ไม่มีใครเถียงว่า
"ผู้นำ"
สำคัญต่อองค์กรทุกองค์กร
ครอบครัว
บริษัท รัฐวิสาหกิจ องค์กรตุลาการ
กระทรวง ทบวง กรม ไปจนถึงรัฐบาล
และองค์กรเหนือรัฐ
ทั้งในระดับภูมิภาค
เช่นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ASEAN)
สหภาพยุโรป
(EU)
หรือองค์กรระดับโลก
เช่นองค์กรการเงินระหว่างประเทศ
(IMF)
หรือสหประชาชาติ
(UN)
เป็นต้น
แม้กระทั่งองค์กรไม่แสวงกำไร
อย่างพวกมูลนิธิ อาสาสมัคร
วัด สังฆมณฑล และคณะสงฆ์
ตลอดจนบรรดาเอ็นจีโอทั้งหลายนั้น
"ผู้นำ"
ก็สำคัญมากเช่นกัน
ยิ่งในบรรยากาศของความขัดแย้งแบ่งฝ่ายแล้ว
บทบาทของผู้นำยิ่งจะทวีความสำคัญมากขึ้นและจะจำเป็นมากอีกด้วย
ในยามปกติ
ทุกอย่างราบเรียบสงบสุข
กับในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน
ทุกอย่างถูกกระแสและพลวัตรแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกภายในจับเขย่าจนปั่นป่วนไปหมดนั้น
ความต้องการผู้นำย่อมต่างกันด้วย
หรือในยามที่องคาพยพขององค์กรสามารถจะปะทุหรือแม้กระทั่งระเบิดออกอย่างแรงได้ทุกเมื่อ
เช่นที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ด้วยแล้ว
บทบาทของผู้นำหรือคณะผู้นำนับว่าสำคัญยิ่ง
องค์กรทุกองค์กรในประเทศไทยกำลังตกอยู่ในห้วงภาวะแบบนั้น
ภาวะที่
"อกจะแตกตาย"
ได้ทุกเมื่อ
ทุกครอบครัว
ทุกบริษัท ทุกรัฐวิสาหกิจ
ทุกศาล ทุกกระทรวง ทบวง กรม
ทุกวัด ทุกมูลนิธิ
หรือแม้กระทั่งสถาบันระดับสูง
ล้วนแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย
ชี้หน้าด่าทอกันด้วยคำผรุสวาท
ป้ายสียัดข้อหากันด้วยอคติ
และพร้อมที่จะกระโดดงับกันด้วยกำลัง
โดยมีฝ่ายเป็นกลางมองดูอยู่ด้วยตาปริบๆ
เพราะจะพูดจะเสนออะไรที่มันเป็นสายกลางหรือแนวทางประนีประนอมก็มักถูกยัดข้อหาในทันทีจากทั้งสองฝ่าย
หาว่าเป็นศัตรูที่แฝงตัวมา
ทั้งๆ ที่ยังไม่ทันฟังให้จบ
อย่าว่าแต่จะเอาไปคิดไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน
ซึ่งแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยในภาวะเช่นนี้
อันที่จริงฝ่ายเป็นกลางที่ต้องการให้องค์กรสามารถเปิดรับกับการเปลี่ยนแปลง
ปรับเปลี่ยนปฏิรูปปิดจุดอ่อนตัวเอง
โดยสามารถตกลงต่อรอง
ยอมเสียสละในส่วนที่จำเป็น
เพื่อปรับตัวเปลี่ยนผ่านสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ไปได้อย่างสงบ
สร้างสรรค์ และไม่เสียเลือดเนื้อนั้น
มีอยู่เป็นจำนวนมาก
หากนับจำนวนกันจะๆ
ออกมาเป็นตัวเลข ก็จะเห็นได้ไม่ยาก
ผู้นำที่เก่งและฉลาดย่อมสังเกตุเห็นความจริงข้อนี้
ในอดีตนั้น
รัฐบุรุษที่มีลักษณะเป็น
"อัศวินม้าขาว"
หรือ
"นักฉวยโอกาส"
หลายคนของโลก
ก็ก้าวขึ้นมาบนเวทีประวัติศาสตร์ได้ด้วยความเข้าใจอันลึกซึ้งต่อภาวะขัดแย้งเยี่ยงเดียวกันนี้
โดยอาศัยสูญญากาศของอำนาจและฐานของฝ่ายเป็นกลาง
สร้างตัวเองขึ้นมาและยึดเอาอำนาจบริหารขององค์กรไปได้ในที่สุด
หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งในโลกนี้ดู
เราจะเห็นได้ไม่ยากว่าช่วงระยะขัดแย้งนั้น
เสียงของฝ่ายเป็นกลางที่แท้จริงมักจะมีจำนวนมาก
แต่กลับเงียบกริบ ในขณะที่ฝ่ายซ้าย-ขวา
หรือฝ่ายเหนือ-ใต้
หรือฝ่ายก้าวหน้า-อนุรักษ์
หรือจะใช้ชื่ออะไรก็ตามซึ่งกำลังห่ำหั่นกันอยู่นั้น
ฉวยใช้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น
เพื่อผลประโยชน์ตัวเองในทุกวิถีทาง
ทั้งเพื่อสร้างฐานความมั่งคั่งส่วนตัวหรือเพื่อเป็นเครื่องมือไปสู่อำนาจ
โดยในกระบวนการนั้น
ทั้งคู่ก็ได้สร้างบาดแผลขึ้นในใจของฝ่ายตรงข้าม
และสร้างบรรยากาศแห่งความเกลียดชัง
จนในที่สุดก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตัดสิน
"ความคิดต่าง"
(หรือความเชื่อต่าง)
นั้นด้วยความรุนแรง
บ้างก็รุนแรงน้อย
และบ้างก็รุนแรงมาก
รุนแรงมากขนาดทำลายตัวเองและอนาคตของลูกหลานเลยก็มี
เช่นในกรณีของสงครามโลกทั้งสองครั้งที่มหาอำนาจในยุโรปได้ตัดสินใจใช้ความรุนแรงแบบ
"สุดๆ"
ในการตัดสินความขัดแย้งของตนจนทำให้ตัวเองสูญเสียทรัพยากร
สินทรัพย์ และชีวิต
(ตลอดจนกำลังใจและศีลธรรมในใจคน)
ในระดับที่ลดทอดความสามารถของชาติอย่างน่าใจหาย
ทำให้ไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจได้อีกเลยหลังจากนั้น
เราต้องโทษผู้นำและคณะผู้นำของมหาอำนาจยุโรปในขณะนั้นด้วยเช่นกันที่นำพาให้องค์กรของตนเดินไปสู่จุดนั้น
ข้อสำคัญที่ควรพิจารณา
และ MBA
ต้องการเน้นให้เห็น
(มิใช่เพียงแค่
"ชี้ให้เห็น"
เฉยๆ)
คือการตัดสินความเห็นต่างโดยการใช้กำลัง
(หรือสงคราม
ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมืองหรือสงครามระหว่างรัฐก็ตาม)
มันจะต้องมี
"ผู้ชนะ"
และ
"ผู้แพ้"
เสมอ
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง
แม้ความแตกแยกซึ่งเคยแบ่งแยกปัจเจกบุคคล
ครอบครัว และองค์กร
และเขตยึดครองทางทางการเมืองของแต่ละฝ่าย
จะหมดไป
แต่มันจะเป็นการขจัดให้หมดไปด้วยชัยชนะของฝ่ายหนึ่งที่มีเหนืออีกฝ่ายหนึ่งด้วยกำลังและความรุนแรง
มิใช่ด้วยการแลกเปลี่ยนทางความคิดและการใช้กระบวนการบริหารจัดการและการตัดสินใจร่วม
เพื่อขจัดความขัดแย้งอย่างสันติและใช้เหตุใช้ผล
แบบที่วิญญูชนและอารยะชนพึงกระทำ
ดังนั้นการแก้แค้นจึงมักจะตามมา
โดยการแก้แค้นจะมาจากทั้งสองฝากฝั่ง
ไม่เพียงแต่ผู้แพ้เท่านั้นที่จ้องจะแก้แค้นเอากับผู้ชนะ
ทว่า ผู้ชนะเองก็จะแก้แค้นเอากับผู้แพ้ในทันทีทันใดด้วย
เพราะกลัวว่าผู้แพ้เหล่านั้นจะรวมตัวกันติดและฟื้นพลังกลับคืนมาแก้แค้นเอาในภายหลัง
โดยการแก้แค้น
มักจะมาในรูปของการยึดทรัพย์
(ถ้าเป็นประเทศต่อประเทศก็ใช้วิธียึดดินแดนหรือให้จ่ายค่าปฏิกรสงคราม)
กักขัง
ฆ่า กวาดล้างใหญ่
ปราบปรามศัตรูทางการเมืองในองค์กรของพวกเขา
และบางทีอาจสถาปนาวิถีปกครอง
(หรือที่เรียกว่า
"ระบอบ")
เผด็จการขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นใจ
(ว่าจะไม่มีใครมาแก้แค้น)
และมั่นคงให้กับอำนาจของพวกตัวเอง
จนองค์กรสิ้นความสามารถในการปรับตัวในระยะยาว
ไปอย่างน่าเสียดาย
อย่างงี้สู้ให้ขัดแยังกันไปในกรอบประชาธิปไตย
องค์กรยังจะมี "พลวัต"
ดีกว่าเสียซ้ำ
ผู้นำที่เก่ง
ย่อมสังเหตุเห็นได้อีกว่า
ในช่วงที่ความขัดแย้งของสมาชิกองค์กรกำลังปะทุอยู่ภายในนั้น
ผลสะเทือนร้ายแรงต่อ Performance
ขององค์กรและสมาชิกอย่างมีนัยสำคัญนั้น
มีรากเหง้าของปัญหามาแต่ความทุกข์ภายในส่วนลึกของจิตใจ
ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
ต้องมองด้วย "ตาใจ"
ความทุกข์ทรมานในเบื้องลึก
ที่เกิดจากความหวาดกลัว
กลัวว่าจะต้องเสียเพื่อนฝูงน้ำมิตร
กลัวที่จะต้องสูญเสียทรัพย์สิน
อิสรภาพ ชีวิต
หรือการพลัดพรากของสมาชิกในครอบครัว
แม้ฝ่ายที่คิดว่าตัวเองได้เปรียบหรือมีชัย
ก็ใช่ว่าจะมีความสุข
เพราะมันเป็นความชมชื่นที่ทิ้งรอยบาดแผลไว้ในชีวิตของผู้คน
ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิหรือจำกัดเสรีภาพของผู้อื่น
หรือการสูญเสียชีวิตหรืออวัยวะของฝ่ายตรงข้าม
การพลัดพรากของสมาชิกในครอบครัวของฝ่ายตรงข้าม
ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนแห่งความแตกแยกภายในองค์กรและสังคม
ส่วนฝ่ายเป็นกลางก็อาจกำลังอมทุกข์ไปอีกแบบหนึ่ง
โดยปฏิกิิิริยาของพวกเขามักแสดงออกด้วยการหลีกหนีความจริง
เน้นไปในเชิงแสวงหาแต่ความรื่นรมย์ส่วนตัว
หรือท้อแท้ หรือสะท้อนออกมาด้วยความเฉื่อยฉา
ไร้ชีวิตชีวา ขาดพลังชีวิต
ทำเรื่องไร้สาระ Absurd
หรือแม้กระทั่งทำตลกโปกฮาแบบประชดชีวิต
ประชดองค์กร ประชดประชาคมที่ตัวเองสังกัด
และประชดสังคม
ความรุนแรงย่อมต้องทิ้งรอยแปดเปื้อนอันไม่อาจลบเลือนให้ผู้คนเสมอ
มันจะทำให้องค์กรและสังคมอ่อนแอ
สร้างความเสื่อมในเชิงศีลธรรมให้กับตัวเอง
(การใช้คำผรุสวาท
หรือการมีความคิดเห็นที่เหยียดฝ่ายตรงข้าม
หรือเห็นชีวิตฝ่ายตรงข้ามไม่มีค่า
สมควรแล้วที่ต้องตาย...เหล่านี้คือมาตรฐานทางจริยธรรมที่ต่ำลง)
ฉุดรั้งเจตนารมณ์ในการสร้างเอกภาพและความปรองดองในองค์กรและในชาติ
ผู้นำที่เก่ง
ควรตั้งคำถามให้ถูกจุดเสียแต่บัดนี้ว่า
ถ้าสงครามต้องเกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายที่เราคิดว่าสำคัญมากในตอนนี้
คือการขจัดคนเลวและให้คนดีมาปกครองนั้น
เป้าหมายนั้นมันจะบรรลุผลได้จริงหรือ?
ประวัติศาสตร์สอนเราว่าอย่างไรบ้าง?
ในอดีตที่ผ่านมา
สงครามเคยเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกันนี้มานับครั้งไม่ถ้วน
แล้วท่านคิดว่าแต่ละครั้งมันบรรลุเป้าหมายนั้นหรือไม่?
และด้วยต้นทุนแห่งความสูญเสียที่คุ้มกันอย่างนั้นหรือ?
ผู้นำที่เก่ง
รู้อยู่แล้วว่า ความเหลื่มล้ำ
การคอร์รัปชั่น การกระจายอำนาจ
กระบวนการทางการเมือง
และกระบวนการยุติธรรม
ของสังคมไทยเรานั้นมีปัญหา
และจะต้องได้รับการแก้ปัญหาและปฏิรูป
แต่ไม่ใช่ด้วยความรุนแรงและด้วยวิธีเผด็จอำนาจ
MBA
ขอเสนอแนวทาง
6
ประการ
ต่อบรรดาผู้นำและคณะผู้นำหรือใครก็ตามที่มีบทบาทในการนำ
องค์กรทุกองค์กรในประเทศไทย
ตั้งแต่ครอบครัวและองค์กรเล็กๆ
ไปจนถึงองค์กรระดับชาติและรัฐบาล
ว่าจะต้องยึดเอาหลักการต่อไปนี้เป็นหลักยึดและ
"เข็มมุ่งในการบริหารจัดการ"
นับแต่นี้ไป
คือ
หลักสันติ
หลักเป็นกลาง หลักประชาธิปไตย
หลักเอกภาพ (เน้นความเป็นหนึ่งเดียว)
หลักความเป็นอิสระ
(ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชักใยเบื้องหลัง)
หลักแห่งการจรรโลงความเติบโตรุ่งเรือง
ผู้นำไม่จำเป็นต้องสลายพลังของสังคมที่กำลังระอุพร้อมจะระเบิดของสังคม
เพียงแต่ต้องจัดการ หันเห
และแปรเปลี่ยนให้มันเป็นพลังเชิงสร้างสรรค์ที่พร้อมจะระเบิดออกมาเพื่อทลายขวากหนามแห่งการเปลี่ยนแปลง
หรือขจัดสิ่งหมักหมมเชิงลบซึ่งเกาะกินองค์กรและสังคมไทยมาช้านาน
ที่ขจัดออกไปได้ยากในยามปกติ
ให้หมดไปได้ด้วยกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่สร้างสรรค์ไร้ความรุนแรง
รับรองว่า
สังคมไทยไม่เพียงจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
แต่จะผงาดขึ้นมาจากความขัดแย้งอย่างมีคุณภาพ
ทักษ์ศิล
ฉัตรแก้ว
10 ก.พ. 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น