วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระเจ้าอยู่หัวกับการคอรัปชั่น






โชคดีที่คุณปลัดกระทรวงฯ คนที่ถูกขโมยขึ้นบ้านแล้วขนเงินสดไปหลายสิบล้าน (แล้วยังอ้างว่าเห็นถุงใส่เงินวางอยู่ข้างๆ อีกหลายร้อยล้าน) มีพื้นเพมาทางวิศวกรรมศาสตร์และคิดแบบวิศวกร นี่ถ้าเขาเป็นนักบัญชีหรือคิดแบบนักการเงินหรือทนาย ป่านนี้คงยักย้ายถ่ายเท เล่นแร่แปรธาตุ เสกเป่าเงินสดจำนวนมหึมาเหล่านั้นไปเป็นทรัพย์รูปอื่นอันหลากหลาย หรือหาทางซ่อนทรัพย์เหล่านั้นไว้ในโลกกว้างจนยากที่สังคมไทยจะจับได้ไล่ทัน

แม้การรับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินบาทจะถูกต้องตามหลักวิชาการในเชิงเศรษฐศาสตร์การเงิน เพราะแนวโน้มเงินบาทยังอยู่ในแดนแข็งค่า แต่ทว่า กฎหมายฟอกเงินและการจับตาของสื่อมวลชนต่อนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงแบบเข้มข้น ก็ทำให้กระบวนการซ่อนเงินหรือแปลงเงินเหล่านั้นให้เป็นสินทรัพย์ชนิดอื่นในทอดต่อๆ ไป (เช่นเป็นเงินฝาก เป็นอสังหาริมทรัพย์ เป็นหุ้นหรือหลักทรัพย์ หรือเป็นเพชรนิลจินดา) ทำได้ยากลำบากกว่าแต่ก่อนมากนัก และทำได้ยากกว่าการคอรัปชั่นโดยเงินสกุลอื่นด้วยเช่นกัน

เห็นไหมครับว่าการคอรัปชั่นในสกุลเงินบาทนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกเปิดโปงมากกว่าการคอรัปชั่นโดยอาศัยเงินสกุลอื่น โดยเฉพาะเงินตราต่างประเทศสกุลแข็ง

พูดแบบชาวบ้านคือ นักคอรัปชั่นหรือ “นักกินเมือง” ควรจะรับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินดอลล่าร์มากกว่ารับเป็นเงินบาท เพราะเสี่ยงที่จะถูกจับได้ไล่ทันน้อยกว่านั่นเอง

ผมเห็นจุดนี้มาตั้งแต่ปลายยุคทักษิณแล้วหล่ะ

ผมคิดว่าคุณทักษิณและครอบครัวพลาดมากที่ตัดสินใจรับเงินค่าหุ้นชินคอร์ปเป็นเงินบาท แทนที่จะรับเป็นเงินดอลล่าร์หรือเงินตราต่างประเทศสกุลอื่น

เพราะการขอรับเป็นเงินบาทในจำนวนมากขนาดนั้น ทำให้ผู้ซื้อ (ซึ่งก็คือเทมาเส็ก รัฐวิสาหกิจผู้รับผิดชอบต่อการลงทุนในต่างประเทศ แขนขาใหญ่ของรัฐบาลสิงคโปร์เขา) ต้องโอนเงินเข้ามาชำระค่าหุ้นกันในประเทศไทย

จุดนี้เองที่ทำให้ปมปัญหาเรื่องภาษีแดงขึ้นมา และเงินจำนวนนั้นก็เริ่มถูกจับตา ยากแก่การยักย้ายถ่ายเท จนตอนหลังก็ถูกอายัดไปโดยง่ายดาย เมื่อคุณทักษิณหมดอำนาจลง

หากว่าคุณทักษิณและครอบครัวยอมให้เทมาเส็กชำระเป็นเงินดอลล่าร์เข้าบัญชีในสิงค์โปร์หรือฮ่องกงหรือสวิสหรือนิวยอร์กหรือลอนดอนหรือเคย์แมนหรือบาฮาม่าหรือ Tax Haven อื่น หรือแบ่งกระจายไปตาม Offshore Account ที่ไหนก็ได้นอกประเทศ เรื่องราวก็อาจไม่จบลงแบบนี้

ใช่...มันคงเป็นหนังอีกม้วนนึงเลยหล่ะ หรือถ้ายังเป็นม้วนเดิม ท้องเรื่องและบทก็คงเปลี่ยนไปแยะ การสืบสวนสอบสวนคงทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย และการยึดทรัพย์ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะการขอความร่วมมือจากธนาคารและรัฐบาลต่างประเทศโดยหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่มาจากรัฐประหารนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ใช่ว่าคุณทักษิณจะไม่รู้จุดนี้ แต่ผมว่าเพราะความที่อยากได้กำไรสองต่อ ทั้งค่าหุ้นและค่าเงินด้วย ทำให้เกิดติดหล่มในที่สุด

สมัยที่เงินบาทยัง Peg อยู่กับเงินดอลล่าร์ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์นั้น การรับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินบาทหรือเงินดอลล่าร์ย่อมมีค่าไม่ต่างกัน เพราะมันไม่มี Exchange Rate Risk แต่ทว่า นับจากธนาคารชาติลอยค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 เป็นต้นมา การรับเงินใต้โต๊ะจึงต้อง Sophisticated ขึ้นเป็นเงาตามตัว (แต่คงไม่ถึงขั้นต้องอาศัย Derivative Products และต้องทำ Dynamic Hedgeing กันบ่อยๆ)

สมัยที่เงินบาทยังอ่อนค่าและยังไม่มีแนวโน้มแข็งค่าหรืออยู่ในเทรนขาขึ้นแบบทุกวันนี้ นักการเมืองและข้าราชการระดับสูง (หรือบริวาร) ที่หากินโดยการคอรัปชั่นโครงการใหญ่ ได้ค่านายหน้าทีละมากๆ นิยมรับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินดอลล่าร์ โดยให้ฝากเข้าบัญชีในต่างประเทศกัน

เงินเหล่านั้น ส่วนใหญ่ก็ไม่ถูกนำเข้ามาในประเทศ แต่เอาทิ้งไว้ในต่างประเทศกันเลย ไว้ลูกหลานไปเรียนหนังสือก็ค่อยเปลี่ยนเป็นบ้านเป็นอพาร์ตเมนต์หรือเป็นทรัพย์สินชนิดอื่น และถอนเอาไปใช้กัน บางคนเก่งหน่อย พอนานไปก็นำเข้ามาซื้อหุ้นโดยผ่านกองทุนหรือโบรกเกอร์ต่างประเทศกันบ้าง แล้วค่อยหาทางขายเปลี่ยนเป็นเงินบาทภายหลัง โดยกระจายไปตามบัญชีของลูกหลานญาตพี่น้องและบริษัทบริวาร จนยากที่จะจับได้ไล่ทัน

บางคนใช้วิธีตั้งบริษัทบังหน้าแล้ววางบิลจาก Shell Company หรือบริษัทกระดาษบังหน้าของตัวที่เปิดไว้ในต่างประเทศ อ้างว่าเป็นค่าที่ปรึกษาบ้าง ค่าซอฟท์แวร์บ้าง ค่าวางระบบบ้าง หรือค่าอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ต้องมีการส่งมอบจริง แล้วก็ให้กิจการรับสัมปทานในเมืองไทยหรือกิจการที่ได้ประโยชน์จากโครงการตามน้ำเหล่านั้นในเมืองไทย โอนชำระเงินไปให้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้แล้วก็มี

บางคนรับเป็นใบหุ้นแล้วให้คนแอบขนใบหุ้นไปต่างประเทศ แล้วค่อยฝากโบรเกอร์ในต่างประเทศขายเอาเงินสดไปก็มี

บางคนรับเป็นอพาร์ตเมนต์สวยๆ ในปารีส ลอนดอน หรือนิวยอร์ก ก็มี

แต่เมื่อเงินบาทเริ่มแข็งค่าเพราะสหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบาย Weak Dollar แถมแนวโน้มเงินปอนด์และเงินยูโรก็ไม่สดใส นักคอรัปชั่นจึงหันมารับเงินใต้โต๊ะเป็นเงินบาทแทน

นั่นจึงนำพวกเขาเข้ามาติดกับความเสี่ยงในแบบที่ว่ามา

การคอรัปชั่นในสกุลเงินบาทต้องเกี่ยวพันกับเงินสดจำนวนมาก อาจต้องมีหลักฐานการเบิกเงินและฝากเงินและโอนเงินอย่างชัดเจนและสะดุดตา แถมยังยากต่อการยักย้ายถ่ายเท ต้องอาศัยเครือข่ายทางการเงินและเครื่องมือทางการเงินอันหลากหลายและผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายให้ความช่วยเหลือร่วมมือ ทำให้เก็บความลับได้ยาก และเกิดจุดอ่อนหลายจุดตามข้อต่อต่างๆ ของกระบวนการยักย้ายถ่ายเทและเล่นแร่แปรทรัพย์หรือซ่อนทรัพย์ดังกล่าว

ทนายและนักการเงินเก่งๆ ก็ใช่ว่าจะไม่ปากโป้ง

ผมได้ยินผู้ใหญ่ที่เชื่อในบุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ว่า “เป็นเพราะธนบัตรเงินบาทมีพระบรมฉายาลักษณ์ประทับอยู่ เสมือนหนึ่งพระองค์คอยปกปักรักษาทรัพย์สมบัติของชาติไทยเอาไว้ และผู้ที่ทำการคอรัปชั่น เท่ากับลบหลู่พระองค์โดยตรง จึงต้องมีอันเป็นไป....”

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ!

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
11 ธันวาคม 2554

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2554







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น