ไม่เคยมียุคสมัยใดที่นักการเมืองตกต่ำถึงเพียงนี้!
หันหน้าไปทางไหน
มีแต่คนก่นด่าและแสดงความรังเกียจนักการเมือง
ไม่เว้นแม้แต่เด็กอมมือ
เด็กสมัยนี้บางคนถึงกับขึ้นเวทีไฮปาร์คด่านักการเมืองกันเลยก็มี
มิเพียงเท่านั้น
วิธีนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนและแนววิเคราะห์ของคอลัมนิสต์ที่นิยมทำกันมากในขณะนี้
ก็คือการด่านักการเมืองและโทษนักการเมืองว่าเป็นต้นตอของการคอรัปชั่นและปัญหาทั้งมวลของประเทศ
หนังและละครมักมีนักการเมืองเป็นตัวโกงหรือเป็นพรรคพวกในเครือข่ายของตัวโกง
ผิดกับหนังสมัยที่ผมเป็นเด็ก
ซึ่งตัวโกงมักเป็นเสี่ยต่างจังหวัดหรือไม่ก็เจ้าพ่อเมืองกรุง
ที่คอยรังแกข้าราชการชั้นผู้น้อย
เช่นปลัดอำเภอ นายอำเภอ หมอ
ครู หรือตำรวจ เป็นต้น
นักธุรกิจก็แอบด่าและดูถูกนักการเมือง
ส่วนข้าราชการนั้น ลึกๆ แล้ว
ก็ดูถูกดูแคลนนักการเมืองเหมือนกัน
แม้ภายนอกจะแสดงออกไม่ได้เพราะต้องทำงานภายใต้นักการเมือง
และอนาคตราชการของตัวเองยังต้องพึ่งพานักการเมืองอยู่
นักเรียนนักศึกษา
เมื่อพูดถึงนักการเมือง
มักเบือนหน้าหนี
มีคนไปถามว่าโตขึ้นอยากประกอบอาชีพอะไร
เกือบร้อยทั้งร้อย ไม่มีใครเลือกเป็น
"นักการเมือง"
(นอกจากพวกที่เป็นลูกหลานนักการเมืองอยู่ก่อนแล้ว)
อาจพูดได้ว่า
เด็กสมัยนี้เติบโตขึ้นมากับจิตใต้สำนึกที่เกลียดนักการเมือง
(หรืออย่างน้อยก็เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่นักการเมืองถูกรังเกียจ)
จำนวนไม่น้อยเชื่อว่านักการเมืองรังแกกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
ที่น่าสังเกตุคือภาวะแบบนี้
ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทย
แต่เกิดขึ้นทั่วโลก!
ลองมองไปที่ยุโรปในขณะนี้
เราก็จะเห็นว่าที่นั่น
นักการเมืองก็กำลังถูกก่นด่าและถูกดูแคลนในฝีไม้ลายมือและคุณภาพอย่างขนานใหญ่
อย่างในอังกฤษ
เมืองแม่แบบที่อาชีพนักการเมืองเกิดขึ้นที่นั่นก่อนใครเพื่อน
นักการเมืองอังกฤษในบัดนี้
มักถูกนำไปเปรียบกับนักการเมืองรุ่นก่อน
แล้วผู้คนก็พากันหมดหวัง
ในฝรั่งเศสซึ่งนักการเมืองเคยมีบทบาทสูงเพราะระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับรัฐมากและประธานาธิบดีก็มีอำนาจมากตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
(สาธารณรัฐที่
5)
ทว่า
ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็ถูกก่นด่าและถูกดูแคลนว่าเป็นมะเขือเผา
แก้ปัญหาของยุโรปที่กำลังตกต่ำไม่ได้เลย
หาความริเริ่มสร้างสรรค์อะไรได้น้อยมาก
แม้แต่ในเยอรมนีที่ผู้คนมีระเบียบวินัยและร่ำรวยและกุมบังเหียนยุโรปอยู่และการคอรัปชั่นโดยนักการเมืองมีน้อยมาก
อาชีพนักการเมืองก็หาเป็นที่นิยมไม่
เพราะราษฎรยังมองว่าแก้ปัญหายุโรปได้ไม่ค่อยถูกใจ
โดยบางกลุ่มถึงกับโจมตีว่านักการเมืองเอาใจต่างชาติมากเกินไปด้วยซ้ำ
ความตกต่ำของนักการเมืองในเยอรมนีและฝรั่งเศส
(ยังไม่ต้องพูดถึงอิตาลีที่นักการเมืองมักตกเป็นเป้าสังหาร)
เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สหภาพยุโรปอ่อนแอและการแก้ปัญหาเกิดความล่าช้า
เพราะผู้นำการเมืองของประเทศสำคัญเหล่านั้นถูกผูกมัดโดยเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศตัวเองมากจนต้องหันมาเอาใจคนในประเทศซึ่งยังมีลักษณะชาตินิยมแรงอยู่
นี่ยังไม่นับรัสเซีย
ที่ประธานาธิบดีกำลังทำตัวคล้ายๆ
ฮิตเลอร์อยู่ในขณะนี้
(โดยผู้นำทางการเมืองของประเทศสำคัญๆ
แม้จะไม่ถึงกับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียเลยทีเดียว
แต่ก็ดูเหมือนจะไม่กล้าออกมาประนามหรือห้ามปราม
โดยใช้ไม้แข็งให้เห็นว่าชาวโลกที่เจริญแล้วเขาไม่พอใจกัน)
ญี่ปุ่นเอง
สถานการณ์ของนักการเมืองก็ไม่ได้ดีสักเท่าใดนัก
อย่าว่าแต่เกาหลีใต้ที่นายกรัฐมนตรีเพิ่งประกาศลาออก
เพื่อลดโทนความไม่พอใจของราษฎรลง
เนื่องมาแต่กรณีการช่วยเหลือลูกเรือที่อับปางล่าช้า
ผู้ที่อ้างตัวเป็นรัฐบุรุษของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลีกวนยูและมหาเธย์
ซึ่งตัวเองก็เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน
แต่พอกุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ
ตั้งตัวเป็นผู้เผด็จอำนาจโดยอาศัยกลไกของระบอบประชาธิปไตยเป็นหน้าฉากและกฎหมายเป็นเครื่องมือแล้ว
ก็ดูแคลนนักการเมืองรุ่นหลังกัน
นี่ยังไม่ต้องนับอาฟริกา
เอเชียกลาง จีน และตะวันออกกลาง
ที่นักการเมืองไม่ต่างอะไรกับหัวหน้าแก๊งมาเฟีย
โจรเรียกค่าไถ่
และฆาตกรที่ใช้ศาสนาหรืออุดมการณ์บางอย่างบังหน้า
แม้แต่สหรัฐอเมริกา
ประเทศเบอร์หนึ่งของโลกที่คนตื่นตัวทางการเมืองมาก
และการเมืองทุกระดับก็เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของราษฎรในดีกรีที่มากและเห็นได้ชัดกว่าสังคมอื่น
และอาชีพนักการเมืองในประเทศนั้นก็เป็นอาชีพเก่าแก่มากว่า
200
ปี
และเป็นอาชีพที่ราษฎรให้ความยอมรับ
ยอมให้เป็นผู้ปกครองและนำเข้าสู่สงครามใหญ่ตั้งหลายครั้ง
แต่ก็ยังคงให้ความเคารพนับถือ
โดยในบรรดานักการเมืองเหล่านั้นในอดีต
ก็มีนักการเมืองที่ฉลาด
สามารถ ช่ำชอง มองการณ์ไกล
และยึดถือคุณธรรม ถึงขั้น
"รัฐบุรุษ"
จำนวนมาก
ทว่าปัจจุบันนี้
ภาพลักษณ์ของนักการเมืองอเมริกันตกต่ำลงมาก
ราษฎรจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าบรรดานักการเมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักล็อบบี้ที่ทำงานให้กิจการขนาดยักษ์ใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทน้ำมัน
บริษัทยา บริษัทผลิตอาวุธยุโธปกรณ์
บริษัทสื่อสาร/อิเล็กทรอนิกส์
และที่สำคัญคือบริษัทการเงินใน
Wall
Street
คนนอกอย่างพวกเรา
บางทีดูเข้าไปแล้ว
ก็แทบจะไม่เชื่อสายตาว่าพรรคการเมืองใหญ่และเก่าแก่อย่าง
Republican
นั้น
เคยเป็นพรรคของประธานาธิบดีที่เป็นนักการเมืองชั้นคุณภาพ
และมีความสามารถสูง
และเป็นตัวแทนของไอเดียฝ่ายคุณธรรม
อย่าง Lincoln
มาก่อน
ผมว่าคนอเมริกันรุ่นใหม่จำนวนมากก็คงลืมไปแล้วหล่ะ
เพราะการกระทำของนักการเมืองรุ่นหลังของพรรคการเมืองนั้นมันไม่บ่งบอกนัยยะแม้แต่น้อย
อันที่จริง
อาชีพนักการเมือง
(หมายถึงคนที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักการเมืองโดยไม่ทำอาชีพอื่นไปพร้อมกัน)
ในเมืองไทยนั้นเป็นอาชีพสมัยใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลัง
พ.ศ.
2475
ในเมืองไทยนั้นอาชีพนักการเมืองเกิดหลังอาชีพสมัยใหม่อื่นๆ
เช่น วิศวกร แพทย์ พยาบาล
ทนาย ผู้พิพากษา สถาปนิก
เภสัชกร นักประพันธ์ ทหาร
ตำรวจ ข้าราชการ นายธนาคาร
นักบัญชี และนักธุรกิจ
นักการเมืองยุคแรกมีบทบาทจริงๆ
เพียงแค่ 15
ปี
คือหลัง 2475
จนถึงหลังรัฐประหารปี
2490
ไม่นานนัก
และกลับมามีบทบาทอย่างรุ่งโรจน์อีกครั้งในช่วงสั้นๆ
คือหลัง 14
ตุลาคม
2516
ถึง
6
ตุลาคม
2519
โดยหลังจากปี
2521
มาจนถึง
2531
นั้น
นักการเมืองมีบทบาทรอง
(โดยทหารและข้าราชการประจำมีบทบาทนำ)
แต่ก็เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ
จนพลิกขึ้นมามีบทบาทนำอีกครั้งในยุครัฐบาลชาติชาย
(2531-2534)
นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
26
ปีแล้วที่นักการเมืองร่วมมีบทบาทนำมาโดยตลอด
แม้จะถูกรัฐประหารถึง 2
ครั้งในปี
2535
และ
2549
แต่บทบาทนำของนักการเมืองก็มิได้ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด
ที่น่าเสียใจคือบรรดานักการเมืองในเมืองไทยนั้นยอมตกเป็นเบี้ยล่างของนักลงทุนทางการเมืองหรือนักธุรกิจการเมืองเชื้อสายจีน
ที่ตอนหลังเห็นโอกาสและเข้ามาลงทุนและลงขันตั้งพรรคการเมืองเป็นของตัวเองและครอบครัวเหมือนกับเป็นบริษัทส่วนตัว
หรือไม่ก็ลงขันสนับสนุนพรรคการเมืองสำคัญๆ
อยู่เบื้องหลัง
นักการเมืองเลยมีลักษณะเป็นลูกจ้าง
และพรรคการเมืองก็ใช้วิธีแบบ
"มาเฟีย"
โดยใช้วิธีซื้อ
หรือล่อด้วยผลประโยชน์
และแกมบังคับด้วยการข่มขู่
บรรดาข้าราชการประจำให้โลภหรือให้กลัว
ทั้งโดยการขู่ การโยกย้าย
แบล็กเมล์ และกลั่นแกล้งไม่ให้เติบโตในชีวิตราชการ
เพื่อให้คนเหล่านี้คอยรับใช้ในกิจการบริหารราชการแผ่นดินให้ตน
(เพราะนักการเมืองที่เป็นลูกจ้างเจ้าของพรรคมักไม่มีคุณภาพพอ
และส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจหรือไม่ก็ทนายความ ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินมาก่อน)
การหากินของนักการเมืองก็มีการแบ่งเขตกันหากินในลักษณะแก๊งมาเฟียเช่นกัน
โดยในระดับประเทศก็จะอาศัยการออกกฎหมายเอื้อให้กิจการของเครือข่ายตนหรือที่สนับสนุนทางการเงินให้แก่ตนได้เปรียบในการแข่งขัน
การให้สัมปทาน ให้เช่าช่วง
ยกเว้นภาษี
หรือจัดสรรงบประมาณแผ่นดินและงบรัฐวิสาหกิจไปกับการจัดซื้อจัดจ้างกิจการในเครือข่าย
และถ้าเป็นผลประโยชน์จากเศรษฐกิจใต้ดินก็จะอาศัยตำรวจและผู้รักษากฎหมายเป็นแขนขา
สื่อยิ่งเสรีคอรัปชั่นยิ่งมาก
เพราะอะไร?
ผมมีข้อสังเกตุอันหนึ่งในฐานะสื่อมวลชนว่า
เมืองไทยปัจจุบันนั้นเสรีภาพของสื่อมวลชนมีอยู่สูงมาก
เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยนั้นไม้แพ้ชาติก้าวหน้าใดในโลก
แต่ทำไมการคอรัปชั่นในเมืองไทยก็สูงด้วย (เสรีภาพของสื่อมวลชนในเมืองไทยนั้นมากกว่าในสิงคโปร์หรือฮ่องกงเป็นไหนๆ ทว่าการคอรัปชั่นในสิงค์โปร์และฮ่องกงกลับมีน้อยกว่าเรามาก)
สื่อมวลชนไทยนั้นเปิดโปงการคอรัปชั่นน้อยมาก
แม้จะมีทำอยู่บ้าง
แต่ก็ไม่จริงจังและไม่กัดติด
(การเปิดโปงกรณีคอรัปชั่นครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ
15
ปีมาแล้วคือ
"กรณีซุกหุ้น")
นั่นไม่ใช่เพราะสื่อมวลชนไม่มีคุณภาพ
แต่เป็นเพราะสื่อมวลชนเอง
(หรืออย่างน้อยเจ้าของสื่อ)
ก็อาจได้ผลประโยชน์หรือเกี่ยวพันอยู่ในเครือข่ายผลประโยชน์เหล่านั้นด้วย
จึงเกิดความเกรงใจ
มีคำพูดในวงการเมืองและสื่อมวลชนไทยว่า
"นักธุรกิจกลัวข้าราชการ
ข้าราชการกลัวนักการเมือง
นักการเมืองกลัวสื่อ
แต่สื่อเกรงใจนักธุรกิจ"
ซึ่งผมว่าวงจรนี้มันมีความจริงอยู่ไม่น้อย และน่าเสียใจที่ Balance of Power อันนี้ถูกทำลายไปแล้วในปัจจุบัน เพราะนักธุรกิจกับนักการเมืองกลายเป็นคนๆ เดียวกัน
สื่อมวลชนรู้อยู่เต็มอกว่าการคอรัปชั่นในเมืองไทยนั้นมันเกี่ยวโยงกับหลายอาชีพ
หลายหน่วยงาน
ไม่ใช่เพียงแค่นักการเมืองและพรรคการเมือง
แต่ครอบคลุมไปทั้งข้าราชการประจำ
ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ
ข้าราชการตุลาการ นักบัญชี
นักการเงินและนายธนาคาร
นักประชาสัมพันธ์
และที่สำคัญคือพ่อค้าและนักธุรกิจ
คนเหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันกับโครงการหรือกิจกรรมที่มีการคอรัปชั่นไม่มากก็น้อย
โดยส่วนตัวแล้ว
ผมคิดว่านักการเมืองเป็นอาชีพที่สำคัญและจำเป็นในการปกครองแบบประชาธิปไตย
การกำจัดนักการเมืองไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง
แต่สังคมต้องหาทางพัฒนาอาชีพนี้
เหมือนกับที่เราต้องพัฒนาแพทย์
วิศวกร พยาบาล ทหาร ตำรวจ
ข้าราชการ ทนาย ผู้พิพากษา
ครู โปรแกรมเมอร์ กุ๊ก สื่อมวลชน
นักธุรกิจ และผู้ประกอบการ
ฯลฯ
แต่ดูๆ
ไปแล้ว
สังคมไทยเราให้ความสำคัญกับการพัฒนานักการเมืองน้อยมาก
เมื่อเทียบกับที่เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพอื่น
(ยกเว้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว
ผมยังไม่เคยเห็นพรรคการเมืองพรรคไหนก่อตั้ง
"โรงเรียนการเมือง"
และให้ความสำคัญกับการศึกษาทางการเมืองของสมาชิกอย่างเป็นจริงเป็นจัง)
ในความเห็นของผม
การมุ่งพัฒนานักการเมือง
(และคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะประกอบอาชีพทางการเมือง)
อย่างจริงจังจะช่วยให้การเมืองในอนาคตมีคุณภาพและทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
และการคอรัปชั่นก็อาจจะน้อยลงได้ด้วย
แต่การแก้ปัญหาคอรัปชั่นนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
ที่ไม่ใช่แก้ได้ด้วยการพัฒนานักการเมือง
(หรือกำจัดนักการเมืองให้สิ้นซากไป)
หรือการเขียนกฎหมายเพิ่มเติม
(ผมคิดว่าเมืองไทยเรามีกฎหมายมากเกินไปด้วยซ้ำ)
หรือตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพิ่ม
แต่เพียงด้านเดียว
ทว่า
การแก้ปัญหาคอรัปชั่นให้ถาวรต้องอาศัยการจัดระบบเศรษฐกิจเสียใหม่
โดยต้องลดบทบาทเชิงเศรษฐกิจของรัฐ
(และรัฐวิสาหกิจ)
ในระบบเศรษฐกิจไทยลง
และเปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรมสำคัญๆ
ลดการผูกขาดตัดตอน
ซึ่งจะเป็นการลดอำนาจการให้สัปทานของรัฐลง
นอกจากนั้นยังต้องนำเอาเศรษฐกิจใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่บนดินและสร้างกฎเกณฑ์การแข่งขันให้โปร่งใส
ซึ่งผมจะมาว่าโดยละเอียดในโอกาสหน้า
ทักษ์ศิล
ฉัตรแก้ว
28
เมษายน
2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น