วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สองนคราแบงก์ชาติ รัสเซียกับไทย สไตล์ป้องค่าเงิน



เมื่อคืนก่อน หลังเที่ยงคืนไม่นาน (ตามเวลามอสโคว์) ธนาคารชาติรัสเซียได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานจาก 10.5% เป็น 17% เป็นอันว่าเช้านั้น ชาวรัสเซียและตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกเลยต้องตื่นขึ้นมาพบกับ Surprise กัน

ตลาดหุ้นไทยวันนั้นก็ถูกเทขายไปด้วย

ท่านผู้อ่านทุกคนที่ติดตามข่าวสารย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าค่าเงินรูเบิ้ลของรัสเซียถูกรบกวนมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยคราวนี้ก็เพื่อปกป้องไม่ให้ค่าของมันรูดลงไปอีก เพราะรัสเซียเกรงว่ามันจะเป็นสาเหตุของ Financial Crisis สถาบันการเงินล้ม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับไทยตอนปี 2540

ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ เงิน 1 ดอลล่าร์แลกเงินรูเบิ้ลได้ 69.7068 รูเบิ้ล (อ้างจากกราฟของ Bloomberg) ในขณะที่ตอนต้นปี หนึ่งดอลล่าร์แลกได้เพียง 33 รูเบิ้ล

ค่าเงินรูเบิ้ลตกต่ำลงกว่า 50% แต่ก็ยังสวิงมากอยู่หลังจากประกาศขึ้นดอกเบี้ย แสดงถึงความไม่มั่นใจต่อนโยบายนี้ว่าจะ "เอาอยู่" จริงหรือ

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ประธานาธิบดีปูตินเพิ่งจะออกมาประกาศลั่นว่ารัสเซียจะไม่ยอมเป็นเหยื่อของนักเก็งกำไร จะปกป้องต่อสู้ทุกวิถีทาง ถึงกับเปรียบเทียบเหตุการณ์ปัจจุบันกับสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่รัสเซียสู้กับฮิตเลอร์ผู้รุกรานแบบไม่คิดชีวิต แล้วก็เอาชนะกองทัพเยอรมันจนได้ และถึอเป็นจุดพลิกผันของสงคราม ซึ่งการเสียสละครั้งนั้นได้นำเสรีภาพมาสู่ยุโรปทั้งมวล

แต่ปัญหาของรัสเซียขณะนี้ไม่ใช่ฮิตเลอร์ แต่เป็นการลดลงอย่างฮวบฮาบของราคาน้ำมัน ทำให้ภาษีที่เคยเก็บได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลงกว่าครึ่ง และอย่าลืมว่าหนึ่งส่วนสามของจีดีพีรัสเซียขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมพลังงาน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่รัฐบาลของประธานาธิบดีปูตินไปส่งเสริมอุดหนุนกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครน ทำให้ชาติมหาอำนาจตะวันตกแซงชั่นเข้าให้ (ดังนั้นใครอย่าคิดว่าการแซงชั่นโดยมหาอำนาจตะวันตกไม่สำคัญ)

การแซงชั่นส่งผลให้การค้าขายและธุรกรรมการเงินของบริษัทรัสเซียกับชาติตะวันตกที่เคยคล่องตัว ทำยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้ยืมเงินทองและเข้าถึงแหล่งทุนโลก

จุดแข็งของรัสเซียเพียงอย่างเดียวในขณะนี้อยู่ที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งยังคงมีมากกว่าหนี้ต่างประเทศ ถึงกว่าสองเท่าตัว นับว่าต่างกับสถานการณ์ของไทยในปี 2540 มาก เพราะขณะนั้น ทุนสำรองของเราส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนของคนอื่นที่นำเข้ามาแลกเป็นเงินบาทเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ไทย และเราดันเอาทุนสำรองก้อนนั้นไปพยุงค่าเงินบาทในตลาดซื้อขายเงินตราแล้วขาดทุนป่นปี้ เป็นเหตุให้ต้องหันไปพึ่งไอเอ็มเอฟ จนเป็นที่มาของการขึ้นดอกเบี้ยแบบมหาโหด

จะเห็นว่ารัสเซียขึ้นดอกเบี้ยก่อน โดยยังมิได้นำทุนสำรองออกมาพยุงค่าเงินอย่างเป็นจริงเป็นจัง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยของเราในสมัยโน้นทำกลับกัน

หมากต่อไปของธนาคารชาติรัสเซียหากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้ผลคือการใช้มาตรการ Capital Control อย่างที่มหาเธย์ โมฮัมมัด เคยนำมาใช้อย่างได้ผลหลังจากวิกฤติต้นยำกุ้งของเราเริ่มลามไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

Capital Control คือการจำกัดการนำเงินเข้าออกประเทศหรือจำกัดการแลกเงินรูเบิ้ลเป็นเงินตราสกุลอื่นและในทางกลับกันนั่นเอง

อย่าลืมว่า สมัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจออกมาปกป้องค่าเงินบาทนั้น เงินบาทยังคงผูกติดอยู่กับเงินดอลล่าร์ในราคา 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ โดยพวกหัวกะทิของธนาคารชาติมั่นใจว่าราคานั้นเหมาะสมแล้ว ในขณะที่บรรดานักเก็งกำไรหรือ Hedge Fund ที่กำลังโจมตีค่าเงินบาทในขณะนั้น เชื่อว่าราคาเงินบาทที่แท้จริงต้องต่ำกว่านั้นมาก

ธนาคารชาติลืมไปว่า ผู้ที่ถือเงินบาทในมือมากที่สุดมิใช่บรรดานักเก็งกำไรพวกนั้น แต่คือราษฎรไทยทั้งประเทศ

ดังนั้น เมื่อราษฎรไทยหมดความเชื่อมั่นในเงินบาท พากันไปแลกเป็นเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเงินของตัวมิให้เสื่อมค่าลง หรือเพื่อเก็งกำไรก็ตามที เงินบาทย่อมรูดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากมีข่าวรั่วว่าธนาคารชาติขาดทุนจากการปกป้องค่าเงินเป็นจำนวนมากนั่นเอง

มันเป็น "ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ"

ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่ถือเงินรูเบิ้ลมากที่สุดในขณะนี้ก็คือราษฎรรัสเซียนั่นเอง มิใช่บรรดานักเก็งกำไรทั้งหลาย

หากพวกเขายังคงไม่เชื่อมั่นว่านโยบายขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้จะสามารถ "เอาอยู่" พวกเขาอาจทยอยนำเงินรูเบิ้ลมาเปลี่ยนเป็นเงินดอลล่าร์หรือเงินสกุลแข็งอื่น ก่อนที่ธนาคารชาติจะออกมาเล่นหมากต่อไป เพราะพวกเขาย่อมรู้ว่าถ้ามี Capital Control เมื่อไหร่ เงินของพวกเขาจะ "ติดคุก" เมื่อนั้น

เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตามนับแต่นี้


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
17 ธันวาคม 2557
ภาพพลเอกประยุทธ์ จันโอชา จับมือกับประธานาธิบดีปูติน 
ภาพจากคุณวาสนา นาน่วม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น