วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

“คิดต่าง" ชีวิตเปลี่ยน: ว่าด้วย Steve Jobs & Ralph Waldo Emerson



Steve Jobs ชอบคนคิดต่าง และยังมองตัวเองว่าเป็นคน "คิดต่าง" คนหนึ่ง

เขามองตัวเองว่าเป็นหนึ่งในผู้สร้างนวัตกรรมซึ่งนำความเปลี่ยนแปลงมาให้กับโลก เหมือนกับนักคิด นักประดิษฐ์ ศิลปิน ผู้ประกอบการ และผู้นำ ที่ยิ่งใหญ่ในอดีตก่อนหน้าเขา

แต่เขามิใช่นักประดิษฐ์ในความหมายแบบ Benjamin Franklin หรือ James Watt หรือ Humphry Davy ซึ่งมักมีบุคลิกไปทางนักวิทยาศาสตร์หรือหมกมุ่นตรึกตรอง ค้นคว้า และทดลอง ไม่ย่อท้อ อยู่กับตัวเอง แบบนักวิชาการผู้ลุ่มหลงและเชื่อมั่นในความคิดของตน

ทว่า เขาเป็นผู้ประกอบการประเภทกล้าได้กล้าเสีย ตื่นตัว ชอบทำงาน ชอบบุกเบิก ชอบท้าทาย ชอบพิชิต ชอบยึดครอง ชอบสร้างอาณาจักร ชอบมีอิทธิพลทางความคิด หรือมีบุคคลิกลักษณะที่เรียกว่า Entrepreneur-Cum-Innovator ในความหมายที่ใกล้เคียงมาทาง Thomas Edison หรือ Henry Ford หรือ Howard Hughes หรือ Andrew Carnegie หรือ Andrew Mellon หรือ George Westinghouse หรือ Theodore Vail หรือ Nikola Tesla หรือ John D. Rockefeller หรือ Cornelius Vanderbilt ซะมากกว่า

จุดเด่นของผู้ยิ่งใหญ่ประเภทนี้คือสามารถ "เล่นกายกรรมทางความคิด" ได้

พวกเขาเจ๋งในการจับเอาความคิดที่มีอยู่แล้ว วิทยาการซึ่งมีอยู่แล้ว คนอื่นคิดขึ้นมาแล้ว มานวด มายำ มาโคลกสับปรับปรุงเข้าด้วยกัน และพลิกไปแพลงมาด้วยความช่ำชอง ลองผิดลองถูก ตัดโน่นต่อนี่ แล้วนำมาบวกกับจินตนาการของพวกเขาเอง เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการหรือระบบการผลิตที่แปลกใหม่ ไม่เคยมีมาก่อนในโลก โดยพร้อมรับความเสี่ยงทางการเงินและความล้มเหลว

Henry Ford มิใช่ผู้คิดค้นรถยนต์และไม่ได้คิดค้นระบบการผลิตในโรงงาน เช่นเดียวกับ Steve Jobs ที่มิใช่ผู้คิดค้นโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องเล่นเพลงหรือไฟล์เพลงหรือเป็นผู้แต่งเพลงหรือไมโครโปรเซสเซอร์ชิปหรือคิดค้นจอแบน เช่นเดียวกับ Jeff Bezos มิได้เป็นผู้พิมพ์หนังสือและไปรษณีย์หรือบริการ Courier Services ที่ใช้ส่งหนังสือทั้งหลายนั่นเอง



ทั้งหมดนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เป็นสิ่งที่คนอื่นคิดไว้นานแล้ว

พวกเขาเพียงแต่เอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมา Re-arrange ใหม่ ตามจินตนาการของพวกเขา แล้วก่อเกิดสิ่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่และไม่เคยเกิดมาก่อน

ในกรณีของสามคนที่ยกมานั้นก็คือ วิถีการผลิตแบบใหม่ที่เรียกว่า Assembly Line และรถยนต์ Ford Model T สำหรับ Henry Ford, และ iPod, iPad, และ iPhone สำหรับ Steve Jobs และ Amazon.com สำหรับ Bezos

ซึ่งทั้งสามถือว่ามาปฏิวัติวงการธุรกิจและเปลี่ยนไลฟสไตล์ของผู้คนในโลกอย่างมีนัยะสำคัญยิ่ง

น่าทึ่ง!

คำว่า Think Different” จึงเหมาะกับคนเหล่านี้ และตัว Jobs

มันคือตัวเขา

และเขาก็เลือกให้มันเป็นสโลแกนของ Apple Inc. หลังจากที่กลับมากุมบังเหียนอีกครั้งในปี 1997โดยหลังจากนั้น แอปเปิ้ลก็ทะยอยออกภาพยนตร์และชิ้นงานโฆษณาที่มีรูปของนักคิด นักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ ศิลปิน ผู้ประกอบการ ผู้นำทางจิตวิญญาณ นักกีฬา หรือแม้กระทั่งนักการเมือง ซึ่งมีผลงานสร้างสรรค์เป็นที่ประจักษ์และโลกรู้จักกันดีว่ามีส่วนสำคัญในการ "เปลี่ยนแปลง" โลก

แม้คนอื่นจะมองว่าแปลก หรือแม้กระทั่วว่าบ้าว่าเพี้ยน แต่พวกเขานี่แหละคือ "ของจริง"

แคมเปญ Think Different ประสบความสำเร็จมาก คู่ขนานไปกับความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของ iMac, iPod, iPhone, iPad, และราคาหุ้นของ Apple โดยชีวิตและคำพูดของ Jobs เองก็ได้กลายเป็นตำนาน ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวร่วมสมัยที่คิดว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์สูง และต้องการ "แตกต่าง" และ "มีฝันของตัวเอง" และ "เดินตามฝันของตัวเอง"

สุนทรพจน์ครั้งสำคัญของ Jobs ณ มหาวิทยาลัย Stanford ก่อนเขาเสียชีวิตไม่นาน ก็มีประโยคที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมาว่า 

"วันเวลาของคุณนั้น ช่างจำกัดเสียนี่กระไร จงอย่าเสียเวลาไปกับการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของผู้อื่น จงอย่าติดยึดกับความคิดหรือทฤษฎีที่เชื่อสืบต่อกันมา เพราะมันเป็นผลลัพธ์แห่งความคิดของผู้อื่น จงอย่าสยบยอมให้ความเห็นของผู้อื่นมากลบเสียงปราถนาในใจคุณ และที่สำคัญที่สุด คือต้องกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำตามฝันและญาณทัศนะของตน เพราะด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด มันรู้อยู่แล้วว่าคุณต้องการเป็นใครกันแน่ นอกไปจากนี้แล้ว อย่างอื่นล้วนเป็นเรื่องรอง" 

(ผมถอดความจาก Your time is limited, so don't waste it living someone else's life. Don't be trapped by dogma — which is living with the results of other people's thinking. Don't let the noise of others' opinions drown out your own inner voice. And most important, have the courage to follow your heart and intuition. They somehow already know what you truly want to become. Everything else is secondary.”)

คำพูดนั้น มันสะท้อนจิตใจแบบผู้ประกอบการและนักอุตสาหกรรมฝรั่งยุคบุกเบิก ที่มีส่วนร่วมสร้างและต่อเติมเสริมแต่งให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่พัฒนามาเป็นดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนอนุญาตให้พวกเรามีวิถีชีวิตแบบ Modern Life อย่างที่กำลังใช้กันอยู่ในบัดนี้

นักบุกเบิกเหล่านี้ร่วมกันสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่และผลิตภัณฑ์หรือบริการสมัยใหม่ เช่นระบบการผลิตแบบ Mass Production และแบบ Assembly Line ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม โทรเลข โทรศัพท์ รถยนต์ เรือเดินสมุทร ถลุงเหล็ก เคมี รถไฟ เรือบิน วิทยุ โทรทัศน์ ตลอดจนถึง ดิจิตัลและอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของวิถีชีวิตสมัยใหม่หรือ Modern Lifestyle ในแบบที่เรารู้จักกันในบัดนี้

คิดเลี้ยวมาสู่ "คิดต่าง"

ความคิดที่กล้าท้าทาย กล้าสลัดแอกจากค่านิยมและความเชื่อเดิมๆ เพื่อแสวงหาจุดแข็งและความยิ่งใหญ่ของตัวเองนี้ ย้อนไปได้ถึง Friedrich Nietzsche (1844-1900 หรือ พ.. 2387-2453 ยุคปลายรัชกาลที่ 3 ถึงปลายรัชกาลที่ 5) 

และถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นก็สามารถสาวไปถึงต้นตอหลักไม่กี่คน ไม่ว่าจะเป็น Jean-Jacques Rousseau (1712-1788 หรือ พ.. 2255-2331 คือประมาณต้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระถึงต้นรัชกาลที่ 1), John Locke (1632-1704 หรือ พ.. 2175-2247 คือประมาณต้นรัชการสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจนถึงต้นรัชกาลพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา), และ Thomas Hobbes (1588-1679 หรือ พ.. 2131-2222 คือประมาณปลายรัชการสมเด็จพระมหาธรรมราชาก่อนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะขึ้นครองราชย์ประมาณ 2 ปี มาจนถึงค่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)


John Locked
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมอเมริกันนั้น ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปราชญ์เหล่านั้นมาเต็มๆ

Hobbes, Locke, Rousseau ล้วนมีอิทธิพลต่อบรรดา Founding Fathers ที่ร่วมก่อตั้งสาธารณรัฐ และร่วมร่างรัฐธรรมนูญอเมริกัน ซึ่งยังคงใช้กันมาจนกระทั่งบัดนี้

ถ้าเราอ่านคำประกาศอิสรภาพหรือที่เรียกว่า Declaration of Independence ก็จะพบความคิดของ Locke และ Rousseau อยู่ในนั้นอย่างชัดเจน โดยเห็นเด่นชัดในวรรคสองซึ่งมักอ้างอิงกันมาก ที่ว่า "We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable Rights, that among these are Life, Liberty and the pursuit of Happiness....”

สถาบันทางการเมืองของอเมริกาตลอดจนระบบเศรษฐกิจและวิธีบริหารเศรษฐกิจของอเมริกา รวมตลอดถึงโลกทัศน์และตัวตนของคนอเมริกัน ล้วนก่อร่างสร้างตัวและพัฒนาต่อยอมมาจากพื้นฐานแนวคิดแบบนี้เอง

ส่วนความคิดของ Nietzsche นั้น มีอิทธิพลทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมต่อนักคิด นักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน รุ่นปัจจุบันค่อนข้างมาก อีกทั้งแนวคิดของ Sigmund Freud และ Max Weber ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก Nietzsche อีกทอดหนึ่งนั้น ก็เป็นที่นิยมกันมากในมหาวิทยาลัยอเมริกันยุคก่อนหน้านี้ 

ทั้งยังวิธีการบำบัดรักษาโรคทางจิต (บรรดาจิตแพทย์ทั้งหลาย) และความเครียด ก็ได้รับอิทธิพลจาก Freud โดยตรง ยังไม่นับอิทธิพลที่มีต่อนักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ และนักบริหาร ที่ตอนหลังหันมาสนใจเจาะลึกในเรื่องพฤติกรรมองค์กร พฤติกรรมผู้บริโภค พฤติกรรมนักลงทุน พฤติกรรมของพนักงาน และพฤติกรรมของผู้รับสื่อ กันอย่างเป็นระบบโดยละเอียด

ปราชญ์เหล่านี้ ล้วนสนับสนุนให้มนุษย์เป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ก้มหัวให้กับค่านิยมใดๆ ไม่ถูกจองจำโดยความคิดของคนอื่น โดยประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งศาสนาและพระเจ้า (Nietzsche ถึงกับกล่าวว่า God is Dead”) ซึ่งใกล้เคียงกับนิสัยของคนอเมริกันมาก

ทว่า ปราชญ์เหล่านี้ล้วนไม่ใช่คนอเมริกัน

แต่ก็มีปราชญ์อเมริกันคนหนึ่งที่มาทีหลัง Hobbes, Locke, และ Rousseau ทว่ามาก่อน Nietzsche ก็พูดแบบนี้เช่นเดียวกัน และออกจะพูดชัดเจน เป็นสำเนียงแบบอเมริกัน โดยถ้านำมาเทียบกับความคิดของ Steve Jobs ทั้งเรื่อง Think Different และบทขยายความในสุนทรพจน์ข้างต้นแล้ว เรียกว่าแทบจะเหมือนกันเป๊ะเลยก็ว่าได้

เขาผู้นั้นคือ Ralph Waldo Emerson

"คิดต่าง" ตัวพ่อ
ต้นแบบของ Steve Jobs

Ralph Waldo Emerson เป็นนักเรียน Harvard และเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ นักอภิปราย และนักปาถกฐา ผู้มีชื่อเสียงในยุคของเขา เขาเป็นคนร่วมสมัยกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของเรา เขาเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 (ปี 1803 หรือ พ.. 2346) และตายในสมัยรัชกาลที่



โดยเขาแก่กว่ารัชกาลที่ 4 แค่ปีเดียว และแก่กว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ประมาณ 5 ปี อ่อนกว่า Victor Hugo แค่ 1 ปี และแก่กว่า Karl Marx ประมาณ 15 ปี แต่อ่อนกว่ารัชกาลที่ 3 ประมาณ 16 ปี (เขาเป็นคนรุ่นพ่อของ Nietzsche (เกิดปี 1844 หรือ พ.. 2387) ซึ่งเกิดไล่เรี่ยกับรัชกาลที่ 5 โดย Nietzsche แก่กว่ารัชกาลที่ 5 ประมาณ 9 ปี (ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.. 2396) และแก่กว่ารัชกาลที่ 6 กับ Albert Einstein ซึ่งเกิดปีเดียวกัน ประมาณ 35 ปี ดังนั้น Emerson จึงถือเป็นคนรุ่นปู่ของรัชกาลที่ 6 และเป็นคนรุ่นทวดของรัชกาลปัจจุบัน)

(และเพื่อความสมบูรณ์ผมจึงใคร่ขอเปรียบเทียบอายุของคนรุ่นรัชกาลที่ 4 กับรุ่นพระราชบิดาคือรัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.. 2310 หรือ ค.. 1767 ปีเดียวกับนายพล Andrew Jackson ผู้เกรียงไกร ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยอีกสองปีต่อมา Arthur Wellesley หรือ Duke of Wellington แม่ทัพผู้เอาชนะนโปเลียนและนายกรัฐมนตรีของอังกฤษก็เกิดมาพร้อมๆ กับจักรพรรดิ Napoleon Bonaparte ศัตรูหลักของเขาซึ่งอายุเท่ากัน และทั้งคู่แก่กว่า Ludwig Von Beethoven ประมาณ 1 ปี...ที่ผมเทียบอายุคร่าวๆ ก็เพื่อจะให้เห็นว่ายุคสมัยที่ฝรั่งเริ่มก้าวเข้าสู่ "สมัยใหม่" นั้น บรรดา Heavyweight แต่ละรุ่นเขาต่อยอดกันมาอย่างไร และเมื่อเทียบกับการเมืองไทยแล้วอยู่ในช่วงไหน)

ยุคสมัยนั้น เป็นยุคสมัยที่โลกกำลังจะเข้าสู่ "สมัยใหม่" (Modern Times) โดยหลังสงครามนโปเลียนเป็นต้นมา ฝรั่งได้คิดค้นระบบการผลิตสมัยใหม่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์และบริการสมัยใหม่เยอะแยะไปหมด (ฝรั่งเรียกสมัยนั้นว่า Second Industrial Revolution

โดยไทยเราเริ่มรับเข้ามาทีหลังในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่อเมริกากำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ ธุรกิจอเมริกันเริ่มยิ่งใหญ่ นวัตกรรมเกิดขึ้นจำนวนมากมาย ความมั่งคั่งสั่งสมพอกพูนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อกำเนิดบรรดาผู้ประกอบการจำนวนนับไม่ถ้วน จนตอนหลังสามารถแซงหน้ามหาอำนาจยุโรปไปได้ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (สมัยรัชกาลที่ 6) และมาปรากฎอย่างชัดเจนหลังจากนั้น

ความสำเร็จเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลผลิตมาจากความคิดแบบ Think Different นั่นเอง



Ralph Waldo Emerson เขียนปลุกความคิดและจิตวิญญาณเสรีไว้อย่างเข้มข้นในบทความสำคัญที่ชื่อ Self-Reliance (ผมขอแปลเอาเองว่า "จงเป็นตัวของตัวเอง") ว่า "To believe your own thought, to believe that what is true for you in your private heart is true for all men,--that is genius.” ("จงเชื่อในความคิดตน จงเชื่อว่าความจริงที่ปรากฎในใจเธอย่อมจริงแท้สำหรับทุกคนด้วย นั่นแหละคืออัจฉริยะ")

ผมคิดว่า Emerson ต้องการสื่อให้เรารู้ว่าอัจฉริยะของเรานั้นต้องมาจากความสามารถในการเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อมั่นในความคิดตนเอง คือต้องปลดแอกความคิดตนเองจากความคิดคนอื่นนั่นเอง

และ "Trust thyself: every heart vibrates to that iron string.”

แม้ผมจะไม่สามารถแปลประโยคนั้นเป็นภาษาไทยได้ แต่ผมคิดว่าเขาต้องการสื่อให้เราเดินตามฝันของตัวเอง ไม่ต้องเชื่อแม้กระทั่งเขา (ที่กำลังสอนในบทความนี้ว่าให้เราขบท) หรือใครๆ

เขาชี้ให้เห็นว่าเราต้องเงี่ยหูฟังเสียงเรียกร้องภายในใจตัวเอง และต้องฟังให้ได้ยินว่ามันต้องการหรือโหยหาอะไร แล้วเดินไปตามทางนั้น (“Do your work, and I shall hear you.” นั่นคือต้องฟังเสียงของ “พระเจ้าข้างในตน” หรือ God within” หรือที่เขาเรียกว่า Diamond”)


และต้องไม่ทำตามแบบคนอื่น หรือตามที่สังคมต้องการให้เราเป็น แม้ว่าเสียงภายในเหล่านั้นมันจะแผ่วเบาลงเมื่อเราอยู่ท่ามกลาง (ความเห็นของ) คนอื่น
“These are the voices which we hear in solitude, but they grow faint and inaudible as we enter into the world. Society everywhere is in conspiracy against the manhood of every one of its member. Society is a joint-stock company, in which the members agree, for the better securing of his bread to each shareholder, to surrender the liberty and culture of eater. The virtue in most request is conformity. Self-reliance is its aversion. It loves not realities and creators, but names and customs.

Whoso would be a man, must be a nonconformist. He who would gather immortal palms must not be hindered by the name of goodness, but must explore if it be goodness. Nothing is at last sacred but the integrity of your own mind.

คือเขาเห็นว่าสังคมมนุษย์นั้นมันลดทอนเสรีภาพของปัจเจกลง เพราะปัจเจกต้องแลกกับความมั่นคงปลอดภัย และสังคมต้องการคนที่เซื่องๆ เห็นอะไรเห็นตามกัน ว่าอะไรว่าตามกัน (เพื่อความสงบสุขของส่วนรวม) สังคมจึงเป็นศัตรูของ "ความเป็นตัวของตัวเอง" เพราะสังคมไม่ชอบความจริงแท้และนักสร้างสรรค์ ทว่าเห็นดีเห็นงามกับชื่อเสียงและจารีตมากกว่า

ดังนั้นมนุษย์ที่แท้ย่อมต้องขบท ต้องไม่ไขว้เขวไปเพียงเพราะ (สิ่งที่หรือเรื่องที่เขา) อ้างกันว่าดี ทว่า มนุษย์ที่แท้ย่อมต้องตรึกตรองค้นหา (ด้วยตัวเอง) ว่ามันดีจริงหรือ ความคิดของตนเท่านั้นที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ควรค่ากับความเชื่อหรือการบูชา)

แม้กระทั่งความดีความเลวก็เป็นเรื่องสมมติ จะตัดสินว่าอะไรถูกหรือผิดย่อมต้องเป็นตัวเราหรือสติปัญญาของเราตัดสินเอง

เขาว่า "No law can be sacred to me but that of my nature. Good and bad are but names very readily transferable to that or this; the only right is what is after my constitution; the only wrong what is against it.”

ข้อเขียนของเขาเป็นภาษาอังกฤษที่งดงามและสร้างแรงบันดาลใจสูงมาก ดังประโยคต่อไปนี้ที่ทำให้เรานึกถึงปาถกฐาของ Steve Jobs เพราะมันเรียกร้องไปที่จิตวิญญาณขบทแบบเดียวกัน

“What I must do is all that concern me, not what the people think. This rule, equally arduous in actual and in intellectual life, may serve for the whole distinction between greatness and meanness. It is harder because you will always find those who think they know what is your duty better than you know it. It is easy in the world to live after the world's opinion; it is easy in solitude to live after your own; but the great man is he who in the midst of the crowd keeps with perfect sweetness the independence of solitude.”

(ข้าฯ จะทำในสิ่งที่ข้าสนใจเท่านั้น ไม่ใช่ทำมันเพียงเพราะว่าคนอื่นต้องการให้ข้าฯ ทำ กฎเกณฑ์นี้ค่อนข้างทำยากทั้งในชีวิตจริงและในวิถีชีวิตเชิงปัญญา ทว่ามันจะเป็นตัวแยกแยะให้เห็นว่าอะไรยิ่งใหญ่และอะไรกระจอก มันจะยากยิ่งขึ้นเพราะเธอมักเจอคนที่ดันรู้ดีกว่าตัวเธอเองว่าหน้าที่ของเธอคืออะไร การที่จะมีชีวิตตามความเห็นของคนอื่นนั้นมันง่าย แต่การดำเนินชีวิตตามความคิดตัวเองมันช่างโดดเดี่ยว ทว่า ผู้ยิ่งใหญ่คือคนที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางฝูงชนก็ยังสามารถดำรงความงามของการเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์")

ผู้ยิ่งใหญ่ต้องปลดแอกจากจารีตประเพณี จากอดีต และจากทฤษฎีทั้งปวง
“Leave your theory..” (จงละทิ้งทฤษฎีที่เจ้ายึดถือ)

“When we have new perception, we shall gladly disburden the memory of its hoarded treasures as old rubbish.” ( "เมื่อเราคิดใหม่ เราจะยินดีที่ได้ปลดทิ้งความทรงจำเก่าๆ ที่เราแบกมานานในฐานะสมบัติพัศฐาน ว่ามันเป็นแต่เพียงขยะเน่าๆ")

“When good is near you, when you have life in yourself, it is not by any known or accustomed way; you shall not discern the footprints of any other; you shall not see the face of man; you shall not hear any name;--the way, the thought, the good, shall be wholly strange and new. It shall exclude example and experience.”

โดยที่เขาแนะนำให้ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่คาดคิด ไม่คาดฝัน และคาดเดาไม่ถูก...ทุกๆ วัน แต่ละวัน ทีละวัน ต้องไม่เหมือนกัน

เขาไปค่อนข้างไกลในสมัยนั้น ถึงกับกล่าวว่า "The other terror that scares us from self-trust is our consistency...”



เพราะฉะนั้นเราต้องอย่าทำตัวสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอเป็นอุปสรรคของความเป็นตัวของตัวเอง...ดังนั้น วันนี้ต้องไม่เหมือนวันวาน อย่าให้ใครคาดเดาได้ ผู้ยิ่งใหญ่ต้องแตกต่าง ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร

“Every great man is a unique.”

“A foolish consistency is the hobgoblin of little minds, adored by little statesmen and philosophers and divines. With consistency a great soul has simply nothing to do.”

“To by great is to be misunderstood.” (หมายความว่าอย่าให้คนอื่นคาดเดาได้ คือต้องเป็นคนประเภท Unpredictable” นั่นเอง)

“Shakespeare will never be made by the study of Shakespeare.”

โดยที่เขาแนะให้ลงมือทำเพื่อปัจจุบัน และอยู่เพื่อปัจจุบัน ไม่ใช่โหยหาอดีต ทำตามอดีต และเก็งอนาคตหรือชะเง้อมองอนาคตอยู่ตลอดเวลา เพราะจะทำให้เราหาความสุขที่แท้ไม่พบ

“But man postpones or remembers; he does not live in the present, but with reverted eye laments the past, or, heedless of the riches that surround him, stands on tiptoe to foresee the future. He cannot be happy and strong until he too lives with nature in the present, above time.”

และคนที่ทำให้ได้ตามนั้นคือผู้ยิ่งใหญ่ หรือมนุษย์ที่แท้ ที่จะต้องได้รับการแซ่ซร้องสรรเสริญ

เขากล่าวว่า For him all doors are flung wide; him all tongues greet, all honors crown, all eyes follow with desire.”

จงเชื่อมั่นในตนเองและจงเดินตามฝัน แล้วเจ้าจะพบกับสันติภาพภายใน

“Nothing can bring you peace but yourself.”

(หมายเหตุ: ผมอ้างอิงข้อความเหล่านี้จากต้นฉบับ Self-Reliance หน้า 175-230 ในหนังสือ Ralph Waldo Emerson: Nature and Selected Essays”, Penguin Books, 2003)

ผมอ่านบทความนี้หลายรอบ เพราะนอกจากชอบภาษากวีที่สละสลวย อุปมาอุปมัยที่คิดไม่ถึงแล้ว เนื้อหาของมันยังให้กำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผม

อย่างน้อย มันก็ทำให้ผมมีแรงที่จะค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำมาเขียนบทความนี้จนจบลงได้ โดยมีความสุขไปด้วยตามสมควร

หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้กำลังใจและแรงบันดาลใจเช่นเดียวกัน

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
13 พฤษภาคม 2557
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ค. 2557


คลิกอ่านบทความในชุด "ความคิดสร้างสรรค์" จากลิงค์ข้างล่าง


"ความเป็นเช่นนั้นเอง" ของนวัตกรรม คือปัญหาของสังคมพุทธ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น