แม้แต่คุณสุหฤทซึ่งผมเห็นว่านโยบายของเขามีลักษณะเชิงสร้างสรรค์และการนำเสนอก็มีความทันสมัยเก๋ไก๋กว่าใครเพื่อน
วิกฤตที่เพิ่งจะเกิดขึ้นกับ New York City และบรรดาเมืองชายฝั่งอีสเทอร์นซีบอร์ดของสหรัฐฯ หลังจากถูกพายุ Sandy จู่โจมเมื่อไม่นานมานี้ ย่อมชี้ให้ผู้คนในแวดวงการบริหารมหานครและสถาปนิกนักวางผังเมืองและนักการเมืองตลอดถึงผู้นำธุรกิจ เห็นประจักษ์กับตาแล้วว่า Global Warming เขยิบเข้ามาใกล้ตัวมากแล้ว
ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอยู่ก่อน ได้ซ้ำเติมวิกฤติระหว่างและหลังพายุให้รุนแรงหนักขึ้นเป็นทวีคูณ เช่น น้ำทะลักเข้าท่วมอุโมงค์รถไฟใต้ดินและกระฉอกข้ามเขื่อนกั้นมิเตอร์ปั่นไฟและสถานีจ่ายไฟฟ้าขนาดย่อยและขนาดกลาง (ซึ่งบางแห่งเป็น Hub) ส่งผลให้ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างและยาวนาน เกิดความเสียหายเชิงเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ตลาดหุ้น Wall Street ต้องปิดทำการ โรงพยาบาลบางแห่งมีปัญหา เครือข่ายสื่อสารบกพร่อง ซึ่งนี่ยังไม่นับผู้คนที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่ง ซึ่งย่อมต้องสูญเสียอย่างหนัก แม้กระทั่งชีวิต
สภาพแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางต้องปรับกระบวนทัศน์กันใหม่ ว่าต่อไปคงต้องยอมลงทุนเพื่อ “เขยิบทุกอย่างให้สูงขึ้นอีกสักนิด”
Amsterdam เป็นอีกมหานครหนึ่งที่ผู้คนกล่าวขวัญและยกย่องกันมากเรื่องการแก้ปัญหาอันเนื่องมาแต่น้ำ ที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมสูง เพราะเมืองของเขาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จึงต้องสร้างเขื่อนแล้วสูบน้ำออกเป็นเวลา และยังมีมาตรการย่อยอีกจำนวนมาก
แม้บัดนี้ คณะผู้นำของดัทช์ก็ยังไม่หยุดคิดหาวิธีใหม่ๆ ที่จะอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับปรุงวิธีการให้ได้ผลดีกว่าเดิม และประหยัดลง เพราะการสูบน้ำออกในยุคน้ำมันแพงแบบนี้ ในระยะยาวแล้วมันไม่ค่อยเวิร์ค
พวกเขายังคงจ้างนักวิจัย สถาปนิก นักออกแบบ และมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก มาคอยนำเสนอความคิดแปลกๆ แหวกแนวๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ
ล่าสุดก็ได้ข่าวว่าทีมหนึ่งจาก Harvard เสนอให้สร้างเมืองแบบลอยน้ำ แทนการกั้นเขื่อนแล้วสูบน้ำออก เพราะอาคารบ้านเรือนตลอดจนพื้นที่สาธารณะจะลอยขึ้นลงตามระดับน้ำ โดยพวกเขากำลังทดลองสร้างตึกด้วยวัสดุกันน้ำ 100% และลอยน้ำ และพื้นที่สาธารณะตามแนวคิดนั้นกันอยู่
อย่างที่ Rotterdam ก็มี Pavilion ลอยน้ำขนาดพื้นที่ประมาณสามสนามเทนนิส ใช้เป็นสถานที่แสดงนิทรรศการ กับ Water Plaza ที่ให้ผู้คนมาพักผ่อนเล่นน้ำกัน ซึ่งออกแบบให้เก็บกักน้ำได้ด้วยในเวลาฝนตกหนัก หรืออย่างสวนปติมากรรมและสวนสาธารณะริมคลองที่ออกแบบมาสำหรับให้น้ำท่วมแล้วไม่เสียหาย เป็นต้น (ลองคลิกดูแนวคิดบางอย่างที่น่าสนใจของเมืองนี้ได้ที่ www.youtube.com/watch?v=kujf4BTL3pE)
สิงคโปร์คู่แข่งตัวฉกาจของเรา ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ผู้นำของเขา Aware ถึงวิกฤติอันเนื่องมาแต่ภาวะโลกร้อนและระดับน้ำทะเลเขยิบขึ้น ยิ่งเขาอยู่ติดทะเลแบบนั้นและประสบภาวะน้ำท่วมหนักบ่อยๆ เมื่อเจอพายุโซนร้อน และเผชิญกับภาวะขาดแคลนแหล่งน้ำกินน้ำใช้อย่างต่อเนื่อง พวกเขาย่อมต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์กันอย่างจริงจังและยอมควักกระเป๋าลงทุน
ผมอยากให้พวกเราลองคลิกดูโครงการเม็กกะโปรเจกส์ Marina Barrage and Reservoir ของเขาที่เพิ่งสร้างเสร็จไปเมื่อปี 2551 ดูว่าเขามองการณ์ไกลขนาดไหน (คลิกที่ www.youtube.com/watch?v=_h8zxgFQsmM)
ว่ากันว่าโครงการนี้ใช้เงินไป 2 พันล้านดอลล่าร์ มีทั้งเขื่อนและประตูน้ำ 9 ช่อง ปั๊มยักษ์จำนวนมาก และพื้นที่แก้มลิงอีก 10,000 เฮ็กเตอร์ หรือประมาณหนึ่งในเจ็ดของประเทศ ทำให้ลดพื้นที่น้ำท่วมได้พอประมาณ และยังป้องกันคลื่น และใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำฝนได้ด้วย
ผลพลอยได้สำคัญคือพื้นที่สาธารณะและแหล่งท่องเที่ยว ทั้ง Water Sport (เพราะน้ำด้านในนิ่งพอควร) สวนน้ำ สวนพฤกษศาสตร์ Sky Park, Science Museum และ Sustainable Singapore Gallery ซึ่งตอนนี้กำลังฮิต ใครที่ไปเที่ยวสิงคโปร์ในรอบหลายปีนี้เป็นต้องพลาดไม่ได้
นอกจากนั้น พวกเขายังตัดสินใจลงเงินเพื่อเขยิบระดับทางเข้า MRT ให้ยกสูงขึ้นกว่าระดับสูงสุดที่น้ำเคยท่วม และลงทุนระบบระบายน้ำในอุโมงค์เพิ่มเติมไว้ในยามฉุกเฉินโดยกะไว้ว่าจะให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินแบบแย่สุดๆ ได้ด้วย (Worst Case Scenario) และยังออกกฎหมายให้การก่อสร้างอาคารต้องใช้วัสดุที่คงความเย็นภายในอาคารได้ โดยอาศัยเครื่องปรับอากาศให้น้อย เพื่อประหยัดพลังงาน....
ที่ว่ามานั้น มิได้มีเจตนาเอาคนอื่นมาข่มพวกเดียวกันเอง!
ทว่า เพียงอยากให้พวกเราได้ฉุกคิดกันบ้าง และคิดให้ไกล เพื่อที่จะได้แข่งกันบน Future Platform ที่ไปพ้นจากการเมืองน้ำเน่า ประเภทวนอยู่ในอ่างทุกครั้งที่มีเลือกตั้ง
วิกฤติใหญ่อันเนื่องมาแต่ภาวะโลกร้อนย่อมต้องเกิดขึ้นสักวัน (แต่ถ้าไม่เกิดได้ก็จะดี) และมันคงจะกระทบกับชีวิตทรัพย์สินของคนกรุงเทพฯ เข้าอย่างจังอีกครั้งหนึ่ง
ผมจึงอยากจะเห็นผู้นำรุ่นใหม่ของเราเข้าใจและมีแผนทั้งป้องกันและเผชิญวิกฤติในระดับ Massive Scale และในเชิงลึก
ทั้งในแง่ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับ อิฐ หิน ดิน ทราย เหล็ก ปูน พลังงาน และสิ่งก่อสร้างทั้งมวล และรวมตลอดถึงเครือข่ายสังคม Social Tie และเครือข่ายการกู้ภัยแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือโครงข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรกู้ภัยในยามฉุกเฉินและหลังวิกฤติ และการวางแผนอย่างเป็นระบบให้ภาคธุรกิจและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านี้เสียแต่ต้นมือ
ที่สำคัญคือระบบข้อมูลของกรุงเทพมหานครเชิงลึกที่จำเป็นสำหรับสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตินั้น ถ้าทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลที่สมบูรณ์ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ ความสูญเสียจะลดลงมาก
เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา กองเรือกู้ภัยของทหาร แม้จะช่วยได้มาก แต่เมื่อขับเข้าไปช่วยตามซอกซอยของหมู่บ้านที่น้ำถ่วมสูง พวกเขาย่อมไม่สามารถเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ถูก เพราะไม่รู้ว่าซอย 3 หรือซอย 15 และบ้านเลขที่เท่านั้นเท่านี้อยู่กันตรงไหนแน่ (เพราะพวกเขาไม่ใช่คนแถวนั้น) ต้องอาศัยอาษาสมัครของหมู่บ้านตามไปด้วยทุกครั้ง ทำให้เสียเวลา
ตัวอย่างแบบนี้ ถ้าสามารถนำ GPS ในระดับละเอียดเข้ามาช่วยอย่างทั่วถึง คงจะง่ายและเร็วกว่ามาก อีกทั้งถ้ามีดาต้าเบสในระดับบุคคลประกอบเข้าไปด้วย ระบบการช่วยเหลือก็จะยิ่งทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหน่วยกู้ภัยจะสามารถรู้ทันทีว่าบ้านหลังไหนมีเด็กหรือคนแก่ที่จะต้องช่วยออกมาก่อน เป็นต้น
ผมหวังว่า ผู้ว่ากรุงเทพฯ และคณะที่กำลังจะเข้ามาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จะพึงสำเหนียก
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
1 กุมภาพันธ์ 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น