วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553
อำนาจใหม่
การล่มสลายของ “ทักษิณและสหาย” ทำให้ “ดุลแห่งอำนาจ” ในสังคมไทยปัจจุบัน เกิดความปั่นป่วนอย่างน้อยในสามระดับ
ระดับที่เห็นได้ชัดเจน คืออำนาจทางการเมืองที่จำเป็นต่อการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ (เช่นงบประมาณแผ่นดินประจำปี) ไปให้กับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และจำเป็นต่อการออกแบบ จัดวาง กำหนด ชี้ขาด หรือ Shape rule of the game ตลอดจนให้คุณให้โทษต่อ Players ของอุตสาหกรรมทั้งมวลในสังคมเศรษฐกิจไทย
ระดับต่อมา ก็คือความระส่ำระสายของดุลอำนาจระดับรองลงมา ที่อยู่ในระนาบ Hierarchy ถัดลงมาจากยอดปิระมิดแห่งเครือข่ายอำนาจที่ทักษิณและสหาย ได้เคยสร้างและลงหลักปักฐานไว้แล้วอย่างมั่นคง เป็นเวลาหลายปี
พูดได้ว่า การเปลี่ยนขั้วอำนาจ (ในแดนที่อำนาจได้เปลี่ยนมือไปแล้ว) และสุญญากาศของอำนาจ (ในแดนที่ขั้วอำนาจยังไม่เปลี่ยน แต่กำลังขับเคี่ยวกันระหว่างอำนาจเก่ากับใหม่อย่างเข้มข้น) ได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ตั้งแต่ในระดับหน่วยงานที่เป็น State Apparatus เช่น กระทรวง ทบวง กรม ศาล กองทัพ ตำรวจ องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ ไปจนถึงบรรดาเจ้าพ่อระดับชาติ ระดับเขต ระดับเมือง ระดับอำเภอ ระดับตำบล ที่คุมเขต คุมพื้นที่ หรือแม้กระทั่งผู้กว้างขวางท้ายซอย ที่ Generate Income และ Sustain Wealth ด้วยการคุมซอย คุมบ่อน คุมซ่อง หรือ คุมคิวรถและวินมอเตอร์ไซด์ ก็ล้วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยน “หัวขบวน” ครั้งนี้
ยิ่งไปกว่านั้น ความระส่ำระสายยังลุกลามไปสู่ระดับบนของสังคมไทย ที่มีสถานะอยู่เหนืออำนาจทั่วไปและแตะต้องไม่ได้
เพราะอย่าลืมว่า การทำลายล้างทักษิณและสหาย ในรอบที่ผ่านมานั้น ฝ่ายตรงข้ามต้องทุ่มเททั้งทรัพยากรบุคคล ทั้งสินทรัพย์ และ Capital ที่ครอบครองอยู่ทั้งมวล เพื่อ “ล้ม” ทักษิณและสหายลงให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสูญเสียมากเช่นกัน
Michael E. Porter แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ผู้ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตให้กับการ Observe พฤติกรรมการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนกลุ่มประเทศต่างๆ ทั่วโลก เคยกล่าวไว้ว่า “ดีกรีความรุนแรงของการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นกันในแต่ละอุตสาหกรรม จะรุนแรงเข้มข้นหรือไม่เพียงไร มิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้เล่นในอุตสาหกรรมนั้นๆ ว่าจะมีมากหรือน้อย แต่มันขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งหรือแข็งแกร่งของผู้เล่นแต่ละรายต่างหาก”
นั่นสามารถอธิบายได้ว่า การแข่งขันทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่คู่แข่งขันมาจากหัวขบวนของพรรคการเมืองใหญ่ที่เข้มแข็งมากพอกัน เพียงสองพรรค ย่อมต้องรุนแรงกว่าการแข่งขันทางการเมืองในประเทศอื่นที่มีพรรคการเมืองจำนวนมาก ทว่าแต่ละพรรคล้วนอ่อนแอ
การต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่าง “Godfather” กับ “Godfather” หรือ “หัวหน้าเผ่า” กับ “หัวหน้าเผ่า” ในระดับ “พญาช้างสาร” นั้น แม้จะมีเพียงสองค่ายสองฝักฝ่าย ย่อมเข้มข้นรุนแรง มิเพียงหญ้าแพรกเท่านั้นที่ต้องแหลกลาญ หากแต่ตัวหัวขบวนเองก็ต้องบอบช้ำเช่นกัน แม้จะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะก็ตามที
ฉันใดก็ฉันนั้น การทำลายล้างทักษิณซึ่งมีเครือข่ายอำนาจและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง เปรียบเสมือนหัวหน้าเผ่าผู้เข้มแข็งหรือเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพล จึงจำเป็นต้องอาศัยพลังและทรัพยากรที่เข้มแข็งปานกัน
ไม่แปลกที่ลำพังฝ่ายทหารเพียงฝ่ายเดียวจะไม่เพียงพอต่อการล้มทักษิณ (แม้ในอดีต ฝ่ายทหารเพียงฝ่ายเดียวย่อมเพียงพอต่อการจัดระเบียบอำนาจใหม่ในสังคมไทยเสมอมา) ยังต้องอาศัยฝ่ายตุลาการ และฝ่ายมวลชนเสื้อเหลือง ตลอดจนนักคิด นักวางแผน วางกลยุทธ์ระดับปัญญาชนจำนวนมาก ด้วยอีกโสตหนึ่ง
แม้กระทั่งสถาบันระดับสูงอย่างองคมนตรีและบุคคลอันเป็นที่เคารพสักการะของราษฎร ยังต้องลงมาแสดง Moral Support กับฝ่ายต่อต้านทักษิณอย่างออกหน้า เพื่อไม่ให้เกิดการตีความเป็นอื่น
ครั้งนี้ นับเป็นการ Deploy “ทุน” หรือ Capital ที่สำคัญที่สุดขององค์กรระดับสูงในรอบหลายสิบปี นั่นคือสิ่งที่ผมขอเรียกไปพลางก่อนที่จะหาคำซึ่งเหมาะสมกว่าได้ว่า “Nobleness” อันกินความหมายกว้างขวางลึกซึ้งถึง ชื่อเสียง เกียรติคุณ บุญบารมี ความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ และสถานะอันสูงส่ง โรแมนติก Surreal และเหนือชั้น ที่ประชาชนทั่วไปยอม “ลงให้” โดยไม่จำเป็นต้อง “ถาม” และ “เถียง” ให้มากความ
แม้จะกำราบทักษิณและสหายลงได้ ทว่า ดีกรีของความเสียหายก็มากด้วย ลึกๆ ลงไปในใจแล้ว อาจไม่มีราษฎรไทยคนไหนเลยที่มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนในปัจจุบัน สามารถสงบใจลงได้ เพราะสถาบันระดับสูงของเรา ที่เคยเป็นที่พึ่งพิงทางใจให้คนไทยได้เกิดความสงบใจตลอดมาในอดีต กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในระดับที่น่าตกใจและไม่เคยพบเห็นมาก่อนในช่วงชีวิตของพวกเราเอง
ยิ่งมองไปในอนาคตอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้าแล้ว ก็ยิ่งให้เห็นว่า “ความเสี่ยง” ดังกล่าวอาจกลายเป็น “ภัยคุกคาม” สำคัญต่อความสงบ มั่นคง และมั่งคั่ง ของสังคมไทยได้ ถึงตอนนั้น ประธานองคมนตรีคนปัจจุบันผู้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสถาบันระดับสูงก็จะมีอายุ 99 ปี ยังจะมีพลังในการรับมือกับฝ่ายต่อต้านหรือไม่เพียงใด อีกทั้งกองทัพและแม่ทัพนายกองก็เป็นอิสระ ไม่ได้ขึ้นตรงกับรัฐบาล (พวกเขาสามารถเลือกว่าจะเชื่อฟังนายกรัฐมนตรี “คนนี้” แต่ไม่เชื่อ “คนนั้น” ได้) ซึ่งเป็นแต่เพียงคณะผู้นำหน้าฉากอย่างเป็นทางการ ที่ลึกๆ แล้วก็ไม่ได้มีอำนาจแบบถึงที่สุด แต่อย่างใด
สภาวการณ์แบบนี้แหละ ที่ทำให้เกิด “สุญญากาศ” ขึ้นในแวดวงอำนาจของสังคมไทย ชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจแต่ละกลุ่ม กำลัง “ดีดลูกคิดรางแก้ว” ซุ่มออกแบบโครงสร้างอำนาจใหม่ สร้างเครือข่าย ขุมกำลัง ระดมทุน และวางแผนช่วงชิงอำนาจ สร้างตัวเองขึ้นมาเป็น “หัวขบวนใหม่” อย่างเงียบๆ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในทุกวงการ แม้แต่มาเฟียก้นซอย ก็กำลังคิดโค่นนักเลงโตเดิม เพื่อเบียดขึ้นมาเป็นผู้จัดหัวคิว และเก็บค่าคุ้มครองผลประโยชน์คนใหม่ ในซอกซอยของตน
สนธิ ลิ้มทองกุลและสหาย ก็คิดออกมาดังๆ แล้วว่า นี่เป็นสาเหตุที่ตนถูกลอบสังหารด้วยเช่นกัน
ธรรมชาติของอำนาจย่อมเป็นเช่นนี้
แต่ไหนแต่ไรมา ผู้นำที่มีสติปัญญา กล้าหาญ มีแต้มคู รู้จักจังหวะจะโคน และ Practical มักเข้ามาแทนที่อำนาจเดิมซึ่งอ่อนแอลงเพราะห้ำหั่นกันเอง เสมอมา
อย่างคราวปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส เมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้วนั้น Napoleon Bonaparte ก็สามารถสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิและสร้างราชวงศ์ใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชน ได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงนายทหารบ้านนอกคนหนึ่ง
Napoleon ได้สร้างชนชั้นผู้นำ (Elite) ของตนเองขึ้นมาใหม่เพื่อปกครองจักรวรรดิฝรั่งเศส เนื่องเพราะชนชั้นนำเดิมต้องสังเวยชีวิตในการต่อสู้กันเองในสงครามกลางเมือง ทั้งฝ่ายกษัตริย์และฝ่ายสาธารณรัฐ
บทเรียนชีวิตของ Napoleon ได้รับการศึกษาวิจัยกันมากอย่างแพร่หลายจนกระทั่งปัจจุบัน และผมก็เชื่อว่าชนชั้นผู้นำไทยหรือผู้ที่อยู่ในแวดวงอำนาจขณะนี้หลายคนก็เคยศึกษาชีวิตของ Napoleon กันมาแล้ว
อันที่จริง การช่วงชิงอำนาจในสังคมมนุษย์ เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติ ตราบใดที่กระบวนการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ มีกฎเกณฑ์ กติกา และมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตราบนั้น สังคมมนุษย์ก็จะมีความมั่นคงและการเปลี่ยนแปลงผู้นำก็จะเป็นไปอย่างสันติ กระบวนการสร้างความมั่งคั่งของสังคมเกิดความต่อเนื่อง ไม่สะดุจหยุดลง เพราะการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือใช้กำลังบังคับ
กระบวนการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ ในสังคมประชาธิปไตย ย่อมมีกฎเกณฑ์เป็นของตนเอง และไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ ที่ลึกลับ ซับซ้อน เหลือความสามารถของผู้คนในสังคมไทย
ทำไม เราไม่ช่วยกันผลักดันให้เกิด “กระบวนการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์” แทนที่จะมัวเถียงกันเรื่องอื่นอย่างเอาเป็นเอาตาย กันแบบที่เป็นอยู่
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
22 เมษายน 2552
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนเมษายน 2522
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น