วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ด็อกเตอร์ประสารคิดว่าเงินยูโรต้องสลาย
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้สนทนากับ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หลังจากรัฐบาลเยอรมนีเปิดให้ประมูลพันธบัตรแต่ขายไม่ค่อยออก เหลือกลับเกือบครึ่ง (Undersubscribed) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขาดความเชื่อมั่นอย่างแรงของตลาดต่อยูโร (หลังจากเกิดเหตุการณ์อื่นๆ ที่แสดงถึงการขาดความเชื่อมั่นร้ายแรงต่อเนื่องกันมาหลายครั้งแล้วในระยะหลังนี้) และคิดกันมาก พูดกันหนาหูว่ายูโรคงถึงคราวแตกสลายคราวนี้เอง
ดร.ประสารมีความเห็นเป็นส่วนตัว (มิใช่ความเห็นของธนาคารชาติ) ว่ายูโรคงต้องแยกกันในที่สุด ซึ่งผมเองก็คิดเหมือนกับท่าน เพราะมันค่อนข้างผิดธรรมชาติที่ไปรวมการตัดสินใจเชิงนโยบายเศรษฐกิจการเงินสำคัญๆ ไว้เป็นส่วนกลาง สัญญาว่าจะควบคุมกันอย่างเข้มงวด แต่ในทางการเมืองกลับแยกกัน ต่างคนต่างว่าไป
ท่านก็ทราบอยู่แล้วว่านักการเมืองนั้นมีนิสัยอย่างไร พวกเขาไม่ค่อยคำนึงในเชิงวินัยการใช้จ่าย หลายประเทศก่อหนี้ก่อสินเสียจนเป็นอย่างที่เห็น หลายคนเห็นแล้วหมดกำลังใจ ว่าชาตินี้คงไม่มีปัญญาใช้หนี้...
ดร.ประสารว่าธุรกิจของไทยเรามีความเกี่ยวข้อง (Exposure) กับยูโรไม่ค่อยมาก ดังนั้นผลกระทบโดยตรงคงน้อยมากหากเกิดวิกฤติขึ้นฉับพลัน เพียงแต่เงินดอลล่าร์ในตลาดกู้ยืมระยะสั้นคงเหือดหายไประยะหนึ่ง (เหมือนตอนวิกฤติซับไพรม์) ดังนั้น ธนาคารชาติจึงต้องเตรียมตัวเข้าแทรกแซงให้ตลาดมีสภาพคล่องเป็นปกติ
ดร.ประสารพูดต่อว่าค่าเงินดอลล่าร์คงจะแข็งขึ้น เพราะคนจะหนีเข้าสู่ดอลล่าร์หากยูโรวิกฤติ ทว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินนโยบาย Strong Dollar (ดร.ประสารใช้คำว่า "ถ้าทำแบบนั้น เท่ากับเป็นการดำเนินนโยบายแบบฆ่าตัวตาย"..."Suicide Policy") ดังนั้น ค่าเงินบาทในระยะยาวจะยังแข็งค่า และถ้าดูสถิติในอดีตประกอบแล้ว "การที่ค่าเงินบาทจะไปอยู่แถวๆ 27 บาทต่อดอลล่าร์ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้"
ผมยังได้พูดคุยในประเด็นอื่นอีกหลายประเด็น เช่นเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย และความต้องการของฝ่ายรัฐบาล ที่จะนำเอาทุนสำรองฯ ไปใช้ ตลอดจนความสัมพันธ์กับรัฐบาลปัจจุบัน และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก การดำเนินโยบายของธนาคารชาติในฐานะที่ประเทศเราเริ่มรวยขึ้นแล้วไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ยังจนอยู่ และนโยบายสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ เช่นการนำเงินไปซื้อหุ้นในต่างประเทศ และ ฯลฯ...ท่านผู้อ่านที่สนใจอยากทราบรายละเอียด สามารถหาอ่านได้ในคอลัมน์ MBA Talk ในนิตยสาร MBA ฉบับต้อนรับปีใหม่ ที่กำลังจะออกวางตลาดก่อนคริสต์มาสนี้....เอาไว้ไปนอนอ่านช่วงหยุดยาวครับ
ส่วนความเห็นที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับยูโร ผมแนะนำให้อ่านงานของ Nourial Roubini (www.roubini.com) และถ้าใครจะหาประโยชน์จากวิกฤติยูโร เขาก็เคยแนะนำว่าควรเข้าซื้อหุ้นในอิตาลี เลือกเอากิจการที่ผลประกอบการดีและมีอนาคต และเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนี และเข้าซื้อสินทรัพย์ในรูปเงินปอนด์และดอลล่าร์ โดยภาคธุรกิจของอิตาลีจะได้ประโยชน์มากจากการออกจากยูโร ค่าเงินเขาจะต่ำลง และของจะขายได้มากขึ้น (ข้อนี้จริงเพราะสมัยก่อนผมไปเที่ยวอิตาลี ก็ใช้เงินพอๆ กับอยู่สุขุมวิทนั่นแหละ จะมากกว่าก็นิดหน่อย แต่พออิตาลีเข้ายูโร ค่าครองชีพแพงขึ้นแยะ) ส่วนเยอรมนีซึ่งเข้มแข็งอยู่แล้วก็จะได้ประโยชน์ด้วยในเชิงที่ไม่ต้องไปแบกใครไว้บนบ่าอีกต่อไป
นานมาแล้ว ผมเคยเขียนแนะนำบล็อกของ Roubini ไว้นิดหน่อย ลองคลิกอ่านดูได้จากลิงก์ต่อไปนี้..."ตะวันตกดินที่ยุโรป"
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
9 ธันวาคม 2554
(ถ่ายภาพโดย ฐิติวุฒิ บางขาม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2554)
ผู้สนใจอ่านบทสนทนาฉบับจัดเต็ม โปรดคลิกได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ
ว่าด้วยยูโร ทุนสำรอง และกลยุทธ์แบงก์ชาติ : สนทนาท่ามกลางวิกฤติโลกกับดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น