วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เราจะได้อะไร เมื่อจีนกำลังจะมา “ชิงดำ” กับญี่ปุ่นกันในเมืองไทย

การผงาดขึ้นมาของจีนส่งผลให้ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกขยับปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบบ้านเรานี้ การเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด
ความต้องการออกทะเล” ของจีน หนุนด้วยทรัพยสฤงคารมหาศาลในคลังหลวงของจีนปัจจุบัน ทำให้นโยบายต่างประเทศของจีนต่อประเทศในย่านนี้ Aggressive ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
จีนเน้นการลงทุนโดยตรงและสนับสนุนให้ประเทศแถบนี้สร้างเครือข่ายสื่อสารและขนส่งเชื่อมต่อกับจีน อีกทั้งยังสนับสนุนให้คนจีนเข้าไปทำมาหากินในประเทศเป้าหมาย เช่นการลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึก ถนนหนทาง และท่อส่งน้ำมันในพม่า เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์หลายประการรวมทั้งการให้รับคนจีนเข้าไปตั้งรกรากทำมาหากินในพม่า หรือการสนับสนุนให้ไทยและลาวสร้างทางรถไฟไปเชื่อมต่อกับมณฑลยูนนานของจีน แลกกับสัมปทานเดินรถและพื้นที่ตลอดแนวรถไฟ หรือการเข้าไปลงทุนปลูกยางพาราในภาคเหนือของลาวอย่างแทบจะผูกขาด เป็นต้น
ส่วนทางด้านทะเลจีนใต้ จีนก็มีเป้าหมายที่จะยึดครองน่านน้ำและเกาะแก่งต่างๆ โดยอ้างว่าในอดีตเขตแดนในทะเลเหล่านั้นเคยเป็นของจีนมาก่อน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งโดยตรงกับประเทศรอบๆ ทะเลจีนใต้ ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งสิงคโปร์ ล้วนมุ่งเสริมสร้างเขี้ยวเล็บทางทะเลของตน อีกทั้งกองเรือสหรัฐฯ ก็ได้หันกลับมาประจำการที่ฟิลิปปินส์เพื่อถ่วงดุลอำนาจของจีน
แน่นอน การขยับตัวของจีนแบบนี้ย่อมกระทบต่อผลประโยชน์ของมหาอำนาจอื่นที่เคยมีผลประโยชน์ในแถบนี้อยู่แล้วอย่างญี่ปุ่น และที่เคยมีและอยากจะกลับมามีผลประโยชน์ในแถบนี้อย่างสหรัฐฯ
ว่าแต่เฉพาะในเมืองไทย ดูเหมือนจีนจะต้องมาปะทะเข้าอย่างจังกับญี่ปุ่นซึ่งถือว่าไทยเป็นเขตอิทธิพลของพวกเขาอยู่ก่อน และในเมื่อหลังพิงของญี่ปุ่นอิงแอบอยู่กับสหรัฐฯ จีนย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องชนกับสหรัฐฯ ในบ้านเราอีกโสตหนึ่ง ในขณะที่จีนกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในระดับโลกอย่างใกล้ชิดแน่นแฟ้นยิ่งกว่าพวกเราเสียอีก
ความสัมพันธ์เชิงซ้อนนี้ย่อมส่งผลต่อเราทั้งในเชิงบวกและลบ เมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนดุลอำนาจ
ดังนั้น ในแง่ของไทยเอง จะฉวยจังหวะนี้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์อะไรให้ตัวเอง เราจำเป็นต้องเข้าใจและ Identify ให้ได้ว่าอะไรที่สำคัญที่สุด และคิดว่าจะได้มาในเกม Balance of Power ในรอบนี้อย่างไร
การจะทำความเข้าใจบริบทใหม่นี้ เราอาจต้องหันกลับไปมองอดีตประกอบ
ในยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในอุษาคเนย์อย่างมาก ชนชั้นผู้นำไทยสมัยนั้นใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์และปัญหาอินโดจีนตามความต้องการของอเมริกา เราสนับสนุนลาวขาวและเขมรเสรีทั้งในแง่ของการให้ที่พักพิงกับผู้นำขบวนการกู้ชาติและการอนุญาตให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพเพื่อขับเครื่องบินเข้าไปทิ้งระเบิดในลาว เวียดนาม และเขมร หรือแม้กระทั่งเข้าร่วมรบกับพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศเหล่านั้นด้วย ส่วนทางด้านพม่าซึ่งกำลังมีปัญหาภายในกับชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก ไทยก็ได้อาศัยสนับสนุนชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นให้ทำตัวเป็นรัฐกันชนระหว่างไทยกับพม่า
สมัยนั้นผู้นำกระเหรี่ยง ว้า ปะโอ และไทยใหญ่ ล้วนมีบ้านช่องอัครฐานเป็นของตัวเองในจังหวัดเชียงใหม่ และลูกหลานก็ส่งมาเรียนในเมืองไทย (เดี๋ยวนี้ก็น่าจะยังเป็นเช่นนั้นอยู่) ชนชั้นผู้นำไทยโดยเฉพาะบรรดาทหารบกที่กุมอำนาจการเมืองในยุคนั้น ก็ได้มีส่วนสนับสนุนกระบวนการส่งออกยาเสพติดของชนกลุ่มน้อยไปในตลาดโลก เพื่อหารายได้มาสร้างกองกำลังต่อต้านรัฐบาลกลางของพม่า
เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากอุษาคเนย์และเกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองจีน เติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมากุมอำนาจสูงสุดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งผลต่อกระบวนทัศน์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนอย่างมากด้วย ในการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2521 เติ้งเสี่ยวผิงได้กล่าวแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น (Sovereignty related conflicts) นั้น “ขอให้เป็นภาระของคนรุ่นต่อไปเถอะ” (left for the next generation)
คำกล่าวนั้น ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจีนต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากญี่ปุ่นมาก ความขัดแย้งที่มีมาแต่เดิมนั้นควรเก็บเอาไว้ก่อน และนับแต่นั้นมา นโยบายต่างประเทศของจีนก็ให้ความสำคัญกับ Economic Content เป็นหลัก ผิดกับสมัยเหมาเจ๋อตงที่เน้นไปในด้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และส่งออกการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ และการลงทุนของญี่ปุ่นในจีนก็เริ่มเติบโตขึ้น
เมื่อจีนรวยขึ้นด้วยการเปิดพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้มีการลงทุนรับจ้างผลิต Hardware ให้กับฝรั่ง สะสม Foreign Exchange Reserve อย่างมหาศาล จีนก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเอเชีย นโยบายต่างประเทศของจีนต่อเพื่อนบ้านในเอเชียก็เป็นไปอย่างเหมาะสมผ่อนปรน โดยจีนยอมที่จะขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านั้น แต่ละปีจีนจะนำเข้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนวัตถุดิบ จากประเทศเอเชียอื่น รวมทั้งไทยเป็นจำนวนมาก นับเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างชาญฉลาด
จุดพลิกผันของจีน ย่อมเป็นจุดพลิกผันของเอเชียด้วย เมื่อคนจีนรวยขึ้นและเริ่มรู้จัก “ใช้ชีวิต” การบริโภคก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ด้วยจำนวนประชากรขนาดนั้น จีนย่อมต้องการชีวปัจจัยและ Luxury Products ตลอดจนพลังงานจำนวนมหาศาล และอย่างต่อเนื่อง
นักวิเคราะห์ทางด้าน Geopolitics และทางด้านพลังงาน และทางด้านเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกทั้งหลาย ต่างลงความเห็นร่วมกันว่าจุดพลิกผันสำคัญที่สุดของจีนคือปี 2537 เมื่อจีนเริ่มมีสถานะเป็น “ผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ” (Net Importer of Oil) เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมา นโยบายการต่างประเทศของจีนก็เริ่มมีเนื้อหาที่เรียกว่า Petroleum Component” ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ


เมื่อสิ้นปี 2549 ยอดนำเข้าน้ำมันของจีนก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2537 และได้กลายเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ โดยได้แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยครองอันดับสองมาก่อน


และมิเพียงเท่านั้น ยอดนำเข้าวัตถุดิบชนิดอื่นที่จำเป็นต่อการผลิตและบริโภคก็ก้าวกระโดดขึ้นด้วยในอัตราเร่งเช่นเดียวกับน้ำมัน Logic แบบนี้ย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยไม่มากก็น้อย
ผู้นำจีนที่ขึ้นมากุมอำนาจหลังจากเติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้ผลัดกันออกเดินสายกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรซึ่งจีนคาดว่าต้องพึ่งพิงในอนาคต ทั้งรัสเซีย (ซึ่งจีนจะวางท่อส่งน้ำมันตรงจากไซบีเรียและอาจวางผ่านมองโกเลียด้วยในอนาคต) ออสเตรเลีย อินโดนีเชีย หรือแม้กระทั่งอียิปต์ อัลจีเรีย อิหร่าน ปากีสถาน และกาบอน ปัจจุบันจีนมีกองทหารประจำการในซูดานเพื่อดูแลสัมปทานน้ำมันของจีนที่นั่น และกิจการปิโตรเลียมของจีนก็หาโอกาสเข้าซื้อกิจการสัญชาติอื่นเพื่อครอบครองสัมปทานน้ำมันอยู่อย่างขะมักเขม้น
ด้วยโลกสันนิวาสแบบนี้เองที่ทำให้ภูมิศาสตร์การเมืองของเอเชียเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะในดินแดนที่เป็นแหล่งน้ำมัน แหล่งพลังงาน แหล่งวัตถุดิบ และเป็นเส้นทางลำเลียงของโภคภัณฑ์เหล่านั้นเข้าจีน
จีนได้ลงทุนสร้าง Infrastructure ให้กับอิหร่าน สร้างท่าเรือและฐานทัพเรือที่ Gwadar และ Pasni ในปากีสถาน และที่ Chittagon ในบังคลาเทศ สร้างสถานีเติมเชื้อเพลิงที่ทางตอนใต้ของศรีลังกา และตามหมู่เกาะรายทางในมหาสมุทรอินเดีย และลงทุนสร้างท่าเรือตลอดจนถนนหนทางและเส้นทางขนส่งในพม่าเพื่อต่อเชื่อมระหว่างปากอ่าวเบงกอลกับจีนตอนใต้ ตลอดจนสนใจสนับสนุนให้มีการขุดคลองลัดที่คอคอดกระที่จังหวัดประจวบคีรีขันท์หรือระนอง เพื่อสร้างทางเลือกของการขนส่งน้ำมันมิให้ต้องผ่านช่องแคบมะละกาแต่เพียงทางเดียว นอกจากนั้นจีนยังมีโครงการจะวางท่อก๊าซตรงจาก Azerbaijan, Kazakhstan, Turkmenistan อีกด้วย นี่ยังไม่นับโครงการสำรวจก๊าซในอ่าวไทยที่กำพูชากำลังหาทางอ้างสิทธิอยู่ในขณะนี้ด้วย
สำหรับพม่า ซึ่งนอกจากจะเป็นประเทศหนึ่งที่ครองชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจีนต้องการให้คุ้มครองกองเรือขนส่งน้ำมันไปสู่จีนแล้ว โดยตัวของพม่าเองยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรที่จีนต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและยุธโทปกรของจีน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ทองแดง สังกะสี ไม้สัก ยูเรเนียม และพลังน้ำ

วงการทูตของประเทศตะวันตก คาดการณ์กันว่าแต่ละปี รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารของพม่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ในขณะเดียวกันจีนก็ได้ส่งสินค้าอุปโภคบริโภคและ Hardware ให้กับสังคมพม่าในราคาถูก (เดี๋ยวนี้ถ้าพวกเราอยากได้ DVD ปลอม หรือพวกนาฬิกาปลอม หรือกระเป๋าปลอม ก็ต้องไปเอามาจากแม่สาย เป็นต้น) รวมตลอดถึงได้ส่งบริษัทก่อสร้างของจีนเข้ามาสร้างอะไรต่อมิอะไรในพม่าด้วยราคากันเอง
จีนไม่สนใจหรอกว่ารัฐบาลทหารของพม่าและรัฐบาลของประเทศอื่นที่จีนติดต่อด้วยจะปกครองแบบเผด็จอำนาจ และพวกเขาจะเห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชนหรือไม่เพียงใด จีนดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบ Pragmatic และไม่สนใจแม้กระทั่งว่าพม่าจะส่งออกฝิ่นและยาเสพติดไปทั่วโลกหรือไม่ (อย่าลืมว่าจีนเคยเป็นเหยื่อของอังกฤษและอเมริกามาก่อน สมัยที่มอมเมาจีนด้วยฝิ่นจำนวนมากอย่างไร้มนุษยธรรมโดยดำเนินการส่งฝิ่นเข้าไปจากอินเดีย และผมว่าชนชั้นผู้นำของจีนปัจจุบันยังไม่ลืมเหตุการณ์เหล่านั้น)จีนสนใจเพียงว่า ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับเส้นทางการลำเลียงน้ำมัน เช่นเกิดวิกฤติขึ้นกับไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย จนต้องปิดช่องแคบมะละกา จีนจะสามารถลำเลียงน้ำมันผ่านพม่าได้ โดยให้เรือบรรทุกน้ำมันจากตะวันออกกลางมาขึ้นฝั่งที่พม่า ซึ่งจีนลงทุนสร้างท่าเรือให้แล้ว และขนส่งผ่านท่อหรือลำเลียงผ่านเส้นทางบกเข้าสู่ยูนนาน เพื่อไม่ให้การผลิตและเครื่องจักรเศรษฐกิจของจีนต้องหยุดชะงัก นอกจากนั้นจีนยังสนใจยูเรเนียมในพม่าอีกด้วย
ไทยเองก็เป็น Strategic Importance” ต่อยุทธศาสตร์ของจีนอยู่พอสมควร ตั้งแต่สมัยเมื่อสงครามในเขมรสิ้นสุดลง และจีนจำเป็นต้องพึ่งไทยให้เป็นจุดลำเลียงความช่วยเหลือไปสู่กองกำลังเขมรแดง และปัจจุบันซึ่งจีนต้องการไทยเป็นทางผ่านออกสู่ทะเล ตลอดจนประเทศในคาบสมุทรเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเชีย และเลยไปสู่โอเชียนเนีย อีกทั้งตลาดไทยก็มีความสำคัญต่อผู้ผลิตสินค้าจีน และในทางกลับกันจีนก็ต้องการสินค้าและพืชผลเกษตรจากไทยด้วยเช่นกัน ความสำคัญของไทยในสายตาจีนย่อมมากอยู่ และรัฐบาล คสช. ของเราก็ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้จีนรุกคืบเข้ามาในไทยมากขึ้น
อย่างน้อยในรอบสิบกว่าปีมานี้ มหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกและสหาย ต่างใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการไล่จับผู้ก่อการร้าย โดยใช้เวลาส่วนใหญ่กับทรัพยากรจำนวนมากไปกับสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก อีกทั้งยังร่วมกดดันรัสเซียในกรณียูเครน และวุ่นวายอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจภายในของตน จึงยุ่งเกินกว่าที่จะหันมาจัดวางยุทธศาสตร์ด้านอุษาคเนย์อย่างจริงจัง หรือแม้กระทั่งเอเชียโดยรวมก็ตามที จึงเป็นโอกาสให้จีนได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่
แน่นอน จีนและรัสเซียย่อมไม่อยากให้สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในอัฟกานิสถานและอิรัก เพราะมันจะทำให้อิทธิพลของฝรั่งในเอเชียกลางหมดไป และจีนกับรัสเซียจะได้เข้าไปทำอะไรต่อมิอะไรกับทรัพยากรของย่านนั้นอย่างถนัดมือ เหมือนกับที่ได้ทำมาแล้วกับพม่า
ทว่า ระยะหลังมานี้ เราเริ่มได้เห็นการกลับเข้ามาในเอเซียอาคเนย์ของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ทั้งในกรณีการฟื้นความสัมพันธ์ทางการฑูต การค้า และการทหารกับพม่า กัมพูชา และเวียดนาม และการเข้ามากดดันทางการฑูตต่อรัฐบาลทหารของไทยอย่างเปิดเผย
กระบวนทัศน์ของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ต่อเอเซียได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยสหรัฐฯ ได้กลับมาให้ความสำคัญกับการคงอำนาจเหนือไว้ในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้
อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นที่มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจไทยกลับไม่ใช่จีนและสหรัฐฯ ทว่าเป็นญี่ปุ่น
หลังปี 1985 ซึ่งญี่ปุ่นจำเป็นต้องเพิ่มค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ จากประมาณ 360 เยน/ดอลล่าร์ มาเป็น 120 เยน/ดอลล่าร์ ทำให้ญี่ปุ่นต้องมุ่งออกไปลงทุนนอกประเทศ ซึ่งไทยเราเป็นเป้าหมายสำคัญของญี่ปุ่นในขณะนั้น เพราะมีความพร้อมทั้งในแง่ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม นโยบายส่งเสริมของรัฐบาล สภาวการณ์ทางการเมืองที่มั่นคง และแรงงานฝีมือ
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ความสำคัญของญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลไทยต้องเอาใจญี่ปุ่นสารพัด กระทั่งโครงการ Mega-project ในเรื่องน้ำ ที่รัฐบาลต้องลงทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ญี่ปุ่น ไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตไปประเทศคู่แข่ง อีกทั้งชุมชนญี่ปุ่นแถวสุขุมวิทก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับครอบครัวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงาน ตามขนาดการลงทุนของกิจการญี่ปุ่นในเมืองไทย จนล้นออกไปแถบพระราม 9 และรัชดาภิเษก
ปัญหาของไทยในกรณีนี้คือไทยเองไม่ค่อยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมากนัก จะได้ก็เพียงค่าแรง ภาษี ยอดขายวัตถุดิบเล็กๆ น้อยๆ และยอดส่งออกของประเทศ ซึ่งเสมือนหนึ่งญี่ปุ่นมายืมบัญชีส่งออกของไทยลงบัญชีเท่านั้นเอง เพราะผลประโยชน์ที่แท้จริงตกอยู่ในกระเป๋าของผู้ส่งออกญี่ปุ่นเหล่านั้น
แม้เวลาผ่านไปนานมากแล้ว ผู้ผลิตและแรงงานไทยก็ยังไม่สามารถเข้าถึงความรู้สำคัญในการผลิตที่ญี่ปุ่นเคยสัญญาว่าจะถ่ายทอดให้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแม่พิมพ์ (Mold) ความรู้เรื่องวัสดุศาสตร์ ฯลฯ
สังเกตุง่ายๆ ว่า ประเทศเรามีการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์และเภสัชศาสตร์มากว่าร้อยปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่สามารถผลิตรถยนต์หรือจักรยานยนต์และยาใช้เองได้ ทั้งๆ ที่เราบริโภคของเหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี อย่าว่าแต่ Machine Tool และความรู้ที่จำเป็นในการผลิต Consumer Products ที่เราต้องใช้และบริโภคมากมายในแต่ละปี เราก็ยังไม่สามารถ “สร้าง” เองได้
กิจการขนาดใหญ่ๆ ของไทย ล้วนต้องนำเข้าหรือเช่า “ระบบ” หรือหัวใจสำคัญของธุรกิจจากต่างประเทศ (ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ที่ตกถึงเราย่อมน้อยด้วย) หรือไม่ก็ยอมตัวลงเป็น “นายหน้า” ให้กับผู้ผลิตต่างประเทศ
ความรู้ของเรามีได้แค่ความรู้ในการใช้งานเครื่องจักรหรือใช้งานระบบ แต่ความรู้ในการ “สร้าง” ระบบหรือสร้างเครื่องจักรของเรายังมีไปไม่ถึง เหมือนกับเรารู้เรื่อง Branding รู้เรื่อง Marketing รู้เรื่องการออกแบบรถยนต์หรือ Aerodynamic แต่เราไม่สามารถสร้างเครื่องยนต์และระบบการผลิตได้เอง
ความรู้เรามีแค่ 6-7-8-9-10 แต่ยังขาด 0-1-2-3-4-5 ซึ่งเป็นหัวใจของธุรกิจ โดยความรู้เหล่านี้ญี่ปุ่นยังปิดบังเก็บงำเป็นความลับสุดยอด
การเข้าถึงความรู้เหล่านี้ย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจไทย เพราะเราจะสามารถ “สร้าง” สินค้าและบริการของตัวเองให้ยิ่งใหญ่ได้ เป็นก้าวแรกของการเป็น “เจ้าของ” อะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น โตโยต้า ซัมซุง 7-11 ฯลฯ ที่สามารถใช้ความรู้สร้าง “ของ” ตัวเองขึ้นมาแข่งขันในตลาดโลก และสามารถส่งต่อความมั่งคั่งอันเนื่องมาแต่ “ของที่ตัวเองสร้าง” (จากความรู้) หรือกิจการเหล่านั้นให้กับลูกหลานต่อไป ได้ลืมตาอ้าปากในอนาคต มิใช่ต้องคอยกินน้ำใต้ศอกผู้ผลิตต่างชาติตลอดไป
ปัจจุบันย่อมเป็นเวลาอันเหมาะเจาะ ที่เราจะสามารถเปิดเจรจากับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของความรู้อันเป็นหัวใจสำคัญเหล่านั้น ให้ยอมเปิดเผยและถ่ายทอดความรู้ให้กับเราเสียที (เทคโนโลยีก็คือความรู้นั่นเอง ดังนั้น เทคโนโลยีในการผลิต=ความรู้ในการผลิต และ เทคโนโลยีในการพัฒนาหรือจัดการกับระบบปฏิบัติการหรือระบบบริหาร=ความรู้ในการพัฒนาหรือความรู้ในการจัดการกับระบบปฏิบัติการหรือจัดการกับระบบงาน นั่นเอง)
นั่นคือเป้าหมายของ “เกม Balance of Power” ในรอบนี้ ที่จะมีจีนเป็นหมากให้เราได้เก็บไว้เล่นกับญี่ปุ่น

ยังไงๆ ญี่ปุ่นย่อมไม่ยอมให้จีนเข้ามาแย่งพื้นที่ในไทยได้ง่ายๆ อย่างจีนจะสร้างรถไฟรางคู่เชื่อมจีนกับแหลมฉบังผ่านอีสานและลาว ญี่ปุ่นก็ต้องไม่น้อยหน้า ต่อรองจนได้รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีกว่าไป 
ผู้นำที่เก่งและมีวิสัยทัศน์และรักชาติและห่วงใยลูกหลาน ย่อมต้องไม่ปล่อยให้โอกาสทองแบบนี้หลุดมือไป
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
23 กุมภาพันธ์ 2558














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น