ มีอยู่แล้วในสังคมไทย ไม่จำเป็นต้องไปหาถึง Harvard, Stanford, Oxford, หรือ Cambridge

คำตอบของสังคมไทยในอนาคต อาจไม่ได้อยู่ในห้องเรียน มหาวิทยาลัย รัฐสภา หรือบนท้องถนนราชดำเนิน หรือขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ขึ้นอยู่กับจินตนาการของคนรุ่นต่อไป เป็นสำคัญ

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 มิถุนายน 2551
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551
(รูปพระนารายณ์ข้างบนวาดโดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น