วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ถึงเวลาเป็นซูเปอร์แมน



แม้ในชีวิตนี้จะเคยดูหนัง Superman มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทว่า Man of Steel ก็ยังคงมีพลังดึงดูดให้ผมอยากดูมันอยู่อีกไม่น้อยเลย

ว่ากันว่าคราวนี้มันทำเงินค่อนข้างงาม เป็นที่พออกพอใจผู้สร้างและสตูดิโอ ในขณะที่หนังฮอลิวู๊ดฟอร์มยักษ์อื่นที่ออกมาใกล้เคียงกันหลายเรื่องที่คิดว่าจะสำเร็จ กลับเหลวไม่เป็นท่า 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Timing ของมัน

พล็อตเรื่องแบบนี้ มาในเวลาแบบนี้ มันค่อนข้างเหมาะเจาะ

เวลาที่คนสิ้นหวังและเบื่อหน่ายกับภาวะรอบตัว แถมยังหมดศรัทธาในรัฐบาลและนักการเมือง คนมักโหยหาแฟนตาซี เพราะมันเป็นทางออกเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้กระชุ่มกระชวยขึ้นบ้าง หลายคนอาจแอบหวังว่ามันน่าจะมีอัศวินม้าขาวแบบนั้นมาให้พึ่งพิงได้บ้างสินะ และหลายคนก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ดูมันเพียงเพื่อความสะใจ หวังจะเรียกขวัญกำลังใจและกระตุกพลังชีวิตให้ฟื้นคืนมา พร้อมที่จะกลับไปรับสภาพความเป็นจริงอันเหลือทน หลังแฟนตาซีจบสิ้นลง

เพื่อนฝรั่งที่เป็นปัญญาชนของผมคนหนึ่งมักพูดเสมอว่า การดูหนังประเภท Superhero เปรียบได้กับการสูบกัญชา (เขาใช้คำว่า Dope) หรือกินเหล้า (เขาใช้คำว่า Booze) เพราะมันเสมือนเป็นเวทีออกจากปัญหาแบบเฉพาะตัวของใครของมัน (เขาใช้คำว่า Personal Outlet) อย่างน้อยชั่วคราวก็ยังดี

คำพูดแนวนี้ อุปมาว่าหนังเป็น "สารกระตุ้น" (Stimulant) ประเภทหนึ่ง ที่ช่วยหล่อเลี้ยงแฟนตาซีของมนุษย์ ช่วยพยุงให้มันงอกงามอยู่ ณ มุมใดมุมหนึ่งของความคิดคำนึง

ยิ่งหนังที่สร้างได้งดงาม สามารถล้วงลึกถึงความคิดจิตใจและกิเลสมนุษย์ แล้วนำเสนออย่างแนบเนียน ย่อมเปรียบได้กับงานศิลปะชั้นดีที่ช่วยจรรโลงใจคนได้

Man of Steel แม้มิใช่ชิ้นงานศิลปะที่ละเมียดขนาดนั้น แต่มันสามารถเป็น Outlet ของคนส่วนใหญ่ในสภาวะปัจจุบันได้ดีและเหมาะเจาะ

อย่าลืมว่าฝรั่งส่วนมากในขณะนี้มีความทุกข์และความกังวลกดทับพวกเขาอยู่ค่อนข้างหนักหนา

ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องใหญ่

นับแต่ฟองสบู่ซับไพรม์แตกเมื่อปี 2551 เป็นต้นมา ฝรั่งชาติสำคัญที่เคยรวย ล้วนสูญเสียทรัพย์สินกันไปมาก คนจำนวนมากนอกจากจะสูญเสียบ้านช่อง และเงินเก็บแล้ว ยังตกงานอีกด้วย

ปัญหามันลามมาจากอเมริกาสู่ยุโรป และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับความสิ้นหวัง ต้องทนฟัง ดู และอ่านข่าวร้ายตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ถ้าไม่เครียด ไม่เบื่อ ก็แปลกแล้วหล่ะ

หนำซ้ำ นักการเมืองของพวกเขาต่างพากันตีฝีปาก หรือไม่ก็ทะเลาะกัน แถมยังทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน เช่นยังคบเศรษฐีและรับเงินจากเศรษฐีหรือกิจการใหญ่ๆ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวก ฯลฯ โดยไม่ได้มีความคิดใหม่ หรือแนวทางแก้ปัญหาใหม่ ที่มันสร้างสรรค์ จนประชาชนรู้สึกว่า "เออ...แบบนี้พึ่งได้!"

ในบางประเทศการสูญเสียศรัทธาต่อนักการเมือง ย่อมหมายถึงการสูญเสียศรัทธาต่อสถาบันทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาฯ ศาล หรือแม้กระทั่งระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจ

อย่าว่าแต่ฝรั่งเลย บ้านเราเองก็เป็น


เดี๋ยวนี้ สภาฯ และตำรวจ และศาล และระบบราชการ ลดความศักดิ์สิทธิ์ไปแยะ

ยังไม่นับนักการเมือง ที่ผู้คนพากันดูถูกดูแคลนและรังเกียจในดีกรีที่แทบจะเป็น "สิ่งปฏิกูล" ไปแล้ว

แม้แต่สถาบันหลักของประเทศ ทั้งพระและเจ้า ก็ใช่ว่าจะได้รับความศรัทธาในดีกรีเดิม

ปัญหาการก่อการร้ายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกเครียด

ผู้ก่อการร้ายในปัจจุบันเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างน่าใจหาย และวิธีที่พวกเขาใช้ก็โหดเหี้ยมขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังเก่งขึ้น สามารถทะลุทะลวงกระทั่งปราการอันเข้มแข็ง เข้าไปเหยียบจมูกเสือได้ด้วย ดังกรณี Boston Marathon เป็นพยานอยู่

หากลองถามราษฎรในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ตอนนี้ดู ก็จะเห็นร่องรอยของความกลัวอยู่ในคำตอบและกิริยาอาการของพวกเขาไม่มากก็น้อย

พวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว คนจำนวนมากกลายเป็นคนเงียบขรึม หวาดระแวง และอยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่อยากข้องแวะหรือสนใจคนอื่นอีกต่อไป

นั่นเป็นผลเชิงลบของ "ความกลัว"

ฝรั่งเองก็รู้สึกกันแบบนี้ และเพื่อจะลดความกลัวในใจคนลง รัฐบาลก็ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการนี้โดยตรง

งบประมาณต่อต้านการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (ทหารและอัยการบ้านเราก็กำลังกดดันให้รัฐบาลสั่งซื้อ "หุ่นยนต์ล่องหน" หรือ Drone มาใช้กับงานปราบผู้ก่อการร้าย) หน่วยงานขนาดใหญ่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรับมือโดยตรง (เช่น Homeland Security เป็นต้น) กฎเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ หยุมหยิมขึ้น ทำให้ชีวิตยุ่งยาก (เช่นการตรวจเช็คอย่างละเอียดก่อนขึ้นเครื่องบิน หรือขั้นตอนศุลกากรที่ซับซ้อน จนถึงขั้นที่สินค้าบางอย่างส่งผ่านไปไม่ได้ หรือถ้าได้ก็ต้องเสียต้นทุนเพิ่ม) และที่บ้ามากคือการก่อสงครามกับอัฟริกานิสถานและอิรักด้วยสาเหตุนี้เช่นกัน

และล่าสุด มีการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่ล้วงลึกครอบคลุมข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคนและข้อมูลทางการของทุกส่วนราชการ ถึงขั้นอีเมล์ทุกชิ้น และภาพ และคลิป และข้อมูลความลับส่วนบุคคลต่างๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ตลอดจนการดักฟังโทรศัพท์อย่างกว้างขวาง (ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ นาย Edward Snowden ที่ออกมาเปิดโปงเรื่องนี้กำลังหนีรัฐบาลสหรัฐฯ แบบหัวซุกหัวซุนอยู่ที่รัสเซีย)

สิ่งเหล่านี้เป็นดาบสองคม

เพราะแม้มันจะช่วยลดความกลัวในใจคนลง แต่มันกลับเพิ่มความกังวล และขยายขอบข่ายของปัญหา ยิ่งขยายความขัดแย้ง และยิ่งเสียทรัพย์ และยิ่งขัดแย้งกันเองหนักขึ้น ยิ่งทะเลาะกันมากขึ้น และยิ่งปวดหัว น่าเบื่อ สิ้นหวัง (เพราะปัญหาไม่จบเสียที) ฯลฯ

นี่ยังไม่นับความกังวลอื่นอีกที่สำคัญต่อชะตากรรมของมนุษย์ เช่นปัญหาโลกร้อน เป็นต้น

Man of Steel จึงทำหน้าที่เหมือนยาคลายเครียด

คือเปิดตัวออกมาตอนที่โลกกำลังตกอยู่ในอันตราย มนุษย์ต่างดาวคิดจะยึดโลกเป็นบ้านหลังใหม่ของพวกมัน หลังจากที่บ้านหลังเก่าของพวกมันถูกภาวะโลกร้อนทำลาย ภาวะที่เกิดจากน้ำมือของพวกมันเอง (แบบว่าพวกมันสูบพลังงานบนดาวดวงนั้นจนหมดเกลี้ยง ดาวมันเลยเกิดวิกฤติทางนิเวศวิทยา...คล้ายๆ จะเตือนมนุษย์อยู่ในที) โดยพวกมันต้องฆ่ามนุษย์ทิ้งให้หมด และตอนนี้สถาบันต่างๆ ของมนุษย์ล้วนไม่สามารถต่อกรกับมันได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ศาล ตำรวจ สื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งทหารและนาซ่า ที่ถูกกล่าวถึงในหนัง

แม้ Superman จะเป็นมนุษย์ต่างดาวเช่นกัน แต่ก็ได้มาอาศัยอยู่บนโลกตั้งแต่ยังแบเบาะ จึงมีความรู้สึกรักมนุษย์และรักโลก

แม้ทหารจะไม่เชื่อใจเขาและโจมตีเขาในตอนแรก แต่เมื่อเขาแสดงให้เห็นว่าอยู่ฝ่ายมนุษย์ ผู้บัญชาการทหารก็บอกออกมาเองว่า "เขาผู้นั้นมิใช่ศัตรูของเรา"

หนังเรื่องนี้ ไม่กล่าวถึงรัฐบาลและนักการเมืองเลย เสมือนลบออกไปจากสมการ ราวกับว่าคนเหล่านั้นไม่มีความสลักสำคัญอะไรเลย และคงทำอะไรไม่ได้ในเวลาวิกฤติ หรือถึงมีอยู่ ก็ใช่ว่าราษฎรจะพึ่งอะไรได้

ทหารเท่านั้นที่หนังเรื่องนี้กล่าวถึง และหนังยังแสดงให้เห็นแง่มุมความกล้าหาญของทหารเหล่านั้นด้วย คือถึงแม้รู้ว่าสู้ไม่ได้ แต่ก็ยังสู้และสู้ด้วยท่าทางฮึกเหิมไม่หวั่นเกรง

แม้เครื่องบินตก ก็ยังสู้ด้วยปืนยาว และแล้วปืนยาวกระเด็นจากมือ ก็ขอสู้ด้วยปืนสั้น จนสุดท้ายสูญเสียปืนสั้นไปอีก ก็ยังชักมีดแล้วเดินเข้าหาศัตรูแบบไม่กลัวเกรง

เหมือนกับหนังจะจงใจแสดงให้เห็นว่า เมื่อบ้านเมืองวิกฤติ เราต้องพึ่งทหาร (และทหารยังทำตัวให้พึ่งได้)

Superman ในเรื่องนี้ ไม่ได้ "เจ๋ง" ไปหมด เพราะยังเป็นเด็กบ้านนอกและรู้สึกด้อยในเชิงจิตวิทยาและยังแสวงหาความยอมรับจากมนุษย์ แถมยังทำผิดพลาดเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะในฉากที่ต้องต่อสู้กับผู้ร้าย ก็ได้ทำลายทรัพย์สิน ตึกรามบ้านช่อง เสียหายนับไม่ถ้วน ผู้คนจำนวนมากพลอยถูกลูกหลงล้มตายเป็นจำนวนมาก

ดูไปก็คล้ายกับเทพฮินดูบางองค์ ที่ถึงแม้จะตั้งใจช่วยมนุษย์ แต่ก็ได้ทำลายทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์ไปในกระบวนการนั้นด้วย

แบบนี้แหละที่หนังหรือนิยายทำนองนั้นมันถึงจับใจคน เพราะ "เทพ" หรือ "Superhero” มันยังคงมีมิติของความเป็นมนุษย์และมีจุดอ่อนข้อบกพร่อง จับต้องได้ และนิสัยคล้ายๆ กับพวกเรา ยังมีรัก เกลียด โกรธ โง่ เอาแต่ใจ และบางทีก็ชอบกินเหล้า

ไม่ว่าจะเป็น "พระราม" หรือเป็น "Superman”

แต่ดูหนังดูละครแล้วควรย้อนดูตัวเอง

แล้วมันจะทำให้ท่านอดไม่ได้ที่ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า "ท่ามกลางวิกฤติของสังคมไทยในขณะนี้ เราศรัทธาใครได้บ้าง?”

ถ้าถามผม ผมจะตอบว่า

"เราต้องพึ่งตัวเอง เพราะนอกจอมันไม่มีซูเปอร์แมน!”

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
15 สิงหาคม 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนสิงหาคม 2556

คลิกอ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้จากลิงก์ข้างล่าง

***DOWNTON ABBEY



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น