วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มหัลโกปเทศ = Country For Old Men






ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของกลุ่มซีพีเปรยขึ้นมาเล่นๆ เมื่อไม่นานมานี้ทำนองว่า ในการประชุมสำคัญๆ ของผู้บริหารระดับสูงในเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้น "เมื่อเปิดประตูห้องประชุมเข้าไปแล้วจะตกใจ เพราะจะเจอผู้ที่นั่งอยู่ในนั้นซึ่งล้วน 'หัวขาว' เกือบทั้งสิ้น"

คนที่ติดตามเรื่องราวของซีพีมาบ้างคงไม่แปลกใจ เพราะแม้แต่ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งอายุย่างเข้า 77 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมวางมือ ถึงแม้จะอยู่ในวัยเกษียณมานานแล้ว ดังนั้นจะแปลกอะไรที่บรรดาผู้บริหารรุ่นราวคราวเดียวกันซึ่งช่วยเขาสร้างเนื้อสร้างตัวมาแต่ต้น จะยังคงเคียงข้างเขาอยู่ในวันนี้

ท่านผู้อ่านที่มีความทรงจำยาวหน่อย คงจำได้ว่าธนินท์เคยประกาศออกสื่อให้ได้รับรู้กันทั่วประเทศ ในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ว่า ตัวเองจะเกษียณหลังจากนั้นอีก 5 ปี โดยจะถอยออกมาให้คำปรึกษาอยู่ข้างหลังแบบห่างๆ และจะส่งไม้ให้คนรุ่นต่อไปขึ้นมารับผิดชอบการบริหารต่อจากตน

แต่จนแล้วจนรอด เขาก็ยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเคยถามเรื่องดังกล่าวกับผู้บริหารท่านหนึ่งของซีพีที่นั่งฟังคำให้สัมภาษณ์ของธนินท์ที่พูดกับสุทธิชัย หยุ่นในครั้งกระโน้นด้วย ว่าทำไมธนินท์ถึงไม่ยอมเกษียณตามที่ได้ลั่นวาจาไว้

ผู้บริหารคนนั้นบอกว่าธนินท์ยังมีห่วงอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ ที่ทำให้ต้องตระบัดสัตย์ คือเรื่องเมืองจีนเรื่องหนึ่ง และเรื่องเทเลคอม (หมายถึง True) อีกเรื่องหนึ่ง

คนนอกฟังข้อสันนิษฐานนี้แล้วอาจคิดว่ามันยังฟังดูขัดๆ เพราะทายาทของตระกูลที่เข้าไปนั่งบริหารในตำแหน่งสำคัญๆ มาตั้งนานแล้ว ก็ดูเหมือนจะพร้อมรับช่วงต่อทุกเมื่อ และผู้บริหารรุ่นใหม่นอกตระกูลที่มีฝีมือก็มีอยู่แยะ

ดังนั้น หากให้วิเคราะห์แบบหยาบๆ ก็คงเป็นไปได้สองอย่าง คือตัวธนินท์เองมองว่าคนรุ่นใหม่เหล่านั้นยังคงไม่พร้อม และยังต้องได้รับการฝึกฝนเพิ่มเติมจากตัวเองและผู้บริหารรุ่นเก่าอยู่ หรือไม่ธนินท์ก็มองว่าตัวเองเก่งที่สุด และยังคงจะเก่งต่อไป ถึงแม้อายุจะเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ตราบใดที่ยังไหวอยู่ ก็จะต้องทำงานบริหารและตัดสินใจต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหวและสมองจะสั่งการช้าลง หรืออาจจะทั้งสองเหตุผลนั้น ที่ธนินท์ยังไม่ยอมวางมือ

ไม่ใช่ซีพีองค์กรเดียวที่เผชิญกับภาวะแบบนี้

องค์กรสำคัญๆ ส่วนใหญ่ในเมืองไทยจำนวนมากเวลานี้ ถูกควบคุมและตัดสินใจโดยคนแก่

แม้แต่การเมืองระดับสูงของไทย ก็ถูกควบคุมและคัดหางเสือโดยบรรดาคนแก่เสียเป็นส่วนมาก

ที่สำคัญคนแก่เหล่านี้ มักไม่ค่อยยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และไม่ยอมวางมือให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมารับผิดชอบแบบเต็มตัว แต่มักอ้างว่าที่ทำอยู่บัดนี้ก็เพื่อลูกหลาน

แต่โดยทั่วไปแล้ว ในเชิงจิตวิทยา คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองว่าคนรุ่นหลังไม่ได้เรื่อง คุณภาพแย่ลงทั้งในเชิงความสามารถและในเชิงจริยธรรม เทียบกับคนรุ่นตัวและคนรุ่นก่อนไม่ได้

จึงไม่แปลกที่เรามักได้ยินคนรุ่นก่อนโน้นต่อว่าคนรุ่น Baby Boom หาว่าเป็นพวกฮิ้ปปี้ รักอิสระเกินขอบเขต ไม่มีระเบียบวินัย เป็นพวก5 " และคนรุ่น Baby Boom ก็ดูถูกคนรุ่น Generation X และคนรุ่น Generation X ก็ต่อว่าคนรุ่น Generation Y และคนรุ่น Generation Y ก็กระแนะกระแหนคนรุ่น Generation Z ซึ่งบางทีก็ตั้งชื่อให้เสียใหม่ว่า Generation Me เพราะถูกหาว่าสนใจแต่เรื่องของตัวเอง เป็นต้น

ทว่า ในความเป็นจริง อายุไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลข ซะเมื่อไหร่!

อายุเป็นเรื่องจริง

คนเราเกิดมาแล้ว ต้องแก่ลง เสื่อมลงทุกวัน

ฝืนไม่ได้ และไม่มีทางได้

อย่างน้อยทุกวันนี้ มนุษย์ก็ยังฝืนความแก่ไม่ได้ ยังไม่มีความรู้หรือเทคโนโลยีที่จะฝืนมันได้สำเร็จ

ทางเลือกเดียวที่มนุษย์รู้จักในตอนนี้ คือต้องตายเสีย ถ้าไม่อยากแก่

เป็นความจริงที่ในประเทศสำคัญๆ ของโลก เช่นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ตลอดจนประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมถึงประเทศไทยด้วย จะมีคนแก่แยะขึ้น และอัตราการเกิดน้อยลง

สมัยที่ผมยังเล็ก จำนวนเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่มาเล่นหัวกันในซอยแถวบ้าน มีมากขนาดสามารถแบ่งเป็นทีมฟุตบอลแข่งกันเองได้ แถมยังมีตัวสำรองอีกจำนวนหนึ่งด้วย การมีลูกครอบครัวละ 3-5 คน เป็นเรื่องธรรมดามาก เพื่อนผมบางคนมีพี่น้องตั้ง 9 หรือ 10 คน

ผิดกับสมัยนี้ที่นิยมมีลูกกันน้อยๆ อย่างมากก็ 2 คน ใครมีลูก 3 คนนี่ถือว่าเข้าขั้น "ลูกดก" แล้วหล่ะ แถมคนรุ่นใหม่จำนวนมากแต่งงานช้า อัตราอย่าร้างสูง และเริ่มมีทัศนะคติไปในทางที่ไม่อยากมีลูก นักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่บอกว่าถ้ามีโอกาศได้แต่งงานในอนาคต พวกเขาก็คิดว่าจะไม่มีลูก และยังบอกอีกว่า กลุ่มเพื่อนๆ ของพวกเขาและเธอ ก็มีทัศนะคติแบบเดียวกัน เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

ผมได้ยินมาว่าคนระดับสูงใน คสช. ก็เป็นห่วงปัญหานี้เช่นกัน และคิดจะวางยุทธศาสตร์ให้คนไทยมีลูกให้มากขึ้น โดยให้ถือเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติและเป็นหน้าที่พลเมือง คล้ายกับที่สิงค์โปร์ทำไปแล้ว (ทำนอง "มีลูกเพื่อชาติ")

ข้อมูลจากกรมอนามัยล่าสุด พบว่าอัตราการเกิดของคนไทยลดลงจาก 800,000 คนในปีก่อนหน้า เหลือเพียง 600,000 คนเท่านั้น ในปีที่ผ่านมา

ในขณะที่สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรนับแต่นี้ไปอีกสามสิบปีจะอยู่ในสภาพ "คงตัว" และจะมีสัดส่วนของคนแก่แยะขึ้นแบบก้าวกระโดด คือสัดส่วนของคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 9-10% แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 14% ในปี 2564 และเป็น 20% ในปี 2574

การที่สังคมจะมีคนแก่แยะขึ้น ไม่ใช่เรื่องดีหรือเลว แต่เป็นเรื่องที่มันจะส่งผลกระทบกับภาพรวม และเป็นเรื่องที่ต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทุกคน

สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นและตั้งอยู่แบบลอยๆ แยกขาดจากมนุษย์

การมีคนแก่แยะขึ้นในขณะที่คนวัยทำงานน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คนแก่ย่อมผลิตน้อยลง อยู่โดยอาศัยเงินออมหรือทรัพย์สินเดิม ทั้งเงินออมของตัวเองและเงินออมของคนอื่น เช่นของลูกหลาน และของสังคมโดยรวม (ที่ต้องรับภาระโดยผ่านการจ่ายภาษีที่จะต้องจัดสรรมาเป็นสวัสดิการต่างๆ เช่น บำเหน็จ บำนาญ บริการประกันสุขภาพ ฯลฯ และรับภาระโดยการเสียสละแรงงานและเวลาเพื่อให้บริการคนแก่)

เมื่อการผลิตน้อยลง Capital Formation ลดลง รายได้ของสังคมย่อมลดลง (หากประสิทธิภาพในการผลิตเท่าเดิม) การเติบโตทางเศรษฐกิจย่อมลดลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับคนแก่ที่สังคมต้องรับภาระจะมากขึ้น

GDP ในอนาคตเมื่อประเทศไทยเต็มไปด้วยคนแก่ย่อมต่างจาก GDP ในอดีต

และถ้าคนแก่กลายเป็นภาระ ดังนั้น (ถ้าพูดแบบใจดำๆ) ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ ทั้งด้านโภชนาการ ด้านสุขภาพ และด้านการแพทย์ ที่ช่วยให้คนอายุยืนขึ้น ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะรังแต่จะสร้างภาระให้มากขึ้น

ตลาดสินค้าและบริการก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนรูปแบบไป เพราะตลาดย่อมประกอบด้วยมนุษย์ เมื่อมนุษย์เปลี่ยนไป ตลาดย่อมเปลี่ยนแปลงตาม

สินค้าและบริการหลายอย่างจะหายไป โดยที่สินค้าและบริการใหม่ๆ สำหรับคนแก่จะต้องมากขึ้น และระดับราคาสินค้ากับบริการจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งจะต้องกระทบกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคต

ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ย่อมถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของประชากรด้วยเช่นกัน

ที่ดิน หุ้น ทองคำ ตลอดจนของสะสมต่างๆ จะไปต่อกันยังไง เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องเพ่งเล็งและคิดวิจัยกันอย่างจริงจัง

แน่นอน เศรษฐกิจของประเทศย่อมแก่ตัวลงด้วย

เมื่ออายุเฉลี่ยขององค์กรเพิ่มขึ้น องค์กรก็แก่ลง และตามปกติขององค์กรที่แก่ตัว การตัดสินใจ ความยืนหยุ่น และความไวต่อการเปลี่ยนแปลง ย่อมช้าลง ลดลง และน้อยลง

ความเฉื่อยชาจะมีมากขึ้น ไม่เชื่อลองเปรียบเทียบองค์กรแบบ Google หรือ Facebook ที่อายุเฉลี่ยของพนักงานค่อนข้างน้อยกับองค์กรเก่าแก่อย่าง General Motor ดูก็ได้ว่าองค์กรไหนไวต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่ากัน

ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาองค์กรแก่ๆ ของไทยดู เช่น องค์กรราชการของไทย หรืออย่าง การรถไฟ ว่ามันมีชีวิตชีวาขนาดไหน

เพราะสมัยที่คุณยังหนุ่มแน่น คุณอาจขับรถด้วยความเร็วสูงและชอบ Take Risk แต่เมื่อคุณแก่ตัวลง ทุกอย่างย่อมช้าลงในนามของ "ความรอบคอบ"

อัตราการก่อเกิดธุรกิจใหม่ๆ หรือที่เรียกเป็นภาษาสมัยนี้ว่า Start-Up ย่อมลดลงด้วย

ความมีชีวิตชีวาของระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ขนาด IMF ยังออกงานวิจัยมายอมรับว่า Speed of Growth” (หมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ) จะช้าลงหรือชะลอตัวลง

การเมืองในสังคมที่มากด้วยคนแก่ คงจะต้านการเปลี่ยนแปลงน่าดู เพราะคนแก่มักเน้นให้สถานะและผลประโยชน์ที่เคยได้คงเดิม หรือที่เรียกว่า Status Quo”

การเมืองที่ถูกคุมโดยคนแก่มักมีแนวโน้มที่จะออกกฎระเบียบอะไรเพื่อผลประโยชน์ของคนแก่และองค์กรเก่าแก่

คนใหม่ๆ ยากจะเกิด เพราะสภาวะผูกขาดโดยองค์กรเก่าแก่จะถูกปกป้อง เพราะอิทธิพลของคนเหล่านั้นต่อรัฐบาลหรือต่อผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะมีมากขึ้น

อีกทั้ง นักการเมืองก็คงจะต้องหันมาออกนโยบายที่เอาใจคนแก่มากขึ้น เพราะเป็นฐานเสียง

ทว่า นโยบายที่เอาใจคนแก่มักจะต้องเกี่ยวพันกับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้น มันจึงไปกระทบกับผลประโยชน์ของคนรุ่นหลัง

ยกตัวอย่างเช่น นโยบายประกันสุขภาพที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก หรืออะไรก็ตามที่ต้องก่อหนี้ในวันนี้ ย่อมริดรอนผลประโยชน์ของลูกหลานที่จะเกิดมาในวันข้างหน้า เพราะพวกเขาต้องแบกภาระหนี้ ภาระดอกเบี้ย และภาระภาษีเพื่อการนี้

แต่นักการเมืองคงจะไม่สนใจ เพราะบรรดาลูกหลานที่ว่านี้ ยังลงคะแนนเสียงไม่ได้ ไม่เหมือนคนแก่ที่ลงคะแนนให้ตัวเองได้

ที่พูดมานี้ มิได้หมายความว่าคนแก่จะเป็นภาระไปเสียทั้งหมด

อย่าลืมว่าคนแก่ย่อมมีประสบการณ์มากกว่า มีทักษะสูงกว่า และมีสายสัมพันธ์กว้างขวาง เข้าถึงทุนได้ง่ายกว่า

คนแก่ที่ยังไม่หยุดริเริ่มสร้างสรรค์โดยยังพร้อมรับความเสี่ยงหรือยังมี “จิตวิญญาณแบบผู้ประกอบการ” (Entrepreneurial Spirit) เป็นกลุ่มคนที่น่ายกย่องและสนับสนุนและเอาเป็นแบบอย่าง

คนอย่าง Ray Krock เริ่มสร้าง McDonald’s ตอนอายุ 50 กว่า และพันเอก Harland Sanders ก็เริ่มสร้าง Kentucky Fried Chicken เมื่ออายุ 60 กว่าแล้ว Verdi ประพันธ์โอเปร่าเรื่อง Falstaff ตอนอายุ 80 เช่นเดียวกับเบโธเฟนที่แต่งซิมโฟนีหมายเลข 9 เมื่ออายุ 54 และตอนที่รัชกาลที่ 1 สร้างกรุงก็ทรงมีพระชนมายุมากกว่ากึ่งหนึ่งของพระชนม์ชีพแล้ว และ Peter Drucker ก็เพิ่งจะมาดังสุดขีดและสร้างสรรค์สุดขีดในฐานะ Management Guru ระหว่างช่วงอายุ 60-94 นี่เอง 

เชอร์ชิลนำอังกฤษสู้ฮิตเล่อร์เมื่ออายุ 65 เช่นเดียวกับนายพลไอเซนฮาวที่นำกองทัพสัมพันธมิตรยกพลขี้นบกในวัน D-Day เมื่ออายุ 54 และไมเคิลแองเจโลก็ปีนขึ้นไปวาดภาพบนเพดานโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ตอนอายุ 71 แล้ว หรือคนอย่าง แอ็ด คาราบาว เพิ่งจะก่อตั้งบุกเบิกกิจการ คาราบาวแดง” ตอนอายุ 50 นี่เอง และยังคงแต่งเพลงและ Produce งานเพลงให้ศิลปินรุ่นหลังอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะย่างเข้าวัยเกษียณแล้ว (อย่าลืมว่า Rolling Stone ยังตระเวนแสดงสดอยู่ และสมาชิกวงก็ยังแต่ตัวสไตล์เดิม ไม่ต่างจากสมัยที่พวกเขายังเป็นวัยรุ่น และ Mick Jagger ก็ยังกระโดดโลดเต้นอยู่อย่างเดิม แม้จะอายุ 71 แล้ว)

แม้ตัวอย่างชีวิตของคนเหล่านี้ จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังอย่างเราไม่กลัวความแก่ และทำให้เราวางใจได้ว่าสังคมในอนาคตที่คาดกันว่าจะเต็มไปด้วยคนแก่นั้นจะยังสร้างสรรค์ต่อไปและไม่หยุดผลิต

แต่นโยบายสาธารณะไม่ใช่เป็นเรื่องของความวางใจ เพราะไม่แน่ว่าคนแบบพวกเขาเหล่านี้จะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น นโยบายที่ว่าด้วยคนแก่จะต้องเป็นเรื่องจริงจัง และนโยบายที่ดีจะต้องดึงเอาจุดดีของคนแก่มาเอื้ออำนวยต่อสังคมโดยรวม และสนับสนุนกลไกที่จะป้องกันไม่ให้คนแก่กลายเป็นภาระของลูกหลานวัยทำงานในอนาคต (เช่นสนับสนุนธุรกิจประกันฯ และนโยบายที่จะสนับสนุนให้มีการดึงเอาประสบการณ์และทักษะของคนแก่มาเป็นพี่เลี้ยงให้คนรุ่นใหม่ และสร้างแรงจูงใจให้คนแก่วางมือจากการบริหารและการตัดสินใจเสีย เมื่อถึงเวลาอันควร)

นโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับองค์กร และระดับครอบครัว

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อหลีกเลี่ยงความแก่ของสังคมไทย หรือหลีกเลี่ยงที่จะรับภาระคนแก่ แต่เพื่อให้สังคมของเราเข้าสู่ความแก่ (หรือที่เรียกเป็นภาษาหรูๆ ว่า "สังคมสูงอายุ") อย่างสร้างสรรค์ที่สุด

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
3 พฤษภาคม 2558
ต้องขอขอบคุณรูปประกอบจาก www.gotomanager.com มา​ ณ ที่นี้ด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น