วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ดราม่าที่กรีซกระทบอะไรกับเรา




อริสโตเติ้ล เคยมีความเห็นว่าเงินตราที่ดีในอุดมคติ ควรมีคุณสมบัติ 4 ประการคือ คงทนถาวร พกพาไปมาได้สะดวก แบ่งซอยให้ย่อยลงได้ และที่สำคัญคือต้องมีค่าโดยตัวมันเอง (ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า "Intrinsic Value”)

หากอริสโตเติ้ลฟื้นคืนชีพมาที่เอเธนส์ในวันนี้ เขาคงตกใจไม่น้อยที่พบว่าเอเธนส์กำลังเกิดวิกฤติ และลูกหลานของชาวกรีกโบราณ ซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองทางปัญญาและเป็นต้นเค้าของอารยธรรมตะวันตกแทบทุกทาง กลับถือเงินตราส่วนใหญ่ในรูป "ตัวเลขในบัญชีธนาคาร"

อริสโตเติ้ลจะผิดหวังที่ลูกหลานพากันละเลยคำสั่งสอนของเขาในเรื่องนี้หรือไม่ เราไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ๆ การถือครองเงินตราในรูปของ "ตัวเลขในบัญชีธนาคาร" ซึ่งหมายความว่าผู้คนต่างได้เอาทรัพย์สิน เงินออม และความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของตน ที่สู้อุตส่าห์อดออมสะสมมาชั่วชีวิต มาแปลงให้อยู่ในรูป "ตัวเลขในบัญชีธนาคาร" ด้วยนั้น เป็นวิธีที่เสี่ยงมาก โดยเฉพาะในยามวิกฤติ

ตัวอย่างของกรีซ ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ในยามวิกฤตินั้น รัฐบาลย่อมเลือกที่จะปกป้องธนาคารมากกว่าผู้ฝากเงิน รัฐบาลกลัวว่าธนาคารเจ๊ง โดยห้ามมิให้ผู้ฝากเงิน ถอนเงินสดเกินกว่า 60 ยูโรต่อวัน ทั้งๆ ที่เงินก้อนนั้นเป็นเงินของพวกเขาเอง

นับเป็น Greek Tragedy ได้เหมือนกัน

คิดอีกทาง นั่นเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้จ่ายของประชาชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในยามวิกฤตินั้น ผู้คนที่ไม่มั่นใจต่ออนาคต ย่อมอยากจับจ่ายซื้อของจำเป็นและกันเงินสดไว้ เพื่อเตรียมทางหนีทีไล่ให้กับตัวเองและครอบครัว (พลิกอ่านบทความประกอบ เรื่อง "วิกฤติ 101: บทเรียนจากกรีซ")

ผมจะไม่แปลกใจเลย หากในอนาคต ชาวบ้านชาวช่องทั่วไป (ซึ่งไม่ใช่นักการเงินหรือนักลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการเงินการลงทุนอยู่แล้ว) จะศรัทธาและไว้ใจต่อ "ตัวเลขในธนาคาร" น้อยลงไปอีก เพราะมันเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงกับทรัพย์สินและชะตากรรมของประชาชนมากเกินไป และวิกฤติการณ์กรีซในครั้งนี้ ก็เป็นบทเรียนสอนใจให้พวกเขาได้เห็นแล้วว่า หากพวกเขามีเงินในธนาคาร พวกเขาต้องถอนเงินออกก่อนแต่เนิ่นๆ ก่อนที่รัฐบาลจะยื่นมือเข้าแทรกแซง

นายธนาคารและผู้กุมนโยบายการเงินภาครัฐ ก็ต้องพึงสังวรในเรื่องนี้ด้วย เพราะชาวบ้านชาวช่องปัจจุบันบริโภคสื่อกันมาก และรับรู้เรื่องราวในกรีซอย่างแพร่หลาย

ดราม่าในกรีซและยูโรโซน คงจะดำเนินต่อไป ตราบเท่าที่ลูกหนี้ยังไม่สามารถชำระคืนหนี้สินได้ (หรือแสดงให้เจ้าหนี้เห็นว่าตัวเองจะมีวิธีการหารายได้ (หรือประหยัดค่าใช้จ่าย) หรือแผนการชำระคืนที่มีความเป็นไปได้จนเจ้าหนี้เชื่อถือคล้อยตาม หรือไม่ก็หาหลักประกันที่เพียงพอหรือ หลักประกันที่เจ้าหนี้หมายตาอยากได้หรือต้องการยึดเอาได้เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ครั้งหน้า) แม้วิกฤติครานี้จะสิ้นสุดลงชั่วคราว ด้วยการบรรลุข้อตกลงในเรื่อง Bridge Loan และ Debt Restructuring Plans พร้อมเงื่อนไขที่ค่อนข้างโหดในสายตาประชาชนชาวกรีซก็ตาม (โดยกรีซได้สัญญาว่าจะนำเงินก้อนใหม่นี้ไปใช้ให้สมเหตุสมผลและจะยอม "กระเบียดกระเสียน" (“Austerity”) ตามที่เจ้าหนี้ต้องการและได้ตั้งเงื่อนไขไว้)

มีข่าวลือมากมายเกิดขึ้น มีการปลุกม็อบ มีการลงคะแนนเสียง Vote No กันทั้งประเทศ และต่อมาก็มีการประท้วง ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจ ต่อคำว่า "Austerity"

เราได้แต่เอาใจช่วย อยากให้เรื่องนี้จบลงด้วยดี และพอใจกันทั้งสองฝ่าย

ลูกหนี้ก็ได้ประโยชน์ไปแล้วจากการเอาเงินนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในประเทศตน ส่วนเจ้าหนี้ก็ได้ดอกเบี้ยทั้ง In-Cash และ In-Kind เป็นการตอบแทนไปแล้วเช่นกัน

ว่ากันว่า ข้าราชการและพนักงานภาครัฐของกรีกมีสวัสดิการและบำเหน็จบำนาญมากกว่าใครเพื่อน Public Pension Payment/GDP ของกรีซสูงถึง 18% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของเพื่อนฝูงในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 10% และสหรัฐฯ อยู่ที่ 5% เท่านั้นเอง

มีตัวอย่างสุดขั้วมากมายที่พวกเราได้รู้แล้วถึงกับอึ้ง เช่นที่ว่าในประเทศกรีซนั้นมีกฎหมายให้ผู้ที่ประกอบอาชีพ "อันตราย" สามารถเกษียณได้เมื่ออายุ 53 ปี และยังได้บำเหน็จบำนาญหลังเกษียณเต็มจำนวนอย่างเต็มที่ ขนาดสามารถเลี้ยงครอบครัวได้สบายๆ ทั้งตัวเองและภรรยา บุตรและภรรยา รวมถึงหลานอีกด้วย

และอาชีพ "อันตราย" ที่ว่านั้น ดันรวมถึง "ช่างตัดผม" ด้วย!

เหล่านี้คือวิธีใช้เงินที่กู้มาในอดีต และจำต้องลดทอนหรือตัดออกตามเงื่อนไข "Austerity” ของเจ้าหนี้ หากต้องการให้พวกเขา "เสียบปลั๊ก" ให้ทุกอย่างเดินต่อไปได้

แน่นอน เราไม่อยากเห็นการเบี้ยวหนี้ในระดับนี้เกิดขึ้น เพราะเราคิดว่าระบบทุนนิยมจะอยู่ได้ สัญญาก็ต้องเป็นสัญญา

ถ้าสุดวิสัยก็ต้องเจรจาต่อรองกันตามวิสัยเจ้าหนี้ลูกหนี้

จะละเว้น งดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ หรือ Moratorium หรือ Hair Cut ก็เป็นหนทางที่ทำได้ตามแบบแผนที่ทำกันมานานนม

แต่การจะพาลหรือเบี้ยวกันให้เป็นเรื่องเอิกเกริกนั้นไม่สมควรยิ่ง

ยิ่งถ้าพิจารณาในมิติของ Geopolitics ว่า กรีซอาจหันไปซบฝ่ายตรงข้ามกับสหภาพยุโรป (เช่นรัสเซีย) โดยขอให้รัสเซียยื่นมือเข้ามา Bailout ด้วยแล้ว ยิ่งจะยุ่งไปใหญ่

เพียงแค่นี้ โลกก็ขัดแย้งวุ่นวายกันยังไม่พออีกเหรอ

แต่ถ้าลูกหนี้คนใดก็ตาม มีนิสัยชอบเบี้ยวหนี้ ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ฝ่ายไหน เจ้าหนี้ย่อมไม่ไว้วางใจอยู่ดี

ดังนั้น โอกาสที่ใครจะมา Bailout โดยไม่ตั้งเงื่อนไขที่โหดพอกัน ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

ไทยเอง มีส่วนได้เสียกับกรีซน้อยมาก ถ้าไม่นับว่าคนมีอันจะกินของไทยมักไปเที่ยวเอเธนส์และหมู่เกาะในทะเลเอเจียนบ้างเป็นครั้งคราว และนักวิชาการไทยชอบอ้างเปลโต้ อริสโตเติ้ล และโสกราตีสแล้ว ก็ต้องถือว่าคนไทยบริโภคของจากกรีซน้อยมาก ยอดนำเข้าสินค้าจากกรีซมาไทยนั้น คิดเป็นเพียงไม่ถึง 0.1% ของสินค้านำเข้าทั้งหมด และยอดส่งออกไทยไปที่กรีซก็คิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่ถึง 0.25% ของยอดส่งออกทั้งหมด เท่านั้นเอง (ยอดส่งออกของสหรัฐฯ ไปสู่กรีซมีเพียง 0.004% เท่านั้น)

กระนั้นก็ตาม หากวิกฤติการณ์กรีซเกิดลุกลามใหญ่โต สมมติว่าต้องเบี้ยวกันและต้องเลิกใช้เงินยูโรชั่วคราว แม้ประเทศเจ้าหนี้อาจไม่กระทบมากจริง ดั่งที่นักวิเคราะห์ว่ากันไว้ (ว่าหนี้สินส่วนใหญ่มาจากธนาคารกลางของสหภาพยุโรป และกองทุนพยุงเสถียรภาพต่างๆ ที่สหภาพยุโรปตั้งขึ้น และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีเจ้าหนี้เป็นธนาคารพาณิชย์ในสัดส่วนน้อยมาก) แต่สถานการณ์เช่นนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อไทย ทั้งในแง่ที่ว่าเสถียรภาพในยุโรปย่อมจะไม่มั่นคง เช่น อาจเกิดความยุ่งยากทางการเมืองในกรีซ เพราะเงินออมและมูลค่าสินทรัพย์ของประชาชนอาจหายไปหลายส่วนเนื่องจากต้องแปลงจากยูโรไปเป็นเงินสกุลท้องถิ่นในอัตราแลกเปลี่ยนที่แย่ ฯลฯ หรือ อาจเกิดพรรคการเมืองแนวสุดกู่ขึ้นในประเทศลูกหนี้อื่นอย่าง อิตาลี สเปน และโปรตุเกส เป็นต้น

สถานการณ์แบบนั้น อาจทำให้การค้าขายระหว่างไทยกับคู่ค้าเหล่านั้นแย่ลง

อีกอย่างหนึ่ง วิกฤติการณ์ในกรีซย่อมจะทำให้เงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์ และจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกตกลงไปอีก ซึ่งย่อมกระทบต่อราคาพืชผลและเกษตรกรไทยเข้าอย่างจัง

ยิ่งภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของเราอยู่ในสถานะอ่อนแอเช่นปัจจุบัน เราคงไม่สามารถรับผลกระทบเชิงลบแบบนั้นได้นานเป็นแน่แท้

อันที่จริง มีแนวโน้มสองอันที่กดราคาพืชผลให้ดิ่งลงอยู่ในขณะนี้

อันแรกคือ การเพิ่มค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และอันที่สองคือ การลดการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ของจีนทั้งระบบ (จีนลดการนำเข้าอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง)

เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ที่รวมถึงพืชผลเกษตร) ที่ซื้อขายกันในตลาดสำคัญๆ ของโลกล้วนซื้อขายกันด้วยเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ และ Quote ราคาเป็นดอลล่าร์สหรัฐฯ ดังนั้น เมื่อเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีค่าสูงขึ้น (ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆ คงที่ เช่น ความต้องการในตลาดโลกเท่าเดิม และปริมาณการผลิตไม่แปรผันมากนักในวันนั้นๆ หรือ ไม่มีภัยธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ที่จะกระทบต่อดีมานด์/ซัพพลายอย่างกระทันหันเกิดขึ้น) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ย่อมมีแนวโน้มลดลง

ที่พูดถึงนี้ย่อมรวมถึงสินค้าเกษตร น้ำมัน เหล็ก ทองแดง ทองคำ และแร่ธาตุ (ท่านผู้อ่านที่มีจอ Bloomberg จะลองคลิกดูกราฟของ Thomson Reuters/Core Commodities CRB Index ซึ่งคำนวณจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายกันมากและคึกคักในตลาดโลก 19ชนิด แล้วนำมาเทียบกับกราฟอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง Euro/Dollar ดูก็ได้ จะเห็นว่ามันเคลื่อนไหวขึ้นลงไปในทิศทางเดียวกัน)

และยิ่งราคาน้ำมัน (ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งในเชิงต้นทุนพลังงาน ปุ๋ย และต้นทุนการขนส่ง) มีแนวโน้มลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ย่อมลดลงตาม

ปัจจุบัน ค่าเงินยูโรตกต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ค่าเฉลี่ยของเงินยูโรเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยวัดกันในระยะยาวตั้งแต่เริ่มพิมพ์เงินยูโรกันมา มีค่าประมาณ 1.22 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามรายงานของ Goldman Sachs ทว่า วันที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ เงิน 1 ยูโร สามารถแลกเงินดอลล่าร์ได้เพียงประมาณ 1.09 ดอลล่าร์ฯ เท่านั้นเอง นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวกว่า 10%

ดังนั้น ถ้าดราม่าในกรีซยังคงฉุดรั้งค่าเงินยูโรให้อย่างน้อยอยู่กับที่เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ ความหวังที่ราคาพืชผลจะฟื้นคงเป็นไปได้ยาก

ปัจจัยกดดันราคาพืชผลอีกตัวหนึ่งก็คือสภาวะเศรษฐกิจในจีนปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต เพราะหากเกิดวิกฤติในจีนดังที่หลายคนกังวล โอกาสที่ราคาพืชผลจะฟื้นก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก นอกเสียจากว่าปริมาณการปลูกและเก็บเกี่ยวของโลกลดลง

อย่าลืมว่าจีนเป็นผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์หลักของโลก เช่นบริโภคน้ำมันดิบถึง 11% ของโลก แร่เหล็กถึง 29% และทองแดงถึง 52% เป็นต้น

ถ้าหากว่าฉากของดราม่าย้ายจากกรีซไปสู่จีน โอกาสที่จะเกิดดราม่าขึ้นในไทยก็อาจเป็นไปได้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
16 กรกฎาคม 2558
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น