วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

ท่ามกลางความท้อแท้



ตั้งแต่ประกอบอาชีพสื่อมวลชนมา ผมไม่เคยเห็นครั้งใดที่พวกเราแตกกันมากขนาดนี้

อย่าว่าแต่ต่างค่าย ต่างองค์กรกันเท่านั้น แม้แต่ในองค์กรเดียวกัน ก็แบ่งออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน (มีฝ่ายที่สามซึ่งเรียกร้องให้คนใช้เหตุผลกับสติกันน้อยมาก และที่มีอยู่ก็ล้วนเป็นพวกที่เสียงไม่ดังพอ)

ไม่ต่างอะไรกับวงการสื่อมวลชนฝรั่ง ในช่วงที่ประธานาธิบดีบุชสั่งบุกอิรัก

เพราะครั้งนั้น แม้แต่ในกองบรรณาธิการของ The Economist ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องว่ามีมาตรฐานสูง ยังแตกออกเป็นสองก๊กหลัก โดย Senior Editor คนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ที่นั่นมาเกือบ 50 ปี ก็ได้ออกมากระทุ้งในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนั้นเอง ว่ามันไม่เคยเป็นแบบนั้นมาก่อนเลย ในช่วงชีวิตที่เธอทำงานอยู่กับองค์กรแห่งนั้น

ส่วนเมืองไทยในรอบหลายปีหลังมานี้ สื่อของบางค่ายที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสื่อที่มีคุณภาพสูงและมี Impact มาก ได้กลายเป็น Propaganda Pieces ไปอย่างน่าเสียดาย

ชิ้นงานข่าวจำนวนมาก เป็นรายงานเพียงด้านเดียว จัดทำออกมาเพื่อ "กรอกหู" หรือ "กรอกตา" ผู้เสพข่าวอยู่ตลอดเวลา

ชิ้นงานข่าวบางชิ้นซึ่งจัดทำโดยนักข่าวหรือนักวิเคราะห์เชิงคุณภาพที่ยึดมาตรฐานสูง ก็หนีไม่พ้น "Ending Syndrome" (ซึ่งไม่ใช่ Happy-Ending Syndrome แบบละครไทย) เพราะแม้จะทำเรื่องอะไร แม้วิธีวิเคราะห์จะชาญฉลาดขนาดไหน ก็จะได้ข้อสรุปในแบบเดียว แบบเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น

ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนของพวกฝ่ายซ้ายสมัยก่อน คือไม่ว่าจะวิเคราะห์ได้ครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ ด้วยวิธีวิเคราะห์ที่ชาญฉลาด และลีลายอกย้อนมีเสน่ห์เพียงใด ทว่า สุดท้ายต้องสรุปด้วยการ "ชูกำปั้น" เสมอไป

แบบว่า "ชูกำปั้นซินโดรม" ที่ทำให้เสน่ห์ของการวิเคราะห์และลีลานำเสนออันย้อกย้อน ตลอดจนข้อมูลสนับสนุนที่น่าฟังเหล่านั้น "กร่อย" ลงไปแยะ

ผมเห็นกับตาว่า การใช้เหตุผลและใช้สติ ลดน้อยถอยลงไปมากในหมู่พวกเรากันเอง

และนั่น ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดต่อคนอาชีพเดียวกันไปไม่น้อย

สมัยก่อน ผมคิดเอาเองว่า คนที่เลือกมาประกอบอาชิพสื่อมวลชนนั้น ไม่นับพวกที่มาเปิดหน้าหรือขอเวลาเพื่อรับเม็ดเงินโฆษณาแล้ว ย่อมเป็นคนที่รักความจริง หรือรักที่จะแสวงหาความจริง แม้ได้ยินได้ฟังอะไรมาก็ย่อมต้องลงมือสืบสวนสอบสวนเอาเองจนถึงที่สุด มี Lifestyle ที่ชอบใช้ปัญญา และหมั่นฝึกฝนตัวเอง เพื่อขจัดอคติที่ติดตัวมาแต่เดิม หรือที่มีมาด้วยเหตุใดก็ตาม ให้เหลือน้อยที่สุด จนยากที่ใครจะมาจูงจมูกได้ง่ายๆ

แต่สถานการณ์ขณะนี้ ทำให้ผมประจักษ์ชัดว่า แท้จริงแล้ว พวกเราก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป

พวกเราก็เป็นส่วนหนึ่งใน "ฝูงแกะ" อยู่นั่นเอง

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ที่บางทีพวกเราก็มีพฤติกรรมคล้ายนักการเมือง ที่ชอบเอาสีไปป้ายคนโน้นคนนี้ จัด Segment จัด Brand ให้ผู้คนเรียบร้อยเสร็จสรรพ

บางทีก็ทำตัวคล้ายผู้พิพากษาศาลที่รับเงินใต้โต๊ะ ทำการตัดสินคนบริสุทธิ์ให้มีความผิด โดยไม่แสวงหาความจริง หรือแม้รู้ความจริงแล้ว ก็ยังดื้อดึง ตัดสินไปอีกทางอยู่ดี

หรือบางทีก็ทำตัวคล้ายคนไข้โรคจิต ซาดิสม์รุนแรง คอยยุยงให้ผู้คนฆ่าฟันกัน หรือให้หลักฐานเท็จโดยไม่ตรวจสอบความจริง เพื่อเสี้ยมให้คนฆ่าฟันกันเองด้วยความเข้าใจผิด

และบางทีก็ทำแบบนักโฆษณา ที่สามารถพูดความเท็จ หรือกึ่งจริงกึ่งเท็จ หรือจริงด้านเดียว โดยไม่สะทกสะท้าน แบบหน้าตาเฉย หรือแม้กระทั่งออกจะภูมิอกภูมิใจเสียซ้ำ

Damned-lies Journalist แสดงตัวอยู่ทั่วไป

ซ้ำร้าย หลายคนได้ดิบได้ดี และได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ นาๆ จากผู้มีอำนาจ

นี่อาจจะเป็นบทบรรณาธิการที่สั้นที่สุด เท่าที่ผมเคยเขียนมา

เพราะผมไม่มีอะไรจะพูด มากไปกว่าจะบอกว่า

"ผมผิดหวัง"...มาก



ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

24 เมษายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น