วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2558

ระเบียบการเงินโลกใหม่ ที่จะกระทบกับไทย


พวกเราที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างใกล้ชิดย่อมรู้จักนโยบาย QE หรือ Quantitative Easing ดีอยู่แล้ว ว่าเป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยธนาคารชาติหรือธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Federal Reserve) ญี่ปุ่น (Bank of Japan) และสหภาพยุโรป (European Central Bank) แต่ส่วนใหญ่ลืมคิดไปว่านโยบายอันนี้มันเป็นการเสกเป่าให้หนี้สินเดิมของรัฐบาลของประเทศนั้นๆ หายไปราวกับมายากล

มันเป็นการยิงปืนนัดเดียวทว่าหวังให้ได้นกหลายตัว ทั้งการเพิ่มปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและพยุงราคาสินทรัพย์ (ทั้งหุ้นและพันธบัตรและอสังหาริมทรัพย์) ทั้งหวังกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ไม่ให้สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค และที่สำคัญคือปฏิบัติการลดหนี้ภาครัฐแบบแอบแฝง เพราะเป็นการกว้านซื้อหนี้ของตัวเองกลับมาถือครองไว้เสียเอง ซึ่งผมจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป

มันเป็นนวัตกรรมทางด้านนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาคที่ชาติพี่เบิ้มของโลกคิดขึ้นมาใช้

และตอนนี้ ชาติสำคัญๆ ก็ถูกกระทบโดยนโยบายนี้อย่างจัง จนต้องทยอยลดดอกเบี้ยลงกันเป็นแถบ ทั้งจีน (จีนต้องลดดอกเบี้ยเพราะค่าเงินหยวนสูงขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับเงินเยน) อินเดีย และประเทศในเอเชียและโอเชียนเนีย หรือแม้แต่ไทยก็ตาม เพราะถ้าไม่ทำ ค่าเงินของตนก็จะแข็งขึ้นโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย หรือไม่ราคาหุ้นและสินทรัพย์จะสูงขึ้นโดยการเก็งกำไร

ดีไม่ดีในอนาคต หากจีนเจอทางตัน จีนอาจหันมาสมาทานนโยบาย QE แบบนี้ด้วยก็ได้ใครจะไปรู้ เพราะขณะนี้ แม้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจของจีนก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวแล้ว ทว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมก็ยังไม่ดีขึ้น และรัฐบาลจีนก็คงไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองจนลง หากราคาสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน และหุ้น ตกลงอย่างฮวบฮาบ

หรือแม้แต่สหรัฐฯ เอง หากภายในปีนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญยังไม่ดีขึ้นจริง และตลาดหุ้นทำท่าจะวิกฤติ ธนาคารกลางอาจกลับมาประกาศใช้ "QE4" อีกก็ได้ เพื่อป้องปรามไม่ให้ราษฎรรู้สึกว่าตัวเองจนลง หรือพูดแบบนักเศรษฐศาสตร์คือหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อความมั่งคั่งของตน (Negative Wealth Effect) นั่นเอง


สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ได้พิสูจน์ให้เห็นไปแล้วว่า QE สามารถพยุงราคาสินทรัพย์ไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ (ทั้งๆ ที่ฟองสบู่แตกไปแล้ว)

แน่นอน นโยบาย QE ที่ถูกปฏิบัติโดยยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งสามเส้า คือสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (ธนาคารกลางของสหภาพยุโรปประกาศว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรผ่านโครงการ QE เป็นวงเงินอย่างต่ำ 1 ล้านล้านยูโร โดยได้เริ่มเข้าซื้อไปแล้วเมื่อประมาณอาทิตย์ที่สามของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) และญี่ปุ่น ย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในระดับโลก และย่อมส่งผลกระทบกับเราด้วยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ในช่วงนั้น ได้รายงานให้เห็นถึง Impact ของกระบวนการอัดฉีดเงินของ ECB และ BOJ ว่าเฉพาะในช่วงสั้นๆ ตั้งแต่ต้นปีมาก็มีจำนวนมหาศาลแล้ว ดังนี้

"So far this year, $36 billion has flowed into European equity funds and $7.6 billion into Japanese stock funds, with $15 billion going to “international” developed-market equity funds, said fund tracker EPFR. The three categories together more than offset net outflows from US and emerging-market equities, which had previously enjoyed strong gains...

Behind these numbers are the asset-buying programs - also known as quantitative easing, or QE – instituted by the Bank of Japan and European Central Bank.

The BOJ's purchase of both bonds and stock index-based exchange-traded funds are topping up Japan's financial system each month with an average 6.7 trillion yen, or $56 billion."

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จู่ๆ ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสองสกุลนั้น เพราะการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรและเยนและเงินของประเทศเพื่อนบ้าน ทว่าอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ (เพราะเงิน QE ของยุโรปและญี่ปุ่นบางส่วนหันไปลงทุนในสหรัฐฯ หรือใน US Dollar Assets เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่า นอกจากนั้นการทำ Carry Trade โดยการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำในญี่ปุ่นและยุโรปเพื่อนำไปฝากหรือทำการซื้อหุ้นคืนตามโครงการ Share Buy-back ของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ ก็ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเยนและยูโร) หรือการที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมาโดยตัวเลขเศรษฐกิจพื้นฐานไม่ได้รองรับแต่อย่างใด หรือการที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ราคาทองเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติแล้วก็ดิ่งลง ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งข้าว น้ำตาล ยางพารา ลดลงอย่างฮวบฮาบในระยะหลัง หลายส่วนเป็นผลกระทบโดยตรงจากการใช้ (และหยุดใช้) นโยบาย QE ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ทั้งสิ้น

การจะดำรงตนอยู่ในระเบียบโลกใหม่ให้ได้อย่างไม่ลำบาก จึงต้องเข้าใจมันให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะหาจุดยืนของเราในระเบียบโลกใหม่นี้ ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของเรา จุดอ่อนจุดแข็งของเรา เพื่ออนาคตของลูกหลาน

กระแสสูงของการเปลี่ยนแปลง

"ระเบียบโลกใหม่" ย่อมส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตและผลประโยชน์และความมั่นคงปลอดภัยและความมั่งคั่งของเราในหลายแง่มุมด้วยกัน เพราะมันกำลังก่อให้เกิด "คลื่นของการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก"

ยิ่งเราไม่รู้เท่าทันหรือไม่สามารถทำความเข้าใจกับกระแสสูงของการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้ ย่อมนำมาซึ่งความเสื่อม เพราะนอกจากจะไม่สามาาถเอาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ได้แล้ว ยังต้องถูกคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดพาไปอย่างไร้ภูมิต้านทาน ไร้อำนาจต่อรอง และไร้จุดหมายปลายทาง อย่างไร้จุดยืนที่มั่นคงปลอดภัยและเหมาะสมกับจุดแข็งจุดอ่อนและธรรมชาติของตัวเราเอง


"คลื่นของการเปลี่ยนแปลงระดับโลก" จะวางแนวทางและกำหนดกฎเกณฑ์ความเป็นไปของสังคมโลกตลอดจนกรอบพฤติกรรมของผู้คนในสังคมว่าจะทำอะไรได้ไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนด "คลื่นลูกกลาง" และ "ระรอกคลื่นลูกเล็กๆ" หรือแม้แต่ "รอยกระเพื่อมวิบๆ วับๆ" นับแต่นั้นไปอีกสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง

บางช่วงก็นาน บางช่วงก็ไม่นานนัก

แล้วก็จะเกิดมี "คลื่นลูกใหม่" มาหักล้างเปลี่ยนแปลงหันเหและวางพื้นหรือชักนำกำหนดให้เกิดแนวโน้มใหม่ ที่อาจจะแปรเปลี่ยนหันเหเฉไฉไปจากเดิมบ้าง หรือกระทั่งหักกลบลบของเก่าและหันหลังกลับแบบ 180 องศาเลยก็เป็นได้

นักปราชญ์ นักปกครอง นักกฎหมาย นักการทหาร นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักการตลาด นักการเงิน นักการเมือง และนักอะไรต่อมิอะไร ที่ฉลาด รอบคอบ มองการณ์ไกล และลึกซึ้ง มักเข้าใจประเด็นนี้

ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ เราจะพบ "คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงระดับโลก" เหล่านี้เต็มไปหมด

การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดหรือมุมมองที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติและต่อมนุษย์ด้วยกัน พัฒนาการของวิทยาศาสตร์และการทหาร การเปลี่ยนแปลงอันฉับพลันของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ หรือฉับพลันของภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศยักษ์ใหญ่ หรือการเปลี่ยนสถานะทางเศรษฐกิจจากจนเป็นรวยและจากรวยเป็นจนอันเนื่องมาแต่วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ สงครามครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคหรือความนิยมที่มีต่อสินค้าและบริการ ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด (และยังคงจะทำให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต) "คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก"

ตัวอย่างของคลื่นลูกใหญ่ที่เรากำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ก็มีเช่น การก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์และการก่อเกิดของระบบโลกานุวัตร พัฒนาการอย่างต่อเนื่องแบบยิ่งมายิ่งเข้มข้นรุนแรงของดิจิตัลเทคโนโลยีและการสื่อสารทั้งมวล การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของประชากรโลกและช่องว่างการเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนที่ถ่างขึ้นเรื่อยๆ การรื้อฟื้นความเชื่อแบบสุดกู่ของศาสนาบางศาสนาอันเป็นที่มาของลัทธิและพฤติกรรมการก่อการร้าย และการเสื่อมสลายของระบบนิเวศในอัตราเร่ง...เป็นต้น

คลื่นเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มย่อยๆ อีกทอดหนึ่งเช่น ราคาโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและต่ำลงอันเนื่องมาแต่ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจจีนและการค้นพบนวัตกรรมใหม่ในการขุดเจาะแบบ Fracking ในสหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้หันเหไปสู่จีนทั้งในแง่การค้า การลงทุน และการเมืองระหว่างประเทศ โดยรวมถึงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อไปรอเชื่อมต่อกับจีนด้วยเงินภาษีของพลเมืองของตนเอง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยไปสู่ออนไลน์และการเติบโตของ E-commerce การเติบโตของสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการเติบโตของพรรคการเมืองและกฎหมายที่คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม...เป็นต้น

แน่นอน ผู้ที่มีญานทัศนะและวิสัยทัศน์ สามารถมองเทรนขาด หรือแม้แต่สามารถ sense ได้บ้าง ย่อมจะประสบความสำเร็จ ไม่ว่าพวกเขาจะประกอบการสิ่งไร

ดังนั้น แนวทางการลงทุน กลยุทธ์ธุรกิจ กลยุทธ์การตลาด ของภาคธุรกิจเอกชน ย่อมต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับ "คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก" ใหม่นี้ด้วย

และการที่บรรดาชาติพี่เบิ้มของโลกหันมาพร้อมใจกันใช้นโยบาย QE นี้ ย่อมก่อให้เกิดคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับโลก อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ระเบียบการเงินโลกใหม่ อันน่าทึ่งและน่าอัศจรรย์ใจ

เพื่อให้ง่ายเข้า ผมได้เขียนแผนผังประกอบการทำความเข้าใจของท่านผู้อ่านดังนี้



ใครๆ ก็รู้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และบางประเทศในสหภาพยุโรป (เช่นอิตาลี สเปน กรีซ ไอร์แลนด์เหนือ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งเยอรมัน) มีหนี้สินจำนวนมาก และเมื่อคิดเทียบเป็นร้อยละของ GDP ล้วนสูงกว่าอัตราของไทยมากมายนัก

ผมจะใช้ตัวอย่างของสหรัฐฯ ในการอธิบายว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และธนาคารกลาง (FED) อาศัยนโยบาย QE แฝงการลดหนี้สินภาครัฐของตัวเองลง

เว็บไซต์ www.cliffkule.com ซึ่งติดตามตัวเลขหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ (US National Debt) โดยแสดงยอดหนี้แบบ Real Time คือเพิ่มขึ้นทุกเสี้ยววินาที ได้แสดงตัวเลข ณ วันที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ (27 มีนาคม 2558) ว่ามีมากกว่า 18 ล้านล้านเหรียญฯ แล้ว

ลองคูณเป็นเงินบาทดูแบบคร่าวๆ ก็จะได้ประมาณ 590 ล้านล้านบาท นับว่ามากกว่า GDP ของไทยไม่รู้กี่เท่าตัว

นักทฤษฎีสมคบคิดหรือ Conspiracy Theory ถึงกับบอกว่าสหรัฐฯ คงไม่มีปัญญาจ่ายหนี้คืนแน่ ดังนั้นสหรัฐฯ อาจต้องก่อสงครามเพื่อล้างหนี้

ในจำนวน 18 ล้านล้านเหรียญฯ นั้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของตราสารหนี้ของหน่วยงานรัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill หรือ T-Bill) และ Asset-Backed Securities (ABS) ในรูปแบบต่างๆ โดยผู้ที่ถือครองส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงิน กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน Hedge Funds ประชาชนทั่วไป และรัฐบาลต่างประเทศ เช่นธนาคารกลางของญี่ปุ่น จีน ไทย และธนาคารกลางทั่วโลก ที่ต้องนำเงินดอลล่าร์ในบัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve) ของตัวเองออกมาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน

ในจำนวนนี้ คาดการณ์กันว่าเป็นของจีนอยู่เกือบ 4 ล้านล้านเหรียญฯ

ผู้ถือพันธบัตรและตั๋วเงินคลังเหล่านี้ย่อมมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ นั่นเอง และรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงหน่วยงานเจ้าของตราสารเหล่านั้น ย่อมต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ซึ่งเฉพาะยอดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละวันก็เป็นจำนวนมหาศาลแล้ว

ทีนี้ เมื่อธนาคารกลางริ่เริ่มโครงการ QE เมื่อหลายปีก่อน (อ่านรายละเอียดใน "ล้อมกรอบ") ในทางปฏิบัตินั้น ธนาคารกลางต้องเข้ากว้านซื้อตราสารเหล่านี้ทุกเดือน (พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง และ ABS) ในตลาดรอง ทั้งโดยการสั่งซื้อผ่าน Dealer/Broker บนกระดานโดยตรง และซื้อตรงจากพอร์ตของสถาบันการเงินผู้ถือตราสารเหล่านั้น เช่น ธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจ (Investment Bank) ธนาคารกลางของประเทศเจ้าหนี้ และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนประเภทต่างๆ (เช่น Hedge Fund หรือกองทุนตราสารหนี้ เป็นต้น)

สมมติว่าธนาคารกลางซื้อจากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลางก็เพียงแต่เครดิตบัญชีธนาคาพาณิชย์นั้นๆ เท่ากับเพิ่ม Reserve ให้กับธนาคารแห่งนั้น สามารถนำไปปล่อยกู้หรือซื้อสินทรัพย์ชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นการอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยในตัว โดยธนาคารกลางก็รับโอนตราสารเหล่านั้นมาถือไว้ในพอร์ตของตัวเอง (เดบิตบัญชีตราสารของรัฐบาล) เท่ากับธนาคารกลางได้โอนกรรมสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาลจากธนาคารพาณิชย์มาเป็นของตัว

ดังนั้น At the end of the day ก็เท่ากับว่า ธนาคารกลางกลายเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรง และรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ต้องหันมาจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลาง แทนที่จะจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์เหล่านั้น

เห็นหรือยังครับว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เล่นกลยังไง

เพราะเท่ากับว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นหนี้ตัวเอง แล้วก็จ่ายดอกเบี้ยให้ตัวเอง (ซึ่งอย่างน้อยก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารชาติจีนและธนาคารกลางของชาติอื่น) ซึ่งเมื่อถึงปลายปี ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ก็จะต้องนำส่งเงินกำไร (หรือที่เรียกว่ารายรับมากกว่ารายจ่าย) คืนให้กับกระทรวงการคลัง ตามที่ระบุไว้ตามกฎหมายอยู่แล้ว

เท่ากับรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยนั่นเอง เพราะเมื่อจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลางไปแล้ว ก็ค่อยนำกลับคืนมาในรูปของเงินนำส่งคลังของธนาคารกลาง...ไปกลับ ก็เท่ากับ “เจ๊า” กันไป

ส่วนยอดหนี้ภาครัฐนั้น โดยเนื้อแท้แล้วย่อมลดลง เพราะถึงแม้ตัวเลขทางบัญชีจะยังคงเป็น 18 ล้านล้าน แต่บางส่วนได้ถูกซื้อกลับไปถือเองโดยธนาคารกลาง ซึ่งก็คือรัฐบาลสหรัฐฯ นั่นเอง

ตัวเองเป็นหนี้ตัวเอง ก็ถือว่าหนี้หายไปแล้ว

มันเป็นการ "เสก" ให้หนี้หายไป โดยการพิมพ์เงินเพิ่ม แล้วนำไปกว้านซื้อหนี้ของตัวเองกลับคืนมา ไม่ต่างอะไรกับการเล่นกล หลอกคนที่ไม่ทันคิดให้รอบคอบหรือไม่เข้าใจกลไกเบื้องหลังนั่นเอง

เห็นไหมครับว่า ตัวเลขหนี้สินภาครัฐที่เราเห็นนั้นมันเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชี ที่ในเนื้อแท้แล้วต่ำกว่านั้นมาก

พอรู้อย่างนี้แล้ว เราจึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถก่อหนี้เพิ่มเรื่อยๆ โดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว โดยจำนวนหนี้สูงขึ้นไปกว่า 250% ของ GDP แล้ว เพราะถึงอย่างไร ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็สามารถพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมาแล้วออกไปกว้านซื้อหนี้กลับมาทุกเดือนได้อยู่แล้ว

จะต้องกังวลอะไรอีก

นักการเมืองญี่ปุ่น (และสหรัฐฯ) ได้อาศัยกระบวนการก่อหนี้ (และลบหนี้) แบบนี้แหละ ในการสร้างนโยบายประชานิยมและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจร้อยแปดโดยใช้นโยบายการคลังขาดดุล

และตอนนี้ นักการเมืองยุโรปก็เล็งเห็นจุดนี้เช่นเดียวกัน และได้เริ่มเลียนแบบญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ แล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา

สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่

ผลกระทบอย่างแรกของการทำแบบนั้นโดยธนาคารกลางคือราคาพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาครัฐที่ธนาคารกลางเข้าไปกว้านซื้อตามโครงการ QE ทุกเดือนเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เท่ากับธนาคารชาติเข้าไปปั่นราคาตราสารหนี้ภาครัฐโดยตรง ส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสาร (หรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ Yield) ลดลง (เพราะผลตอบแทนจะผกผันกับราคาพันธบัตร)

ณ วันที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ US Treasury Yields สำหรับ 12 เดือนอยู่ที่ 0.25% และสำหรับ 10 ปี เท่ากับ 1.98% เท่านั้นเอง

เห็นไหมครับว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เข้าแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อกดให้ดอกเบี้ยต่ำติดดินโดยอาศัยนโยบายแบบนี้เป็นเครื่องมือ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าภาวะแบบนี้จะกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค และจะเป็นผลดีต่อราคาสินทรัพย์ ทั้งระดับราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็น Wealth ของครัวเรือนและประชาชนนั่นเอง

แต่การทำแบบนี้เป็นเวลานาน ย่อมทำให้การออมลดลง (เพราะดอกเบี้ยต่ำมาก) และผู้คนอาจจะใช้จ่ายเกินตัว (เพราะเงินได้มาเกือบฟรีและมีจำนวนมาก) พากันบริโภคอะไรที่จริงๆ แล้วพวกเขายังไม่จำเป็นต้องกินต้องใช้ ณ ขณะนั้น หรือพูดง่ายๆ ว่าซื้อของที่ตัวเองยังไม่ต้องการสักเท่าไหร่ (เพราะมีแคมเปญ 0% 10 เดือน) อีกทั้งยังเกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์ เช่นหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ (เพราะมีเงินพร้อมจะปล่อยกู้อยู่เป็นจำนวนมากและดอกเบี้ยต่ำ อย่างในสหรัฐฯ ช่วงหลายปีมานี้ กิจการที่มีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างกู้เงินมาซื้อหุ้นของตัวเองคืนจากตลาดฯ ที่เรียกว่า Share Buy-Back เพื่อทำให้จำนวนหุ้นลดลงและราคาหุ้นสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการให้ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นรูปแบบหนึ่ง)

ส่วนในญี่ปุ่นและยุโรปนั้น นโยบาย QE ก็ส่งผลเช่นเดียวกัน โดยธนาคารชาติญี่ปุ่นถือว่าได้ทำเกินหน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ ไปอีกก้าวหนึ่งที่นอกจากจะกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ภาครัฐแล้วยังเข้าซื้อกองทุน ETF อีกด้วย พูดง่ายๆ ว่าธนาคารชาติเข้าปั่นหุ้นโดยตรง (โปรแกรม QE ล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศมาคือมีวงเงินประมาณ 1.4 ล้านล้านดอลล่าร์ฯ)

สถานการณ์ในยุโรปก็ไม่ต่างกัน เพราะแม้กระทั่ง Sovereign Bonds ที่ออกโดยกลุ่มประเทศที่มีปัญหาซึ่งเรียกว่ากลุ่ม "PIIGS” (Portugal, Italy, Ireland, Greece and Spain) ยังให้ผลตอบแทนต่ำมาก ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงสูง ตัวอย่างเช่น Yield ของพันธบัตรของรัฐบาลสเปนอายุ 10 ปี ขณะนี้ต่ำเพียง 1.4% เท่านั้น ซึ่งลดลงจากที่เคยสูงถึง 7.6% ในปี 2012 หรือย่างของโปรตุเกสที่ลดลงจากปี 2012 ในระดับ 17.4% เหลือเพียง 1.5% เท่านั้นเอง

นี่เท่ากับต่ำกว่าตั๋วเงินคลังของกระทรวงคลังสหรัฐฯ ด้วยซ้ำไป ทั้งๆ ที่ความเสี่ยงสูงกว่ามาก

เห็นไหมครับว่าผลของการแทรกแซงตลาดพันธบัตรโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตามโครงการ QE นั้น ทำให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้นอย่างผิดปกติ อย่างที่ Mario Draghi ก็ออกมายอมรับว่า:

“Our purchases reduce returns on safer assets. This encourages investors to shift to riskier, higher-yielding assets. Pension funds, banks and other market participants that we buy securities from are likely to substitute these for other long-term assets thereby eventually pushing up prices more broadly”



ดังนั้น เมื่อระบบเศรษฐกิจการเงินของโลกมันเป็นระบบเปิด การดำเนินนโยบาย QE ของบรรดายักษ์ใหญ่เหล่านี้ย่อมต้องส่งผลสะเทือนไปทั้งโลก โอกาสที่เราจะฝืนกระแสโลกคงเป็นไปได้ยาก

ปัจจุบัน แม้ FED จะประกาศหยุด QE ไปแล้ว และตัวเลขเศรษฐกิจพื้นฐานของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้สดใสเท่าที่ควร ทว่าค่าเงินดอลล่าร์ก็สูงขึ้นอย่างผิดสังเกตุ US Dollar Index ซึ่งเป็นตัววัดค่าเงินดอลล่าร์เมื่อเทียบกับตระกร้าเงินสกุลสำคัญอีกหลายสกุล เพิ่มขึ้นประมาณ 20% นับแต่ QE หยุดลง

แสดงว่านักลงทุนส่วนใหญ่หันไปถือสินทรัพย์ในรูปของดอลล่าร์ (แทนการถือทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์และสินทรัพย์ในรูปเงินตราสกุลอื่น ที่ราคาตกลงมากเมื่อเทียบกับดอลล่าร์) และโครงการ QE ของญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ก็มีผลโดยตรงต่อกระแสความนิยมอันนี้ (เนื่องเพราะ QE ของสองประเทศนั้น ทำให้ค่าเงินและดอกเบี้ยในญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปตกลง จนนักลงทุนมองว่ามันจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าสินทรัพย์ในรูปดอลล่าร์)


ช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้นโยบาย QE นั้น ดัชนี้ S&P 500 เพิ่มขึ้นกว่า 200% จากจุดต่ำสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2552 และเมื่อหันมาดูหุ้นไทยบ้าง สภาพการณ์ก็มิได้ต่างกันมากนัก หลังจากวิกฤติซัพไพรม์เมื่อปี 2551เป็นต้นมา และกองทุนต่างประเทศเริ่มหันเหเงินลงทุนจากตลาดสหรัฐฯ มุ่งสู่ตลาด Emerging Markets ดัชนี้ตลาดหลักทรัพย์หรือ SET Index เพิ่มขึ้นจากที่เคยต่ำสุด ณ ระดับ 400 จุด มาอยู่ในระดับประมาณ 1,600 จุดในช่วงที่ FED ประกาศหยุด QE โดยถ้าดูจากปลายปี 2553 ที่สหรัฐฯ เริ่มมีการใช้นโยบาย QE เป็นต้นมา SET Index ก็มุ่งหน้าเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว (จากระดับประมาณ 800 จุดในปลายปีนั้นมาสู่ระดับปัจจุบัน)


แน่นอน ตลาดหุ้นไทย (รวมถึงตลาด Emerging Markets อื่นๆ ทั่วโลก) ราคาแพงขึ้นมาได้เพราะนโยบายอัดฉีดเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ 
และการที่หุ้นมีราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน ย่อมทำให้เกิด Wealth Effect ที่แพร่สะพัดเข้าไปสู่สินทรัพย์ชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทองคำ งานศิลปะ และของสะสมบางชนิด เช่นรถยนต์คลาสิก งานศิลปะ นาฬิกา ของเก่า พระเครื่อง และของสะสมอื่นๆ ฯลฯ

ดร.ผทัยรัตน์ ภาสน์พิพัฒน์กุล อาจารย์หนุ่มแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ศึกษาผลกระทบของโครงการ Quantitative Easing (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ว่าได้มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นและราคาหุ้นของตลาดเกิดใหม่อย่าง ไทย ฟิลลิปปินส์ และอินโดนีเซีย หรือไม่อย่างไร (หัวข้องานวิจัยคือ "Spillovers of Quantitative Easing on Thailand, Indonesia and the Philippines Financial Markets”)

โดยงานวิจัยของผทัยรัตน์ได้ชี้ให้เห็นและแสดงหลักฐานอย่างน่าสนใจมากว่าโครงการ QE ของ Fed นั้นได้เป็นแรงส่งให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงขึ้นอย่างชัดเจน และยังบอกอีกว่าโครงการ QE ที่เป็นการเข้าซื้อ Mortgage-backed Securities ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยมากกว่าโครงการ QE ที่เป็นการเข้าซื้อตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล

ดังนั้น เมื่อ QE หยุดลงและกระแสการลงทุนใหม่เริ่มหันหัวไปทางดอลล่าร์ อนาคตตลาดหุ้นไทยนับแต่นี้ย่อมมีแต่ทางลง แต่จะลงไปเท่ากับตอนที่ยังไม่มี QE หรือไม่อย่างไร ย่อมไม่มีใครตอบได้ เพราะเรายังไม่ทราบว่าผลกระทบของ QE ของญึ่ปุ่นและสหภาพยุโรปนั้นมีผลต่อเราอย่างไร

แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือตอนนี้ค่าเงินของเราแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินตราสองสกุลนั้น จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าเราควรหันเหนโยบายการเงินของเราไปในทิศทางใดเพื่อรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกเช่นนี้

ผมอยากให้คนเก่งๆ และบรรดาผู้นำของเราที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของไทย ได้หันมาช่วยกันคิด ช่วยระดมสมองกัน เพ่งเล็งไปในประเด็นที่ผมพูดมานี้ ว่าเราจะถูกกระทบอย่างไรจากนโยบายแบบนี้ของบรรดาพี่เบิ้ม ซึ่งถือว่าเป็นของใหม่มาก ผิดจากตำราเศรษฐศาสตร์ที่เคยร่ำเรียนกันมา และเราควรจะทำหรือไม่ทำอะไรในอนาคต

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
27 มีนาคม 2558



5 ความคิดเห็น:

  1. น่าสนใจมาก เป็นแนวคิดที่ทุกคนควรรู้และจะได้ศึกษาต่อไป

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณครับสำหรับบทความ

    เจอคำผิดที่นึงตรง Yeild ครับ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากครับสำหรับความคิดเห็นของทั้งสองท่าน

    ตอบลบ
  4. เขียนได้ดีมากครับ :)

    ตอบลบ
  5. ขอบคุณครับ ชอบมากครับ

    ตอบลบ