วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

มนุษย์จะไปต่อยังไง เมื่อเครื่องจักรเก่งขึ้นทุกวัน




เพื่อนเก่าผมคนหนึ่ง เธอเป็นคนน่ารักและมองโลกในแง่ดี เธอทำงานอยู่ที่สำนักงาน FAO ของสหประชาชาติประจำประเทศไทย วันหนึ่งเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องของเธอเกิดนึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษของคำว่า "สายชำระ" ไม่ออก จึงลองใช้บริการของ Google Translation Service ดูบ้าง

ทันทีที่เธอพิมพ์คำภาษาไทยลงไป แล้วคลิกไอคอน "Translate” บนหน้าจอก็ปรากฏคำว่า "Late Payments” หรา

เรื่องนี้จึงได้กลายเป็น "โจ๊กประจำออฟฟิส" นับแต่บัดนั้น

เมื่อเธอเล่าเรื่องดังกล่าวให้ผมฟัง ผมลองเปลี่ยนมาพิมพ์คำว่า "สายฉีดก้น" ดูบ้าง ผลลัพธ์ดูดีขึ้นมาทันตาเห็น เพราะ Google Translation ได้ให้คำว่า "Bottom Hose” มาแทน ซึ่งฟังดูแล้วใกล้เคียงกับความหมายที่เราต้องการกว่าคำแรกมาก

และด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลองให้ถึงที่สุด ผมลองเปลี่ยนคำว่า "ก้น" เป็น "ตูด" และพิมพ์คำว่า "สายฉีดตูด" ลงไป ผลปรากฏว่าคำแปลของ Google กลายเป็น "Hose Ass” ไปเฉยเลย

ผมอดขำไม่ได้ เลยหวนนึกถึงเรื่องเล่าของพระยาอนุมานราชธน สมัยที่ท่านเป็นราชบัณฑิตและกำลังจัดทำพจนานุกรรมภาษาไทยกันอยู่ ท่านไม่สามารถหาคำอธิบายความหมายที่เข้าท่าๆ ของคำว่า "ก้น" กับ "ตูด" ได้ ว่าสองคำนี้ควรต่างกันอย่างไร คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก จนวันหนึ่งระหว่างที่ท่านกำลังเดินไปทำงาน (ท่านเดินไปทำงานทุกวันจากบ้านท่านแถวสุรวงศ์ไปสนามหลวง) ขณะเดินผ่านย่านเยาวราช ก็ประจวบเหมาะกับเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นซนกันอยู่ และอีท่าไหนผมจำรายละเอียดไม่ได้ ท่านไปได้ยินเด็กคนหนึ่งตะโกนพูดกับเพื่อนๆ ว่า "ก้นมีไว้นั่ง และตูดก็มีไว้ขี้ไง เอ็งไม่รู้เหรอ"...ท่านก็เลย "ปิ๊ง"

เลยกลายมาเป็นศัพท์บัญญัติที่ว่า "ก้น น. ส่วนเนื้อล่างหรือส่วนท้ายของลำตัว, โดยปริยายหมายความถึงบริเวณก้นด้วย เช่น ล้างก้น; ส่วนล่างของภาชนะ เช่น ก้นหม้อ, ส่วนสุดของห้วงหรือแอ่ง เช่น ก้นบ่อ ก้นสระ ก้นคลอง, ตรงข้ามกับปาก; ส่วนสุดที่เหลือ เช่น ก้นเทียน ก้นบุหรี่.” และ "ตูด น. รูก้น ว. นูนขึ้น, สูงขึ้น, เช่น เนื้อตูดขึ้นมา; ยื่นออกไป เช่น ปากตูด.” (อ้างจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2542 หน้า 7 และหน้า 574)

แต่ลองคิดดูดีๆ นิทานเรื่องนี้ชักไม่ตลกเสียแล้ว เพราะมันกำลังชี้ให้เห็นถึงหน่ออ่อนของความเปลี่ยนแปลง ที่เมื่อได้รับการพัฒนาต่อยอดและก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งแล้ว อาจจะยิ่งใหญ่ ส่งผลกระทบกว้างขวางและลึกซึ้งในอนาคต

มันแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าคอมพิวเตอร์เริ่มแปลภาษาคนได้แล้ว แม้มันจะยังไม่เก่งและแปลถูกแปลผิด เพราะภาษาคนแต่ละภาษา รวมตลอดถึงไวยากรณ์ และหลักการใช้ภาษา มันยุ่งยากซับซ้อน

ทว่า มันก็เริ่มแปลได้บ้างแล้ว เพียงแต่ทักษะของมันยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น อุปมาเหมือนเด็กหัดพูดหรือนักแปลที่เพิ่งหัดแปล แต่เมื่ออินทรีย์แก่กล้าขึ้น ใครจะไปรู้ว่าอะไรจะเกิดตามมา

เรื่องแบบนี้เราต้องอาศัยจินตนาการประกอบ

ย้อนไปสักสามสิบปีก่อน ใครจะคาดคิดว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องเท่าหม้อแกงที่ต้องแบกไปไหนมาไหนด้วย และพูดได้ในรัศมีใกล้ๆ จากเสาสัญญาณซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ สายจึงขาดเป็นระยะๆ จะกลายมาเป็น Smartphone เครื่องเล็กจิ๋ว ไม่มีปุ่มเพราะใช้วิธีสั่งงานโดยการสัมผัส สามารถพูดคุยกันได้ทั่วทุกมุมโลก ถ่ายรูปได้ ส่งข้อความ เสียง และภาพถึงกันและกันได้ และยังใช้แทนแผนที่ เข็มทิศ ปฏิทิน ปรอท เครื่องคิดเลข บัญชีรับจ่าย นิตยสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี เครื่องเล่นเกมส์ ฯลฯ แถมทำงานแทนคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วทันใจ และรับคำสั่งและพูดกับเราเป็นภาษามนุษย์ผ่าน Natural Language Processing Software (เช่น Siri) และทำตัวเป็นห้องเรียนและมหาวิทยาลัยผ่าน MOOC ได้อีกด้วย

พลังการคำนวณของไมโครโปรเซสเซอร์ชิพและขนาดของหน่วยความจำที่เร็วขึ้นและขยายขึ้นหลายล้านเท่า ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้าน Multi-sensors และความก้าวหน้าทางการผลิต ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นจริงขึ้นได้และกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ทั้งๆ ที่มันนอกเหนือจินตนาการของคนส่วนใหญ่ในสมัยโน้น เว้นเสียแต่ว่าเขาเหล่านั้นเป็นแฟนนิยายวิทยาศาสตร์

ท่านที่ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคงทราบแล้วว่า คอมพิวเตอร์สมัยนี้ทำได้แม้กระทั่งสั่งให้พริ้นเตอร์พิมพ์อวัยวะมนุษย์เทียมที่ใช้เปลี่ยนถ่ายได้จริง (3D Printing) สั่งให้รถยนต์ขับไปเอง เลี้ยวเอง ถอยเอง จอดเอง โดยไม่มีคนขับก็ได้ (Google Car) สั่งให้ขับเครื่องบินทิ้งระเบิดหรือสอดแนมเองโดยไม่มีกัปตัน (Drone) สั่งให้เก็บข้อมูลการเจ็บป่วยจำนวนมากมายมหาศาล เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์โรคของหมอถูกต้องแม่ยำขึ้นก็ได้ (ผมได้ข่าวว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในประเทศไทยได้สั่งเข้ามาใช้กันบ้างแล้ว) ยังไม่นับว่ามันสามารถตอบคำถามในรายการเกมส์โชว์และเล่นหมากรุกชนะแชมเปี้ยนที่เป็นมนุษย์ อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบางาน (หรือแย่งงาน) ในสำนักงานและในโรงงานประเภททักษะต่ำ ได้นานแล้ว

พลังและความเร็วของชิพกับขนาดของหน่วยความจำซึ่งใหญ่ขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง ประกอบกับความก้าวหน้าทางด้านดิจิตัลเทคโนโลยี ซึ่งสามารถทำให้ข้อมูลทุกชนิดแปลงมาเก็บในรูปดิจิตอลไฟล์ (01010101...) ได้เหมือนกันและเสมอหน้ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวหนังสือ เสียงเพลง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และข้อมูลที่ได้จาก Sensors แบบต่างๆ นี้เอง ที่ทำให้เรื่องราวที่เคยปรากฏแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์เป็นความจริงขึ้นมา

ทุกวันนี้ เราถึงแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข่าวสาร คลิป ภาพยนตร์ เพลง ข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ แผนที่ เอกสาร และสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่าน Social Networks ได้ภายในลัดนิ้วมือเดียว

ในหลายแง่มุม คอมพิวเตอร์ทำงานล้ำหน้าสมองมนุษย์ไปแล้ว

ถ้ารัฐบาลจีนปัจจุบันรื้อฟื้นการสอบจอหงวนขึ้นมาใหม่ คอมพิวเตอร์คงได้ตำแหน่งจอหงวนกันทุกปี เพราะการสอบจอหงวนนั้นเน้นทดสอบความจำเป็นหลัก

ฉันใดก็ฉันนั้น Google Translation หรือ "กูเกิ้ลแปลภาษา" คงจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้แน่

ถ้าท่านลองคลิกดูจำนวนภาษาบนหน้าจอ Google Translation ที่เปิดให้บริการแล้วในขณะนี้ ท่านจะพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้นถึง 71 ภาษา รวมภาษาไทยของเราด้วย โดยภาคภาษาจีน มีอยู่ถึง 2 เวอร์ชั่นคือแบบ Simplified และแบบ Traditional

และอย่าลืมว่ามันเป็นของฟรี!

ดังนั้น ถ้าผมมีอาชีพมัคคุเทศน์ หรือนักแปล หรือเลขานุการ หรือเสมียน ผมคงหวั่นไหวว่าสักวันหนึ่ง Google Translation จะมาแทนที่ทักษะและบริการของผม

แน่นอน พวกเราคงไม่คาดหวังงานแปลระดับวรรณกรรม เพราะคอมพิวเตอร์คงยังไม่ลึกซึ้งในรสคำขนาดนั้น (อย่างน้อยก็ในขณะนี้ ทว่าในอนาคตมันอาจจะพัฒนาไปได้) แต่งานพื้นๆ อย่างจดหมายโต้ตอบ เอกสารสำนักงาน รายงานการประชุม รายงานประจำปี หรือแม้กระทั่งบทภาพยนตร์และงานข่าวหรือแถลงการณ์และงานประชาสัมพันธ์ง่ายๆ คอมพิวเตอร์คงทำแทนเราได้แล้ว โดยงานที่ยากขึ้นบางชนิด เราอาจใช้บริการ Google Translation ในเบื้องต้นได้ แล้วค่อยส่งต่อให้บรรณาธิการขัดเกลาเพิ่มเติมให้เกิดความสละสลวยก็จะง่ายขึ้นและเบาแรงลงแยะ

ผมทดลองนำบางเสี้ยวของงานเขียนเรื่อง "อสรพิษ" ซึ่งถือเป็นวรรณกรรมชั้นยอดของ แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนรางวัลซีไรต์คนล่าสุด มาให้ Google ลองแปลดู ก็พบว่าความไพเราะยังห่างไกลจากสำนวลแปลของ Marcel Barang ผู้รอบรู้และละเมียด ถึงแม้จะสามารถให้ความหมายที่ดีและถูกต้องในบางท่อนซึ่งง่ายๆ แต่สำหรับบางท่อนที่ยากๆ นั้น Google ยังนับว่า "มั่วเต็มที"


ท่านผู้อ่านลองอ่านดูเอาเองเถอะ... "จวนจะเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนรอนแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำนุ่มนวลอ่อนโยนลง ท้องฟ้าปร่งโล่งเหมือนโดมแก้วผลึก เสี้ยวเมฆบางเบาบนเส้นขอบฟ้าเหนือทิศตะวันตกเมื่อต้องแสงตะวันมีสีสันงามประหลาด รูปทรงต่างๆ นานาของมันเร่งเร้าก่อให้เกิดจินตนาการ เขาได้แต่นั่งนิ่งมองดูเมฆเหล่านั้นเหมือนกำลังเข้าฌาน เขาเห็นเมฆเหล่านั้นเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน เป็นป่าดงพงพี เป็นไม้ใหญ่โดดเดี่ยวซึ่งกิ่งก้านของมันถูกหักรานด้วยพายุ เป็นเนินที่มีรูปลักษณ์เยี่ยงหญิงสาวกำลังนอนตะแคง...” (อ้างจาก "อสรพิษ", "Venom", สำนักพิมพ์แมวคราว พ.. 2545, หน้า 81)

Google แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Practically the evening Heat, light and sunny down, The vivid red sun is gentle softening. Chinedu crystal clear sky like a dome. Thinly slice the clouds on the horizon to the north west, the sun colorful beauty bizarre shapes its numerous congregations causing imagination. He just sat there in silence for those clouds look like a meditation. He saw those clouds a mountain complex. The jungle. A solitary tree, its branches, which were broken by Hurricane Frances. A hill that looks like the girl is lying on its side....”

โดย Marcel Barang แปลได้งดงามกว่ามากว่า "The afternoon was coming to an end. The light was softening, and the dark-red sheen of the sun was fading. The sky was a deep dome of crystal, clear and vast. Thin shred of clouds on the horizon to the west took on wondrous hues under the last sunrays. Their ever-changing shapes enticed the imagination. He sat still, looking at those clouds as if in a trance. He saw them as tangled mountains, as thick jungle, as a solitary tree whose branches had been shorn by storms, as hillocks in the shape of woman lying on her side...” (หน้า 28)

และย่อหน้าที่มีคำผรุสวาทผสมด้วยบ้างนั้น เห็นได้ชัดว่า Google Translation ไม่เข้าใจถึงความลึกและซับซ้อนของภาษาไทยเลย เช่น "ทรงวาดมีความพึงใจอย่างยิ่งที่ได้เรียกเขาว่าไอ้แป ไอ้เหี้ยแป หรือไอ้สัตว์กะหมาแป เรียกอย่างจงเกลียดจงชังและเหยียดหยาม มีความสุขที่ได้เน้นย้ำกับตัวเองหรือกับคนอื่นๆ ในหมู่บ้านถึงปมด้อยของเขา...” (หน้า 84) โดย Google ให้คำแปลว่า "Yaowarat had the pleasure to have known him, but I believe students or students I & Dog Pet students. Called animosity and contempt Happy to be emphasized to themselves or to others. In the minority of his village ...”

คงอีกนานที่คอมพิวเตอร์จะสามารถแปลงานของ Shakespeare และ Hemingway ได้เอง

กระนั้นก็ตาม ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ (หรือถ้าพูดถึงที่สุดแล้วก็คือ "ความรู้ใหม่ๆ" ของมนุษย์นั่นเอง) มักนำความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมาให้เราเสมอ และการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่ออนาคต วิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และฐานะทางเศรษฐกิจของเรา

เพราะเทคโนโลยีมันทำให้เรามีคู่แข่ง ทำให้ของถูกลง หรือจู่ๆ ก็เพิ่มปริมาณสินค้าขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เช่นกรณีของความรู้ใหม่ในการเจาะน้ำมันหรือก๊าซบนชั้นหินลึกที่เรียกว่า Fracking ของกิจการพลังงานในสหรัฐฯ ที่ช่วยให้สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันน้อยลง ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงลดลงด้วย ส่งผลให้ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ดีขึ้น และค่าเงินแข็งขึ้น จนกระทบต่อทุกคนในโลก

ลองพิจารณาดูดีๆ ว่าแนวโน้มราคาทองคำต่อไปจะเป็นเช่นไร หากค่าเงินดอลล่าร์ยังคงแข็งขึ้น และราคาน้ำมันอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาหุ้น ปตท. และ ปตท.สผ. จะเป็นเช่นไรในอนาคต

นี่ยังไม่นับว่าเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกอื่นซึ่งกำลังจะเข้าที่เข้าทางในอนาคตอันใกล้ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนขับรถยนต์เติมน้ำมันน้อยลง และบ้านเรือนใช้ไฟฟ้าที่ได้จากแสงอาทิตย์กันหมด

ใครจะได้ใครจะเสีย และที่สำคัญ ตัวเราจะเสียอะไร หรือตัวเราต้องไปยืนอยู่ตรงไหน เพื่อแต่งตัวและเตรียมตัวที่จะตักตวงผลประโยชน์ เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ผู้คนในโลกสมัยใหม่ต้องคำนึง

การจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในระดับนี้มีได้ทางเดียว คือต้องหมั่นให้การศึกษากับตัวเองอยู่ตลอดเวลา หัดสังเกตุสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้งกว้างขวาง แม้กระทั่งจิตใจของตัวเอง เก็บบทเรียนของตัวเองและจากผู้อื่นเป็นเครื่องเตือนใจ ให้สติตั้งมั่น รู้จักใช้เหตุผล รู้จักเปลี่ยนแปลง และพัฒนาความคิดความอ่านและปัญญาของตัวเองให้สูงขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น และแยบคายขึ้น ยิ่งเมื่อเวลาผ่านไป อายุมากขึ้น ก็ยิ่งจำเป็นเพราะถ้าเราอยู่เฉยๆ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไป ทักษะและวิธีคิดของเราอาจล้าสมัย 

มันเป็นความเสี่ยงแบบหนึ่ง คือเสี่ยงกับการ“ตกยุค” และ “ล้าสมัย” หรือ “หมดประโยชน์ไปโดยปริยาย” 


นี่ยังไม่นับว่า ตลอดช่วงชีวิตเรายังถูกกดทับด้วยความเสี่ยงประเภทอื่นอีกสารพัด เช่นเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ต่อภัยธรรมชาติ และความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งปวง ฯลฯ

ที่สำคัญคือความเสี่ยงอันเนื่องมาแต่ "วิกฤติเศรษฐกิจ" ที่อาจ “พราก” ทรัพย์และความมั่งคั่งทั้งหมดที่เราสู้อุตส่าห์หามาได้ทั้งชีวิต ไปจากเราจนหมดตัวในคราวเดียวเลยก็ได้

ทว่า ตราบที่เรายังครอบครองความรู้ความสามารถและทักษะที่เชี่ยวชาญอันเหนือชั้น เราก็ยังคงจะสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้ทุกเมื่อ โดยมีเครื่องจักรช่วยผ่อนแรง


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
1 ธันวาคม 2557
รูปประกอบ: แดนอรัญ แสงทอง และหนังสือ "อสรพิษ" ฉบับสองภาษา
จากเว็บไซต์ www.daen-aran-saengthong.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น