วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ว่าด้วย CBDC (Central Bank Digital Currency) Bitcoin และ Blockchain กับแบงก์ชาติ



พวกเรารู้กันแล้วว่า หลักการของ Blockchain” และ Distributed Ledger” ที่โด่งดังขึ้นมาพร้อมกับสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Currency) อย่าง Bitcoin” นั้น กำลังจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการเงิน (และอาจจะนอกแวดวงการเงินด้วย) อย่างมโหฬาร

เหล่าบรรดา Tech Start-Up จำนวนมาก กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนโดยอาศัยเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการเงินการลงทุน หรือที่เรียกแบบกว้างๆ ว่า FinTech”

ในการโอนสินทรัพย์ (เช่น เงิน หุ้น พันธบัตร ที่ดิน ฯลฯ) แต่ละครั้ง จะต้องมีการลงบัญชีระหว่างผู้รับกับผู้โอน พร้อมกับการชำระราคา ซึ่งโดยทั่วไปต้องใช้บุคคลที่สามซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อถือเป็นผู้จัดการให้

เช่น ถ้า "ผม" ฝากเงินไว้กับธนาคารกสิกรไทย และต้องโอนเงินจากบัญชีนั้นไปให้ "คุณ" เพื่อเข้าบัญชีของคุณซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารกสิกรไทยเช่นเดียวกับผม ผู้ที่ทำหน้าที่บุคคลที่สามซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีในที่นี้ก็คือธนาคารกสิกรไทยนั่นเอง

แต่ถ้า "ผม" ผู้ซึ่งฝากเงินไว้กับธนาคารกสิกรไทย และต้องโอนเงินจากบัญชีนั้นไปให้ "คุณ" ซึ่งมีบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคารทหารไทย คนกลางผู้ที่ทำหน้าที่ชำระบัญชีในที่นี้ ก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ในฐานะธนาคารของธนาคารพาณิชย์อีกทอดหนึ่ง) เพราะธนาคารที่เป็นตัวแทนของเราทั้งคู่ล้วนมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ตัว "ผม" และ "คุณ" (ณ ขณะนี้ยัง) ไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากโดยตรงกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เป็นต้น

หรือถ้า "ผม" ทำการซื้อหุ้นสามัญผ่านบัญชีหลักทรัพย์ที่เปิดไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ ". ไก่" ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ของผม โดยซื้อจาก "คุณ" และคนอื่นๆ อีกหลายคน ซึ่งได้ขายหุ้นผ่านบัญชีหลักทรัพย์ที่เปิดไว้กับบริษัท ". ไข่" และ ". ควาย" “. งู" ฯลฯ โดยทำการซื้อขายกันผ่านตลาดหลักทรัพยฯ และผมต้องชำระเงินจากธนาคาร ก. ไปเพื่อเข้าบัญชีของโบรกเกอร์ของผู้ขายแต่ละราย ก่อนที่พวกเขาจะโอนเข้าบัญชีธนาคารต่างๆ ของผู้ขายอีกทอดหนึ่ง และใบหุ้นของพวกเราต่างก็จัดเก็บอยู่กับศูนย์รับฝากใบหุ้นหรือ Custodian หลายแห่ง ฯลฯ

ในกรณีนี้ คนกลางผู้ทำการบันทึกและชำระบัญชีย่อมมีหลายคน หลายทอด ยิ่งถ้ามี Broker หรือสถาบันการเงินต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คนกลางก็ยิ่งจะมีจำนวนมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นนั่นเอง

Distributed Ledger เป็น Settlement Technology ที่จะสามารถตัดตัวกลางหรือบุคคลที่สามออกไปได้ เพราะเทคโนโลยี Blockchain สามารถนำเอาบันทึกข้อมูลธุรกรรมแต่ละธุรกรรมของแต่ละคน แชร์ไปให้กับทุกๆ คนในเครือข่าย ให้ได้รับรู้ไปพร้อมๆ กันได้ ต่างคนต่างตรวจสอบได้ จึงยากแก่การโกง และมีประสิทธิภาพมากกว่า

แน่นอน มันต้องทำให้ Transaction Costs ลดลง

ลองจินตนาการดูว่า ต้นทุนอันเนื่องมาแต่ธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันๆ (เช่นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน โอนสินทรัพย์ทางการเงินทุกชนิด การชำระเงิน การรับฝากหลักทรัพย์ การแลกเปลี่ยนเงินตรา (อาจทำทอดเดียวหรือหลายๆ ทอด) ฯลฯ) จะเป็นจำนวนเงินมากมายมหาศาลสักปานใด

หาก Blockchain กับ Distributed Ledger สามารถถูกนำมาช่วยลดต้นทุนตรงนี้ได้ ย่อมจะเป็นคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ต่อผู้บริโภค

ทว่า สำหรับผู้ให้บริการ เช่นสถาบันการเงิน และ Service Players ทั้งหลายใน Value Chain อาจจะถูกกระทบเข้าอย่างจัง หากปรับตัวไม่ทัน

Applications ของมัน อาจไปได้กว้างขวางหลายวงการ

แต่ที่สะดุดใจผมมากที่สุดในขณะนี้ คือนัยยะที่บรรดานายธนาคารกลาง (Central Bankers) อาจนำมันไปประยุกต์ใช้ ซึ่งมันจะเป็นการเปลี่ยน Rule of the Game ครั้งใหญ่ จนทำให้อุตสาหกรรมการเงินต้องปรับตัว และอิสรภาพในเชิงการครอบครองและการเป็นเจ้าของทรัพย์หรือกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์ ของประชาชนคนธรรมดา อาจถูกริดรอนลง

ผมจะลองเล่า วิเคราะห์ พร้อมกับแสดงความเห็นให้ฟังคร่าวๆ ดังต่อไปนี้:

คือเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา คุณ Ben Broadbent ได้ไปแสดงปาฐกถาเรื่องนี้ไว้ที่ London School of Economics โดยตั้งหัวข้อว่า "Central banks and digital currencies” (ท่านผู้สนใจสามารถอ่านบทถอดความของปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่ลิงค์นี้ : www.bankofengland.co.uk/publications/Pages/speeches/2016/886.aspx)

คนนอกวงการ อาจจะไม่รู้จักคุณ Ben Broadbent คนนี้ แต่เขาไม่ใช่คนเล็กคนน้อย โดยเขามีตำแหน่งเป็นถึงรองผู้ว่าการฝ่ายนโยบายการเงินของธนาคารชาติอังกฤษ (Deputy Governor for Monetary Policy, Bank of England) และในแวดวงการเงินการธนาคาร ถือว่าเขาเป็นนายธนาคารกลางที่ทรงอิทธิพลทางความคิดคนหนึ่ง

หากเราเจาะผ่านศัพท์แสงทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน และเทคโนโลยีทั้งหลายที่เขากล่าวในวันนั้น เพื่อเข้าถึงความหมายที่เขาต้องการสื่อ และ Speculate ถึงแรงจูงใจเบื้องหลังของเขาแล้ว ผมว่า Message วันนั้นของเขาค่อนข้างชัด คือต้องการสื่อให้รู้ว่า ด้วยนวัตกรรมเหล่านี้ มันจะอนุญาตให้ประชาชนทั่วไป ดังเราๆ ท่านๆ ได้มีโอกาสเปิดบัญชีเงินฝากโดยตรงกับธนาคารชาติได้ (เขาเรียกมันว่า "Central Bank Digital Currency” หรือ CBDC) โดยในกระบวนการนี้ อาจทำให้คนกลางเดิม อย่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินบางประเภทที่รับฝากเงินจากประชาชน ต้องถูกตัดออกไปจากกิจกรรมเหล่านี้

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบบริการของธนาคารกลาง เพราะถ้าหากออกแบบให้บัญชีนั้นเป็นบัญชีเงินฝากเฉยๆ ที่มุ่งหมายเพื่อให้เกิดความสะดวกในการชำระบัญชีและดำเนินนโยบายการเงิน (เช่นเพิ่มหรือลด Money Supply) คล้ายๆ กับ Reserve Account ที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่กับธนาคารชาติในปัจจุบันอยู่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมาก

ทว่า ถ้าออกแบบให้ CBDC สามารถมีบริการควบคู่ไปด้วย เช่น คิดดอกเบี้ยเงินฝากให้ด้วย หรือเพิ่มบริการเสริมต่างๆ แบบที่ธนาคารพาณิชย์ทำในปัจจุบัน หรือถ้าคิดสุดโต่งไปอีกนิดว่า ให้บริการเงินกู้ได้ด้วย นั่นแหล่ะ จะทำให้เกมส์เปลี่ยนแรง เพราะในที่สุดประชาชนน่าจะ Switch มาใช้บริการกับธนาคารชาติ เนื่องจากมีความมั่นคงสูงกว่า และไม่มีทางที่ธนาคารชาติจะเจ๊ง เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ (หรือเรียกในภาษาการเงินว่า "Bank Run”) (เพราะธนาคารชาติเท่านั้นที่สามารถพิมพ์เงินได้ตามกฎหมาย) ต่างกับธนาคารพาณิชย์ เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติ ที่ผู้คนแห่กันไปถอนเงิน ธนาคารมักล้มครืนลง หากธนาคารชาติไม่เข้าแทรกแซงช่วยเหลือ เพราะธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินสำรองไว้บางส่วนเท่านั้น

ดังนั้น CBDC อาจเป็นคำตอบสำหรับการแก้วิกฤติสถาบันการเงินในระดับโครงสร้าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาคลาสสิคสำหรับนักการเงินและนายธนาคารกลางตลอดมา

ถ้าเป็นแบบนั้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องหาเงินจากการขาย Financial Instruments เพื่อระดมทุนมาปล่อยกู้แทน (เหมือนกับบริษัทเงินทุนในอดีต) แต่ต้นทุนน่าจะสูงขึ้น และอาจต้องหดตัวลง อย่างน้อยเครือข่ายสาขาก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

Retail Banks อาจถูกบังคับให้กลายไปเป็น Wholesale Banks กันหมด

ท่านผู้อ่านลองจินตนาการถึงผลกระทบของไอเดียนี้ดูสิ ว่ามันจะกระทบกับรายได้และกำไรของธนาคารพาณิชย์มากเพียงใด ถึงตอนนั้น ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารจะเป็นยังไง

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะมันออกจากปากของคนระดับนี้ ที่ตั้งใจพูดกับสาธารณะ


ตัวเขาเองได้กล่าวถึงผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นว่า:

“Shifting deposits to the central bank, and away from the leveraged commercial banking sector, has two important implications. On the one hand, it would probably make them safer. Currently, retail deposits are backed mainly by illiquid loans, assets that can’t be sold on open markets; if we all tried simultaneously to close our accounts, banks wouldn’t have the liquid resources to meet the demand. The central bank, by contrast, holds only liquid assets on its balance sheet. The central bank can’t run out of cash and therefore can’t suffer a “run”.

On the other hand, taking deposits away from banks could impair their ability to make the loans in the first place. Banks would be more reliant on wholesale markets, a source of funding that didn’t prove particularly stable during the crisis, and could reduce their lending to the real economy as a result.

This is the really main point I want to get across. Some suggest that central banks will have to issue their own digital currency – i.e. to supply central bank money more widely, via some generalised distributed ledger – to meet a “competitive threat” from private-sector rivals. I suspect a more important issue for central banks considering such a move will be what it might mean for the funding of banks and the supply of credit.”

นั่นแหล่ะครับ

ทีนี้ก็มาถึงประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งคุณ Ben Broadbent ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่ผมคาดว่าจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจของบรรดา Central Bankers ทั่วโลก

นั่นคือ CBDC จะช่วยเพิ่มอำนาจให้กับธนาคารกลางอีกไม่น้อย

อย่าลืมว่า ธนาคารชาติสามารถ "สร้างเงิน" (คือเพิ่มปริมาณเงินหรือลดปริมาณเงิน) ได้โดยการพิมพ์เงิน และโดยการ Credit/Debit บัญชี Reserve Accounts เพื่ออนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเพิ่มหรือลดการระดมเงินฝากหรือปล่อยกู้ (หรือที่เรียกว่า "Bank Money”)

ว่าไปแล้ว เงินเหล่านี้ก็เหมือนการเสกขึ้นมาเฉยๆ เงินเหล่านี้ไม่มีตัวตนจริง เป็นเพียงตัวเลขในบัญชี (จะว่าเป็น Digital Currency ในความหมายกว้างก็น่าจะได้) แต่ใช้จ่ายได้จริง และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนจริง

ท่านผู้อ่านพอจะเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ถ้าธนาคารชาติสามารถเข้าถึงประชาชนได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางคือธนาคารพาณิชย์แล้ว ประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินจะเพิ่มขึ้นมาก และอำนาจของธนาคารกลางก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

เช่น ถ้าขณะนั้น รัฐบาลต้องการให้ขยายการลงทุนภาคเอกชนโดยอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน แทนที่จะคอยนั่งลุ้นแบบเดิมว่าประกาศลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว หรือลด Required Reserve ไปแล้ว ธนาคารพาณิชย์จะยอมเพิ่มเป้าสินเชื่อตามหรือไม่ และทันใจหรือไม่ หรือจะจูงใจพอให้ประชาชนและภาคเอกชนมากู้เพิ่มไปลงทุนในกรอบเวลาที่ทันใจหรือไม่ ฯลฯ....

ธนาคารชาติก็สามารถ Credit บัญชี CBDC โดยตรงได้ทันที ซึ่งเงินก็จะถึงมือประชาชนทันทีเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น หากธนาคารชาติต้องการจะขยายการบริโภคของภาคประชาชนให้เห็นผลทันตา พวกเขาก็สามารถลดดอกเบี้ยเงินฝาก หรืออาจจะใช้ยาแรงขนาดเก็บค่าฝากเงิน (ดอกเบี้ยติดลบ) โดยตรงกับ CBDC ได้ทันทีเช่นกัน (เพื่อลดแรงจูงใจในการเก็บเงินไว้กับแบงก์ ประชาชนจะได้ถอนเงินออกไปบริโภค)

หมายความว่า ธนาคารกลางจะสามารถควบคุมกระบวนการสร้างเงินและ Credit Creation ได้โดยตรง โดยไม่ต้องคอยลุ้นว่าธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มสินเชื่ออย่างที่รัฐบาลต้องการหรือไม่ นอกจากนั้นยังกระตุ้นการบริโภคได้ โดยปฏิบัติการตรงกับบัญชีเงินฝากของประชาชนแต่ละคนได้เลย

นั่นหมายความว่า ธนาคารกลาง Takeover บทบาทสำคัญๆ ของธนาคารพาณิชย์เกือบทุกด้าน

พวกเขาคือ Banker ตัวจริงเสียงจริง

ทำแบบนี้ จะว่าดีก็ดี จะว่าเสี่ยงก็เสี่ยง

เพราะถ้าธนาคารกลางตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือเทคโนแครตที่เชื่อจริงๆ หรือเพียงต้องการหาเสียงโดยวิธีหว่านเงิน (ซึ่ง Milton Friedman เรียกว่า Helicopter Money”) หรือนโยบายประชานิยมที่ต้อง Financing ด้วยนโยบายการเงิน (เช่น “Direct QE) และใช้มันอย่างเสพติด (เหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วหลายส่วน ในญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ)...มันจะอันตรายมากเลย

ทีนี้ลองคิดลึกไปอีกสักนิด นามธรรมไปอีกสักหน่อย

คิดถึงสิทธิและเสรีภาพในการครอบครองทรัพย์และกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สินของเรา ที่อาจจะถูกกระทบตามมา

เพราะหากธนาคารชาติมีอำนาจควบคุมบัญชีของเราโดยตรง เป็นไปได้ไหมว่าวันหนึ่ง รัฐบาลที่ฉ้อฉล หรือซื่อสัตย์แต่ลุแก่อำนาจ อาจจะสั่งให้พวกเขาห้ามไม่ให้เราเบิกถอน หรือเบิกถอนได้แบบจำกัดจำนวน (อย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในกรีซ เมื่อเกิดวิกฤติรอบที่ผ่านมา) หรือห้ามโอน และอายัติ ตามใจชอบ

ยิ่งเดี๋ยวนี้ มีแนวโน้มที่ประเทศสำคัญๆ และประเทศไทยเราด้วย ต้องการจะลดการใช้เงินสดลง ให้คนหันไปทำธุรกรรมอิเล็คทรอนิกส์มากขึ้น

การเพิ่มอำนาจตรงนั้นให้ธนาคารกลาง ย่อมเท่ากับสามารถชี้กุมชะตากรรมของประชาชนได้อย่างชงัดและเขม็งเกลียวยิ่ง

นอกจากจะเป็น Banker ตัวจริงแล้ว ยังจะเป็น Big Brother ตัวจริงด้วย!



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
6 พฤษภาคม 2559

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA
รูปประกอบจาก: Vienna FinTech Meetup #1 และ Bank of England ผู้เขียนขอขอบคุณมา ณ ที่นี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น