วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อนาคตเชียงใหม่



สมัยเด็ก ผมยังทันเห็นพิธีสักยันต์แบบเก่าของทางเหนือโดยอาจารย์เงี้ยว (ไทยใหญ่) และผมกับเพื่อนๆ ยังได้ขนขวายหาบทคาถาขณะสักยันต์ มาท่องจำกันตามประสาเด็ก หวังว่าจะช่วยในเชิงคงกระพันชาตรีได้อย่างที่บรรดาผู้เฒ่าเล่าขานให้ฟัง

ผมยังจำบรรยากาศได้ดีว่ามันค่อนข้างสนุกสนาน ลักษณะงานค่อนไปในทาง Entertainment มีเด็กๆ จำนวนมากไปมุงดู มีดนตรีเล่นเป็นระยะ และผู้ใหญ่นั่งดื่มเหล้ากันเต็มไปหมด...

พอได้ที่ คนที่ต้องการจะประทับรอยสักก็ละจากวง แล้วคลานเข้าไปกราบพระและครูบาอาจารย์ ก่อนจะเข้าประจำที่ เพื่อเตรียมตัวรองรับเข็มยาวใหญ่จุ่มน้ำหมึกที่กำลังจะปักเข้ามาในเนื้อหนังอย่างเป็นศิลปะ ควบกับคาถาแห่งความศักดิ์สิทธิ์ที่เปล่งจากปากพระอาจารย์ระหว่างที่มือปักเข็มไปด้วย...พี่ๆ น้าๆ บางคนทำหน้าเฉยเมย แต่บางคนก็หน้าแดง ถมึงตา ขมวดคิ้ว กัดฟัน และใบหน้าแสดงความเจ็บปวดจากความแหลมคมของปลายเข็มอย่างเห็นได้ชัด

“....(ฉึก ฉึก ฉึก ฉึก!)...ทัต ปาริ จ๋า ก๊ะ ตั๋ง ปั๋ง ละ กั๋น ตุ๊...(เพี้ยง)....(ฉึก ฉึก!)....กั๋นละหะ เนละหะ ป๋าละปาทะ คง คง คง...(ฉึก ฉึก ฉึก ฉึก ฉึก!)....อุ่งสั่ว ทาละทัป จั๊กจ๋าหวุติ ชาลิหวู่จิ๊...(เพี้ยง)....(ฉึก ฉึก ฉึก!)....”

นั่นเป็น Fashion ในยุคเก่าแก่ แต่เหตุการณ์ที่ผมพูดถึงนี้ ยังหลงเหลือมาให้ผมได้เห็นในช่วงกลางทศวรรษ 1970s ณ กลางเมืองเชียงใหม่

เมื่อผมเติบโตขึ้น การสักยันต์กลายเป็นเรื่อง Old Fashion

คนที่มีรอยสักตามตัว กลายเป็น "คนนอก" ของสังคมกลายๆ ไม่มีใครเต็มใจรับเข้าทำงาน และพ่อแม่ก็ไม่อยากให้คบค้าเพื่อนแบบนั้น

สมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยในช่วงต้นทศวรรษ 1980s เคยเรียนวิชา Personnel Management และยังจำได้แม่นว่ามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้สอบถามความเห็นของผู้จัดการฝ่ายบุคคลถึงเรื่องรอยสัก โดยผลลัพธ์ที่ออกมาค่อนข้างติดลบ คือเกือบทั้งหมดยอมรับว่าคนที่มีรอยสักมักก้าวหน้าในอาชีพการงานช้ากว่าคนที่ไม่มีรอยสัก โดยเฉพาะในตำแหน่งบริหาร และคนที่มีรอยสักมักปกปิดไม่ให้คนรู้ว่าตัวเองมีรอยสักเมื่อมาสมัครงาน เพราะโอกาสได้งานทำน้อยกว่าคนทั่วไป (สมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยี Laser ลบรอยสักเหมือนสมัยนี้) และอาชีพที่สักกันแยะมักได้แก่ทหาร เกษตรกร กรรมกร และพ่อค้าเร่



ในสมัยโบราณนั้น เราคงไม่แปลกใจที่ทหารต้องสักยันต์ เพราะทหารเป็นอาชีพที่เสี่ยงและต้องอาศัยความกล้าหาญ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องหาทางระงับความกลัวในใจของตัวเองลง ซึ่งรอยสักและคาถาประกอบย่อมมีวัตถุประสงค์เช่นนั้น

เช่นเดียวกับพ่อค้า ที่ต้องร่อนเร่รอนแรมไปในต่างถิ่นกับกองคาราวานวัวต่างหรือม้าต่าง ซึ่งนับว่ามีความเสี่ยงกว่าอาชีพอื่น

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่อาจารย์สักยันต์ดังๆ ในภาคเหนือจะเป็นพวกเงี้ยวหรือไทยใหญ่ (หรือถ้าเป็นพระสงฆ์ก็มักจะร่ำเรียนมาจากพระอาจารย์เชื้อสายเงี้ยวอีกทอดหนึ่ง) เพราะคนกลุ่มนี้เคยควบคุมเครือข่ายการค้าของเชียงใหม่อยู่ก่อนที่ชาวจีนจะอพยพเข้ามาในยุครัชกาลที่ 5 และทะลักเข้ามาอีกชุดใหญ่หลังเส้นทางรถไฟสายเหนือสร้างเสร็จเมื่อ พ.. 2464

โลกาสันนิวาสทำให้กลุ่มทุนเงี้ยวหมดอิทธิพลลง รัฐฉานหรือ "เมิงไต" ก็หมดอำนาจอิทธิพลลงด้วย แม้แต่พม่าเมืองแม่เองก็เอาตัวไม่รอด ถูกอังกฤษยึดครอง เช่นเดียวกับเจ้าเชียงใหม่ ที่สูญเสียอิทธิพลให้กับเจ้ากรุงเทพฯ และระบบราชการไปในที่สุด

กลุ่มทุนเชื้อสายจีนขึ้นมามีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจของเชียงใหม่ บางตระกูลก็บังเกิดอภิชาติบุตร สามารถสะสมทุนและเคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจของประเทศได้ภายในสามชั่วคน แม้ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ลูกหลานของตระกูลจีนแคะตระกูลหนึ่งของเชียงใหม่ที่คนรุ่นปู่ยังพูดไทยไม่ชัดนัก ก็กำลังนั่งบัญชาการอยู่ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า โดยมีพี่ชายที่เป็นมหาเศรษฐีระดับโลกบัญชาการมาจากนอกประเทศอีกชั้นหนึ่ง

แต่โลกาสันนิวาสย่อมมีพลวัตรของมันอยู่ตลอดเวลา ความไม่แน่นอนจึงแน่นอน

ปัจจุบัน กลุ่มทุนเชื้อสายจีนท้องถิ่นต้องหลีกทางให้กับกลุ่มทุนเชื้อสายจีนจากส่วนกลาง และทำท่าว่าจะมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศเพิ่มดีกรีความคุกคามเข้ามาอีก

ลูกหลานของพ่อค้าจีนเหล่านั้น ปัจจุบันเรียกตัวเองว่านักธุรกิจ ต่างพากันเข้าสู่อำนาจ และเรียกตัวเองใหม่ว่านักการเมือง และกลายเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการจัดสรรอำนาจทางการเมืองและทรัพยากรทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่

ข้าราชการท้องถิ่นที่เคยยิ่งใหญ่ กลายเป็นเพียงลูกไล่ของนักการเมืองเหล่านี้

สมัยผมเด็กๆ ผมรู้สึกว่านายอำเภอฯ ผู้กำกับฯ หรือผู้ว่าฯ นั้น ยิ่งใหญ่มาก แต่ปัจจุบันคนเหล่านี้แทบไม่อยู่ในสายตาเด็กสมัยนี้ด้วยซ้ำ

การเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองของเอเชียและของโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ก็จะทำให้โลกาสันนิวาสของเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงอีกรอบหนึ่ง

แต่มันน่าจะเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ

การเปลี่ยนความคิดของชาวคอมมิวนิสต์ระดับสูงของจีน ลาว เวียดนาม และคณะทหารพม่า ทำให้บ้านเมืองแถบนี้ร่มเย็นขึ้น หันมาคบค้าสมาคม ไปมาหาสู่และค้าขายกันมากและบ่อยขึ้นกว่าเดิม

ถนนหนทาง สนามบิน ทางรถไฟ สะพาน และอุโมงค์ ที่จะเชื่อมต่อระหว่างกัน ย่อมส่งผลดีต่อเชียงใหม่อย่างแน่นอน เพราะภูมิศาสตร์ของเชียงใหม่ตั้งอยู่ในจุดที่เป็นเนื้อนาบุญอย่างยิ่ง

ยิ่งผู้คนในย่านตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของจีนร่ำรวยขึ้น ในลาวเหนือร่ำรวยขึ้น และในพม่าและเมิงไตและคะฉิ่นว้าแดงร่ำรวยขึ้น เชียงใหม่ย่อมได้ประโยชน์มาก ทั้งในทางส่งออกและรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งในแง่ของการใช้พื้นที่และแรงงานเหล่านั้นเป็นฐานการผลิตราคาถูก

คนจากต่างถ่ินคงจะหลั่งไหลเข้ามาในเชียงใหม่ และคณะผู้นำหรือผู้กุมชะตากรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตของเชียงใหม่ย่อมเปลี่ยนโฉมไป มีความหลากหลายยิ่งขึ้น และอาจจะสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นด้วย...ใครจะไปรู้

ผมไม่จำเป็นต้องพูดถึงจินตนาการในเชิง Geopolitics กระแสหลัก ที่กำลังถูกใช้เป็น Theme สำคัญใน Growth Story ของเชียงใหม่ที่กำลังขายความคิดกันอยู่ในขณะนี้ เพราะท่านผู้อ่านคงทราบดีอยู่แล้ว...การขึ้นมาของจีน รถไฟความเร็วสูง การเปิดประเทศของพม่า การเชื่อมทางหลวงผ่านพม่าไปสู่อินเดีย การเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างเชียงใหม่กับเมืองสำคัญในเอเชียและในโลก หรือแม้กระทั่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมที่อาศัยทักษะสูง และการให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ...ฯลฯ

แต่ผมจะยำ้ว่าโลกาสันนิวาสมันมีพลวัตร ดังนั้น "ความไม่แน่นอน" จึงเป็น "ความแน่นอน"

"เงี้ยว" หรือ "ลื้อ" หรือ "ลัวะ" ที่เคยหมดความสำคัญต่อเชียงใหม่ไปนานแล้ว อาจกลับมามีความสำคัญอีก แต่ไม่ใช่ในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มอิทธิพล แต่ในฐานะ "ตลาด" หรือ Market คือทั้งในพม่า ลาวเหนือ และยูนนาน

เพราะ (ย้ำ!) โลกาสันนิวาสเป็นเรื่องของพลวัตรและการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ดูเหมือนมั่นคงกลับล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา และสิ่งที่ดูเหมือนล่มสลายหรือสูญหายไปแล้ว กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาและเติบโตได้อย่างมั่นคง

ดังวัฒนธรรมการสักเป็นพยานอยู่ เพราะในเมื่อผมนำท่านผู้อ่านเข้าท่องจินตนาการของผมต่อเชียงใหม่ผ่านประตูบานเล็กๆ ที่เรียกว่าการสัก ผมควรนำท่านผ่านประตูบานนี้กลับไปสู่โลกอนาคตเช่นกัน โดยหวังว่าท่านจะได้จินตนาการหรือมุมมองที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นหลังจากที่ท่านอ่านบทความนี้จบลง

อย่าลืมว่า การสักเพิ่งจะกลับมานิยมอีกครั้งในรอบสิบปีหลังมานี้เอง ทว่ารอบนี้มันไม่ได้มาในนามของความคงกระพันชาตรี แต่มาในนาม "Body Art” หรือศิลปะบนเรือนร่าง

ผมเข้าใจว่าที่มันกลับมาฮิตอย่างรวดเร็วรอบหลังนี้ เพราะคนดังๆ เช่นบรรดาดาราฮอลิวู๊ดอย่าง แองเจลินา โจลี และอีกหลายคน รวมถึงนักฟุตบอลระดับซูปเปอร์สตาร์อย่าง เดวิด เบคแฮม หันมานิยมสัก เลยกลายเป็นแฟชั่นที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว และการมีเทคโนโลยีลบรอยสักที่ค่อนข้างได้ผล ก็ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจง่ายขึ้น

ทว่า ศูนย์กลางการสักได้ย้ายออกจากวัดหรือสำนักอาจารย์ผู้คงกระพันไปอยู่ตามย่านท่องเที่ยวหรือย่านงานฝีมือ เช่น สวนจตุจักร ถนนข้าวสาร เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย และพัทยา เป็นต้น

ถึงกระนั้นก็ตาม ในวงการระดับสูง การมีรอยสักอยู่ตามตัวยังคงเป็นเรื่องไม่ค่อยเหมาะสมและมิพึงปรารถณาอยู่ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้เองที่ Caroline Kennedy ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้ผู้ล่วงลับ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโอบามาให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงโตเกียว โดยเธอผู้นั้นได้พยายามหาทางลบรอยสักรูปผีเสื้อกระพือปีกที่ใต้ท่อนแขน แถมยังต้องหาชุดที่สามารถปกปิดตรงนั้นไว้ในบางโอกาสอีกด้วย

แม้การวาดและสักบนเรือนร่างจะเป็นศิลปะดึกดำบรรพ์ คงจะก่อนที่มนุษย์จะรู้จักวาดรูปลงบนผนังถ้ำด้วยซ้ำ โดยไม่จำเป็นต้องเปรียบกับแผ่นปาปิรุส แผ่นหิน Mosaic ดินเผา Terracotta แผ่นไม้ และผืนผ้าใบหรือ Canvas ที่เริ่มมาได้อย่างมากก็สักหาพันปีมานี้เอง

เพราะมนุษย์คงต้องการความสวยงามและดึงดูดเพศตรงข้าม นอกเหนือไปจากเป้าหมายในเชิงศิลปะคือมุ่งหาความงาม (พูดแบบภาษาสมัยใหม่ได้ว่า Fine Art) และเป้าหมายในเชิงสังคมคือการเข้าพวกให้รู้ว่าสักแบบนี้แล้วเป็นพวกเดียวกัน (ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า Fashion Art

มนุษย์จึงพัฒนาศิลปะบนเรือนร่างแบบการสักหรือวาดลงไปบนผิวหนังตรงๆ ให้ต่อยอดมาสู่เครื่องสำอางและเครื่องประเทืองผิวตลอดจนปรับปรุงเสริมแต่งอวัยวะหลายส่วนของร่างกาย และมาสู่เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับอัญมณี กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โตในทุกๆ ทาง จนปัจจุบัน สลับซับซ้อนก้าวหน้าไปถึงขั้น Cosmetic Surgery, High Fashion และ Brand Name อย่างโอ่อ่า อลังการณ์ และสูงมูลค่า

ถ้าปุจฉา วิสัจฉนา ความข้อนี้แตก จนเห็นทะลุปรุโปร่งแล้วไซร้ ก็จะเห็นอนาคตของเชียงใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
14 พฤศจิกายน 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ย. 2556
ภาพโดย ฐิติวุฒิ บางขาม และภาพคนสัก จาก Facebook ของ Thanarak Suwannakij



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น