วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

33 Vignettes เล็กๆ แต่งาม



ผมเห็นรอยสักบนก้นคนครั้งแรกเมื่ออายุ 10 ขวบ

เป็นการเห็นกับตาไม่ใช่จากรูปถ่าย

ผมตะลึง ทึ่ง ขำ ทว่าประทับใจ จนทุกวันนี้ยังจำได้ดี

คอนเทนต์ของมันประกอบด้วยตัวหนังสือโบราณ ตัวเลข ยันต์ และพญานาค ผสมปนเปกันทว่าได้สัดส่วนสวยงาม สีน้ำเงินแก่ออกดำแกมเขียว ลายพร้อย ดีไซน์เป็นกางเกงขาสั้นพันรอบตัวตั้งแต่เอวต่ำจนถึงโคนขา แม้แต่องคชาติก็ไม่เว้น ดูผ่านๆ เหมือนกำลังนุ่งขาสั้นรัดติ้ว แต่ไม่ใช่

งานสักเล็กๆ บนเนื้อหนังมังสามนุษย์เป็น Art Form เก่าแก่ เก่ากว่างานขีดเขียนบนผนังถ้ำ ก้อนหิน หรือหน้าผาซะอีก

งานเขียนก็เป็น Art Form เก่าแก่อีกอัน อาจเก่ากว่าการพูดด้วยซ้ำไป (ผมหมายถึงพูดเป็นประโยคไม่ใช่พูดออกเสียงเอ๊าะๆ แอ๊ะๆ อ้อแอ้ๆ) แต่การอ่านมักต้องอาศัยพลังแยะ สิ้นเปลืองทั้งกำลังกาย เวลา และกำลังสมอง ผมจึงไม่แปลกที่คนไทยอ่านหนังสือน้อย ยิ่งไปเจองานเขียนแย่ๆ มันช่างน่าเจ็บใจเสียนี่กระไร

สมัยก่อน งานสักกับไสยศาสตร์เป็นของคู่กัน งานสักที่ไม่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานนี้

“ไสยศาสตร์” เอง ก็เป็นความสร้างสรรค์อีกแขนงหนึ่ง เพราะช่วยจัดการความกลัว ความหวัง ความฝันของมนุษย์ เตรียมใจให้มนุษย์พร้อมรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ ในชีวิต

เจ้าของรอยสักรูปกางเกงบอกเด็กๆ ว่าถ้าได้ท่องคาถาไปด้วยก็จะทำให้ “คงกระพันชาตรี”

มันเป็นกลวิธี “ระงับความกลัว” อันแยกคาย และคนเราลองสามารถระงับความกลัวในเวลาคับขันหน้าสิ่วหน้าขวานได้ คนอื่นก็จะมองว่า “กล้า” ทันที

ความกล้าเป็นนิสัยของนักสร้างสรรค์ทุกคน ฝรั่งเรียกว่า Creative Courage

อย่างผมตอนนี้ ก็ต้องอาศัยความกล้ามาก กว่าจะพรมนิ้วลงบนแป้นคอมฯ เพื่อถ่ายทอด ความรู้สึก-นึก-คิด อารณ์ และความกระทบใจ ลงไปบน Word ว่างๆ ตรงหน้า โดยต้องให้ได้ก่อนเส้นตายที่พรรคพวกจะปิดต้นฉบับซะด้วย

33 เป็นตัวเลขที่อ่านจากทางซ้ายหรือขวาก็ได้ผลลัพธ์เดียวกัน ฝรั่งเรียกว่า Palindrome

กลุ่มตัวเลขแบบนี้มีความขลังในตัวเอง และเป็นใหญ่หรือมีศักดิ์ศรีเหนือกว่าการเรียงเลขแบบอื่น ไม่เชื่อก็ลองดูป้ายทะเบียนรถ หรือเบอร์โทรศัพท์ ที่เอามาประมูลขายกันแพงๆ ดูก็ได้

33 Vignettes เป็นงานประดิษฐ์คำขนาดสั้นของผม ที่มุ่งให้แต่ละชิ้นของมันประกอบกุมขึ้นเป็นขุมปัญญาสำหรับผู้ประกอบการและ Players ทั้งมวลแห่งยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แม้ผมจะจัดเป็นสี่กลุ่มย่อยและเรียงมันไว้จากซ้ายไปขวาหน้าไปหลัง แต่ท่านก็สามารถอ่านจากขวามาซ้ายจากหลังมาหน้าได้เช่นกัน 

(หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร MBA ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมในเวอร์ชั่น Blog นี้ ผมได้ตัดต่อจัดเรียงข้อความใหม่ และแยกออกเป็นบทความย่อยอีก 3 ตอน ซึ่งท่านจะสามารถอ่านได้โดยคลิกตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ)

อ่านต่อ: บทความชุด "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" Series 1+2+3 ได้ที่ลิงก์ข้างล่าง....คลิกได้เลยครับ


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
24 มีนาคม 2544

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น